WHAT THE THAI FILM! หนังไทยแบบนี้ก็มีด้วย!

    แม้ช่วงที่ผ่านมาคอหนังบ้านเราอาจจะรู้สึกว่าวงการหนังไทยดูแผ่วๆ มีผลงานให้รับชมน้อยกว่าหนังฝั่งเอเชียด้วยกัน และดูไม่ค่อยเติบโตอย่างคึกคักนัก เมื่อเทียบกับระยะทางที่เดินทางสร้างสรรค์ผลงานกันมา แต่จริงๆ แล้วเรายังอยากยืนยันว่า หนังไทยนั้นไม่เคยแพ้ชาติใดในโลก! แค่ในช่วงกว่า 50 ปี หนังไทยเคยทำมาแล้วทุกแนว และบางเรื่องอาจไม่มีใครคิดด้วยซ้ำว่าคือหนังไทย เพราะวงการหนังบ้านเราไม่เคยขาดผู้กล้า-บ้า-ใจถึง โนสน-โนแคร์ตลาด หรือผู้ชมส่วนใหญ่ในกระแสหลัก เพียงเพื่อประดับผลงานที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนใครไว้ให้กับวงการ
    ลองดูจากตัวอย่างหนังส่วนหนึ่งที่เราคัดมาให้ดูกัน 20 เรื่องนี้ก่อนก็ได้ ว่าหนังไทยยังสามารถขยายขอบเขตความแปลก-ประหลาด-ล้ำ ไปได้ไกลแค่ไหน และบางเรื่องหรือหลายเรื่องอาจทำให้ใครต้องร้องขึ้นมาในใจว่า หนังไทยแบบนี้ก็มีด้วย! แบบชื่อบทความนี้ก็เป็นได้

มันมากับความมืด (2514)
    สำหรับฮอลลีวูดหรือกระทั่งหนังญี่ปุ่น หนังแนววิทยาศาสตร์หรือไซไฟ มีสร้างกันมานาน โดยเฉพาะในยุค '50 ที่เกิดหนังแนวนี้ระดับคลาสสิกหลายเรื่อง ส่วนบ้านเรา ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันยังหาคนทำยากเย็น แต่ก็ใช่ไม่เคยมี เมื่อครั้ง ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล เริ่มทำหนัง ท่านมุ้ยก็ขอแหวกแนวทำหนังไซไฟเรื่องแรกของเมืองไทย   
    บทหนังเล่าเรื่องของอุกกาบาตที่ตกลงมาในทะเล ก่อนจะเกิดเหตุมีคนตายอย่างลึกลับ นักวิทยาศาสตร์กับคนกลุ่มหนึ่งจึงออกค้นหาความจริง ก่อนจะพบว่าเป็นเพราะสิ่งมีชีวิตประหลาดในถ้ำใต้น้ำ ที่มีลักษณะเหมือนปลาใต้ทะเลลึกตัวมหึมา มีหนวดยาวเยื้อยไว้จับคน แถมยังปล่อยแสงหรือสะกดจิตได้ 
    หนังคงแปลกเกินไปเลยไม่ประสบความสำเร็จ แต่ความกล้าของท่านมุ้ย เมื่อหันมาใช้สร้างหนังแนวสะท้อนความจริงในสังคมกลับไปได้สวยกว่า และจากเรื่องแรก ท่านมุ้ยก็ไม่เคยขอแก้มือ หรือไปยุ่งกับเอเลียนตัวใดอีกเลย 
(ภาพประกอบ: FB/ThaiMoviePosters)

ท่าเตียน (2516)
    สมโพธิ (อ่านว่า สมโพด) แสงเดือนฉาย แห่งไชโยภาพยนตร์ ได้ทุนจากธนาคารญี่ปุ่นให้ไปเรียนการทำหนังที่โรงถ่ายโตโฮ พอกลับมาเขาก็เริ่มลองวิชา นำเทคนิคพิเศษซึ่งได้มาจาก เอจิ ซึบุรายะ ผู้อยู่เบื้องหลัง ก็อดซิลลา รวมทั้ง อุลตราแมน มาปรับใช้กับผลงานในช่วงนั้นคือ พระอภัยมณี ทางทีวีเมื่อปี 2514 ที่มีท่าน สว. เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นพระอภัยฯ แต่พอขยับมาจับหนังจอเงิน สมโพธิก็พิสดารไปไกลกว่าแค่วรรณคดีไทย 
    จากตำนานที่ไม่รู้ใครเล่าเป็นคนแรก ถึงกำเนิดท่าเตียนแถวปากคลองตลาด ที่อ้างว่าได้ชื่อแบบนั้นมาด้วยเพราะยักษ์จาก 2 วัดคนละฝั่งเจ้าพระยาเข้าต่อยตีกัน จนแถวนั้นราบเป็น 'ท่าเตียน' กลายมาเป็นภาพให้ดูจะจะ ทั้งยักษ์วัดแจ้งและยักษ์วัดโพธิ์ข้ามแม่น้ำมาทะเลาะกันตั้งแต่แถวสะพานพุทธลามไปจนถึงโรงแรมหรู (ในยุคนั้น) อย่างดุสิตธานี 
    หนังประสบความสำเร็จพอสมควร ในเรื่องต่อมาสมโพธิเลยใช้ยักษ์อีกครั้ง แต่เปลี่ยนคู่ปะทะมาเป็นโปรโมเตอร์จัดซูเปอร์ฮีโร่จากญี่ปุ่นมาตีกับยักษ์ไทย กลายเป็น ยักษ์วัดแจ้งพบจัมโบ้เอ (2517)

