เนื่องจาก happening ฉบับ 'Paint Things' เราได้มีโอกาสร่วมงานและสัมภาษณ์ 4 ศิลปินนักวาดภาพประกอบถึงที่มาที่ไปของความรักในการวาดภาพประกอบ และเทคนิครายละเอียดที่ใช้ทำงานต่างๆ กระทั่งเรื่องสัพเพเหระสนุกสนานที่ขยับออกไปถึงความชอบส่วนตัวของศิลปินแต่ละคน อย่างเช่น บางคนชอบไปคอนเสิร์ต บางคนเคยร่ำเรียนเซรามิก บางคนเพิ่งย้ายเข้าบ้านใหม่
จากการไปพบและพูดคุยกับ หยอย-ศศิ วีระเศรษฐกุล หรือเจ้าของนามปากกา Sasi การเดินทางของพระจันทร์ ที่โรงเรียนสอนศิลปะ วาด สตูดิโอ พบว่านอกจากเขาจะเป็นนักเขียนกับนักวาดภาพประกอบที่มีเครื่องมือประจำตัวเป็นสีน้ำแล้ว ชายอารมณ์ดีผู้นี้ยังเป็นนักสะสมเครื่องเขียนตัวยง ไม่ว่าร้านเครื่องเขียนเจ๋งๆ จะอยู่แห่งหนใดในกรุงเทพฯ เขาก็เดินทางไปสำรวจเหล่าอุปกรณ์วาดเขียนมาแล้วทั้งสิ้น ดังนั้น เราจึงขอให้เขาช่วยแนะนำร้านเครื่องเขียนในกรุงเทพฯ ที่ชอบและเดินทางง่ายมาจำนวนหนึ่ง ใครที่อยากตามรอย ศศิ การเดินทางของพระจันทร์ ใช้ลายแทงจากเราได้เลย!
ส่วนเราเองก็มีส่วนแนะนำร้านเครื่องเขียนในลิสต์นี้เช่นกัน ได้แก่ ร้าน CWArt ร้านค้าสโมสรนักศึกษา (ร้านสโม) และร้านตงเอียง รับรองว่าแต่ละร้านมีจุดเด่นน่ารักไม่แพ้ร้านอื่นๆ แน่นอน
ว่าแล้ว ก็เตรียมเคลียร์พื้นที่กระเป๋าดินสอของคุณให้ดี เพราะไม่แน่ว่าคุณอาจได้เครื่องเขียนน้องใหม่มาใส่กระเป๋าให้เต็มตุงหลังจากการเดินทางไปกับพวกเราก็เป็นได้
เราเชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยผ่านร้านนี้บ่อยๆ แต่อาจไม่เคยสังเกตเห็นว่ามีร้านเครื่องเขียนสุดน่ารักร้านนี้แฝงตัวอยู่ในย่านคึกคักอย่างสยาม แรกเริ่ม 'ละมุน' ตั้งอยู่ที่บริเวณโรงหนังลิโด้ประมาณ 3 ปีก่อนจะย้ายมาตรงนี้
เอ-วริศรา อารยสมบูรณ์ เจ้าของร้านผู้จบคณะอักษรศาสตร์แต่มีใจรักในเครื่องเขียนเล่าว่า เธอได้ไอเดียจากการไปต่างประเทศแล้วพบว่าวัฒนธรรมร้านเครื่องเขียนของเขาแข็งแรงมาก จึงอยากให้ในไทยมีบ้าง เพื่อเป็นทางเลือกให้คนที่ชอบด้านนี้แบบเธอ
หากคุณเพิ่งลองเล่นสีน้ำและยังไม่มีความรู้ด้านนี้มากนัก ที่นี่มีน้องๆ พนักงานที่มีความรู้ด้านศิลปะช่วยแนะนำ ทั้งยังมีชาร์ตสีให้ดูเปรียบเทียบคอนเซปต์ของแต่ละยี่ห้อและรุ่น ซึ่งถ้าสังเกตดีๆ ในร้านจะมีเอกลักษณ์ความเป็นไทยอย่างรถเข็นและตู้รถผลไม้ที่ใช้โชว์สินค้าต่างๆ ราวกับอยู่ในพิพิธภัณฑ์เครื่องเขียนขนาดย่อม แม้ไม่ได้ของติดไม้ติดมืออกไป แต่คุณได้เกร็ดความรู้ศิลปะนิดหน่อยติดตัวไปแน่นอน
Traveler Notebook คือไอเท็มเด็ดที่ดึงดูดชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี ทั้งยังมีกิมมิกเด่นๆ อย่าง แสตมป์รูปควาย หรือสถานที่ท่องเที่ยวในไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเช็กอินที่นี่ แถมละมุนยังเป็นผู้นำเข้าสีน้ำคุณภาพสูง Daniel Smith แห่งแรกๆ อีกด้วย รับรองว่าเข้าไปอะไรก็ล้วนดูน่ารักน่าใช้ไปหมดจนอยากเหมาทั้งร้าน!
