ศิลปินเชียงใหม่กับลมหายใจในหน้าแล้ง

    ท้องฟ้าวันนี้เป็นอย่างไร ปลอดโปร่ง แจ่มใส ...หรือมีเมฆปกคลุม

    ตั้งแต่จำความได้หากเข้าสู่เดือนพฤษภาคมเมื่อไร นั่นหมายถึงฤดูฝนกำลังเดินทางใกล้เข้ามาแล้ว ส่วนปี 2563 แม้จะเข้าสู่เดือนพฤษภาคม แต่ใบพัดลมเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 16 นิ้วที่กำลังหมุนติ้วอยู่ในหลายๆ บ้าน กลับเป่าลมระอุออกมาปะทะกับผิวหนังจนร้อนอบอ้าว สำหรับฝนที่เฝ้ารอว่าเมื่อไรจะตกลงมาลดอุณหภูมิบ้างเสียที กำลังเดินทางใกล้เข้ามาในรูปแบบของพายุฤดูร้อน ซึ่งอาจจะตกลงหนักบ้างเบาบ้างแล้วแต่พื้นที่

    แล้วท้องฟ้าวันนี้เป็นอย่างไร ปลอดโปร่ง แจ่มใส ...หรือขุ่นมัว

    ช่วงหน้าแล้งที่ผ่านมา คนเมือง ในความหมายที่ชาวล้านนาและชาวเชียงใหม่ใช้เรียกตัวเอง ตื่นมาแหงนมองท้องฟ้าทุกวันมาเป็นเดือนๆ ทั้งที่มันแทบจะไม่ปรากฏสีฟ้า แต่กลายเป็นสีเทาอมแดงจากเขม่าควันจากไฟป่า มลพิษเข้าปกคลุมตัวเมืองจนมองไม่เห็นพระธาตุดอยสุเทพ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกระทะประกอบกับสภาพอากาศปิด ฝุ่นจึงอบอวลอยู่ในนั้นอย่างไม่สามารถถ่ายเทออกไปได้ จากข้อมูลเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2563 ที่อำเภออมก๋อยวัดค่าฝุ่น PM 2.5 เป็นตัวเลขที่สูงถึง 715 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนพื้นที่ในตัวเมืองวัดได้ 445 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จึงไม่น่าแปลกใจหากเชียงใหม่จะถูกจัดให้เป็นเมืองมลพิษอันดับ 1 ของโลกอีกครั้ง

    ปล่อยอันดับเมืองมลพิษโลกกองไว้ข้างหลัง แล้วลองตั้งคำถามกันดีกว่าว่า ที่ผ่านมาผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นั่นสูดอากาศหายใจเพื่อมีชีวิตอยู่กันอย่างไร

    ปลายเดือนเมษายนจุดความร้อน (Hotspot) ค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ และเป็นจุดที่เล็กมากไม่รุนแรงเหมือนช่วงก่อนหน้า สภาพอากาศเชียงใหม่ค่อยๆ ดีขึ้นจนค่าฝุ่น PM 2.5 ลดลงเหลือตัวเลขหลักหน่วยเท่านั้น แต่แน่นอนว่าเมื่อหน้าแล้งปีต่อๆ ไปมาถึง ปัญหาเหล่านี้จะวนกลับมาอีก เราจึงไต่ถามไปยังศิลปิน นักเขียน และนักดนตรี ได้แก่ สกุล บุณยทัต, ปอ-ภราดล พรอำนวย, ถิง-ชลธิชา สุจริตพินิจ, เฟนเดอร์-ธนพล จูมคำมูล, ทศ-ทศพล กล่อมเกลา และ ชนะ แสนสนั่นชัย ผู้มีบ้านเกิดและใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ถึงสภาพความเป็นอยู่และสถานการณ์ที่บ้านของพวกเขา กับการเผชิญสภาพอากาศย่ำแย่ต่อเนื่องยาวนานมากว่าสิบปี ด้วยหวังว่าพวกเขาจะเป็นเสียงที่ช่วยสะท้อนให้เห็นถึงวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม ที่ถูกกลบด้วยปัญหาอื่นๆ จนแทบไม่ได้รับการเหลียวแลเท่าที่ควร

