น่านเป็นเมืองน่ารักที่ร่ำรวยด้วยศิลปวัฒนธรรมทั้งเก่าและใหม่ ไม่ว่าจะเป็นวัดที่ได้รับอิทธิพลศิลปะจากล้านนา สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และแบบพม่า ขณะเดียวกันยังมีพื้นที่สำหรับศิลปะร่วมสมัยที่สร้างขึ้นจากศิลปินอิสระชาวน่านที่หลายคนรู้จักดี คือ หอศิลป์ริมน่าน หอศิลป์เอกชนในหุบเขาเล็กๆ ริมแม่น้ำน่าน ที่โอบล้อมด้วยต้นไม้สูงใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองพอสมควร
หอศิลป์ริมน่าน สร้างขึ้นด้วยฝีมือของอาจารย์วินัย ปราบริปู ที่ตั้งใจให้หอศิลป์ริมน่านเป็นส่วนหนึ่งของการเริ่มต้นสร้างสรรค์ และเผยแพร่งานศิลปะในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งนับจากการก่อตั้งเมื่อปี 2547 หอศิลป์แห่งนี้ผ่านร้อน ผ่านฝน ผ่านหนาวมาแล้ว 16 ปี กลายเป็นหอศิลป์เอกชนแห่งแรก ที่สร้างรูปแบบของการชมงานศิลปะร่วมกับการท่องเที่ยวได้สำเร็จ รวมทั้งยังกลายเป็นสถานที่เรียนรู้ของเยาวชน เวทีแสดงศิลปะของศิลปินรุ่นใหม่ และเป็นแหล่งสร้างอาชีพให้ชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นหอศิลป์ที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอย่างแท้จริง
เมื่อได้ไปเยือนแล้วเรารู้สึกรักหอศิลป์ริมน่านมากๆ จึงอยากแนะนำให้ทุกคนรู้จัก ไปเที่ยว เดินเล่น ดูศิลปะ แล้วหลงรักที่นี่เหมือนกัน
เช้าวันเสาร์ ฤดูไฮซีซั่นของเมืองน่าน อาจารย์วินัย ปราบริปู ศิลปินชาวอำเภอท่าวังผา ออกมาต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาชมหอศิลป์ริมน่านด้วยตนเอง
ไม่นานมานี้หอศิลป์เพิ่งปรับปรุงอาคารแสดงผลงาน โดยขยับขยายพื้นที่ด้านข้างให้กว้างขึ้นเพื่อรองรับงานศิลปะ ปัจจุบันจัดแสดงนิทรรศการ 2 ส่วน คือ นิทรรศการถาวร จัดแสดงผลงานศิลปะส่วนตัวของอาจารย์วินัย และอีกส่วนเป็นนิทรรศการหมุนเวียน ที่จัดแสดงผลงานของศิลปินชาวน่าน ศิลปินต่างประเทศ และศิลปินรุ่นใหม่ ซึ่งหอศิลป์เปิดโอกาสให้ผู้สนใจติดต่อมาจัดแสดงงานศิลปะของตัวเองได้อย่างอิสระ
การเล่าถึงจุดเริ่มต้นของหอศิลป์ริมน่านต้องย้อนไปในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ขณะนั้นอาจารย์วินัยตั้งใจกลับมาวาดรูปที่บ้านเกิด เขาจึงนำเงินเก็บ 500,000 บาท มาซื้อที่ดินจำนวน 13 ไร่ ต่อจากญาติผู้ใหญ่เชื้อสายตระกูล ณ น่าน ที่กำลังย้ายไปอยู่สหรัฐอเมริกา "มันเป็นภาวะเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ตอนนั้นไม่มีใครเอาเงินมาใช้ ค่าเงินมันตกต่ำ ธนาคารก็ถูกยุบ การที่ผมเอาเงินมาซื้อถือว่าผิดช่องผิดทาง ญาติๆ ก็ไม่เห็นด้วย เพื่อนๆ ก็งอนหลายคน ตอนแรกผมตั้งใจมาทำงานศิลปะ อยากทำสตูดิโอใหญ่ๆ ถ้าใครมาน่าน มาบ้านเราก็จะได้เห็นภาพเขียน ผมไม่ได้คิดว่าจะทำหอศิลป์หรอก" ขณะอาจารย์วินัยเล่าให้ฟัง เราก็ได้ยินเสียงแว่วๆ ของช่างไม้ที่กำลังปรับพื้นที่อาคารหลังหนึ่งไปด้วย
