2024 เป็นอีกปีที่สีสันและพลังงานแห่งความคิดสร้างสรรค์เบ่งบานทั่วประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น งานเทศกาลดีๆ จากทั้งภาครัฐและเอกชน คอนเสิร์ตหลากแนวจากศิลปินไทยและต่างประเทศ นิทรรศการเดี่ยวและกลุ่มที่บันทึกการเดินทางในชีวิตจิตใจของเหล่าศิลปิน ตลอดจนอีเวนต์เล็กใหญ่ที่เชื่อมโยงประสบการณ์ของผู้คนไว้ด้วยกัน
นอกเหนือจากบทบาทสื่อจะพาให้ทีม happening ได้รู้จักและร่วมงานกับศิลปินหลากหลายแล้ว เราเองก็มีโอกาสได้จัดงานที่รวบรวมงานอาร์ตในชีวิตประจำวันให้ทุกคนได้มาพบปะใกล้ชิดกันอยู่ไม่น้อย
เริ่มต้นด้วยงาน MMADhappening 10Fest ตลาดนัดมัดรวมงานอาร์ตที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่สอง ซึ่งอุดมไปด้วยชิ้นงานศิลปะ งานทำมือ กิจกรรมเวิร์กช็อป มินิคอนเสิร์ต และ Photo Spot ซึ่งได้นักวาดภาพประกอบผลัดเปลี่ยนกันมาสร้างสีสันตลอดปี ต่อด้วยงาน happening PLAY SHOP ที่เราเติมเต็มพื้นที่ชั้น 2 ให้อุดมไปด้วยกิจกรรมเวิร์กช็อปที่ทุกเพศ ทุกวัย ได้ร่วมสนุก และสร้างสรรค์ชิ้นงานทำมือในแบบฉบับของตัวเอง เรียกได้ว่า ใครผ่านมาที่โซน MUNx2 ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ ก็จะพบกับกิจกรรมดีๆ จากพวกเราอย่างสม่ำเสมอ (แอบกระซิบว่าทีมกำลังเตรียมตัวสำหรับปี 2025 อยู่ด้วยนะ!)
ขณะที่ happening 101 art festival เป็นอีกหนึ่งงานใหญ่ที่เราขยับขยายไปจัดที่บริเวณ SEACON HALL โดยเรารวบรวมศิลปิน 101 รายในวงการศิลปะหลากแขนง ตั้งแต่วงดนตรี แบรนด์ดีไซน์ นักวาดและดีไซน์เนอร์ชาวไทยที่ดังไกลถึงต่างประเทศ และศิลปินรุ่นใหม่ไฟแรง รวมถึงคาเฟ่สุดฮิต มามอบประสบการณ์รับชมศิลปะใกล้ตัวร่วมกันในหลากรูปแบบ ซึ่งนับเป็นอีกงานที่เราได้พบปะกับผู้ชมและคนรักศิลปะมากมายเลยทีเดียว
ในบทบาทสำนักพิมพ์ ปีนี้เราปล่อยหนังสือขนาดกำลังดีออกมา 2 เล่ม ได้แก่ a cup of story 2 ภาคต่อของหนังสือรวมเรื่องสั้นที่เหมาะจะอ่านไปพร้อมการดื่มกาแฟ และ happening Band Brand : Scrubb อาร์ตบุ๊กขนาดกำลังดีที่เล่าเรื่องลึกๆ ของวงดนตรีด้วยงานศิลปะ ใครที่ยังไม่มีเล่มไหนก็แวะมาจับจองกันได้นะ
แน่นอนว่า เรายังหาโอกาสชักชวนศิลปินบางรายมาร่วมจัดแสดงงานศิลปะในอีเวนต์ของเพื่อนๆ ในแวดวงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการ My First Art : Regeneration กับ 25 ผลงานจาก 25 ศิลปินในงาน Thailand Coffee Fest 2024 และ The Groove of Vinyl History Exhibition ที่เราชวน 5 ศิลปินมาบอกเล่าประวัติศาสตร์แผ่นเสียงผ่านงานศิลปะในงาน Vinyl Fair Vol.2
ปิดท้ายด้วยงานใหญ่ปลายปี อย่าง Bangkok Illustration Fair 2024 ที่ได้เหล่าศิลปินทั้ง BKKIF Artist, Guest Artist พันธมิตรภาครัฐและเอกชน ตลอดจนงานแฟร์จากหลายประเทศ มาร่วมสร้างสีสันและประสบการณ์ ด้วยเรื่องราวและชิ้นงานศิลปะหลากหลาย ในฐานะหนึ่งในผู้จัดงานเรารู้สึกเป็นเกียรติมากและอยากขอบคุณผู้ชมงานที่มาเติมเต็มงานนี้ให้สมบูรณ์ด้วยการสนับสนุนพร้อมทั้งให้กำลังใจศิลปินทุกคน
