Taipei Art Scenes : 20 สถานที่สุดอาร์ตที่สะท้อนความเป็นเมืองศิลปะในไทเป

    ตึกรามบ้านช่องตกแต่งด้วยกระเบื้องสีสบายตาตัดสลับกับต้นไม้เรียงตัวสวยตลอดสองข้างทาง ระบบสาธารณูปโภคที่เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิต และพื้นที่ศิลปะหลากหลาย ซึ่งเปิดให้ผู้คนได้ใช้เวลากับตัวเองและคนที่รักในวันหยุด ถือเป็นความประทับใจ ที่ทำให้ ไทเป เมืองหลวงของประเทศไต้หวันกลายเป็นเมืองที่อยู่ในใจของผู้อยู่อาศัยและนักเดินทางไม่น้อย

    ยิ่งถ้าคุณเป็นคนรักงานดีไซน์และอยากถูกห้อมล้อมด้วยบรรยากาศแห่งการสร้างสรรค์ ไทเปเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่เราอยากให้คุณได้มาเยือนสักครั้ง เพราะเมืองนี้ซุกซ่อนไปด้วยสถานที่น้อยใหญ่ที่แทรกซึมให้ศิลปะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน

    เริ่มตั้งแต่อาคารบ้านเรือนที่ผสมผสานระหว่างความเป็นเมืองเก่าและยุคสมัยปัจจุบัน อันเป็นผลจากครั้งหนึ่งไต้หวันเคยอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นร่วม 50 ปี จึงไม่แปลกใจเลย หากระหว่างการเดินชมเมือง คุณจะได้เห็นอาคารที่มีกลิ่นอายของความเป็นประเทศญี่ปุ่นและสถาปัตยกรรมตะวันตกร่วมสมัยในบริเวณใกล้เคียงกัน ตลอดจนพื้นทางเดินที่เป็นระเบียบและอุดมไปด้วยพื้นที่สีเขียวอย่างต้นไม้ริมทางและสวนสาธารณะรอบเมือง ขณะเดียวกัน หากคุณสังเกตดีๆ จะพบว่าแต่ละย่านต่างก็มีร้านรวงเก่าแก่เปิดเคียงคู่กับร้านดีไซน์สวย อย่าง ร้านหนังสือ ร้านกาแฟ ห้องสมุด หรือมิวเซียมเล็กๆ อยู่ประปราย สมกับที่ทางรัฐบาลให้การสนับสนุนในการพัฒนาเมืองร่วมกับนักออกแบบ จนไทเปได้รับเลือกให้เป็น World Design Capital เมื่อปี 2016

    ทีม happening มีโอกาสได้เดินทางลัดเลาะตามย่านต่างๆ ในเมืองไทเป และค้นพบพื้นที่ศิลปะขนาดเล็กจนถึงพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ที่น่าสนใจ จึงขอรับบทเป็นไกด์พาคุณไปสำรวจ 20 สถานที่สุดอาร์ตในชีวิตประจำวันที่สะท้อนให้เห็นภาพว่า เพราะอะไรไทเปจึงเป็นเมืองที่คนรักศิลปะควรไปเยือนสักครั้ง


Songshan Cultural and Creative Park

    หนึ่งในสองครีเอทีฟปาร์คหลักประจำเมืองไทเป ที่เดิมเป็นโรงงานยาสูบเก่าซึ่งสร้างมาตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่พอวันเวลาเปลี่ยนไป ความต้องการของสังคมเปลี่ยนแปลง บวกกับนโยบายของภาครัฐที่เริ่มมองเห็นความสำคัญของครีเอทีฟและซอฟต์พาวเวอร์ต่างๆ พื้นที่นี้จึงถูกดัดแปลงเป็นครีเอทีฟปาร์คมาตั้งแต่ปี 2011 และกลายเป็นฐานทัพสำคัญของคนทำงานด้านครีเอทีฟและศิลปะมาตั้งแต่นั้น

    เมื่อก้าวเข้าสู่พื้นที่ราว 40 กว่าไร่ของ Songshan Cultural and Creative Park (อ่านว่า ซงชาน คัลเจอรัล แอนด์ ครีเอทีฟ ปาร์ก) เราจะพบกับความร่มรื่นของต้นไม้น้อยใหญ่ที่เหมือนหลุดเข้ามาอยู่ในป่ากลางเมือง พอประกอบกับอาคารเก่าที่สวยแบบขรึมๆ เท่ๆ แล้ว ก็ทำให้เกิดเสน่ห์ที่ชวนให้เราตระหนักถึงประวัติศาสตร์ของสถานที่ และหลงรักสวนแห่งความครีเอทีฟนี้ได้ทันที

    Songshan Cultural and Creative Park ประกอบไปด้วยพื้นที่จัดนิทรรศการหลายจุด ร้านซีเล็กต์ช็อปหลายแห่งๆ ดีไซน์แล็ป ร้านขายกล้องฟิล์ม ร้านขนม ร้านกาแฟ ร้านอาหารหลายร้าน ที่ล้วนถูกคัดสรรมาเป็นอย่างดี ที่นี่ยังเป็นที่ตั้งของ Taiwan Design Museum และยังเป็นออฟฟิศของสำนักงาน Taiwan Design Research Institute (TDRI) ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในเรื่องงานสร้างสรรค์ของไต้หวันอีกด้วย นอกจากนี้ตรงมุมหนึ่งของอาคารยังมีร้านซีเล็กต์ช็อป Design Pin ที่รวมสินค้าที่ได้รางวัล Golden Pin Design Award ซึ่งเป็นรางวัลชื่อดังที่เกี่ยวกับงานดีไซน์ต่างๆ มาจำหน่ายด้วยกัน ถือเป็นโชว์เคสของนักสร้างสรรค์และดีไซเนอร์แบบที่จับต้องได้และให้ซื้อหากลับบ้านได้ด้วย


    เดินผ่านร้านน่ารักๆ และพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการเข้าไปในอาคาร เราจะพบว่ากลางหมู่อาคารจะมีสวนที่เป็นคอร์ทยาร์ดที่เรียกว่า Baroque Garden ซึ่งเป็นสวนสไตล์ยุโรปที่สวยมากๆ คนที่ชอบสวนสามารถนั่งอยู่ตรงนี้ได้เป็นชั่วโมง นั่งมองดูเด็กๆ วิ่งเล่น ฟังนักดนตรีร้องเพลงเปิดหมวก ฟังเสียงใบไม้เสียดสีกัน หรือแค่นั่งนิ่งๆ ให้ลมสัมผัสผิวกายเบาๆ ได้อย่างรื่นรมย์

    สถานที่ลับๆ อีกแห่งที่ซ่อนอยู่ใน Songshan Cultural and Creative Park ที่เราอยากแนะนำอย่างแรงก็คือห้องสมุดชื่อ Not Just Library ซึ่งเป็นห้องสมุดที่สร้างจากโรงอาบน้ำเก่า และยังมีร่องรอยของความเป็นโรงอาบน้ำทิ้งไว้พอให้รู้สึกเก๋ๆ อยู่ ห้องสมุดแห่งนี้รวบรวมหนังสือและนิตยสารเกี่ยวกับงานดีไซน์และงานศิลปะไว้ให้อ่านกันจำนวนมหาศาล รวมมาทั้งนิตยสารและหนังสือจากญี่ปุ่น ไต้หวัน อเมริกา ยุโรป และอีกหลายประเทศ ทั้งหมดถูกจัดเป็นหมวดหมู่ให้เข้าใจง่าย พื้นที่นั่งก็ถูกจัดสรรสวยงามน่านั่งยาวๆ แม้จะต้องเสียค่าใช้บริการนิดหน่อย แต่สำหรับคนที่ชอบงานดีไซน์และชอบดูสิ่งพิมพ์สวยๆ ต้องบอกว่าคุ้มค่ามากๆ เป็นห้องสมุดที่นั่งได้ทั้งวันเลยทีเดียว ที่สำคัญคือเรายังสามารถไปนั่งอ่านหนังสือในสวนที่อยู่ติดกับห้องสมุดได้อีกด้วย …สำหรับหนอนหนังสือแล้ว การมานั่งอ่านหนังสือที่นี่เหมือนได้อยู่ในฝันดีที่เราไม่อยากตื่นเลยล่ะ

