ออร่า-ศศิพรรณ ศิริพร หรือศิลปินที่ใช้ชื่อว่า Aura Cherrybag นั่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับเราภายในร้านกาแฟแห่งหนึ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตำแหน่งที่เธอนั่งจิบกาแฟอยู่นั้นแดดส่องลอดม่านบังแสงมาทาบลงบนผมของเธอเป็นประกายอย่างไม่จงใจ ชวนให้นึกถึงคำว่าออร่าตามชื่อของเธอจริงๆ
ออร่าเป็นศิลปินนักวาดภาพประกอบที่สร้างสรรค์ผลงานแนวสื่อผสม (mixed media) งานของเธอผสานงานเพนต์เข้ากับงานคอลลาจทั้งกระดาษนิตยสารและวัสดุอื่นๆ เข้าด้วยกัน การพูดคุยถามไถ่ถึงสถานการณ์โดยรวมของชีวิตทำให้รู้ว่าเธออยู่ที่รัฐแทสมาเนีย ประเทศออสเตรเลียเป็นหลัก แล้วเดินทางกลับประเทศไทยตามจังหวะที่เหมาะสม ซึ่งการเดินทางกลับไทยครั้งนี้เป็นช่วงที่ happening ชวนมาจัดแสดงผลงานร่วมกันในงาน happening exhibition ที่ River City Bangkok ซึ่งเธอนำผลงานชุด Good Days: Color of the North มาให้ทุกคนได้ชมกันพอดี

หลังจากนิทรรศการเดี่ยว Good Days Memories ของเธอที่จัดขึ้นเมื่อปี 2562 ที่ Yelo House ไม่นาน ออร่าตัดสินใจลองเดินทางไปใช้ชีวิตช่วงหนึ่งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดน่าน ตลอดระยะเวลาปีกว่าๆ เธอเปิดรับประสบการณ์ใหม่ในอ้อมกอดของธรรมชาติ ตื่นตากับวัตถุดิบที่นำมาทำอาหาร ได้ผูกมิตรและรับความเอื้อเฟื้อจากผู้คนท้องถิ่น สนุกกับการสังเกตสัตว์และแมลงต่างๆ ซึ่งนอกจากความงดงามที่เธอมองเห็นแล้ว ยังมีเรื่องราวมากมายที่ทำให้เธอตระหนักถึงแง่มุมที่หลากหลายในสังคมไทย จนกลายเป็นแรงบันดาลใจและสิ่งที่อยากสื่อสารกับผู้ที่เข้ามาชมงาน
ช่วงแรกของการเริ่มทำงานสื่อผสมที่เป็นภาพพอร์เทรตของผู้คน เมนูอาหารสีสันสดใส ฉากของร้านรวงที่น่าสนใจ จนเดินทางมาถึงประเด็นทางสังคมที่เธอเติมเข้ามาในงานชุด Good Days: Color of the North นี้ ทำให้เราเห็นพัฒนาการด้านฝีมือและมุมมองที่มีต่อโลกและชีวิตของออร่าทุกครั้งที่เจอ
ลองเข้ามาทำความรู้จักแล้วรับชมผลงานของออร่าพร้อมๆ กับเรา แล้วจะรู้ว่าชิ้นส่วนแบบไหนที่เธอสนใจและเลือกหยิบขึ้นมาใช้ในการทำงานศิลปะของเธอบ้าง

"ตั้งแต่จำความได้เลยนะคะ ออร่าชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็กๆ ชอบเขียนผนังที่บ้านแล้วก็ติดสติกเกอร์ไว้เต็มเลย จนสุดท้ายคุณแม่เขาก็ยอมให้วาดเฉพาะตรงเสากลางบ้านอย่างเดียว แล้วก็ส่งไปเรียนคอร์สศิลปะเล็กๆ แถวบ้าน" ออร่าพูดถึงความชอบที่มีต่อการวาดรูปของเธอตั้งแต่เด็กอย่างสนุกสนาน