และในช่วงเวลาที่หลายคนเตรียมออกเดินทาง กลับบ้าน และพักผ่อน เพื่อหยุดคิดถึงสิ่งที่คอยขับเคลื่อนชีวิตในปีที่ผ่านมา ทีม happening เองก็ขอกลับมาทบทวนถึงชิ้นงานศิลปะและศิลปินที่ชุบชูหัวใจ และเลือกสรรหนึ่งสิ่งที่ประทับใจในรอบปีมาบอกเล่าให้ทุกคนรับฟัง ...จะมีอะไรที่ตรงใจคุณบ้าง ไปดูพร้อมกันนะ
เลือกโดย วิภว์ บูรพาเดชะ ตำแหน่ง Editor in Chief
ริก รูบิน (Rick Rubin) เป็นเจ้าของค่ายเพลงและโปรดิวเซอร์ชื่อดังในวงการดนตรีที่เคยทำงานให้ศิลปินดังๆ หลากหลายแนว อาทิ Adele, Lady Gaga, Metallica, Red Hot Chili Peppers, Rage Against the Machine, the Strokes, Weezer), AC/DC, Aerosmith, Linkin Park ไปจนถึงรุ่นตำนานเพลงคันทรีอย่าง จอห์นนี แคช (Johnny Cash) เลยทีเดียว (อะไรจะหลากหลายได้ขนาดนี้!) วันดีคืนดี ริก รูบิน ก็เขียนหนังสือที่ว่าด้วยความคิดสร้างสรรค์ออกมา (ร่วมกับนักเขียนอีกคนคือ Neil Strauss) และมันก็กลายเป็นหนังสือขายดีมากเล่มหนึ่ง แต่ความแปลกของมันคือ The Creative Act: A Way of Being ไม่ได้เป็นฮาวทูสอนวิธีการทำงานหรือบอกเคล็ดลับตรงๆ หากแต่เป็นการผสมผสานระหว่างความเรียงสั้นๆ หลายๆ บท ผสมด้วยการเล่าประสบการณ์และแง่คิด แทรกด้วย Quote สั้นๆ ที่สวยงามเหมือนบทกวี
ความที่ ริก รูบิน มีบุคลิกเหมือนฤาษีแห่งวงการเพลง แถมยังสนใจการนั่งสมาธิมาเนิ่นนาน การอ่านหนังสือเล่มนี้จึงมีอารมณ์ของปรัชญาและการตื่นรู้เข้ามาผสมด้วยอีกต่างหาก นี่คือหนังสือที่ 'ศิลปิน' หรือคนที่สนใจทำงานศิลปะน่าจะได้ลองอ่านดูสักครั้ง เพราะมันครอบคลุมเรื่องการทำงานสร้างสรรค์ในหลายๆ มิติ ตั้งแต่ในการสร้างงานศิลปะอันยิ่งใหญ่ไปจนถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน ผ่านมุมมองที่กว้างไกลในสเกลของจักรวาลจนถึงแง่มุมยิบย่อยที่รายรอบตัวเรา อ่านแล้วเหมือนได้การตื่นรู้ในระดับหนึ่ง ได้ความรู้และประสบการณ์ที่สำคัญ ไปพร้อมๆ กับความรื่นรมย์ จนกลับมาอ่านซ้ำได้ไม่รู้เบื่อ ต้องขอบคุณสำนักพิมพ์ howto ที่แปลเป็นภาษาไทย และต้องชมคุณวริษฐา กาลามเกษตร์ ที่แปลได้อย่างไหลลื่นจริงๆ
เลือกโดย วรรณวนัช บูรพาเดชะ ตำแหน่ง Business Development
นี่คือนิทรรศการที่รวมชิ้นงานศิลปะผลงานศิลปินชื่อดังชาวไทยซึ่งไล่เรียงตามไทม์ไลน์ตั้งแต่การเริ่มต้นของศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทยเมื่อ 200 ปีก่อน ในยุคจิตรกรรมฝาผนังที่เริ่มได้อิทธิพลจากศิลปะตะวันตกของ ขรัวอินโข่ง ไล่มาถึงการนำเข้าศิลปินจากอิตาลีโดยราชสำนักไทย ต่อด้วยการมาถึงของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี และมหาวิทยาลัยศิลปากร และเหล่าลูกศิษย์ของท่านที่กลายเป็นศิลปินแห่งชาติหลายราย อาทิ เฟื้อ หริพิทักษ์, มีเซียม ยิบอินซอย, ถวัลย์ ดัชนี, เขียน ยิ้มศิริ, เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, จักรพันธุ์ โปษยกฤต, ดำรง วงศ์อุปราช, ปัญญา วิจินธนสาร ฯลฯ ไล่เรียงมาถึงยุคศิลปะนามธรรม คอนเสปต์ชวลอาร์ต และปิดท้ายด้วยงานของศิลปินยุคปัจจุบันที่คนรุ่นใหม่คุ้นเคยอย่าง อเล็กซ์ เฟส และ นิสา ศรีคำดี เจ้าของคาแรกเตอร์ Cry Baby ถือเป็นนิทรรศที่บอกเล่าเส้นทางศิลปะร่วมสมัยไทยได้อย่างครอบคลุม มีการเรียบเรียงอย่างดี มีผลงานที่หาชมยากหลายชิ้นมารวมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน งานจัดแสดงเป็นครั้งแรกที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป (หอศิลปเจ้าฟ้า) และย้ายมาจัดต่อที่ 'ท่าพิพิธภัณฑ์' มิวเซียมเปิดใหม่ที่ตั้งอยู่ตรงข้ามมหาวิทยาลัยศิลปากร ทั้งนี้มีชิ้นงานในนิทรรศการมากถึง 156 ชิ้น
นิทรรศการ 200 Years Journey Through Thai Modern Art History น่าจะจัดแสดงที่ท่าพิพิธภัณฑ์ถึงกลางปี 2568 แต่ถ้าใครยังไม่ได้ไปดู ขอแนะนำว่านี่เป็นนิทรรศการที่คนไทยทุกคนน่าจะรับไปดูกัน เพราะคุณอาจอยากไปชมซ้ำๆ หลายรอบ และยังน่าจะพาคนต่างชาติไปชมกันเยอะๆ ด้วย
เลือกโดย ดุสิตา อิ่มอารมณ์ ตำแหน่ง Head of Editorial & Content
งาน Bangkok Illustration Fair 2024 ปีนี้มีเรื่องราวประทับใจมากมาย แต่เสน่ห์หนึ่งที่ไม่เหมือนงานไหนและเราตั้งตารอคอยทุกปีคือ การค่อยๆ เดินชมผลงานของศิลปินและได้ฟังพวกเขาเล่าถึงคอนเสปต์และแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งาน แล้วศิลปินที่ได้พูดคุยกันแล้วสร้างความประทับใจแบบมาแรงแซงทุกงานศิลปะที่เสพมาในปีนี้คือ MARS โดย YAMACHEN951
YAMACHEN951 เป็นเชฟที่ทำงานศิลปะสไตล์พิกเซลเป็นงานอดิเรก เขาส่งผลงานสมัครเข้ามาใน BKKIF แล้วได้รับเลือกเป็น BKKIF Artist มาอย่างต่อเนื่อง 3 ปีแล้ว เมื่อเห็นโชว์เคสของเขาในปีนี้ก็รู้สึกว่าให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากปีก่อนๆ ในผลงานชุด MARS มีบรรยากาศของความเวิ้งว้างให้เราได้พักผ่อนสายตา ได้เห็นเคบินซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย มีข้าวของเครื่องใช้และแมวที่หวนให้นึกถึงโลกซึ่งเป็นบ้านเกิดของมนุษย์ เราได้เห็นวิถีชีวิตที่มนุษย์นำมาใช้บนดาวอังคาร ไม่เว้นกระทั่งแมวที่เป็นสัตว์เลี้ยง แต่ที่ชอบที่สุดคือ Phone Booth ที่ใช้โทรกลับไปยังโลกได้ พร้อมกับคำถามจากศิลปินว่า "หากเราสามารถโทรศัพท์จากดาวอังคารกลับไปหาใครสักคนได้เดือนละหนึ่งครั้ง ครั้งละหนึ่งนาที เราจะพูดคุยเรื่องอะไรกับเขา"
ยิ่งพอฟังเบื้องหลังแนวคิดแล้วรู้สึกว่า ความกล้าที่จะสะท้อนเรื่องส่วนตัวของศิลปินเชื่อมโยงกับผู้ชมอย่างเรามาก เมื่อใดก็ตามที่มีสิ่งต่างๆ เข้ามาปะทะหรือรุมเร้า เราอาจเคยรู้สึกอยากหลีกหนีไปอยู่ที่ใดที่หนึ่งเงียบๆ คนเดียวสักพัก เพื่อเรียบเรียงความคิดความรู้สึกของตัวเอง แล้วค่อยกลับมาเผชิญกับชีวิตกันต่อ เหมือนที่เขาเลือกที่จะไปดาวอังคาร แล้วถ่ายทอดการหลงเหลืออาคาร เฟอร์นิเจอร์ ตู้เกม วัตถุ สิ่งของต่างๆ หรืออารยธรรมที่มนุษย์ผู้เคยไปเยือนได้ทิ้งไว้บนดาวเคราะห์ดวงนี้อย่างน่าประทับใจ
เลือกโดย นิษณาต นิลทองคำ ตำแหน่ง Editorial & Content