หนุมานผจญเห้งเจีย (2518)
    ไพฑูรย์ รตานนท์ เป็นผู้กำกับมาตั้งแต่ปี 2516 โดยมี นายขนมต้ม (2546) เป็นผลงานเรื่องสุดท้าย แต่ผลงานของเขาที่จัดว่าพิสดารสุดๆ ในชีวิต คงไม่พ้นเรื่องนี้ที่นำพญาลิง 2 สัญชาติอย่าง เห้งเจีย (ไพโรจน์ ใจสิงห์) จาก ไซอิ๋ว มาป๊ะกับ หนุมาน (อุเทน บุญยงค์) จาก รามเกียรติ์ แล้วมีเรื่องมีราวให้ยุ่งเหยิงกลายเป็นลิงตีกัน   
    แม้การพบกันแบบนี้จะเคยมีมาก่อน ปรากฎเป็นนิยายภาพหรือหนังสือการ์ตูน แต่เรื่องนี้ไม่ได้มีตลาดเพื่อคุณน้องคุณหนู เพราะมีทั้งซีนอาบอบนวด ช็อตเซ็กซี่ ผสมด้วยความฮา ได้ทั้ง สีเผือก, สีสุริยา และ เทพ เทียนชัย ดาวตลกดังแห่งยุคมาร่วมแสดง โดยเฉพาะสองรายแรกจัดเป็นคู่หูขาประจำในหนังของ สมโพธิ แสงเดือนฉาย มาตั้งแต่ ท่าเตียน จนถึงคราวซูเปอร์ฮีโร่ญี่ปุ่นมาเจอกับยักษ์ไทยใน ยักษ์วัดแจ้ง พบ จัมโบ้เอ และพญาลิงตัวเดียวกันกับเรื่องนี้ใน หนุมานพบ 7 ยอดมนุษย์ (2517) แต่การปะทะกันของลิง 2 สัญชาติไม่ประสบความสำเร็จเท่า 2 เรื่องก่อนนั้น รวมทั้งไม่ต้องมีเรื่องฟ้องร้องข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ต่อมาอีกหลายสิบปีด้วย    

ไอ้แด่น (2519)
    เด็ก กับ สัตว์ เป็นของแสลงของคนทำหนังไทยตลอดมา เพราะยากจะควบคุม แต่ที่ผ่านมาหนังไทยก็ทำหนังมีตัวละครเด่นเป็นสัตว์มาก็ไม่น้อย เช่น สื่อรักแสนรู้ (2523), โฮ่ง (2534), ข้าวเหนียวกับหมูปิ้ง (2549), มะหมา 4 ขาครับ (2550) เป็นตัวอย่าง แต่ในยุคก่อนหน้านั้น ใครคิดทำก็ต้องบ้าบิ่นพอสมควร แต่ ทนง วีระกุล ช่างเขียนใบปิดคนสำคัญอีกคน กลับเลือกทำหนังเรื่องแรก ด้วยการมีมันทั้ง 2 อย่าง แถมไม่ใช่หนังหมาๆ แบบที่ยกตัวอย่าง แต่เป็น พังพอน, งู, เสือ, หมี และอื่นๆ จากป่านำมาเลี้ยงไว้เพื่อถ่ายทำกันเลย
    เรื่องราวของหนังเล่าถึงพังพอนซึ่งมีชื่อเดียวกับชื่อเรื่อง และแน่นอนว่าเมื่อมีพังพอนก็ต้องมีจงอางเป็นศัตรูคู่กัด (แบบเดียวกับโชว์ตามสนามหลวงสมัยก่อน) และเรื่องนี้ก็มีให้ดูเช่นกัน ส่วนรายละเอียดอื่น ด้วยทั้งฟิล์มและเรื่องย่อหาได้ยากเย็น แต่ตอนออกฉาย ด้วยความเป็นหนังสิงสาราสัตว์เรื่องแรกของไทย จึงมีการโปรโมตกันว่าเป็นหนัง วอลต์ ดิสนีย์ เมืองไทย รวมทั้งภายหลังลาโรง ก็มีการหิ้วฟิล์มไปกางจอ-ปิดวิกฉายตามโรงเรียนต่างๆ เก็บตังค์หนูๆ อีกด้วย

