happening ฉบับที่ 111 จะเล่าเรื่องราวการเดินทางของศิลปินไทยที่เอางานไปแสดงในต่างประเทศ ตั้งแต่นักร้อง นักแต่งเพลงชื่อดัง อย่าง แสตมป์ อภิวัชร์ ที่ออกอัลบั้มเพลงเป็นภาษาอังกฤษที่ประเทศญี่ปุ่น, ผู้กำกับรุ่นใหญ่อย่าง เป็นเอก รัตนเรือง ที่พาหนังของตัวเองไปงานเทศกาลภาพยนตร์ในต่างประเทศมาแล้วทุกเรื่อง, เต๋อ นวพล กับเรื่องวิธีการส่งหนังไปเทศกาล, เบื้องหลังการแลกเปลี่ยนศิลปินไทยกับญี่ปุ่นของ Dessin the World, วิน ชูจิตารมย์ หัวหน้าวงดนตรีเร็กเก้ ศรีราชา ร็อคเกอร์ กับประสบการณ์ไปมิกซ์เพลงอัลบั้มล่าสุดของพวกเขาที่ญี่ปุ่น, ปูเป้-จุฑารัตน์ ภิญโญดุลยเจต ช่างภาพสตรีทไฟแรงที่จะมาเขียนเล่าถึงการใช้ชีวิตเป็นศิลปินไทยในนิวยอร์ก
นี่คือหนังสือที่บันทึกเรื่องราวของศิลปินร่วมสมัย ทั้งนักดนตรี, คนทำหนัง, กราฟิกดีไซเนอร์, คนทำแบรนด์ดีไซน์, คนทำหนังสารคดี, คนทำละครเวที ฯลฯ ที่พยายามพางานของตัวเองสู่โลกกว้าง และกำลังช่วยกันสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยอยู่ในวันนี้
ลองมาพลิกดูกันว่าภายใน happening ฉบับ Go Inter มีอะไรบ้าง
เรื่องราวของ แสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข กับอัลบั้ม STAMP STH ที่เขาเลือกจะทำเพลงเป็นภาษาอังกฤษทั้งอัลบั้ม และยังวางขายที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก เขาทำอัลบั้มนี้ได้อย่างไร ต้องเรียนรู้อะไร ต้องใช้คอนเน็กชันจากไหน นิตยสาร happening ไปนั่งคุยกับเขาแบบยาวๆ ถึงเรื่องราวเหล่านั้น ยังไม่พอ เรายังตามแสตมป์ไปญี่ปุ่น แล้วเก็บภาพพร้อมเรื่องราวการทัวร์คอนเสิร์ตของแสตมป์ที่นั่นมาฝาก รวมเนื้อหาจุใจถึง 18 หน้าเต็มๆ เลยทีเดียว
ช่วงสิบปีที่ผ่านมา ศิลปินอินดี้ไทยมีโอกาสได้ไปแสดงดนตรีที่ญี่ปุ่นและยังมีโอกาสได้วางขายผลงานในร้านต่างๆ ของญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อย เช่นเดียวกัน ทางไทยก็มีศิลปินจากญี่ปุ่นเดินทางมาเปิดการแสดงอยู่เรื่อยๆ ตลอดทั้งปี ส่วนหนึ่งของเหตุการณ์นี้ เกิดมาจากฝีมือของชายผู้นี้ที่เคลื่อนไหวในนาม Dessin the World
มาลองดูกันว่าเขามีวิธีการและวิธีคิดอย่างไร ทำไมถึงมาเชื่อมสะพานระหว่างวงการเพลงไทยกับญี่ปุ่น แล้วถ้าเป็นวงดนตรีใหม่ๆ ที่อยากไปโชว์ที่ญี่ปุ่นบ้าง ควรจะทำอย่างไร บทสัมภาษณ์ยาวๆ ชิ้นนี้มีคำตอบ
Inspirative คือวงโพสต์ร็อกชาวไทย ...ที่ไปดังในจีน! เชื่อหรือไม่ว่าพวกเขาไปตระเวนแสดงคอนเสิร์ตในหลายๆ เมืองที่ประเทศจีนมาแล้ว เรื่องราวมันเป็นมายังไง แล้วทำไมชาวจีนถึงชอบดนตรีของพวกเขา บทสัมภาษณ์ยาวเหยียดชิ้นนี้บรรจุความสนุกสนานจากประสบการณ์ของพวกเขาเอาไว้
Srirajah Rockers วงดนตรีเร็กเก้ ขวัญใจใครต่อใคร พวกเขามีแฟนเพลงเหนียวแน่นอยู่พอสมควร แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าวงดนตรีวงนี้ตัดสินใจไปมิกซ์เสียงเพลงในอัลบั้มล่าสุดของพวกเขาที่ประเทศญี่ปุ่น!