งานบางงานอาจทำให้คุณคิดถึงใครบางคน และใครบางคนที่ซ่อนอยู่ในงานเหล่านั้น ก็อาจทำให้คุณได้หยุดพักและทบทวนความรู้สึกในหัวใจตัวเองอีกที ...และการได้ใช้เวลาอยู่ในห้องขนาดกำลังดีที่อุดมไปด้วยเรื่องราวและชิ้นงานในนิทรรศการ Sundae Kids : 10 Years of Lost and Found ก็ทำให้เรานึกถึงช่วงเวลาที่ผ่านมาในชีวิตไม่น้อย
ส่วนตัวประทับใจวิธีการเล่าเรื่องของศิลปินที่หยิบความทรงจำในชีวิตมาเล่าผ่านการออกแบบพื้นที่และการเดินให้เราได้เลือกเส้นทางเฉพาะทางใดทางหนึ่ง การได้ค่อยๆ เดินและอ่านเรื่องราวของพวกเขาก็ทำให้เราจินตนาการต่อไปว่า ชีวิตเราจะเป็นยังไง ถ้าวันนั้น เราตัดสินใจเลือกอีกทาง แต่มองอีกมุม มันก็คงเป็นปกติของชีวิตอยู่แล้ว เพราะทุกวันเวลาที่ค่อยๆ ผ่านไป เรามักสูญเสียบางสิ่งเพื่อได้รับบางอย่างอยู่เสมอ
ด้วยความที่มีโอกาสได้ไปชมงานตั้งแต่วันแรก เราจึงได้สัมผัสกับบรรยากาศและความรู้สึกของผู้คนที่รายล้อมทั้งคู่ในวันเปิดงาน เราเห็นครอบครัวที่ไม่ได้รวมตัวกันบ่อยนัก นัดพบกันที่งานนี้ เราเห็นน้ำตาของความยินดีและตื้นตันใจ แม้จะเป็นแค่ผู้ชมที่ผ่านไปพบกับพวกเขาไม่นาน แต่เราก็สัมผัสถึงความภาคภูมิใจที่พวกเขามีต่อกันไม่น้อย
บนโลกที่เราต่างเป็นผู้ให้และได้รับเช่นนี้ การได้เฝ้ามองชีวิตของคนอื่น ก็ทำให้เราย้อนกลับมาทบทวนว่า เราได้รับความรักจากผู้คนรอบข้างขนาดไหน จนบางทีก็อดรู้สึกละลายใจกับสิ่งที่เคยทำให้คนที่รักเราต้องเสียใจ จนกลั้นน้ำตาไม่ไหว
เลือกโดย นภัส วิบูลย์พนธ์ ตำแหน่ง Creative Communication
ความสัมพันธ์ของสองสิ่งมีชีวิตที่เริ่มต้นด้วยความเงียบจนกลายเป็นความหมายของกันและกันในที่สุด เรื่องราวของผู้ชายหนึ่งคนกับหมาหนึ่งตัวท่ามกลางบรรยากาศรกร้าง ความไม่น่าอภิรมย์ของสถานที่ทั้งตัวละคร และทีมงานถ่ายทอดความสวยงามของแต่ละซีนออกมาได้อย่างน่าประทับใจมากๆ
ในช่วงเวลาที่ยากลำบากของชีวิต เกือบ 2 ชั่วโมงกับการเดินทางไปพร้อมๆ กับหนังเรื่องนี้ทำให้รู้สึกว่าชีวิตคือความสวยงามและเต็มไปด้วยความหวังจริงๆ นั่นแหละ
ทั้งชีวิตไม่เคยคิดว่าจะชอบหนังจีน แต่เรื่องนี้อยากแนะนำนะ
เลือกโดย จิรัญญา ปรียาโชติ ตำแหน่ง Art Director
นี่เป็นคอนเสิร์ตที่เต็มไปด้วยพลังงานล้นๆ ของทั้งผู้ชมและศิลปิน เพราะนอกจากจะได้ฟัง 64 เพลงจาก 6 อัลบั้มภายใน 4 ชั่วโมงแล้ว องค์ประกอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแสงไฟ คู่สี การไล่ระดับของกราฟิกจากแต่ละโชว์ รวมถึงการใช้เทคนิคแสงเงาบนสกรีนที่ถูกคิดมาอย่างถี่ถ้วน ซึ่งการดีไซน์เวทีทั้งหมดนี้ช่วยเพิ่มความน่าสนใจ ความน่าประทับใจได้เป็นอย่างดีด้วย
เลือกโดย กรกนก สุเทศ ตำแหน่ง Graphic Designer
ทุกอย่างเริ่มต้นมาจากในวันหนึ่ง เรากำลังฟังเพลงบน Youtube แล้วได้มาเจอเพลง แค้น โดยบังเอิญ (เพลงประกอบการแสดง ฟ้าจรดทราย เดอะมิวสิคัล ขับร้องโดย หนูนา หนึ่งธิดา)
'แค้น!!! เมื่อรักของฉันได้ถูกแย่งไป
ความแค้นของฉันต้องได้สมใจ
คนทรยศต้องตาย มิเชล จำไว้…'
เนื้อเพลงค่อนข้างติดหู ขอสารภาพเลยว่าฟังบ่อยจนร้องตามได้เลย และเมื่อทราบภายหลังว่ามันคือเพลงจากละครเวทีฟ้าจรดทราย เราก็ไม่ลังเลที่จะซื้อตั๋วไปดู ถึงจะไม่รู้มาก่อนเลยว่าเนื้อเรื่องเกี่ยวกับอะไร
