หากย้อนทบทวนเส้นทางที่ โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล เริ่มเป็นคนเขียนบทและผู้กำกับภาพยนตร์ อาจจะต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่อง ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (2547) ที่เขาเขียนบทและรับหน้าที่กำกับร่วมกับ ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ เป็นเรื่องแรก เนื้อเรื่องชวนติดตามและฉากสุดหลอนที่ผู้ชมยังจำติดตาทำให้เขากลายเป็นผู้กำกับภาพยนตร์หน้าใหม่ที่ทุกคนจับตามองทันที ก่อนที่เรื่อง แฝด (2550) ที่ทำร่วมกับภาคภูมิอีกครั้ง แล้วจึงฉายเดี่ยวโดยการเขียนบทและกำกับ สี่แพร่ง ตอน คนกลาง (2551) และ ห้าแพร่ง ตอน คนกอง (2552) ภาพยนตร์ผีที่มีความตลกอยู่ในนั้น
หลังจากนั้นเขาเปลี่ยนแนวทางไปเขียนบทและกำกับภาพยนตร์โรแมนติกคอเมดี้อย่าง กวน มึน โฮ (2553) ที่กวาดรายได้เกินร้อยล้านบาท แล้วกลับมาพลิกมุมมองของตำนานที่คนไทยคุ้นเคยมาสร้างสรรค์เป็น พี่มากพระโขนง (2556) ที่ทำลายสถิติรายได้ถล่มทลายไปเป็นพันล้านบาท กระทั่งผลงานล่าสุดของเขา แฟนเดย์...แฟนกันแค่วันเดียว (2559) ที่เปลี่ยนมานำเสนอภาพยนตร์แนวโรแมนติกดราม่าดูบ้าง ก็ยังมีรายได้รวมกว่าร้อยล้านบาทเช่นกัน
ช่วงที่ห่างหายไปจากการทำภาพยนตร์ เขายังรับงานกำกับโฆษณาอย่างต่อเนื่อง จนวันที่เขาแวะเวียนมาที่ GDH 559 อีกหนึ่งสถานที่ทำงานของเขา เราจึงมีโอกาสได้พูดคุยถึงการทำงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างเขา ที่ต้องรับมือกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงาน ซึ่งกว่าผลงานแต่ละเรื่องจะสำเร็จออกมาฉายให้ชมกันนั้น มีเบื้องหลังที่ทั้งกดดันและสร้างความกังวลให้กับเขา จนส่งผลให้มีอาการนอนไม่หลับจากความเครียดเลยทีเดียว
"เมื่อก่อนผมเครียดมาก แต่เราก็ค่อยๆ เรียนรู้แหละ การทำงานเป็นลักษณะเฉพาะของผู้กำกับแต่ละคนนะครับ ก่อนหน้านี้ผมตื่นเต้น กลัวมาก เคยถึงขั้นว่าโลเคชันแคนเซิลทำให้เราดีใจเพราะอีกวันนึงถ่ายไม่ได้ ซึ่งมันอะไรกันวะเนี่ย โตมาถึงเพิ่งรู้ว่าเรากลัวนี่หว่า กลัวการออกกองถ่ายแล้วเราจะเป็นตัวโง่รึเปล่า เพราะว่าการทำงานกับคนเป็นร้อยๆ ที่เขารอการตัดสินใจจากเรา ขณะที่การทำงานเป็นปีๆ ผลลัพธ์ที่ออกไปจะถูกตัดสินในระยะเวลาแค่แป๊บเดียว มันก็ต้องตื่นเต้นอยู่แล้วครับ"
แต่ถ้าถามถึงบรรยากาศในการทำงานในตอนนี้ เขาก็บอกว่าประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เรียนรู้ว่าจะทำอย่างไรให้สามารถสนุกกับการทำงานได้ "สุดท้ายเราก็พบว่าการทำงานที่ดีคือ เราเริ่มมั่นใจ กล้าเปลี่ยน กล้าอิมโพรไวซ์ ดังนั้นก่อนถึงวันออกกอง ผมก็ไม่กลัวแล้ว วันถ่ายจริงอะไรไม่เวิร์กก็แก้เลย ถามตากล้อง ถามผู้ช่วย ร่วมกันแก้ปัญหา บรรยากาศมันก็เลยไม่เครียด สำหรับผมตอนนี้การออกกองสนุกมาก ถึงแม้ว่ามันจะเครียดหรือมีปัญหาอะไร ก็เครียดอยู่ในพื้นฐานที่เรายังเอ็นจอยกับมัน การออกกองผมจะมีเสียงหัวเราะเป็นส่วนใหญ่ ตอนถ่ายก็สนุกสนานกัน"