    ฟากหนึ่งของ Songshan Cultural and Creative Park ยังมีโกดังขนาดพอเหมาะอีก 5 หลัง ที่มักใช้เป็นที่จัดงานอีเวนต์ที่เกี่ยวกับเรื่องงานดีไซน์และศิลปะอยู่เสมอๆ งานอีเวนต์ นิทรรศการ และกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้นที่นี่แบบต่อเนื่อง หากใครไปเยือนครีเอทีฟ ปาร์ก แห่งนี้เมื่อไหร่ลองเช็กตารางกิจกรรมต่างๆ ในเว็บไซต์ดูได้ เผื่อจะได้รู้ว่าเราน่าจะเจองานอะไรบ้างตอนที่ไปเที่ยวชม แต่ที่ทีมเราเคยไปเยือนที่นี่ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์หลายๆ ครั้ง ยังพบว่าโซนนี้จะมีอาร์ตมาร์เก็ตน่ารักๆ จัดอยู่เสมออีกด้วย ถือเป็นพื้นที่ปล่อยของสำหรับคนรุ่นใหม่ที่น่ารักดีทีเดียว 


    บรรยากาศของครีเอทีฟปาร์กแห่งนี้ถือว่าเป็นการผสมผสานประวัติศาสตร์ ครีเอทีฟ ศิลปะ และไลฟ์สไตล์ให้เข้ากันได้อย่างน่าชื่นชม เราจะเห็นผู้คนหลากหลายมาเดินเล่น ชมงาน ออกเดต จูงลูกจูงหลานมากันทั้งครอบครัว หรือกระทั่งนักท่องเที่ยวต่างชาติก็มาเยือนที่นี่จำนวนไม่น้อย ทั้งหมดหลอมรวมกันกลายเป็นชีวิตชีวาให้กับสวนแห่งครีเอทีฟแห่งนี้จนกลายเป็นบรรยากาศที่น่าประทับใจที่เราไม่มีวันลืม


ข้อมูลเพิ่มเติม: Songshan Cultural Park

เปิดทุกวัน แต่นิทรรศการและร้านค้ามักจะปิดทำการในเวลา 18.00 น. หรือ 19.00 น.



Eslite Spectrum Songyan

    ใครไปเที่ยว Songshan Cultural and Creative Park แล้วก็ต้องแวะไปห้างสรรพสินค้า Eslite Spectrum Songyan ด้วย เพราะมันอยู่ในพื้นที่เดียวกันเลย คือต่อเนื่องกับโซนที่เป็นโกดังนั่นเอง ห้าง Eslite Spectrum Songyan เป็นโครงการหนึ่งในเครือข่ายอันมากมายมหาศาลของ Eslite ที่ทำธุรกิจค้าปลีกหลายรูปแบบในไต้หวัน โดยเน้นไปที่ร้านหนังสือ รวมไปถึงสินค้าครีเอทีฟ และไลฟ์สไตล์ต่างๆ ที่มีสาขากระจายไปทั่วไต้หวันและรวมไปถึงต่างประเทศอย่าง จีน,​ ฮ่องกง, สิงคโปร์ อีกด้วย ซึ่งห้าง Eslite Spectrum Songyan นี้ถือเป็นสาขาใหญ่แห่งหนึ่ง ที่ทั้งห้างเต็มไปด้วยสินค้าครีเอทีฟ แบรนด์ดีไซน์ งานศิลปะ และงานคราฟต์แบบต่างๆ ที่พื้นที่ชั้นใต้ดินมีศูนย์อาหารและโรงภาพยนตร์อาร์ตเฮาสต์ ในขณะที่ชั้นบนสุดก็มีร้านหนังสือขนาดใหญ่ที่หนอนหนังสือต้องประทับใจ

    Eslite Spectrum Songyan ยังเป็นห้างสรรพสินค้าขนาดพอเหมาะที่มีชีวิตชีวาเอามากๆ เพราะมีการจัดนิทรรศการหรือกิจกรรมต่างๆ ทั้งด้านหน้าห้าง ด้านในห้าง หมุนเวียนอยู่เสมอ และในระหว่างชั้นต่างๆ ก็มีโซนเวิร์กช็อปแทรกอยู่เป็นระยะๆ ให้ชาว Maker ได้ตื่นตาตื่นใจกันด้วย กลุ่มลูกค้าของที่นี่ก็มีทั้งชาวต่างชาติที่มาชมครีเอทีฟปาร์คหรือมาเจรจาธุรกิจแล้วมาพักในโรงแรมที่เป็นส่วนหนึ่งของห้าง มีทั้งเด็กนักเรียนที่มาชมนิทรรศการ มีทั้งกลุ่มหนุ่มสาวและครอบครัวที่มาเที่ยว เรียกว่าครบถ้วนจริงๆ สำหรับความเป็นห้างที่เปี่ยมสีสันและความครีเอทีฟ

ข้อมูลเพิ่มเติม: Eslite Spectrum Songyan

เปิดทุกวันตั้งแต่ 11.00-22.00 น.


Garden City (田園城市生活風格書店)

    ร้านหนังสือ Garden City มีจุดเด่นคือเป็นที่ทำการของสำนักพิมพ์ซึ่งทำหนังสือเกี่ยวกับเรื่องสถาปัตยกรรมมาเนิ่นนานกว่า 30 ปี ภายในร้านจึงเต็มไปด้วยหนังสือแนวสถาปัตยกรรม ดีไซน์ และศิลปะ เสริมด้วยหนังสือวรรณกรรมเยาวชน ปรัชญา บทกวี ซีน อาร์ตปริ้นท์ โปสการ์ดสวยๆ และแผ่นเสียงอีกนิดหน่อยให้ซื้อหากันด้วย 

    จุดเด่นอีกอย่างคือที่นี่มีแกลเลอรี่ถึง 2 ห้องไว้จัดแสดงงานนิทรรศการศิลปะหรือจัดกิจกรรมต่างๆ แกลเลอรี่ห้องเล็กอยู่ชั้นหนึ่งและแกลเลอรี่ห้องใหญ่อยู่ชั้นใต้ดิน วันที่เราไปเยือนในเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ห้องเล็กกำลังมีนิทรรศการเกี่ยวกับภาพประกอบ ในขณะที่ชั้นใต้ดินมีนิทรรศการของดีไซเนอร์รุ่นใหญ่ท่านหนึ่งที่เจ้าตัวมานั่งรับแขกอยู่ที่นิทรรศการเองเลยทีเดียว แถมทางร้านก็พิมพ์หนังสือให้เธออย่างสวยงามในวาระที่มีนิทรรศการนี้ด้วย ยังไม่หมด ที่นี่ยังมีร้านกาแฟขนาดเล็กจิ๋วไว้บริการอยู่ในมุมร้านของชั้นหนึ่ง เป็นมุมที่เราเห็นคนมานั่งคุยกันสบายๆ ทั้งหมดนี้ทำให้ร้าน Garden City กลายเป็นชุมชนเล็กๆ ของคนที่สนใจเรื่องสถาปัตยกรรม งานดีไซน์ และงานศิลปะที่พร้อมสำหรับการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ด้านการทำงานสร้างสรรค์ของผู้คนหลากหลายจริงๆ

ข้อมูลเพิ่มเติม: gardencity.bookstore

ร้านเปิดทุกวัน 10.00-19.00 น.


xiaoqi (小器藝廊)

    เชื่อว่านักสะสมเซรามิกต้องตกหลุมรักร้านนี้ xiaoqi เป็นร้านจำหน่ายงานเซรามิกนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแก้ว จาน ชาม และอุปกรณ์เครื่องครัวคุณภาพดี ด้วยมวลความอบอุ่นที่เกิดจากสไตล์การตกแต่งที่เรียบง่าย เป็นระเบียบ  ให้บรรยากาศราวกับกำลังรับชมงานศิลปะชิ้นเล็กในบ้านหลังน้อย ทำให้ผู้ชมอย่างเราๆ เพลิดเพลินไปกับการไล่ชมความงดงามของเซรามิกแต่ละชิ้นโดยร้านนี้มีสาขากว่า 11 สาขาทั่วไต้หวัน แต่ละสาขาก็มีการประดับตกแต่งที่แตกต่างกันไป ขณะที่ร้านตรงย่านต้าถงถูกตกแต่งด้วยประตูไม้และผ้าสกรีนโลโก้ ร้านในสาขา MORI SHOP กลับตกแต่งด้วยสไตล์โมเดิร์นที่ให้ความรู้สึกแต่งต่างออกไป และนั่นก็เป็นเสน่ห์ที่ทำให้นักเดินทางอยากตามไปเยี่ยมชมให้ครบทุกสาขา

    นอกจากข้าวของเครื่องใช้ทั่วไปแล้ว ทางร้านยังมีคอลเลกชั่นพิเศษอย่าง Xiaoqi Taiwan Design ที่ชวนนักวาดชาวไต้หวันและประเทศอื่นๆ มาร่วมออกแบบแก้วสาเก ซึ่งเป็นหนึ่งในของฝากขึ้นชื่อจากไต้หวันที่นักดื่มต้องถูกใจอย่างแน่นอน ใครที่ยังไม่มีโอกาสได้ไปไทเป สามารถเข้าไปดูชิ้นงานในร้านผ่านเว็บไซต์ได้เช่นกันนะ

