ย้อนกลับไปช่วงปลายปี 2016 กับรายการประกวดแข่งขันร้องเพลง The Voice ซีซั่น 5 ในรอบ Blind Audition ปรากฏภาพชายผู้เข้าแข่งขันที่มาพร้อมเสียงนุ่มๆ ในเพลงสเปน Besame Mucho ด้วยความที่เป็นลูกครึ่งไทย-โคลอมเบีย พูดได้หลายภาษา แต่งและทำเพลงเอง และมีอาชีพหลักเป็นนักดนตรีบำบัด ทำให้แฟนรายการเริ่มรู้จักและสนใจในตัว โจ-โจเซฟ ซามูดิโอ
เรานัดพบโจเซฟที่ Banana Record ค่ายเพลงที่เคยสังกัดอยู่ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ เขาเพิ่งปล่อยเพลงล่าสุดที่มีชื่อว่า แสดงออก และในเวลากลางวันก็ทำงานเป็นทั้งนักดนตรีบำบัดกับอาจารย์สอนพิเศษที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนกลางคืนก็รับเล่นดนตรีตามร้านอาหาร
ตั้งแต่จำความได้ ชีวิตโจเซฟก็มี 'ดนตรี' เป็นส่วนหนึ่งมาโดยตลอด เนื่องจากครอบครัวชื่นชอบด้านดนตรี โดยเฉพาะพ่อที่ส่งเสริมเขาให้ฝึกเล่นกีตาร์ตั้งแต่อายุ 4 ขวบ ก่อนหยุดเล่นไปหลายปีเพราะนิ้วไม่ถึง แต่หลังจากนั้นเขาในวัย 10 ขวบก็เลือกเรียนฟลุตตามวิชาบังคับของโรงเรียน และค้นพบว่านี่คือสิ่งที่เขาทำได้ดี
จากนั้นในช่วงเรียนหนังสือ โจเซฟก็ฝึกเล่นดนตรีอีกหลายประเภท จนเมื่อถึงเวลาเลือกคณะในระดับมหาวิทยาลัย เขาก็ตัดสินใจเรียนต่อด้านดนตรีบำบัด ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีความคิดอยากทำงานด้านดนตรีมาก่อน
"ผมอยากเป็นหมอมาตั้งแต่เด็ก จำได้ว่าพ่อแม่เตือนตลอดเรื่องเข้ามหาวิทยาลัยช่วงไฮสคูล คิดว่าจะทำงานอะไร แล้วมีวันหนึ่งที่ผมเสิร์ชอินเทอร์เน็ตดูเรื่องอาชีพในด้านดนตรีว่ามีอะไรบ้าง ก็มีนักดนตรี คอมโพเซอร์ เล่นในซิมโฟนี แล้วสุดท้ายคือดนตรีบำบัด เราก็สงสัยว่าคืออะไร เลยหาข้อมูลต่อ พบว่าเป็นอาชีพที่ผสมการช่วยคนอื่นและการใช้ดนตรี เป็นการผสมสิ่งที่ผมชอบ เลยเลือกเรียนดนตรีบำบัด"
ด้วยความที่อยากทำสิ่งที่ชอบสองอย่างไปพร้อมๆ กันนี่เอง โจเซฟจึงเลือกเรียนต่อคณะดนตรีบำบัด ที่มหาวิทยาลัยแชปแมน เมืองลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งแม้จะเล่นดนตรีใช้เสียงเพลงเหมือนกับการเรียนด้านนี้โดยตรง แต่ดนตรีบำบัดมีเป้าหมายหลักคือ การรักษาเยียวยา
"ถ้าเรียนดนตรีมันจะดนตรีไปเลย และจุดสำคัญในการเรียนดนตรีคือการเพอร์ฟอร์มานซ์ แต่ดนตรีบำบัดคือการรักษาคนไข้ สิ่งที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์คือเสียงเพลง ซึ่งน่าสนใจมาก เพราะเราไม่ได้สนใจเพอร์ฟอร์มานซ์ ไม่ต้องใช้เสียงเพลง แต่เราใช้อะไรก็ได้สร้างจังหวะแล้วกลายเป็นเพลงหรือดนตรีสำหรับคนไข้ ตอนไปฝึกงานมีเคสคนไข้ที่นั่งรถเข็น พูดไม่ได้ วันหนึ่งผมเล่นกลองแล้วเขาก็ใช้มือเคาะๆ ผมรู้สึกว่าอันนี้เป็นดนตรีของเขา เราสร้างเพลงด้วยกัน เป็นเพอร์ฟอร์มานซ์ของเขา ผมมองว่านี่เป็นสิ่งที่สวยงามมาก เพราะเราไม่ได้สนใจเพอร์ฟอร์มานซ์ว่าสวยงามแค่ไหน แต่มันสวยงามสำหรับคนไข้ ทำให้ผมชอบดนตรีบำบัดมากขึ้น"
