บ้านบูรณ์ (Baan Boon) เป็นแบรนด์ไม้กวาดข้าวฟ่างสไตล์ญี่ปุ่น (sorghum broom) โดยคนไทย ที่สามารถกวาดความนิยมจากผู้ใช้ไปได้อย่างหมดจดงดงาม การนำเสนอดีไซน์ที่มีสีสันรูปทรงน่าหยิบจับอาจจะเป็นสิ่งแรกที่ดึงดูดให้คนสนใจ เมื่อผสานเข้ากับฟังก์ชั่นและความทนทานของไม้กวาดและแปรงแต่ละรุ่นจากผู้ที่ลองใช้แล้ว จึงไม่แปลกใจที่ไม้กวาดของ บ้านบูรณ์ จะกลายเป็นไอเท็มที่ใครๆ ก็อยากมีไว้ประจำบ้าน
หากมีโอกาสลองหยิบจับไม้กวาดของ บ้านบูรณ์ ดูสักครั้ง จะสัมผัสได้ว่านี่คืองานฝีมือที่ผลิตด้วยความพิถีพิถันและมีรายละเอียดที่ต้องอาศัยความชำนาญสูง ตูน-บูรณิตา วิวัฒนานุกูล เป็นตัวแทนของครอบครัววิวัฒนานุกูล มาบอกเล่าเรื่องราวของแบรนด์ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากธุรกิจครอบครัว ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ บ้านบูรณ์ สามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงเช่นนี้ได้
ตูนเล่าว่าจุดเริ่มต้นมาจากการสั่งสมประสบการณ์ของคุณพ่อ สมบูรณ์ วิวัฒนานุกูล ผู้ก่อตั้ง สมบูรณ์ผล คราฟท์ ผู้ผลิตไม้กวาดข้าวฟ่างส่งออกที่เริ่มจากการส่งออกวัตถุดิบข้าวฟ่างสำหรับการทำไม้กวาดไปยังไต้หวันตั้งแต่พ.ศ. 2527 ก่อนที่จะได้รับการถ่ายทอดเทคนิคด้านการผลิตจากทางไต้หวันและญี่ปุ่น แล้วก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตไม้กวาดส่งออกเมื่อพ.ศ. 2529 ก่อนที่จะขยายการส่งออกไปยังหลายประเทศทั่วโลก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร อิตาลี สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรเลีย เป็นต้น โดยมีคุณแม่ เมตตา เป็นผู้ช่วยประสานงานกับลูกค้าต่างประเทศ ก่อนที่น้องชายคนรอง บูรณ์เมตต์ จะตัดสินใจเข้ามาศึกษาธุรกิจของครอบครัว แล้วนำเทคโนโลยีมาจัดระเบียบข้อมูลด้านการส่งออกให้เป็นระบบมากขึ้น และออกแบบเว็บไซต์ Baan Boon Broomsให้คนทั่วไปสามารถเข้ามาชมสินค้าได้ เมื่อบูรณิตากลับมาจากออสเตรเลียจึงมาช่วยคุณพ่อเรื่องการจัดการและสต๊อก ส่วนน้องสาวคนเล็ก บูรณา ยังมีส่วนช่วยซัพพอร์ตด้านกราฟิกและอาร์ตเวิร์กต่างๆ สำหรับแบรนด์ บ้านบูรณ์ อีกด้วย
