Blue Period กับ 6 เรื่องราวน่าสนใจที่จะสัมผัสได้จากการ์ตูนที่เป็นมากกว่าการ์ตูนศิลปะเรื่องหนึ่ง

    ชิบูย่าสีฟ้า ความฝันของเด็กหนุ่มมัธยมปลาย ยางุจิ ยาโทระ เริ่มต้นขึ้นในวันหนึ่งที่เขาได้พบกับภาพวาดสีน้ำมันรูปนางฟ้า และเพิ่งรู้ตัวว่าตนเองนั้นชอบวาดภาพ นั้นคือจุดเริ่มต้นของ Blue Period การ์ตูนที่จะพาเราติดตามชีวิตของเด็กหนุ่มที่ต้องมุ่งมั่นและพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยศิลปะโตเกียว มหาวิทยาลัยศิลปะรัฐบาลเพียงแห่งเดียวของญี่ปุ่นที่มีอัตราการสอบเข้ามากถึง 1:200 คน ที่ผู้อ่านได้เห็นถึงความทุ่มเทพยายามเพื่อทำตามความฝันจนอดที่จะเอาใจช่วยไม่ได้

    การ์ตูนเรื่องนี้ไม่ใช่แค่การ์ตูนศิลปะธรรมดาๆ แต่ Blue Period ยังเป็นการ์ตูนที่พูดถึงประเด็นน่าสนใจอีกมากมาย และได้รับรางวัลชนะเลิศจากเวที Manga Taisho Awards ครั้งที่ 13 อีกด้วย 

    กระแสความนิยมของการ์ตูนเรื่องนี้ทำให้ Blue Period ได้รับการสร้างเป็นแอนิเมชั่นฉายในสตรีมมิ่ง Netfilx ที่ได้ออกอากาศไปทั่วโลก ถึงแม้ในรูปแบบของแอนนิเมชั่นจะมีความยาวเพียงตอนละประมาณ 23 นาที ทำให้ไม่สามารถถ่ายทอดรายละเอียดในการ์ตูนออกมาได้ทั้งหมด แต่ก็ยังถือว่าเรื่องนี้เป็นแอนิเมชั่นคุณภาพดีอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ควรพลาดเลยทีเดียว เพราะมีทั้งเรื่องราวที่เปี่ยมไปด้วยความฝัน ความทุ่มเทของวัยรุ่น ช่วงชีวิตที่ต้องค้นหาตัวเอง เทคนิกศิลปะที่สอดแทรกมาตลอดทั้งเรื่อง และเรื่องราวอีกมากมาย เราจึงรวบรวม 6 ประเด็นที่น่าสนใจหลังจากได้สัมผัสกับการ์ตูนเรื่องนี้มาให้อ่านกัน

โปสเตอร์ภาพเปิดจากการ์ตูน Blue Period

1. การค้นหาและค้นพบตัวตน

    ประเด็นเริ่มแรกของการ์ตูนเรื่องนี้ เริ่มต้นด้วยการค้นหาตัวเองในช่วงชีวิตมัธยม ยาโทระก็เป็นเพียงแค่เด็ก ม.5 คนหนึ่ง ที่ผลการเรียนดี เข้าสังคมเก่ง แต่กลับไม่มีความฝัน ไม่มีสิ่งที่ชอบเป็นพิเศษ จนมาได้พบกับภาพวาดภาพหนึ่งโดยบังเอิญทำให้เขารู้สึกอยากวาดรูปขึ้นมา และได้ค้นพบตัวเองในที่สุดว่าเขาชอบการวาดรูป หลังจากนั้นจึงมุ่งมั่นและทุ่มเทสุดชีวิตเพื่อเข้ามหาลัยศิลปะโตเกียว

