give.me.museums แล้วเดี๋ยวจะนำงานศิลปะไปเติมให้เต็มเอง

    แบรนด์บางแบรนด์ก็มีจุดเริ่มต้นที่ง่ายดายอย่างไม่น่าเชื่อ...

    แบรนด์ give.me.museums มีจุดเริ่มต้นจากสติกเกอร์ วินเซนต์ แวน โก๊ะห์ ชิ้นแรกที่ ออย-คนธรัตน์ เตชะไตรศร วาดขึ้นเพื่อทำไว้ใช้เอง แต่เมื่อสั่งที่ร้านทำแล้วไม่สามารถผลิตแค่แผ่นเดียวได้ จึงต้องทำออกมาหลายชิ้น เธอลองนำสติกเกอร์เหล่านั้นมาเสนอวางขายที่ happening shop สาขาหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนอยู่ภาควิชานฤมิตศิลป์ (Creative Arts) คณะศิลปกรรม (Faculty of Fine and Applied Arts) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนที่จะสร้างสรรค์สินค้ารูปแบบอื่นออกมาให้เลือกใช้อีกมากมายในปัจจุบัน

    เธอเล่าให้ฟังว่าตอนแรกไม่ได้คิดอะไรแค่เอาไปฝากวางขายเท่านั้น เพียงแต่ตอนขายออยลงช่องทางติดต่อส่วนตัวไว้ พอทำไปสักพักเริ่มมีลูกค้าติดต่อมาถามว่าจะสามารถติดตามผลงานได้ที่ไหน ประกอบกับทางบรรณาธิการร้านแนะนำให้ลองทำสินค้าลายอื่นมาขายเพิ่ม จึงเริ่มคิดถึงการตั้งชื่อแบรนด์ให้คนจำได้ ซึ่งชื่อที่ใช้นั้นมีที่มาน่าสนใจซะด้วย
    "มาจากคำพูดของปิกัสโซ 'Give me a museum and I'll fill it.' ที่หมายความว่า 'ส่งพิพิธภัณฑ์มาให้ฉันสิ แล้วเดี๋ยวฉันจะเติมมันให้เต็ม' ออยรู้สึกว่าคำมันน่ารักดี แต่ของเขาใช้ a museum ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์เดียว เราเลยนำมาเติม s เป็น give.me.museums คือมีหลายพิพิธภัณฑ์นะ เราอยากมีที่แสดงผลงานดีๆ ให้คนมาชมเยอะๆ แล้วตีความคำว่ามิวเซียมของเราว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะจัดแสดงผลงานที่ถูกคัดสรรมาแล้ว"

    และ give.me.museums ก็เริ่มต้นอย่างง่ายๆ อย่างนี้ ก่อนจะกลายมาเป็นแบรนด์ที่น่าสนใจที่สุดแบรนด์หนึ่งในร้าน happening shop

