ทิวทัศน์ข้างทางกับเสียงเคลื่อนไหวเป็นจังหวะบนรางรถไฟในมิวสิกวิดีโอเพลง การเดินทางตามรางรถไฟ ของ ตั๊ก-ธิดานันท์ สุขมิสา ศิลปินจากโครงการเสรีภาพเสรีเพลง 2017 เป็นผลงานกำกับการแสดงร่วมกันโดย วรรณแวว และ แวววรรณ หงษ์วิวัฒน์
"เนื้อเพลงชัดเจนว่าพูดถึงการกลับบ้านที่ยะลา ซึ่งเป็นที่ที่คนกลัว ขณะที่ภาพมันค่อนข้างชัดว่าเป็นการเดินทางโดยรถไฟ มีเสียงรถไฟ ประกอบกับวรรณมีเพื่อนอยู่ที่ยะลา แล้วเขาเล่าเรื่องที่บ้านให้ฟังบ่อย เลยนึกถึงภาพของคนคนหนึ่งที่เดินทางกลับบ้าน"
วรรณอธิบายแนวคิดในการทำมิวสิกวิดีโอชิ้นนี้ และเล่าบรรยากาศเมื่อทั้งคู่เดินทางไปเก็บภาพวิถีชีวิตธรรมดาของครอบครัวหนึ่งในตัวเมืองยะลา กลับมาเรียงร้อยเป็นเรื่องราวที่ดึงความทรงจำของคนที่ออกมาใช้ชีวิตไกลบ้าน สะท้อนภาพให้เห็นว่าสถานที่แห่งนั้นไม่ต่างกับจังหวัดอื่น และสามารถเป็นการเดินทางกลับบ้านของใครก็ได้ในเวลาเดียวกัน
แล้วเพลงที่พาทุกคนกลับบ้านก็ทำให้นึกถึงภาพยนตร์สารคดี Wish Us Luck ขอให้เราโชคดี บันทึกการเดินทางกลับบ้านโดยรถไฟ จากลอนดอน ประเทศอังกฤษ สู่กรุงเทพฯ ประเทศไทย ที่ทำให้เรารู้จักกับ วรรณและแวว เป็นครั้งแรก แล้วได้เห็นผลงานที่ฝาแฝดคู่นี้อยู่เบื้องหลังตามมาอย่างต่อเนื่องอีกหลายชิ้น ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนบท Hormones The Series และการทำหน้าที่กำกับร่วมใน I Hate You, I Love You ของ วรรณ งานเขียนบท Stay ซากะ...ฉันจะคิดถึงเธอ ของแวว และการร่วมกันกำกับมิวสิกวิดีโอหลายชิ้น เช่น แต่ยังคิดถึง ของ ตู่ ภพธร, สักวินาที ของ แสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข หรือ เกี่ยวกันไหม ของ อิ้งค์ วรันธร รวมถึงรายการอาหารและคลิปสอนทำอาหารที่ต่อยอดมาจากธุรกิจครอบครัวในเว็บไซต์ krua.co เป็นต้น
"ชีวิตก็จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคืองานที่บ้าน อีกส่วนหนึ่งคืองานเขียนบทซีรีส์ที่กำลังเขียนเพื่อกำกับร่วมกับแวว ก็ต้องสับรางชีวิตนิดนึง ซึ่งกิจวัตรส่วนใหญ่ถ้าเป็นช่วงที่ทำงานควบคู่กับการเขียนบทไปด้วยอย่างนี้ ตอนเช้าจะเข้าออฟฟิศเคลียร์งานให้หมด ตอนบ่ายออกไปเขียนบท แล้วเสาร์อาทิตย์ทำงานเขียนบทค่ะ มันก็ต้องการการจัดสรรเวลาเพิ่มมากขึ้น วรรณรู้สึกว่างานเขียนบท กำกับฟิกชั่นหรือสารคดี เป็นงานส่วนที่เป็นความใฝ่ฝันของเรา ส่วนงานทางบ้านเป็นการทำงานสื่อที่ไม่ได้หลุดไปจากสิ่งที่เราสนใจ แต่ต้องทำเพราะพ่อแม่เราเริ่มแก่มากแล้ว เหมือนเป็นยุคเปลี่ยนผ่านที่พ่อแม่ส่งให้รุ่นลูกทำ เลยกลายเป็นต้องทำควบคู่ไปทั้ง 2 อย่าง"
"แต่ถือว่าเราโชคดีเหอะ ถ้าไม่ใช่ธุรกิจที่บ้าน เราคงแมเนจไม่ได้ขนาดนี้" แววแสดงความเห็นก่อนเสริมต่อว่า "สมมติเราไปทำงานประจำที่อื่น หรือเป็นพนักงานออฟฟิศแล้วการที่เราจะไปรับงานเขียนบทด้วยก็ยากที่จะแมเนจทุกอย่างได้เอง แต่ถ้าเป็นธุรกิจที่บ้าน เรามีทีมที่จัดสรรให้เราทำงานได้ ถือว่าโชคดีที่เรามีเงื่อนไขให้สามารถแบ่งเวลาไปทำอย่างอื่นได้"