หลายๆ คนที่ทำงานในวงการภาพยนตร์และโฆษณาที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ต่างต้องเผชิญกับความเครียดและความกดดัน บรรยากาศในที่ทำงานจึงมักจะมีคนที่ออกมาสูบบุหรี่ช่วงพักจากการประชุม หรือคนที่เดินออกมาสูบบุหรี่ช่วงพักกองให้เห็นอยู่บ่อยๆ ซึ่งแม้เขาเป็นคนหนึ่งที่เคยสูบบุหรี่แต่เลือกหันหลังให้กับมัน เพราะรู้ว่านอกจากบุหรี่จะไม่มีผลต่อการทำงานแล้ว ยังไม่คุ้มค่าต่อสุขภาพที่เสียไปอีกด้วย
"สมัยเรียนผมมีเพื่อนสูบบุหรี่เยอะมากๆ เหมือนว่าตอน ม.ต้น ผมเป็นเด็กเรียนมาก แต่ไม่อยากเรียนสายวิทย์ เลยมาเข้าสายศิลป์ มันทำให้เจอเพื่อนอีกแบบนึงไปเลย กลายเป็นว่าอยู่กับเพื่อนกลุ่มนี้แล้วสนุกดี มันอาจจะมีแวบนึงที่ตอนเด็กรู้สึกว่าอยากจะเป็นแบดบอยดูบ้าง เพราะในสังคมเด็กเรียบร้อยมันไม่เท่อยู่แล้ว เขาดูดบุหรี่กัน เราก็ลองบ้าง แต่ผมไม่ได้ติดขนาดซื้อเป็นซอง ช่วงมหาวิทยาลัยจะมีช่วงที่ไปเที่ยวกินเหล้าแล้วก็ขอเพื่อนแค่ตัวสองตัว"
โต้งเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการทดลองสูบบุหรี่ของเขาว่าเป็นเพียงการสูบเล่นๆ เวลาอยู่กับเพื่อน แต่ไม่เคยติด จึงไม่ต้องผ่านการพยายามเลิกบุหรี่ที่ยากลำบากเหมือนกับคนอื่นๆ ดังนั้นแม้ขณะทำงานที่ต้องใช้ความคิดจนก่อให้เกิดความเครียด เขาจึงหาวิธีในแบบของตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาบุหรี่เหมือนคนอื่นๆ
"ผมเป็นคนที่จริงจังเวลาทำงาน ถ้าเครียดมากก็หยุดคิดไปทำอย่างอื่นก่อน อย่างเช่นทุกวันนี้ทำงานเกี่ยวกับครีเอทีฟ คิดโฆษณา คิดหนัง คิดไม่ออกเราก็ออกไปเดินข้างนอก เขียนบทอยู่ก็ออกไปเดินในหมู่บ้าน ไปนั่งในสวน อยู่ๆ มันก็ออกมาเองก็มี มันเป็นการเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมเราครับ บางทีที่เราเผลอๆ แล้วเราไม่ได้ตั้งใจคิดงาน ไอเดียมันจะมามากกว่าก็เป็นไปได้ ผมคิดว่าวิธีนี้คงคล้ายๆ กับการออกไปสูบบุหรี่ของคนอื่นก็ได้นะ สำหรับบางคนเขาอาจจะติดใจกับการที่เขาได้ปล่อยอะไรออกมา เหมือนอยู่ในห้องประชุมกันทั้งวันจนเครียดก็จะต้องทำอะไรสักอย่าง แล้วเวลาออกไปข้างนอกจะทำอะไรล่ะ ก็มีกินกาแฟกับสูบบุหรี่ใช่ไหม ผมตัดสินใครไม่ได้ อันนั้นเป็นสิทธิ์ของเขา แต่บุหรี่กับความคิดสร้างสรรค์มันไม่ได้เกี่ยวเลย การจะคิดงานให้ได้ ง่ายๆ คือคุณต้องคิดให้ได้ ต้องคิดให้ดีกว่าคนอื่น ไม่เกี่ยวกับการที่ต้องไปพึ่งพิงสิ่งเหล่านี้
