ไล-บรา-รี่ กับการสร้างพื้นที่รองรับคนรักหนังสือ ศิลปะ และงานดีไซน์

    ห้องสมุดแห่งนี้ไม่เงียบเชียบแต่มีความสงบ หนังสือเกี่ยวกับงานดีไซน์ ภาพถ่าย และนิตยสารมากมายจัดอยู่บนชั้นวางให้ทุกคนสามารถหยิบอ่านได้อย่างอิสระ เก้าอี้และโต๊ะตอบรับการทิ้งตัวลงนั่งแบบไม่จำกัดเวลา เพลงที่เปิดคลออยู่ชวนให้โฟกัสกับการคิดงานในจังหวะที่พอดี ส่วนรสชาติของบทสนทนากับเพื่อนร่วมโต๊ะนั้นกลมกล่อมด้วยกลิ่นกาแฟกรุ่นและวาฟเฟิลใบเตยเคล้ากันไป 
    เรากำลังพูดถึง ไล-บรา-รี่ (li-bra-ry) ร้านที่นำเสนอพื้นที่สำหรับผู้คนที่ต้องการใช้เวลานั่งอ่านหนังสือ คิดงาน หรือพักผ่อนหย่อนใจ โดยมีเครื่องดื่ม ของว่าง และอาหารให้บริการ แต่นอกเหนือจากสาขาสแตนด์อโลนอย่างพระราม 9 และสาขาอื่นๆ แล้ว ไล-บรา-รี่ ยังพาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของร้านหนังสือ Candide Books ภายในโครงการ The Jam Factory ย่านคลองสาน ขยับขยายไปเปิด a Coffee Roster by li-bra-ry ในโกดังที่ปรับเป็นพื้นที่สร้างสรรค์อย่าง Warehouse 30 กระโดดเข้าไปอยู่ในความร่มรื่นของโครงการดาดฟ้าเพื่อให้คนสัมผัสกับความเป็นศิลปะในชีวิตประจำวันกับ li-bra-ry art bar และล่าสุดยังฝังตัวอยู่ใน Yelo House พื้นที่สร้างสรรค์ที่มีแกลเลอรี่แสดงศิลปะในชื่อ li-bra-ry espresso bar อีกด้วย
การเปิดผนังส่วนหนึ่งเป็นทางเดินแล้ววางโต๊ะเก้าอี้เข้าไปเป็นตัวกลางเชื่อมพื้นที่ของร้านหนังสือ Candide Books ให้ต่อเนื่องกับ ไล-บรา-รี่ ก่อให้เกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน แต่ยังให้สามารถหามุมสงบได้ในมุมติดผนังและชั้นวางของ
    เป็ม-พลวิทย์ เภตรา พูดถึงแนวคิดของการทำร้าน ไล-บรา-รี่ เพื่อสร้างพื้นที่ของตัวเอง ก่อนที่จะขยับไปสร้างในพื้นที่ซึ่งมีความเคลื่อนไหวของศิลปะและความคิดสร้างสรรค์อื่นๆ ว่า "เริ่มต้นเราอยากมีสเปซที่เหมือนกับห้องสมุด สำหรับไว้นั่งคิดงาน อ่านหนังสือ คุยกับทีม หรือประชุมกับลูกค้า ฉะนั้นสเปซแรกสุดคือสเปซที่เป็นของเรา เป็นตัวเรา แล้วอยากให้เพื่อนๆ หรือคนอื่นมานั่งเล่นในสเปซของเราด้วย ดังนั้นช่วงแรกของ ไล-บรา-รี่ จึงเป็นเหมือนห้องสมุดในบ้านของเราเอง" 
    เดิมที ไล-บรา-รี่ สาขาพระราม 9 เคยแบ่งห้องชั้นล่างเป็นแกลเลอรี่เพื่อนำศิลปะเข้ามาสร้างกิจกรรมความเคลื่อนไหวในพื้นที่ เพียงแต่เมื่อดำเนินการไปสักพักเขารู้สึกว่าไม่ถนัดด้านการจัดนิทรรศการสักเท่าไร จึงเลือกทำสิ่งที่ถนัดคือการสร้างสเปซ แล้วเลือกมองหาพื้นที่และพันธมิตรซึ่งมีการจัดคอนเทนต์อย่างต่อเนื่อง แล้วนำ ไล-บรา-รี่ เข้าไปอยู่ในสถานที่นั้น โดยคงแนวคิดที่ต้องการสร้างสเปซให้คนมานั่ง แต่ปรับจุดยืนว่า ไล-บรา-รี่ เป็นผู้เข้าไปซัพพอร์ตที่นั้นๆ ในลักษณะเดียวกับคาเฟ่ของพิพิธภัณฑ์หรือแกลเลอรี่ต่างประเทศ ซึ่งคนมักจะไปนั่งพักดื่มกาแฟพูดคุยกันหลังจากเดินชมงานศิลปะแล้ว
a Coffee Roster by li-bra-ry อยู่ภายใต้ โครงสร้างเปลือยของโกดังที่ปรับเปลี่ยนเป็น Warehouse 30 พื้นที่สร้างสรรค์ที่จัดกิจกรรมด้านศิลปะและการออกแบบอยู่เสมอ ดังนั้นเขาจึงมองว่า คนที่เดินทางมาคือคนที่ตั้งใจมาทำกิจกรรมหรือชมผลงานต่างๆ ที่ Warehouse 30 แต่ตรงนี้คือ ไล-บรา-รี่ ที่คนสามารถเข้ามานั่งดื่มกาแฟได้
    ดังนั้นเราจึงเห็น ไล-บรา-รี่ ไปปรากฏอยู่ในพื้นที่สร้างสรรค์ แกลเลอรี่ และโครงการไลฟ์สไตล์ที่เหมาะสำหรับคนชอบงานศิลปะและงานออกแบบ ในคาแรกเตอร์ที่หลากหลายแต่ยังคงตัวตนและสามารถอยู่ร่วมกับสถานที่นั้นๆ ได้อย่างลงตัว