สืบยัดไส้ (2520)
    "ดูไม่ค่อยรู้เรื่องตามสไตล์พี่ตู้ล่ะครับ แต่ผมว่ามันเจ๋งมาก" คือบางความเห็นของผู้ที่ใช้ชื่อว่า aun ที่มีต่อหนังเรื่องนี้ จากเว็บไซต์ของวงเฉลียงซึ่งเขียนมาตั้งแต่ปี 2546 แต่ผ่านไปแล้วเกือบ 20 ปี ความเห็นทำนองนี้ก็น่าจะยังเป็นแบบนั้น ไม่ต่างจากครั้งที่มันออกฉาย หากมีใครได้ดูหนังเรื่องแรกและเรื่องเดียวในนาม ซูโม่ กลุ่มตลกถา'ปัด จุฬาฯ ซึ่งต่อมาในช่วงปลายทศวรรษ 2520 โด่งดังสุดๆ จากรายการ เพชฌฆาตความเครียด ทางช่อง 9 พร้อมกับเติมคำว่า สำอาง ลงไปท้ายชื่อซูโม่ และมี พี่ตู้ หรือ จรัสพงษ์ สุรัสวดี หนึ่งในผู้กำกับเรื่องนี้ เป็นแกนนำ 
    เรื่องราวว่าด้วยการสืบเสาะตามหาสิ่งที่มีรหัสว่า 'ฒ.1' โดยมือปราบหนุ่มกับนักโทษแม่นปืน (ไพโรจน์ สังวริบุตร กับ ภิญโญ รู้ธรรม) เห็นชัดถึงความพยายามสร้างความแปลกใหม่ ตั้งแต่การใช้ทีมพากย์เสียงไม่คุ้นหูคนดูหนังไทย แต่เป็นทีมพากย์หนังซีรีส์ในยุคนั้นจากช่อง 3 ส่วนมุขตลกก็เกินกว่าตลาดจะคุ้นเคย มักล้อเลียน-เสียดสีสังคมและคนเรา ด้วยการกระทำ หรือบทสนทนาที่ผิดที่ผิดเวลา ไม่โฉ่งฉ่างต่างจากอารมณ์ขันโดยทั่วไปของคนดูหนังไทยในวันนั้น มันจึงมีคนขำอยู่บ้าง แต่น้อยเกินกว่าจะทำเงิน 

ยอดมนุษย์คอมพิวเตอร์ (2520)
    หลังจากนำซูเปอร์ฮีโร่ญี่ปุ่นมาเจอกับตัวละครในรามเกียรติ์ ไม่ว่าจะเป็น ทศกัณฐ์เจอจัมโบ้เอ และหนุมานเจอพี่น้องอุลตราแมน ของ เอจิ ซึบุรายะ ใน หนุมานพบ 7 ยอดมนุษย์ รวมทั้ง ไอ้มดแดง ของ โชทาโร อิชิโนโมริ ใน หนุมานพบ 5 ไอ้มดแดง (2518) ด้วยสถานการณ์การเมืองที่เกิดกระแสต้านสินค้าญี่ปุ่น สมโพธิจึงจำใจเลิกราทำอะไรแบบนั้น แล้วหันไปลองทำหนังโชว์เอฟเฟกต์ในแนวอื่น และหนึ่งในนั้นก็คือหนังซูเปอร์ฮีโร่ไทยเรื่องนี้  
    บทหนังโดย รพีพร นำนิทานโบราณของไทยที่เล่าถึงสี่สหายมนุษย์ประหลาด ไม่ต่างจากพวก มิวแตนท์ ใน X-Men ซึ่งประกอบด้วย เจ้าหูกาง, ชายมือโต, มนุษย์ขี้มูกมาก และหนุ่มตูดแหลม มาเจอกับมนุษย์คอมพิวเตอร์ที่สมโพธิหยิบยืมจาก จารชนคอมพิวเตอร์ (The Six Million Dollar Man) (2516-2521) ทางจอแก้ว กับ Westworld (2516) จากฮอลลีวูดมาเป็นแรงบันดาลใจ และให้ ยอดชาย เมฆสุวรรณ ดาราขาประจำของไชโยฯ สวมบทแอนดรอยด์ตัวแรกในหนังไทย เข้าร่วมกับสี่สหายประหลาดต่อสู้กับเหล่าร้าย 
    แม้จะไม่ประสบความสำเร็จเหมือนหนังที่มีซูเปอร์ฮีโร่ญี่ปุ่น แต่ก็จัดเป็นผลงานที่ลงตัวที่สุดเรื่องหนึ่งของสมโพธิ

เมืองขอทาน (ขี้กลากคอนกรีต) (2521)
    บทหนังเล่าถึงชายผู้อาภัพ (ไพโรจน์ สังวริบุตร) ที่ถูกนำมาทิ้งกลางถนนตั้งแต่ยังแบเบาะ ก่อนจะมีขอทานขี้เมานำไปเลี้ยง แต่ด้วยสภาพชีวิตเป็นแบบนั้น เขาจึงโตขึ้นมาเป็นวณิพกอยู่ในแก๊งขอทาน จนเริ่มได้เจอกับความไม่ชอบธรรมจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ ทั้งจากหัวหน้าแก๊ง และแก๊งคนมือเท้าปกติแต่แกล้งพิการมาแย่งที่ทางทำกิน ซ้ำเพื่อนรักและพ่อ ยังมาถูกฆ่าแบบไร้คนเหลียวแลเรียกร้องหาความเป็นธรรม สุดท้ายวณิพกหนุ่มจึงไม่ขอทน ต้องลุกขึ้นสู้ให้แตกหักกันไป   
    ผลงานสร้างของ มูฟวิงพิกเจอร์ส ที่มีคำว่า 'คนหนุ่มรุ่นใหม่' อยู่ใต้โลโก้ โดยผู้กำกับ เพิ่มพล เชยอรุณ ซึ่งตลอดชีวิตขึ้นชื่อว่ามักมากับความแตกต่าง และเรื่องนี้ก็นำบางมุมของชีวิตในเมืองที่เห็นกันเจนตาอย่างขอทานมานำเสนอ แม้จะมีคณะตลกอย่าง 4 โพธิ์ร่วมแสดง กลับไม่ได้เน้นฮา แต่มาเพื่อสะท้อนปัญหาของบ้านเมืองด้วยการจิกกัดถึงความเหลื่อมล้ำ ทุนนิยม ไปจนถึงผู้ปกครอง ผ่านบทสนทนามากมายของขอทาน ซึ่งหลายคนรับบทโดยคนพิการตัวจริง

