หากคุณมีโอกาสได้มาเดิน (หรือแค่เดินผ่าน) หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc) แต่ยังไม่ว่างพอที่จะขึ้นไปดูนิทรรศการศิลปะหมุนเวียนที่อาจต้องใช้เวลาชมพอสมควร หอศิลป์แห่งนี้ยังมีงานศิลปะแบบค่อนข้างถาวรที่น่าสนใจไม่แพ้กันจัดแสดงไว้ในจุดต่างๆ ให้ผู้คนเข้ามาแวะชม ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก หรือจะหยุดยืนดูนานๆ ก็ได้ โดยงานศิลปะแต่ละชิ้นล้วนเป็นฝีมือของศิลปินไทยร่วมสมัยชื่อดังทั้งนั้น เป็นชิ้นงานที่อยู่ตามจุดต่างๆ ของหอศิลป์ซึ่งเราอยากชวนให้คุณหยุดชื่นชม และเราเชื่อว่าใช้เวลาแค่ 20 นาทีก็น่าจะตามเก็บได้ครบแล้ว!
เริ่มจากบริเวณผนังด้านหน้าของหอศิลปกรุงเทพฯ ที่ใครผ่านไปผ่านมาแถวนี้ก็ต้องสะดุดตากับภาพกราฟฟิตี้ขนาดใหญ่ 10 x 25 เมตร บนผนังหน้าอาคาร เป็นงานที่เห็นได้ชัดเมื่อเดินผ่านสกายวอล์กตรงสี่แยกปทุมวัน ภาพชุดนี้เป็นผลงานของศิลปินไทยชื่อดัง คือ ยุรี เกนสาคู, พัชรพล แตงรื่น (อเล็กซ์ เฟซ), วิศุทธิ์ พรนิมิตร, รักกิจ ควรหาเวช และ กิตติพงษ์ คำสาตร์ (โก๋เอ็ม)
โครงการภาพเขียนผนังอาคาร โดย 5 ศิลปินร่วมสมัยเพื่อถวายความอาลัยและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นกิจกรรมแรกของโครงการ 'น้อมรำลึก องค์อัครศิลปิน' โดยมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งมี ศ.ดร. อภินันท์ โปษยานนท์ กรรมการมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นหัวหน้าทีมภัณฑารักษ์ จัดเพื่อน้อมรำลึกถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะองค์อัครศิลปิน และพระมหากรุณาธิคุณในฐานะองค์อุปถัมภ์งานด้านศิลปวัฒนธรรมไทย โครงการนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2560 และจะจัดแสดงไปจนถึงเดือนธันวาคม 2560
การสร้างสรรค์ผลงานของศิลปินทั้ง 5 นี้ทำเพื่อแสดงความอาลัย ความรัก การเคารพและเทิดทูนในหลวงรัชกาลที่ 9 ของชาวไทยทุกคน ผ่านตัวการ์ตูนคาแรกเตอร์ของศิลปินเอง มีชื่อภาพของตัวการ์ตูนเรียงจากซ้ายไปขวา ตามลำดับคือ 'ถอดหมวก' โดย อเล็กซ์ เฟซ, 'ครุฑอาลัย' โดย ยุรี เกนสาคู, 'กราบ' โดย วิศุทธิ์ พรนิมิตร, 'พิกกุนส่งเสด็จฯ' โดย โก๋เอ็ม และ 'ทองแดง' โดย รักกิจ ควรหาเวช
และเป้าหมายที่ตัวละครทั้ง 5 แสดงความเคารพเทิดทูนก็คือ ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ขนาดใหญ่ที่อยู่ทางด้านซ้ายของอาคารนั่นเอง
ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ภาพนี้ มีขนาด 34 x 25 เมตร หรือขนาด 850 ตารางเมตร สูงราวตึกแถว 12 ชั้น ใช้เทคนิคที่เรียกว่า Wheat Pasting หรือ Put Up เป็นเทคนิคการแปะโปสเตอร์โดยใช้กระดาษและกาวลาเท็กซ์ ซึ่งเป็นเทคนิคที่ศิลปินสตรีทอาร์ตนิยมใช้
งานชิ้นนี้ทีมงานใช้เวลาดำเนินงานทั้งหมด 17 วัน แบ่งเป็นการลงสี 5 วัน (ระหว่างวันที่ 16-20 มีนาคม 2560) โดยตัวแทนนักศึกษาจาก 5 สถาบัน กว่า 200 คน ได้แก่ มหาวิทยาลัยศิลปากร, วิทยาลัยช่างศิลปะ, วิทยาลัยเพาะช่าง, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ระยะเวลาในการติดตั้งงาน 12 วัน (ระหว่างวันที่ 1-12 เมษายน 2560) ติดตั้งโดยศิลปินสตรีทอาร์ต 5 คน ได้แก่ ปิยะ สกุลเดช, ตฤษนันท์ แสงสว่าง, นรรัตน์ ถวิลอนันต์, กิตติพงศ์ หุ่นอินทร์ และ วัชระ เลิศพุทธิตระการ ถือเป็นงานที่ศิลปินรุ่นใหม่หลายคนได้มาร่วมแรงร่วมใจกันอย่างแท้จริง
