โดยส่วนตัว เราถือว่าการเกิดขึ้นของวงนั่งเล่นเป็นปรากฏการณ์สำคัญอย่างหนึ่งในวงการเพลงไทย
อ่านแล้วอาจรู้สึก จะอะไรขนาดนั้น หากคุณไม่เคยรู้จักว่าวงนั่งเล่นคือใคร มีเพลงอะไร และพวกเขามารวมตัวกันทำเพลงตอนวัยนี้ทำไม
สมกับชื่อวง วงนั่งเล่นเกิดขึ้นมาจากการชวนกันมาทำเพลงเล่นๆ เอาสนุกของสมาชิกวง แต่ที่ไม่ธรรมดาก็คือ บรรดาสมาชิกทั้งหมดของวง ล้วนเป็นบุคคลที่คนในวงการดนตรีต่างยกให้เป็นครู เพราะทุกคนในวงนั่งเล่นเป็นบุคคลสำคัญ ผู้อยู่เบื้องหลังการประคับประคองให้วงการเพลงไทยสากลในช่วงตั้งไข่สามารถเติบโตขึ้นมาจนกลายเป็นอุตสาหกรรม และสร้างสรรค์บทเพลงอมตะจำนวนมากตั้งแต่ยุค 80 เป็นต้นมา โดยที่เรายังคงได้ยิน และร้องตามได้ถึงวันนี้
ทำความรู้จักกันผ่านบทเพลง พวกเขาคือ โปรดิวเซอร์ คอมโพสเซอร์ และนักแต่งเพลงมือฉมังที่ฝากผลงานเพลงไว้ อาทิ พี่ชายที่แสนดี, ทั้งรู้ก็รัก, รักนิรันดร์, รักล้นใจ, เพียงแค่ใจเรารักกัน, ขีดเส้นใต้, ปาฏิหาริย์, คนไม่มีวาสนา, สู่กลางใจเธอ (A Tu Corazon), อย่ายอมแพ้, เล่าสู่กันฟัง, แค่มี, ขอให้เหมือนเดิม, รับได้ไหม, โอ้ใจเอ๋ย, ใช่เลย และอีกจำนวนมาก ที่รวมกันแล้วไล่เรียงชื่อมาได้เป็นปึกหน้ากระดาษ โดยยังไม่รวมบทบาทการเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับศิลปินอีกหลายรายชื่อ
บรรยากาศการแสดงสดของวงนั่งเล่นที่ร้าน Cin Guitars สาขา สยามพารากอน
10 ปีที่แล้ว ในวันที่ธุรกิจดนตรีกำลังเจอกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากการเข้ามาของเทคโนโลยีที่ทำให้พฤติกรรมการฟังเพลงของคนเปลี่ยนไป ไม่ซื้อแผ่นซีดีเพลงเหมือนก่อน พวกเขาเดินมาถึงจุดอิ่มตัวและตัดสินใจลาออกจากบริษัทดนตรียักษ์ใหญ่ และท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนั้นเอง วงนั่งเล่นเกิดขึ้นมาระหว่างที่พวกเขากำลังนั่งเล่นกันใต้ถุนสกาลาหลังดูหนังจบ
"พวกเราอยู่ในทีมโปรดักชันเดียวกัน มีวันหนึ่งพวกเราไปดูหนังเรื่อง Across The Universe (2007) ที่เอาเพลงของวง The Beatles มาคัฟเวอร์และร้อยเรียงเป็นเรื่อง พอดูเสร็จก็ไปทานข้าวกันที่ใต้ถุนสกาลา แล้วพี่ตุ่น (พนเทพ สุวรรณะบุณย์) ซึ่งปกติก็เป็นหัวหน้าทีมโปรดักชันอยู่แล้ว ก็เป็นคนเอ่ยปากชวน เรามาเล่นดนตรีกันดีกว่า ตอนแรกเราไม่ได้มีเจตนาจะทำเป็นเรื่องเป็นราวเลย ทำขำๆ เพราะตอนนั้นวงการเพลงมันซบเซา ในฐานะนักแต่งเพลง เราก็รู้สึกว่ามันเริ่มไม่สนุกละ ก็เลยหาอะไรสนุกๆ ทำกันดีกว่า ก็เลยมาทำวงสนุกๆ เล่นกันกับกลุ่มเพื่อน