ข้อมูลเพิ่มเติม: xiaoqi

เปิด 11.00-18.00 น. (ปิดเสาร์อาทิตย์ และ วันหยุดนักขัตฤกษ์)


PAR STORE

    มาดูที่ย่านจงซานกันบ้าง ย่านบริเวณสวน Zhongshan Linear Park ถือเป็นย่านที่เต็มไปด้วยร้านเก๋ๆ และงานครีเอทีฟมากมาย มีทั้งคาเฟ่ แบรนด์แฟชั่น ร้าน Select Shop ร้านหนังสือ (ที่สถานีรถไฟใต้ดินของย่านนี้ยังมีสาขาของร้านหนังสือ Eslite ที่ทอดตัวยาวเหยียดไปตามทางเดินใต้ดินด้วย) มีร้านอาหารหลายสไตล์ และร้านแนวไลฟ์สไตล์หลายรูปแบบ ถือเป็นโซนที่สามารถเดินเล่นได้ทั้งวันเลยทีเดียว เราขอแนะนำบางร้านในย่านนี้ที่น่าจะถูกใจคนที่ชอบเรื่องศิลปะ เริ่มจากร้านเล็กๆ ที่ชื่อว่า PAR STORE ที่ค่อนข้างจำกัดความยากว่าเป็นร้านอะไร แต่เมื่อเราเดินผ่านทางเดินที่ประดับด้วยโปสเตอร์สีสวยและภาพดาราฮ่องกงยุคคลาสสิกลงไปชั้นใต้ดิน จะพบร้านที่น่าจะเรียกว่าเป็น Select Shop ร้านนี้ที่ในร้านจะมีขายทั้งแผ่นเสียง ซีดี อาร์ตบุ๊ก ซีน เทปคาสเสตต์ ไปจนถึงเสื้อผ้าและของวินเทจที่คัดเลือกมาแล้วว่าเป็นแนวที่เจ้าของร้านชอบ เป็นร้านที่มีความ Cult พอสมควร แต่มีไอเท็มอะไรสนุกๆ อยู่เยอะทีเดียว

    PAR STORE ย่อมาจากชื่อเต็มของค่ายเพลงเล็กๆ ชื่อ Petit Alp Records เจ้าของร้านเป็นนักร้องนำของวงดนตรีร็อกที่ชื่อว่า Touming Magazine เป็นผลให้นอกจากจะเป็นร้านที่คนดนตรีน่าจะชอบกันแล้ว ที่นี่บางทีก็มีการจัดคอนเสิร์ตเล็กๆ หรือเปิดแผ่นจากดีเจภายในร้านด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม: par.store.taipei

ร้านเปิด 14.00-20.00 น. วันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ปิด 21.00 น.


Huashan 1914 Creative Park (華山)

    อีกหนึ่งครีเอทีฟปาร์คหลักประจำเมืองไทเป ที่เดิมเป็นโรงงานไวน์และยาสูบเก่า ถูกดัดแปลงเป็นพื้นที่สำหรับงานสร้างสรรค์ จากโรงงานร้างกลายเป็นพื้นที่เปี่ยมชีวิตชีวามาตั้งช่วงปี 1999

    Huashan 1914 Creative Park (ฮว๋าซาน 1914 ครีเอทีฟปาร์ค) ประกอบไปด้วยอาคารเก่าหลากหลายรูปแบบ ทั้งอาคารสำนักงานสองชั้น โซนโกดังที่ใช้จัดนิทรรศการและกิจกรรมคล้ายๆ กับที่ Songshan Cultural and Creative Park และยังมีร้านค้าย่อยๆ อีกจำนวนมาก การจัดสรรพื้นที่ของที่นี่มีทั้งร้าน Select Shop หลายแบรนด์, ร้านอาหาร, ร้านเครื่องดื่ม รวมทั้งสาขาของโรงหนังอาร์ตเฮาส์ SPOT Huashan Cinema ที่จัดฉายหนังอาร์ตอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ครีเอทีฟปาร์คแห่งนี้เหมาะกับการมาเที่ยวหย่อนใจจริงๆ ขอยกตัวอย่างสักจำนวนหนึ่งเพื่อให้พอเข้าใจบรรยากาศสนุกๆ ของที่นี่

    เริ่มจากร้านแรกที่เราเจอก่อนและมักจะแวะก่อนทุกทีที่ไปเยือน คือร้านชื่อว่า เสี่ยวรื่อจื่อ (小日子 - Xiaorizi แปลว่า 'วันเวลาเล็กๆ') ซึ่งเป็นร้านกาแฟผสมร้าน Select Shop ของนิตยสารหัวหนึ่งชื่อนิตยสาร เสี่ยวรื่อจื่อ ซึ่งชวนให้นึกถึงร้าน happening shop ของเราเหมือนกัน แต่สินค้าภายในร้านดูจะเป็นสินค้าที่ทางนิตยสารผลิตเอง และให้อารมณ์น่ารักๆ สบายๆ เหมือนกับเนื้อหาในนิตยสารที่สื่อสารเรื่องไลฟ์สไตล์ด้วยลีลาครีเอทีฟและเน้นไปเรื่องแนวทางชีวิตที่ดีและงดงาม


    อีกร้านที่น่าสนใจคือ เว่ยหลายซื่อ (未來市 - Weilaishi แปลว่า 'ตลาดแห่งอนาคต') ร้านรวมสินค้าดีไซน์หลากหลาย ที่จัดดิสเพลย์เป็นรถเข็น รวมมาตั้งแต่งานเซรามิก งานผ้า โปสการ์ด อาร์ตทอย เสื้อผ้า เครื่องสำอาง เครื่องเขียน แว่นตา มีงานจากประเทศอื่นๆ อย่างญี่ปุ่นมาวางขายด้วย และมีแบรนด์ผ้าพิมพ์ที่เป็นแบรนด์ไต้หวันที่เรามองการเติบโตอย่างชื่นชมอย่าง In Blooom รวมอยู่ในร้านนี้ด้วย

    ร้านหนังสือที่เราชอบที่สุดแห่งหนึ่งในไทเปก็อยู่ที่โครงการนี้เอง ชื่อร้าน Bleu&Book ซ่อนตัวอยู่บนอาคารชั้น 2 เป็นร้านหนังสือขนาดไม่ใหญ่ แต่อัดแน่นด้วยหนังสืออาร์ตภาพสวยๆ หนังสือวรรณกรรม สถาปัตยกรรม หนังสือท่องเที่ยว หนังสือสำหรับเยาวชน โปสการ์ด ซีน ส่วนมากเป็นหนังสือภาษาจีน แต่ก็มีนิตยสารภาษาอังกฤษนิดหน่อย มีมุมหนึ่งเป็นของนิตยสาร Verse นิตยสารไลฟ์สไตล์เล่มสวยของไต้หวัน สิ่งที่เราชอบที่สุดในร้านนี้คือบรรยากาศที่ชวนให้นั่งอ่านหนังสือสงบๆ จิบเครื่องดื่ม ค่อยๆ ละเลียดทานขนมเค้ก ตอนช่วงเช้าแดดจะส่องทะลุหน้าต่างด้านบนตกกระทบกับพื้นที่ร้านสวยงามมาก

    นอกจากนี้ ที่นี่ยังมีร้านของ Wooderful Life แบรนด์กล่องดนตรีชื่อดังของไต้หวันอยู่ที่นี่ด้วย แบรนด์นี้เน้นผลิตภัณฑ์จากไม้ และเติบโตโดดเด่นจนสามารถร่วมงานกับแบรนด์อื่นๆ ที่เป็นระดับโลกได้แล้ว (อย่างเช่น Disney เป็นต้น) คนที่ชอบอะไรกรุ๊งกริ๊งๆ สามารถอยู่ในร้านนี้ได้เป็นชั่วโมงเลยล่ะ ความสนุกคือเราสามารถเลือกองค์ประกอบต่างๆ ของกล่องดนตรีเองได้ด้วย และที่นี่ก็มีตัวละครหลากหลาย ต้นไม้นานาพันธุ์ สัตว์เล็กสัตว์น้อย ฯลฯ ที่ทำจากไม้ ให้เลือกจัดองค์ประกอบกล่องดนตรีของคุณได้อย่างสนุกสนานเลยทีเดียว