ฟ้าจรดทรายเป็นนิยายที่เล่าถึงความรักอันยิ่งใหญ่ของ 'ชาริฟ' ราชองครักษ์ของกษัตริย์แห่งฮิลฟารา และ 'มิเชลล์' หญิงกำพร้าที่มาเป็นครูโรงเรียนสตรี ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้น ณ ดินแดนทะเลทรายที่กำลังร้อนระอุไปด้วยสงครามชิงบัลลังก์ นิยายเรื่องนี้ได้ถูกนำมาสร้างเป็นละครเวทีถึง 2 ครั้ง (ครั้งแรกจัดแสดงเมื่อปี พ.ศ.2550 และ ครั้งที่ 2 จัดแสดงในปี พ.ศ.2567 ซึ่งเป็นรอบที่เรามีโอกาสได้ไปดู)
สิ่งที่ชอบตั้งแต่เริ่มเรื่องเลยก็คือ ฉากแสงสีเสียงที่ 'เล่นใหญ่' มีการผสมผสานฉากเข้ากับกราฟิกในจอหลังเวทีอีกด้วย จึงส่งเสริมให้แต่ละฉากดูมีมิติมากขึ้น และการทรานซิชัน (Transition) ไปสู่ฉากต่อไปก็ทำออกมาได้ไหลลื่น
อีกส่วนที่น่าสนใจคือฉากต่อสู้ เพราะในบางฉากได้นำเสนอออกมาให้อารมณ์เหมือนดูภาพยนตร์ (Cinematic) เช่น ฉากที่นักแสดงขยับตัวช้าตามกราฟิกบนเวทีเพื่อให้ดูเป็นฉากสโลว์โมชัน (Slow motion)
นอกจากเรื่องฉากแสงสีเสียงแล้ว การดำเนินเนื้อเรื่องค่อนข้างกระชับและเข้าใจง่าย บทกับการแสดงของทุกตัวละครมีมิติ ทำให้เราอินและเข้าใจในเหตุและผลของการกระทำตัวละครนั้นๆ ส่วนตัวชอบการแสดงของตัวร้ายในเรื่องเป็นพิเศษ ทั้งความแค้นในตัวแคชฟียา (รับบทโดยคุณหนูนา หนึ่งธิดา) แม้จะออกฉากน้อยแต่ก็ทำให้เวทีลุกเป็นไฟได้ หรือความกระหายบัลลังก์ของเจ้าชายโอมาน (รับบทโดยคุณเก่ง ธชย) ที่เป็นส่วนเสริมสำคัญให้เนื้อเรื่องมีสีสันมากขึ้น
อีกหนึ่งนักแสดงที่เราเซอไพรส์มากก็คือ คุณณเดชน์ คูกิมิยะ ที่สามารถถ่ายทอดความเป็นชารีฟออกมาได้ดีเกินคาด มีความเข้มแข็งและหนักแน่นสมกับเป็นราชองครักษ์ของกษัตริย์แห่งฮิลฟาราจริงๆ
องค์ประกอบทั้งหมดนี้จึงทำให้ละครเวทีฟ้าจรดทรายออกมากลมกล่อมครบรส ถือว่าเป็นงานที่เราชอบที่สุดของปี และเป็นเหตุผลที่เราหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเขียน
ละครเวทีเป็นศิลปะการแสดงสดที่มอบประสบการณ์การรับชมด้วยพลังและอารมณ์ความรู้สึกให้กับผู้ชมแบบใกล้ชิด เสน่ห์ของมันคือการสื่อสารระหว่างคนที่นั่งดูอยู่กับนักแสดงบนเวที
สุดท้ายนี้เราจึงอยากชวนให้ทุกคนได้ลองไปดูละครเวทีสักเรื่องหนึ่งในชีวิตเช่นกัน คุณอาจจะได้รับประสบการณ์ดีๆ ที่ไม่สามารถย้อนกลับมาดูซ้ำได้อีกแล้วเหมือนที่เราได้รับก็ได้
#ละครเวทีอยู่ได้เพราะมีคนดู
เลือกโดย พรรณพรต รัศมีวรทัศน์ ตำแหน่ง Accountant
เราเห็นงานของ Roger Mond ครั้งแรกในงาน Bangkok illustration Fair 2024 รู้สึกเห้ยยยยย! นี่มันตัวตนเราที่อยู่ข้างในเลยอ่ะ หลากหลายอารมณ์มากในแต่ละวัน ตอนแรกที่เริ่มทำงานบัญชีเพราะไม่ค่อยชอบพูดกับใคร ทำไปทำมาหลังๆ เริ่มพูดคนเดียว 5555
เลือกโดย พิมพ์ลภัส เสือชุมแสง ตำแหน่ง Home Team Staff
จากรายการ Podcast เล่าเรื่อง True Crime จากเคสจริงที่น่ากลัวกว่าฟิคชั่น รายการโปรด ที่คอยอยู่เป็นเพื่อนเราตอนทำงานมาเสมอ สู่เรื่องเล่ากึ่งละครเวที ที่เป็นมากกว่าการเล่าเรื่อง แต่เป็นโชว์ที่พาให้ผู้ชมสัมผัสกับเหตุการณ์ ให้รู้สึกเหมือนว่ากำลังอยู่ในเหตุการณ์จริง!
