วิถีการกินและสุขภาพร่างกายที่สะท้อนอยู่ในผลงานศิลปะของ เมธี น้อยจินดา #ชีวิตดีเริ่มที่เรา

    เมธี น้อยจินดา เปิดประตูบานใหญ่ของ Mowgli Records ออกมาต้อนรับ จากโครงสร้างบ้านเดิม เราเห็นว่าเขาปรับผนังทึบชั้นล่างเปลี่ยนเป็นกระจกบานใหญ่ เพื่อเปิดรับแสงธรรมชาติเข้ามาสู่พื้นที่รับแขก โต๊ะอาหาร และครัวขนาดกะทัดรัด ใกล้กับชุดโซฟาและเก้าอี้รับแขกมีภาพวาดแขวนอยู่บนผนัง ขนาบด้วยชิ้นงานประติมากรรมโคมไฟบางส่วนที่เพิ่งนำกลับมาเก็บไว้ หลังจากจบการแสดงงาน Love Installation ที่ 101 The Third Place ก่อนที่จะแนะนำว่าที่นี่เป็นบ้านอีกหลังหนึ่ง ซึ่งเขาใช้เป็นสตูดิโอสำหรับทำงานเพลงและแบ่งพื้นที่ไว้ทำงานศิลปะด้วย

    แม้เราจะคุ้นเคยกับบทบาทมือกีตาร์วงโมเดิร์นด็อกกับการเป็นดีเจเปิดเพลงภายใต้ชื่อ ดีเจเห็ดฟาง แต่ช่วงหลังจะเห็นว่าเขามีโปรเจกต์จัดแสดงงานศิลปะในนิทรรศการเดี่ยว นิทรรศการคู่ หรือนิทรรศการแบบกลุ่มให้เห็นสม่ำเสมออย่างต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว โดยตลอดการทำงานเพลงและงานศิลปะนั้น เขามองว่าสุขภาพและวิถีในการดำเนินชีวิตที่เลือกกินมังสวิรัติและออกกำลังกายของเขา สะท้อนออกมาจากงานที่สร้างสรรค์อยู่บ่อยครั้งด้วยเหมือนกัน

    "ผมเคยทำงานศิลปะชิ้นหนึ่ง เป็นกล่องไม้ที่จะตั้งอยู่ตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพฯ แล้วผมเลือกหัวข้อมังสวิรัติอาทิตย์ละ 1 วัน หรือเดือนละ 1 วัน ไม่แน่ใจนะ ตั้งชื่องานว่า 'Let Them Have a Holiday' ซึ่งรูปข้างในนั้นจะเป็นหมูว่ายน้ำเล่นห่วงยาง วัวไปเตะบอล ไก่อ่านหนังสือ วาดให้สัตว์ได้พัก อีกชิ้นนึงเราเคยวาดรูปหมูตัวเล็กๆ ที่กำลังไหว้เจ้า หมูถือธูปเทียนเหมือนคนไหว้เจ้า ซึ่งเราคิดว่าเวลาคนไหว้เจ้าจะเอาหัวหมูไปถวาย แล้วจริงๆ คนไหว้หรือหมูไหว้กันแน่"

    ซึ่งนอกจากคนที่เคยร่วมงานกับเขา น้อยคนนักจะรู้ว่าเมธีกินมังสวิรัติ โดยค่อยๆ เริ่มเปลี่ยนวิถีการกินของตัวเองสมัยเรียนมหาวิทยาลัย จากตั้งใจเลิกกินเนื้อวัว ก่อนที่จะงดเนื้อหมู เนื้อไก่ และอาหารทะเล ตามลำดับ กระทั่งสามารถเลิกกินเนื้อสัตว์ได้ในที่สุด

    "ตอนทำเพลงชุดแรก (ส่งเสริมสุขภาพ) จะลำบากเวลาไปทัวร์ เพราะเราเหมือนตัวเรื่องมาก กินอะไรก็ไม่ได้ สมัยก่อนเขาจะไม่ค่อยเข้าใจคนกินมังสวิรัติ เวลาเราสั่ง 'ข้าวผัดสับปะรดนะครับ เอาแต่ข้าวกับสับปะรดนะครับ' เขาจะใส่กุ้งมาให้ พอเราบอกว่า 'ผมไม่ทานกุ้งนะครับ ขอทำใหม่อีกที่นึง' เขาจะใส่หมูมาให้ บางทีจะเล่นอยู่แล้ว เพื่อนในวงก็บอกให้กินๆ ไปเถอะ ตอนหลังเราก็เริ่มปรับที่ตัวเรา คือจะเขี่ยเนื้อสัตว์ออก เลยเป็นคนกินมังฯ แบบเขี่ย"