ท้องฟ้าในวันเก่า

    ท้องฟ้าปลอดโปร่งและอากาศเย็นสบาย ท้องถนนในคูเมืองเต็มไปด้วยผู้คนจากทุกหนแห่งที่ออกมาพบปะสังสรรค์ เล่นน้ำกันในวันสงกรานต์ เป็นภาพในความทรงจำของ สกุล บุณยทัต นักเขียน นักวิจารณ์ นักวิชาการ ผู้มีบ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่

    สกุลทำงานอยู่ในแวดวงวรรณกรรมและวงการสื่อสารมวลชนมาอย่างต่อเนื่อง มีผลงานหนังสือมากมาย เช่น แด่...พระเจ้าผู้ไม่มีตัวตน, ความจริงของความจริงแท้ในความจริงลวง, โจรปล้นฟ้า ผู้วางหัวใจไว้ตรงหน้า, โรงมหรสพแห่งความสงบงาม ฯลฯ ปัจจุบันเป็นหนึ่งในกรรมการซีไรต์ กรรมการและเลขาธิการของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย กับอีกบทบาทของเขาคือ 'ครูหนู' สำหรับนักศึกษาสาขาวิชานาฏศาสตร์ (ศิลปะการละคร) มหาวิทยาลัยศิลปากร

    แม้ปัจจุบันเขาจะใช้ชีวิตและทำงานอยู่ที่จังหวัดนครปฐมเสียส่วนใหญ่ แต่ปัญหาไฟป่าและฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในเชียงใหม่ ก็ทำให้เขารู้สึกเป็นห่วงครอบครัวอยู่ไม่น้อย

    "เราเห็นไฟป่ากันมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว แต่ปีนี้มันหนักหนาสาหัสกว่ามาก ควันที่เกิดขึ้นกลายเป็นปัญหา แถวบ้านผมอยู่อีกฟากของแม่น้ำปิง สมัยก่อนผมสามารถมองเห็นดอยสุเทพฯ จากหน้าบ้านได้เลย แต่ปัจจุบันแทบจะมองไม่เห็นอะไร ทีแรกคิดว่าไฟป่ารอบนี้ไม่น่าจะโดน เพราะตำแหน่งของบ้านไกลจากไฟป่าพอสมควร แต่ควันกลับปกคลุมมาถึงตรงนี้แล้ว ถ้าเรายังหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ สักวันหนึ่งมันอาจจะลามไปถึงพระธาตุดอยสุเทพอย่างที่เรากังวลกันก็เป็นได้ครับ"

    ด้วยสภาพพื้นที่ที่มีภูเขาล้อมรอบ ทำให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นเหมือนแอ่งกระทะที่อากาศไม่สามารถถ่ายเทได้ดีนัก แต่ความหนาแน่นของต้นไม้และผืนป่า กลับทำให้บรรยากาศไม่ได้แย่อย่างที่คิด อีกทั้ง ยังเป็นจุดขายที่ทำให้เชียงใหม่ได้รับความนิยมจากนักเดินทางทั่วโลก

    เมื่อความนิยมมากขึ้น เมืองก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นตามลำดับ ความเจริญเข้าปกคลุมทุกพื้นที่ แม้กระทั่งผืนป่าที่ให้ความร่มเย็น

    "เมื่อก่อนเรารู้สึกแค่ว่าอากาศมันร้อนเฉยๆ นะ เพราะทุกอย่างเป็นธรรมชาติงดงาม สงกรานต์เราก็ลงแม่น้ำปิง เล่นน้ำกัน มันเป็นชีวิตของพวกผมสมัยก่อน แต่สมัยนี้ เชียงใหม่กลายเป็นเมืองที่สร้างผลประโยชน์ สนามบินเชียงใหม่ ดอยสุเทพ ตัวเมืองถูกเชื่อมโยงกันหมด พื้นที่ระหว่างป่าและเมืองมันใกล้กันมากขึ้น นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่เราพูดกันมานานแล้ว อย่างเมื่อก่อนกลุ่มรักเชียงใหม่ก็พูดถึงประเด็นนี้ว่าโรงแรมเปิดมากมาย คอนโดมีเนียมเกิดมากมายในเชียงใหม่ คอมเพรสเซอร์มันพ่นแอร์ร้อนอยู่ตลอด มันทำให้เกิดความร้อนสะสม ยิ่งมีฝุ่นควันหรือ PM 2.5 เข้ามาอีก มันก็อบอวลอยู่ในแอ่งนี้ จริงๆ แล้วมลพิษมันก็เกิดโดยภาพรวมทั้งหมดนะครับ"

