คนทั่วโลกต่างเฝ้าคอยปรากฏการณ์หนึ่ง...ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในชั่วชีวิตของคนเกือบทั้งหมดนั้น...
ทุกคนต่างรอที่จะได้เงยหน้ามองขึ้นไปยังท้องฟ้าอันแสนไกล
กับการโคจรผ่านมาถึงดาวโลกในระยะที่มนุษยชาติบนผืนพิภพสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าของ ดาวหางมีคาบ (Periodic Comet) ที่มีชื่อว่า 'ดาวหางฮัลเลย์' ซึ่งตั้งชื่อตามผู้ที่ค้นพบคือ เอ็ดมันด์ ฮัลเลย์ (Edmond Halley)
เอ็ดมันด์ ฮัลเลย์ ได้สังเกต คำนวณ กระทั่งได้ผลสรุปว่า ดาวหางไร้ชื่อที่เขาสังเกตเห็นนั้น เคยปรากฏมาแล้วในปี พ.ศ. 2074, 2150 และ 2225 จากจุดสังเกตที่มีหางโคจรเหมือนกัน...และดาวที่ปรากฏทั้ง 3 ครั้งนั้น น่าจะเป็นดาวหางดวงเดียวกัน
เป็นดาวหางที่ได้โคจรวกวนเข้ามาในระบบสุริยะจักรวาลในทุก 76 ปี
กระทั่งวนกลับมาให้ชาวโลกได้ชื่นชมกันอีกครั้งเมื่อ 32 ปีก่อน...
ณ ช่วงเวลาที่วงการเพลงไทยยังไม่มีการบัญญัติคำว่า 'อินดี้' หรือ Independent Artist มีเพียงคำจำกัดความให้กับศิลปินที่ปราศจากสัญญากับค่ายเพลงใหญ่หลักๆ ของประเทศว่า 'ศิลปินใต้ดิน' หรือ 'ค่ายเล็ก' เท่านั้น
เมย์-ภควัฒน์ ไววิทยะ และ อู่-ไตรเทพ วงศ์ไพบูลย์ สองนักดนตรี-คนทำเพลงโฆษณา-ผู้อยู่เบื้องหลังงานดนตรีมากมายได้จับมือกันทำวงดนตรีที่จะถ่ายทอดความรัก ความฝัน แรงบันดาลใจ และไอเดียถึงดนตรีในแนวทางที่พวกเขาผูกพัน ทว่ายังไม่เคยมีที่ทางในแวดวงดนตรีของไทยมาก่อน
นั่นคือดนตรีในแนวทาง 'อิเล็กทรอนิกส์ป๊อป'
หลังจากที่ทุกอย่างเริ่มต้น พวกเขาก็ได้เฟ้นหาและค้นพบนักร้องของวง ซึ่งเป็นรุ่นน้องสถาบันของ เมย์ คือ ปิ่น- เก็จมณี พิชัยรณรงค์สงคราม สาวสวยในแวดวงสังคม และเริ่มก้าวเท้าไปยังวงการบันเทิงและแฟชั่นได้ไม่นานนัก
วง Kidnappers จึงถือกำเนิดขึ้นนับจากนั้น
ก่อนจะตามด้วยงานอัลบั้มที่มีชื่อว่า 'สแลง' ที่ได้กัลยาณมิตรในแวดวงดนตรีมาร่วมงานมากมาย ทั้ง อู-วาสิต มุกดาวิจิตร ที่ต่อมาได้สร้างตำนานให้กับตัวเองกับวง ครับ และ Day Tripper รวมถึง บอย โกสิยพงษ์ ที่ได้กลายเป็นผู้ร่วมก่อตั้งค่าย Bakery Music ที่พลิกโฉมหน้าให้กับวงการเพลงไทยในอีกไม่นานจากนั้น
แต่ด้วยแนวทางดนตรีที่ต่างจากกระแสหลักในเวลานั้น สแลง จึงเป็นอัลบั้มเล็กๆ ที่สร้างความสนใจได้เพียงคนฟังกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น