ตอนแรกก็เล่นเพลงสากล แต่เนื่องจากพวกเราเป็นโปรดิวเซอร์ เป็นคอมโพสเซอร์ แทนที่จะไปเล่นเหมือนแผ่น เรามาเรียบเรียงใหม่กันดีกว่า เล่นไปสักพักก็เริ่มหันมาลองเล่นเพลงไทยที่พวกเราแต่งๆ กันไว้ เล่นไปสักพักก็เกิดความคิดขึ้นมาว่า ไหนๆ ก็แต่งเพลงให้คนอื่นมาเยอะแล้ว เรามาลองแต่งเองร้องเองกันบ้างไหม เลยเกิดเป็นเพลงในนามของวงนั่งเล่น โดยมีเพลง สายลม เป็นเพลงแรก และทำมาเรื่อยๆ ถึงวันนี้" เป๋า-กมลศักดิ์ สุนทานนท์ นักร้องนำหนวดงามของวง เล่าที่มาของนั่งเล่นให้ฟัง
"ตัวพี่ทำงานโปรดิวซ์มาหลายปีมาก มันเบื่อแล้ว ตอนช่วงสุดท้ายก่อนออกจากแกรมมี่ ก็ไม่ได้เล่นกีตาร์มาร่วม 20 ปีแล้ว เวลาโปรดิวซ์ก็ทำเพลงกับคีย์บอร์ด พอออกมาเลยได้เอากีตาร์กลับมานั่งฝึกเล่นใหม่ มันสนุก พอสนุกก็อยากเล่น สมัยก่อนตอนเป็นวัยรุ่น เราเคยเล่นอยู่ข้างหน้า ก็เลยไปชวนเพื่อนมาเล่นสนุกๆ กัน แต่ก็เริ่มคิดอยากจะปล่อยของละ อยากจะเล่นให้คนฟัง แล้วมันก็มาต่อกับเรื่องที่ไปดูหนังพอดี ก็เลยได้โอกาส พวกเพื่อนกำลังอินกับอารมณ์ของหนัง"
"อ๋อ... นี่พี่ตุ่นวางแผนไว้นานแล้วเหรอ พวกเราไม่ทราบเลย" เป๋าแทรกเพื่อนอย่างอารมณ์ดี
วงดนตรีอินดี้ที่เกิดจากการนั่งเล่นคุยกันก็เกิดขึ้นมา พวกเขามีสมการเท่ๆ ไว้อธิบายที่มาของวงให้แฟนๆ ได้เข้าใจเสมอว่า วงนั่งเล่นคือวงดนตรีที่เกิดขึ้นมาเพื่อทำให้ตัว A ที่มาจาก Art ใหญ่กว่าตัว C ที่มาจาก Commercial นั่นจึงส่งผลให้เนื้อหาในแต่ละบทเพลงของพวกเขาไม่เหมือนเพลงทั่วไป และแฝงไปด้วยสัจธรรมของชีวิตที่กลั่นมาจากประสบการณ์ของสมาชิกที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาแล้วหลายฤดู กระทั่งตกผลึกเป็นบทเรียนจำนวนมากที่พวกเขาใส่เอาไว้ในบทเพลง ก่อนทยอยอัพโหลดให้คนฟังบนยูทูบ
แม้การมาของเทคโนโลยีจะทำให้เกิดวิกฤติกับวงการเพลง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าท่ามกลางวิกฤติก็เกิดเป็นโอกาสใหม่ๆ ซึ่งทางวงนั่งเล่นเองก็ได้รับโอกาสจากการมาถึงของเทคโนโลยี อย่าง ช่องทางยูทูบ Nanglen Group - วงนั่งเล่นในการเป็นสื่อกลางนำเสนอผลงานและสื่อสารกับแฟนเพลง
"ครั้งแรกที่เกิดปัญหาเรื่องนี้ขึ้นมา พี่รู้สึกว่ามันเป็นวิกฤติของวงการเพลง แต่จนถึงวินาทีนี้พี่กลับรู้สึกว่าวิกฤติมันอาจเป็นโอกาสก็ได้ วันนี้ใครจะทำก็ได้แล้ว โอกาสสมัยก่อนถ้าใครอยากแต่งเพลง ทำวง ต้องเข้าค่ายเพลง ถ้าค่ายไม่เอาก็ไม่มีโอกาส เพราะสมัยก่อนเขาเป็นเจ้าของสื่อทั้งหมด รายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ต่างๆ ถ้าไม่เปิดเราก็ไม่มีสิทธิ์ แต่วันนี้มันเปิดหมด ใครก็ได้สามารถโพสต์เพลงลงไป นี่มันคือโอกาสของพวกเรา พี่มานั่งคิดนะว่าถ้ายังเป็นแบบเดิม วงนั่งเล่นก็คงไม่เกิดขึ้นเช่นกัน พวกเราไปค่ายไหนก็คงไม่เอาหรอก แก่กันปูนนี้ แต่วันนี้เราจะเห็นว่าใครก็ได้ ถ้ามีของ พวกเขามีสิทธิ์แล้ว" พี่เป๋าเล่าถึงโอกาสใหม่ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีให้ฟัง โดยมีพี่ตุ่นช่วยเสริมต่อ
"พี่มองเรื่องนี้ว่า เมื่อก่อนศิลปินที่ออกเทปส่วนใหญ่จะดังแทบทุกคน เพราะศิลปินมีแค่ไม่กี่เบอร์ ไม่กี่บริษัท สื่อก็อยู่แค่นั้น แต่กว่าจะเข้าไปในบริษัทได้ มันต้องผ่านการกรอง ความยากมันอยู่ตรงก่อนเข้า แต่พอเข้าไปได้แล้วส่วนใหญ่จะดัง แต่เดี๋ยวนี้มันเหมือนเราถือสื่อของตัวเอง จะให้ใครดูเมื่อไหร่ก็ได้ ดังนั้นใครก็ทำลงได้ แต่คู่แข่งมันก็เยอะตาม"
เมื่อ A เข้ามานำหน้า C วงนั่งเล่นจึงตัดสินใจที่จะผลิตซีดีขึ้นมาเพื่อแจกให้กับแฟนๆ ตามงานคอนเสิร์ตของวงโดยไม่จำหน่าย และหลายครั้งงานที่พวกเขาตัดสินใจไปเล่นก็มักจะเป็นงานที่เกี่ยวกับการกุศล หรือกิจกรรมที่ตอบแทนสิ่งดีๆ ให้แก่สังคม เช่นเดียวกับบรรยากาศขณะชมวงนั่งเล่นก็เป็นสิ่งที่พิเศษและทำให้หลายคนติดใจจนกลายเป็นแฟนคลับของพวกเขาไปโดยปริยาย เพราะแม้ว่าบทเพลงจะมีความเป็นบทเรียนสอนใจ แต่ทว่าการถ่ายทอดของวงนั่งเล่นนั้นกลับไม่ได้เป็นการสอนสั่งแต่อย่างใด หากเป็นการแนะนำจากผู้ที่มีประสบการณ์กว่าอย่างน่ารักและน่าเอ็นดู จากการพูดระหว่างเพลงและการหยอกล้อแซวกันของสมาชิกภายในวงกับคนดู นั่นจึงทำให้หลายคนเมื่อทราบข่าว ตัดสินใจมานั่งเล่นฟังเพลงจากวงนั่งเล่นได้อย่างไม่ยากเย็น
เช่นเดียวกัน เมื่อ happening ได้รับคำชวนจากวงนั่งเล่น ให้เข้าร่วมการแสดงสดเพื่อบันทึกเสียงสำหรับทำแผ่นเสียงแรกของวง พวกเราจึงตัดสินใจได้ไม่อยากเลยที่จะเข้าไปร่วมนั่งเล่นฟังเพลงของพวกเขา
บรรยากาศในงาน The Masterpiece of Nanglen Band recording for VINYL ที่ Studio 28 พร้อมผู้ฟัง 100 คน
แน่นอนว่าในปัจจุบัน แผ่นเสียงกำลังกลับมาได้รับกระแสนิยมทั่วโลก บัดนี้หนึ่งในเทคโนโลยีการบันทึกเสียงที่เก่าแก่และเคยตายไปแล้วจากไทย ได้รับการพิสูจน์โดยทั่วกันแล้วว่ามันคือหนึ่งในวัตถุบันทึกเสียงที่สามารถเก็บรายละเอียดของเสียงได้ดีและเป็นธรรมชาติที่สุด ไม่ต่างอะไรกับสมาชิกและบทเพลงวงนั่งเล่นที่ปัจจุบันแม้โลกจะเปลี่ยนแปลงและหมุนไปยังไง พวกเขาก็ยังสามารถพิสูจน์คุณค่าของตนเองออกมาได้