ความสดใสของฤดูร้อนที่หายไป

    ทศ-ทศพล กล่อมเกลา หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Toddyinthemood ก็เป็นอีกหนึ่งศิลปินที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นควันที่เกิดขึ้น เขาเป็นนักวาดภาพประกอบเจ้าของหนังสือรวมเรื่องสั้นหลายเล่ม เช่น Current Mood, Colorless เงาในเมืองเหงา, To die by your side : ขอฉันตายเคียงข้างเธอ นอกจากนี้ เขายังเคยออกแบบหน้าปกอัลบั้ม Minimal's Less ให้ค่ายเพลง Minimal Record ออกแบบลายเสื้อยืดให้กับวง Polycat วาดภาพประกอบหนังสือ Dialog ของสำนักพิมพ์ 10 มิลลิเมตร อีกด้วย

    'ปกติพอถึงหน้าร้อนจะนึกถึงดอกลมแล้ง สีของดอกสีเหลืองบานสะพรั่งเต็มข้างทาง เป็นสัญญาณของฤดูร้อนกับการสอบไล่ แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ สัญลักษณ์ของฤดูร้อนเปลี่ยนไป ไม่ใช้ดอกลมแล้งอีกแล้ว แต่กลับกลายเป็นฝุ่น ที่มาในช่วงนี้ของทุกปี คิดแล้วรู้สึกเศร้า ความสดใสของฤดูร้อนถูกขโมยไป ...ปัญหานี้เมื่อไหร่จะหมดไปซะทีนะ'

    ภาพของเด็กสาวใส่แมสก์ที่เหม่อมองท้องถนนถนนจากหลังรถแดง เป็นตัวแทนความรู้สึกของทศ ในวันที่ไฟป่าและ PM 2.5 ได้พรากความสดใสของฤดูร้อนไปจากเขา

    "ตัวเราเป็นภูมิแพ้ บางครั้งเราไอจามจนเลือดกำเดาไหล จากที่ตกเย็นเคยออกไปนั่งชิลๆ ที่ร้านข้างนอก ก็ต้องเปลี่ยนไปนั่งในห้องแอร์แทน ตัวเลือกในการใช้ชีวิตมันก็จะเปลี่ยนไปแล้วก็น้อยลง ยิ่งมาช่วงไวรัสโควิด-19 ยิ่งแล้วใหญ่ มันก็ตลกดีนะ ก่อนหน้านี้ รัฐบาลบอกว่าอากาศข้างนอกไม่ดี ให้อยู่แต่ในห้อง ต้องเปิดเครื่องกรองอากาศ พอถึงโควิด-19 มาปุ๊บ เขาก็ไม่แนะนำให้ไอยู่ในห้องที่เปิดแอร์ กลายเป็นว่าเชียงใหม่กลืนไม่เข้าคลายไม่ออก เพราะจะอยู่ข้างในก็ไม่ได้ อยู่ข้างนอกก็ไม่ดี"

    จากเมืองที่เคยเป็นเมืองในอุดมคติของใครหลายๆ คน มาวันนี้ เชียงใหม่กลายเป็นสถานที่ที่มีมลพิษมากที่สุดในโลกเสียแล้ว

    "นักดนตรีที่ผมรู้จัก เขามีความฝันว่าอยากจะย้ายมาอยู่เชียงใหม่ตั้งแต่เขาเรียนมหา'ลัย กลายเป็นว่าตอนนี้เขาเริ่มที่จะคิดใหม่แล้ว เพราะเชียงใหม่ไม่ใช่ที่ที่น่าอยู่อีกต่อไป โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพเกี่ยวกับการหายใจ เราเห็นภาครัฐเอารถออกมาฉีดน้ำบ้างตรงแถวท่าแพ เรารู้สึกว่าแค่นั้นมันไม่พอ หรือรัฐอาจมีนโยบายช่วยเหลือแต่เรายังไม่เห็นมันชัดเจน พูดตรงๆ ตามภาษาคนเชียงใหม่ ตอนนี้เราทำอะไรไม่ได้เลย นอกจากรอให้ฝนมันตก ฝุ่นและไฟ่ป่ามันถึงจะหายไป"