    นับตั้งแต่ที่เขาเริ่มกินมังสวิรัติ ก่อนมีผลงานอัลบั้มแรกจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาต่อเนื่องมา 25 ปีแล้ว สำหรับคนไม่กินมังสวิรัติอาจรู้สึกว่าการดำรงชีวิตในวิถีนี้น่าจะยุ่งยากสักหน่อย ไม่ว่าจะเป็นการสั่งอาหารในร้านที่เปิดอยู่ใกล้ย่านที่อยู่อาศัยหรือที่ทำงานปัจจุบัน เวลาไปไหนมาไหนกับเพื่อนฝูงที่ไม่กินอาหารเหมือนเราจะทำอย่างไร หรือกังวลว่าสารอาหารที่ได้รับจะเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายหรือไม่ แต่ทุกสิ่งที่คิดว่าเป็นอุปสรรคนั้น เมธีผ่านมาหมดแล้ว ซึ่งเขายืนยันว่าสมัยนี้ร้านอาหารเริ่มคุ้นเคยและเข้าใจคนกินมังสวิรัติมากกว่าเมื่อก่อน ดังนั้นแค่สั่งอาหารที่ไม่ใส่เนื้อสัตว์ เช่น สปาเกตตีผัดขี้เมาเห็ด หรือเวลากินข้าวกับเพื่อนแล้วเพื่อนสั่งต้มยำกุ้ง ก็สามารถกินร่วมกับคนอื่นแล้วตักเฉพาะเห็ดได้

    ส่วนปริมาณอาหารที่เหมาะสมต่อมื้อ จะมีแนวทางการกินควบคู่การออกกำลังกายเพื่อลดพุงสำหรับคนรักสุขภาพที่เรียกว่า 2 : 1 : 1 โดยสามารถกำหนดสัดส่วนของอาหารต่อมื้อด้วยสายตาง่ายๆ เพียงแบ่งพื้นที่ในจานออกเป็น 4 ส่วน แล้วแบ่งประเภทอาหารในจานเป็น ผัก 2 ส่วน แป้ง 1 ส่วน และเนื้อสัตว์ 1 ส่วนต่อมื้อ โดยสัดส่วนอาหารนี้ยังลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ ได้อีกด้วย

    โดยองค์การอนามัยโลกและองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ กำหนดมาตรฐานปริมาณผักผลไม้ที่ร่างกายควรได้รับไว้ที่ 400 กรัมต่อวัน จะช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง เป็นต้น

    แต่ในวิถีชีวิตปัจจุบันที่ผู้คนซื้ออาหารปรุงสำเร็จหรืออาหารสำเร็จรูปมารับประทาน อาจทำให้รู้สึกว่ากำหนดสัดส่วนการรับประทานผักผลไม้ให้เหมาะสมยาก แต่หากลองปรับลดปริมาณของว่างประเภทขนมขบเคี้ยว น้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง แล้วเลือกรับประทานผลไม้ตามฤดูกาลแทน ก็จะเป็นทางเลือกให้รับประทานผลไม้ในปริมาณที่มากขึ้นได้

    ส่วนตัวเมธีที่เป็นคนกินผักได้หลากหลายชนิดและชอบกินผลไม้มากอยู่แล้ว จึงไม่มีปัญหาเรื่องสัดส่วนของการกินผักต่อมื้ออาหาร และแม้จะไม่ได้กินเนื้อสัตว์ เขายังสามารถเลือกกินไข่ไก่ เต้าหู้ เห็ด ชีส หรือนม มาทดแทนเพื่อรับสารอาหารประเภทโปรตีนได้เหมือนกัน

    "ถ้าเราสังเกตดีๆ ร่างกายเหมือนเป็นครูเรา ถ้ารู้สึกว่าช่วงไหนเป็นร้อนใน มันอาจจะเกี่ยวกับเรื่องสัดส่วนอาหาร บางช่วงเหมือนเรารู้สึกร่างกายไม่สดชื่นปลอดโปร่ง หรือรู้สึกว่าช่วงนี้ร่างกายหนักๆ บางทีผมก็ไปสั่งน้ำผลไม้ปั่นดื่ม หรือทานผลไม้เยอะขึ้นก็หาย เวลาที่ร่างกายเรารู้สึกแปลกๆ แบบที่อธิบายไม่ได้ชัด การปรับอาหารก็ช่วยได้ เพราะร่างกายมันอาจจะอยากบอกอะไรเรา มันอาจจะบอกว่าเราใช้ชีวิตไม่สมเหตุสมผลอยู่ เราอาจจะนอนน้อยไป ทานผักผลไม้น้อยไปหรือเปล่า"