    ปิดท้ายด้วยร้านที่คอดนตรีต้องชื่นชอบอีกสักร้าน เป็นผับแผ่นเสียงชื่อว่า Vinyl Decision ที่ทั้งร้านอัดแน่นไปด้วยแผ่นเสียงมือสอง เป็นแผ่นเพลงสากลที่ถูกจัดเรียงตามตัวอักษร และเต็มไปด้วยดนตรีร็อกยุครุ่งเรือง (The Beatles, เดวิด โบวี่, บ็อบ ดีแลน ประมาณนี้) แต่ก็มีตู้ที่บรรจุแผ่นเสียงเพลงแจ็ซ ลาติน อาร์แอนด์บี และดนตรีคลาสสิกอยู่ด้วย แผ่นเสียงที่นี่ราคาไม่แพงเกินไป และถูกคัดสรรมาเป็นอย่างดี จะมาค้นหาแผ่นเสียงหรือมานั่งดื่มเบียร์แล้วฟังเพลงจากไวนิลก็เพลินไม่แพ้กัน


    นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของ Huashan 1914 Creative Park เท่านั้น ภายในโครงการยังมีร้านอาหาร คาเฟ่ (มีร้าน Chun Shui Tang ชานมไข่มุกเจ้าแรกของไต้หวันด้วย แต่ที่นี่เป็นร้านสาขานะ ถ้าเป็นต้นตำรับต้องอยู่ที่เมืองไทจง) ยังมีร้านกิ๊ฟช็อป และแกลเลอรี่ให้แวะชมอีกหลายจุด แถมยังอยู่ติดสวนสาธารณะขนาดย่อมๆ ด้วยที่น่าเดินเล่นมากๆ อีกด้วย ใครอยากมาเที่ยว เราแนะนำให้เผื่อเวลาให้กับที่นี่สักครึ่งวันเป็นอย่างน้อย

ข้อมูลเพิ่มเติม: huashan1914.com

เปิดทุกวัน


Pon Ding (朋丁)

    ร้านหนังสือสายอาร์ตที่เป็นขวัญใจของใครหลายๆ คน (รวมทั้งของทีม happening ด้วย) แห่งนี้อยู่ในซอยเล็กๆ ที่ย่านจงซาน (Zhongshan) เปิดทำการมาตั้งแต่ปี 2016 โดยเจ้าของร้านเคยมีประสบการณ์ด้านสิ่งพิมพ์และการจัดงานศิลปะมาก่อนที่จะมาเปิดพื้นที่ของตัวเองแห่งนี้ เธอเล่าให้เราฟังว่าตอนที่กำลังจะทำร้าน มีพายุไต้ฝุ่นเข้าไทเป จนชั้นดาดฟ้ากลายเป็นแอ่งน้ำ เธอเลยเอาคำว่าบ่อน้ำมาตั้งเป็นชื่อร้าน และหวังจะให้คนทั่วโลกมาช่วยกันสร้างบ่อน้ำแห่งนี้ด้วยกัน


    พื้นที่สามชั้นของร้านประกอบไปด้วยชั้นหนึ่งที่เป็นร้านหนังสือ ซึ่งรวมเอาหนังสือศิลปะ หนังสือที่เกี่ยวกับงานดีไซน์ โดยส่วนใหญ่เป็นหนังสือภาษาอังกฤษ แต่ก็มีหนังสือไต้หวัน ญี่ปุ่น ผสมอยู่ด้วย หลายเล่มเป็นหนังสือที่เราไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน การจัดวางที่ให้หนังสือโดดเด่นแทบจะเท่าๆ กันทำให้ดูน่าหยิบจับไปหมด เมื่อผสมด้วยสินค้าดีไซน์น่ารักๆ พวกถุงผ้า งานเซรามิก โปสการ์ด รวมไปถึงชิ้นงานศิลปะก็ทำให้ร้านมีบรรยากาศของความครีเอทีฟอยู่เต็มไปหมด


    พอเดินขึ้นไปชั้นสองก็จะพบกับอาร์ตแกลเลอรี่น่ารักๆ ที่อยู่คู่กับร้านกาแฟเล็กๆ ที่น่ารักไม่แพ้กัน นิทรรศการของที่นี่น่าสนใจอยู่เสมอ และแม้ขนาดจะไม่ใหญ่ แต่ด้วยบรรยากาศและการจัดวางก็มักทำให้เราได้ประสบการณ์ที่ดีกลับไป ในขณะที่เมื่อเดินขึ้นมาชั้นสามก็เป็นโชว์รูมของ kvadrat บริษัทผ้าชั้นนำจากเดนมาร์ก ที่มีลูกค้าเป็นโครงการมิวเซียม และโรงละครใหญ่ๆ มาแล้วหลายราย คนที่ชอบงานเท็กซ์ไทล์ไม่ควรพลาดไปเยี่ยมชม

ข้อมูลเพิ่มเติม: pon-ding.com


ร้านเปิด 12.00-19.00 ปิดวันจันทร์


White Wabbit Records

    แนะนำร้านขายซีดีและแผ่นเสียงบ้าง White Wabbit Record เป็นร้านที่นักฟังเพลงชาวไทเปรู้จักดี เพราะเปิดทำการมาร่วม 20 ปีแล้ว (ชื่อร้านก็หมายถึงกระต่ายสีขาวนั่นล่ะ แต่เจ้าของร้านอยากให้ออกเสียงให้น่ารักหน่อย) ร้านกระต่ายขาวแห่งนี้นอกจากจะขายงานเพลงแบบจับต้องได้มายาวนานแล้ว เจ้าของร้านยังเป็นคนจัดงานเทศกาลดนตรี และทำสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับดนตรีอีกด้วย ภายนอกร้านประดับด้วยโปสเตอร์งานดนตรี ภายในก็ร้านมีซีดีเพลงอัดแน่น และมีแผ่นเสียงอยู่พอสมควร ส่วนใหญ่เป็นเพลงจากฝั่งตะวันตก และมีหลากหลายแนว หลายรุ่น นักฟังเพลงบางคนอาจจะได้แผ่นซีดีหรือแผ่นเสียงที่ตามหามานานจากร้านนี้ก็เป็นได้ แต่ที่น่าสนใจคือยังมีโซนสำหรับงานเพลงจากศิลปินไต้หวันด้วย หากชวนพนักงานคุยสักหน่อยเราจะได้รับคำแนะนำบอกเล่าถึงแวดวงดนตรีอินดี้ไต้หวันที่น่าตื่นตาตื่นใจเลยล่ะ

ข้อมูลเพิ่มเติม: shop.wwr.com.tw


เปิดทุกวันตั้งแต่ 11.00-21.00 น.


TOOLS to LIVEBY

    นี่คือร้านเครื่องเขียนในดวงใจของคนที่คลั่งไคล้เครื่องเขียน ขนาดร้านของ TOOLS to LIVEBY ไม่ใหญ่โตอะไร เป็นร้านเครื่องเขียนเล็กๆ ชั้นเดียวที่ตั้งอยู่ย่านต้าอัน ในเวิ้งขนาดไม่ใหญ่ที่มีสวนสาธารณะเล็กๆ อยู่ตรงกลาง ภายในร้านเต็มไปด้วยเครื่องเขียนนานาชนิดที่รวบรวมจากแบรนด์ดังๆ และดีๆ ทั่วโลก ทั้งปากกา ดินสอ สมุด โน้ตบุ๊ก รวมไปถึงคลิปหนีบกระดาษ กรรไกร กล่องเก็บอุปกรณ์ ซองกระดาษ สีและหมึก (มีเครื่องเขียนแบรนด์ไทยอย่าง GreyRay ด้วยนะ) ทั้งหมดถูกจัดเรียงสวยงาม ทำป้ายบอกรายละเอียดและราคาอย่างดีเหมือนจัดนิทรรศการศิลปะ แสงไฟสีส้มและดิสเพลย์ที่ประกอบกับอุปกรณ์เก่าเก็บ ตู้เหล็กที่ผ่านวันเวลาใช้งานมานาน เครื่องพิมพ์ดีดเก่า และโต๊ะไม้สุดเก๋า ทำให้เครื่องเขียนเหล่านี้ยิ่งดูพิเศษขึ้นอีกจากที่พิเศษอยู่แล้ว นอกจากนี้ทางร้านยังทำสินค้าของตัวเองทั้งกรรไกร ไม้บรรทัดสามเหลี่ยม ปากกาสองหัว และปากกาหมึกซึมที่ตั้งใจทำมากๆ ตามประสาคนรักเครื่องเขียน

    TOOLS to LIVEBY เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2012 ปัจจุบันยังมีการขยับขยายเพิ่มอีกสาขาที่เกาสงด้วย เจ้าของร้าน คาเรน หยาง (Karen Yang) เป็นคนรักเครื่องเขียนแบบสุดหัวใจ และความชอบนี้มันก็สะท้อนมาอยู่ในร้านของเธออย่างชัดเจน