ดนตรีบำบัด (Music Therapy) คือ การใช้กิจกรรมทางดนตรี ไม่ว่าจะเป็นการฟังหรือเล่นดนตรี การร้องเพลง แต่งเพลง เพื่อบำบัดความเจ็บป่วย ฟื้นฟูสภาพร่างกาย อารมณ์ และสติปัญญา มักใช้ในโรงพยาบาล ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพ โรงเรียน สถานเลี้ยงดู หรือแม้กระทั่งในที่พักอาศัย
ในด้านการเยียวยา ดนตรีช่วยในการรักษาปัญหาทางร่างกายและจิตใจ ดนตรีทุกประเภทจะกระตุ้นสมองเกือบทุกส่วน เช่น ส่วน Auditory (การได้ยิน), Motor Cortex (เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของแขน ขา ใบหน้า) และ Limbic System (อารมณ์ จิตใจ การตระหนักรู้ ความเข้าใจ และความจำ)
โดยทั่วไปแล้วดนตรีที่เราฟังอยู่ทุกวันคือพื้นฐานของการบำบัดอยู่แล้ว เพราะเพลงมีพลังที่จะเปลี่ยนหรือเชื่อมโยงกับอารมณ์ของมนุษย์ได้ แต่ในแง่ของการรักษา นอกจากใช้กับผู้ป่วยและเด็กพิเศษแล้ว ดนตรีบำบัดสามารถใช้กับผู้สูงอายุเพื่อป้องกันโรคอัลไซเมอร์ รวมถึงใช้ผ่อนคลายคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ใกล้คลอดด้วย
"คนไข้ทุกกลุ่มจะมีกระบวนการของเขา อย่างผมทำงานกับเด็กพิเศษ ส่วนใหญ่เด็กออทิสติกไม่ได้มีปัญหาด้านสมอง แต่พวกเขามีปัญหาเรื่องการสื่อสารกับสังคม ผมจะทำกิจกรรมให้เขาใช้การสื่อสาร สมมติเด็กอารมณ์เสียแล้วโยนของ สิ่งที่ผิดไม่ใช่อารมณ์เสีย เพราะทุกคนก็มีวันที่โกรธที่อารมณ์เสีย แต่สิ่งที่ผิดคือพฤติกรรมการโยนของ เราจะพยายามปรับพฤติกรรม เวลาอารมณ์เสีย ผมให้เขาตีกลองแทนโยนของ เราจะบอกเขาทำนองว่าโอเคนะที่โกรธ แต่นี่เป็นการปรับวิธีแสดงออกของอารมณ์เพื่อให้เด็กเข้ากับสังคมได้มากขึ้น"
ด้วยความที่เป็นคนชอบเด็กอยู่แล้ว และตัวเองมีนิสัยขี้เล่น บวกกับเด็กไม่มีปัญหาเรื่องห่วงการมีฟอร์ม ไม่กลัวที่จะเล่นหรือแสดงความเป็นตัวเองออกมา ทำให้โจเซฟเลือกทำงานกับเด็กเป็นหลัก ซึ่งเมื่อได้บำบัดพวกเขาแล้ว ในทางเดียวกัน ผู้บำบัดเองก็เหมือนได้รับการบำบัดด้วยเช่นกัน
"การช่วยคนอื่นทำให้เรามีความสุข ได้ใช้สิ่งที่เรารักช่วยคนอื่น ส่วนสำหรับตัวเอง ผมเพิ่งสังเกตว่าผมได้บำบัดตัวเองมาตั้งแต่เด็ก ทั้งที่ไม่รู้มาก่อน ที่บอกว่ามีเปียโนที่บ้าน จำได้ว่าเวลามีปัญหาหรือเครียด จะเล่นเปียโนแต่งเพลงไปเรื่อยๆ โดยที่ยังไม่รู้ทฤษฎีดนตรี คอร์ด และเล่นไม่เก่ง แต่เป็นการระบายความเครียด ความรู้สึกผ่านเสียงเพลงและดนตรี ผมเล่นเป็นชั่วโมงๆ พอเล่นเสร็จจะผ่อนคลายมากขึ้น ทำแบบนี้มาถึงทุกวันนี้ ช่วงมหาวิทยาลัย ผมจะเข้าห้องซ้อม เล่นเปียโนถึงตีสองตีสาม ออกจากห้องกลายเป็นคนใหม่ ไม่เหมือนคนที่เข้าไปในห้องนั้น ตอนนี้ก็รู้แล้วว่านั่นคือดนตรีบำบัดของตัวเอง เป็นสิ่งที่อยากให้ทุกคนใช้เหมือนกัน ยิ่งถ้าเป็นนักดนตรีใช้จะยิ่งดี เพราะรู้วิธีการเล่นเพลงแล้ว"