    ตลอดระยะเวลาที่เห็นเขาทำงานอยู่ในวงการเพลงและวงการศิลปะ เราเห็นว่าเขาสร้างสรรค์งานเพลงและขึ้นแสดงบนเวทีได้อย่างมีพลัง ดังนั้นเขาจึงมีสุขภาพแข็งแรงเหมือนคนทั่วไป อีกทั้งวิถีการกินนี้ยังไม่กระทบต่อการทำงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เลย

    เมธียังเล่าให้ฟังว่ามีช่วงหนึ่งที่การออกกำลังกายส่งผลต่อการสร้างสรรค์งานเพลงของเขาด้วยเหมือนกัน เขาบอกว่าปกติไม่ใช่คนชอบออกกำลังกาย แม้สมัยเรียนอยู่ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมีโอกาสเล่นฟุตบอลและรักบี้ตามเพื่อนในคณะฯ อยู่บ้าง แต่ส่วนตัวจะเป็นคนชอบอ่านหนังสือ เปิดวิทยุฟังเพลง ดูหนังมากกว่า

    "ปกติเวลาทำงานเพลงแต่ละชุด เราจะพยายามหาแรงบันดาลใจอยู่แล้ว ช่วงที่กำลังทำอัลบั้มชุดที่ 4 (แดดส่อง) ที่เริ่มรู้จักโซราน (Zoran Bihac) เขาเป็นผู้กำกับมิวสิกวิดีโอเพลง ตาสว่าง หลังจากนั้นพอมาทำงานถ่ายโฆษณาที่เมืองไทยก็สนิทกัน เขาเป็นคนติดการว่ายน้ำมาก เลยต้องจองโรงแรมที่มีสระว่ายน้ำ แล้วเขาว่ายน้ำทุกวันเลย มีช่วงนึงที่เขามาเมืองไทยแล้วได้พักโรงแรมที่ไม่มีสระน้ำ ผมเลยต้องพาเขาไปสปอร์ตคลับ ไหนๆ ต้องไปส่งไปรับกลับก็เลยสมัครเป็นสมาชิกแล้วว่ายด้วยเลย เพราะตัวเองเป็นโรคภูมิแพ้อยู่แล้ว การว่ายน้ำมันก็ดีต่อสุขภาพ จำได้เลยว่าตอนที่ทำเพลงอัลบั้มนั้นได้ว่ายน้ำอย่างต่อเนื่องครั้งละเป็นชั่วโมง อาทิตย์ละ 2 ครั้ง แล้วร่างกายมันเฟรช เรารู้สึกว่ามันมีผลกับดนตรีเหมือนกันนะ ดนตรีชุด แดดส่อง มันจะมีความเปิดและเฟรชๆ หน่อย เหมือนพอร่างกายเราดี แอตติจูดหรือพลังงานเราจะมีความบวกครับ"

    การพูดคุยกับเมธีครั้งนี้ทำให้เรารู้ว่าเบื้องหลังของแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานเพลงและงานศิลปะของเขา มีจุดเริ่มต้นจากการที่ตัวเขาต้องการทดลองเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของตัวเอง ทั้งการเริ่มกินอาหารมังสวิรัติและการออกกำลังกาย โดยตัวเขาเองก็ไม่รู้แน่ชัดนักว่ากระบวนการของสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ยืนยันให้ฟังว่าเกี่ยวข้องกัน

    "บางทีก็งงนะว่าอะไรเกิดก่อนหรือหลัง ไม่รู้ว่าเพราะไลฟ์สไตล์เราเป็นแบบนั้น งานถึงออกมาเป็นแบบนั้น หรือว่าเราอยากได้งานแบบนี้ เราเลยปรับไลฟ์สไตล์ดู เพื่อที่จะส่งไปที่งานกันแน่"

    แต่ที่แน่ๆ คือ งานเพลง งานศิลปะ สุขภาพ และชีวิตดีๆ เริ่มต้นที่ตัวเขาเองทั้งนั้น



    สำหรับผู้อ่านที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของ เมธี น้อยจินดา แล้วอยากลองสร้างสมดุลเรื่องอาหารและการใช้ชีวิตของตัวเอง สามารถเริ่มจากคลิกเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ชีวิตดีเริ่มที่เรา

ดุสิตา อิ่มอารมณ์

นักเขียน ผู้ใช้พื้นที่ในเวลาว่างไปกับการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ขี่จักรยาน อ่านการ์ตูน เล่นเลโก้ ฯลฯ โดยเชื่อเต็มหัวใจว่าเวลาที่หมดไปกับความรื่นเริงนี้สามารถเติมเต็มชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