เต้าฮวยไล้เหลี่ยว (2523)
    เมื่อราว 40 ปีก่อน เกิดกระแสหนังจีนพีกสุดๆ ในบ้านเรา ในจอทีวีก็มี มังกรหยก ทางช่อง 7 และ กระบี่ไร้เทียมทาน ทางช่อง 3 เป็นหัวหอก ส่วนในโรงฯ มี ไอ้หนุ่มพันมือ และ ไอ้หนุ่มอื่นๆ ของดาราหน้าใหม่อย่างเฉินหลงกำลังโกยเงินคนไทย กำธร ทัพคัลไลย ผู้กำกับ-ผู้สร้างที่ประสบความสำเร็จจากหนังตลกล้อเลียนคนไทยเชื้อสายจีนในขณะนั้น อย่าง ทายาทป๋องแป๋ง (2521) และ เขยใหม่ปึ๋งปั๋ง (2522) เลยหันมาสร้างหนังกังฟูเพี้ยนๆ ของตัวขึ้นมาบ้าง  
    สมบัติ เมทะนี รับบทเป็นตี๋ลูกพ่อค้าหาบเร่ขายเต้าฮวย หลังจากพ่อถูกพวกสำนักมวยชั่วฆ่าตาย เขาเลยไปขอฝึกวิชาในสไตล์เดียวกับหนังเฉินหลง ส่วนอาจารย์ขี้เมาก็ราวถอดแบบกันมา โดยได้ โป๋ เป่าปี่ มารับบทเป็น ยาจกซู เมืองไทย แต่กระแสหนังกังฟูไทยก็ไม่ใช่มีแค่เรื่องนี้ ในปีนั้นยังมี ไอ้หนุ่มหมัดพังพอน และ ฤทธิ์หมัดไร้เทียมทาน ในปีถัดมาออกฉาย ทั้ง 2 เรื่องสร้าง-กำกับโดย พิชัย น้อยรอด โดยเรื่องหลังอิมพอร์ต หวีอันอัน จาก กระบี่ไร้เทียมทาน มาประกบกับสมบัติกันเลย  
(ภาพประกอบ: FB/ThaiMoviePosters)

เจมส์แบน 007 (2523)
    ถ้าไม่นับกระแสหนังแผ่นเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน 'หนังล้อเลียน' คือหนังแนวหนึ่งที่หาแทบไม่ได้ในหนังไทย แต่ก็ใช่จะไม่เคยมี โดยหนังที่นำมาล้อแล้วสร้างกันออกมานั้น ก็คือหนังดังที่ทั่วโลกมักนำมาล้อกันไม่เคยเลิก อย่างหนังชุด 'เจมส์ บอนด์ 007' และคนที่มารับบทบอนด์ตัวปลอมก็คือ เทพ  เทียนชัย ดาวตลกชื่อดัง อดีตคณะสี่สีที่มีความหล่อแบบเอกบุรุษ 
    หนังสร้างโดย ซูเปอร์ฟิล์ม ของ มิตร นิมิตโชตินัย ผู้สร้างและช่างภาพที่ทำหนังไทยมาตั้งแต่ยุค 16 มม. ส่วนเรื่องราวก็นำชื่อ เจมส์ บอนด์ มาใช้กันตรงๆ แต่ไม่ใช่ฝรั่งหรือ โรเจอร์ มัวร์-บอนด์ในยุคนั้น แต่เป็นนักแสดงไทยไม่ทราบนาม โดยขณะไปปฏิบัติการที่พัทยา บอนด์ไทยกลับถูกยิงตาย เขาเลยมอบภารกิจส่งต่อให้กับ แบน คนถีบสามล้อที่เขานั่งมา
    ทั้งเพลงธีมและดนตรีประกอบนำจากต้นตำรับมาใช้กันโต้งๆ ส่วนผู้ร้ายในเรื่องไม่มีองค์กรสเปกเตอร์ แต่เป็นนักวิทยาศาสตร์นาม ดร.บวม (ล้อต๊อก) ที่มีแผนจะยึดประเทศด้วยการแทรกคลื่นวิทยุ แถมยังมีหุ่นยนต์ 2 ตัวที่ดูคล้ายจะมาจาก สตาร์วอร์ เป็นผู้ช่วยอีกด้วย    
(ภาพประกอบ: FB/ThaiMoviePosters)