ควันไฟจากลมหายใจของผู้คน

    ถิง-ชลธิชา สุจริตพินิจ หรือ ถิง ชู ศิลปินอิสระที่หลงใหลในภาพวาดและงานเซรามิก เจ้าของงานแปลและภาพประกอบในหนังสือ มอง ของสำนักพิมพ์ปลากระโดด เธอและครอบครัวย้ายจากไต้หวันมาใช้ชีวิตอยู่ที่จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่เธออายุได้ 11 ปี ส่วนตัวหญิงสาวเป็นโรคหืดหอบและมีปัญหาภูมิแพ้ตั้งแต่เด็ก ฝุ่นควันที่ถูกพัดเข้ามาในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนของทุกปี ทำให้ระบบทางเดินหายใจของเธอแย่ลง และมีผดผื่นขึ้นตามใบหน้า

    เด็กสาวกับเจ้าหมีแพนด้าในวันฟ้าหม่น ทั้งสองกำลังเฝ้ามองไปยังควันไฟบนภูเขายามค่ำคืน เป็นผลงานที่ถิงวาดขึ้นมา เพื่อเก็บบันทึกภาพความทรงจำในวันที่ต้องเผชิญกับปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน

    "ทั้งสองเป็นตัวละครที่เราวาดบ่อย ทั้งคู่กำลังมองไปที่ควันไฟบนภูเขาในตอนกลางคืน เพราะตอนที่คิดจะวาดภาพนี้ มันเป็นช่วงเวลากลางคืนพอดี เรานั่งอยู่ตรงสตูดิโอกับเพื่อนๆ แล้วเรามองเห็นควันรอบตัวชัดมาก เรามองว่า สาเหตุหลักของไฟป่าและฝุ่นควัน มันไม่ได้มาจากการเผาไร่ของชาวบ้านอย่างเดียว แต่ปัญหาหลักๆ มันเกิดจากบริษัทใหญ่ที่เขาเน้นปลูกพืชเศรษฐกิจอย่าง ข้าวโพด เราเคยฟังเสวนาเรื่องป่าชุมชน ตอนนั้นเขาก็พูดถึงว่า ชาวบ้านจะเผาแค่ไหนก็ตาม มันก็ไม่มีทางรุนแรงเท่ากับการเผาครั้งเดียวเป็นร้อยๆ ไร่"

    ถิงให้เด็กสาวในภาพเป็นเหมือนเครื่องเตือนใจว่า เราทุกคนต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของกลไกที่ขับเคลื่อนให้ปัญหาเหล่านี้ เกิดขึ้นเช่นกัน

    "ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ปัญหาเหล่านี้มันก็เป็นผลพวงจากการบริโภคของเราเองด้วย เพราะเราก็ยังกินผลิตภัณฑ์ที่ทำจากข้าวโพดอยู่ตลอด ทั้งน้ำตาลเทียม ไซรัป หรือการที่เราทานเนื้อสัตว์ เขาก็ใช้ข้าวโพดพวกนี้เป็นอาหารสำหรับสัตว์ที่เรากิน จริงๆ แล้วเราก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหานั้น ในรูปเราก็เลยเขียนว่า ทุกคนกำลังผลกรรมของการกระทำที่ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งเช่นกัน"

งานศิลปะที่ช่วยเยียวยาหัวใจและไฟป่า

    ชนะ แสนสนั่นชัย และ เน็ท-ธิติพรหม อ่อนเปี่ยม เจ้าของแบรนด์เซรามิก chana.pottery.studio ที่หยิบยกจุดเด่นและเรื่องราวของศิลปินชื่อดังระดับโลก เช่น Van Gogh, Frida Kahlo มาสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานเซรามิกในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งเข็มกลัด จาน ของตกแต่งบ้าน และของที่ระลึก เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจจากศิลปินระดับโลกถึงมือทุกคน

    ชนะเล่าให้ฟังว่า ช่วงที่เกิดไฟป่า สตูดิโอของเขาอยู่ห่างจากจุดที่เกิดไฟไหม้เพียงแค่ 5 กิโลเมตรเท่านั้น