กระนั้นเมื่อเวลาผ่านไป...ก็เริ่มมีคนเข้าใจ...หลงรัก...และตามหาอัลบั้มชุดนี้เพิ่มขึ้น...และเพิ่มขึ้น...กระทั่งสามารถนิยามได้ว่าเป็นงานระดับ Cult Favorite
ชื่อของ Kidnappers ก็ได้กลับมาสู่สารบบของวงการดนตรีบ้านเราอีกครั้ง ณ ช่วงตอนที่ 'อินดี้' กลายเป็นศัพท์ที่สามัญพบได้ทั่วไป แม้แต่ค่ายเพลงใหญ่ของประเทศ
ชั่วเวลา 2 ปีหลังจากที่ชิมลางด้วยอีพี Warning One ที่เกริ่นนำถึงพัฒนาการของวง พร้อมแนะนำนักร้องนำคนใหม่ คือ นู๋-มนต์ทิพย์ ลิปิสุนทร ที่มีดีกรีเคยร่วมงานกับวง The Olarn Project ในเพลง มิตรภาพชั่วนิรันดร์ มาก่อน พร้อมการแสดงเปิดตัว Kidnappers ยุคสอง ณ Fat Festival ครั้งแรก ที่โรงงานยาสูบเก่า ยังคงตราตรึงอยู่ในใจแฟนเพลงทั้งเก่าใหม่ Kidnappers ก็กลับมาพร้อมกับอัลบั้มใหม่ในรอบสิบปีเต็มคือ Set ซึ่งได้เพิ่ม จามร วัฑฒกานนท์ มาเป็นสมาชิกใหม่ในตำแหน่งเบส
ในส่วนของแนวทางดนตรีนั้น แม้นมีแก่นแกนอยู่ที่ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ป๊อป หากผิดแผกด้วยรายละเอียดและสีสันอยู่มากพอสมควร ขณะที่การตอบรับนั้นแม้เริ่มมีการขยับขยายออกไปสู่วงที่กว้างขึ้น แต่ Kidnappers ก็ยังคงรั้งตำแหน่ง Cult Favorite อยู่เหมือนเช่นเดิม
หลังจากที่พวกเขาห่างหายไปนานกว่า 10 ปี Kidnappers ก็กลับมาอีกครั้ง เปิดตัวด้วยซิงเกิล แกว่ง เพลงอิเล็กทรอนิกส์ป๊อปจังหวะปานกลาง หนีบๆ การร้องเป็นห้วงๆ ชวนให้นึกถึงเพลง ฝน ในอัลบั้มชุดแรก ขณะที่นักร้องนำคนใหม่ ติว-ดิษยา กรกชมาศ นางแบบสาวจากรั้วศิลปากรนั้นถ่ายทอดบทเพลงได้อย่างเซ็กซี่ในระดับพอเหมาะ
ก่อนหน้าที่จะทยอยปล่อยซิงเกิลมาเรื่อยๆ ตลอด 2 ปีจากนั้น ไม่ว่าจะเป็น เพื่อใคร ที่ทอนอิเล็กทรอนิกส์ลงเล็กน้อย หากเพิ่มความป๊อป 80s เรียบเท่เข้าไป ทั้งยังเติมความสดใสผ่านซินธ์และเสียงร้องอีกนิดทำให้ติดตรึงความรู้สึกได้ง่ายดาย และเข้ากันได้ดีกับคำร้องของ บอย-ตรัย ภูมิรัตน
เธอเท่านั้น ซิงเกิลเพียงหนึ่งเดียวที่ถูกเผยแพร่ใน พ.ศ. 2559 ทว่าก็สร้างความประทับใจได้ดีจากดนตรีที่ใกล้เคียงกับ แกว่ง ที่เจือความสดใสยิ่งขึ้น หากทอนความร็อกลง ให้ท่วงทำนองในแบบป๊อปนั้นนำเสนอความโดดเด่นได้เต็มที่
คำบางคำ เพลงบัลลาดของ Sqweez Animal ที่ Kidnappers นำมาตีความใหม่ได้อย่างเป็นตัวเองเต็มที่ ซาวนด์อันล่องลอยนั้นเข้ากับเสียงร้องเปี่ยมเสน่ห์ของ ติว ได้อย่างกลมกลืนและกลมกล่อม