นักเลงคอมพิวเตอร์ (2525)
    นอกจาก สมบัติ เมทะนี จะเป็นดาราเบอร์หนึ่งในยุคเชื่อมต่อจาก มิตร ชัยบัญชา เขายังเป็นผู้กำกับระดับเงินล้านหลายเรื่อง โดยแต่ละเรื่อง ต่างต้องมีความพิเศษหรือจุดขาย เช่น นักเลงตาทิพย์ (2523) พระเอกมีดวงตาวิเศษมองทะลุได้ทุกอย่าง หรือ ท้ามฤตยู (2519) ที่มีบอลลูนยักษ์ 'ซึ่งไม่มีมาก่อนในภาพยนตร์ไทย' อย่างที่คุยไว้บนใบปิด ส่วนเรื่องนี้ นอกจากนำ 3 พระเอกจาก 3 ยุค ทั้งสมบัติเอง สรพงศ์ ชาตรี และ ทูล หิรัญทรัพย์ มาเจอกัน ในยุคที่คอมพิวเตอร์ยังเป็นวัตถุใหม่บนโลก เรื่องนี้ยังมีหุ่นยนต์ล้ำๆ ชื่อ 3K เป็นจุดขายอีกด้วย  
    'ด้วยความมั่นใจเสนอหุ่นยนต์คอมพิวเตอร์สมบูรณ์แบบตัวแรกของโลก มูลค่า 1,200,000 บาท' เป็นข้อความบนใบปิดอีกเหมือนกัน แต่ที่ได้ดูก็คือคน (ราม ราชพงษ์) ใส่ชุดหุ่นยนต์ ไม่ใช่หุ่นจริงๆ แบบที่ ไพจิตร ศุภวารี ผู้สร้าง อุตส่าห์บินไปจ้างบริษัทญี่ปุ่นสร้างด้วยมูลค่าเท่าในโฆษณา แถมยังมีให้ดูกันไม่กี่นาที แต่มันก็เป็นหนังบู๊แปลกๆ ที่จัดว่าประสบความสำเร็จเรื่องหนึ่ง
(ภาพประกอบ: FB/แมงกะโปน)

กิ้งก่ากายสิทธิ์ (2528)
    หลังจากทำหนังประหลาดล้ำมาหลายเรื่อง ทั้งยักษ์วัดโพธิ์ตีกับยักษ์วัดแจ้ง พาเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ญี่ปุ่นมาเจอกับหนุมาน ก่อนจะไปได้สวยกับจระเข้ยักษ์อยู่พักหนึ่งด้วยหนังแนวพื้นบ้าน-ประวัติศาสตร์ ตามด้วยสนองความฝันที่อยากนำรามเกียรติ์มาสร้าง ในที่สุด สมโพธิ แสงเดือนฉาย กับไชโยภาพยนตร์ ก็ขอยุติบทบาทด้วยหนังเรื่องสุดท้ายที่มีพระเอกเป็นกิ้งก่าตัวเท่าคน
    กิ้งก่าแผงคอ หรือ Chlamydosaurus คือชื่อสายพันธุ์กิ้งก่าในเรื่องตัวนี้ ซึ่งสมโพธิเคยเล่าว่าด้วยในช่วงนั้น มันฮิตมากในญี่ปุ่น และอาจเป็นเพราะของเมดอินเจแปน เคยทำให้ประสบความสำเร็จมาแล้ว สมโพธิเลยนำมาใช้สร้างเรื่องของกิ้งก่าประหลาดผู้ทำหน้าที่เฝ้าพระปรางค์วัดอรุณ และก็เหมือนกับใน ยักษ์วัดแจ้งพบจัมโบ้เอ สถานที่นี้ดันเป็นที่เก็บของวิเศษซึ่งเหล่าร้ายนอกโลกบุกมาขโมยไป จากนั้นเจ้ากิ้งก่าก็ออกตามหาไปทั่ว ทั้งเล่นสเก็ต ขี่ควาย สู้กับจระเข้ หมี เสือ ช้าง ฯลฯ ตั้งแต่กรุงเทพฯ ไปเมืองกาญจนบุรี อยุธยา ฯลฯ เรียกว่าได้ดูกิ้งก่าเต็มอิ่ม โดยมีเพลง เมดอินไทยแลนด์ ของคาราบาวดังประกอบอยู่เป็นระยะ

ขอชื่อสุธีสามสี่ชาติ (2532)
    หลังจาก สืบยัดไส้ ตลกทีมซูโม่ก็กลับมาขึ้นจอเงินอีกครั้ง ด้วยหนังสือขายดีชื่อเดียวกันของ ประภาส ชลศรานนท์ หนึ่งในทีมตลกซูโม่ หนังสือรวมเรื่องสั้นถูกถ่ายทอดออกมาแบบหนังสั้น 4 เรื่อง กล่าวถึง นายสุธี ที่มีตั้งแต่เรื่องรักวัยเรียน, ความรักที่ถูกกีดกัน, ตำรวจจับผู้ร้าย ไปจนถึงไซไฟ โดยทั้ง 4 ชาติ กำกับโดย 4 ผู้กำกับ ซึ่งนอกจาก เจดีย์ ศุภกาณจน์ ทุกคนล้วนเป็นกลุ่มซูโม่ ส่วนนักแสดงได้ระดับพระเอกอย่าง วรุฒ วรธรรม, สันติสุข พรหมศิริ, ศรัญยู วงศ์กระจ่าง และดาวตลกอย่าง อรุณ ภาวิไล หรือ ซูโม่ตุ๋ย มาเป็นสุธี 
    ด้วยตัวหนังสือที่ใช้ภาษาสื่อสารกับผู้อ่านเพื่อความขำขันเป็นหลัก ไม่ใช่ด้วยเรื่องราว-เหตุการณ์อันน่าติดตาม เมื่อถูกแปลงเป็นภาพจึงยากจะสื่อสาร เพราะต้องอาศัยองค์ประกอบอื่นอีกมาก ยืนยันว่าแม้หนังสือจะขายดี หรือขำขนาดไหน แต่ก็ไม่ใช่ทุกเล่มเหมาะจะนำมาดัดแปลง แม้ในยุคนั้นจะถือว่าไม่เหมือนใคร-ไม่มีใครทำมาก่อนก็ตาม 