เป็นครั้งที่สองของเรา ที่ได้ชม Untitled Case in Theatre ละครเวที Podcast True Crime จาก Salmon Podcast ที่ดำเนินการโดยโฮสต์รายการอย่าง ยชญ์-บรรพพงศ์ และ ธัญวัฒน์-อิพภูดม
อย่างที่บอกไป แม้ว่านี่จะไม่ใช่การได้ดูโชว์จาก Untitled Case ครั้งแรกของเรา แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าโชว์รอบนี้มีเทคนิคใหม่ๆ ต่างจากโชว์ครั้งก่อนที่ทำให้เราเซอร์ไพรส์ได้อยู่ตลอด ครบทั้งภาพ แสง สี เสียง ภาพ รู้สึกวัตถุดิบทุกอย่างมันกลมกล่อมขึ้น เราชอบมากๆ ที่ทีมงานใส่ใจรายละเอียดแม้กระทั่งบทพูดที่เป็นภาษาต่างประเทศหรือภาษาท้องถิ่นที่แม้จะเป็นภาษาที่ผู้ชมหลายๆ คนรวมถึงเราอาจจะฟังไม่ออก แต่ทีมงานก็ยังคงเก็บรายละเอียดในส่วนนี้ได้ดี รวมถึงบทและวิธีการเล่าเรื่องด้วยความที่ธีมของเรื่องเล่าในครั้งนี้ เป็นธีม Myth-Believer คือการเล่าถึงคดีที่เกี่ยวความเชื่อของคนกลุ่มนึง ทำให้ผู้เล่าเองก็ต้องระมัดระวังในการถ่ายทอดออกมาเช่นกัน และในส่วนนี้โฮสต์ทั้งสองก็ทำได้ดีมากๆ รวมทั้งนักแสดงเองก็เต็มที่มากๆ ในทุกบทบาท (โดยเฉพาะซีนเปียกน้ำ) ทำให้ผู้ชมอย่างเรา รู้สึกเหมือนอยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ จริงๆ เรียกได้ว่าเป็นโชว์ที่ทำถึงสุดๆ
ที่ประทับใจอีกเรื่อง คือการแบ่งพาร์ทของโชว์ ตลอด 3 ชั่วโมงของการแสดง นอกจากการเล่าเรื่องจากคดี True Crime ยังมีการนำโชว์พิเศษ อย่าง Trace Talk , 15 Minutes Wasted มาคั่นระหว่างการเล่าคดีทั้ง 2 เรื่อง เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศจากความน่ากลัวของคดี ให้เราได้รู้สึกผ่อนคลาย ไปบ้าง และปิดท้ายด้วยช่วง Grey Area ที่มีแขกรับเชิญสุดพิเศษ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับโฮสต์ ตลอดจนการมีกิจกรรมให้ผู้ชมอย่างเราได้ Interective ไปด้วย
เลือกโดย ปิยนุช สันต์สัมพันธ์กุล ตำแหน่ง Editor of happening shop (BACC)
'เด็กชายกับนกกระสา' อนิเมชันที่พาเราดำดิ่งสู่การค้นหาความหมายของชีวิตผ่านสัญญะอันลึกซึ้งและหลากหลายการตีความ
สิ่งที่ชอบมากที่สุดและโดดเด่นที่สุดในเรื่องนี้คือ งานภาพและเสียง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของ Studio Ghibli ที่แสดงออกมาได้อย่างทรงพลัง ทุกฉากเต็มไปด้วยรายละเอียดที่สวยงามและการใช้โทนสีที่สะท้อนอารมณ์ งานภาพในเรื่องนี้ไม่เพียงแค่สวยงาม แต่ยังมีสัญญะในเรื่องที่แฝงด้วยประเด็นเชิงปรัชญาและความหมายที่ลึกซึ้ง
การปรากฏตัวของนกกระสาที่นำพาให้ 'มาฮิโตะ' ตัวเอกของเรื่องได้พบเจอกับเรื่องราวต่างๆ มากมาย หลังจากการสูญเสียแม่จากสงคราม การเล่าเรื่องที่ค่อยๆ พาเราเข้าไปในสถานที่ที่ดูเหมือนจริงและเหนือจริงผสมกัน