ภาพจาก Blue Period EP.1
    "เด็กที่พยายามไม่เป็นคือเด็กที่ไม่มีสิ่งที่ชอบค่ะ การทุ่มเทในสิ่งที่ชอบสุดชีวิตเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่หรอคะ" - อาจารย์ซาเอกิ (อาจารย์ประจำชมรมศิลปะ) จากหนังสือ Blue Period เล่มที่ 1
    แต่ในเรื่องนี้ไม่ได้มีแค่เพียงยาโทระเท่านั้นที่ค้นพบและกำลังค้นหาตัวเอง ยังมีกลุ่มเพื่อนของยาโทระที่ภายนอกดูเหมือน 'พวกแยงกี้' (นักเรียนที่เกเรหรืออันธพาล) แต่จริงๆ แล้วกลับมีความฝันที่อยากเปิดร้านขนมอบ หลังจากที่ได้เห็นความมุ่งมั่นของยาโทระที่พยายามอย่างสุดความสามารถที่จะทำตามความฝันของตัวเอง จึงเริ่มที่จะยอมรับกับความชอบของตัวเองขึ้นมาด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับวัยรุ่น LGBTQ+ ด้วยเช่นกัน
ภาพจาก Blue Period EP.3
    "แต่งตัวเป็นผู้หญิงนี้มันแปลกขนาดนั้นเลยหรือไง การอยากให้ตัวเองสวยหรือน่ารักบ้าง หรือการที่ผู้ชายชอบผู้ชาย มันผิดปกติตรงไหนกัน ฉันจะปกป้องตัวเองด้วยสิ่งที่ฉันชอบไม่ได้เลยเหรอ" - อายุคาวะ ริวจิ (เพื่อนในชมรมศิลปะ) จากหนังสือ Blue Period เล่มที่ 1
    คำพูดจาก อายุคาวะ ริวจิ เด็กชายหน้าตาน่ารักที่แต่งตัวเป็นหญิง หนึ่งในสมาชิกชมรมศิลปะ ที่มีความเป็นตัวเองสูง แต่มีความสับสนทั้งเรื่องความสัมพันธ์และการต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย Blue Period ได้พูดถึงประเด็นนี้อย่างอ่อนโยนและตรงไปตรงมา เพื่อให้คนที่ได้อ่านหรือดูการ์ตูนเรื่องนี้เข้าใจถึงความเป็นมนุษย์ได้มากขึ้น 
    ซึ่งหากผู้อ่านอยู่ในช่วงวัยเดียวกับตัวละครที่มีความหลากหลายในเรื่อง น่าจะสามารถทำความเข้าใจกับความคิดและความรู้สึกของตัวเองไปพร้อมๆ กับตัวละครได้เช่นกัน
2. ความฝันที่ไม่ใช่เรื่องของเราแค่คนเดียวเสมอไป
    เพราะเราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลกใบนี้ ดังนั้นมันจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่เราจะพุ่งเป้าไปที่ความฝันหรือจุดมุ่งหมายของตัวเองเพียงอย่างเดียวโดยที่ไม่สนใจใครเลย Blue Period ก็เช่นเดียวกัน หลังจากที่ตัวเอกของเรื่องเริ่มที่จะจริงจังกับการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยศิลปะ กลับกลายเป็นว่าความหัวดีของเขา ทำให้หลายคนทักท้วงเกี่ยวกับการตัดสินใจ เลยทำให้เห็นทัศนคติของคนต่อศิลปะที่อาจจะไม่ต่างกัน ไม่ใช่แค่ที่ประเทศไทยเท่านั้นที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับศิลปะ และมีคำถามเกี่ยวกับการเรียนศิลปะว่าจบไปแล้วจะทำมาหากินอะไร ดูเป็นอาชีพที่ไม่มั่นคง ผ่านทัศนคติของอาจารย์หรือแม้แต่ตัวของยาโทระเองในตอนแรก
    "ผมไม่เห็นจะเข้าใจไอ้ความมุ่งมั่นที่ทำมาหากินไม่ได้ ก็ยังทำในสิ่งที่ชอบ" - ยางุจิ ยาโทระ จากหนังสือ Blue Period เล่มที่ 1
    แต่นั้นยังไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะจุดที่สำคัญที่สุดคือครอบครัวและสถานะทางการเงินที่สวนทางกับความฝัน ในช่วงที่สับสนและกำลังหาวิธีบอกกับครอบครัวเรื่องการตัดสินใจของตัวเอง เขาก็ได้คิดถึงวิธีที่จะสื่อสารความรู้สึกในใจของเขาผ่านงานศิลปะที่เขารัก