มาห์ (2534)
    มันมากับความมืด ถูกบันทึกไว้ในฐานะหนังไทยแนวไซไฟเรื่องแรก แต่สิ่งที่บันทึกไปด้วยกันคือความล้มเหลวของมัน กับความเชื่อที่ว่าผู้ชมหนังไทยน่าจะชอบความลึกลับประเภทผีมากกว่าจะเป็นมนุษย์ต่างดาว แต่หลังจากนั้น 20 ปีก็มีผู้สร้างขอลองอีกครั้ง โดยเป็นกลุ่มคนทำหน้าใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำหนังมาก่อน พวกเขาอาศัยใจรักในหนังสยองกับไซไฟล้วนๆ ถือเป็นอีกความกล้าในยุคที่สเปเชียลเอฟเฟ็กต์ยังไม่มีแล็ปหรือซีจีมาช่วย รวมทั้งยังช่วยยืนยันความเชื่ออีกครั้งว่าหนังไซไฟแบบนี้ไม่มีคนดูจริงๆ
    บทหนังของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ในวันที่ยังไม่มีผลงานอย่าง นางนาก (2542) หรือ ฟ้าทะลายโจร (2543) เล่าเรื่องของกลุ่มหนุ่มสาว 5 คน (นำทีมโดย มาช่า วัฒนพานิช) ที่รถเสียเลยต้องไปค้างคืนที่บ้านกลางป่า จนได้เจอกับเจ้าของบ้านหลังหนึ่ง (พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง) ช่วยซ่อมรถและชวนให้ค้างคืน แต่หนึ่งในกลุ่มดันไปเก็บไข่ประหลาดมาจากกลางทาง ส่วนเรื่องราวที่เหลือคงไม่ยากที่จะเดา

ฉลุยหิน คนไข่สุดขอบโลก (2537)
    เรื่องราวของ ต๋องต๋อง (สุรศักดิ์ วงษ์ไทย) ชายหนุ่มยุค (ไข่) หินที่มีความคิดไม่เหมือนชาวบ้านในเผ่าเดียวกัน ตั้งแต่เกิดตอนออกจากไข่ ต๋องต๋องก็คลานไปข้างหน้า ไม่ถอยหลังเหมือนเด็กคนอื่น และเมื่อมีข้อสงสัยกับความเป็นอยู่และอำนาจของผู้ปกครอง ต๋องต๋องก็เลยโดนขับไปให้พ้นเผ่า จากนั้นคือการผจญภัยเพื่อไปสู่สิ่งที่ดีกว่า มีคนเข้าใจและร่วมเดินทางไปกับเขา ก่อนที่ต๋องต๋องจะพบว่าสุดท้ายแล้ว ตัวเองก็เริ่มกลายเป็นสิ่งที่เคยสงสัยรวมทั้งต่อต้านเสียเอง 
    ผลงานสุดล้ำไม่ว่าจะในยุคนี้หรือวันที่ออกฉายของ อังเคิ่ล-อดิเรก วัฎลีลา กับ ไท เอนเตอร์เทนเมนท์ สร้างโลกยุคหินขึ้นมาใหม่ ด้วยการบินไปถ่ายทำกันถึงออสเตรเลีย กับเทคนิคพิเศษเนรมิตไดโนเสาร์ให้หนังไทย แต่ด้วยออกฉายหลัง Jurassic Park (2536) หนังที่ใช้ซีจีแบบเต็มๆ มาทำเอฟเฟกต์เป็นเรื่องแรก ไดโนเสาร์เทคนิคสต็อปโมชันในเรื่องนี้เลยดูล้าสมัยพ้นเวลาไปทันที 
    แต่กับนัยที่หนังยุคหินเรื่องแรก-เรื่องเดียวที่ผู้กำกับพยายามจะสื่อสาร-เสียดสียังมีอยู่ครบ แม้จะดูกันในวันนี้ก็ยังเข้ากันกับยุคสมัย ประสบความสำเร็จพอสมควร จากทุน 11 ล้านทำเงินไปได้กว่า 18 ล้านบาท

นายระบือ หวานมันฉันคือควาย (2537)
    อรุณ ภาวิไล เป็นที่รู้จักกันครั้งแรกจากตัวละครชื่อ ตุ๋ย จิ๊กโก๋เพี้ยนๆ ประจำรายการ เพชฌฆาตความเครียด จากนั้นอรุณก็แสดงหนังอีกหลายเรื่อง ตั้งแต่สมทบไปจนถึงบทนำ ก่อนผันไปทำรายการทีวีแปลกๆ อย่าง รัฐบานหุ่น ทางไอทีวี เขาก็เริ่มถูกจดจำในฐานะคนสร้างหุ่นล้อมีกลไกบังคับ และสิ่งนี้ก็เป็นสิ่งเดียวกัน เมื่ออรุณหันมากำกับหนัง เพียงแต่เขาไม่ได้ทำหุ่นนักการเมืองอย่างลุงตู่ แต่เป็นหุ่นหรือสเปเชียลเอฟเฟกต์กระบือหรือควาย
    ชื่อหนังล้อมาจาก หวานมันส์ฉันคือเธอ (2530) หนังสลับร่างชื่อดังของ สักกะ จารุจินดา แต่เปลี่ยนมาเป็นไฮโซหนุ่มที่โดนหุ้นส่วนธุรกิจหักหลัง สั่งมือปืนมาฆ่าขณะมีควายตัวหนึ่งอยู่ตรงนั้นพอดี สองร่างเลยสลับวิญญาณกัน และแน่นอนว่าการกำกับควายให้เป็นคนไม่น่าจะง่าย อรุณจึงได้โชว์ทักษะสร้างควายขึ้นมาใช้ถ่ายทำอยู่หลายช็อต ซึ่งก็ถือว่าทำออกมาได้น่าสนใจ
    หนังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ผู้กำกับก็ยังทำหนังมีสเปเชียลเอฟเฟกต์เป็นจุดขายตามมาอีกเรื่องคือ ขนนกกับคนบิน แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่เคยถูกนำออกฉาย

