แค่ตอนแรกของรายการ
Road to Idol 2 ก็ทำให้เรารู้สึกทึ่งกับบททดสอบสุดเข้มข้นของเหล่าศิลปินฝึกหัดแล้ว เพราะโจทย์แรกของพวกเขาคือ การทำเพลงด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก!
ยิ่งได้เห็นบรรยากาศตึงเครียดของโปรดิวเซอร์และน้องๆ ที่ช่วยกันระดมสมองขึ้นโครงบีตในเวลาแค่ 1 ชั่วโมง และมีเวลาในการคิดคำร้อง-ท่าเต้นแค่ 6 วัน ก่อนขึ้นแสดงครั้งแรกต่อหน้าโปรดิวเซอร์ และ กอล์ฟ-พิชญะ นิธิไพศาลกุล ที่มาเป็นแขกเซอร์ไพรส์ ยิ่งทำให้เราเข้าใจว่าการเดินทางในฐานะศิลปินฝึกหัดนั้นไม่ง่ายเลย แม้ว่าพวกเขาอาจทำได้ไม่ดีนักในครั้งแรก แต่ความตั้งใจและทีมเวิร์กของบอยแบนด์และเกิร์ลกรุ๊ป ก็ทำให้ผู้คนเข้ามาให้กำลังใจกันอย่างล้นหลามในช่องยูทูบ
OGME Entertainment แกงส้ม-ธนทัต ชัยอรรถ ตั้งใจใช้ช่องทางนี้ถ่ายทอดเรื่องราวระหว่างทางของการเป็นศิลปินฝึกหัดประจำค่าย OGME Entertainment โดยเขารับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ร่วมกับ สอง-รดิน อัศนียกุล หรือที่รู้จักกันในชื่อ Staygold พวกเขาทั้งคู่ใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมา ทั้งการทำงานเบื้องหน้าและเบื้องหลัง รวมถึงการไปออดิชันที่ประเทศเกาหลี ในการสร้างภารกิจเล็กๆ ให้ศิลปินฝึกหัดในค่ายได้พัฒนาสกิลพื้นฐานของการเป็นศิลปินไปทีละขั้น
ถ้าใครยังจำเด็กหนุ่มฝาแฝด MICMAC ที่ออกซิงเกิล 'ท่าไม้ตาย' เมื่อปีที่แล้วได้ นั่นคือผลผลิตจากรายการ Road to Idol 1 ที่ใช้เวลาเพียง 5 เดือนในการเปลี่ยนโฉมเด็กวัยรุ่นธรรมดา ให้กลายเป็นไอดอลที่มีสไตล์เฉพาะตัว และมีคุณภาพทั้งการร้องและการแสดงบนเวที
"ทุกคนในทีมตื่นเต้นมากเลยนะ! เพราะเรารู้สึกว่าในระยะเวลาแค่ 4-5 เดือน น้องสามารถเดินมาถึงจุดนี้ได้เลยเหรอ จากเด็กมัธยมที่ไม่ค่อยมีเสน่ห์แต่มีคาแรกเตอร์ เขาสามารถต่อยอดมาถึงจุดนี้ได้ยังไง ไม่ว่าจะเป็นการเพอร์ฟอร์แมนซ์ การถ่ายเอ็มวี เราแทบไม่ได้ไปลงดีเทลอะไรให้เขาเลย แต่น้องกลับเข้าใจและทำต่อไปเอง มันทำให้เรารู้สึกว่าน้องเขาโตขึ้นจากวันแรกมากจริงๆ ครับ" เขาเล่าด้วยรอยยิ้ม
แววตาของแกงส้มเป็นประกาย เมื่อนึกย้อนไปตอนที่มิคแมคขึ้นแสดงเป็นครั้งแรก ไม่ใช่แค่พวกเขาที่ตื่นเต้น ตอนที่ได้ดูคลิปการแสดงสด ฉันเองก็รู้สึกทึ่งกับพัฒนาการของสองแฝดเหมือนกัน เมื่อเราถามถึงความสำเร็จในการปั้นศิลปินหน้าใหม่ เขาก็ให้คำตอบว่า...