ที่อยู่: 430/11 สยามสแควร์ซอย 10 ติดกับเคอรี่ (Kerry)
วัน-เวลา: วันอังคาร-วันเสาร์ เวลา 12.00-19.00 น. (หยุดวันอาทิตย์และวันจันทร์)
ข้อมูลเพิ่มเติม: Lamune
ขณะที่เราก้าวเท้าเข้าร้านเครื่องเขียนแห่งนี้ บรรยากาศแข็งทื่อของห้างสรรพสินค้าก็หายไป เพราะได้รับพลังงานสดใสจากการต้อนรับของ ป้าแมว-อรัญญา ทรัพย์มารวย กับ พี่ซันนี่-ปรียนันท์ พรรัฐธนานนท์ เจ้าของและผู้ดูแลร้านที่เปิดมากว่า 40 ปี
เดิมทีป้าแมวทำธุรกิจร้านถ่ายรูปแถวสยามมาก่อน และค่อยๆ เปลี่ยนมาทำร้านเครื่องเขียนตามทำเลที่มีนักเรียนและนิสิตแวดล้อม หลังจากหมดสัญญาที่นั่น ก็พากันย้ายมาประจำการที่ชั้น 3 ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ และโยกมาอยู่ที่ชั้น 5 นอกจากอุปกรณ์เครื่องเขียนมากมายตอบโจทย์การเรียนการทำงานแล้ว ที่นี่ยังเป็นร้านเครื่องเขียนเจ้าแรกที่จำหน่ายโคปิค (Copic) อย่างเป็นทางการ ทั้งยังมีอะไหล่และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องอย่างครบครัน
ด้วยความเป็นกันเองและยิ้มแย้มแจ่มใส บวกกับการขยันอัพเดตข้อมูล มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้และเทรนด์ศิลปะกับลูกค้าอยู่บ่อยๆ ทำให้เด็กนักเรียน นักศึกษา ศิลปิน และรวมไปถึงคนทั่วไปที่สนใจวาดรูปเป็นงานอดิเรกยังมาอุดหนุนร้านนี้กันเป็นประจำ
นอกจากนี้ที่นี่ยังจำหน่ายปากกาพู่กันจำนวนมาก สายคัลลิกราฟี (Calligraphy) ไม่มีผิดหวังแน่นอน เรารับประกันว่านอกจากอุปกรณ์เครื่องเขียนที่คุณจะได้ไปแต่งแต้มสีสันให้ผลงานแล้ว รอยยิ้มและความอบอุ่นใจคือของแถมที่คุณจะได้จากร้านนี้ไป และทำให้อยากหวนมาอีกหลายๆ ครั้ง
ที่อยู่: A517 ชั้น 5 ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ถนนราชดำริ เขตปทุมวัน
วัน-เวลา: เปิดทุกวัน วันจันทร์-วันเสาร์ เวลา 10.00-21.00 น. วันอาทิตย์ เวลา 11.00-18.00 น.
