เบื้องหลังมหัศจรรย์ของหนังสือ
'บาร์บีกอนกับภารกิจตามหาไฟศักดิ์สิทธิ์'

    นี่คือเรื่องราวของหนังสือเล่มหนึ่ง ที่มีที่มาที่ไปไม่ธรรมดา เป็นหนังสือเล่มสวยที่เป็น Business Fable หรือเรื่องแต่งด้านธุรกิจเล่มแรกของเมืองไทย และยังเป็นหนังสือที่ตั้งเป้าหมายผู้อ่านไว้กว้างขวาง คือมีรูปเล่มและภาพประกอบที่สวยงามแบบที่เด็กๆ หรือวัยรุ่นน่าจะชื่นชอบ มีเนื้อเรื่องที่คล้ายเป็นนิทานอ่านง่าย แต่หากใครต้องการเนื้อหาสาระเชิงธุรกิจ หรือแง่คิดเกี่ยวกับการทำงานและชีวิต ก็จะได้รับอย่างเต็มอิ่มไปด้วย

    ฟังดูแล้วจำกัดความหนังสือเล่มนี้ยากอยู่สักหน่อย แต่ถ้าให้อธิบายง่ายที่สุด นี่คือหนังสือเล่มแรกของ 'บาร์บีกอน' แคแรกเตอร์มังกรสีเขียวประจำร้าน Bar B Q Plaza ที่คนไทยคุ้นเคยนั่นเอง

    หนังสือเล่มนี้ชื่อว่า 'บาร์บีกอนกับภารกิจตามหาไฟศักดิ์สิทธิ์' มีที่มาที่ไปไม่ธรรมดา จนทีมแฮพฯ ต้องเก็บเอามาเล่าให้ฟังในบทความชิ้นนี้

เสียงกระซิบจากการสวดมนต์

    ย้อนความก่อน เรื่องราวของหนังสือเล่มนี้ก็ต้องเริ่มจากการที่มี บาร์บีกอน กำเนิดขึ้นมาเป็นมาสคอตประจำร้าน Bar B Q Plaza ของ ชูพงศ์ และ นิภานันท์ ชูพจน์เจริญ เมื่อปี พ.ศ. 2539 (หลังจากที่เปิดร้านมาแล้วหลายปี) ตอนนั้นคนไทยก็ได้รู้จักกับเจ้ามังกรเขียวที่มีชื่อมาจาก Bar B Q Plaza บวกกับคำว่า Dragon ตัวนี้ ที่ยืนประจำอยู่หน้าร้านทุกสาขา จนผ่านมาอีกหลายปี ถึงปี พ.ศ. 2554 ก็มีหญิงสาวชื่อ บี๋-ปรารถนา จริยวิลาศกุล ที่ทำงานด้านโฆษณาและแบรนดิ้ง เข้าไปหาทีม บาร์บีคิวพลาซ่า แล้วเสนอไอเดียบางอย่าง

    "ตอนนั้นบี๋อยู่บริษัทที่ชื่อว่า nudeJEH (ปัจจุบันคือ GreynJ United) ซึ่งเรามีพาร์ทเนอร์คือ Dentsu ซึ่งออฟฟิศที่ญี่ปุ่นของเขามีศาสตร์การทำมาสคอตแบบญี่ปุ่น และแน่นอนว่าออกแบบมาสคอตได้ดีมากๆ เราก็ถามตัวเองว่า ถ้าเราอยากจะปรับปรุงโฉมมาสคอตสักตัวหนึ่งของไทยแท้ๆ เราอยากทำตัวไหนที่สุด คำตอบคือเราอยากทำบาร์บีกอน เราก็ติดต่อ บาร์บีคิวพลาซ่า ขอโอกาสเลย ทาง บาร์บีคิวพลาซ่า ก็ตกลงทันที แล้วก็เกิดการพาทางญี่ปุ่นมา ซึ่งทีมงานไทยและญี่ปุ่นก็ทำงานร่วมกันแบบอินมากๆ พาไปทาน พาไปดูชีวิตก้อนจริงๆ แต่ทีนี้พอออกแบบเสร็จ จุดที่บีบหัวใจที่สุดก็คือว่า แล้วโฉมเก่าล่ะ จะทำยังไง ก็เลยมีแคมเปญ 'เสี่ยเส็ง' ขึ้นมาว่า เราต้องทำให้ว่าจริงๆ แล้วบาร์บีกอนไม่ได้มีตัวเก่าตัวใหม่ บาร์บีกอนเป็นคนเดิมแค่โฉมใหม่ แต่ทีนี้จะโฉมใหม่ก็ต้องมีเรื่องราวนิดนึง คือตอนนั้นทุกคนก็เห็นบาร์บีกอนอยู่หน้าร้านอยู่ธรรมดา ถ่ายรูปหรือไม่ก็ไม่ถ่าย เดินผ่านบาร์บีกอนก็เหงา ก็เลยทำให้มีเรื่องราวเกิดขึ้นเพื่อเรียกความรักจากทุกคน ก็เกิดแคมเปญที่ว่า คุณจะไม่รู้ว่าคุณรักมันจนกว่าคุณจะสูญเสียมัน ก็คือมีเสี่ยเส็งลักพาตัวบาร์บีกอนไป พามาทรมาน จนกระทั่งเหลือตัวสุดท้ายแล้วเขาโดนทรมาน จนเขาใส่เฝือก พอออกจากเฝือกมาก็เป็นโฉมใหม่ จะเป็นอารมณ์นั้น ก็คือพูดง่ายๆ ว่าตัวเดิมนั่นแหละ แต่บาร์บีกอนได้รับความรักจากทุกคน เขาก็เลยฟื้นขึ้นมา แล้วเขาพอฟื้นขึ้นมาก็เลยได้เป็นโฉมใหม่" ปรารถนาเล่าย้อนความผูกพันของเธอกับครอบครัวบาร์บีคิวพลาซ่า "