ส่วนเหตุผลที่แบรนด์ บ้านบูรณ์ ใช้เวลานานกว่าจะสร้างสรรค์ไม้กวาดข้าวฟ่างออกมามาให้คนไทยมีโอกาสใช้กันบ้างนั้น เป็นเพราะที่ผ่านมามีความต้องการผลิตเพื่อการส่งออกสูง ไม่มีกำลังผลิตพอสำหรับจำหน่ายในประเทศ เมื่อเกิดสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้วการส่งออกมีการชะลอ จึงเป็นจังหวะที่จะทำตลาดในประเทศเป็นครั้งแรก "คุณพ่ออยากทำมานานแล้วค่ะ พอตูนกลับมาเลยเห็นด้วยกับการทำในประเทศ เราจะทำอย่างไรให้ช่องทางการรับรู้ของตลาดและการขายกว้างมากขึ้น เรามองว่าทุกอย่างมีการปรับตัว แต่เราจะพัฒนาอย่างไรให้โตไปกับพฤติกรรมของคนในแต่ละยุคสมัย เลยเหมือนเป็นจุดเริ่มต้นจากคุณพ่อแล้วเรานำมาต่อยอดค่ะ"
แต่ก่อนจะคุยถึงไม้กวาด บ้านบูรณ์ นั้น จะขอพาทุกคนกลับไปมองรากที่หล่อเลี้ยงให้เกิดเป็นแบรนด์นี้กันอีกสักครั้ง
คนใต้ที่ขึ้นเหนือไปบุกเบิกการทำไม้กวาดข้าวฟ่างที่เชียงราย
ตูนเล่าว่าคุณพ่อสมบูรณ์เป็นคนใต้ที่ทำงานสู้ชีวิตมาตั้งแต่เด็ก เมื่ออายุ 17 ปี ก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาทำงานส่งตัวเองเรียน แล้วมีความคิดอยากทำธุรกิจเป็นนายตัวเองมาตั้งแต่แรก "คุณพ่อจะบอกตลอดว่าไม่อยากทำงานเป็นลูกจ้างใคร อยากมีธุรกิจของตัวเอง ทำอะไรที่อยากทำ เป็นคนที่คิดแล้วทำเลย ไม่กลัวอะไร คิดแก้ปัญหาหน้างานมาตลอด จึงผ่านการลองผิดลองถูกมาแล้วหลายอย่าง"
พื้นฐานที่เป็นคนขยัน ไม่หยุดนิ่ง และมีมนุษยสัมพันธ์ดี จึงหาช่องทางการทำธุรกิจใหม่ๆ อยู่เสมอ ช่วงนั้นเขากำลังเริ่มทำธุรกิจรับซื้อข้าวโพด โดยมีความคิดว่ายิ่งออกไปตั้งพื้นที่อยู่ไกลเมืองเท่าไรราคาผลผลิตน่าจะถูกลง จึงเดินทางไปจังหวัดเชียงรายซึ่งอยู่เหนือสุดของประเทศ แล้วไปได้ที่ผืนหนึ่งที่จังหวัดเชียงราย จังหวะนั้นคุณพ่อสมบูรณ์มีโอกาสได้ทำความรู้จักกับผู้ผลิตไม้กวาดชาวไต้หวันที่ต้องการวัตถุดิบข้าวฟ่างเพื่อส่งกลับไปผลิตที่ไต้หวันพอดี เขาจึงใช้เวลาศึกษาและทดลองปลูกสักช่วงหนึ่ง ก่อนที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและจังหวัดอื่นเป็นผู้ปลูก เพื่อรับวัตถุดิบเพื่อส่งออกต่อไป
"หญ้าข้าวฟ่างเป็นพืชผลทางการเกษตรที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญการดูแลเอาใจใส่ มีปริมาณน้ำและปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสม ถ้าไม่เชี่ยวชาญพอผลผลิตจะไม่ได้มาตรฐานไม่สามารถทำไม้กวาดได้ วัตถุดิบจะมีส่วนของก้านกับส่วนของขนแปรงหญ้า ซึ่งต้องมีเกรดและขนาดเฉพาะเจาะจงในการทำไม้กวาดแต่ละรุ่น เราจึงต้องอาศัยเกษตรกรเป็นผู้ปลูกที่ช่วยดูแลควบคุมคุณภาพ"
หญ้าข้าวฟ่างที่รับมาจากเกษตรกร ซึ่งนำมาตากที่ลานกว้างของโรงงานเพื่อเตรียมวัตถุดิบ