เธอเล่าว่าได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวในการเลือกเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยอย่างอิสระ "พ่อกับแม่เปิดมากๆ สนับสนุนมากๆ และไม่เคยห้ามว่าจะต้องทำอะไร จนถึงจุดหนึ่งเราอาจจะเป็นคนเรียนหนังสือไม่ค่อยเก่งเท่าไร หัวไม่ดีเวลาที่ต้องอ่านหนังสือหรือต้องท่องจำมากๆ แต่ถ้าเป็นเรื่องของการวาดรูปจะทำออกมาได้โอเค จนถึงตอน ม.4 พี่สาวเห็นว่าชอบเล่นเกม The Sims ชอบสร้างบ้าน เขาเลยถามว่าทำไมไม่เรียนพวกอินทีเรียน่าจะเหมาะ ก็เลยไปหาข้อมูลเกี่ยวกับคณะนี้แล้วพยายามติวเข้าอินทีเรีย แต่สุดท้ายเวลาเข้าสอบต้องใช้คะแนนวิชาการค่อนข้างสูง ตอนสอบวิชาถนัดได้คะแนนอินทีเรียเยอะมาก แต่วิชาการแค่พอผ่านเลยไม่ติด แต่ว่าไปติด สาขาประยุกตศิลปศึกษา คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แล้วเลือกเรียนเพ้นติงที่คล้ายกับการเรียนไฟน์อาร์ตเลยค่ะ"
ซึ่งเธอบอกว่าเป็นช่วงเวลาที่สนุกและมีความสุขกับการเรียนมาก ถึงแม้ว่าจะมีวิชาพื้นฐานที่เป็นวิชาการที่อาจจะไม่ถนัดบ้างก็ตาม

สีและชิ้นส่วนต่างๆ ที่เตรียมไว้สำหรับทำผลงานชุด Good Days: Color of the North
สะสมชิ้นส่วนเพิ่มเติมระหว่างทาง
หลังจากเรียนจบแล้วออร่าไปทำงานเป็นสไตลิสต์อยู่ที่นิตยสาร My Home เพราะไม่คิดว่าจะสามารถทำงานศิลปะหรือทำงานภาพประกอบเป็นอาชีพได้ ซึ่งเธอพูดถึงการทำงานครั้งนั้นอย่างสนุกสนาน "นิตยสารเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับบ้านคน เราจะเอาของตกแต่งไปเติมให้บ้านเขาดูมีอะไรขึ้นมา ไปซื้อดอกไม้ที่ปากคลองตลาด ตอนนั้นก็สนุกเหมือนกัน แต่พอทำมาประมาณ 2 ปี การที่เราไปจัดบ้านให้คนอื่น จุดนึงมีความรู้สึกว่าเราจะเติบโตในสายอาชีพนี้ยากเหมือนกัน เลยตัดสินใจไปเรียนต่อภาษาที่ออสเตรเลียก่อน 6 เดือน แล้วค่อยเรียนกราฟิกเป็นอนุปริญญา (diploma) ที่เมลเบิร์นประมาณปีนึงนะคะ เพราะคิดว่าสายงานกราฟิกน่าจะเหมาะกับเรา และทุกที่มีความต้องการกราฟิกอยู่"
การเดินทางไปเรียนต่อทำให้เธอพบเจอผู้คนที่หลากหลาย ทั้งเพื่อน รูมเมต หรือนักเดินทาง (couch surfing) เมื่อถึงเวลาที่ต้องจากกันเธอจึงวาดรูปให้เป็นที่ระลึก ซึ่งช่วงเวลานี้เองที่เธอเริ่มทำงานแบบสื่อผสมร่วมกับวิธีการคอลลาจที่กลายมาเป็นแนวทางของตัวเองจนถึงทุกวันนี้