    "แต่สิ่งที่เรานับถือครอบครัวนี้มาก ก็คือเขาก็รักของเขาไง แล้วแคมเปญนี้ต้องทำลาย เอาทุกตัวมาทำลาย เอาทุกตัวมาทำลายเสร็จปุ้ปไม่พอ ต้องทิ้ง พูดง่ายๆ ทำลายในที่นี้คือโยนลงมาจากตึกนะ แตกละเอียดนะ หรือไม่ก็เอาไปทำสารพัด เอาไปถมที่ ถมน้ำ ห้อยตึก จุดไฟเผา มันต้องทำลาย เพราะในสตอรี่คือเสี่ยเส็งมันเป็นคนบ้า มันชอบบ้าๆ บอๆ ตอนนั้นคนอื่นๆ ก็จะฮาไง แต่เรารู้สึกว่าครอบครัวเขาผูกพันกับก้อนมากเลยนะ แล้วพอแบบใหม่ของบาร์บีกอนออกมา ในครอบครัวไม่มีใครพูดเลยว่า 'ไม่น่ารัก' ไม่มีใครพูดเลยว่า 'เปลี่ยนใหม่ไม่เห็นดีเลย' สำหรับคนทำงานครีเอทีฟอย่างเราคือมันเป็นการตัดสินใจของครอบครัวที่ทั้งกล้า ทั้งเชื่อมั่นมากๆ ก็เลยเป็นความประทับใจของเรากับครอบครัวนี้"

    บาร์บีคิวพลาซ่า และ บาร์บีกอน เติบโตตามเส้นทางของตัวเองต่อไป มีแคมเปญสนุกๆ มากมายมาให้ลูกค้าได้ร่วมสนุกด้วย และหลายๆ ครั้ง บาร์บีคิวพลาซ่า ก็สื่อสารเรื่องต่างๆ ผ่าน บาร์บีกอน ได้อย่างเป็นมิตร จนถือเป็นคาแรกเตอร์ที่คนไทยคุ้นเคยและผูกพัน (ก่อนที่หนังสือเล่มนี้จะเปิดตัว บาร์บีคิวพลาซ่า ก็เพิ่งออกแคมเปญกล่องสุ่มอาร์ตทอย GON Figure ที่ได้รับการตอบรับอย่างดีมากๆ ไปหมาดๆ) ในขณะที่ปรารถนาเองเติบโตกลายมาเป็นที่ปรึกษาอิสระด้านการทำแบรนด์ และถ้าใครเป็นเพื่อนของเธอก็จะรู้จักว่าปรารถนายังเป็น 'แฟนตัวยง' ของบาร์บีกอนตลอดมาอีกด้วย

    ผ่านไป 12 ปี วันหนึ่งก็มีเหตุการณ์มหัศจรรย์เล็กๆ เกิดขึ้น

    "วันหนึ่งบี๋สวดมนต์อยู่ แล้วก็ได้ยินว่า 'บอกคุณเป้นะ ทำหนังสือบาร์บีกอน' ขึ้นมา เราก็มาคิดได้ว่า จริงๆ แล้วบาร์บีคิวพลาซ่า และ บาร์บีกอนเติบโตขึ้นมากเลยเนอะ มันน่าจะมีบันทึกที่พูดถึงการเดินทางของเขา เพราะว่าเขาไม่ได้เติบโตมาแบบสวยหรูนะ มันมีวิกฤตตลอดเวลา เราจะได้เห็นบนหน้าโซเชียลมีเดียว่า บางทีก้อนก็ต้องออกมาขอโทษ บางทีก็จัดแคมเปญแล้วมันวืด หมูไม่พออะไรอย่างนี้ ก็ต้องออกมาขอโทษ เรารู้สึกว่าแบบเขาหัวใจเด็ด เป็นหัวใจผู้ประกอบการ ที่พาองค์กร พาแบรนด์ พาทุกคน ผ่านจะแทบทุกวิกฤติที่คนไทยเจอมาได้"​ เธอหัวเราะ "มันน่าจะมีบันทึกที่บอกเล่าวิธีการทำงานหรือวิธีคิดของเขาเอาไว้นะ"

    ปรารถนาทักไปหา เป้-ชาตยา สุพรรณพงศ์ ลูกสาวคนโตของครอบครัว ชูพจน์เจริญ ที่ปัจจุบันเป็น CEO ของ Food Passion เจ้าของแบรนด์ บาร์บีคิวพลาซ่า เมื่อชาตยาโทรกลับ เธอก็เล่าไอเดียเรื่องการทำหนังสือให้ฟังคร่าวๆ