เมื่อค่าแรงการทำไม้กวาดที่ไต้หวันและญี่ปุ่นสูง ผู้ผลิตไม้กวาดจึงต้องการย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทย แล้วถ่ายทอดกระบวนการทำไม้กวาดและเทคนิคต่างๆ ให้ทาง สมบูรณ์ผล คราฟท์ เป็นผู้ผลิตให้ แต่การทำไม้กวาดมีหลายขั้นตอนและมีรายละเอียดเรื่องมาตรฐานการผลิตเพื่อส่งออกค่อนข้างมาก กว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตที่ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าจึงต้องเรียนรู้และผ่านอุปสรรคมากมาย
เราจึงขอให้เธอช่วยอธิบายขั้นตอนการทำแบบคร่าวๆ ให้เห็นภาพ "การทำไม้กวาดมีหลายขั้นตอนกว่าที่จะสำเร็จเป็นชิ้น พอได้วัตถุดิบมาแล้วเราต้องคัดหญ้าเพื่อที่จะคัดเกรดคัดความยาวสำหรับหญ้าแต่ละรุ่นค่ะ เพราะความหนาและความยาวของหญ้ามีผลต่อการใช้งานไม้กวาดในบ้านนอกบ้าน หลังจากนั้นเราจะต้องดูว่าจะใช้หญ้าสีธรรมชาติหรือต้องผ่านกระบวนการย้อมเพื่อให้มีสีสัน หลังจากนั้นจึงเป็นขั้นตอนการมัดไส้เพื่อให้มีความหนาเพิ่มขึ้น ก่อนจะเป็นกระบวนการมัดไม้กวาดให้ออกมาเป็นรูปทรง ซึ่งขณะเดียวกันสิ่งที่ควบคู่กันไปจะมีกระบวนการจัดการด้ามที่ขนานกัน สำหรับด้ามจะต้องผ่านขั้นตอนการคัดขนาดด้าม กันแมลง หลังจากนั้นเราจึงนำตัวด้ามกับตัวหญ้ามามัดรวมกัน พอประกอบเป็นไม้กวาดแล้วจึงส่งไปควบคุมรูปทรงหรือดีเทลเล็กน้อยที่อยู่ในไม้กวาด อย่างญี่ปุ่นเขาเนี้ยบเรื่องคุณภาพทุกอย่าง เราต้องค่อนข้างระวังมาตรฐาน"
การสั่งสมประสบการณ์และความใส่ใจทุกขั้นตอนตั้งแต่การคัดวัตถุดิบ ขนาด น้ำหนัก การตรวจสอบคุณภาพ จนถึงการแพ็คสินค้าเพื่อรักษามาตรฐานของสินค้า ทำให้ไม้กวาดที่ผลิตจาก สมบูรณ์ผล คราฟท์ เป็นที่ยอมรับและพิสูจน์ด้วยรางวัล The Seal of Excellence for Handicrafts (South East Asia) จาก AHPADA ภายใต้การกำกับดูแลของ UNESCO ที่ได้รับเมื่อพ.ศ. 2550
ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา ตูนบอกว่าเส้นทางของการเรียนรู้เรื่องการผลิตยังไม่จบสิ้น "ความยากของรุ่นคุณพ่อเริ่มจากตรงนั้น มันคือการลองผิดลองถูกที่ต้องแลกกับความเสียหายมากมาย ยิ่งเฉพาะการทำธุรกิจส่งออก ลูกค้ามีเกณฑ์มาตรฐานของเขา บางครั้งความรู้เท่าไม่ถึงการณ์เล็กน้อย เช่น แหล่งไม้ไผ่ที่ไม่ได้มีกระบวนการกันแมลง แล้วเกิดไปเจอแมลงที่นู่น เขาเคลมมาทั้งตู้ หรือหญ้ามีความชื้น ไม่แห้งสนิท มันมีรายละเอียดหลายอย่างที่ต้องใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ จริงๆ ทุกวันนี้เรายังมีการเรียนรู้อยู่ตลอดค่ะ ในฐานะผู้ผลิตยังมีปัจจัยหลายอย่างที่คุณพ่อยังพยายามที่จะพัฒนา ร่วมกันแก้ไข แล้วส่งต่อสิ่งเหล่านี้มาให้เรา"
ไม้กวาดที่มัดสมาชิกครอบครัวมารวมไว้ด้วยกัน