"ตอนเรียนกราฟิกจะมีวิชานึงที่เป็นวิชาคอลลาจ อาจารย์เขาจะให้เราไปซื้อนิตยสารมาทำคอลลาจจริงๆ แต่ตอนที่ทำของที่ระลึกวาดรูปให้เพื่อนก็ใช้วิธีมิกซ์มีเดีย เพนต์ด้วยแล้วก็คอลลาจกระดาษเข้าไปด้วย เพราะว่ารู้สึกว่าการทำงานคอลลาจอย่างเดียวเพียวๆ มันยากเหมือนกัน สมมติเราอยากได้สีนี้ เราอยากได้ฟอร์มแบบนี้ การที่เราจะเปิดนิตยสารดูมันยาก เราอยากได้สีที่เราจะสร้างออกมา เลยรู้สึกว่าเราเพนต์เอาเองละกัน หรือเพนต์ลงบนกระดาษแล้วฉีกหรือตัดเอาค่ะ เป็นสไตล์หรือเปล่าไม่รู้ แต่ว่าเป็นเหมือนสิ่งที่ทำมาเรื่อยๆ จนถึงจุดนึงกลับไทย แล้วตอนนั้นเราได้เจอคนได้ไปเที่ยวมาเยอะก็เลยอยากลองทำหนังสือภาพสักเล่มนึง"
ออร่ากลับมาเมืองไทยตอนปี 2561 แล้วได้คุยกับ พี-พีรพัฒน์ กิติตสุวัฒน์ แห่ง P. Library Design Studio เขาถามว่าเธออยากลองทำหนังสือภาพหรือเปล่า และนั้นเป็นการร่วมงานกันเพื่อทำหนังสือเล่มแรกของเธอ Good Days ที่เปิดให้ซื้อทางอินสตาแกรมและเฟซบุ๊กของตัวเองและวางขายอยู่ที่ร้านหนังสืออิสระบางแห่ง ซึ่งตอนนี้หมดเกลี้ยงแล้ว
การจัดแสดงผลงาน ทำหนังสือ และลงชิ้นงานต่างๆ ในช่องทางโซเชียลมีเดียของตัวเองทำให้มีคนรู้จักออร่ามากขึ้น "ส่วนใหญ่จะทำพอร์ตในพื้นที่ของตัวเองให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ค่ะ เพราะรู้สึกว่ามันไม่มีทางที่จะเห็นผลในเดือนสองเดือนหรือปีสองปี เรารู้สึกว่าถ้าเราทำไปเรื่อยๆ สุดท้ายแล้วแอคชันเท่ากับรีแอคชันเนอะ และคิดว่าการออกงานหรือว่าแสดงงานก็ช่วยให้คนเห็นงานเรามากขึ้นค่ะ ช่วงแรกก็ค่อนข้างซีเรียสกับมันเหมือนกัน ต้องลงให้ได้ 3 โพสต์ต่อสัปดาห์ แต่ว่าหลังๆ มาก็ไม่ได้พยายามไปโฟกัสกับมันมากขนาดนั้นแล้ว โฟกัสที่งานของตัวเองมากกว่าค่ะ อาทิตย์นึงลงงานสองครั้งหรือครั้งเดียวก็แล้วแต่ เพราะไม่อยากไปเครียดหรือกดดันตัวเองมากว่าต้องโพสต์เท่านี้ๆ ช่วงหลังเลยโฟกัสที่ผลงานดีกว่า แล้วเราก็โพสต์ไป"

ความงามและความจริงที่ซ้อนทับกันอยู่
หลังจากที่กลับมาจากเมลเบิร์น ออร่าตั้งใจไว้ว่าอยากลองไปใช้ชีวิตอยู่ที่เชียงใหม่สักครั้ง กระทั่งมีข่าวว่าศิลปินสเปน เฆซุส ซิสเนโรส (Jesús Cisneros) จะมาจัดเวิร์กช็อปที่เชียงใหม่ เธอจึงตัดสินใจบินไปทันที หลังเข้าร่วมเวิร์กช็อปแล้วจึงหาบ้านพักอยู่ในอำเภอแม่ออน ซึ่งแม้จะไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่นัก แต่มีความเป็นธรรมชาติที่เงียบสงบมาก