เมื่ออยู่ๆ มีคนเข้ามาถากถางพื้นที่สร้างบ้านและสตูดิโอวาดรูป จึงสร้างความแปลกใจให้ชาวบ้านในพื้นที่ ถึงกับมีคนคิดว่า เขาเป็นพวกค้ายาเสพติดหนีมาฟอกเงิน บางคนก็เข้ามาแอบดู ภายหลังเมื่อคุณหมอบุญยงค์ วงศ์รักมิตร บุคคลสำคัญของเมืองน่านแวะมาดูว่าเขาทำอะไร จึงเชียร์ให้เปิดเป็นสถานที่เข้าชม แต่เขาก็ใช้เวลาหลังจากนั้นถึง 7 ปี หอศิลป์ริมน่าน จึงสามารถเปิดบริการอย่างเป็นทางการ กลายเป็นหอศิลป์เอกชนแห่งแรกของเมืองน่านได้สำเร็จ
"เรามาในความรู้สึกของศิลปิน อยากจะมีพื้นที่สวยงามไว้เขียนรูป แล้วก็แสดงผลงานของตัวเอง มันมาด้วยอารมณ์นี้ ไม่ได้มาด้วยเหตุผลของค่าเงิน อีกหน่อยจะทำเงินได้หรือไม่ได้ เราคิดอย่างเดียวว่า เงินที่เรามีอยู่ มันเป็นเงินที่ได้มาจากงานศิลปะ ชีวิตเราไม่ได้ยาว เรารู้ว่าเราพอมีเงินสำรองใช้ได้ ก็ใช้เงินตรงนี้ไป นี่คือการตัดสินใจซื้อ แต่พอเริ่มสร้างอาคาร เงินมันหมด แล้วเราก็หยุดชะงักในเรื่องของการผลิตงาน แต่ไม่ได้หมายถึงไม่มีรายได้เลยนะ มีรายได้แต่ลดลงเยอะมาก มีแต่รายจ่าย การเปิดบริการมันต้องมีค่าใช้จ่ายของคน ท้ายที่สุดก็ไปขายทรัพย์สิน ที่เราเคยขายงานศิลปะไปซื้อ ทั้งที่ดินบ้าง ห้องแถวบ้าง ก็ขายหมด เพื่อเอามาใช้ดูแลและก่อสร้างหอศิลป์ จนเปิดทางการปี 2547 ใช้เวลาตั้ง 7 ปี"
หอศิลป์ริมน่านออกแบบมาจากตัวตนของอาจารย์วินัย ที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะหลายแขนงและประสบการณ์ชีวิตที่เคยทำงานก่อสร้างมาก่อน "เรามีความเข้าใจโครงสร้างของการวาดรูป การออกแบบ แล้วประสบการณ์ก็สอนเรื่องที่อยู่อาศัย เฟอร์นิเจอร์ สี การออกแบบผมคำนึงถึงพื้นที่ พื้นที่มันออกจะยาวเหมือนโทรศัพท์ ด้านนี้ติดแม่น้ำ ด้านนี้จะเหลี่ยมหน่อยไม่ค่อยสวย แต่เราอยากมีพื้นที่ 2 ข้างสำหรับติดภาพเขียน ก็เลยดีไซน์อาคารขนาด 600 ตารางเมตร เหมือนห้องโถง มี 2 ชั้น ใช้พื้นที่ผนังสองข้างให้เข้าไปดูงานศิลปะ มีบอร์ดตรงกลาง ก็ตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ คือแขวนงานศิลปะ พอทำแล้วมันใหญ่นะ ใช้ได้เลย ตอนหลังเรามีความพร้อมที่จะขยายด้านข้างที่เป็นเหลี่ยมไม่ค่อยเต็ม ก็มีการถมดินอยู่ตลอดเวลาเป็น 10 ปีได้ จนดินเซ็ตตัวได้แล้วเลยขยายไป ออกมาเป็นแบบนี้" อาจารย์วินัยพูดถึงอาคารที่ปรับปรุงล่าสุด ซึ่งขยายพื้นที่ห้องโถงด้านข้างออกมากว้างมาก พร้อมติดพัดลมระบายอากาศคลายความร้อนให้นักท่องเที่ยว