"สำหรับผม ความสำเร็จในการปั้นศิลปินหน้าใหม่ไม่ใช่ความดังนะ เพราะในธุรกิจเพลงบ้านเรา มันตอบค่อนข้างยากว่าคนจะชอบฟังเพลงอะไร ตอนไหน แต่การที่เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่วันแรกจนถึงวันที่เขาเป็นศิลปิน เราเห็นการพัฒนาที่ทำให้รู้สึกว่า 'เฮ้ย มันมาขนาดนี้ได้ยังไง' ยิ่งถ้าคนดูทุกคนยอมรับว่า เด็กกลุ่มนี้เก่งจริงๆ ผมว่านี่คือประสบความสำเร็จแล้ว"
หลังจากรายการ Road to Idol ประสบความสำเร็จในซีซันแรก กลับมาครั้งนี้ แกงส้มและทีมงานขยับสเกลรายการให้ใหญ่ขึ้นอีกขั้น ด้วยการเปิดออดิชันให้เด็กมีฝันทั่วประเทศส่งคลิปเข้าร่วมการประกวด และคัดเลือกจนเหลือเพียง 10 คนสุดท้าย ผู้ชาย 5 คน ผู้หญิง 5 คน เพื่อเฟ้นหาบอยแบนด์ เกิร์ลกรุ๊ปที่มีคุณภาพ
แกงส้มเล่าถึงความแตกต่างของสองซีซันว่า "ซีซันแรกเราปั้นมิคแมคเป็นดูโอ้ ด้วยความน่ารักและเสน่ห์ในการเพอร์ฟอร์แมนซ์บนเวทีของน้องๆ ทำให้เราสามารถมองข้ามรายละเอียดบางอย่างได้ เช่น เราโฟกัสเรื่องเต้นน้อยลง เพื่อให้น้องสามารถเข้าไปเอนเตอร์เทนคนดูได้มากขึ้น แต่มิชชันของซีซันที่สอง คือการทำบอยแบนด์กับเกิร์ลกรุ๊ป มันยากตรงที่เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับทุกสกิล ในฐานะโปรดิวเซอร์ เราต้องบาลานซ์ให้ได้ว่า ใครจะเป็นคนร้องหลัก ใครจะแร็ป เพราะทุกคนไม่สามารถเก่งในทุกๆ ด้านได้ แต่แน่นอนว่า พื้นฐานเรื่องการเต้นหรือการร้อง ทุกคนต้องทำได้มาตรฐาน ผมเข้าใจว่าการเต้นไปด้วยร้องไปด้วย มันเหนื่อย ทำให้เราต้องมีเสียงที่ช่วยซัพพอร์ตน้องๆ ระหว่างโชว์ แต่พวกเขาก็ต้องแข็งแรงพอที่จะร้องแบบไม่เพี้ยนครับ"
ภาพระหว่างการฝึกซ้อมร้องเพลงของศิลปินฝึกหัด
ถ้าใครได้ดูรายการจะเห็นว่า พวกเขาทั้ง 10 คนต้องผ่านบททดสอบหลากหลาย ทั้งเรียนร้อง ลองแร็ป ซ้อมเต้น เข้าคลาสการแสดง ปรับบุคลิกภาพ ซึ่งแกงส้มได้ชวนเพื่อนศิลปินหลายคนมาช่วยให้ความรู้กับน้องๆ อย่าง หญิง-รฐา โพธิ์งาม ที่เข้ามาดูการเต้น, CDGuntee และ SIRPOPPA ที่มาช่วยน้องๆ ฝึกแร็ปแบบเป็นกันเอง
ขณะที่น้องๆ ได้เรียนรู้วิธีการทำงานของศิลปินซึ่งเติบโตด้วยตัวเองเหล่านี้ เราเชื่อว่าคงมีเด็กรุ่นใหม่หลายคนที่ดูรายการนี้ แล้วได้รับแรงบันดาลใจในการลงมือสร้างงานด้วยตัวเองเช่นเดียวกัน