ออร่าทบทวนประสบการณ์ตอนนั้นแล้วเล่าให้ฟังด้วยรอยยิ้ม "ตรงนั้นเหมือนเป็นฟาร์มสเตย์ที่แทบจะไม่มีคนเลย มีวัว 5 ตัว หมา 2 ตัว แมว 1 ตัว ตอนเช้าก็ทำโยคะหน้าบ้านหรือไปเดินแถวๆ นั้น ช่วงนั้นเป็นช่วงที่โควิดเริ่มแพร่ระบาดใหม่ๆ เลยเหมือนเราได้หลบไปจากกรุงเทพฯ แล้วเราทำงานออนไลน์ซะเป็นส่วนใหญ่เลยค่อนข้างยืดหยุ่นที่จะทำงานที่ไหนก็ได้ จึงขนคอมพิวเตอร์และเครื่องสแกนไป ทำอาร์ตเวิร์กสแกนแล้วส่งให้ลูกค้าได้"
เมื่อสิ่งแวดล้อมรอบข้างเปลี่ยน เนื้อหาในการทำงานศิลปะของเธอก็เปลี่ยนไปด้วย
"งานปรับตามสภาพแวดล้อมที่อยู่ แปลกมากเลย เป็นธรรมชาติ วัว แมลง เป็นภูเขา มีคาเฟ่ที่ไปเจอโดยบังเอิญที่อยู่ติดกับทางรถไฟ เป็นสถานที่ๆ มันพิเศษ ตอนอยู่กรุงเทพฯ เราไม่เคยเจอแมลงหน้าตาแปลกๆ เลยลองหยิบเขามาวาด จินตนาการว่าถ้าเขาเป็นคนเขาจะแต่งชุดแบบไหน ได้ผูกมิตรกับแมลงกับสัตว์แถวนั้น แล้วก็จะมีเรื่องเกี่ยวกับการทำอาหารเยอะเหมือนกัน ออร่าทำอาหารเยอะมากเพราะแถวนั้นมันไม่มีอะไรเลย มีร้านข้าวซอยอยู่ร้านเดียวตรงนั้น และแม่ออนเขาจะดังเรื่องผักออแกนิกใช่ไหมคะ เราจะสั่งผักออแกนิกผักตามฤดูกาลของชาวบ้าน เขาจะนำลังใส่ผักผลไม้มาวางไว้ให้หน้าบ้าน ทั้งลังราคา 150 บาท กินไปทั้งอาทิตย์"
เธอบอกว่าเป็นการใช้ชีวิตอีกรูปแบบหนึ่งที่ได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติมาก แต่ในความสุขตรงนั้นมีสิ่งอื่นที่ทับซ้อนกันอยู่ให้รู้สึกถึงความจริงอีกด้านเหมือนกัน "มันโอเคมากค่ะ ป้าๆ ลุงๆ แถวนั้นเขาก็น่ารัก แต่ในทางกลับกันเราเห็นความไม่เท่าเทียม หมายความว่าเราอยู่ในเมืองใหญ่แล้วไปใช้ชีวิตอยู่ตรงนั้น คุณภาพชีวิตเราดีมาก แต่สำหรับคุณป้าที่เข้ามาทำงานดูแลฟาร์มเขาจะมาทุกวันพุธ ทำความสะอาด ปัดกวาด เก็บขยะ ตัดหญ้า ดูแลวัว ขณะที่อาชีพหลักเขาคือการทำนา ปลูกข้าวแบบนาดำ ทำตั้งแต่ไถหญ้า ดำนา เกี่ยวข้าว โดยที่การทำงานเป็นการไปทำบนที่นาของคนอื่น ค่าจ้างที่เขาได้รับคือข้าวสาร แล้วที่นู่นชาวบ้านขายผักถูกมาๆ มะนาวกิโลกรัมละ 5 บาท เราให้ป้า 50 เขาไหว้แล้วไหว้อีก เวลาเห็นเขาคุยกันเขาก็ดูมีความสุขดี แต่พอเราเข้าไปอาศัยอยู่ตรงนั้นเรารู้สึกว่ามันไม่แฟร์เลย ขณะเดียวกันเดินไปถนนข้างหน้าก็มีการทำถนนตลอดเวลาทั้งๆ ที่ถนนไม่ได้พัง เขาทำถนนทำไม จะมีเรื่องแบบนี้อยู่"