ข้อมูลเพิ่มเติม: www.siam-marketing.com
ในหอศิลปกรุงเทพฯ มีร้านรวงน่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะร้านสวนชั้น 1 'it's going green', happening shop, ร้านหนังสือฮาร์ดคัฟเวอร์ ฯลฯ ซึ่งหนึ่งในร้านที่ข้องเกี่ยวกับศิลปะเต็มๆ ที่สุดคงหนีไม่พ้นร้านอุปกรณ์เครื่องเขียนศิลปะของอดีตคู่เพื่อนนักเรียนอินทีเรียร์ที่ตั้งมาได้สามปีครึ่งแล้ว
นพ-นพดล วิจักษณ์โยธิน หนึ่งในผู้ก่อตั้งร้าน มีพื้นเพจากการที่ทางบ้านทำร้านเครื่องเขียนแถวสำเพ็ง เขาจึงมีความสนใจและต้องการแยกไลน์ทำร้านอุปกรณ์ศิลปะโดยเฉพาะ ชายหนุ่มร่วมมือกับ ชัย-สามารถ จิรัฐิติกาล เพื่อนสนิทด้วยการเปิดขายทางออนไลน์ แล้วจึงมีหน้าร้านแถวร่มเกล้า ก่อนย้ายมาอยู่ที่หอศิลปกรุงเทพฯ ซึ่งพวกเขาออกแบบทำร้านกันเอง
"ความตั้งใจคือ อยากให้เป็นร้านอุปกรณ์ศิลปะสำหรับทุกคน แต่อยู่ตรงนี้คนที่มาจะเฉพาะทางกว่า ของเลยเป็นเกรดไฟน์ อาร์ต (Fine Art) ศิลปินใช้ แต่ก็มีเกรดสตูดิโอ คนทั่วไปและคนเพิ่งเริ่ม แต่ในร้านมีไม่มากเพราะพื้นที่จำกัด ในเว็บตัวเลือกจะเยอะกว่า" นพอธิบายยิ้มๆ
แม้ว่าร้านของเขาจะไม่ได้มาเป็นเจ้าแรกๆ แต่ด้วยความเฉพาะทาง การบริการที่ดูแลหลังการขาย และทำเลที่ดีก็ทำให้ CWArt เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจของคนแวดวงนี้
ที่อยู่: ชั้น 2 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc)
วัน-เวลา: วันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 11.00-20.00 น. (ปิดวันจันทร์)
ข้อมูลเพิ่มเติม: www.cwart.net
ใครที่มองหาร้านอุปกรณ์เครื่องเขียนที่กว้างขวางขนาดวิ่งเล่นได้ แถมเดินทางสะดวก มีที่จอดรถ ร้านนี้ตอบโจทย์ที่สุด ด้วยพื้นที่ 2 ชั้น และมีชั้นวางอุปกรณ์เครื่องเขียนมากมาย จัดหมวดหมู่ไว้อย่างเป็นสัดส่วน ทำให้ที่นี่มีลูกค้ามากหน้าหลายตา ต่างเพศต่างวัยแวะเวียนกันมาอุดหนุนไม่ขาดสาย
แรกเริ่มร้านนี้ตั้งอยู่บริเวณโรงพยาบาลสุขุมวิท ก่อนย้ายมาตั้งบนที่ดินของตัวเองได้ 10 ปีแล้ว และมีอีกสาขาหนึ่งที่ห้างอิมพีเรียลเวิลด์ สำโรง ถึงแม้สินค้าในร้านจะเยอะและมีความหลากหลายครอบคลุมผู้ใช้ทุกระดับแล้ว ทว่ากิ่งทองสเตชันเนอรี่ก็ยังมีการศึกษาหาสินค้าใหม่ๆ มาไว้ที่ร้านเรื่อยๆ เนื่องจากช่วงหลังมานี้ คนทั่วไปหันมาสนใจการวาดรูปมากขึ้น อุปกรณ์เครื่องมือในแวดวงศิลปะเองก็พัฒนามีความแปลกใหม่ทันสมัย ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงที่หลายคนในร้านเห็นได้ชัดในช่วง 40 ปีตั้งแต่เริ่มต้นมา
ส่วนแนวทางการเลือกสินค้า ร้านจะอ้างอิงจากเทรนด์ที่กำลังฮิตในแวดวงคนวาดรูป รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับลูกค้า ทำให้ไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยใด พฤติกรรมคนเปลี่ยนไปแค่ไหน มีสินค้าตัวใหม่อะไรเกิดขึ้น ร้านนี้ก็ยังเป็นอาณาจักรเครื่องเขียนที่ยิ่งใหญ่ไม่เสื่อมคลาย
ที่อยู่: ติดถนนสุขุมวิท สถานี BTS พระโขนง ทางออกประตู 2
วัน-เวลา: เปิดทุกวัน วันจันทร์-วันเสาร์ เวลา 08.30-19.00 น. วันอาทิตย์ เวลา 09.00-17.00 น.