ตูนเล่าให้ฟังว่าที่ผ่านมาคุณพ่อทำเองทุกอย่าง ตั้งแต่ติดต่อลูกค้า รับออเดอร์ กระจายงาน จัดสต๊อก โดยมีคุณแม่มาช่วยประสานงานตอบอีเมลกับลูกค้า เมื่อน้องชายเข้ามาดูแลเรื่องเอกสารและงานด้านการส่งออกจึงพบว่าการทำงานที่ผ่านมาเป็นการบริหารจัดการด้วยความเคยชิน บูรณ์เมตต์จึงรวบข้อมูลต่างๆ มาทำเป็นระบบ ทำให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น
"ช่วงที่น้องชายมาช่วยตูนยังอยู่เมืองนอก เขาเข้ามาดูเรื่องเอกสารซึ่งเป็นพาร์ทที่หนักมาก เพราะเป็นข้อมูลจากหลายปีย้อนหลังซึ่งคุณพ่อไม่ได้รับรู้มาก จนกระทั่งเรากลับมาเห็นว่าข้อมูลที่น้องชายทำไว้พร้อมมาก เมื่อมีข้อมูลจึงเป็นประโยชน์สำหรับบริหารจัดการเรื่องออเดอร์ โดยเฉพาะเรื่องกำหนดส่งสินค้า ความแม่นยำและความถูกต้องของออเดอร์ ซึ่งแบบของไม้กวาดที่ทำเป็นประจำในรอบหนึ่งปี น่าจะประมาณ 60 - 70 แบบได้ ลูกค้าเขาจะสั่งเป็นรุ่นเดิมๆ แต่มีหลายรุ่นและแล้วแต่เจ้า เพราะลูกค้าแต่ละคนจะมีรุ่นของเขา ความยาว น้ำหนัก สีของด้ายต่างกัน จึงมีความเสี่ยงสูงในการจัดการ"
เธอแจกแจงหน้าที่ของแต่ละคนให้ฟังว่า ปัจจุบันคุณพ่อเป็นผู้ดูแลเรื่องวัตถุดิบเพื่อต้องใช้ประสบการณ์ในการติดต่อกับผู้ปลูกและซัพพลายเออร์ ตูนเป็นคนนำข้อมูลมาประกอบเรื่องการกระจายงานและขั้นตอนของการผลิตเพื่อความลื่นไหลในการทำงาน ส่วนน้องชายเป็นผู้ดูแลเรื่องของการส่งออกทั้งหมดจึงแบ่งเบาคุณแม่ได้มาก "ตอนนี้จึงทำงานเป็นสามเหลี่ยมระหว่างคุณพ่อ น้องชาย และตูน ในกรณีที่ลูกค้ามาออเดอร์ใหม่เข้ามาหรืออยากปรับออเดอร์ทุกคนต้องรับรู้ร่วมกัน พอเรามาช่วยกันจึงมีความรอบคอบในการทำงานมากขึ้น เหมือนช่วยกันอุดรูรั่วของกันและกัน คุณพ่อยังใช้ประสบการณ์ที่เคยผ่านมา ส่วนเราอาจจะเสนอมุมมองในการทำงานใหม่ๆ การเอาความถนัดของแต่ละคนมาปรับใช้ทำให้การทำงานเชิงส่งออกมีประสิทธิภาพโดยรวมมากขึ้น ซึ่งกว่าจะมาถึงจุดนี้ต้องปรับพฤติกรรมการทำงานร่วมกันให้คุ้นชินเหมือนกันค่ะ"
ไม้กวาด บ้านบูรณ์ ในมือของผู้ใช้คนไทย
หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านการผลิตเพื่อส่งออกมานาน ในที่สุด บ้านบูรณ์ ก็พร้อมผลิตไม้กวาดข้าวฟ่างสไตล์ญี่ปุ่นออกมาให้คนไทยใช้กันบ้าง โดยสินค้าที่ผลิตออกมามีทั้งไม้กวาด แปรง และที่โกยผง ซึ่งแม้ตัวไม้กวาดจะมีต้นแบบมาจากไม้กวาดสไตล์ญี่ปุ่น แต่ตูนบอกว่าทางคุณพ่อและคุณแม่ไม่เคยหยุดนิ่งและมีการผลิตแบบใหม่ๆ ออกมานำเสนอลูกค้าตั้งแต่ตอนผลิตเพื่อส่งออกอยู่แล้ว "ลูกค้าเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้ดีไซน์ของเราเป็นเอกลักษณ์ด้วยค่ะ เพราะเมื่อออกงานแฟร์แล้วมีโอกาสเจอกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ทางยุโรปและอเมริกาซึ่งต่างจากญี่ปุ่น เขาจะอยากเล่นสีและเป็นจุดเริ่มต้นที่เราได้ทำการทดลองย้อมสีใหม่ๆ" จนนำมาสู่การพัฒนาแบบรูปทรงและสีสันให้ไม้กวาดของ บ้านบูรณ์ ที่มีความเฉพาะตัวยิ่งขึ้น
ในการทำแบรนด์นั้นเธอยอมรับว่าที่ผ่านมาเป็นผู้ส่งออกที่ไม่เคยสัมผัสกับผู้ใช้งานจริงเลย การทำตลาดในประเทศจึงมีเรื่องให้ต้องเรียนรู้อีกมาก "เราโตมากับธุรกิจส่งออกที่เราไม่ได้เห็นปลายทางว่าสินค้าของเราไปอยู่ที่ใคร เราเห็นแค่ตัวกลางที่เขาเป็นคนกระจายสินค้าไปขายในแต่ละประเทศ ฉะนั้นเราค่อนข้างจะรู้พฤติกรรมผู้ใช้งานน้อยมากๆ จึงเป็นโจทย์ที่แบรนด์จะต้องเริ่มต้นใหม่ เริ่มจากการทำความรู้จักกับคนในประเทศที่เรารู้น้อยที่สุด เมื่อตั้งโจทย์แล้วลองทำดู เดี๋ยวคำตอบมันจะมาเอง"
ไม้กวาดของ บ้านบูรณ์ มีการพัฒนาแบบโดยให้ความสำคัญกับดีไซน์และฟังก์ชั่นควบคู่กันไป รวมถึงปรับขนาดและความยาวของด้ามให้เหมาะสมกับส่วนสูงของคนไทยด้วย "น้ำหนักที่ตูนให้คือดีไซน์ที่ไม่ซ้ำใคร ขณะเดียวกันต้องตอบโจทย์การใช้งานจริง ดังนั้นไม้กวาดของ บ้านบูรณ์ จึงเป็นไม้กวาดที่ลบนิยามไม้กวาดเดิมๆ ซึ่งเป็นสิ่งของที่คนมองว่าเป็นของต่ำ ของสกปรก ต้องซ่อน กลายเป็นสิ่งที่ใช้เสร็จแล้วสามารถนำมาตกแต่งบ้านต่อได้ หรือวางไว้ที่ไหนก็ได้ไม่ต้องอาย ขณะที่ใช้งานได้จริง ทนทาน อายุการใช้งานหลายปี ฉะนั้นคุณสมบัตินี้จึงเหมือนเป็นการตีความใหม่ของไม้กวาดที่สื่อสารกับคนที่นำไปใช้ให้ลองกลับมามองผลิตภัณฑ์นี้ในอีกมุมหนึ่ง"
ผลิตภัณฑ์ของ บ้านบูรณ์ แบ่งง่ายๆ ออกเป็น 2 ประเภทคือ แปรงกับไม้กวาด สำหรับไม้กวาดออกแบบมาเป็น ด้ามสั้นกับด้ามยาว ด้ามสั้นเป็นทรงที่มีความเอียงตามองศาที่ใช้กวาดมือเดียว ด้ามยาวเป็นลักษณะการใช้งานแบบจับ 2 มือสำหรับกวาดนอกบ้าน ส่วนแปรงมีหลากหลายให้เลือกตามการใช้งาน
ตูนพูดถึงความนิยมต่อผลิตภัณฑ์ของลูกค้าว่า "กลุ่มหลักคือผู้ที่ใช้ทำความสะอาดบ้านจะนิยมแบบด้ามสั้น เพราะการจับไม้กวาดมือเดียวจะใกล้เคียงกับลักษณะของการใช้ไม้กวาดแบบที่เคยใช้มาตลอด แล้วผลตอบรับที่เขาชอบเพราะอายุการใช้งานจะนานกว่าไม้กวาดทั่วไป ด้วยความที่เรามัดมือตั้งแต่ก้านไปถึงพู่ ดังนั้นตัวยึดจะแข็งแรง แล้วลูกค้าค่อนข้างเปิดกว้างกับสีสัน อีกกลุ่มจะเป็นวัยทำงานที่อยู่อาศัยในคอนโดแล้วมีกำลังแต่งบ้าน ลูกค้ากลุ่มนี้จะมีความชอบที่ผสมผสานความสมัยใหม่กับความวินเทจเข้าด้วยกัน แล้วชื่นชมงานฝีมือค่ะ"