การใช้ชีวิตอยู่ที่แม่ออนพักหนึ่งจึงเหมือนกับการเปิดโลกสำหรับเธอ ก่อนที่จะย้ายไปอยู่ในตัวเมืองจังหวัดน่าน ย่านชุมชนวัดหัวเวียงใต้เป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี ซึ่งเป็นอีกบรรยากาศหนึ่งเพราะอยู่ใกล้ตลาดและมีผู้คนมากมายในชุมชนที่ทั้งอบอุ่นและเป็นสีสันใหม่ๆ ที่นึกย้อนกลับไปเมื่อไรก็คิดถึงเสมอ
ออร่าเล่าให้ฟังอย่างสนุกสนานว่า "ชุมชนที่อยู่จะมีผู้สูงอายุคุณย่าคุณยายคุณป้าเยอะ เขาดูตื่นเต้นเหมือนว่ามีคนหนุ่มสาวเข้าไปอยู่หรือเปล่าก็ไม่รู้นะคะ เขาเลยให้การต้อนรับและน่ารักมาก คุณยายเจ้าของบ้านเวลาคุยกับแกต้องตะโกนเพราะว่าหูไม่ค่อยได้ยิน แต่น่ารักมาก ช่วยเหลือตลอด บางวันนำอาหารนำผลไม้มาแขวนไว้ให้หน้าบ้าน เลยสนิทสนมกัน บ้านที่อยู่จะอยู่ตรงข้ามกับบ้านของคุณยายจันทร์กับคุณลุงที่ขายข้าวเหนียวนึ่ง เขาจะทักทายเราอยู่ตลอด คุยกันประจำ เอานู่นเอานี่มาให้ เยื้องไปหน่อยจะเป็นคุณป้าที่เป็นคนเย็บผ้า เขาจะจำอะไรไม่ค่อยได้เท่าไร ลืมง่าย เวลาแวะไปคุยเขาจะเล่าแต่เรื่องเดิมๆ ให้ฟัง ด้านหลังร้านของคุณป้าจะมีถุงพลาสติกแล้วก็เสื้อผ้าคนแขวนเรียงกันเต็มไปหมดเลย พอถามว่า 'นี่เสื้อผ้าใครเหรอ' เขาบอกว่า 'เสื้อผ้าลูกค้า แต่ว่าลืมขอเบอร์ก็เลยทำแล้ววางไว้ เขาก็ไม่ได้มาเอาเลยมีเต็มไปหมด' เป็นชุมชนที่น่ารักมาก มีอะไรก็ช่วยเหลือกันตลอดนะค่ะ มีร้านส้มตำของคุณป้าที่ไปกินบ่อยๆ ชื่อป้าแจ๋ว ตอนเย็นๆ เขาจะมีแก๊งคนแก่มาเต้นซุมบ้ากัน ถัดมาหน่อยจะเป็นร้านอาหารเจ เขาน่ารักมาก ช่วยเหลือหลายอย่าง เพราะเราเป็นมังสวิรัติ อีกคนคือพี่ก้อยที่ขายสมูทตี้อยู่ใกล้บ้าน เขาจะพาไปตรงริมแม่น้ำน่านที่ชาวบ้านจะมาปลูกผักกัน ซึ่งเราสามารถซื้อผักจากชาวบ้านตรงนั้นได้เลย ถ้าเราเป็นใครก็ไม่รู้จะเข้าไปได้หรือเปล่า คิดถึงเหมือนกัน"

ประสบการณ์ชีวิตคือวัตถุดิบหลัก
อุปกรณ์ในการทำงานสื่อผสมของออร่ามีกระดาษ สี นิตยสาร และวัสดุต่างๆ รอบตัวที่เก็บไว้ใช้ ซึ่งเคยมีคนที่เห็นผลงานของเธอติดต่อมาว่ามีนิตยสารและหนังสือที่ไม่ได้ใช้จึงส่งมาให้เธอจำนวนมาก จนเธอไม่ต้องซื้อเองเลย ซึ่งนอกจากวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้แล้ว วัตถุดิบในการทำงานที่สำคัญของคือประสบการณ์ เนื้อหาในงานของออร่าจึงมีความเปลี่ยนแปลงไปตามประสบการณ์ที่พบเจอ