    "จริงๆ ถ้ามองในมุมของการออกแบบทุกที่มันท้าทายหมด" เป็มนึกถึงแต่ละสถานที่ซึ่ง ไล-บรา-รี่ เข้าไปอยู่ด้วย "คือทุกที่เป็นบ้านเขาหมด แต่แทนที่เราจะเอาตัวตนของเราไปครอบสถานที่นั้น เรากลับมองว่าเราชอบความเป็นบ้านของเขา แล้วพยายามเข้าไปอยู่ร่วมกับเขาให้ลงตัวมากที่สุด เพราะสถานที่ของเขาสวยอยู่แล้ว เขามีดียังไง เราก็พยายามดึงตรงนั้นมาเป็นไอเดีย แล้วนำตัวเราเข้าไปแบบถ่อมตัวให้มากที่สุด แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีดีเอ็นเอของ ไล-บรา-รี่ อยู่ในนั้น โดยใช้โลโก้ สี วัสดุ เข้าไปตกแต่ง แต่ไม่ไปปกปิดสถานที่นั้นนะครับ สมมุติพื้นที่เขาเป็นสีดำ เราจะไม่เอาไม้ไปปิด แต่เราแค่หยอดเฟอร์นิเจอร์สีขาวลงไป หยอดพื้นผิวไม้ลงไป"
li-bra-ry espresso bar ที่ Yelo House คืออีกหนึ่งสาขาที่ท้าทายการออกแบบ ซึ่งต้องใส่ตัวตนของ ไล-บรา-รี่ เข้าไปกลมกลืนกับพื้นที่ที่มีสีสันให้ได้
    ส่วน li-bra-ry espresso bar ที่ Yelo House ถือเป็นอีกความท้าทายเพราะพื้นที่ประกอบด้วยสีเหลืองที่ ไล-บรา-รี่ ไม่เคยใช้มาก่อน ดังนั้นจึงต้องปรับวิธีคิดในการออกแบบเพื่อสามารถนำตัวเองเข้าไปอยู่กับสถานที่ให้ได้
    เป็มบอกว่าสีเหลืองไม่ใช่สีของ ไล-บรา-รี่ เลย ดังนั้นเขาจึงตั้งต้นด้วยวิธีคิดแบบ "ที่นี่ต้องเป็นสาขาที่มีสีเหลือง เนื่องจากเวลาไปนั่งยังไงก็ต้องเห็นสีเหลือง เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่เราทำจะไม่มีสีเหลืองเลย เราพยายามใช้คู่สีหรือวัสดุที่ใส่ความเป็น ไล-บรา-รี่ ลงไปในภาชนะ ถ้วยชาม หรือกราฟิก ที่สามารถอยู่ร่วมกับความเป็น Yelo House ที่เป็นสีเหลืองตรงนั้นได้ เฟอร์นิเจอร์บางอย่างที่เรารู้สึกว่าจะต้องเปลี่ยนก็เปลี่ยน ถ้ามีบางอย่างที่ดิบมาก เราก็พยายามเอาสิ่งที่เนี้ยบหน่อยเข้าไปวาง เหมือนหยดสีสองสามหยดให้มันซึมเข้าไป"
happening library ภายใน ดาดฟ้า โครงการคอมมูนิตี้มอลล์ย่านลาซาล คือโปรเจกต์ที่ร่วมทำกับ happening shop จึงเกิดเป็นร้าน li-bra-ry art bar ในพื้นที่เดียวกับซีเล็กต์ช็อปซึ่งมีสินค้าหลากหลายทั้งเสื้อผ้า ของแต่งบ้าน งานดีไซน์ เครื่องเขียน เครื่องประดับ แต่สิ่งสำคัญคือ ร้านนี้ขายหนังสือที่ช่วยส่งเสริมความเป็น ไล-บรา-รี่ ด้วย
    สำหรับโจทย์ของ li-bra-ry art bar เป็มมองการมีอยู่ของ ไล-บรา-รี่ กับ happening shop ว่าเป็นพื้นที่เดียวกันตั้งแต่แรก เพียงแต่มีการจัดฟังก์ชั่นในส่วนของ happening shop เป็นรีเทลขายของ กับฟังก์ชั่นที่ขายเครื่องดื่ม แล้วจัดวางที่นั่งเป็นโต๊ะยาวเพื่อเชื่อมโยงคนที่เข้ามาเดินดูสินค้าและดื่มกาแฟไม่ให้รู้สึกแบ่งแยกกัน
    นอกเหนือจากนั้นเขายังให้ความสำคัญกับพื้นที่โครงการดาดฟ้าเป็นพิเศษ เพราะนอกจากการออกแบบให้มีความร่มรื่นกลมกลืนกับสถาปัตยกรรมที่สวยงามแล้ว ยังมีความตั้งใจที่เปิดให้คนในชุมชนเข้ามาใช้เวลาคุณภาพในโครงการ จึงมีการทบทวนจุดยืนของร้านเพื่อปรับให้เข้ากับกลุ่มคนย่านลาซาล ทำให้มีเมนูพิเศษที่แตกต่างจากสาขาอื่นด้วย
    "เรารู้สึกว่าคนที่มาดาดฟ้าน่าจะเป็นกลุ่มคนที่เข้าใจศิลปะหรือชอบดีไซน์เยอะ ช่วงแรกเราเลยมุ่งไปทางนั้น คือจริงๆ เราเชื่อว่าย่านนี้มีคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเราอยู่ แต่ว่าไลฟ์สไตล์ของเขาอาจจะไม่ได้มาที่นี่ เพราะคนเหล่านั้นกระโดดเข้าไปใช้ชีวิตในเมืองเลย ดังนั้นเรายังนำเสนอสิ่งที่คนสนใจศิลปะและงานดีไซน์อยู่ เพียงแต่เราอาจจะต้องเปิดกว้างขึ้นเป็นมุมมองที่เข้าใจง่ายขึ้น อย่างเครื่องดื่มเดิมผมวางไว้ว่าจะเป็นกาแฟที่เจาะเฉพาะกลุ่มมาก แต่ตอนนี้เราปรับเมนูใหม่ที่กว้างขึ้น ดื่มง่ายขึ้น เข้าใจง่ายขึ้น"
เป็มยืนอยู่หลังเครื่องชงกาแฟแบบคันโยกของ li-bra-ry art bar ซึ่งเครื่องชงแบบแมคคานิคนี้ ถือเป็นหนึ่งเอกลักษณ์ของร้าน ไล-บรา-รี่ ที่มีอยู่ทุกสาขานั่นเอง