    "ตอนที่บี๋โทรมา แล้วเขาบอกว่าคุณเป้อย่าตกใจนะ" ชาตยาเล่าในมุมของเธอบ้าง "เมื่อคืนนี้พี่บี๋มีนิมิตว่าอยากชวนคุณเป้มาทำหนังสือบาร์บีกอน พี่ได้ติดตามคอยดูพัฒนาการของบาร์บีกอนมาตลอด ได้เห็นตัวตนของบาร์บีกอนอย่างสม่ำเสมอ ก็คิดว่าตอนนี้ถึงเวลาที่เขาจะสามารถแบ่งปันเรื่องราวได้ ซึ่งมันตรงกับใจเป้ ที่เป้กับครอบครัว กับพี่ๆ น้องๆ คุยกันมาตลอดว่าเราอยากจะให้บาร์บีกอนเขาได้แบ่งปันเรื่องราวดีๆ ของเขาให้กับแฟนๆ ของเขา ให้กับเพื่อนๆของเขา หรือคนนอกคนอื่น แต่เราไม่รู้ว่าเราจะเล่าเรื่องเขาผ่านสื่อหรือรูปแบบอะไร ซึ่งรูปแบบก็คือหนังสือที่เป้คิดอยู่ในใจแล้วเพราะว่าเป้เป็นคนชอบหนังสือ แล้วพอพี่บี๋โทรมาแล้วบอกว่ามีนิมิต...ซึ่งพี่บี๋คนเดียวกันนี้เองเป็นคนที่โทรมาหาเป้เมื่อ 13 ปีก่อนที่ชวนเราให้ปรับโฉมของบาร์บีกอน ก็เลยเป็นอะไรที่รู้สึกว่ามันคือ destiny มากๆ เป้ก็ขอบคุณพี่บี๋มากๆ เลย แล้วก็บอกว่าอยากทำมากๆ คือเรามีความอยากทำอยู่แล้ว แต่ว่าก็ไม่รู้ว่าจะทำมันออกมายังไง แต่พอพี่บี๋เข้ามาชวนทำ แล้วเป้ก็รู้ว่าเดี๋ยวพี่บี๋ก็จะพาเราไปหาคนเก่งๆ และมีความสามารถที่จะทำสิ่งนี้ได้แน่ๆ ก็เหมือนมีพระเจ้าส่งคนแบบพี่บี๋มาช่วยให้สิ่งที่มันอยู่ในใจพวกเรามันได้เกิดขึ้นค่ะ"

    "วันนั้นคุณเป้บอกว่า 'เอาเลยค่ะ' ไม่มีติดหรือขัดตรงไหนเลย" ปรารถนาเล่าแล้วยิ้มกว้าง "คือเขารู้สึกเหมือนวันที่เราไปชวนทำบาร์บีกอนเลย ...นี่คือจุดเริ่มต้นของหนังสือเล่มนี้ค่ะ"

งานที่ทำด้วยใจ

    เรื่องแรกที่ปรารถนาแจ้งกับผู้บริหารของบาร์บีคิวพลาซ่า ในการทำหนังสือเล่มนี้คือ เธอขอเอา วิภว์ บูรพาเดชะ บรรณาธิการของ happening ซึ่งเป็นเพื่อนของเธอมาช่วยทำหนังสือเล่มนี้ด้วย

    ปรารถนา กับ วิภว์ รู้จักกันมาเกิน 10 ปีแล้ว โดยเพื่อนคนหนึ่งแนะนำให้รู้จักกันเพราะคิดว่าน่าจะทำงานด้วยกันได้ และงานที่ทั้งคู่ทำด้วยกันโปรเจกต์แรกก็คือคอนเสิร์ต Love Is Hear คอนเสิร์ตการกุศลเพื่อคนหูหนวก ในปี พ.ศ. 2553 ที่รวมทั้งศิลปิน นักออกแบบ และคนทำงานสร้างสรรค์หลายรูปแบบมาทำคอนเสิร์ตใหญ่ที่โรงภาพยนตร์สกาล่าด้วยกัน หลังจากนั้นปรารถนากับวิภว์ (และ happening) ก็ได้ร่วมงานกันอีกหลายครั้ง และเกือบทั้งหมดเป็นงานการกุศล!

    เมื่อเป็นงานทำหนังสือ ชื่อของวิภว์และทีม happening จึงเป็นชื่อแรกที่ปรารถนานึกถึง

    "ตอนฟังจากคุณบี๋ครั้งแรกรู้สึกว่าเป็นโปรเจกต์ที่ท้าทายมาก และพอไปคุยกับคุณเป้ จนได้ข้อสรุปว่าเราจะทำ Business Fable ยิ่งรู้สึกว่าท้าทายขึ้นไปอีกครับ เพราะบาร์บีกอนเป็นคาแรกเตอร์ที่คนรู้จักและพอจะมีเรื่องราวที่คนจำได้อยู่แล้ว ในขณะที่เรื่องราวของ บาร์บีคิวพลาซ่า เองก็สนุกและมีประสบการณ์ที่น่าเอามาเล่าเยอะมากๆ ความเป็นไปได้ของกลุ่มผู้อ่านมันเลยกว้างมาก แล้วถ้าจะให้ดีคือเราควรทำให้อ่านได้ทั้งกลุ่มครอบครัว ไปจนถึงกลุ่มที่สนใจเรื่องธุรกิจจริงๆ ให้ได้ด้วย" วิภว์เล่าถึงการตั้งหลักกันในช่วงแรก

    ในช่วงนั้นเองวิภว์ก็ถือโอกาสชวน บาร์บีคิวพลาซ่า มาร่วมงาน Bangkok Illustration Fair 2023 โดยการเป็น Reviewer ที่เลือกศิลปินไปทำงานด้วย เมื่อทางทีม บาร์บีคิวพลาซ่า ไปชมงาน BKKIF ในปีนั้นก็เลือกมอบรีวอร์ดให้กับ Khemtit หรือ เข็มทิศ วิจิตรวิชิตกุล เพราะชื่นชอบในลายเส้นและอารมณ์ของภาพสุดละมุนของศิลปินหนุ่มคนนี้ โดยที่ยังไม่ได้มีในใจแน่ชัดว่าจะให้ทำโปรเจกต์อะไร