"การไปอยู่ในที่ใหม่ๆ ส่งผลต่อการทำงานมากเลยนะคะ เราปรับเปลี่ยนตามสภาพแวดล้อมหรือผู้คน บางทีเราไปเจอคนที่น่าสนใจก็เหมือนเราได้แรงบันดาลใจที่รู้สึกอยากวาดเขาหรือเล่าเรื่องของเขา อย่างเราไปอยู่ที่แทสมาเนีย ออร่าไปเจอคนที่น่าสนใจมากๆ เขาใช้ชีวิตในวิถียั่งยืน (sustainable) ทุกอย่างในบ้านของเขาหมุนเวียนมาใช้ได้หมด เขาปลูกต้นไม้ ปลูกผัก นำผักมากิน เศษอาหารนำไปทำปุ๋ย (compost) ใช้ปลูกต้นไม้ใหม่ มีวิธีการที่เขาแยกขยะ ซึ่งเป็นวงจรที่เจ๋งมากๆ เลย"
โดยเธอบอกว่าเรื่องหลักๆ ที่สนใจตอนนี้คือเรื่องอาหารและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เพราะบ้านที่ออร่าอาศัยอยู่ที่ออสเตรเลียค่อนข้างไกลจากตัวเมืองและอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เธอได้เห็นวิธีการจัดการขยะที่ดี ทำให้กลับมาตระหนักถึงวิถีการบริโภคของตัวเองมากเหมือนกัน
เธอเล่าถึงการใช้ชีวิตให้ฟังว่า "บ้านที่อยู่ค่อนข้างอยู่ในป่าค่ะ เราต้องแยกขยะจริงจังมากๆ เวลากินอะไรจึงทำให้เราคิดมากขึ้น เศษอาหารแยกไว้ทำปุ๋ย เพราะขยะที่ทิ้งจะต้องเสียเงินประมาณ 300 บาทต่อครั้ง แต่ถ้าเป็นขยะรีไซเคิลเราจะไม่เสียเงิน แต่แยกไว้เอาไปทิ้งที่ซูเปอร์มาร์เก็ต เขาจะมีการนำพลาสติกเหล่านั้นไปทำอุปกรณ์หรือโต๊ะนักเรียนให้เด็กๆ ที่โรงเรียนได้"
เราถามถึงเหตุผลที่เธอสนใจเรื่องความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและอาหาร แล้วก็ได้รับคำตอบว่า "ออร่าว่ามันดีต่อโลก ใช่ไหมคะ ตอนนี้ออร่ายังกินอาหารทะเลอยู่แต่ไม่ได้กินเนื้อหรือหมูมา 4-5 ปีแล้ว มันดีต่อสุขภาพและถ้าเราช่วยได้เล็กๆ น้อยๆ มันก็ดีต่อโลกเหมือนกัน"
ดังนั้นแนวทางในการทำงานในปัจจุบันจึงเป็นลักษณะที่แยกกระดาษที่เคยใช้ใส่กล่องเก็บไว้เป็นสัดส่วน มีการนำถุงกาแฟกลับมาใช้ทำงานจริง อนาคตข้างหน้าเธอคิดว่าอยากจะลองนำเศษกระดาษที่เหลือใช้มาทำเป็นกระดาษใหม่อีกครั้ง เผื่อว่าจะได้เนื้อกระดาษที่มีพื้นผิวน่าสนใจมาใช้สร้างสรรค์งาน
"มันเป็นเรื่องที่เราสนใจเพราะมันอยู่กับเราทุกวันจริงๆ วัสดุที่นำมาใช้ทำงานก็อยากให้เป็นสิ่งเหลือใช้ที่อยู่รอบตัว หรือว่าเรื่องกระดาษที่อยากลองทำแต่ว่ายังไม่มีโอกาสก็จะสะสมไว้และเป็นอีกจุดนึงที่อยากทำในอนาคตข้างหน้าค่ะ รวมถึงพวกการทำสวน การปลูกผัก เพราะที่นู่นพื้นที่ค่อนข้างเยอะ การซื้อค่อนข้างแพง ถ้าหากเรามีโอกาสปลูกเองทำเองก็จะค่อยๆ เรียนรู้ไปค่ะ"

ชิ้นส่วนที่ประกอบกันเป็น Aura Cherrybag