ในภาคธุรกิจครอบครัว วรรณและแววแบ่งสัดส่วนความรับผิดชอบกันอย่างชัดเจน วรรณทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการบริหารเว็บไซต์ krua.co ที่นำนิตยสาร ครัว ซึ่งเธอมีโอกาสเข้ามาดูแลศิลปกรรมของนิตยสารช่วงปีสุดท้ายก่อนที่จะปิดตัวลงมาสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ แล้วถ่ายภาระหน้าที่จากพ่อมารับไว้ที่ตัวเองเต็มๆ
"ซึ่งพอ ครัว ปรับมาเป็นเว็บ พ่อไม่ทำแล้ว วรรณต้องขึ้นมาเป็นบรรณาธิการบริหารดูแลคอนเทนต์เอง มันก็จะมีความไม่มั่นใจอยู่บ้างว่า สิ่งที่เราทำจะได้มาตรฐานแบบที่พ่อทำหรือเปล่า ก็ต้องเอาไปปรึกษาขอความเห็นอยู่เสมอว่าพ่อคิดยังไง เพราะต่อให้เราสนใจเรื่องอาหาร แต่เราก็อยู่ในร่างคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้สัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือสามารถวิเคราะห์เชิงสังคมได้มากเท่าพ่อแม่"
สิ่งที่เว็บไซต์ยังคงความเป็นนิตยสาร ครัว ไว้คือ หัวใจที่กระตุ้นให้คนลุกขึ้นมาทำอาหาร เพราะที่ผ่านมานิตยสารครัวให้สูตรและเคล็ดลับเกี่ยวกับการทำอาหารมากมาย หากแต่วิถีชีวิตของคนที่เปลี่ยนไปทำให้ไม่มีใครซื้อตำราอาหาร แต่ไปค้นหาสูตรออนไลน์แทน เว็บไซต์จึงใส่ลูกเล่นที่สามารถเลือกระดับความยากง่ายของเมนู และมีจุดเด่นที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือ
"เรื่องวัฒนธรรม มันคือสิ่งที่เรายังอยากให้คุณค่ากับมัน เหมือนทุกวันนี้เรากินอาหารโดยไม่รู้ว่าแรกเริ่มมันมาจากอะไร วรรณรู้สึกว่าการมีความรู้รอบตัวเกี่ยวกับอาหาร มันทำให้เราเห็นคุณค่าของอาหารแต่ละอย่างเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่แค่อร่อยหรือไม่อร่อย"
"แววโฟกัสเรื่องโปรดักชัน การถ่ายทำวิดีโอ ซึ่งสิ่งที่ย้ำกับทุกคนคือ เราไม่ได้ให้ความสำคัญแค่อาหารจานสุดท้ายเท่านั้น เพราะสิ่งที่จะทำให้อาหารมันโคตรน่ากินคือขั้นตอนทั้งหมดที่ทำมาด้วย มันคือการที่เราเห็นสเต๊กจานเดียวแบบนิ่งๆ หรือเราเห็นเนื้อย่างบนน้ำมันเดือดๆ มีควันขึ้น ตอนหั่นไปแล้วเห็นเนื้อข้างในแบบชุ่มฉ่ำ ขั้นตอนระหว่างทางที่ผ่านมาจะเสริมปลายทางได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นทุกชอตของอาหารที่ถ่ายมาต้องน่ากินเป็นสิ่งสำคัญที่สุด"
เธอเล่าว่าแรกเริ่มนั้นทีมไม่ได้ทำอาหารเป็นทุกคน แต่การถ่ายทำโปรดักชันเกี่ยวกับอาหาร ทำให้ได้พูดคุยกับทีมอาหารและศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารเพิ่มขึ้น เมื่อถ่ายทำไปเรื่อยๆ แล้วความรู้เรื่องอาหารพัฒนาขึ้น หัวใจของการทำเว็บไซต์จึงเต้นเป็นจังหวะเดียวกับทีมงาน จนทำให้หลายคนลุกขึ้นมาทำอาหารด้วยตัวเอง
"เราก็รู้สึกว่าอยากทำ ถ้าได้ทำมันอาจจะเป็นหนทางแห่งการผ่อนคลายที่ตอนนี้ชีวิตมีแต่เรื่องงาน มันอาจจะเป็นช่วงเวลา 2 ชั่วโมงที่ไม่ต้องคิดเรื่องงาน ช่วงนี้เลยเริ่มรู้สึกบันดาลใจอยากที่จะทำอาหารขึ้นมา"
งานส่วนที่แยกออกมาจากธุรกิจครอบครัวของทั้งคู่ ยังวนเวียนอยู่กับการเขียนบทและการกำกับเรื่อยมา ซึ่งแม้จะมีการแยกกันทำโปรเจกต์บ้าง แต่ถ้าเป็นงานกำกับ ทั้งคู่จะทำร่วมกัน