ระหว่างการพูดคุย เราสังเกตเห็นว่าโจเซฟตอบด้วยท่าทีสบายๆ ผสมรอยยิ้มกับเสียงหัวเราะตลอด ดูเป็นคนที่มีพื้นฐานอารมณ์ดี ถ้าไม่นับแง่การบำบัดรักษาแล้ว เราคิดว่าดนตรีก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เขาเป็นเขาแบบทุกวันนี้เหมือนกัน
"ผมว่ามันทำให้คาแรกเตอร์เราเป็นคนสบายๆ ทำให้ผมผ่อนคลาย แม้ว่าต้องเครียดบ้าง โกรธบ้าง แต่พื้นฐานของผมเป็นคนชิลล์ๆ เพราะเมื่อไหร่ที่รู้ว่าตัวเองมีปัญหา ก็จะมีดนตรีที่ช่วยให้ผมระบายทั้งหมดออก เหมือนเป็นเพื่อนเป็นแฟน"
ดังที่เราเคยได้ยินเสมอๆ ว่า กายกับใจเชื่อมโยงกัน ดังนั้น ถ้ามีจิตใจที่เบิกบาน ผ่อนคลาย และไม่เครียด ประโยชน์นั้นย่อมส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพกาย เราจะมีแรงใช้ชีวิตและทำงานจากการกินอิ่มนอนหลับ ร่างกายสดชื่นกระปรี้กระเปร่า ไม่เจ็บป่วยง่าย
และเมื่อโจเซฟตัดสินใจไปประกวดที่เวที The Voice บทบาทในฐานะศิลปินก็เด่นชัดขึ้น ทำให้เขาต้องหันมาโฟกัสเรื่องเพอร์ฟอร์มานซ์บนเวทีควบคู่ไปด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งบทบาทนักดนตรีบำบัดหรือศิลปิน ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสารก็ยังสำคัญที่สุดในความคิดของชายคนนี้
แน่นอนว่า Mental Health ซึ่งหมายถึง ภาวะจิตใจที่เป็นสุข เป็นสิ่งสำคัญเพราะมีส่วนช่วยให้คนสามารถปรับตัวแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ทำงานได้ มีความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น มีความมั่นคงทางจิตใจ มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ อยู่ในสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ แต่ภาวะร่างกายที่แข็งแรงก็สำคัญไม่แพ้กัน จากการงานที่หลากหลายบทบาทขึ้นนั่นเอง ในช่วงหลังๆ มานี้ โจเซฟจึงต้องหาวิธีการดูแลตัวเองอย่างอื่นผสมผสานไปด้วย เพื่อบริหารร่างกายให้แข็งแรงและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น
"ผมเพิ่งไปบาหลีมา เป็นครั้งแรกที่เล่นเซิร์ฟ รู้สึกเป็นอิสระมาก เลยพยายามหาที่เล่นเซิร์ฟเรื่อยๆ แล้วทุกเดือนจะมีสัปดาห์หนึ่งที่กินคลีน เพราะเริ่มมีอายุมากขึ้น พุงเริ่มออก ต้องดูแลสุขภาพตัวเอง พยายามเดินแทนการขึ้นลิฟต์ ไปออกกำลังกายบ้าง ฝึกใช้ลูกบอลคลายเครียดด้วย เพื่อช่วยกล้ามเนื้อแขน ผมมองว่าสุขภาพกายและใจเชื่อมโยงกัน อย่างปีที่แล้วเป็นปีแรกที่ผมเห็นความมหัศจรรย์ของสปาและการนวดร่างกาย ทำให้เราผ่อนคลายขึ้นจริงๆ"
นอกจากนี้โจเซฟยังมีวิธีที่ช่วยสะสางภาวะว้าวุ่นจิตใจในยามที่เขาไม่มีเครื่องดนตรีใกล้ตัว