นี่คือเรื่องราวการไปทำอัลบั้มที่แดนอาทิตย์อุทัย ก่อนจะกลายมาเป็นอัลบั้ม Organix ที่พวกเราชื่นชอบและเป็นอัลบั้มที่คว้ารางวัลทางดนตรีไปเพียบ!
เป็นเอก รัตนเรือง ผู้กำกับชื่อดังของไทย บอกกับเราว่า "ก่อนทำหนังเรื่อง 'ฝัน บ้า คาราโอเกะ' เรายังไม่รู้เลยว่าโลกนี้มีเทศกาลหนัง" จุดเริ่มต้นในการส่งหนังไปเทศกาลของเขาอาจดูเหมือนเรื่องตลกสไตล์โรแมนติกคอเมดี้ แต่หลังจากนั้นเขาก็กลายเป็นดาวเด่นในเทศกาลภาพยนตร์หลายต่อหลายเทศกาล ได้รางวัลจากเทศกาลนั้นเทศกาลนี้เป็นว่าเล่น หนังบางเรื่องยังมีจุดเริ่มต้นมาจากคอนเน็กชันที่ได้จากเทศกาลหนัง และยังมีเรื่องสนุกๆ อีกเพียบที่เขาได้เรียนรู้จากชีวิตช่วงที่เป็นดาวเด่นในเทศกาล บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จะบอกเล่าเรื่องราวเหล่านั้น
เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับดังขวัญใจวัยรุ่น จากภาพยนตร์เรื่อง 36, Mary is happy, Mary is happy, ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ และล่าสุดกับผลงานภาพยนตร์ Die Tomorrow ภายใน happening 'Go Inter' เราชวนเต๋อมาเขียนคู่มือบอกเล่าวิธีการส่งหนังไปเทศกาลภาพยนตร์ ในฉบับที่เขาบอกว่ามัน Very Sad อ่านๆ ไปอาจจะเหมือนกับบทเรียนที่รุ่นพี่สอนรุ่นน้องรุ่นใหม่ๆ แต่จะว่าไปนี่คือบันทึกประสบการณ์ที่เต๋อได้เรียนรู้จากชีวิตคนทำหนังช่วงหนึ่งก็ว่าได้
ในห้วงเวลาที่หนังสารคดีกำลังมาแรง เราตามติดชีวิตและความคิดของนักทำหนังสารคดีผู้เอาจริงเอาจังอย่าง เบิ้ล-นนทวัฒน์ นำเบญจพล มาฝาก ซึ่งงานนี้ก็ได้ทั้งเรื่องราวจากประสบการณ์การทำหนัง การไปเทศกาลภาพยนตร์ ตลอดจนวิธีคิดของคนทำหนังสารคดีวันนี้ ใครสนใจทำหนังสารคดีไม่ควรพลาด!
ในแวดวงการ์ตูนไทย ช่วงที่ผ่านมาไม่มีสำนักไหนที่สร้างความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจได้ต่อเนื่องและน่าสนใจเท่ากับ Let's Comic และบรรณาธิการของสำนักพิมพ์การ์ตูนไทยแห่งนี้ ยังอยู่เบื้องหลังการได้รางวัลจากต่างประเทศของนักวาดการ์ตูนไทยหลายรายอีกด้วย และภายในเล่มเขาจะมาเล่าถึงชีพจรการ์ตูนไทยวันนี้ และที่ทางของการ์ตูนไทยในวงการการ์ตูนโลก
ทุกวันนี้เรามีหนังสือแปลดีๆ มาวางขายในเมืองไทยมากมาย เรียกว่าเป็นยุคทองของหนังสือแปลเลยก็ว่าได้ แต่ในมุมกลับกัน จะมีวิธีการไหนไหมที่จะเอาหนังสือไทยไปขายลิขสิทธิ์ให้เมืองนอกเอาไปแปลบ้าง บทความที่เขียนโดย Mango Moment นักเขียนสาวผู้ทำงานด้านการซื้อ-ขายลิขสิทธิ์หนังสือชิ้นนี้ จะมาแนะนำวิธีการเอาหนังสือภาษาไทยของตัวเองไปสู่ชาวโลก สรุปสั้นๆ ว่านักเขียนควรอ่านจ้ะ
ปูเป้-จุฑารัตน์ ภิญโญดุลยเจต คือช่างภาพสตรีทไฟแรงที่กำลังสร้างชื่อจากการคว้ารางวัลในเวทีประกวดภาพถ่ายระดับนานาชาติ แต่เธอกำลังใช้ชีวิตอยู่ที่นิวยอร์ก และเรื่องราวที่เธอจะมาเขียนเล่าให้เราอ่านก็คือเรื่องวิธีการใช้ชีวิตเป็นศิลปินในนิวยอร์ก-เมืองหลวงของโลก ที่เต็มไปด้วยศิลปินจำนวนมหาศาล ซึ่งกำลังแข่งขันกันอย่างสุดแรงเหวี่ยงในทุกๆ วัน เธอมีคำแนะนำอย่างไร มาอ่านฮาว-ทูสนุกๆ ที่ประดับด้วยภาพถ่ายสวยๆ ของเธอได้ใน happening ฉบับนี้