    หลังเรียนจบเธอเริ่มทำงานประจำเป็นครีเอทีฟโฆษณาและทำแบรนด์ของตัวเองควบคู่กันไปด้วย แต่พอทำสองอย่างจึงรู้สึกว่าไม่สามารถทุ่มเทให้กับงานได้อย่างเต็มที่ จึงตัดสินใจลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์แล้วหันมาทำแบรนด์ give.me.museums เต็มตัว โดยเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำงานมาใช้ในการสร้างแบรนด์ของตัวเองด้วย 
    "ตอนทำงานประจำชอบนะ ทีมก็ดี แต่เหนื่อยเกินไปเพราะออยทำสองอย่าง ไม่สามารถทำงานประจำได้เต็มที่เราก็เกรงใจเขา ขณะที่แบ่งเวลามาทำงานของตัวเองก็ไม่เต็มที่อีก" เธอนึกย้อนไปถึงตอนที่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อมาทำแบรนด์ของตัวเองเต็มตัว "จุดที่ทำให้ตัดสินใจออกมาคือแบรนด์เราค่อนข้างมีศักยภาพ แต่ถ้าเกิดว่าเรายังทำงานประจำอยู่จะต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะถ้ายังทำ give.me.museums อยู่ เราจะโตได้ยากมากเพราะไม่มีเวลาทำงานประจำได้เต็มที่ คือเรารู้สึกว่าเราทำงานประจำได้ดีกว่านี้แต่เราต้องแบ่งเวลา แต่ออยเรียนรู้จากการทำงานโฆษณาเยอะมากๆ เลยได้ใช้ความรู้ในการทำโฆษณามาร์เก็ตติ้งมาต่อยอดกับแบรนด์ สามารถซัพพอร์ตได้ดีมากค่ะ"
    เมื่อมีเวลาทุ่มเทกับการทำแบรนด์เต็มที่ เราจึงเห็นของที่หลากหลายนอกเหนือจากสินค้าในหมวดเครื่องเขียน เช่น griptok กระจก เทียน และกระเป๋าผ้า ภายใต้สีสันและลายเส้นเฉพาะตัวของออยออกมาให้ติดตามกันเรื่อยๆ โดยเธอให้เหตุผลในการเพิ่มประเภทสินค้าในแบรนด์ตัวเองไว้ว่า "ถ้าทำสินค้าหมวดเครื่องเขียนที่เราวาดรูปลงเทมเพลตเดิมๆ ต่อไปเรื่อยๆ ออยจะเริ่มเบื่อและหยุดทำแน่นอน เลยทำอย่างอื่นเพิ่มขึ้นมา มีกระจก เทียน เป็นต้นค่ะ" 
    เธอบอกว่าช่วงหลังกระบวนการทำงานจะไม่ได้เริ่มจากการวาดรูปก่อนแล้ว แต่เริ่มด้วยการคิดว่าอยากทำสินค้าอะไร แล้วจึงนำผลงานของตัวเองเข้าไปอยู่ในสิ่งนั้น พร้อมกับยกตัวอย่างกระจกและอุปกรณ์ช่วยจับโทรศัพท์มือถือ(griptok)ที่เป็นวงกลม ซึ่งเธอสนุกกับการวาดแบบให้เข้ากับรูปร่างและทำออกมาทีเดียวถึง 36 ลาย แล้วยังนำลายเหล่านั้นไปใช้กับสินค้าเทียนแบบตลับได้อีกด้วย ซึ่งกระบวนการคิดแบบนี้คือสิ่งที่เธอประยุกต์มาจากสมัยเรียน
    "ตอนแรกเราเริ่มวาดรูปด้วยความรู้สึกว่าอยากวาดสิ่งนี้เราก็วาด ไม่มีที่มาที่ไป คอนเซปต์มันคืออะไร วาดตามใจมาก ซึ่งจริงๆ ก็ดีเหมือนกันนะที่เราเริ่มมาจากตรงนั้น แต่ว่าพอได้มาเรียนนฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรม เราได้กระบวนการคิดใหม่เข้ามาอยู่ในหัวเรา ทำให้ความคิดเป็นระบบมากขึ้น มีที่มาที่ไป สามารถประยุกต์ใช้ได้หลายๆ อย่าง ถ้าเกิดว่าเราวาดรูปอย่างเดียวแล้วออกแบบไม่เป็น เราจะไม่รู้ว่ารูปที่เราวาดจะไปจบที่ตรงไหนถึงจะดีที่สุด มันจะเป็นการเอารูปไปแปะบนสิ่งของต่างๆ ค่ะ"