ภาพจาก Blue Period EP.2

    "มือของแม่ จมูกเล็บฉีกเพราะล้างจานด้วยน้ำร้อน และเพราะต้องแบกของหนักเวลาไปซื้อของแขนเลยมีกล้ามเนื้อกว่าที่คิด พอวาดไปเรื่อยๆ ผมก็นึกขึ้นได้ทีละเล็กทีละน้อย เลยคิดได้ว่าคนคนนี้คิดถึงเพียงแต่ครอบครัวอยู่เสมอ ถ้าไม่ได้วาดรูป ผมคงไม่ได้สังเกตุสิ่งเหล่านี้ ขอโทษนะครับแม่" - ยางุจิ ยาโทระ จากหนังสือ Blue Period เล่มที่ 2
    สุดท้ายแล้วครอบครัวของเขาก็เข้าใจและพร้อมที่จะสนับสนุน เพราะจริงๆ แล้วเรื่องที่ครอบครัวกังวลไม่ใช่เพราะการเลือกเรียนศิลปะ แต่เพราะเป็นห่วงกลัวว่าเรื่องที่ตัดสินใจจะทำให้ผิดหวังในอนาคต แต่เมื่อได้เห็นความตั้งใจจริงของยาโทระแล้วก็อยากที่จะเชื่อใจและให้กำลังใจด้วยเช่นกัน
3. เทคนิกศิลปะที่สอดแทรกอยู่ตลอดทั้งเรื่อง
ภาพจาก Blue Period EP.1 และ EP.3

    เรื่องที่ธีมหลักเป็นศิลปะจะขาดเรื่องราวของศิลปะได้อย่างไรกัน แต่พูดถึงศิลปะ บางคนอาจจะคิดถึงแค่เพียงการวาดรูปอย่างเดียวเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วศิลปะมีอะไรมากกว่านั้น  ทั้งพื้นฐาน การสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ที่ไม่มีขอบเขต การต่อยอดในสายงานต่างๆ เพราะจริงๆ แล้วศิลปะมีอะไรที่ยิบย่อยไปมากกว่านั้นมาก ใครที่ชอบหรือสนในด้านศิลปะรับรองว่าจะชอบและยิ่งอินกับการ์ตูนเรื่องนี้แน่นอน เพราะมีเทคนิกศิลปะเข้ามาสอดแทรกตลอดทั้งเรื่อง เหมือนได้เรียนรู้ศิลปะไปพร้อมๆ กับตัวเอก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพื้นฐานทั่วไป การผสมสี การจัดองค์ประกอบภาพ อุปกรณ์ที่ใช้สร้างสรรค์ผลงาน ฯลฯ บอกเลยว่าอาจจะได้แง่มุมใหม่ๆ และแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานบ้างก็เป็นได้