    "ปกติแล้วหน้าร้อนเราจะรู้สึกถึงความร้อนจากไอแดด แต่ช่วงที่มีปัญหาไฟป่า เราสัมผัสถึงความร้อนที่แผ่ออกมาได้เลย เหมือนกับว่าเราอยู่ในตู้อบขนาดใหญ่ ด้วยความที่สตูดิโอเราอยู่ใกล้มากๆ เราสามารถมองเห็นประกายไฟจากสตูดิโอได้เลย พอเกิดไฟป่า ปัญหาฝุ่นควันก็ตามมาอีก ส่วนตัวผมเป็นไซนัส ช่วงที่ผ่านมาก็มีเลือดกำเดาไหล ซึ่งเราไม่เคยเป็นมาก่อน อาจเพราะตัวเรามีสตูดิโอนอกบ้าน และเราต้องทำงานนอกบ้านตลอด มันเลยหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างเวลาเราไปออกกำลังกายแถวแม่น้ำปิง ก็เห็นได้ชัดว่าคนน้อยลง ผู้สูงวัยก็ไม่สามารถออกมาเดินเล่นข้างนอกได้"

    เขาบริจาคของและเงินส่วนตัวเพื่อช่วยเหลือทีมอาสาดับไฟป่า และยังชวนคนที่ซื้อสินค้าในร้านมาร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือครั้งนี้อีกด้วย

    "เราอยากเพิ่มช่องทางให้คนรู้ว่า มันยังมีช่องทางอื่นๆ ในการช่วยเหลืออีกนะ และผลงานของเราก็สามารถมีส่วนช่วยในเรื่องนี้ มันเป็นสิ่งที่เราทำได้ โดยเราจะหักรายได้ส่วนหนึ่งเพื่อนำไปช่วยเหลือทีมอาสา ซึ่งลูกค้าก็น่ารักมาก พอเขารู้เขาก็บอกว่า 'เอาชิ้นนั้นด้วย ชิ้นนี้ด้วย จะได้ช่วยไฟป่าได้เยอะๆ' เรามองว่า นอกจากเราจะได้ช่วยแก้ปัญหาไฟป่าแล้ว ผลงานของเราก็ยังมีประโยชน์กับคนที่ซื้อไปอีกด้วย"

    ขณะเดียวกัน ชายหนุ่มก็ขอชวนทุกคนมองย้อนกลับมาที่ปัญหาใกล้ตัวของเราบ้าง

    "สำหรับคนภายนอกอาจรู้สึกว่า ปัญหาไฟป่าเป็นเรื่องไกลตัว งั้นผมขอให้ทุกคนลองนึกถึงปัญหารอบตัวดูว่า มีอะไรที่เราสามารถช่วยกันดูแลได้บ้าง อย่างเรื่องขยะก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ควรให้ความสำคัญนะ เพราะจริงๆ แล้วปัญหาจากขยะมันก็ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมอื่นๆ ในประเทศเหมือนกัน ถ้าเรามีวิธีจัดการที่ดี และลดการเกิดขยะให้น้อยลงได้ มันก็น่าจะช่วยให้โลกดีขึ้น และช่วยชะลอปัญหาใหม่ๆ ที่จะตามมาในอนาคตอีกด้วย"

เสียงเพลงจากลมหายใจในหน้าแล้ง

    น้ำเสียงนุ่มๆ ของเฟนเดอร์-ธนพล จูมคำมูล นักร้องนำวง Solitude Is Bliss ที่คลอไปกับท่วงทำนองจากกีต้าร์ ในเพลง 'คนหน้าง่าว' ของ จรัล มโนเพ็ชร ชวนให้เรานึกถึงบรรยากาศเก่าๆ เมื่อครั้งได้ไปชมความงามของพระธาตุดอยสุเทพ สีสันสดใสของดอกพญาเสือโคร่ง และลมหนาวยามค่ำคืนที่พัดมากระทบตัวระหว่างเดินเล่นในถนนนิมมานต์

    บทเพลงนี้เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์คัฟเวอร์เพลงจากศิลปินชาวเหนือ ที่จัดขึ้นเพื่อเชิญชวนให้ผู้คนมาร่วมบริจาคให้กับกองทุนป่าเขาลมหายใจ โดยพวกเขาหวังว่า สิ่งเหล่านี้จะช่วยรักษาภาพเชียงใหม่ในความทรงจำไว้ได้