"หอศิลป์เรามีปัญหาอยู่นะ ไม่ใช่ไม่มี เรามีปัญหาตามภูมิศาสตร์ของภาคเหนือ คือปีนึงอากาศจะเย็นตอนกลางวัน สัก 3-4 เดือน บางปี 4-5 เดือน เย็นตอนกลางคืนประมาณ 6 เดือน ทีนี้ก็จะร้อนชื้นไม่ว่าจะช่วงกลางวัน หรือกลางคืน มีแดดหรือไม่มีแดด มันก็ร้อน เพราะมันร้อนชื้น จะเป็นปัญหาของเรา แต่ไม่ใช่ปัญหาของภาพเขียน คนดูก็จะร้อน ส่วนการติดแอร์เป็นอะไรที่ทำไม่ได้ เพราะห้องโถงกว้าง ต้องใช้พลังงานเยอะมาก ตอนนี้เราติดพัดลมระบายอากาศ ก็ยังร้อนอยู่ แม้อาคารที่ต่อเติมมาจะสูง แต่ความร้อนจากหลังคาก็ยังลงมา เราเสียค่าไฟฟ้าเยอะ เราคาดไว้บ้าง แต่ยังไม่รู้ตัวเลขเท่าไร เพิ่งมารู้ว่าค่าไฟฟ้าเราสูงเท่าตัว"
เมื่อเกิดปัญหา เขาเริ่มหาทางแก้ปัญหาไปทีละเปลาะ เช่น กำลังดูโอกาสติดตั้งโซล่าเซลล์ เพราะช่วยทุ่นค่าไฟฟ้า แถมยังช่วยลดความร้อนจากหลังคา แต่ต้องลงทุนสูง จึงอยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลก่อน ทำให้ตลอดเวลา 16 ปี การก่อสร้างหอศิลป์ริมน่าน ไม่ได้เปิดปุ๊บเสร็จปั๊บ แต่มีการปรับเปลี่ยนเล็กบ้าง ใหญ่บ้างอยู่เสมอ เขาแซวตัวเองว่า หลายครั้งก็มีความรู้เรื่องวัสดุมากกว่าช่างเสียอีก เช่น เมื่อต้องปรับปรุง เฮือนสีนวล ซึ่งเป็นร้านกาแฟ และร้านจำหน่ายของที่ระลึก ก็อยากหากระจกสีแบบโบราณมาติด แต่เมื่อราคาสูง จึงเลือกใช้วัสดุใหม่ๆ อย่างแผ่นฟิล์มลามิเนต ทั้งสวยงามและได้กลิ่นอายของกระจกสีโบราณ รวมทั้งการออกแบบให้ได้กลิ่นอายแบบพื้นบ้าน ล้านนา เลือกใช้อลูมิเนียมมาฉลุลวดลายตามแบบชายคาโบสถ์พระวิหาร เมื่อนำมาประกอบกับเฮือนไม้ที่สร้างจากไม้เก่าก็ดูสวยงามไม่ขัดตา
"งานศิลปะ ต้องประยุกต์ผสมผสาน เราเป็นคนทำงานศิลปะที่มีความหลากหลาย การปรับเปลี่ยนมันเหมือนกับกาลเวลาที่สัมผัสรู้สึกและรับได้ ถ้าเอามาอยู่ร่วมกันแล้วไม่ขัดตา ก็ปล่อยไป บางทีเรามีอะไรรู้มากกว่าช่าง ช่างก็ถามว่าอาจารย์รู้ได้ยังไง เพราะเราไปเดินหาวัสดุมาแก้ปัญหา เช่น น้ำรั่วน้ำซึม ปูนที่มันแตกเล็กๆ ถ้าเอาปูนไปใส่มันก็แตก เราเห็นมีวัตถุเคมีขาย เราก็ทดลองใช้ มันได้ผล ต้องแก้ บางอย่างมันเป็นแค่ดีไซน์เล็กๆ ก็แก้ปัญหาไป" อาจารย์วินัยหยิบปากกามาจดลงกระดาษ เมื่อมองไปเห็นว่าบริเวณที่กำลังปรับปรุงยังมีบางส่วนที่เก็บงานไม่ละเอียด