ข้อมูลเพิ่มเติม: www.kingthongstationery.com
เรายืนอยู่ตรงกลางระหว่างร้านเครื่องเขียนแบรนด์เดียวกันแต่ต่างสาขา ก่อนจะเลือกเข้าสาขาที่ 3 ในย่านดิโอลด์สยาม ที่เน้นอุปกรณ์ช่างศิลป์เป็นหลัก ผนังร้านฝั่งหนึ่งมีสีซิลก์สกรีนเรียงรายเต็มไปหมด เนื่องจากทำเลที่ตั้งอยู่หน้าสถานศึกษาอย่าง โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และวิทยาลัยเพาะช่าง จึงมีงานประเภทสกรีนเสื้อกีฬา ทำป้ายกีฬาสี และงานช่างต่างๆ ที่ต้องใช้สีชนิดนี้บ่อยครั้ง แต่ถ้าใครที่อยากเน้นหนักไปทางอุปกรณ์เครื่องเขียนและอุปกรณ์การเรียน ก็แค่เดินไปที่สาขา 2 ใกล้กันนี้ได้สบายๆ
ช่วงหนึ่งที่สมใจเป็นกระแสพูดถึงมากๆ ในโลกออนไลน์ เพราะการปรับตัวที่มีภาพลักษณ์ทันสมัยขึ้น เน้นการตลาดและขายสินค้าผ่านเว็บไซต์ เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ ทว่าขณะเดียวกัน ลูกค้าหน้าร้านตามสาขาต่างๆ ที่กระจายตัวทั่วกรุงเทพฯ ก็ยังได้รับความนิยมไม่มีตก
ร้านเครื่องเขียนเก่าแก่แห่งนี้มีอายุมากว่า 50-60 ปี เป็นขวัญใจของนักเรียนนักศึกษาจำนวนมาก ไม่ว่าจะอุปกรณ์วาดเขียนแบบไหนก็มีให้บริการพรักพร้อม เรียกว่าเข้าไปหาอะไรก็เจอหมด ราวกับเป็นสหายยามเรียน สมกับสโลแกนของร้านที่ว่า 'สมใจที่สมใจ'
ที่อยู่: ตรงข้ามโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และวิทยาลัยเพาะช่าง ถนนตรีเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร
วัน-เวลา: เปิดทุกวัน เวลา 07.00-18.30 น.