และ บอก ที่ก้าวข้ามจากบรรยากาศยุค 80 แบบร่วมสมัย เข้ามาสู่ยุค 90 บนท่วงทำนองที่ฉีกจากเพลงอื่น ด้วยได้ ฟองเบียร์-ปฏิเวธ อุทัยเฉลิม มาแต่งคำร้อง-ทำนองเพลงนี้ หนึ่งเดียวที่ได้คนแต่งเพลงนอกมาดูแลในส่วนทำนอง
ทั้งหมดเป็นเหมือนตัวต่อที่เคยอยู่กระจัดกระจายกัน ก่อนหน้าที่จะถูกนำมารวมเข้าไว้ในภาพใหญ่ภาพเดียวคือ อัลบั้ม Signal ที่เป็นบ็อกซ์เซตสุดอลังการ ที่มีทั้ง Package Limited Edition, โปสเตอร์, 6 Secret Evidences, บุ๊กเลต 60 หน้า และซีดีอัลบั้ม ซึ่งตัวอัลบั้มนั้น เมื่อถูกเพิ่มเติมด้วยเพลง หยุด ในเวอร์ชันเปียโนบัลลาดก็ยิ่งทำให้ภาพใหญ่ของงานศิลป์อิเล็กทรอนิกส์ป๊อปชิ้นนี้สมบูรณ์
ยังผลให้ระยะเวลานานนับสิบปีแห่งการรอคอยนั้นผสานกันสนิทด้วยความอิ่มเอมที่ประทับลงในหัวใจ
ทั้งยังเปิดกว้างให้ได้จินตนาการและติดตามถึงย่างก้าวต่อไปของวง
ซึ่งบางทีอาจต้องรอคอยกันไปอีกนานนับสิบปี
กระนั้นก็นับเป็นการรอคอยที่เปี่ยมซึ่งความหวังโดยแท้จริง
คนทั่วโลกต่างเฝ้าคอยปรากฏการณ์หนึ่ง...ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในชั่วชีวิตของคนเกือบทั้งหมดนั้น...
ทุกคนต่างรอที่จะได้เงยหน้ามองขึ้นไปยังท้องฟ้าอันแสนไกล
กับการโคจรผ่านมาถึงดาวโลกในระยะที่มนุษยชาติบนผืนพิภพสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ของ 'ดาวหางฮัลเลย์' หลังจากที่ได้เหินห่างไปจากโลกใบนี้เนิ่นนานเต็มที
หลายคน...หวังใจยิ่งว่าตัวเองจะได้สัมผัสกับความรู้สึกอันตื่นใจเฉกเช่นเดียวกับในครั้งนี้...ในอีก 76 ปีข้างหน้า
1103 VIEWS |
คนรักดนตรีที่เริ่มต้นชีวิตนัก(อยาก)เขียนด้วยการเป็นนักวิจารณ์ดนตรีอิสระที่มีผลงานลงในนิตยสาร a day, Hamburger, Esquire และอีกมากมาย รวมถึงเคยถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตคนดังออกมาเป็นหนังสืออัตชีวประวัติมาแล้วหลายคนในหลายเล่ม อันมี Bakery & I ของ สุกี้-กมล สุโกศล แคลปป์ เป็นอาทิ ผ่านทั้งชื่อจริงและนามปากกาอย่าง ภัทรภี พุทธวัณณ นิทาน สรรพสิริ และวรวิทย์ เต็มวุฒิการ ก่อนหน้าที่จะผันตัวเองเป็น "บรรณาธิการตัวเล็ก" ให้กับนิตยสาร DDT ซึ่งมี "บรรณาธิการตัวใหญ่" ที่ชื่อ "ยุทธนา บุญอ้อม" หรือ "ป๋าเต็ด" ของใครต่อใคร
แล้วนับจากนั้นบรรณาธิการตัวเล็กคนนี้ก็ไม่อาจหลีกหนีไปจากมนต์เสน่ห์ของงานหนังสือได้อีกเลย ...และยังคงฟังเพลง เขียนหนังสือ และเสาะหาเรื่องดีๆ มาประดับความคิดอ่านอยู่เสมอ