ข้อมูลเพิ่มเติม: toolstoliveby.com.tw/en

ร้านเปิด 11.00-21.00 น. ปิดวันจันทร์


The One Bookstore

    ขยับมาอีกนิดแถวย่านฉางอัน The One Bookstore เป็นร้านหนังสือที่อยู่ภายในโฮสเทลขนาดอบอุ่นชื่อว่า Flip Flop จากความตั้งใจในการสร้างพื้นที่การเรียนรู้และแบ่งปันประสบการณ์ให้กับนักเดินทาง เกิดเป็นร้านหนังสือขนาดเล็กที่อุดมไปด้วยหนังสือหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้น สารคดี ชีวประวัติของเหล่าศิลปินชื่อดัง อย่าง เดวิด โบวี่ หรือ ซากาโมโตะ ริวอิจิ ไปจนถึงอาร์ตบุ๊กเจ๋งๆ ก็สามารถหาได้ที่นี่ ซึ่งหนังสือบางเล่มก็มาพร้อมกับคำแนะนำสั้นๆ จากทีมงานและลูกค้าที่แวะเวียนเข้ามาใช้บริการ และเขียนรีวิวไว้เป็นไกด์สำหรับนักเดินทางคนต่อไป ถือเป็นกิมมิกเล็กๆ ที่เชื่อมโยงเหล่าคนแปลกหน้าให้มารู้จักกันผ่านตัวหนังสือ

    ขณะเดียวกัน ภายในร้านก็มีบาร์ขนาดเล็กและบาริสต้าคอยเสิร์ฟเครื่องดื่มอุ่นๆ ให้ดื่มด่ำระหว่างเพลิดเพลินกับงานเขียน ใครจะขึ้นไปพักผ่อนชมบรรยากาศภายในโฮสเทล เลือกสรรงานดีไซน์ชิ้นเล็ก ทั้งโปสการ์ด ถุงเท้า กระเป๋า ฯลฯ หรือถ่ายรูปคู่กับเหล่าโคมไฟก้อนเมฆที่ล่องลอยอยู่บริเวณกลางร้านก็ได้เช่นกัน นอกจากนี้ ภายในโฮสเทลยังมีจัดกิจกรรมเวิร์กช็อป และเปิดให้ศิลปินได้มาร่วมเติมสีสันให้กับผนังตรงพื้นที่ส่วนกลางอีกด้วย ซึ่งครั้งหนึ่ง ศิลปินไทยอย่าง Gongkan ก็เคยมาฝากผลงานไว้บนผนังนี้แล้วเช่นกัน

ข้อมูลเพิ่มเติม: the1bookstore

เปิด 14.00-22.00 น. 


Kuo's Astral Bookshop (郭怡美書店)

    หลายคนอาจคุ้นเคยกับย่านต้าเต้าเฉิงในฐานะย่านเมืองเก่าที่อุดมไปด้วยอาหาร ข้าวของเครื่องใช้ และสถาปัตยกรรมอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาวไต้หวัน แต่ใครจะรู้ว่า ภายในอาคารเก่านี้จะมีร้านหนังสือและคาเฟ่ซ่อนอยู่ไม่น้อยเลย

    Kuo's Astral Bookshop เป็นร้านหนังสือที่ปรับโฉมอาคารเก่าให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ด้วยการตกแต่งโทนไม้ที่ให้ความอบอุ่น และยังคงเค้าโครงของอาคารเดิมไว้ ภายในแบ่งสัดส่วนออกเป็น 5 โซน เริ่มต้นกันที่โซนหนังสือชั้นแรกที่แบ่งหนังสือไต้หวันออกเป็นหมวดหมู่ สบายต่อการเลือกสรร แถมยังมีมุมเล็กๆ ให้นั่งอ่านหนังสืออีกด้วย เมื่อเดินผ่านคอร์ทยาร์ดไปอีกนิดก็จะพบกับโซนคาเฟ่ที่มีพื้นที่ให้ผู้คนได้พักผ่อน โดยมีผลงานศิลปะประดับตกแต่งอยู่ทั่วบริเวณ

    ระหว่างทางขึ้นมาชั้นสอง คุณจะได้พบกับชิ้นส่วนเก่าของอาคารที่ถูกจัดแสดงไว้ ไม่ว่าจะเป็นกระเบื้องหรือป้ายดั้งเดิม หากคุณมากับเด็กๆ คุณคงจะชอบโซนหนังสือต่างประเทศและโซนกิจกรรมของครอบครัวที่อุดมไปด้วยหนังสือเด็กและภาพน่ารักๆ ขณะที่ห้องใต้หลังคาบนชั้นสามนั้นถูกปรับให้เป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการศิลปะขนาดเล็กที่หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนผลงานมาจัดแสดงตลอดปี โดยมีชั้นหนังสือขนาดเล็กก่อนทางขึ้นชั้นสามทำหน้าที่เป็นผู้นำชม ด้วยหนังสือที่เจ้าของร้านจัดสรรให้มีเนื้อหาใกล้เคียงกับนิทรรศการในเวลานั้นอีกด้วย

    แอบกระซิบว่า ใครเดินเล่นในร้านหนังสือเสร็จแล้ว ใกล้ๆ มีวัดเสียไห่เฉิงหวง (台北霞海城隍廟) ที่เด่นเรื่องการขอคู่อยู่ด้วยนะ

ข้อมูลเพิ่มเติม: Kuo's Astral Bookshop

เปิด 14.00-22.00 น.


A Letterpress (一間印刷行)

    ไม่บ่อยนักที่เราจะได้พบกับร้านเรียงพิมพ์ที่เปิดให้ในยุคที่เทคโนโลยีเติบโตอย่างก้าวกระโดดเช่นนี้ จากความชอบส่วนตัวของนักออกแบบภายในที่มีต่องานพิมพ์เป็นทุนเดิม เขามีโอกาสได้พบกับโรงพิมพ์เก่าที่ยังเปิดให้บริการในปัจจุบัน จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจนำมาสู่การเปิดร้าน A Letterpress ร้านที่เปิดให้บริการสิ่งพิมพ์และเรียงพิมพ์ให้กับคนทั่วไป หากสังเกตดีๆ จะพบว่า โลโก้ของร้าน มีกิมมิกเล็กๆ เป็นการพลิกด้านของคำว่า  (อ่านว่า อิ้ง) ที่แปลว่าการพิมพ์ ด้วยล่ะ

    เพียงแค่ก้าวเข้ามาภายในร้าน ชิ้นส่วนตัวอักษร สัญลักษณ์ต่างๆ และตัวอย่างงานพิมพ์ก็สะดุดตาเราในทันที ซึ่งเป็นความตั้งใจของเจ้าของร้านที่ต้องการปรับเรียงพิมพ์ให้มีความทันสมัยและอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น ทางร้านเปิดให้บริการทำเรียงพิมพ์สำหรับนามบัตร โดยออกแบบตามความชอบของลูกค้า เพียงแค่คุณเดินเข้ามาและเลือกสรรชิ้นส่วนตัวอักษรที่ถูกใจ ทางร้านก็จะนำมาจัดวางและเรียงเป็นแม่พิมพ์ให้คุณไปใช้ต่อได้ทันที โดยเครื่องเรียงพิมพ์ของทางร้านยังเคยได้รับรางวัล Good Design Awards 2017 ด้านสิ่งพิมพ์อีกด้วย

    นอกจากนี้ ทางร้านยังมีแม่พิมพ์กระดาษ กล่องใส่นามบัตรไม้ไผ่ และเวิร์กช็อปกระดาษทำมือที่ใช้เวลาสั้นๆ เพียง 1 ชั่วโมงให้คนทั่วไปได้ลองทำเองอีกด้วย ใครที่มองหากิจกรรมสนุกๆ และร้านที่มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร ต้องไม่พลาดที่จะแวะมาเยี่ยมชมร้านนี้นะ

ข้อมูลเพิ่มเติม: aletterpress

เปิด 14.00-22.00 น. วันเสาร์เปิด 12.00-22.00 น. ปิดวันจันทร์และอาทิตย์


SPOT Taipei (光點台北)

    ระหว่างดื่มด่ำกับความร่มรื่นจากร่มเงาไม้ริมถนนจงซานฝั่งเหนือ อาคารสองชั้นสีขาวสไตล์ตะวันตกก็สะกดให้เราต้องเดินเข้าไปเยี่ยมชม ครั้งหนึ่ง SPOT Taipei เคยมีบทบาทเป็นสถานทูตของสหรัฐอเมริกา ก่อนจะปิดตัวลงในปี 1979 และถูกบูรณะเป็น Taipei Film House โรงภาพยนตร์แห่งชาติที่แรกของไต้หวัน อาคารนี้ถูกใช้เป็นหอศิลปวัฒนธรรมและหอภาพยนตร์ของไต้หวัน และขยับขยายจนมีพื้นที่จัดนิทรรศการ หอศิลป์ โรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก ร้านอาหาร และร้านหนังสือที่เกี่ยวกับภาพยนตร์และวัฒนธรรมในไต้หวัน 