ข้อมูลเพิ่มเติม: www.somjai.co.th
พิทักษ์พล วิสุทธิ์อัมพร นั่งคุยกับเราในมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ อันเป็นที่ตั้งของร้านเครื่องเขียนที่เขาปลุกปั้นเองกับมือในสมัยที่ยังเป็นนักศึกษาคณะจิตรกรรม ด้วยพื้นฐานที่บ้านทำร้านเครื่องเขียน และตัวเขามีความรู้เรื่องอุปกรณ์เครื่องเขียนกับออกแบบจากการเรียนมาพอสมควร บวกกับการตั้งเงื่อนไขในเรื่องราคาเป็นมิตร มีของเพียงพอ มหาวิทยาลัยศิลปากรจึงมี ร้าน 'สโม' เป็นส่วนหนึ่งด้วยตลอดมาตั้งแต่ 30 กว่าปีที่แล้ว
แม้พื้นที่ไม่ใหญ่โต แต่รับรองได้ว่ามีของให้เลือกมากมายหลายยี่ห้อ โดยสินค้าส่วนใหญ่จะครอบคลุมสายการเรียนจิตรกรรม สถาปัตยกรรม และมัณฑนศิลป์ ซึ่งอาจมีบ้างที่คุณจะพบอุปกรณ์ออกแบบแปลกๆ ตกยุคสมัยไปแล้ว หรือไม่ได้มีความสลักสำคัญอะไรขนาดนั้น แต่ว่านะ…คนเรามักซื้อของไร้สาระก่อนทั้งนั้นแหละ
"อาจเป็นเสน่ห์ของที่นี่ ด้วยเพราะขายนักศึกษาเป็นหลักเลยคุ้นเคย คนมาซื้ออยู่ทุกวัน ก็รู้จักกัน ถือเป็นโชคดี และอาจเป็นเพราะคนใช้งานสินค้าบางตัว เขาใช้แล้วมาคุยกับเราว่าอันไหนดีไม่ดี เราก็ส่งผ่านความคิดเห็นพวกนี้ให้คนที่มาต่อไปได้" ศิษย์เก่าคณะจิตรกรรมอธิบายด้วยรอยยิ้ม
ร้าน 'สโม' ยังมีอีกสาขาที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสนามจันทร์ นครปฐม แวะไปเดินเล่นอุดหนุนกันได้
ที่อยู่: ข้างล่างตึกหอประชุม มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ
วัน-เวลา: วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.15-18.00 น. วันเสาร์ เวลา 09.00-16.00 น. (หยุดทุกวันอาทิตย์)
ข้อมูลเพิ่มเติม: facebook: SMO สโม : ร้าน ขาย เครื่องเขียน Online
"ทำไมชื่อตงเอียง" เราเปิดบทสนทนาด้วยคำถามนี้ทันที สองแม่ลูก ตุ้ม-สุวารี ลิขิตวนิชกุล กับ แต้-ศิริรัตน์ เภาสมบัติ หัวเราะก่อนอธิบายว่ามันมาจากภาษาแต้จิ๋ว ที่แปลว่า ศูนย์กลาง
แรกเริ่มร้านนี้ค้าขายเฉพาะอุปกรณ์เครื่องเขียนจีนที่เยาวราช ก่อนปรับเปลี่ยนมาเป็นอุปกรณ์เครื่องเขียนด้านสถาปัตย์เต็มตัวและเป็นที่รู้จักในแวดวง ถึงขนาดมีลูกค้าเป็นศิลปินมือฉมัง เปี๊ยก โปสเตอร์ โดยได้ดำเนินกิจการมากว่า 70 ปี สืบทอดเข้ารุ่นที่ 4 แล้ว
ตงเอียงมาตั้งสาขาที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามคำชวนของอาจารย์นิธิ สถาปิตานนท์ ในสมัยที่อาจารย์ยังเป็นนิสิตอยู่ โดยเน้นสินค้าราคาถูก ตอบโจทย์เด็กคณะสถาปัตย์ ดังนั้น แนวทางการคัดเลือกสินค้าจึงไม่ใช่แนวของกุ๊กกิ๊กน่ารัก แต่เน้นใช้ได้จริงในสายออกแบบเขียนแบบ