    "พอดีว่าผมเคยร่วมงานกับเข็มทิศหลายครั้งแล้ว ส่วนตัวผมยังเคยทำ Zine ร่วมกับเขาชื่อเล่มว่า 'ฤดูร้อนตอนต่อไป' ด้วยซ้ำ เข็มทิศเป็นนักวาดที่มีสไตล์ชัดเจน เขาจับโมเมนต์ที่ดีๆ ได้แม่นยำมากๆ เป็นภาพแบบที่ดูแล้วอบอุ่นใจ เหมาะกับแก่นของความเป็นบาร์บีคิวพลาซ่า ที่พูดเรื่องโมเมนต์ดีๆ เหมือนกัน แม้ว่าเราจะยังไม่เคยเห็นเขาวาดแนวคาแรกเตอร์ดีไซน์ หรือแนวที่เป็นแบรนดิ้งจัดๆ แต่เพราะว่าทีมบาร์บีคิว พลาซ่า เองก็ชอบงานของเข็มทิศอยู่แล้ว เลยลองเสนอว่า ถ้าให้เข็มทิศนี่แหละเป็นคนวาดภาพในหนังสือเล่มนี้น่าจะดี"

    เข็มทิศจึงได้รับมอบหมายให้ทำงานภาพของหนังสือเล่มนี้ เป็นงานที่เจ้าตัวบอกว่าท้าทายมากเช่นกัน

    "ส่วนตัวผมเป็นคนที่ชอบวาดภาพเล่าเรื่องให้มันจบในภาพเดียวครับ" เข็มทิศเล่าถึงโปรเจกต์นี้ในช่วงแรกๆ "คืองานนี้เป็นโปรเจกต์ที่น่าสนใจมาก แต่ว่ามันก็มีเรื่องที่น่ากังวลอยู่ อย่างส่วนตัวผมไม่เคยทำอะไรที่มันป็นภาพเล่าเรื่องยาวๆ แบบนี้ และการวาดคาแรกเตอร์ที่คนไทยเขารู้จักกันอยู่แล้ว ซึ่งเราจะต้องตีความออกมายังไงให้แสดงความรู้สึกได้ หรือน้องก้อนก็จะต้องหน้าตาดูเข้ากับคนอื่นๆ ที่เป็นสไตล์ของเราในเนื้อเรื่องด้วย ก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายและก็ไม่เคยทำ และก็รู้สึกว่าเป็นงานส่วนที่มีความสำคัญ คือการเขียนหนังสือก็จะเล่าเรื่องได้อยู่แล้ว แต่ว่างานภาพมันก็สามารถไปกำหนดให้เกิดภาพในหัวของคนอ่านได้ชัดเจนมากขึ้น ก็เลยรู้สึกว่ามีความสำคัญมากเหมือนกัน" ศิลปินหนุ่มเล่าถึงความหนักใจในช่วงแรก

    แต่หลังจากที่ให้เข็มทิศลองวาดบาร์บีกอนในแบบของเขาให้ดู ทุกคนดูแล้วหัวใจพองโต แล้วทีมงานทุกคนก็มั่นใจกว่าภาพในเล่มนี้มาถูกทางแล้ว!

นักเขียนที่กำลังเรียนต่อ

    ตัวละครสำคัญที่สุดอีกคนของงานนี้ก็คือ นักเขียน

    "จากโจทย์ที่จะต้องเป็นหนังสือที่เล่าเรื่องเชิงการตลาด ธุรกิจ แต่เล่าผ่านสายตาของบาร์บีกอน และต้องแต่งให้อ่านสนุก มีความเป็นนิทานได้ยิ่งดี ...โจทย์นี้คือหานักเขียนได้ยากมากเลยครับ เพราะมันไม่เคยมีหนังสือเล่มไหนในบ้านเราที่เป็นแบบนี้มาก่อนเลย" วิภว์เล่าพลางหัวเราะ "การมองหานักเขียนจึงไม่ใช่มองว่าใครเขียนได้ เพราะมันยังไม่มี แต่เป็นการมองหาว่า มันยังไม่มีคนทำแหละ แค่ใครมีแนวโน้มที่จะเขียนหนังสือเล่มนี้ได้นะ"

    ชื่อแรกและชื่อเดียวที่วิภว์นึกถึงคือ ตุ๊ก-วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม

    นักอ่านและคนในแวดวงหนังสือจะจดจำชื่อ วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม ได้จากบทบบาทบรรณาธิการ a day bulletin และการเป็นผู้แต่งหนังสือแนวความเรียงหลายเล่ม แปลหนังสือหลายเล่ม รวมทั้งการเป็นนักจัดรายการวิทยุ ที่สำคัญคือเธอยังเป็นนักสัมภาษณ์ฝีมือเยี่ยมที่เคยสัมภาษณ์ผู้คนมาแล้วเป็นจำนวนมาก ทั้งนักธุรกิจ นักคิด ศิลปิน นักการเมือง ฯลฯ แต่สำหรับวิภว์แล้ว เขายังพอรู้ว่าวิไลรัตน์เริ่มจะสนใจการเขียนเรื่องแต่งอีกด้วย เพราะเพิ่งจะชวนให้เธอลองเขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกในชีวิตมาลงรวมหนังสือรวมเรื่องสั้น a cup of story 02 ที่เป็นเรื่องสั้นเกี่ยวกับกาแฟมาหมาดๆ

    ในจังหวะชีวิตช่วงนี้ของวิไลรัตน์เป็นช่วงที่เธอกำลังเรียนต่อปริญญาโทด้านมาร์เก็ตติ้งพอดี และพอมีเวลาว่างมารับงานเขียนหนังสือสักเล่มได้