    ภายในพื้นที่ชั้นหนึ่งถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่ง โดยมีเคาท์เตอร์ตั๋วหนังและบันไดคั่นกลาง ฝั่งซ้ายมือเป็นร้านอาหารห้องกระจกที่เปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้มาพักผ่อนและพบปะกันอย่าง Youmou to Ohana Coffee (羊毛與花 ‧ 光點) ขณะที่ฝั่งขวาเป็น SPOT Design ที่จัดจำหน่ายชิ้นงานดีไซน์ในรูปแบบของใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งหนังสือ ภาพยนตร์ เสื้อยืด กระเป๋า แก้วน้ำ ร่ม ถุงเท้า ฯลฯ ที่ถูกแต่งแต้มสีสันด้วยเอกลักษณ์จากผลงานของศิลปินทั้งในและต่างประเทศ

    บริเวณชั้นสองถูกใช้เป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการความเป็นมาของพื้นที่ มีโถงห้องประชุมสำหรับการพบปะและทำกิจกรรมของผู้คนในเมืองและแวดวงภาพยนตร์ เมื่อเดินออกจากตัวอาคารไปยังตึกด้านหลังก็จะพบกับโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กที่อุดมไปด้วยภาพยนตร์ทั้งในและต่างประเทศ สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมและชีวิตของผู้คนที่แตกต่างกันไป ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่คอหนังไม่ควรพลาด เมื่อได้ไปเยือนไทเป

ข้อมูลเพิ่มเติม: SPOT Taipei

เปิด 11.00-22.00 น. (แต่ละโซนมีเวลาเปิดปิดต่างกัน แนะนำให้เช็คกับทางเพจก่อนนะ)


SNAPPP (寫真私館)

    ร้านต่อมาเราขอเอาใจคนรักกล้องกันบ้าง กับ SNAPPP ร้านที่อัดแน่นไปด้วยอุปกรณ์กล้องทั้งฟิล์มและดิจิทัลให้เลือกสรรแบบจัดเต็มตั้งแต่หน้าประตูจนสุดผนังร้าน ด้วยสไตล์การตกแต่งร้านที่เป็นเอกลักษณ์และอุดมไปด้วยรายละเอียด ทำให้ร้านนี้เป็นที่สะดุดตาของเหล่านักท่องเที่ยวไม่น้อย โดยร้านนี้อยู่ไม่ไกลจาก Huashan 1914 Creative Park สามารถเดินทะลุถึงกันได้

    ถ้าคุณเป็นสายถ่ายฟิล์มที่กำลังมองหาร้านขายฟิล์ม ทางร้านมีกล้องฟิล์มใช้แล้วทิ้งและฟิล์มหลายแบบพร้อมหนังสือตัวอย่างให้คุณเลือกสรร แถมยังมีบริการรับล้างฟิล์มให้ด้วย ขณะที่สายดิจิทัลก็ไม่ต้องกลัวเหงา เพราะในร้านอุดมไปด้วยอุปกรณ์มากมาย ทั้งเลนส์ สายคล้องกล้อง กระเป๋ากล้อง ให้คุณเลือกสรรเปลี่ยนโฉมกล้องประจำตัวของคุณได้อย่างสนุกสนาน ส่วนใครที่ตามเพื่อนมา คุณสามารถใช้เวลาดื่มด่ำไปกับของเล่นและของกระจุกกระจิกที่ซุกซ่อนตัวอยู่ตามมุมต่างๆ ในร้าน หรือใครจะพักเหนื่อยด้วยการนั่งเล่นกับน้องแมวก็เพลินไม่น้อย

    นอกจากนี้ ทาง SNAPPP ยังมีผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของตัวเองอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อยืด หมวก และกล้องฟิล์มลายน้องหมานักเล่นสเก็ต อีกทั้ง ทางร้านยังมีอีกสาขาชื่อ SNAPPP x Smile (韓式拍貼赤峰店) ซึ่งเป็นร้านตู้สติกเกอร์ให้เราได้ถ่ายรูปที่ระลึกอยู่แถวย่านซงซานอีกด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม: snappp.shop

เปิด 14.00-21.00 น.


Museum of World Religion

    พิพิธภัณฑ์ศาสนาโลก หรือ Museum of World Religion เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่เราอยากแนะนำให้คุณไปเยือนสักครั้ง เพราะเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่นำเสนอประวัติศาสตร์ได้อย่างน่าสนใจ โถงทางเดินทอดยาวจนสุดฝั่งตึกและม่านน้ำเป็นสิ่งแรกที่ต้อนรับผู้ชม เมื่อเราขึ้นลิฟต์มาถึงโซนจัดแสดง โดยมีถ้อยคำชวนนึกถึงชีวิตปรากฎขึ้นบนเสาตลอดทาง ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะพาผู้ชมอย่างเราๆ เข้าไปในโรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก เพื่อดูวิดีทัศน์สั้นๆ เป็นการเตรียมพร้อมก่อนเข้าไปรับชมนิทรรศการ โดยโซนจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์นี้จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ นิทรรศการถาวรและนิทรรศการหมุนเวียนนั่นเอง

    เริ่มต้นกันที่นิทรรศการถาวร ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ เริ่มต้นด้วย Hall of Life's Journey ที่ว่าด้วยการกำเนิดของมนุษย์ โซน MWR Kids & Teens ที่เปิดให้เด็กๆ ได้สัมผัสกับความรักผ่านกิจกรรมต่างๆ และโซน Great Hall of World Religions ที่นำเสนอประเพณีความเชื่อ จัดแสดงร่วมกับข้าวของเครื่องใช้ ที่ชวนให้เห็นความแตกต่างของวัฒนธรรมของคนจากทั่วโลก ไฮไลต์ของโซนนี้คงเป็นโมเดลสถาปัตยกรรมของสถานที่สำคัญทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็น โบสถ์ Notre-Dame ประจำเมืองปารีส ปราสาทหิน ซึ่งอุดมไปด้วยดีเทลเล็กๆ น้อยๆ ที่น่าประทับใจและเชื่อว่าต้องถูกใจสายโมเดลอย่างแน่นอน

    ในด้านของนิทรรศการหมุนเวียน ขณะที่ทีม happening ไปนั้น เรามีโอกาสได้รับชมนิทรรศการ Mountains, Ocean, and Sky-Nature in Me (จัดแสดงตั้งแต่ 21 มิถุนายน 2566 - 23 มิถุนายน 2567) ซึ่งเป็นนิทรรศการจัดวางที่เปลี่ยนห้องจัดแสดงให้กลายเป็นแหล่งธรรมชาติ ทั้งหุบเขา ทะเล และท้องฟ้า ให้ผู้คนในเมืองใหญ่ได้มีเวลาทบทวนชีวิตและความเป็นไปภายใต้การโอบล้อมของธรรมชาติอีกครั้ง

ข้อมูลเพิ่มเติม: mwr.org.tw

เปิด 10.00-17.00 น. ปิดวันจันทร์


Lightbox Photo Library

    นี่เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่รวบรวมหนังสือภาพถ่ายไว้มากที่สุดในไต้หวัน! Lightbox เป็นห้องสมุดภาพถ่ายของชุมชนที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2016 เพื่อรวบรวมผลงานภาพถ่ายของเหล่าศิลปินและเป็นศูนย์กลางให้กับกลุ่มคนที่รักในการถ่ายภาพได้มาพบปะกัน เนื่องจากที่ผ่านมานั้น ในประเทศไต้หวันมีการจัดนิทรรศการและกิจกรรมด้านการถ่ายภาพมาเรื่อยๆ แต่ยังไม่มีองค์กรที่จัดเก็บข้อมูลและผลงานของเหล่าศิลปินโดยเฉพาะ โดยมีภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนในการเปลี่ยนพื้นที่ตึกเก่าในเขตต้าอันให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชน และเปิดรับบริจาคจากคนทั่วไป ทั้งในแง่การเงินและการสนับสนุนหนังสือภาพ

    ใครจะรู้ว่าภายในพื้นที่บ้านหนึ่งชั้นขนาดพอเหมาะอุดมไปด้วยหนังสือภาพถ่ายกว่า 6,000 เล่มจากทั่วโลก มีให้ชมทั้งหนังสือภาพทั่วไป ตลอดจนหนังสือหายาก และเปิดให้คนทั่วไปเข้ามาใช้บริการฟรี โดยมีทีมสตาฟซึ่งมีความรู้ด้านการถ่ายภาพคอยให้คำแนะนำ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ชม โดยหนังสือจะถูกแบ่งหมวดหมู่ตามแหล่งที่มา และมีโซนจัดแสดงหนังสือที่น่าสนใจผลัดเปลี่ยนกันไปในแต่ละเดือน