    "มันเป็นโปรเจกต์ของศิลปินในเชียงใหม่ครับ ทุกคนจะเลือกเพลงเหนือที่เป็นภาษาคำเมืองมาคัฟเวอร์ เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับเมืองเชียงใหม่ ชวนคนมาช่วยบริจาค เพื่อเขาจะได้เอาของไปกระจายให้กับทีมอาสา หรือเจ้าหน้าที่ที่เขาต้องไปดับไฟทุกวัน"

    ช่วงปีที่ผ่านมา เฟนเดอร์เริ่มมีอาการของภูมิแพ้และไซนัส ซึ่งส่งผลให้เขามีอาการปวดรุนแรง ในฐานะศิลปินที่ต้องร้องเพลงอยู่ทุกวัน ปัญหานี้ได้กระทบต่อการทำงานของเขาค่อนข้างมาก

    "หลายคนอาจรู้สึกว่ามันเป็นปัญหาที่มาปีละครั้ง ทนหน่อย เดี๋ยวก็หายไป แต่สำหรับคนในพื้นที่ที่ต้องดมมันทุกปี มันทำให้สุขภาพแย่ลงเรื่อยๆ เค้าเรียกว่าตายผ่อนส่ง ถ้าคนอยู่ในห้องแอร์ มีเครื่องฟอกอากาศ ก็ดีไป แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ เขาก็ไม่ได้ใช้แอร์ บ้านเราก็ไม่ได้ใช้แอร์ มันก็แย่

    เรามองว่าปัญหาหลักๆ เกิดจากภาครัฐไม่ยอมกระจายอำนาจให้เป็นของท้องถิ่น การประเมินสถานการณ์ การขอใช้อุปกรณ์ หรือการติดตามเรื่องต่างๆ มันล่าช้าและไม่ตรงจุด อย่างคำสั่งจากส่วนกลางที่บอกว่า ห้ามเผา แต่เขาไม่มีแนวทางอื่นให้กับชาวบ้านที่จำเป็นต้องเผาจริงๆ ถ้าเขามีทุน มีเครื่องมือ มีคนจากภาครัฐเข้ามาให้ความรู้ มันก็จะไม่เกิดเหตุการณ์เหล่านี้"

ในวันที่ท้องฟ้าเปลี่ยนสี และ ปัญหาที่ต้องเปลี่ยนแผน

    ปอ-ภราดล พรอำนวย ศิลปินนักแซกโซโฟน ผู้ร่วมก่อตั้ง The North Gate Jazz Co-Op บาร์แจ๊ซชื่อดังของจังหวัดเชียงใหม่ นอกเหนือจากบทบาทด้านดนตรี เขายังสนใจเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม และลงมือสร้างโปรเจกต์อย่าง มือเย็นเมืองเย็น ที่ชวนให้คนมาร่วมกันปลูกป่าในตัวเมือง ตั้งโต๊ะแจกอาหารสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาด ควบคู่ไปกับช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ไฟป่าที่ผ่านมา เขาร่วมกับเพื่อนกลุ่มโดรนอาสา เข้าไปพูดคุยกับคนในพื้นที่พร้อมกับนำอาหารไปสนับสนุนการทำงานของชุมชนเป็นครั้งคราว

    "บังเอิญว่าผมมีเพื่อนๆ เขาขับโดรน เราก็ทำกลุ่มโดรนอาสาขึ้นมา ช่วงที่ไฟไหม้ก่อนหน้านี้ มันมีทั้งหมดเกือบ 500 จุด ซึ่งกำลังคนเราน้อย ไม่สามารถวิ่งดับไฟได้ทุกพื้นที่ เพราะเรามองไม่เห็นความสูงลาดชัน หัวไฟ หางไฟ โดรนก็จะช่วยมุมมองที่สูงขึ้นเหมือนนกมองครับ พอเราเห็นภาพรวม เราก็จะเข้าใจสถานการณ์มากขึ้น"

    ปอต่อยอดโปรเจกต์นี้ ด้วยการให้ความรู้กับคนในพื้นที่เกี่ยวกับการใช้โดรน โดยเขาหวังว่า เทคโนโลยีเหล่านี้ จะช่วยให้ชุมชนสามารถจัดการกับปัญหาไฟป่าได้ดีขึ้น