หากนึกย้อนกลับไปในเส้นทางการเรียนและการทำงานที่ผ่านมาจะพบว่า ประสบการณ์ที่ออร่าเก็บสะสมมากลายเป็นแนวทางการทำงานที่ชัดเจนของเธอในปัจจุบัน ทั้งๆ ที่ระหว่างทางนั้นเธอไม่เคยเห็นความเป็นไปได้ของการเป็นศิลปินนักวาดภาพประกอบอย่างที่กำลังทำอยู่มาก่อนเลย
ซึ่งเธอยืนยันถึงเรื่องนี้อย่างหนักแน่น "ไม่คิดเลยค่ะ หมายถึงว่าเราเรียนศิลปะมาก็จริง แต่สุดท้ายเรากลัวว่ามันจะเป็นอาชีพได้ไหม มันยากมากในการที่เราจะยึดอาชีพเป็นศิลปินแล้วหาเลี้ยงชีพด้วยตัวเองได้จริง ออร่าไม่เคยคิดมาก่อน แล้วเราพยายามไม่ไปยุ่งกับตรงนั้น แล้วหันไปทำอย่างอื่นที่คนอื่นเขาทำกัน เป็นกราฟิกดีไซเนอร์หางานทำได้ชัวร์ๆ ใช่ไหมคะ แต่ว่าท้ายที่สุดแล้วมันก็ย้อนกลับมาว่าเราทำสิ่งนั้นแล้วไม่มีความสุข มันไม่ใช่เรา เราคงทำได้ แต่ว่าทำได้ไม่ดีขนาดนั้นด้วย
"สุดท้ายเราต้องกลับมามองตัวเอง แล้วก็ยอมรับตัวเองว่า 'เออเราอาจจะชอบแบบนี้ เรามีความสุขกับแบบนี้' ออร่าว่าการทำอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ก็พอได้อยู่นะ มันมีงานเข้ามาเลี้ยงตัวเองได้เหมือนกันนะ มันต้องใช้ทักษะหลายๆ อย่าง เราไปเรียนรู้เรื่องการทำมาร์เก็ตติงหรือว่าการโปรโมทงานตัวเองด้วยเหมือนกัน เพราะว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นธุรกิจนึงเหมือนกัน แล้วพยายามพัฒนาการทำงานในสไตล์ของตัวเราเองด้วยค่ะ"

นอกเหนือจากงานศิลปะส่วนตัว ออร่ามีการทำงานร่วมกับแบรนด์ต่างๆ ด้วย ซึ่งเธอมีวิธีการจัดการกับโจทย์ของลูกค้าที่แตกต่างจากศิลปินอื่นอย่างไร ลองมาทำความเข้าใจกับขั้นตอนการทำงานของเธอดู "การทำงานกับลูกค้า เวลาทำสเก็ตช์เขาต้องเห็นภาพเคลียร์ทั้งหมด แล้วเขาจะจินตนาการออกใช่ไหมคะว่างานในขั้นตอนต่อไปจะออกมาเป็นยังไง หรือว่าตัวไฟนอลอาร์ตเวิร์กจะเป็นยังไงอะไรอ เวลาทำงานออร่าก็ต้องสเก็ตช์ให้เขาดู แต่รู้สึกว่าเกร็งไปหมดเลย การทำงานแบบนี้เหมือนจำกัดให้เราอยู่กับที่ค่ะ เพราะถ้าเราทำงานส่วนตัวทุกอย่างจะเหมือนการที่เราสเก็ตช์ไว้ในหัวหรือว่าเรามีสีที่คิดไว้คร่าวๆ เราจะไม่ได้มานั่งสเก็ตช์ ทุกอย่างเป็นการอิมโพรไวส์สด เปิดแมกกาซีนแล้วเราชอบตรงนี้เราหยิบมาแมทช์