    สำหรับคนที่ติดตามผลงานของ give.me.museums อยู่คงคุ้นเคยกับคาแรกเตอร์เด็กผู้หญิงผมสีแดงที่สะท้อนบุคลิกซุกซนสนุกสนานจนใครๆ ก็อยากทำความรู้จัก ออยบอกว่าเคยวาดคาแรกเตอร์นี้มานานมากแล้ว เมื่ออยากให้แบรนด์มีความชัดเจนจึงคิดว่าคาแรกเตอร์นี้น่าจะเป็นตัวแทนภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้เป็นอย่างดี "ออยอยากให้แบรนด์มีคาแรกเตอร์สักอย่างขึ้นมาให้ชัดเจน แล้วมิติของแบรนด์มันเยอะ มีทั้งการ์ตูน ภาพแลนด์สเคปที่จริงจัง ออยเลยคิดว่าเด็กผู้หญิงคนนี้น่าจะเป็นตัวแทนภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ดูเป็นเด็กซนๆ คนนึงที่อยากทำนู่นทำนี่ เป็นเด็กที่วิ่งออกไปในป่ากับหมาแล้ววิ่งกลับมาบอกพ่อแม่ว่าเก็บผลไม้มาได้ เหมือนเวลาเราทำงานออกมาก็ภูมิใจกับงานของตัวเราแล้วอยากวิ่งไปอวดคนรอบตัวว่าฉันทำได้นะ"

ภาพเด็กผู้หญิงผมแดงที่ออยเคยวาดไว้ตั้งแต่ปี 2555
    ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาอาจจะมีปัญหาเช่น ระยะเวลาการผลิตสินค้าที่ต้องรอนาน หรือมีสินค้าที่ผลิตออกมาแล้วไม่ตรงตามความต้องการจึงต้องสั่งผลิตใหม่ แต่ออยบอกว่าเธอมีความสุขกับการทำงานทุกขั้นตอนด้วยตัวเอง ตั้งแต่เริ่มคิด ออกแบบ วาดภาพ ประสานงานการผลิตสินค้า ไปจนถึงการโปรโมทสินค้าเลยทีเดียว
    เธอแบ่งปันความรู้สึกออกมาด้วยน้ำเสียงร่าเริงว่า "ออยทำแบรนด์แล้วรู้สึกว่าสนุกและมีความสุข มันเป็นตัวเองมากๆ เพราะเราเป็นคนชอบคิด อยู่เฉยๆ ไม่ได้ต้องคิดนู่นคิดนี่คิดนั่นอยู่แล้ว เราชอบคิด ชอบออกแบบ ชอบลงมือทำ อาร์ตไดเร็กชั่นก็ชอบ แล้วสนุกจนถึงตอนถ่ายรูปคิดแคปชั่นเลย เวลาตอบข้อความลูกค้าก็แฮปปี้ดี เพราะลูกค้าน่ารักมาก"
    เธอเป็นคนที่ให้ความสำคัญเรื่องการสื่อสารกับลูกค้ามาก ทั้งการลงภาพสินค้า ภาพวาด หรือ อุปกรณ์ที่ใช้ รวมถึงกระบวนการวาดทางอินสตาแกรม เพราะเธออยากให้คนรู้สึกดีเมื่อเห็นสิ่งที่ give.me.museums นำเสนอมากกว่าการขายของอย่างเดียว
    "จริงๆ สิ่งที่คนติดตามเราให้เรากลับมาเยอะมาก เวลาที่เขาเขียนข้อความมาเป็นกำลังใจจริงๆ ถ้าเขาไม่พิมพ์อะไรมาหาเราเลยเราอาจจะเลิกทำไปแล้วก็ได้ แต่พอมีคนคอยซัพพอร์ต มีคนติดตามให้กำลังใจเรา เรารู้สึกว่าจะต้องให้อะไรกับเขาบ้าง"

ภาพสินค้าสวยๆ ที่เธอถ่ายด้วยตัวเอง ซึ่งสามารถติดตามได้ทางอินสตาแกรมของ give.me.museums