"เคล็ดลับที่ทำให้คิดงานได้ดีสำหรับผมคือ ตั้งมาตรฐานไว้ให้สูง ผมทำหนัง เวลาทำหนังจะคิดแค่ว่าเราอยากดูไหม เพราะว่าเราเป็นคนดูหนังเยอะมาก หนังไทยออกมาแต่ละเรื่องบางทีเรายังส่ายหัวไม่อยากดูเลย แล้วเราทำเอง ทำไมเราจะทำหนังที่ตัวเราเองยังไม่อยากดู ข้อแรกเลยเราชอบหนังไทยที่สนุกมาก ชอบหนังไทยที่ดี หนังไทยที่แปลกใหม่ เพราะฉะนั้นหนังไทยที่เราทำก็น่าจะตอบโจทย์นั้นหรือเปล่า เหมือนเราต้องถอยตัวเองออกมาเพื่อตื่นเต้นไปกับมันในฐานะคนดูด้วย"
นอกจากจะรู้สึกว่าการสูบบุหรี่ไม่ใช่สิ่งจำเป็นแล้ว อีกหนึ่งเหตุผลที่เขาเลือกตัดขาดจากบุหรี่เพราะเริ่มหันมาสนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ทั้งเรื่องอาหารการกินและการออกกำลังกาย ดังนั้นหากบุหรี่คือปัจจัยหนึ่งที่สามารถสร้างปัญหาด้านสุขภาพเขาก็ไม่ต้องการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมากขึ้น
"ในแง่ส่วนตัวพออายุมากขึ้นเราจะเริ่มสนใจสุขภาพมากขึ้นนะครับ เพราะพออายุมากขึ้นเรื่อยๆ เราก็มีปัญหาสุขภาพอื่นๆ เช่น ออฟฟิศซินโดรม นอนไม่หลับ แล้วผมจะหาเรื่องเข้าตัวด้วยการสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงอีกทำไม ฐานะที่ผมเคยสูบบุหรี่มาด้วย จริงๆ ผมไม่ค่อยเชื่อเรื่องการฝากฝังหรือเตือนอะไร การสูบไม่สูบเป็นสิทธิ์ส่วนตัวเขานะ แต่ผมรู้สึกว่าถ้าเราให้ความสำคัญต่อสุขภาพมันก็ให้ผลบวกต่อตัวเรา แล้วเรื่องที่ควันบุหรี่ไปรบกวนคนอื่นเป็นเรื่องสำคัญมากเลยในสังคมเรา คนสูบบุหรี่อาจจะไม่รู้ตัวว่ากลิ่นบุหรี่กำลังกวนคนอื่นอยู่ ผมเองเวลาอยากคลายเครียดมันมีหลายวิธีมากที่ไม่ส่งผลเสียต่อตัวเรา ถ้าเราคิดได้ตั้งแต่แรกก็ไม่มีอะไรเสียหาย เราจะเลือกสิ่งดีๆ ให้ชีวิตมากขึ้น อย่างตอนเด็กๆ เราไม่คิดถึงเรื่องสุขภาพหรอก นั่งนอนไปเรื่อยๆ ไม่ทำอะไร ตอนนี้ผมรู้ถึงคุณค่าของเวลา ผมไม่อยากเสีย 1 วันของชีวิตไปฟรีๆ กับการกินเหล้ายันเช้า นอนไปอีกทั้งวันตื่นอีกที 3 ทุ่ม หรือสูบบุหรี่ไปอีกสักพักแล้วต้องป่วยอะไรอย่างนี้ คือผมรู้สึกว่าผมไม่อยากเสียเวลาในชีวิตไปกับอะไรไม่รู้ที่เราคิดว่าส่งผลลบกับเรา"
อย่างที่โต้ง บรรจง บอกว่าการสูบบุหรี่เป็นเรื่องส่วนตัว แต่สำหรับคนใกล้ชิดที่สูดควันบุหรี่มือสองย่อมรู้สึกระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ ปวดศีรษะ และสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคภูมิแพ้ หอบหืด ที่อาการสามารถกำเริบได้ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ได้รับควันบุหรี่มือสองยังมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ โรคเส้นเลือดสมองตีบ และมะเร็งปอดได้เช่นกัน ดังนั้นคนที่สูบบุหรี่จึงควรตระหนักถึงผลกระทบต่อคนในครอบครัวและผู้อื่นด้วย