กึ๋ยทู สยึมกึ๋ย 2 (2538)
    ใช้เวลาสร้างถึงกว่า 2 ปี เนื่องจากอุดมไปด้วยเทคนิคพิเศษมากมาย ในยุคที่ซีจีเพิ่งเริ่ม ซอฟท์แวร์ต่างๆ ยังไม่แพร่หลายในบ้านเรา มันจึงใช้เวลาถึงขนาดนั้น แต่ก็เป็นก้าวสำคัญอีกครั้งของ ไท เอนเตอร์เมนท์ กับผู้กำกับประจำค่ายอย่าง ปื๊ด-ธนิตย์ จิตนุกูล แม้จะเป็นหนังภาคต่อ แต่แปลกใหม่ ผิดไปจากภาคแรก รวมทั้งวงการหนังก่อนหน้านั้นด้วย เพราะมันคือหนังแฟนตาซีแท้ๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในหนังไทย
    หนังเล่าเรื่องของหมู่บ้านของชนเผ่าลึกลับจากที่ไหนก็ไม่ทราบ ซึ่งเกิดเหตุทำให้ ผีเถร ปีศาจตัวสูงกว่า 2 เมตร ถูกปลดปล่อยแล้วหนีมากรุงเทพฯ ก่อนจะเที่ยวสิงใครต่อใคร ทางหมู่บ้านจึงส่งผู้กล้า (พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง) มาตามล่ากำจัดผี โดยมีเหล่าหมอผีจาก สยึ๋มกึ๋ย (2534) มาร่วมด้วยช่วยกัน 
    แม้เทคนิคพิเศษในหลายช็อตจะไม่ถึงกับต้องซี้ดปาก แต่ก็จัดว่าสมบูรณ์สุดเท่าที่หนังไทยจะทำกันได้ในวันนั้น ประสบความสำเร็จด้านรายได้ไปพอสมควร

ปักษาวายุ (2547)
    นอกจากหนังของไชโยภาพยนตร์ สัตว์ประหลาดตัวยักษ์ หรือที่ญี่ปุ่นเรียกว่า ไคจู แทบจะไม่เคยมีใครสร้างกันอีก จนมาถึงเรื่องนี้ของอาร์เอส ซึ่งก็ยังคงดำรงความเป็นไทยเอาไว้แบบหนังของไชโยฯ ที่ใช้บริการของทศกัณฐ์กับหนุมาน แต่เรื่องนี้เลือกแตะของสูงอย่างครุฑ แถมยังไม่ใช่คนใส่ชุดยาง แต่เป็นไคจูซีจีเมดอินไทยแลนด์แท้ๆ เรื่องแรก
    บทหนังเล่าถึงสาวนักโบราณคดี (ซาร่า เล็กจ์) กับกองกำลังทหาร (ศรราม เทพพิทักษ์) ในการไล่ล่าครุฑที่บทหนังบอกว่าเป็นไดโนเสาร์พันธุ์หนึ่ง และก็น่าสนใจตรงมีความพยายามกล่าวถึงความขัดแย้งทางความเชื่อของตะวันตกกับไทย แต่ก็เป็นเพียงผิวๆ เพราะหนังดูจะเน้นไปกับช็อตเท่ๆ ภาพสวยๆ เป็นหลัก ตัวละครขาดมิติ วิธีเล่าเหมือนเอ็มวีเรียงซีนขาดความต่อเนื่องทางอารมณ์  ส่วนเทคนิคซีจีและตัวครุฑยักษ์ ยังห่างไกลจากมาตรฐานโลก อย่างไรก็ดี มันก็ยังเป็นหนังที่ต่างจากสัตว์ประหลาดไทยหลายเรื่องที่มักพยายามปิดๆ บังๆ หรือออกมาแค่นิดหน่อย แต่เรื่องนี้โชว์ให้เห็นกันจะจะหลายช็อตเลย 

ขุนกระบี่ ผีระบาด (2547)
    จากหนังสั้นเพี้ยนๆ ของ ทวีวัฒน์ วันทา กลายเป็นหนังจอเงินที่มีทั้งแอ็กชัน คอมิดี้ อนิเมะ ความโหด ความเซ็กซี่ และอื่นๆ โดยเฉพาะการให้กำเนิดซอมบี้ที่เกิดจากไวรัสชื่อเหมือนน้ำอัดลมโบราณว่า ซาร์สี่ ขึ้นในหนังไทย
    บทหนังขยายความจากหนังสั้นของผู้กำกับเอง เล่าเรื่องของอดีตมือปราบ (เทพ โพธิ์งาม) ที่ได้รับการว่าจ้างให้ไปตามหาลูกสาวอาเสี่ยที่ถูกโจรลักพาตัวไป ขุนกระบี่ (ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ) ลูกศิษย์มากฝีมือของเขาจึงถูกส่งไปปฏิบัติภารกิจ แต่ในตึกที่เหล่าโจรพาตัวประกันไปกักขังดันเกิดไวรัสทำให้ผู้คนกลายเป็นฝูงซอมบี้ อดีตมือปราบเห็นท่าไม่ดีเลยต้องตามมาช่วยศิษย์รักด้วยอีกแรง 
    หนังมีลักษณะความบันเทิงแบบลูกผสมหนังเกรดบี หรือหนังคัลต์ทุนต่ำ กับรสชาติสไตล์มังงะแบบเต็มเหนี่ยว อะไรที่หนังเรื่องอื่นไม่กล้าคิด แต่เพื่อความมัน บทหนังเรื่องนี้เหมือนจะไม่มีเบรก มันจึงเป็นหนังที่แหกแหวกกว่าหนังเพื่อความบันเทิงโดยทั่วไป ถึงไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ แต่ก็น่ายกย่องในความกล้าและบ้าของทั้งผู้สร้างและคนทำอยู่ดี