รู้หรือไม่ว่าวงการละครเวทีของไทยก็มีตัวแทนเก่งๆ หลายคนเคยไปแสดงฝีมือในต่างประเทศมาแล้ว เราชวนนักแสดงบนเวทีหลากหลายรูปแบบ ทั้งละครใบ้ บัลเลต์ และละครเวที อย่าง งิ่ง-รัชชัย รุจิวิพัฒน์ 1 ใน 3 ผู้ก่อตั้งคณะละครใบ้ เบบี้ไมม์ (Babymime) ที่เคยจัดการแสดงมาแล้วทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตั้งแต่ข้างถนนจนถึงหอประชุมใหญ่ และเทศกาลการแสดงที่ใหญ่ที่สุดในโลก, ฮีน-ศศิธร พานิชนก นักแสดงสาวคุณภาพ ที่เคยฝากผลงานไว้ในภาพยนตร์ มหาสมุทรและสุสาน (The Island Funeral), จันดารา, ตะลุมพุก เธอมีโอกาสได้ไปเรียนต่อด้านการแสดงที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา, ปิ๊ก-ศรวณีย์ ธนะธนิต นักบัลเลต์สาวที่มีโอกาสได้ไปใช้ชีวิต ศึกษา และทำงานในคณะบัลเลต์ที่ต่างประเทศตั้งแต่ยังเด็ก และเป็นคนไทยที่ได้เข้าร่วมทำงานกับคณะบัลเลต์ระดับโลก ก่อนที่จะหันมาสนใจด้านศิลปะการแสดงแบบร่วมสมัยมากขึ้น และ คาเงะ-ธีระวัฒน์ มุลวิไล ผู้กำกับ คนเขียนบท นักแสดงฝีมือดี หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มละคร B-Floor และเจ้าของรางวัลปีติศิลป์สันติธรรมฯ จากการเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านสันติภาพ ประชาธิปไตย ความเป็นธรรม ประจำปี 2554 จากผลงานโดดเด่นในงานแสดงแบบ Physical ที่เน้นสื่อสารเรื่องราวผ่านวิชวล และมีโอกาสได้ไปแสดงและทำงานร่วมกับคนละครในหลายประเทศทั่วโลก
นักแสดงมากฝีมือทั้ง 4 คนนี้ จะมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และแนะนำหนทางสำหรับนักแสดงที่จะโกอินเตอร์ด้วยตัวเอง ชีวิตในแสงไฟไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็คงจะสบายขึ้นบ้าง หากได้คำแนะนำจากรุ่นพี่ มิใช่หรือ
การมีแบรนด์เล็กๆ สักแบรนด์เป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะทำเสื้อยืด เครื่องประดับ เครื่องเขียน กระเป๋า หรือขายชิ้นงานศิลปะ ถือเป็นความฝันยอดนิยมของคนรุ่นใหม่ในยุคที่การซื้อขายและโปรโมตสามารถทำได้จบสิ้นในโลกออนไลน์ แต่ทำแบรนด์อย่างไรล่ะ ถึงจะไปได้ไกลถึงระดับอินเตอร์ สกู๊ปชิ้นนี้จะรวมความเห็นของแบรนด์ดีไซน์ที่แจ้งเกิดในต่างประเทศแล้ว 10 แบรนด์มาให้เราได้อ่านกัน หากคิดจะทำแบรนด์ของตัวเอง อย่าพลาดที่จะอ่านสกู๊ปชิ้นนี้!
เบล-กนกนุช ศิลปวิศวกุล คือนักออกแบบสาวชาวไทยที่เคยทำงานร่วมกับชาวญี่ปุ่นมาแล้วหลายครั้ง ทั้งในนามของตัวเองและในนามของ แพรคทิเคิล ดีไซน์ สตูดิโอ ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เราจะพาไปสำรวจเรื่องราวและผลงานเหล่านั้นของเธอ ตลอดจนแนะนำงานอีเวนต์ที่ชื่อว่า Unknown Asia ที่เป็นงานที่เปิดกว้างให้ศิลปินจากประเทศต่างๆ ได้ไปโชว์ผลงานให้กับคนในแวดวงดีไซน์ของญี่ปุ่นได้เห็นฝีไม้ลายมือ ซึ่งกนกนุชเคยไปแสดงงานที่งานนี้ด้วย จนกระทั่งกลายมาเป็นหนึ่งในกรรมการตัดสินงานในที่สุด