ส่วนตัวเขาเริ่มออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องมาได้ 3-4 ปีแล้ว ซึ่งสังเกตได้ว่าช่วงที่ออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องจะไม่มีปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับและไม่ปวดหัว "สิ่งที่ชัดเจนเวลาออกกำลังกายคือ เรารู้สึกดีกับตัวเองและเสพติดการออกกำลังกาย มีช่วงที่ไปบ่อยแทบทุกวันเราจะรู้สึกว่าเราเปลี่ยนไปแล้ว ร่างกายกระชับไม่เทอะทะ ไม่อึดอัด" แต่ถ้าห่างหายไปปัญหาเหล่านี้จะกลับคืนมาเป็นระยะ ดังนั้นเป้าหมายในการดูแลสุขภาพของตัวเองตอนนี้คือต้องการมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย ไม่อยากปวดหัว ปวดหลัง ปวดไหล่ จะได้สามารถนอนหลับพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ เพื่อพร้อมต่อการทำงานที่ต้องใช้ความคิดเยอะ
"จริงๆ ผมว่าเรากำหนดอนาคตตัวเราเองได้ ชีวิตดีมันก็เริ่มมาจากตัวเราก่อน ผมเองไม่สูบบุหรี่เพราะเราไม่เห็นความจำเป็นของมันเลย แล้วเรารู้สึกว่าเวลาในชีวิตสำคัญมากเราจึงให้ความสำคัญกับสุขภาพของเรา การสูบบุหรี่สำหรับผมคือการเอาตัวเองไปเสี่ยงว่าเราอาจจะมีปัญหาสุขภาพในอนาคต ผมไม่อยากเสียเวลา ผมอยากทำให้ทุกวันมีคุณภาพ ไม่ป่วย ไม่เจ็บ ไม่ไข้ เหมือนเริ่มจากเรา เราเลือกได้ว่าจะสูบหรือไม่สูบบุหรี่"
จุดเริ่มต้นบนเส้นทางสายภาพยนตร์ที่แสนกดดันและตึงเครียด โต้ง บรรจง เรียนรู้ที่จะรับมือและแก้ปัญหาจากประสบการณ์ แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าความสำเร็จของผลงานคือวิธีการที่เขาเลือกใช้ดูแลสุขภาพร่างกายเพื่อคงประสิทธิภาพในการทำงานสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับโจทย์ที่ท้าทายแค่ไหนก็ตาม
ซึ่งหนทางและวิธีการที่ใช้ก็นำไปสู่ชีวิตที่ดียิ่งขึ้นด้วย
โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล เห็นคุณค่าของเวลาที่จะใช้ไปกับการทำงานมากกว่าที่จะเสียไปกับการบั่นทอนสุขภาพของตัวเองด้วยการสูบบุหรี่แล้ว ยังเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายด้วยการแบ่งเวลาไปออกกำลังกายอีกด้วย สำหรับคนที่กำลังหาตัวช่วยตัวเอง พร้อมกับเริ่มมีชีวิตที่ดีขึ้นแบบเขา สามารถคลิกเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ชีวิตดีเริ่มที่เรา
2548 VIEWS |
นักเขียน ผู้ใช้พื้นที่ในเวลาว่างไปกับการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ขี่จักรยาน อ่านการ์ตูน เล่นเลโก้ ฯลฯ โดยเชื่อเต็มหัวใจว่าเวลาที่หมดไปกับความรื่นเริงนี้สามารถเติมเต็มชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