มนุษย์เหล็กไหล (2549)
    ถึงจะชื่อมนุษย์เหล็กไหล แต่ชื่ออังกฤษของมันก็คือ Mercury Man หรือแปลเป็นไทยก็น่าจะเป็น มนุษย์ปรอท ซูเปอร์ฮีโร่สัญชาติไทยแท้ๆ ตัวใหม่และตัวแรกบนจอเงิน โดยผู้กำกับ บัณฑิต ทองดี สร้างโดยบาแรมยูของ ปรัชญา ปิ่นแก้ว ซึ่งในเวลานั้นเพิ่งพีคมาจาก องค์บาก (2546) หนังโชว์คิวบู๊ เล่นจริง-เจ็บจริง ที่แจ้งเกิด พนม ยีรัมย์ การนำศิลปะการต่อสู้ของไทยมาใช้เป็นคิวบู๊ของซูเปอร์ฮีโร่ตัวนี้จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ แม้มันจะเคยมีซูเปอร์ฮีโร่ญี่ปุ่นในทีวี หรือหนังจีนอย่าง The Super Inframan (2518) ไอ้มดแดงของชอว์ บราเทอร์ส เคยทำกันมาแล้วกับกังฟูก็ตาม
    หนังระบุว่าใช้ทุนกันถึง 60 ล้าน เกินกว่าหนังไทยในยุคนั้น แต่ทำเงินไปได้เพียง 15 ล้านบาท ความฝันที่จะขายกันทั้งตัวหนัง รวมไปถึงผลพลอยได้ (ที่มากกว่า) จากของที่ระลึกประเภทตุ๊กตุ่นตุ๊กตาตามหนทางหนังแนวนี้ก็เป็นอันจบกันไป และจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครอยากลองสร้างซูเปอร์ฮีโร่ไทยไว้ประดับจอหนังบ้านเราอีกเลย 

กระดึ๊บ (2553)
    จากข่าวเมื่อปี 2549 ที่ชาวบ้านบังเอิญเก็บวัตถุประหลาดสีฟ้าตกลงมาจากท้องฟ้าได้ จนก่อความพิศวงไปทั่วฟ้าเมืองไทย ก่อนความจริงจะปรากฎว่ามันก็แค่เจลลดไข้เด็ก ถูกนำมาเป็นต้นเรื่องของหนังไทยไซไฟ-เอเลียนเรื่องใหม่กำกับโดย จาตุรงค์ พลบูรณ์ (มกจ๊ก) ดาวตลกชื่อดัง และสร้างโดยจีทีเอช    
    หน้าตาหนังเหมือนจะเป็นไซไฟแนวครอบครัว เพราะเล่าเรื่อง 2 บ้านรั้วติดกันที่มีเหตุบาดหมางกันมานาน ก่อนจะจำใจร่วมมือกันเมื่อเจอเอเลียนหน้าตาเหมือนเจลลดไข้ที่เข้ามาคุกคามครอบครัว แต่หลายมุขในหนังก็เฉียดเรตหนักอยู่หลายที มันจึงเป็นหนังตลกที่ขำบ้าง-ไม่ขำบ้างตามแบบหนังตลกที่แสดง-กำกับโดยดาวตลกทั่วไป ส่วนซีจีเอเลียนก็ทำออกมาพอเหมาะพอดีกับหนังตลกจริงจังแบบนี้ 
    แต่ถึงจะดูสนุกอยู่ตามสมควร และสร้างโดยจีทีเอชที่รับประกันคุณภาพ หนังเรื่องนี้กลับเป็นหนึ่งในไม่กี่เรื่องของค่ายนี้ที่ไม่ทำเงิน ได้ไปประมาณ 14 ล้าน ยืนยันอีกครั้งอย่างซ้ำๆ ว่าหนังเอเลียนหรือไซไฟไม่ว่าจะรูปไหน-ยุคไหน ยังยากนักจะได้เงินจากคนดูหนังไทย

สืบสกุล แสงสุวรรณ

สืบสกุล แสงสุวรรณ นักเขียนและคอลัมนิสต์อิสระ อดีตบรรณาธิการนิตยสาร ZOO Weekly ผู้ร่วมก่อตั้งและนักเขียนประจำนิตยสาร HAMBURGER เจ้าของคอลัมน์ Good Old Days ในนิตยสาร a day ที่ถูกนำมารวมเล่มแล้วถึง 3 เล่ม ปัจจุบันยังแบ่งเวลาสำหรับการสร้างสรรค์ภาพวาดและการเขียนส่วนตัวอยู่เสมอ