ภาพจาก Blue Period EP.5
4. ได้รู้จักงานศิลปะที่หลากหลาย
ภาพจาก Blue Period EP.4

    นอกจากเทคนิกศิลปะที่จะได้รับตลอดทั้งเรื่องแล้ว ยังจะได้รู้จักและรับชมงานศิลปะที่หลากหลายด้วย หลากหลายทั้งในแง่ของเทคนิกและรูปแบบการนำเสนอผลงาน เหมือนกับว่าการ์ตูนเรื่องนี้เป็นแกลอรี่เคลื่อนที่เลยทีเดียว ที่สำคัญในฉบับหนังสือการ์ตูนนักเขียนยังให้เครดิตถึงที่มาและเจ้าของผลงานจริงๆ ให้เราได้ทำความรู้จักกับศิลปินกันอีกด้วย โดยเจ้าของผลงานแต่ละภาพนั้นคือนัดวาดภาพประกอบ นัดวาดที่ชื่นชอบ และผู้ช่วยของอาจารย์ซึบาสะ ยามากูชิ (Tsubasa Yamaguchi) นักวาดและผู้เขียนการ์ตูนเรื่องนี้นั่นเอง! ถ้าชื่นชอบผลงานของใครในเรื่องนี้สามารถไปติดตามเจ้าของผลงานตัวจริงกันได้เลย

ภาพจากหนังสือ Blue Period เล่มที่ 1
ภาพจาก Blue Period EP.1 และ EP.5

    ยกตัวอย่างเช่น เจ้าของภาพวาดสีน้ำมันรูปนางฟ้าของรุ่นพี่โมริ รุ่นพี่ในชมรมศิลปะที่เป็นจุดเริ่มต้นให้ยาโทระวาดภาพ มีชื่อว่า มาริโมะ โทโมริ (Marimo Tomori) เป็นนักวาดและนักเขียนการ์ตูนเรื่อง Hansuke Kuimonochou นั้นเอง

5. คำพูดที่จะจุดประกายความฝันและสร้างความเจ็บจี๊ดไปที่หัวใจ

    ครั้งแรกที่มีโอกาสได้สัมผัสกับการ์ตูนเรื่องนี้ทั้งรูปแบบการ์ตูนแอนนิเมชั่นและแบบหนังสือการ์ตูน มีอยู่สิ่งหนึ่งที่รู้สึกว่าแทงใจดำของผู้อ่านได้ดีจริงๆ นั้นก็คือคำพูดของแต่ละตัวละครที่เป็นได้ทั้งแรงบันดาลใจของคนชอบงานศิลปะ และคำพูดที่จริงๆ แล้วอยู่ในก้นบึ้งของหัวใจเราแต่ไม่เคยยอมรับมันออกมา อาทิเช่น

    "ศิลปะมันสนุกนะคะ ยิ่งเป็นคนที่ซื่อตรงต่อตัวเองเท่าไหร่ ศิลปะจะยิ่งมีพลังมากเท่านั้น เพราะมันเป็นภาษาที่ไร้ตัวอักษรยังไงล่ะ" - อาจารย์ซาเอกิ (อาจารย์ประจำชมรมศิลปะ) จากหนังสือ Blue Period เล่มที่ 1

    "ฉันไม่ได้มีพรสวรรค์อะไรหรอก แค่ใช้เวลาคิดเรื่องภาพวาดมากกว่าคนอื่นเท่านั้นเอง ภาพวาดพวกนี้ มีวิธีวาด วิธีเรียนอยู่ แค่สะปัดแปรงไปแล้วมาชมว่า 'พรสวรรค์' เนี่ย มันรู้สึกเหมือนมีคนบอกว่าฉันไม่ได้พยายามอะไรเลยน่ะ" - รุ่นพี่โมริ (รุ่นพี่ในชมรมศิลปะ) จากหนังสือ Blue Period เล่มที่ 1

    "พอได้วาดภาพ ทิวทัศน์ที่เคยเห็น ก็เห็นแจ่มชัดขึ้นกว่าที่ผ่านมา กลับรู้สึกราวกับไม่เคยรู้มาก่อน" - ยางุจิ ยาโทระ จากหนังสือ Blue Period เล่มที่ 2

    "การทำสิ่งที่ชอบ … ไม่ได้หมายความว่าจะสนุกตลอดไปหรอกนะ" - ยางุจิ ยาโทระ จากหนังสือ Blue Period เล่มที่ 3