แผ่นเสียงของวงนั่งเล่นจึงเป็นอะไรที่น่าสนใจสุดๆ สำหรับเรา แต่ไม่ใช่สำหรับวงนั่งเล่นเลย... ในคราวแรก
"เรื่องแผ่นเสียงที่กลับมานิยม กลับมาทำกัน เราเฉยๆ กันนะครับ ไม่ได้สนใจอะไร เขาก็มาชวนหลายครั้งแล้ว เพราะในความรู้สึกผม มันง่ายไป แค่มาสเตอร์ที่เคยอัดไว้ตอนทำซีดี ส่งไปปั๊มเป็นแผ่นเสียงที่เมืองนอก ผมว่ามันไม่สนุกเลย ตอนแรกเราเลยตอบว่า 'ไม่เอา' กับน้องที่อยากทำ เขาก็ถามว่าต้องทำยังไงถ้าจะทำแผ่นเสียงของวงนั่งเล่นให้ได้ เราเลยคิดว่ามันต้องเป็นการอัดสด บันทึกตอนที่ทั้งวงกำลังเล่นกันอยู่ คือตลอดการทำงานเพลง เราเคยผ่านช่วงอัดดนตรีที่ต้องอัดทีละเครื่องเพื่อให้มันออกมาเนี้ยบที่สุดกันมาหมดแล้ว แต่พอมาถึงตรงนี้ เรารู้สึกว่าแบบนั้นมันขาดความรู้สึกบางอย่าง เราเลยคิดกันว่าจะกลับไปเอาวิธีการแบบสมัยก่อน ที่อัดเล่นสดพร้อมกันทั้งหมด ซึ่งมันอาจจะมีผิดนิดผิดหน่อย ก็ไม่เป็นไรหรอก พี่คิดกับตัวเองเสมอนะว่าเราเป็นคน คนย่อมมีผิดได้ ไม่เป็นไร เราไม่ใช่เครื่องจักร และมันก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง พอบันทึกเสร็จเราก็จะให้ซาวนด์เอนจิเนียร์ต่างชาติที่ได้รางวัลระดับโลกเป็นคนมิกซ์ และไปปั๊มแผ่นเสียงที่เมืองนอก ไหนๆ ก็จะทำแล้ว เราก็อยากให้มันมีคุณค่าที่สุด เราก็เลยค้นหาสตูดิโอที่มีอุปกรณ์ดีที่สุดในการบันทึกเสียงด้วยเช่นกัน" ตุ่นอธิบายเหตุผลที่ทำให้วงนั่งเล่นตัดสินใจเลือกการแสดงสดในการบันทึกลงแผ่นเสียง
งานแสดง The Masterpiece of Nanglen Band recording for VINYL จึงถูกจัดขึ้น วงนั่งเล่นทำงานร่วมกับ ฟั่น-โกมล บุญเพียรผล ผู้รับหน้าที่เป็นโชว์ไดเร็กเตอร์ ซาวนด์เอนจิเนียร์ 3 คน และทีมงานอีกเกือบ 40 ชีวิต ที่ Studio 28 โดยมีสื่อมวลชน เพื่อนคนสนิท และแฟนเพลง ที่ทางวงเชิญเข้ามาร่วมประสบการณ์การบันทึกเสียงครั้งนี้ ผ่านหูฟังที่ทีมงานเตรียมไว้ให้อย่างใกล้ชิดจำนวน 100 ที่นั่ง ก่อนที่จะส่งสิ่งที่บันทึกไว้ทั้งหมดไปให้ William S. Schnee หรือที่คนในวงการเพลงรู้จักกันในชื่อ Bill Schnee ซาวนด์เอนจิเนียร์เจ้าของ 2 รางวัลแกรมมี่สาขา Best Engineered Album จาก Aja (1977) และ Gaucho (1981) ทำการมิกซ์เสียงที่สหรัฐอเมริกา เพื่อนำเพลงทั้งหมดเข้ากระบวนการผลิตเป็นแผ่นเสียงต่อไป