    นอกจากนี้ ทาง Lightbox ยังเป็นหนึ่งในทีมที่มีกิจกรรมการประกวด นิทรรศการ และกิจกรรมด้านการถ่ายภาพอื่นๆ ภายในไต้หวันมาให้เหล่าช่างภาพได้ร่วมสนุกอย่างต่อเนื่องเกือบทุกเดือนอีกด้วย


ข้อมูลเพิ่มเติม: lightboxlib.org

เปิด 10.00-17.00 น. ปิดวันจันทร์และอาทิตย์


Taipei Performing Arts Center (臺北表演藝術中心)

    แม้เราจะยังไม่มีโอกาสได้รับชมการแสดงในโรงละคร แต่การได้เข้าไปเยี่ยมชมภายในพื้นที่และสำรวจสถาปัตยกรรมของ Taipei Performing Arts Center ก็อดประทับใจในดีเทลไม่น้อย นี่คือศูนย์ศิลปะการแสดงไต้หวันที่อุดมไปด้วยโปรแกรมและกิจกรรมด้านการแสดงที่หลากหลายและรองรับความต้องการของคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งถูกออกแบบโดย Rem Koolhaas และ David Gianotten สองสถาปนิกชื่อดังจาก OMA

    ด้วยรูปลักษณ์ของอาคารที่ดูร่วมสมัย มีจุดสนใจเป็นทรงกลมลูกบาศก์ อันเป็นที่ตั้งของโรงละคร Globe Playhouse ที่จุคนได้กว่า 800 ที่นั่ง ขณะที่รอบด้านของอาคารถูกตกแต่งด้วยผนังใสที่มีความโค้งมน ภายในแบ่งสัดส่วนเป็นพื้นที่ส่วนกลางให้ผู้คนได้เข้ามาพักผ่อน มีโรงละครขนาดใหญ่ที่จุคนกว่า 1,500 คน ตลอดจนมีส่วนที่พักของเหล่านักแสดงที่เตรียมมอบความสนุกให้กับผู้ชมในแต่ละค่ำคืน อีกทั้งภายในยังมีร้านอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นเจ้าของนิตยสารของตัวเอง อย่าง VERSE bar และร้านหนังสือให้แวะเวียนมาชมอีกด้วย

    อีกไฮไลต์ที่คุณไม่ควรพลาดเมื่อมาที่นี่ คือ Public Loop ซึ่งเปิดให้ผู้ชมเข้าชมฟรี โดยสามารถเข้าได้ทางด้านหน้าของโรงละคร เป็นกิจกรรมที่จะพาเราไปรับบทบาทเป็นนักสำรวจ เข้าไปชมเบื้องหลังของโรงละคร และร้านอาหารที่ซ่อนตัวอยู่ภายในตึก ก่อนที่ทางเดินทอดยาวจะพาคุณไปพบกับโซนดาดฟ้าที่ตกแต่งอย่างสวยงาม และมีมุมถ่ายภาพสวยๆ ให้ได้เก็บภาพความประทับใจ

ข้อมูลเพิ่มเติม: tpac-taipei.org

เปิด 12.00-21.00 น. ปิดวันจันทร์


Jut Art Museum (忠泰美術館)

    เมือง ศิลปะ และ อนาคต สามสิ่งนี้จะเกี่ยวโยงกันได้อย่างไร? Jut Art Museum (JAM) เกิดขึ้นจากการสนับสนุนของ Jut Foundation for Arts and Architecture (JFAA) ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดย Jut Land Development เมื่อปี 2550 โดยมีเป้าหมายในการนำเสนอมุมมองแนวคิดผ่านงานศิลปะภายใต้พื้นที่ขนาดเล็ก

    หากคุณสนใจประเด็นเกี่ยวกับเมืองและอนาคต คุณคงจะตกหลุมรักงานศิลปะภายในที่แห่งนี้ไม่น้อย ภายใต้คอนเสปต์ A Better Tomorrow พิพิธภัณฑ์ที่มีจุดเด่นเป็นประตูโมเดิร์นสีเขียวขนาดใหญ่จะพาคุณไปสำรวจถึงชีวิตของผู้คนในเมืองใหญ่ ท่ามกลางเทคโนโลยีที่เติบโตและผันผวนไปมา อนาคตของมนุษย์เราจะหน้าเป็นแบบไหน นี่เป็นใจความและคำถามหลักที่เหล่าศิลปินใช้ยึดในการสร้างสรรค์ผลงาน

    The Future Life, Future You-Digital, Machine and Cyborgs เป็นนิทรรศการที่จัดอยู่ในช่วงที่ทีม happening เดินทางไป และจะจัดต่อไปถึงวันที่ 28 มกราคม 2567 ได้พาให้ผู้ชมอย่างเราๆ เดินทางไปสู่โลกอนาคต โลกที่เราต่างกลายเป็นไซบอร์กและมีเครื่องจักรฝังอยู่ในร่างกาย เพื่อชวนจินตนาการต่อไปว่า มนุษย์และเทคโนโลยีจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไรในอนาคต ผ่านวิดีโอ นิทรรศการจัดวาง ภาพถ่าย และกิจกรรมที่ให้เราได้มีส่วนร่วมในการแสดงงาน เรียกได้ว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจและไม่ควรพลาดเลยทีเดียว

ข้อมูลเพิ่มเติม: jam.jutfoundation.org

เปิด 10.00-18.00 น. ปิดวันจันทร์


Taipei Fine Arts Museum

    นี่คือหมุดหมายสำคัญที่คนรักศิลปะต้องไปเยือนเมื่อไปไทเปอีกแห่ง Taipei Fine Arts Museum หรือ TFAM เป็นมิวเซียมแห่งแรกที่สร้างขึ้นมาเพื่องานศิลปะร่วมสมัยในไทเป เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 1983 ด้วยรูปทรงอาคารที่เป็นฟอร์มสี่เหลี่ยมหลายชิ้นซ้อนทับกัน ทำให้เป็นอาคารที่โดดเด่นและมีเอกลักษณ์มากๆ เมื่อเดินเข้าไปภายใน TFAM จะต้อนรับเราด้วยโถงขนาดใหญ่ เพดานสูงลิ่ว ผนังกระจกมองภายนอกได้กว้างไกล แอร์เย็นเฉียบ บอกว่าเรากำลังจะได้ไปดูอะไรบางอย่างที่สำคัญไม่ใช่น้อย และเมื่อซื้อบัตรชมงาน เราก็จะสามารถเดินเข้าไปชมในพื้นที่จัดแสดงซึ่งมีอยู่ 3 ชั้น พ่วงด้วยชั้นใต้ดินอีก 1 ชั้น มีลักษณะที่สอดคล้องกับรูปลักษณ์ภายนอกคือไม่ได้มีสเปซขนาดใหญ่ก้อนเดียว แต่เป็นการร้อยเรียงของห้องสี่เหลี่ยมขนาดต่างๆ ไปเรื่อยๆ เป็นผลให้การจัดนิทรรศการศิลปะที่นี่มีวิธีการลำดับเนื้อหาน่าสนใจเอามากๆ ประมาณว่าในห้องแรกเราอาจจะพบกับการจัดแสดงงานภาพ 2 มิติ พอห้องถัดไปเราอาจจะพบกับงานวิดีโออาร์ต พอถัดไปอาจจะเป็นงานศิลปะจัดวาง เป็นต้น

    ตอนที่เราไปเยือนเป็นช่วงที่ที่นี่กำลังจัดงาน Taipei Biennial 2023 พอดี ซึ่งทีมคิวเรเตอร์จัดงานปีนี้ในธีม Small World ซึ่งพออ่านคอนเสปต์แล้วต้องบอกว่าไม่ธรรมดา เพราะคำว่า Small World นี่สามารถสื่อได้ถึงการที่โลกและวัฒนธรรมต่างๆ กำลังเชื่อมโยงกันในทุกๆ มิติ แต่ในขณะเดียวกันคำนี้ก็สื่อถึงความ 'โลกแคบ' ก็ได้หากผู้คนไม่ได้เชื่อมโยงกัน ความน่าประทับใจคือทีม TFAM สามารถคัดเลือกผลงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ จากศิลปินหลายแนวทาง และจากหลายประเทศมาจัดแสดงได้อย่างชวนติดตาม แสดงถึงการได้รับการสนับสนุนงบประมาณที่เพียงพอสำหรับการจัดงานนิทรรศการศิลปะระดับประเทศได้จริงๆ