    "โดยนิสัยเราชอบทำโปรเจกต์ที่เราไม่เคยทำมาก่อน แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของการทำได้ด้วยนะ พอพี่วิภว์ชวนก็รู้สึกว่า น่าลองว่ะ คือพวก Business Fable ที่เป็นภาษาอังกฤษเราก็เคยอ่านหลายเล่มนะ ที่มันเป็นเรื่องบทเรียนทางธุรกิจมาบวกกับจินตนาการ เรื่องเล่า ซึ่งก็คุยกันว่า เราจะทำเรื่องบาร์บีกอน ซึ่งดันเป็นแบรนด์ที่เราเอ็นดู เป็นแบรนด์ที่เราชอบ แล้วก็น่าสนใจ เพราะว่าเรารู้สึกสนุก เราเป็นคนชอบเล่าเรื่อง สนุกกับการเล่าเรื่องของตัวเอง จำได้ว่าเรายังเคยคุยกับเพื่อนว่า 'เฮ้ยเนี่ย เราไปกินก้อนกัน กลัวก้อนตกงาน' คือรู้สึกว่าเราก็ผูกพันกับแบรนด์นี้มาเยอะเหมือนกันเนอะ ทีนี้ก็เป็นโอกาสที่เราจะเล่าเรื่องแบรนด์ในวิธีเล่าใหม่ๆ แต่รู้เลยว่ามันจะต้องยาก มันต้องมีความซับซ้อนนะ" เธอหัวเราะเบาๆ

    เมื่อวิไลรัตน์ได้คุยกับปรารถนาครั้งแรก เธอพบว่าโปรเจกต์นี้ยิ่งน่าสนใจขึ้นไปอีก

    พบว่าพี่บี๋เป็นคนคิดอะไรคล้ายๆ เรา มีความเชื่ออะไรบางอย่างคล้ายกัน หรือแม้แต่การอธิบายโครงสร้างงาน มันก็จะมีบางคำพูดที่เราเชื่อ มีคำพูดทางปรัชญาที่เราสนใจ เราไม่ค่อยมีใครเห็นว่ามีใครเอามาเบลนด์กับเรื่องแบรนดิ้งได้ขนาดนี้ ก็เลยรู้สึกว่า เอ๊ะ เราน่าจะทำได้นะ" นักเขียนเล่าแล้วยิ้มกว้าง

    โจทย์ที่ปรารถนาตั้งไว้ตอนแรกมีแค่อยากให้เล่าเรื่องเป็น 4 บท ตามประเด็นที่แบรนด์อยากสื่อสาร คือ Passion, Potaintial, Purpose และ Pride แต่ไม่ได้มีเนื้อเรื่องอะไรมาให้

    ในแผนงานตอนแรก ทีมกำหนดไว้ว่าให้นักเขียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์ยาวๆ กับผู้บริหารของ บาร์บีคิว พลาซ่า อยู่ราว 3 ครั้งในเวลาราว 2 เดือน ซึ่งหลังการสัมภาษณ์ครั้งแรกที่เป็นการพูดคุยที่ยาวที่สุด วิไลรัตน์จะต้องกลับไปคิดโครงเรื่องคร่าวๆ มานำเสนอก่อน

    "ทีมงานให้อิสระในการทำงานมาก คือไม่ยุ่งเลย ทิ้งไปเลยเป็นเดือนๆ ไม่เคยถามหรือตามอะไรเลย ทุกคนก็เงียบไปเลย" นักเขียนหัวเราะขำ "แต่ในช่วงที่ได้สัมภาษณ์กับคุณเป้ไปๆ มาๆ 2-3 รอบ ก็รู้สึกว่าทุกคนช่วยเรานะ มีเซนส์ซัปพอร์ตในการช่วย คือไม่ต้องพูดเยอะ ติดอะไรก็ถาม หรือการที่ไม่เข้ามายุ่งอะไรมาก ปล่อยให้เราใช้จินตนาการเต็มที่ ก็เลยรู้สึกว่าการที่ทำเสร็จได้เนี่ย หนึ่งคือพื้นฐานคืออยากทำ อยากเล่าอยู่แล้ว เพราะว่ามันเป็นแบรนด์ที่เราผูกพัน ตัวละครมันชัดเจน สองคือทีมที่ซัปพอร์ต แล้วก็ให้อิสระในการทำเต็มที่ ก็เลยรู้สึกว่าอันนี้มันน่าลอง น่าทำ เราจะพูดกับเพื่อนเสมอว่า 'ไม่เคยทำไม่ได้แปลว่าทำไม่ได้' แต่ว่ามันก็จะมีความเสี่ยงอยู่ว่า ถ้าทำไม่ได้จริงๆ จะทำยังไง แต่ในตอนที่เราทำอยู่ เราต้องไม่คิดเลยว่ามันทำไม่ได้"

    เมื่อลองไปวางโครงเรื่อง วิไลรัตน์ก็พบความอัศจรรย์เล็กๆ ของการคิดเรื่องที่เหมือนมีอะไรมาดลใจ