    บางครั้งร่างกายและความคิดที่เคลื่อนไหวหลังเดินชมงานศิลปะ ร่วมกิจกรรมสร้างสรรค์ หรือเดินเลือกซื้อของจากแบรนด์ดีไซน์ต่างๆ อาจต้องการที่สำหรับหยุดพักเพื่อตกตะกอนและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ไล-บรา-รี่ จึงสร้างสรรค์พื้นที่สำหรับนั่งจิบเครื่องดื่มนิ่งๆ ให้ทุกคนสามารถใช้เวลาซึมซับบรรยากาศจากสถานที่เหล่านั้น ก่อนที่จะเดินจากไปด้วยความรู้สึกอิ่มใจ


ติดตามความเคลื่อนไหว เวลาเปิด-ปิด และโปรโมชั่นต่างๆ ของ ไล-บรา-รี่ ได้ทาง: librarycafe

คลิกเพื่อเปิดแผนที่การเดินทาง

li-bra-ry at Candide

a Coffee Roster by li-bra-ry

li-bra-ry art bar

li-bra-ry espresso bar

ดุสิตา อิ่มอารมณ์

นักเขียน ผู้ใช้พื้นที่ในเวลาว่างไปกับการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ขี่จักรยาน อ่านการ์ตูน เล่นเลโก้ ฯลฯ โดยเชื่อเต็มหัวใจว่าเวลาที่หมดไปกับความรื่นเริงนี้สามารถเติมเต็มชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