ซึ่งเธอกล่าวถึงเป้าหมายของแบรนด์ไว้ว่า ต้องการให้ผลิตภัณฑ์ของ บ้านบูรณ์ เป็นของใช้ที่คนอยากมีไว้ติดบ้าน เพราะความชื่นชอบของผู้ใช้งานจริง "เราอยากให้ บ้านบูรณ์ เป็นแบรนด์ที่ยั่งยืน ไม่ใช่หวือหวาในเชิงเทรนด์ค่ะ ตอนนี้เหมือนเริ่มเปิดตัวให้คนรู้จักเรามากขึ้น แต่สุดท้ายแล้วอยากให้ลูกค้ากลับมาอุดหนุนด้วยตัวสินค้าเอง"
การทำแบรนด์ที่เติบโตจากการเพาะปลูกและถักมัดไว้ด้วยฝีมือของคนในชุมชน
การผลิตไม้กวาดของ สมบูรณ์ผล คราฟท์ เป็นการทำธุรกิจที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการเพาะปลูกข้าวฟ่างของเกษตรกรและทักษะฝีมือด้านหัตถกรรม จึงเป็นการทำงานร่วมกับคนในชุมชนเป็นหลัก ซึ่งตูนคิดว่าการทำงานร่วมกับคนในพื้นที่ต้องอาศัยความเข้าใจและเคารพในวิถีชีวิตของชุมชนด้วย
"ถ้าเกิดคุณอยากได้ความเป๊ะของระบบโรงงานมันก็ดีต่อธุรกิจ แต่ถ้าเกิดว่าคุณจะอิงกับการทำงานร่วมกับชุมชนอย่างที่คุณพ่อทำมา คุณพ่อค่อนข้างเคารพคนในชุมชน เพราะชุมชนมีความเหนียวแน่น เวลามีงานบุญ งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่ง งานศพ เขาไปร่วมงานกันทั้งหมู่บ้าน ฉะนั้นเราต้องมีความยืดหยุ่นเรื่องชั่วโมงการทำงาน เพราะวิถีชีวิตคนในชุมชนไม่ได้เอาเงินเป็นตัวตั้งอย่างเดียว แต่มีความเอื้อเฟื้อต่อกันและกัน และความสัมพันธ์ของคนกับชุมชนที่เหนียวแน่น ซึ่งเขาให้ความสำคัญมากไม่แพ้กับการทำงาน แต่ขณะเดียวกันพี่ๆ เขาก็ยืดหยุ่นให้เราเมื่อมีการขอให้เขามาช่วยทำเพิ่มเติมหลังจากนั้น"
นอกจากลักษณะของการทำงานที่มีความเกื้อกูลซึ่งกันและกันแล้ว ในวิกฤตโควิดเช่นนี้ยังมีความตั้งใจไม่ปรับลดพนักงานรวมถึงแรงงานด้านการผลิต เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของคนทำงานด้วย "โรงงานเราไม่ได้เป็นเหมือนโรงงานอุตสาหกรรมนะคะ แต่เป็นลักษณะโครงสร้างแล้วเป็นหลังคาเหมือนเวิร์กช็อป ซึ่งเวลาการทำงานจะค่อนข้างยืดหยุ่นขึ้นอยู่กับสถานการณ์และภาระของพี่ๆ พนักงานแต่ละคน โดยแรงงานของ บ้านบูรณ์ เป็นกลุ่มเดียวกับที่ทำผลิตเพื่อส่งออก พอเกิดสถานการณ์โควิดพี่ๆ แต่ละคนเขาอาจจะมีภาระมากกว่าเดิม เพราะสมาชิกในบ้านที่ส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในภาคการท่องเที่ยวไม่มีรายได้เท่าเดิม ที่ผ่านมาเราจึงพยายามเอาแบบผลิตภัณฑ์ของ บ้านบูรณ์ ไปสอดแทรกในกำลังการผลิตเดิมให้เขาทำ"