    "ผมมองว่าทุกวันนี้เรามีเทคโนโลยีที่ดีมากขึ้น ในการออกแบบ วางแผน จัดการพื้นที่ จัดการทรัพยากร มันก็ควรจะถูกเอาไปใช้ไม่ใช่เหรอ จริงๆ แล้วตัวชาวบ้านเขามีศักยภาพ ถ้าเขามีโดรนไว้ใช้ในชุมชนก็เป็นเรื่องที่ดีนะ มันเหมือนกับว่าแต่ละชุมชนจะมีนกตัวนึงสอดส่องดูแล ทรัพยากรในพื้นที่ว่า ไฟมันเข้าตรงไหน ความลาดชัน คนเดินไปตรงจุดไหนแล้ว นอกจากวอคุยกัน เราก็จะมีโดรนที่ทำให้เห็นภาพที่กว้างขึ้นครับ ตอนนี้มีพี่คนนึงชื่อพี่ พฤ โอโดเชา เขาเป็นคนหนึ่งที่ค่อนข้างแอ็คทีฟ และเป็นคนในพื้นที่ เราอยากจะทดลองว่า ถ้าพี่สามารถใช้เทคโนโลยีอย่างนี้จะช่วยคนในชุมชนได้ไหม"

    ในฐานะที่เป็นนักดนตรี ปอบอกกับเราว่า การใช้โน้ตตัวเดิม ในจังหวะเดิมๆ ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีเสมอไป

    "ปัญหามีมานานขนาดนี้ แทนที่เราจะเรียนรู้ แต่เรากลับใช้วิธีการเดิมๆ ข้อกฎหมายเดิมๆ มุมมองเดิมๆ ใช้โครงสร้างทางอำนาจแบบเดิม ซึ่งมันใช้ไม่ได้ รัฐบาลต้องถามตัวเองนะว่า ถ้าสิ่งที่มีอยู่มันใช้ไม่ได้ แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป เพราะมันเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องรับผิดชอบในจุดนี้ เขาเป็นคนออกกลไก เงื่อนไข โยบาย วิธีการปฏิบัติ ถ้าส่วนกลางดูแลไม่ได้ มันถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่จะปล่อยให้คนในพื้นที่เป็นคนตัดสินใจเรื่องนี้ ไม่ใช่ต้องรออำนาจรัฐ ต้องรอให้กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรมาคอยสั่ง เพราะว่าเขาไม่ได้มาอยู่ตรงนี้ เขาไม่ได้มาเห็นเหตุการณ์ ปัญหาที่มันรุนแรงและมีท่าทีว่าจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แบบนี้ มันต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานได้แล้ว"

    แม้วันนี้ท้องฟ้าในเชียงใหม่จะยังขุ่นมัวและผู้คนยังต้องหายใจอยู่ในฝุ่นควัน แต่เรื่องราวของศิลปินทั้ง 6 คน ที่ขอเป็นกระบอกเสียง ใช้ความสามารถและงานศิลปะช่วยเหลือบ้านเกิด ก็น่าจะช่วยให้ท้องฟ้าในใจของชาวเชียงใหม่สดใสขึ้นกว่าเดิมบ้าง ไม่มากก็น้อย

ดุสิตา อิ่มอารมณ์

นักเขียน ผู้ใช้พื้นที่ในเวลาว่างไปกับการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ขี่จักรยาน อ่านการ์ตูน เล่นเลโก้ ฯลฯ โดยเชื่อเต็มหัวใจว่าเวลาที่หมดไปกับความรื่นเริงนี้สามารถเติมเต็มชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นิษณาต นิลทองคำ

กองบรรณาธิการที่กำลังใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน ชอบคุยกับผู้คน ท้องฟ้า และเสียงดนตรี เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการฟังเพลง ที่บางทีก็ปล่อยให้เพลงฟังเรา

ลักษมณ์สิรินทร์ เอี่ยมประเสริฐ

นักศึกษาฝึกงานปีสุดท้าย ที่ชื่นชอบของน่ารักกระจุ๊กกระจิ๊ก ใช้เสียงเพลงและการท่องเที่ยวขับเคลื่อนชีวิต รักในการบันทึกความทรงจำด้วยการวาดรูป