"ปัจจุบันที่วรรณกำลังเขียนบทซีรีส์เรื่องใหม่ของนาดาวบางกอกอยู่ มีแววมาร่วมเขียน และจะได้กำกับด้วยกัน คืองานนี้เป็นเรื่องแรกเพราะไม่เคยเขียนบทซีรีส์ด้วยกันมาก่อน ที่ผ่านมาตั้งแต่เขียนบท Hormones จะเป็นวรรณไปเขียน ขณะที่แววดูแล Spoonful Production ออฟฟิศและงานเอ็มวีที่ทำเป็นชิ้นๆ ไป แต่พอเป็นงานกำกับ เราจะทำคู่กันเสมอ"
แต่เมื่อถามถึงความรู้สึกที่ได้ทำงานที่รัก ก็สัมผัสได้ถึงความกดดันที่วรรณเผชิญอยู่
"งานซีรีส์หรืองานนอกเป็นการแบกรับอะไรบางอย่าง มันคิดงานตลอดเวลาไม่มีการหยุด มันไม่เสร็จสักที แล้วเป็นงานที่เราแบกรับความรับผิดชอบของคนอื่นด้วย การทำซีรีส์ใช้เงินจำนวนมาก มันมีความคาดหวังจากช่อง จากค่าย แต่ก็ถือว่าเป็นงานที่อยากทำที่สุด ปีนี้เป็นช่วงที่พยายามฝึกตัวเองอยู่ว่าจะทำยังไงให้เราทำงานที่อยากทำ โดยที่มันไม่ทรมานเกินไป แต่ก็ยังทำไม่ได้นะ แค่เริ่มรู้สึกว่าถึงจุดหนึ่งของอายุที่คิดว่า เฮ้ย...ถ้างานนั้นเป็นงานที่เราใฝ่ฝัน ทำไมเราต้องทรมานกับมันนักวะ พยายามหาจุดบาลานซ์ว่าเราจะทำงานที่เราอยากทำยังไง ให้เราสนุกกับงานไปด้วย ในขณะที่อยากทำให้ออกมาดีมากๆ"
แล้วแววก็โพล่งขึ้นมาว่า "แม่บอกให้ปฏิบัติธรรม"
แม้สัดส่วนของงานจะแย่งชิงเวลาของทั้งคู่ไปหมด จนไม่สามารถวางแผนสำหรับโปรเจกต์ส่วนตัวใหม่ๆ อะไรได้อีกแล้ว แต่แววยังเล่าถึงความฝันที่อยากทำหนังเกี่ยวกับอาหารด้วยกัน
"ก่อนหน้าที่จะมีซีรีส์เรื่องนี้เข้ามา ก็เคยคิดว่าอยากทำหนังเกี่ยวกับอาหาร เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่อยู่ในชีวิตของทุกคน ทุกคนต้องกินอาหาร แล้วอาหารเป็นแหล่งความสุขเล็กๆ น้อยๆ แล้วการที่เราเห็นภาพอาหารในหนังแล้วเรารู้สึกอิน เพราะมันไปดึงความทรงจำเก่าๆ ของเราออกมา เราเห็นเนื้อนุ่มๆ ชุ่มฉ่ำ เราก็พอจะนึกรสชาติมันออกแล้ว"
อาจเป็นเพราะความผูกพันที่ฝังแน่นอยู่ภายในครอบครัวสำนักพิมพ์แสงแดด ที่ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารมาตลอด "ตั้งแต่เด็กช่วงที่พ่อกับแม่ทำงานประเด็นไหน เขาจะอินเรื่องนั้นมาก เช่น ทำเรื่องปลาน้ำจืด ที่บ้านจะมีปลาน้ำจืดหลากหลายสายพันธุ์วนเวียนอยู่บนโต๊ะอาหาร หรือเวลาไปเที่ยว สิ่งที่เขาจะพาเราไปตลอดคือตลาดท้องถิ่นของแต่ละที่ เราก็ซึมซับสิ่งเหล่านี้มาตั้งแต่เด็กๆ ตอนนั้นเราไม่รู้หรอกว่าเราสนใจเรื่องอาหาร แต่สุดท้ายเวลาที่เราแยกย้ายกันไป ทุกคนก็มาจบกันที่งานเกี่ยวกับอาหารหมดเลย"
หากชีวิตเป็นการเดินทาง สำหรับวรรณและแวว พวกเธอคงเลือกรถไฟเป็นพาหนะ เพื่อที่จะสามารถแล่นไปบนทางที่ทอดยาว โดยรางเส้นหนึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว และอีกเส้นที่ขนานกันเป็นการทำงานที่รัก โดยมีอาหารเป็นดั่งไม้หมอนที่เชื่อมโยงรางสองเส้นนี้เข้าไว้ด้วยกัน
2336 VIEWS |
นักเขียน ผู้ใช้พื้นที่ในเวลาว่างไปกับการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ขี่จักรยาน อ่านการ์ตูน เล่นเลโก้ ฯลฯ โดยเชื่อเต็มหัวใจว่าเวลาที่หมดไปกับความรื่นเริงนี้สามารถเติมเต็มชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ช่างภาพผู้ชื่นชอบการวาดรูปและรับงานวาดภาพประกอบบ้างประปราย เธอมีความตั้งใจกับตัวเองว่าจะออกไปเที่ยวนอกประเทศให้ได้ปีละครั้ง