    "ตอนที่สัมภาษณ์คุณเป้ครั้งแรก อยู่ๆ ไอเดียของเรื่องมันมาเลย การที่รู้สึกว่าอะไรจะมาเป็นตัวแทนขององค์กรนี้หรือครอบครัวนี้ ธุรกิจครอบครัวมันยากนะ แล้วเพราะเราต้องพูดถึงเรื่องปิ้งย่างเรื่องนู้นเรื่องนี้ เราชอบเรื่องเล่าที่มีสัญลักษณ์ แล้วอยู่ๆ มันก็ปี๊งขึ้นมาตอนที่กำลังคุย ว่าหรือมันจะคือ 'ไฟ' นะ หรือว่าไฟมันจะอยู่แกนกลางของเรื่องได้ หลังสัมภาษณ์ครั้งแรก กลับมาเราก็คุยกันว่า เป็นยังไงกับการสัมภาษณ์ได้ไอเดียอะไร เราก็เสนอไอเดียนี้ไปเลย เพราะเรารู้สึกว่าไฟมันน่าจะเป็นตัวแทนของทั้งแพสชั่น พลัง แล้วมันก็ยังเป็นไอเดียของการปิ้งย่างด้วย เพราะมันต้องใช้ไฟ ซึ่งจริงๆ อย่างรวบรัดก็คือว่า พอเข้ามาร่วมทีมนี้ เหมือนโครงสร้างมันมาระดับหนึ่งแล้ว แต่เราแค่มาเติมให้สมบูรณ์ด้วยการหาวิธีเล่าเรื่อง หาเส้นเรื่อง แล้วเราจะจินตนาการยังไงดี พอโครงมันมา มันเหมือนคล้ายๆ มีทรีตเมนต์มาแล้วระดับหนึ่ง แต่เราแค่ใส่รายละเอียดของซีน ของฉาก ของการพูดคุย ซึ่งพอเป็นการเล่าเรื่องครั้งแรก ก็รู้สึกว่าทำให้เรากลับมาคิด ว่าสุดท้ายแล้วเรามีความสามารถบางอย่างที่เราไม่รู้จนกว่าเราจะขุดมันขึ้นมาใช้นะ" นักเขียนที่กำลังเรียนต่อหัวเราะสนุกอีกครั้งเมื่อเล่าถึงสิ่งที่เธอได้เรียนรู้จากงานนี้ เป็นบทเรียนนอกสถาบันการศึกษาที่เธอได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง

    แล้วเรื่องราวการตามหา 'ไฟศักดิ์สิทธิ์' ที่หายไปจากดาวบาร์บีกุน ของ บาร์บีกอน มังกรที่พวกเรารู้จักกันดีก็เริ่มต้นขึ้น วิไลรัตน์เขียนเรื่องแต่งในจินตนาการของเธอโดยมีเหตุการณ์จริงของ บาร์บีคิว พลาซ่า ให้ยึดเกี่ยวตามช่วงเวลาจริง

    จนเมื่อเขียนเสร็จทั้งเรื่อง วิไลรัตน์ก็ส่งให้ทีมงานได้อ่านกัน

    "เป้จำได้ว่าครั้งแรกที่อ่าน เป้ไปอ่านบนเครื่องบิน" ชาตยาเล่าถึงความรู้สึกแรกที่ได้อ่านเรื่องแบบเต็มๆ "ความประทับใจแรกคือรู้สึกอเมซิ่งกับพี่ตุ๊กมากๆ ว่า โอ้โห พี่ตุ๊กเก่งมากเลย เพราะตอนที่สัมภาษณ์เสร็จ 2 ครั้งแล้ว เป้พูดจริงๆ เลยนะว่ารู้สึกกังวล ว่าเรื่องที่เราเล่ามันโอเคหรือเปล่านะ สงสารพี่เขาที่จะต้องไปเขียนเรื่อง"​ เธอหัวเราะเบาๆ "คือเป้เล่าไปก็รู้สึกว่าวัตถุดิบที่นักเขียนได้จากเป้มามันยังไม่ได้ดีพอที่จะเป็นเรื่องสนุกมากเท่าไหร่ พอได้อ่านก็เลยรู้สึกประทับใจที่พี่ตุ๊กตบทุกอย่างให้มันมาเป็นเรื่องราวแบบนี้ได้ ก็เลยเป็นความประทับใจแรก อีกอันนึงก็คือก็คิดต่อว่า เอ๊ะ เรื่องนี้เหมือนเป็นเรื่องแรกของเรา มันก็เลยเป็นโครงเรื่องยาวๆ หน่อย เป้คิดไปต่อว่าแต่ละบทแต่ละตอนเนี่ย ถ้าเราขยี้ลงไปแล้วทำมันเป็นอีกตอนนึงหรืออีกภาคนึงมันจะเป็นยังไงนะ" เธอหัวเราะ

    ในระหว่างนั้น ทีมงานก็ให้เข็มทิศทยอยวาดภาพประกอบไปด้วย จนทั้งหมดค่อยๆ ก่อตัวเป็นหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา

ผักบุ้งไฟแรงและไฟอื่นๆ

    ในภาพประกอบที่สวยงามมากๆ กว่า 20 ภาพของหนังสือเล่มนี้ หากถามเข็มทิศว่า ภาพไหนที่เขารู้สึกว่าสำคัญที่สุด เขาจะตอบว่าเป็นภาพที่ทีมงานเรียกว่าฉาก 'ผักบุ้งไฟแรง'

    "ซีนแรกที่เริ่มวาดก็คือรู้สึกว่าอยากจะเลือกซีนที่กำหนดมู้ดสำคัญทั้งหมดของเรื่อง ก็เลยเลือกวาดฉากที่เป็นบาร์บีกอนบินอยู่เหนือไฟ เหนือเยาวราช มีคนผัดผักบุ้งแล้วไฟก็พุ่งขึ้นมา เป็นฉากผักบุ้งไฟแรงครับ คือจริงๆ ลองทดสอบตัวเองด้วยว่า เริ่มจากสิ่งที่มันเป็นงานภาพกึ่งๆ นิทานได้ไหม ผมก็เลยทดลองลายเส้นที่มันอาจจะดูจริงจังน้อยลง มีเส้นที่มันตวัดไปตวัดมา มีการสานเส้นเหมือนดินสอ ให้มู้ดดูนิทานมากขึ้นด้วย และก็การใช้สีการแสดงหน้าตาของผู้คน จริงๆ ก็อยากจะให้มันมีความเป็นมิตรกับผู้คน เพราะว่าทั้งฉากทั้งคนมันออกมาจากตัวบาร์บีกอน ว่าคนจะออกมาหน้าเป็นยังไง สีสัน หรือเมืองจะออกมาหน้าตาเป็นยังไง ก็เลยทดลองว่ามันเป็นภาพนั้น รู้สึกว่าเป็นภาพแรกที่กำหนดมู้ดของเนื้อเรื่อง แล้วพอวาดออกมาทุกคนก็ดูชอบ ไม่มีการแก้ไขเลย ทำให้มันเป็นการเริ่มต้นที่ราบรื่นมาก ซึ่งส่วนตัวผมว่าภาพนี้เป็นภาพที่ยากที่สุดด้วยเพราะเป็นภาพแรก"