การเริ่มต้นทำแบรนด์ บ้านบูรณ์ จึงมีส่วนสร้างงานในชุมชนให้มีความต่อเนื่องไม่น้อย
แม้ว่าสัดส่วนของการผลิตไม้กวาดแบรนด์ บ้านบูรณ์ จะยังจำนวนน้อยอยู่ เมื่อเทียบกับจำนวนการผลิตเพื่อการส่งออกต่างประเทศที่เป็นสเกลใหญ่มาก แต่เธอบอกว่าความรู้สึกที่ได้รับจากการทำงานแตกต่างกันมาก
"การทำแบรนด์เป็นพาร์ทที่ตูนชอบ เพราะเหมือนเป็นส่วนที่เราได้ทำอะไรเป็นของตัวเอง มีมุมที่รู้สึกสนุกไม่เหมือนกับการส่งออกที่ทำกิจวัตรหรือผลิตไม้กวาดแบบซ้ำๆ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่คุณพ่อทำมาเป็นการสนับสนุนชุมชน เป็นความภูมิใจที่เราผลิตชิ้นงานที่ไม่ซ้ำใคร แต่เป็นการรับรู้อยู่ในมุมของตัวเอง คุณพ่อไม่ได้รับรู้ผลตอบรับของผู้ใช้เหมือนไม้กวาดของ บ้านบูรณ์ แม้รายได้ในส่วนของการทำแบรนด์เชิงเม็ดเงินอาจจะน้อยกว่าเยอะ แต่เชิงคุณค่าของการทำงานมันมากขึ้น คุณพ่อรู้สึกว่าเขามีความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตกับผู้ใช้งานปลายทางจริงๆ"
นอกจากการตอบรับของผู้ใช้งานจริงที่รับรู้มาแล้ว เธอยังเล่าให้ฟังว่าการทำผลิตภัณฑ์ให้ผู้ใช้ในประเทศมองเห็นเปิดโอกาสใหม่ๆ เข้ามาไม่เหมือนกับการผลิตเพื่อส่งออกอย่างเดียว "การทำธุรกิจที่เป็นผู้ผลิตเป็นการรับออเดอร์จากลูกค้า ประสานงาน แล้วแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า แต่ขณะเดียวกับส่วนของการทำแบรนด์เป็นงานที่ใหม่สำหรับเราและยังมีอะไรที่ต้องเรียนรู้อีกเยอะ กลายเป็นการทำงานที่เรารู้สึกว่ามีพลังเข้ามาเติมเต็ม และมีตลาดใหม่ที่หลายคนชวนให้ไปทำโปรเจกต์น่าสนใจร่วมกัน ตูนชอบพาร์ทนี้ที่คาดเดาไม่ได้ มันอาจจะมีความเป็นไปได้อีกเท่าไรไม่รู้ที่เรานึกไม่ถึง แล้วมีคนมาช่วยคิดโจทย์ใหม่ๆ ให้เราตลอดเวลา" ซึ่งมีทั้งในรูปแบบการผลิตเพื่อทำของขวัญ ของชำร่วย หรือการทำงานร่วมกันเพื่อนำวัสดุไปตกแต่งที่พัก เป็นต้น
ผลิตภัณฑ์ของ บ้านบูรณ์ จึงเป็นการนำทักษะและประสบการณ์จากบทบาทผู้ผลิต มาผสมผสานความคิดสร้างสรรค์และปรับแบบของไม้กวาดให้เหมาะสมกับผู้ใช้ชาวไทย ด้วยความหวังว่าจะสามารถเป็นแบรนด์ไม้กวาดที่คนไทยอยากมีไว้ติดบ้าน และทำให้ธุรกิจมีความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
ขอบคุณสถานที่ Woot Woot Store บริเวณชั้น 2 ร้าน Horse Unit ที่ Warehouse 30
สามารถแวะเข้าชมผลิตภัณฑ์รุ่นต่างๆ ของบ้านบูรณ์ได้ที่ Woot Woot Store และ happening shop สาขาดาดฟ้า ลาซาล 33 หรือ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ baanboonbrooms.com