นอกจากบททดสอบต่างๆ แล้ว แกงส้มยังให้พวกเขาทดลองทำงานในฐานะศิลปินจริงๆ อย่างการไปงานอีเวนต์ ไปเป็นแขกรับเชิญในช่องยูทูบชื่อดังอย่าง Rubsarb และการเพอร์ฟอร์แมนซ์บนเวทีจริงของบอยแบนด์ภายในงาน Wow Fashion Week ที่ประเทศลาว ก็ทำให้พวกเขาได้เห็นวิธีการทำงานแบบมืออาชีพมากขึ้น
ภาพของศิลปินฝึกหัดและสไตล์ลิสต์ขณะออกงานอีเวนต์
ระหว่างทาง แกงส้มพบปัญหาของเด็กฝึกหลายคน เช่น การไม่ตรงต่อเวลา ฝึกซ้อมไม่เต็มที่ หรือการทำงานที่ไม่เป็นมืออาชีพ เช่น เกี่ยงกันให้สัมภาษณ์ เป็นห่วงภาพลักษณ์มากกว่าเนื้องาน เป็นเหตุให้โปรดิวเซอร์ตัดสินใจคัดสมาชิกบางคนออกจากรายการ
"เราพยายามหาสิ่งที่ดีที่สุดแล้วในวันออดิชัน แต่ความกดดัน การสู้งาน และแอตติจูดในการทำงาน มันสามารถเปลี่ยนได้ทุกวัน เราไม่สามารถเอาภาพดีๆ มาหลอกลวงว่าเด็กฉันเก่งตลอดเวลา เพราะถ้าตอนสุดท้ายเละ มันก็จบ ถ้าน้องอยากล้างคำสบประมาทของเขา น้องก็ต้องทำให้มันดีขึ้น มันก็ต้องขึ้นอยู่กับตัวน้องครับว่า ไหวหรือไม่ไหว ถ้าไม่ไหวก็ต้องออกไปจากเส้นทางนี้ เพราะการเป็นไอดอลมันยากจริงๆ"
เมื่อพัฒนาการของพวกเขาถดถอย ถ้อยคำให้กำลังใจก็เปลี่ยนไป มีคอมเมนต์เชิงลบมากมายเกิดขึ้นบนอินเทอร์เน็ต ยิ่งบั่นทอนให้จิตใจของเด็กฝึกหลายคนแย่ลง
เขาเงียบไปพักหนึ่งก่อนพูดว่า... "ถ้าลองมองดีๆ คำว่าชอบกับไม่ชอบ มันก็มีหลายแง่นะ อย่างคำว่า ชอบ เขาชอบเพราะเห็นว่าเก่งจริงๆ หรือชอบเพราะหล่อจังเลย แล้วถ้าไม่ชอบ เขาไม่ชอบเพราะทำไม่ดี หรือแค่ไม่ชอบเลยด่า ผมพยายามบอกพวกเขาตลอดว่า ให้อ่านคอมเมนต์ที่เกี่ยวกับเนื้องานของเราจริงๆ เรื่องหน้าตาหรือการที่เขาด่าเพราะเขาไม่ชอบ ไม่ต้องไปฟัง หรือถ้าเขาชมเกินไปก็ไม่ต้องหลง ดูแค่ว่าเราไม่ดีตรงไหนก็แก้ที่ตรงนั้น"
น้ำเสียงของแกงส้มมีความจริงจังเมื่อพูดถึงเนื้อหาที่เข้มข้นในรายการ ต่างจากตอนแรกที่เราพูดคุยกันด้วยบรรยากาศสบายๆ ในช่วงต้น