    เมื่อ give.me.museums เป็นแบรนด์ที่ร้องขอพื้นที่ศิลปะ เราจึงถือโอกาสถามความคิดเห็นเรื่องแวดวงศิลปะในบ้านเราสักหน่อย
    "ออยรู้สึกว่าพื้นที่สำหรับศิลปะมันน้อยมากเลย พื้นที่ออนกราวน์แบบนี้นอกจากหอศิลป์กรุงเทพฯ คือยากมาก และไม่ได้เข้าถึงได้ง่ายสำหรับทุกคน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ตัวออยทำได้ ณ ตอนนี้คือ กระจายงานศิลปะให้มาอยู่ในโลกออนไลน์ เพราะคนสามารถเข้าถึงได้มากกว่าออนกราวน์ แต่ว่าอนาคตก็อยากให้มีพื้นที่ศิลปะเยอะมากกว่านี้ มากขึ้นไม่พอต้องเข้าถึงได้และจะต้องมีคุณภาพด้วย ถ้าคนที่มีพลังไม่มาช่วย คนที่เริ่มทำตัวเล็ก คนไม่เห็นหรอก"
    นั่นคือเหตุผลที่เธอรวมกลุ่มกับเพื่อนทำโปรเจกต์ whatever whenever, art happens! เมื่อปลายปี 2562 "อย่างที่บอกว่าพื้นที่สำหรับศิลปะในไทยมันน้อยมากๆ ออยคิดว่าส่วนหนึ่งที่คนไม่ทำเพราะว่ามันเป็นวงการที่ทำแล้วไม่ได้กำไร เพราะว่าคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายมาเสพศิลปะแล้ว คนที่แสดงผลงานได้อะไร คือไม่ได้อะไรอยู่แล้ว บ้านเราเหมือนแบ่งเป็นกลุ่มศิลปะของคนที่มีเงินกับคนทั่วไป ซึ่งเรารู้สึกว่ามันมีช่องว่างอยู่ เราอยากลดช่องว่างตรงนั้นลงมา มันจะมีกลุ่มคนสนใจศิลปะที่เป็นเด็กไปเลยอย่างเด็กประถม มัธยม ที่จะเป็นอีกสไตล์นึง กับอีกกลุ่มที่เป็นไฟน์อาร์ตหรือศิลปะที่รู้สึกว่าจะต้องมีความรู้ เราอยากเป็นตรงกลางให้กลุ่มคนรุ่นใหม่สามารถไปถึงอีกกลุ่มได้" โดยจัดเป็นงานอาร์ตแฟร์สำหรับคนรักศิลปะที่นำศิลปินนักวาดภาพประกอบ ดีไซเนอร์ และครีเอเตอร์มารวมกันออกบูธ มีการแสดงดนตรี เวิร์กช็อป และจัดแสดงนิทรรศการให้คนที่ซื้อบัตรเข้ามาเที่ยวชมด้วย
    เมื่อหันกลับมามองสิ่งที่แบรนด์ give.me.museums ทำอยู่ เราจึงเข้าใจถึงการสร้างสรรค์ชิ้นงานแต่ละชิ้นออกมาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คน ซึ่งใครๆ ก็สามารถพกพาศิลปะไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่ส่วนตัวของตัวเองได้ "อย่างที่ทำโปรดักซ์หลายอย่างเพราะรู้สึกสนุกดีที่เห็นงานของตัวเองอยู่ในหลายๆ ที่นะ เวลาคนเดินผ่านแล้วเขาใช้กระเป๋าของเราก็รู้สึกดีเหมือนกัน" 
    ออยมองอนาคตของแบรนด์ไว้ว่าอยากให้เป็นพื้นที่สำหรับคนที่ชอบหรือสนใจศิลปะสามารถมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันมากกว่าเป็นแบรนด์ขายสินค้า ซึ่งเราจะต้องรอดูว่า give.me.museums จะเติบโตเป็นพื้นที่รูปแบบไหนต่อไป

ดุสิตา อิ่มอารมณ์

นักเขียน ผู้ใช้พื้นที่ในเวลาว่างไปกับการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ขี่จักรยาน อ่านการ์ตูน เล่นเลโก้ ฯลฯ โดยเชื่อเต็มหัวใจว่าเวลาที่หมดไปกับความรื่นเริงนี้สามารถเติมเต็มชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จรูญรัฐ วิธูสุวรรณ

อดีตช่างภาพนิตยสาร มาเปิดบริษัทของตัวเองได้สักพัก ยังสนุกกับงานถ่ายภาพอยู่เสมอ โดยเฉพาะการถ่ายภาพผู้คน ตอนว่างจะชอบหนีไปเที่ยวตามที่ต่างๆ แก้เบื่อด้วยการถ่ายสถานที่และสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