    ที่นี่เป็นมิวเซียมอีกแห่งที่ใช้พนักงานเป็นคนสูงวัย แต่ก็เป็นคนสูงวัยที่สามารถแนะนำเรื่องต่างๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว ที่ TFAM ยังมีโซนศิลปะสำหรับเด็กและห้องสมุดสำหรับเด็กอยู่ที่ชั้นใต้ดินด้วย ทำให้ที่นี่เป็นพื้นที่เหมาะสำหรับพาครอบครัวมาเดินเล่นแห่งหนึ่ง แต่มุมที่เราชอบมากๆ ตรงชั้นใต้ดินก็คือบริเวณห้องสมุดที่อยู่ติดกับสวนเล็กๆ ซึ่งเปิดให้คนไปเดินเล่นในสวนได้ด้วย มุมนี้ถือว่ายังดูเก๋ทันสมัยแม้ว่าอาคารแห่งนี้จะสร้างมาแล้วกว่า 40 ปีก็ตาม สรุปว่าใครมาเยือน TFAM เราอยากให้ใช้เวลาไม่น้อยกว่าครึ่งวันในการละเลียดชมงานศิลปะอย่างเต็มที่ แล้วอย่าลืมแวะดูหนังสือในห้องสมุดและเดินเล่นในสวนสวยๆ แห่งนี้ด้วยนะ

ข้อมูลเพิ่มเติม: tfam.museum


เปิด 9.30-17.30 น. ปิดวันจันทร์



Treasure Hill Artist Village

    จากหมู่บ้านเก่าบนเนินเขา กลายเป็นที่ตั้งของกองทหารก๊กมินตั๋งในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และค่อยๆ กลายเป็นชุมชนที่ผิดกฏหมาย จนในที่สุดทางภาครัฐก็จับมือกับชุมชนและ NGO ที่ทำงานด้านศิลปะ จัดให้พื้นที่นี้เป็นโครงการที่เปิดให้ศิลปินมาพำนัก ทำงาน แสดงผลงาน และจัดกิจกรรม มาตั้งแต่ปี 2010

    ความสนุกและความลุ้นของการมาเที่ยว Treasure Hill Artist Village คือลักษณะของชุมชนที่เป็นบ้านเก่าที่ก่อตัวซ้อนทับกันอยู่บนเนิน การเดินไปตามโครงการจึงต้องลัดเลาะตามซอกซอย เดินขึ้นลงขั้นบันได แวะเวียนไปดูบ้านหลังต่างๆ ที่บางแห่งก็เป็นที่พักของศิลปินในพำนัก บางแห่งก็ถูกดัดแปลงเป็นแกลเลอรี่แสดงผลงาน และบางแห่งก็กลายเป็นร้านเก๋ๆ ที่ซ่อนตัวอยู่อย่างแนบเนียนในหมู่อาหารเก่า แม้โครงการจะมีแผนที่ให้ค่อนข้างละเอียด แต่การเดินตามแผนที่ก็ต้องลุ้นอยู่ดี 

    ที่นี่งานศิลปะจึงอยู่ในพื้นที่หลากหลาย ตั้งแต่ถูกจัดแสดงในบ้านเก่าที่กลายเป็นแกลเลอรี่ อยู่ตามห้องอาคารร้าง หรืออยู่บนผนังที่เราเดินผ่าน ความดีงามอีกอย่างของ THAV คือความที่อยู่มานาน อาการเก่าที่เห็นร่องรอยความผุพังบ้างแล้วถูกแทรกด้วยต้นไม้ ทั้งไม้ยืนต้น ไม้ประดับ และต้นไม้กระถางนานาชนิด กลายเป็นการเติมชีวิตชีวาให้พื้นที่ได้อย่างรื่นรมย์ เอาเป็นว่าถ้าใครชอบถ่ายภาพแนวตึกเก่าและต้นไม้ล่ะก็ ที่นี่มีมุมถ่ายภาพให้คุณเยอะมากๆ เลยล่ะ แถมเมื่อเดินขึ้นไปถึงจุดสูงๆ บนยอดเนินแล้วก็จะพบวิวเมืองและวิวสวนริมแม่น้ำเป็นรางวัลที่เดินขึ้นมาจนสุดทางอีกด้วย


    THAV ยังมีโฮสเทลประจำโครงการชื่อว่า Attic ที่มีห้องพักเพียงแค่ 4 ห้อง และมีร้าน Select Shop รวบรวมของน่ารักๆ งานศิลปะ งานคราฟต์ และชิ้นงานของศิลปินที่ผูกพันกับ THAV ไว้จำหน่ายอีกด้วย และนอกจากร้านรวมของน่ารักร้านนี้แล้ว อีกจุดหนึ่งที่ผู้มาเยือนพลาดไม่ได้ก็คือ Historical Facade หรือมุมที่มองเห็นอาหารบ้านเรือนเก่าๆ ของ THAV ที่ก่อตัวซ้อนกันสูงจนคล้ายหน้าผา ถือเป็นจุดถ่ายภาพยอดนิยม และเป็นมุมที่บอกเล่าความทรงจำของที่นี่ได้อย่างชัดเจน

ข้อมูลเพิ่มเติม: artistvillage.org


เปิด 11.00-22.00 น. ปิดวันจันทร์


Museum of Contemporary Art Taipei

    ตึกสีแดงอิฐที่ทอดยาวไปตามริมถนนย่านจงชานนี้ ครั้งหนึ่งเคยถูกใช้เป็นโรงเรียนประถม ภายใต้การปกครองของประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 1921 ก่อนจะปรับเปลี่ยนเป็น Taipei City Hall ก่อนที่ปี 1996 อาคารเก่าหลังนี้จะถูกเนรมิตให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยแห่งแรกในไต้หวันและเปิดให้เข้าชมมาจนถึงปัจจุบัน แม้บทบาทจะเปลี่ยนไป แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือ โครงสร้างและสถาปัตยกรรมร่วมสมัยที่โดดเด่นเหนือกาลเวลา ตามความตั้งใจของภาครัฐที่ต้องการอนุรักษ์อาคารเก่าไว้

    ทางพิพิธภัณฑ์ยังมีการจัดพื้นที่จัดแสดงได้อย่างน่าสนใจ เริ่มตั้งแต่ทางเข้าที่มีกิฟต์ช็อปเล็กๆ จำหน่ายงานดีไซน์ ถัดไปอีกนิดเป็นห้องล็อกเกอร์และห้องจัดแสดงนิทรรศการขนาดเล็ก ก่อนที่เราจะเข้าสู่โซนจัดแสดงงานหลัก แถมระหว่างทางขึ้นบันได ยังมีมุมสำหรับรับชมวิดีโอสั้นๆ เพื่อให้ผู้ชมอย่างเราๆ ได้ทำความรู้จักกับศิลปินขึ้นอีกนิดด้วย

    การได้ลัดเลาะไปตามห้องต่างๆ ภายในอาคาร ให้ความรู้สึกราวกับท่องไปในโลกใหม่ ด้วยขณะนั้นเป็นคิวแสดงนิทรรศการหลัก Rescues in Time ที่รวบรวมผลงานตลอดชีวิตของศิลปิน หยางเม่าหลิน (Yang Mao-lin) แต่ละห้องจึงถูกเติมแต่งด้วยงานศิลปะ ทั้งภาพวาด ประติมากรรม และศิลปะจัดวางเหนือจินตนาการ ขณะที่ชั้นล่างพาผู้ชมอย่างเราๆ ดื่มด่ำไปกับเหล่าสัตว์ประหลาดใต้ท้องทะเล ชั้นสองกลับอุดมไปด้วยงานแกะสลักชิ้นไม้ที่ผสมผสานระหว่างความชอบส่วนตัวและความเชื่อของสังคมได้อย่างลงตัว จนอยากกลับไปชมด้วยตาตัวเองอีกสักครั้งหากมีโอกาส

ข้อมูลเพิ่มเติม: mocataipei

เปิด 10:00-18:00 น. หยุดวันจันทร์

วิภว์ บูรพาเดชะ

ผู้ก่อตั้งนิตยสาร happening, บรรณาธิการบริหารนิตยสาร happening, กรรมการบริหารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc), นักเขียน, นักแต่งเพลง, นักฟังเพลง และนักอ่านตัวยง

วรรณวนัช บูรพาเดชะ

ที่ปรึกษาทีม happening shop, เจ้าของเพจเฟซบุ๊กและหนังสือ 'ญี่ปุ่นอุ่นอุ่น', นักเขียน ช่างภาพโฟโต้บุ๊ก 'Nagasaki Light' และไกด์บุ๊ก 'Kagawa Memories' นอกจากภาพถ่ายและงานเขียน สิ่งที่เธอสนใจเป็นพิเศษคือการนั่งสมาธิและการโปรยมุขไม่ขำ

นิษณาต นิลทองคำ

กองบรรณาธิการที่กำลังใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน ชอบคุยกับผู้คน ท้องฟ้า และเสียงดนตรี เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการฟังเพลง ที่บางทีก็ปล่อยให้เพลงฟังเรา