"ดังนั้นเวลาทำงานกับลูกค้าแล้วจะแอบยากนิดนึง เพราะสุดท้ายพอเราทำสเก็ตช์แล้วทุกอย่างจะต้องออกมาตามสเก็ตช์ที่ให้เขาดู ลูกค้าบางคนที่เห็นสเก็ตช์เขาจะเก็ต บางคนจะรู้สึกว่าทำไมมันแข็งๆ ไม่ใช่เราเลย ซึ่งมันค่อนข้างยากในการอธิบายให้เขาฟังว่ามันจะไม่ใช่แบบนี้นะ จะมีการฉีกกระดาษนู่นนี่นั้น มีเท็กซ์เจอร์อื่นๆ ที่เราอาจจะไม่ได้ใส่ไปในสเก็ตช์ค่ะ สุดท้ายแล้วมันก็โอเค แต่อย่างที่บอกว่ามันจะมีความเกร็งๆ ในตัวเราเวลาทำงานเหมือนกัน มันก็เลยแอบยากกว่าการทำงานส่วนตัวค่ะ เพราะมันไม่มีอะไรผิดไม่มีอะไรถูก"
ถือว่าออร่าผ่านอะไรมามากเหมือนกันกว่าจะมาถึงจุดที่สามารถนำสิ่งที่ตัวเองชอบมาเป็นงานได้ แต่สิ่งสำคัญที่เธอบอกกับเราคือ "ผ่านตัวเอง ออร่าว่านะ เราต้องยอมรับตัวเองให้ได้ว่าเราเป็นแบบนี้ เพราะว่าเคยพยายามที่จะทำในสิ่งที่ไม่ใช่เราเลย สุดท้ายเพื่อนก็บอกว่าทำไมไม่ทำอันนี้ไปล่ะ ทำไมต้องพยายามไปเป็นในสิ่งที่เราไม่ได้อยากจะทำ เพราะว่าในจุดนั้นเรามองไม่ออก แต่พอถึงเวลามันก็ย้อนกลับมาแล้วว่า การทำในสิ่งที่เราชอบให้มันดีที่สุด สุดท้ายแล้วจะมีคนเห็นเอง จะมีคนที่เขาเข้าใจในตัวเรา เข้าใจในงานของเรา ต่อให้วันนี้เขาไม่ได้เห็นว่างานของเรามีความเป็นไปได้ในงานหรือแบรนด์ของเขา แต่อย่างน้อยเขาก็ได้เห็นแล้วว่ามีคนที่ทำงานแนวนี้อยู่ ถ้าเขาคิดว่าสิ่งที่เราทำแมทช์กับงานของเขาเมื่อไร มันจะเป็นอีกโอกาสนึงที่เราทำได้ หมายถึงว่าลูกค้าเขาจะเลือกเราเอง เขาจะเห็นความเป็นไปได้ในตัวเราในงานของเขา มันดูเป็นเรื่องส่วนตัวเหมือนกันใช่ไหม แต่สุดท้ายแล้วเราจะทำยังไงก็ได้ให้คนเห็นงานเราให้ได้มากที่สุด จนวันใดวันนึงเขานึกถึงเรา เห็นความเป็นไปได้ในงานของเราในแบรนด์ของเขา มันจะเป็นโอกาสให้เราได้พัฒนาตัวเองต่อไป เพราะเราก็มีสิ่งที่ต้องเรียนรู้เยอะมากเหมือนกัน"
การใช้ชีวิตในฐานะศิลปินนักวาดภาพประกอบย่อมต้องทำงานเชิงพาณิชย์ เพื่อที่จะสามารถทำงานศิลปะควบคู่กันไป แล้วเธอก็พอใจในจุดยืนนั้น เพียงแต่ต้องหาความสมดุลของปริมาณงานทั้งสองด้านเพื่อพัฒนาตัวเองและไม่หมดไฟไปซะก่อน
"ออร่าเชื่อว่าการพัฒนาเกิดจากการที่เราได้ฝึกทำในสิ่งที่เราอยากทำ ก็เลยทำควบคู่กันไป เวลาที่ได้ทำงานส่วนตัวแล้วไม่มีใครมาแก้บรีฟมันก็ชุบชูจิตใจเนอะ เหมือนได้บันทึกเรื่องราวของตัวเองไปด้วยค่ะ"

การเก็บเกี่ยวชิ้นส่วนต่างๆ จากประสบการณ์ของออร่ามาถ่ายทอดเป็นชิ้นงานไม่ว่าจะขนาดใหญ่หรือเล็กนั้น เมื่อมองเข้าไปในรายละเอียดเราจะพบเนื้อหาและเรื่องราวต่างๆ บรรจุอยู่มากมาย โดยภาพที่สร้างสรรค์ผ่านมุมมองและสายตาของเธอสะท้อนทั้งความจริงและความงามที่ให้เราตระหนักได้ว่าควรให้คุณค่าและความสำคัญต่อสิ่งใดอย่างแท้จริง