มองย้อนกลับไป แกงส้มก็เป็นหนึ่งคนที่ไล่ตามความฝันมาโดยตลอด การเดินทางของเขาเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 9 ปีที่แล้ว เสียงนุ่ม ทุ้ม และรอยยิ้มมีเอกลักษณ์ ถูกส่งผ่านวิดีโอความละเอียดเพียง 480p บนช่องยูทูบ Kangsomks ก่อนที่เขาจะเริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะนักร้องล่าฝันจากการประกวดร้องเพลงในรายการ The Star ซีซัน 8
รู้ตัวอีกที เด็กหนุ่มคนเดิมก็กระโดดจากนักร้องไปเป็นนักแสดง แต่ระหว่างทางนั้น เขาก็ยังมีผลงานเพลงออกมาให้เราฟังอยู่เป็นระยะ ก่อนที่แกงส้มในวัย 24 ปีจะตัดสินใจสร้างค่ายเพลงของตัวเองขึ้น
"เราเป็นค่ายเพลงที่มีความจริงจังนะ เราไม่เคยพยายามขายของว่า เรามีศิลปินเยอะ ศิลปินเราหน้าตาดี แต่เราอยากให้คนมาเห็นว่า กว่าจะมีศิลปินอยู่ตรงนี้ มันต้องผ่านอะไรมาบ้าง เรามองว่าการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนที่อยากจะเป็นศิลปินในอนาคตมันสำคัญที่สุด" แกงส้มเล่าถึงจุดยืนของค่าย OGME Entertainment
แววตาและน้ำเสียงจริงจังตลอดการสนทนาของแกงส้ม สะท้อนให้เห็นความตั้งใจที่อยากผลักดันศิลปินรุ่นใหม่จริงๆ ก่อนจบการสนทนา ฉันนึกสงสัยว่าท่ามกลางช่องทางหลากหลายของสื่อออนไลน์ ทำไมรายการถึงเลือกเผยแพร่บนช่องยูทูบ แกงส้มให้คำตอบว่า...
"สำหรับผม ยูทูบคือแพลตฟอร์มของคนรุ่นใหม่นะ ผมเองก็เป็นหนึ่งคนที่โตมาจากยูทูบ ตั้งแต่ทำคัฟเวอร์ ทำเพลงมิกซ์เทป อย่างเพื่อนๆ ที่เป็นยูทูบเบอร์ที่มียอดฟอลฯ 4-5 ล้าน ไปไหนมาไหนก็มีแต่เด็กๆ เข้ามาทัก มันก็การันตีได้แล้วว่า คนรุ่นใหม่อยู่ตรงนี้เยอะมาก ถ้าเราอยากจะเป็นคนหนึ่งที่กระตุ้นความคิดคนรุุ่นใหม่ เราก็ต้องเอาคอนเทนต์มาลงในแพลตฟอร์มของพวกเขา ซึ่งเราก็จำเป็นต้องใช้คนที่เข้าใจแพลตฟอร์มเหล่านี้ ซึ่งผมก็ได้น้องชายผม และพี่แซมจาก SamSamTheDude ที่ทำโปรดักชันเฮาส์อยู่แล้วมาคอยช่วย"
ขณะที่เรากำลังพูดคุยกันอยู่นี้ รายการ Road to Idol 2 ได้ดำเนินมาถึงช่วงท้ายของรายการแล้ว จากวันแรกจนถึงวันนี้ เราเห็นพัฒนาการที่พวกเขาค่อยๆ ก้าวเดิน หกล้ม ลุกขึ้น และเติบโตจากเด็กวัยรุ่นธรรมดา เริ่มฉายออร่าความเป็นศิลปินให้เราได้เห็นแล้ว
ไม่มีใครรู้ว่าผลสุดท้ายจะออกมาเป็นอย่างไร แต่เราเชื่อว่าพวกเขาจะกลายเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของค่าย OGME Entertainment อย่างแน่นอน!