"เวลานั่งคนเดียวจะพยายามลิสต์สิ่งที่ทำให้เราเครียด เพราะถ้าคิดอย่างเดียว อาจไม่รู้ชัดเจนว่าสิ่งที่ทำให้เราเครียดจริงๆ คืออะไร มันจะรวมกันทั้งหมด แต่ถ้าเขียนออกมา มันเป็นการบังคับให้เราใช้คำ ใช้ภาษา รู้ชัดเจนว่าสิ่งที่ทำให้เราเครียดคืออะไร ทำให้สิ่งที่อยู่ในหัวหยิบจับได้มากขึ้น สิ่งสำคัญคือการมีวิธีปล่อยความรู้สึก ซึ่งนักดนตรีเขาก็มีวิธีการปล่อยออกมา มันช่วยเสริมสร้างจิตใจ จะได้ไม่ต้องเก็บไว้ในใจตลอด ใครที่มีวิธีปลดปล่อยความรู้สึก จะช่วยให้สมองและจิตใจเป็นอิสระขึ้น เป็นศิลปะของแต่ละคน"
สำหรับโจเซฟ ความสุขระหว่างการเป็นศิลปินกับนักดนตรีบำบัดมีทั้งจุดที่เหมือนกันและต่างกันอยู่ เขามีความสุขมากมายทุกครั้งที่เห็นเด็กๆ มีพัฒนาการการสื่อสารมากขึ้นไม่น้อยก็มาก ได้สัมผัสโมเมนต์วิเศษนี้ที่เพียรพยายามเรียนมาตลอด เปรียบเป็นความชื่นใจยามกินของโปรดอย่างไอศกรีมคำแรก ส่วนความสุขของบทบาทศิลปิน คือการที่เห็นผู้ชมชอบและร้องเพลงตามเขาได้ เป็นความสุขที่เหมือนกับถูกลอตเตอรี่ เพราะต้องรอจังหวะและโชคด้วย
ในระยะเวลาที่โจเซฟคลุกคลีและทำงานด้านนี้มาหลายปี เขาค้นพบว่านอกจากความสุขที่ได้ช่วยเหลือคนอื่นแล้ว ดนตรีบำบัดยังให้อะไรเขาอีกหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือความสุขที่ได้ช่วยเหลือตัวเองเช่นเดียวกัน
"ผมถามตัวเองทุกวัน และเคยคุยกับนักบำบัดคนอื่นว่าเราทำเพื่อคนไข้หรือเปล่า เราทำงานด้านนี้เพื่อช่วยคนอื่น แต่การช่วยคนอื่นก็ทำให้เรามีความสุข อาจจะเจอเคสที่ยากมาก มีหลายเคสที่ไม่รู้จะทำยังไง อยากยอมแพ้ แต่ว่าทุกเคสจะมีโมเมนต์ให้เราทำต่อ พอเจอโมเมนต์แบบนี้จะมีความสุข เป็นโมเมนต์ที่ให้กำลังใจเราเพื่อช่วยเขาต่อไป แล้วเขาก็จะทำให้เรามีความสุขมากขึ้น วนเป็นวงกลมไปเรื่อยๆ"
ดังนั้น ไม่ว่าจะทำสิ่งที่รักอันเป็นงานอดิเรกหรือการงานอาชีพ ล้วนแต่ต้องใช้แรงกายและแรงใจทั้งนั้น สิ่งสำคัญคือ ถ้าเรามีร่างกายที่แข็งแรง มีจิตใจแจ่มใสพร้อมทำงาน ไม่ว่าสิ่งที่ทำจะยากเย็นแค่ไหน ย่อมสำเร็จลุล่วง และให้ผลลัพธ์น่าพอใจเพื่อเติมพลังให้เราใช้ชีวิตต่อไปได้ อย่างโจเซฟเองที่พยายามดูแลตัวเองทั้งร่างกายกับจิตใจ เพื่อที่จะทำงานที่เขารักได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง และได้รับความสุขจากการงานที่ทุ่มเท ซึ่งใครๆ ก็มีชีวิตแบบนี้ได้เพราะ 'ชีวิตดีเริ่มที่เรา'
สำหรับผู้อ่านที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของ โจเซฟ ซามูดิโอ แล้วอยากเริ่มสร้างสมดุลทางร่างกายและจิตใจของตัวเอง สามารถคลิกเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ชีวิตดีเริ่มที่เรา
1915 VIEWS |
นักเขียนและกองบรรณาธิการที่พบเจอตัวได้ตามหอศิลป์และร้านหนังสือ ชอบกินแซลมอนและชาบู อยากแก่ไปเป็นคุณป้าใจดีและมีฝูงแมวห้อมล้อม