    "แต่จริงๆ แต่ละภาพมันก็จะมีความยากง่ายต่างกัน อย่างช่วงที่จินตนาการว่า พระราชาจะหน้าเป็นยังไง บนดาวน่าจะมีบรรยากาศเป็นยังไงก็กังวลเหมือนกัน ส่วนฉากที่เหมือนแบบมีบรรยากาศของครอบครัว ก็อาจจะต้องแบบพยายามรักษาความเหมือนจริงให้ได้ และก็ความอบอุ่นของตัวภาพด้วย ก็ยากเหมือนกัน มีการพยายามไปรีเสิร์ชภาพมากมาย ว่าแบบไหนน่าจะเหมาะสม และก็อยากให้มันมีความเป็นคนไทยด้วย พยายามใส่องค์ประกอบของผู้คน เสื้อผ้า เมือง ให้มันไทยๆ" ศิลปินหนุ่มเล่าให้เราฟัง

    เข็มทิศใช้เวลาวาดภาพอยู่ราวเดือนกว่าๆ เท่านั้น ระหว่างทางแทบไม่มีการแก้ไขใดๆ จากทีมบาร์บีคิว พลาซ่า และจากทีมทำหนังสือเลย ที่มีปรับก็เป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น เช่นการพยายามเก็บรายละเอียดบางอย่างให้ตรงกับความเป็นจริงเท่านั้น

    ภาพสุดท้ายที่เข็มทิศวาดคือภาพปกหนังสือ ซึ่งเป็นภาพที่บอกโทนรวมของเรื่องราวทั้งหมดอีกที ในภาพจึงเห็นว่านอกจากมีจุดเด่นที่บาร์บีกอนที่กำลังบินอยู่แล้ว ด้านล่างยังมีบ้านเมืองที่ดูสมจริง แต่ในฉากหลังก็มีปราสาทจากดาวบาร์บีกุนอยู่ด้วย ทั้งหมดอยู่ในบรรยากาศมลังเมลืองมีแสงไฟประดับภาพคล้ายมีมนต์อะไรบางอย่าง

    แล้วหนังสือทั้งเล่มก็ถูกนำไปจัดเลย์เอาต์โดยทีม happening แล้วส่งต่อให้กับทีม SE-ED ที่รับหน้าที่เป็นสำนักพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายของหนังสือเล่มนี้

แถวหลัง: วิภว์, วิไลรัตน์, เข็มทิศ / แถวหน้า: ปรารถนา, ชาตยา

ต่อไฟแล้วไปต่อ

    ต้องเล่าย้อนอีกนิดว่า เมื่อทีมทำหนังสือไปติดต่อสำนักพิมพ์ซีเอ็ดให้เป็นเจ้าภาพในการผลิตและจัดจำหน่ายหนังสือเล่มนี้นั้น ทางทีมงานของสำนักพิมพ์ใหญ่รายนี้ก็รับเป็นเจ้าภาพด้วยความตื่นเต้น ถือเป็นโปรเจกต์แบบที่ทีมซีเอ็ดไม่เคยทำเช่นกัน และส่งผลให้ความฝันของคนทำหนังสือถูกนำไปขยายต่อได้อีกกว้างไกล เพราะซีเอ็ดคือสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่รายหนึ่งของประเทศ ที่มีร้านหนังสือและสายส่งเป็นของตัวเองด้วย จึงรับประกันได้ว่าหนังสือเล่มนี้จะถูกส่งต่อไปถึงมือคนได้มากมายแน่นอน

    เมื่อหนังสือใกล้เสร็จ นอกจากจะได้คำนิยมจากอินฟลูเอ็นเซอร์ที่ทรงพลังอย่าง รวิศ หาญอุตสาหะ, ต้อง กวีวุฒิ, หนุ่มเมืองจัทน์ และ หมอเอิ้น พิยะดา แล้ว เรื่องราวของหนังสือยังไปกระทบใจทีมพีอาร์มืออาชีพชื่อทีม ปิติพีอาร์ นำทีมโดย บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ ที่อาสามาช่วยคิดงานเปิดตัวหนังสืออย่างอลังการ แล้วส่งต่อให้กับทีม BrandThink ให้มาช่วยเป็นออแกไนเซอร์จัดงานแถลงข่าวให้ที่ House Samyan ซึ่งถือเป็นงานเปิดตัวหนังสือที่ยิ่งใหญ่มากๆ งานหนี่ง ในงานเราได้เห็นผู้บริหารอย่างคุณเป้อ่านนิทานให้ฟัง แล้วต่อด้วยละครหุ่นที่สร้างจากเนื้อหาส่วนหนึ่งในหนังสือ ตามด้วยเวทีทอล์กที่ได้แง่มุมหลากหลายทั้งจากทีมทำหนังสือและผู้อ่านในกลุ่มหลากหลาย