การบันทึกเสียงจากการแสดงสดพร้อมกันไม่ใช่เรื่องง่าย แม้พวกเขาจะมีประสบการณ์เยอะและแสดงมามากแค่ไหน ก็จำเป็นต้องซ้อม เพราะการบันทึกเสียงเช่นนี้ไม่สามารถพลาดได้ ต้องบันทึกเป็นเทก ความแม่นยำเป็นสิ่งสำคัญ จึงสังเกตได้เลยว่าบรรยากาศในสตูดิโอมีความเครียดอยู่ไม่น้อย อย่างไรก็ตาม พอบันทึกไปสักพัก เมื่อพี่เป๋าเริ่มพูดคุยกับคนดู และแซวหยอกล้อกัน บรรยากาศและสมาชิกก็ค่อยๆ ผ่อนคลายลง จนกลายเป็นสนุกสนาน ถึงขนาด แต๋ม-ชรัส เฟื่องอารมย์ ที่เข้ามาดูเพื่อนๆ บันทึกเสียง ถึงกับออกปากแซวว่าให้หยุดพูดเล่นแล้วรีบๆ เล่นดนตรีได้แล้ว สร้างเสียงหัวเราะให้กับคนทั้งสตูดิโอ
ประสบการณ์ภายในการเข้ามานั่งฟังพวกเขาเล่นสดเพื่อบันทึกเสียงครั้งนี้เป็นสิ่งที่พิเศษยิ่ง และคงเป็นความฝันของแฟนเพลงวงนั่งเล่นไม่น้อย ที่จะได้เข้ามานั่งล้อมรับชมการทำงานบันทึกเสียงของศิลปิน เห็นทั้งความตึงเครียด ความตลกขบขันหยอกเอินกันเองของสมาชิก กระบวนการทำงานบันทึกเสียง ความผิดพลาด การแก้ไข ความตั้งใจที่จะทำให้เพลงที่ถูกบันทึกลงไปในแผ่นเสียงครั้งนี้ดีที่สุด นั่นจึงทำให้การบันทึกเสียงครั้งนี้แต่ละเพลงมากกว่าหนึ่งเทก และกินเวลามากกว่าครึ่งวันเต็มๆ เพื่อที่จะส่งเพลงที่สมบูรณ์และดีที่สุดให้กับซาวนด์เอนจิเนียร์ได้ทำการมิกซ์และปั๊มเป็นแผ่นเสียงจำนวนจำกัดขึ้นมา
สำหรับเรานี่คือปรากฏการณ์หนึ่งของวงการเพลงไทยที่บันทึกเสียงดนตรีโดยความเป็นมนุษย์ เฉกเช่นเดียวกับตัวบทเพลงของพวกเขาที่พร่ำบอกถึงเรื่องราวในหัวใจที่เต้นบรรเลงไปตลอดชีวิตของความมนุษย์เช่นเดียวกัน
ข่าวดี! สำหรับใครที่พลาดไม่ได้เข้าไปร่วมชมการบันทึกเสียงครั้งนี้ พวกเขามีการบันทึกเป็นวิดีโอมาอัพโหลดให้ดูช่วงปลายปีนี้ในเพจของทางวง 'นั่งเล่น' หาที่นั่งเล่นเหมาะๆ เพื่อรับชมกันได้เลย
พิเศษ! สำหรับผู้ที่สนใจแผ่นเสียง The Masterpiece of Nanglen Band จากการแสดงสดครั้งสำคัญของวงนั่งเล่น ที่รวบรวมบทเพลงตลอด 1 ทศวรรษของวง และหัวใจของคนดนตรีกว่าครึ่งศตวรรษมาบรรจุไว้ในแผ่นเสียงครั้งนี้ สามารถติดตามการสั่งซื้อผ่านเว็บไซต์ happening and friends ได้เร็วๆ นี้
ขอบคุณร้าน Cin Guitars สาขา Siam Paragon เอื้อเฟื้อสถานที่ในการสัมภาษณ์ และ คมกฤช คุณวัฒนา จาก OATKHUn สำหรับภาพบรรยากาศและการอำนวยความสะดวกตลอดการร่วมฟังการแสดงสดภายในงาน The Masterpiece of Nanglen Band
6659 VIEWS |
นักเขียน และ ช่างภาพ อิสระ ปัจจุบันชนแก้วอยู่ท่ามกลางเพื่อนฝูงที่จังหวัดเชียงใหม่
นักเขียน ผู้ใช้พื้นที่ในเวลาว่างไปกับการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ขี่จักรยาน อ่านการ์ตูน เล่นเลโก้ ฯลฯ โดยเชื่อเต็มหัวใจว่าเวลาที่หมดไปกับความรื่นเริงนี้สามารถเติมเต็มชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