นอกจากภาพที่สวยงามแล้ว ดนตรีและเสียงประกอบยังช่วยเสริมบรรยากาศได้อย่างสมบูรณ์แบบ เช่น ความเงียบในช่วงต้นเรื่อง ที่ช่วยเน้นความรู้สึกเศร้า สับสน ของตัวละคร เสียงธรรมชาติและดนตรีในฉากสำคัญช่วยขับเน้นอารมณ์ของเรื่องได้อย่างดี ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครที่สะท้อนถึงความหมายของชีวิต การยอมรับผู้อื่น และความตาย ซึ่งเป็นแก่นหลักของเรื่อง เนื้อเรื่องมีการพูดถึงหัวข้อที่ใหญ่และซับซ้อน นำเสนอในรูปแบบที่เรียบง่าย แต่ลึกซึ้ง ท้าทายให้ผู้ชมคิดตาม เปิดโอกาสให้ตีความในหลายมิติ เป็นสิ่งที่ทำให้เรื่องนี้มีเสน่ห์ เพราะผู้ชมแต่ละคนอาจมองเห็นความหมายที่ต่างกันตามประสบการณ์และมุมมองของตนเอง
โดยรวมแล้ว 'เด็กชายกับนกกระสา' เป็นแอนิเมชันที่งดงามทั้งในแง่ของภาพ เสียง และเนื้อหา การแฝงสัญญะที่ลึกซึ้ง รวมถึงเปิดให้ตีความได้หลากหลาย ทำให้เรื่องนี้เป็นผลงานที่ไม่เพียงแค่ดูสนุก แต่ยังทำให้เราได้ไตร่ตรองถึงประเด็นสำคัญของชีวิตอีกด้วย
เลือกโดย ชูกัญทา อุดกัน ตำแหน่ง Staff of happening shop (BACC)
โดยส่วนตัวเป็นแฟนคลับบ้าน Gluta story อยู่แล้ว พอมีหนังสือภาพวาดเรื่องราวสมาชิกในบ้านออกมาจึงทำให้มีความน่าสนใจมากขึ้น
ภายในหนังสือ Gluta story the comic จะเล่าถึงโมเมนต์ความสุขและความอบอุ่น ของคุณยอร์ช สรศาสตร์ วิเศษศิลป์ และสมาชิกหมาแมวในบ้าน Gluta story ที่เกิดจากมุมมองของคุณยอร์ช และวาดโดย คุณเจดีย์ เจลดา ภูพนานุสรณ์ ที่ทำให้คนอ่านได้เห็นความน่ารัก นิสัย และคาแรกแตอร์ ของทุกตัวในบ้านได้อย่างชัดเจนมากขึ้น หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะสำหรับคนที่รักสัตว์ ช่วยเติมแรงบันดาลใจและทำให้เข้าใจมุมมองที่ลึกซึ้งระหว่างคนและสัตว์เลี้ยง
เลือกโดย มาลินี จันทร์เลิศฟ้า Editor of happening shop (Dadfa Lasalle)
เดือนสิงหาคมปีนี้ได้มีโอกาสไปดู Hello Kitty 50th-Anniversary Special Exhibition - A Journey with Sanrio Characters ที่โซล
เหมือนได้พาวัยเด็กของตัวเองไปชาร์จพลังและได้รู้จักคิตตี้และคาแรกเตอร์อื่นๆของซานริโอ้มากขึ้นมากๆ นิทรรศการจะพาเราเดินผ่านไทม์ไลน์ของคิตตี้ ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ได้เห็นภาพจำของคิตตี้ในแต่ละยุคว่ามีอะไรบ้าง ลายเส้นคิตตี้เปลี่ยนไปยังไงบ้างในแต่ละช่วง ได้เห็นเครื่องใช้ไฟฟ้าคิตตี้ แล้วในนิทรรศการก็จะมีป้าย profile ของตัวละครซาริโอ้ทุกตัวเลย สนุกตรงที่ได้รู้หลายๆเรื่องที่เราไม่เคยรู้มาก่อนเลย เช่น ปอมปอมปุริน เป็นหมาโกลเด้น, คิตตี้สูงเท่าแอปเปิ้ล 5 ลูกวางเรียงกัน, คิตตี้มีฝาแฝดชื่อ มิมมี่ สังเกตได้จากโบว์ที่จะติดคนละด้านและเป็นโบว์สีเหลือง, คิตตี้ไม่ใช่คาแรกเตอร์แรกของ ซานริโอ้, มายเมโลดี้เป็นคาแรกเตอร์ที่สร้างมาจากคอนเซ็ปหนูน้อยหมวกแดง
เลือกโดย สิริการย์ ศิริโชคภัทรวงศ์ ตำแหน่ง Staff of happening shop (Dadfa Lasalle)
นี่เป็นหนึ่งในภาพยนต์ไทยที่เราดูเพียงหนึ่งครั้งแต่กลับจดจำมันได้ดีราวกับว่าเรื่องราวบนวิมานแห่งนี้ยังไม่สิ้นสุด ด้วยมวลบรรยากาศภายในเรื่อง กลิ่นอายแม่ฮ่องสอน บ้านไม้สองชั้นที่ถูกปลูกขึ้นมาท่ามกลางสวนทุเรียนเรียงรายสวยงาม ทุกตัวละครที่ทำให้เราเชื่อว่าเขามีตัวตนอยู่จริง