แม้ทั้งคู่ไม่ได้จบสายออกแบบมาโดยตรง แต่ด้วยความรู้ที่ส่งต่อกันรุ่นต่อรุ่น การทดลองใช้เครื่องเขียนใหม่ๆ ก่อนนำมาขาย ทำให้พวกเธอรู้จักธรรมชาติกับความเหมาะสมในการใช้งานของแต่ละอุปกรณ์ บวกกับความใจดี นิสัยเป็นกันเองของป้าตุ้มกับพี่แต้ของน้องๆ ทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันจึงรักใคร่ กลายเป็นเซฟโซนของนิสิตในคณะฯ ขนาดตอนเรานั่งคุยกันอยู่ก็มีเด็กๆ คณะสถาปัตย์ทักทายทั้งสองคนอย่างสนิทสนม
ตงเอียงมีทั้งหมด 3 สาขา ได้แก่ สาขาใหญ่ที่เยาวราช สาขาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต
ที่อยู่: ภายในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วัน-เวลา: วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.30-19.00 น. วันเสาร์ เวลา 11.30-17.00 น. (หยุดทุกวันอาทิตย์)
ข้อมูลเพิ่มเติม: facebook: ตงเอียง TongEang เครื่องเขียน ราคานักศึกษา
PIPS คือตัวย่อจากคำว่า Pen Ink Paper and Stationary ที่ประกอบหลอมรวมเป็นร้านเครื่องเขียนขนาดย่อมที่มีเจ้าของเป็นผู้หลงใหลปากกาหมึกซึมอย่างถอนตัวไม่ขึ้น
ก่อนหน้านี้ เอ็มยึดโมเดลร้านเครื่องเขียนของต่างประเทศก่อน นั่นคือขายผ่านเว็บไซต์อย่างเดียว และเริ่มรู้สึกว่าคนไทยส่วนหนึ่งยังไม่มีโอกาสลองใช้ จึงยังไม่มีความเข้าใจ บวกกับปากกาหมึกซึมเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ความรู้สึกส่วนตัวเยอะทีเดียวในการเลือกใช้ นั่นจึงทำให้เขาตัดสินใจเปิดหน้าร้านที่ดำเนินมาได้ 2 ปีแล้ว
นอกจากเหล่าปากกาหมึกซึม หมึก อุปกรณ์คัลลิกราฟี และอุปกรณ์เครื่องเขียนทั่วไปนิดหน่อยที่เรียงรายรอบตัวแล้ว บนผนังร้านก็ประดับประดาด้วยผลงานของลูกค้าที่เมื่อซื้ออุปกรณ์ไปแล้วก็มักจะวาดภาพกลับมาให้เอ็มด้วย ถือเป็นความน่ารักที่แสดงถึงมิตรภาพระหว่างคนคอเดียวกัน ตรงกับความตั้งใจของเอ็มที่คาดหวังให้ที่นี่เป็นคอมมูนิตี้คนรักปากกาหมึกซึม
และที่ทำให้เรายิ้มกว้างสุดๆ คือ เราได้ทั้งความรู้ คำแนะนำ และลองใช้ปากกาหมึกซึมหลายประเภทจากเจ้าของร้านที่อยากบอกเล่าและส่งต่อสิ่งที่เขารักแก่ทุกคน จนเราเองยังอยากได้กลับบ้านสักด้าม
ถ้าฟังแล้วดูเว่อร์ไป ก็ลองพาตัวเองมาที่นี่สักครั้งแล้วกัน
ที่อยู่: ห้อง 108 ชั้นล่างตึกธนิยะ บีทีเอสวิง ถนนสีลม
วัน-เวลา: วันจันทร์-วันเสาร์ เวลา 11.00-19.30 น. (หยุดทุกวันอาทิตย์)
ข้อมูลเพิ่มเติม: thepipscafe.com
74123 VIEWS |
นักเขียนและกองบรรณาธิการที่พบเจอตัวได้ตามหอศิลป์และร้านหนังสือ ชอบกินแซลมอนและชาบู อยากแก่ไปเป็นคุณป้าใจดีและมีฝูงแมวห้อมล้อม