ภาพเขียนผนังชิ้นถัดมา เราจะพบได้เมื่อเดินเข้ามาจากสกายวอล์กที่เชื่อมทางเดินสถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาฯ และห้างมาบุญครอง กับประตูทางเข้าหอศิลป์ ชั้น 3 เมื่อเข้าหอศิลป์มาทางประตูนี้ ผ่านจุดตรวจของ รปภ. แล้ว จะพบภาพนี้อยู่ทางขวามือ เป็นอีกภาพหนึ่งในโครงการ น้อมรำลึก องค์อัครศิลปิน โดยฝีมือของ Floyd ศิลปินรุ่นใหม่ที่มีผลงานเป็นลายเส้นที่มีเอกลักษณ์ มีชื่อผลงานว่า 'King of King' สร้างสรรค์ด้วยเทคนิคสีอะคริลิก มีแนวคิดแรงบันดาลใจมาจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ผู้เป็นแบบอย่างของการทำความดีที่ได้เห็นมาตั้งแต่เล็กจนโต ทำให้อยากจะจดจำท่านไว้เป็น Forever Young ในใจตลอดไป เหมือนในหลวงรัชกาลที่ 9 ในภาพเขียนที่ศิลปินวาดนั่นเอง
เมื่อเดินขึ้นบันไดเลื่อนไปจนถึงชั้น 5 เงยหน้าขึ้นมองผนังด้านบน ริมทางเดินระเบียงของชั้น 5 จะพบภาพเขียนผนังอีกชิ้น ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งในโครงการ น้อมรำลึก องค์อัครศิลปิน เช่นกัน ศิลปินผู้สร้างงานชิ้นนี้คือ ไตรภัค สุภวัฒนา (PUCK) นักวาดการ์ตูนรุ่นใหม่ฝีมือดี มีชื่อผลงานว่า 'พ่อหลวง' เทคนิคสีอะคริลิก มีแนวคิดเพื่อบูชาและระลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ผสมภาพพระองค์ท่านกับดอกพุทธรักษาซึ่งเป็นดอกไม้สีเหลืองที่มีความหมายเหมือนตัวแทนของพระองค์
ปิดท้ายด้วยการเดินลงไปที่ชั้น 1 ตรงประตูฝั่งตรงข้ามกับห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง จะพบกับงานประติมากรรมไฟเบอร์กลาสแต่งสี ตุ๊กตาเด็กผู้หญิง 2 ตัว ความสูงกว่า 4 เมตร ฝีมือของ ทวีศักดิ์ ศรีทองดี หรือ โลเล จัดว่าเป็นงานศิลป์อีกชิ้นที่อยู่คู่กับหอศิลปกรุงเทพฯ มานาน โดยงานประติมากรรมทั้งสองนี้มีชื่อว่า 'DOLLS 1914 & 1939' เพราะตุ๊กตาทั้ง 2 ตัว มีตัวเลข 1914 และ 1939 เขียนอยู่บนอก ซึ่งเป็นตัวเลขที่มาจากช่วงเวลาสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1914 -1918) และสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1939-1945) ศิลปินเชื่อว่า หลายคนที่เห็นงานประติมากรรมชิ้นนี้แล้ว อาจสงสัยและตั้งคำถามว่า ตุ๊กตาทั้งสองตัวนี้ มาจากดาวดวงไหน มีตัวตนเพื่อสิ่งใด และกำลังจะปฏิบัติภารกิจอะไร
โลเลบอกว่า แนวคิดของงานศิลปะชิ้นนี้คือการแสดงนัยถึงมนุษย์ที่มีความอ่อนเยาว์ต่อโลก และตกอยู่ภายใต้อำนาจที่เกิดจากสงครามและระบบทุนนิยม โดยพยายามสร้างให้ดูคล้ายรูปร่างเด็กผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น ยืนนิ่ง ดวงตาแววใส แต่งกายในชุดเครื่องแบบ
"มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิต มีคุณสมบัติที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับตุ๊กตา แต่หลายครั้งที่มนุษย์ถูกแทนค่าเสมือนตุ๊กตา เราคงนึกถึงความหมายนั้นได้จากกลุ่มหรือปริมาณคนจำนวนมากๆ เช่น เวลาที่เราเห็นภาพคนมายืนรวมกลุ่ม ยืนเข้าแถวเป็นระเบียบโรงเรียน ในหอประชุม กลุ่มคนเหล่านั้นกำลังรอรับฟังคำสั่ง หรือกลุ่มทหาร ตำรวจ ที่เข้าแถวเป็นระเบียบพร้อมอาวุธในมือ" โลเลกล่าว
ผลงานชุดนี้จึงเป็นเรื่องสัญลักษณ์และความหมาย หุ่นตุ๊กตาแทนความไร้ชีวิต เพราะพวกมันไม่สามารถพูด หรือขยับ เคลื่อนที่ เคลื่อนไหวได้ด้วยธรรมชาติของตัวเอง แต่เกิดจากการถูกบังคับด้วยกลไกที่มนุษย์เป็นผู้บงการ อย่างไรก็ตาม ตุ๊กตาเหล่านี้ก็ถูกกำหนดให้มีรูปแบบ ภาพลักษณ์ ซึ่งอาจทำให้ผู้พบเห็นเกิดความคิด ความรู้สึก และอาจมีเรื่องราว มีความหมายขึ้นราวกับมีชีวิต
รู้อย่างนี้แล้ว หากใครพอมีเวลาแวะมาที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครแล้ว นอกจากจะมาดูงานนิทรรศการหลักที่จัดแสดงหมุนเวียนอยู่แล้ว ก็อย่าลืมแวะชมงานศิลปะที่จัดแสดงตามจุดต่างๆ ที่เราชี้เป้าพร้อมให้ข้อมูลเหล่านี้ด้วยนะ
4896 VIEWS |
ยามเฝ้า happening shop สาขา bacc, ครูสอนศิลปะที่เป็นนัก (อยาก) เขียนบ้างเมื่อมีโอกาส
อดีตเด็กฝึกงานที่ happening ปัจจุบันเป็นคนสวน คอยดูแล รดน้ำ พรวนดินเว็บไซต์แถวๆ นี้ที่ชื่อ happeningandfriends.com