ภาพจาก Blue Period EP.4

    นี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของข้อความที่เรายกตัวอย่างมาเท่านั้น ในเรื่องบอกเลยว่าเต็มไปด้วยความพูดดีๆ อีกมากมายที่จะทั้งเยียวยาจิตใจและเป็นคำตอบของบางคำถามในหัวใจของเราด้วย

6. ทบทวนความรู้สึกและการทบซ้อนของประสบการณ์
    การนำเสนอของการ์ตูนเรื่องนี้ จะอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านของช่วงวัย (coming of age) ทั้งความฝัน ความสับสน เชื่อว่าหลายคนคงมีจุดร่วมในสิ่งนี้ได้ไม่ยากสักเท่าไหร่นัก สิ่งนี้เอง อาจจะทำให้เรารู้สึกอยากเอาใจช่วยตัวเอกของเรื่องไปด้วย เหมือนได้ย้อนกลับไปในช่วงเวลาที่เรากำลังวิ่งตามความฝันอยากสุดแรง (ถึงแม้ความฝันของเราจะไม่ใช่เรื่องของศิลปะก็ตาม) หลายคนคงได้ทบทวนความรู้สึกและความฝันของตัวเองไปพร้อมๆ กับตัวละครในเรื่องนี้ด้วย 
    "ทำสิ่งที่ชอบเป็นแค่งานอดิเรกก็พอแล้ว เป็นความคิดของผู้ใหญ่เท่านั้นแหละค่ะ" - อาจารย์ซาเอกิ (อาจารย์ประจำชมรมศิลปะ) จากหนังสือ Blue Period เล่มที่ 1
    พอได้ยินประโยคนี้ครั้งแรกแล้ว ทำให้นึกถึงในช่วงเวลาของการตัดสินใจว่าจะเลือกเรียนในสิ่งที่ชอบแต่ไม่มั่นคง หรือจะเรียนในสิ่งที่สังคมบอกว่าดี ถ้าย้อนกลับไปแล้วเลือกที่จะทำในสิ่งที่ชอบเหมือนยาโทระจะเป็นอย่างไรนะ น่าจะมีหลายคนที่เคยเจอกับสถานการณ์แบบนี้ ทำให้อดไม่ได้ที่จะเอาใจช่วยยาโทระที่เลือกทำในสิ่งที่เขาชอบ หรือจะเป็นคนที่เลือกในสิ่งที่ชอบมาตั้งแต่ต้น ก็จะพอเข้าใจความลำบากที่จะตามมาหลังจากนี้ด้วยเช่นกัน
    เหตุผลที่ 6 ข้อนี้เองที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ Blue Period เป็นที่นิยมอย่างมาก ถึงขนาดที่ว่าถ้าใครอยากจะสัมผัสการ์ตูนเรื่องนี้ในรูปแบบของหนังสือการ์ตูนละก็แทบจะหาราคาตามปกไม่ได้ เนื่องจากความนิยมทำให้ขาดตลาดและมีการอัพราคาขึ้นหลายเท่าตัวเลยทีเดียว! ต้องรอให้ทางสำนักพิมพ์ Luckpim ประกาศพิมพ์เพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันฉบับภาษาไทยแปลออกมาจำนวน 4 เล่มแล้ว หรือถ้าใครรอไม่ไหว สามารถซื้อแบบ E-Book มาอ่านกันได้เลยนะ!
ติดตามอ่านหรือรับชม Blue Period ได้ทาง

E-Book: Blue Period

Netflix: Blue Period 

ณัฐพร ก้อนมณี

ครีเอทีฟผู้ตกหลุมรักการกินของหวาน ชอบใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่านหนังสือ ดูการ์ตูน และอินไปกับซีรีส์สืบสวน และยังเชื่อว่าชานมพุดดิ้งเป็นคำตอบของทุกสิ่ง