    และหลังจากเปิดตัวแล้ว เรายังได้เห็นภาพที่น่ารักๆ อย่างการที่บาร์บีกอนไปยืนอยู่หน้าร้านหนังสือซีเอ็ดเพื่อช่วยขายหนังสือ หรือการที่บาร์บีกอนไปร่วมงาน Bangkok Illustration Fair 2024 โดยการไปเดินพบปะกับผู้มาร่วมงาน และไปจัดนิทรรศการและกิจกรรมพิเศษเพื่อโปรโมทหนังสือกับกลุ่มคนรักศิลปะที่มาเที่ยวงานนี้อีกด้วย



บรรยากาศงานเปิดตัวหนังสือ

บาร์บีกอนในงาน BKKIF 2024

    ผ่านเวลามาร่วมปีจากวันที่ปรารถนาเริ่มคุยกับชาตยา ในที่สุดหนังสือเล่มนี้ก็ออกสู่สายตาสาธารณชน

    "จากที่ตั้งเป้าหมายไว้ คิดว่าได้ครบเลยนะ" ปรารถนาแสดงความเห็นถึงหนังสือ "แล้วพอเราทำไปเรารู้สึกว่าคุณตุ๊กหรือเข็มทิศคือเก่งมาก ต้องบอกว่ามันจะมีผลงานอะไรที่โดนใจคนได้เยอะขนาดนี้ มันยากมากนะ สมมติถ้าเราไปบรีฟเป็นงานที่อื่นเขาก็ด่าเราแล้ว" เธอหัวเราะสนุก "ว่าจะเอาผู้อ่านเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่แบบ Pre-teen จนถึงคน Midlife เลยเหรอ แต่เราก็เขียนเป้าไว้ก่อน เพราะเราคิดว่านี่มันเป็นงานศิลปะ มันน่าจะโดนคนในทุกระดับได้ เพียงแต่ว่าใครจะเลือกมุมไหน ปรากฎว่าพอเสร็จออกมา เรามั่นใจว่าโดนทุกคนนะ แต่ละคนจะได้ในสิ่งที่เขามองหา มันเหมือนเป็นของขวัญที่ทุกคนอยากจะได้อยู่แล้ว แล้วพอแกะออกมา อุ้ย ของขวัญนี้ถูกใจจัง แต่มันอยู่ที่ว่าในใจเขาอยากได้ของขวัญอะไร แต่เขาจะหาได้ในเล่มนี้ นี่คือสิ่งที่ทีมทำงานทุกคนเชื่อเหมือนกัน แล้วเราก็ทำออกมาได้จริงๆ"

     "พอหนังสือเสร็จแล้ว เป้รู้สึกภูมิใจที่ได้ทำนะ" ผู้บริหารสาวกล่าวถึงความรู้สึกในวันที่หนังสือเสร็จเป็นเล่มบ้าง "เป้คิดว่ามันก็จะเป็นหนึ่งในความทรงจำดีๆ ในการทำงานของเรา อีกหน่อยในอนาคตก็จะเป็นสิ่งหนึ่งที่เป้รู้สึกภูมิใจที่เรามีโอกาสได้ทำสิ่งนี้ มันเป็นหนังสือเล่มแรกของบริษัท เป็น Business Fable เล่มแรกของเมืองไทย ได้ทำสิ่งที่เป้และทีมรู้สึกภูมิใจ อยากจะไปบอกทุกคนว่าเราทำสิ่งนี้ แต่ไม่ได้คาดหวังว่ามันจะแบบโอ้โห ปัง แบบเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ ยอดขายถล่มทลาย อะไรอย่างนี้นะคะ เป้คิดว่าทำสิ่งนี้เอาจริงๆ แล้วก็คือให้ป๊าได้อ่านแล้วป๊าเขาดีใจว่าเราให้เกียรติ เอาเรื่องเขามาเล่า แค่ป๊ารู้สึกว่าเป้ให้ความสำคัญและซาบซึ้งกับสิ่งที่เขาทำก็ดีมากแล้ว คือถ้ามันปังก็โชคดีไป เพราะว่าตอนนี้ แม่กับป๊าเขาก็จะถอยบทบาทมากพอสมควรแล้ว เขาก็จะให้เราออกหน้ามากกว่า แล้วเราก็เป็นครอบครัวคนจีนเนอะ เราไม่ได้จี๋จ๋า ไม่ได้บอกรักกันบ่อยๆ หนังสือเล่มนี้มันก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะบอกว่าจริงๆ แล้วทั้งหมดที่ครอบครัวเราสร้างมาจนมาเป็นวันนี้ เป็นเพราะเรื่องราวของเขาค่ะ"

    ที่สุดแล้ว เรื่องราวของหนังสือ 'บาร์บีกอนกับภารกิจตามหาไฟศักดิ์สิทธิ์' จึงเป็นหนังสือที่ว่าด้วยการส่งต่อแรงบันดาลใจ จากรุ่นสู่รุ่น จากคนสู่คน จากใจสู่ใจ

    'ไฟศักดิ์สิทธิ์' อาจอยู่ที่ไหนสักแห่ง อาจจะในหนังสือเล่มนี้ หรือในใจของคุณเอง ทีมผู้จัดทำหนังสือเล่มนี้แค่อยากชวนนักอ่านทุกคนไปตามหาไฟนี้ด้วยกัน

    พวกเขาเชื่ออย่างยิ่งว่า มันจะเป็นภารกิจที่คุณต้องประทับใจแน่นอน

 

   *ขอขอบคุณร้าน Bar B Q Plaza สาขาสยามเซ็นเตอร์ และ BrandThink สำหรับการเอื้อเฟื้อสถานที่ในการถ่ายภาพ*