สารภาพได้เลยว่าหลังจากดูจบ เราเปิดเพลงประกอบหนังเรื่องนี้ซ้ำไปมาอยู่หลายครั้ง (เพลง 'เหมือนวิวาห์') พอได้รู้ว่าเบื้องหลังของเพลงนี้ถูกหยิบยกมาจากบันทึกถึงทองคำที่คุณเจฟเขียนเอาไว้ตอนกำลังถ่ายทำ ยิ่งทวีคูณความรู้สึกหลังดูหนังจบมากขึ้นไปอีกหลายเท่า
ขณะที่เปิดเพลงนี้และใส่หูฟัง เหมือนเราถูกดึงเข้าไปอยู่ในหนังเรื่องนี้ ได้รู้จักกับตัวละครที่ชื่อ 'ทองคำ' (แสดงโดย เจฟ ซาเตอร์) ได้ฟังเขาเล่าเรื่องราวชีวิตของเขา ที่เริ่มต้นด้วยความสุขแต่กลับแสนทรมานและเจ็บปวดดั่งฝนที่โหมกระหน่ำ เขาพบความจริงที่ตอกย้ำว่าเขานั้นเป็นเพียงผู้รักเพศเดียวกันที่โดนช่องโหว่ทางกฎหมายทิ่มแทง จมอยู่ในจุดที่เสียทั้งคนรักและเสียสิ่งที่ทุ่มเทสร้างมาเองกับมือไปในพริบตา ทำได้แค่ภาวนาให้ท้องฟ้าที่รู้ความจริงนั้นอยู่ข้างเขา อวยพรให้กับความรักอันบริสุทธิ์ของเขา ถึงแม้จะไม่มีใครอยากอวยพรให้ก็ตาม
นอกจากเรื่องราวของทองคำแล้ว เราอยากฝากประเด็นในอีกมุมหนึ่งของ 'โหม๋' (แสดงโดย อิงฟ้า วราหะ) หญิงสาวชาวชายขอบที่ถ่ายทอดถึงความไม่เท่าเทียมทั้งเพศสภาพ ชนชาติ ความยากจน ในอีกด้านออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบไม่แพ้กัน การแสดงของอิงฟ้าทำให้เราเชื่อจริงๆว่านี่แหละคือชีวิตของโหม๋
เลือกโดย มัลลิกา คูหาทอง ตำแหน่ง Staff of happening shop (Museum Pier)
เธอเท่านั้น (Alternative Version) โดย Barbies เปรียบเสมือนจดหมายรักที่ส่งข้ามกาลเวลา จากปี 2550 สู่ปี 2567 ซึ่งไม่เพียงแค่พาเราย้อนกลับไปสู่ความทรงจำเก่าๆ แต่ยังเติมเต็มความหมายใหม่ๆให้กับความรักในปัจจุบันผ่านเมโลดี้ได้อีกด้วย
การเรียบเรียงดนตรีในเวอร์ชันใหม่นี้ ถ่ายทอดเสน่ห์ของแนว Alternative ดนตรีที่มีจังหวะลอยๆ แฝงความอบอุ่นนี้ เหมือนกำลังเล่าเรื่องราวของหัวใจที่เดินทางผ่านวันเวลา เมโลดี้ยังคงมีเสน่ห์แบบต้นฉบับ แต่ถูกปรับแต่งให้เข้ากับบรรยากาศของปี 2567 เนื้อเพลงที่โรแมนติกเหมือนเดิมชวนให้มองเห็นมิติใหม่ของความรักที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ทำให้เพลงนี้กลายเป็นทั้งของขวัญสำหรับคนรุ่นเก่าที่คุ้นเคยกับเพลงนี้ และโอกาสใหม่สำหรับคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งได้สัมผัส
นอกจากนี้ การที่วง Barbies กลับมานำเสนอเพลงนี้ในเวอร์ชันใหม่ยังแสดงให้เห็นถึงพลังของการเชื่อมต่อระหว่างดนตรีกับ 'ความทรงจำ' เพลงนี้ไม่ได้แค่พาเราย้อนกลับไปสู่ความรู้สึกในวันวานเท่านั้น แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจให้มองหาความงดงามในความรักปัจจุบันได้อย่างลึกซึ้ง
ในปี 2567 เธอเท่านั้น (Alternative Version) ไม่ได้เป็นเพียงเพลงรัก แต่กลายเป็นงานศิลปะที่เชื่อมอดีตและปัจจุบันเข้าด้วยกัน เป็นผลงานที่เปรียบเหมือนสะพานที่พาเรากลับไปสู่ความทรงจำ แต่ก็ไม่ลืมที่จะพาเราเดินไปข้างหน้าอย่างงดงาม
554 VIEWS |