"โน้ตว่าให้เอาเชือกมาพันเสา เดี๋ยวเหล็กโผล่มา" เขาบอกหลังเงยหน้าจากกระดาษ เรามั่นใจว่าหลังคุยเสร็จ อาจารย์ต้องบอกช่างให้มาเก็บรายละเอียดอีกที
เวทีที่เปิดทุกโอกาสให้ศิลปิน
หากมาเที่ยวหอศิลป์ริมน่านทุกเดือน จะพบว่านิทรรศการหมุนเวียนมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เนื่องจากเป็นความตั้งใจของอาจารย์วินัย ที่อยากให้หอศิลป์เป็นพื้นที่สร้างสรรค์และเปิดโอกาสให้ศิลปินมีพื้นที่แสดงผลงาน เช่นขณะที่กำลังสัมภาษณ์นี้ ทางหอศิลป์กำลังจัดนิทรรศการอัตตสิปปะของศิลปินเมืองละโว้ และนิทรรศการจิตรประติมาธรรม ของศิลปินกลุ่มศิลป์ธรรม
"เราส่งเสริมให้เขามีโอกาส คำว่าโอกาสคือ เรามีเวที ศิลปินก็อยากขึ้นเวทีนั้น ตัวเขาเป็นคนผลิตงาน หน้าที่ของเราคือ ดึงคนดู ชักจูงคนมาดูศิลปินแสดงงาน แสดงตัวตนของเขา เราไม่เอามาตรฐานที่เป็นมืออาชีพมาคัดกรอง เพราะถ้าเอามาตรฐานมาปุ๊บ โอกาสของคนที่ทำงานศิลปะเป็นพาร์ทไทม์ อยากจัดแสดงกับเพื่อนๆ ก็จะไม่มีโอกาส เราขอให้เขาทำงานเกาะกลุ่มกันไว้ เพราะถ้ามาแสดงคนเดียว มันเสี่ยง หากไม่ใช่มืออาชีพและมีกำลังพอ งานจะออกมาอ่อนมาก มันต้องเกาะกลุ่ม ถ้าเกาะกลุ่ม กลุ่มจะดึงกันไป แล้วเราก็ไม่เกี่ยงงอนที่จะให้การสนับสนุนเขา"
เมื่อเข้าไปชมนิทรรศการ เราเห็นงานศิลปะชุดหนึ่งได้รับความสนใจจากเด็กๆ เป็นพิเศษ เมื่อมองดูใกล้ๆ เป็นภาพลักษณะ Doodle Art หรือการวาดลายเส้นสีดำเป็นรูปทรงอะไรก็ได้เรื่อยเปื่อย ซึ่งเด็กๆ มาดูด้วยความสนใจ และทายกันเล่นๆ ว่าศิลปินวาดรูปอะไรอย่างสนุกสนาน
อาจารย์วินัยเคยให้สัมภาษณ์สื่อหลายครั้งว่า เมื่อเขาเห็นภาพเด็กยุโรปได้เข้าถึงศิลปะตั้งแต่เล็กๆ จึงจุดประกายอยากให้เด็กๆ ในต่างจังหวัดได้เข้าถึงศิลปะเหมือนเด็กในเมืองใหญ่บ้าง ซึ่งภาพแห่งความฝันเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วในหอศิลป์ริมน่าน ที่พ่อแม่ คุณครู พาเด็กๆ มาเดินดูศิลปะด้วยกัน
"ตลอด 16 ปี เด็กรุ่นแรกๆ เขาก็มาเที่ยว เท่าที่ได้พูดคุยทักทาย เขาเล่าให้ฟังว่า เขาไปเรียนที่ไหน ไปเรียนศิลปะ เป็นดีไซเนอร์ เป็นสถาปนิก หอศิลป์เป็นแรงบันดาลใจให้เขาเรียนศิลปะ บางคนมีครอบครัวก็พาลูกมา เพราะทุกอย่างในอนาคตมันอยู่ที่เยาวชน กิจกรรมใดๆ ที่ส่งเสริมให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้จะต้องมี ถ้าเขามีพื้นที่ ให้ตรวจสอบตัวเอง รู้ทักษะ รู้ความสามารถ รู้นิสัย รู้จริต ว่าตัวเองชอบ มีใจอยากทำอะไร ถ้ามีใจด้านนี้เขาจะเลือกเรียนศิลปะ" อาจารย์วินัยเอ่ยถึงเด็กๆ ด้วยน้ำเสียงมีความสุข
"ถ้ามีพื้นที่หอศิลป์ที่ครูพาไปทัศนศึกษา ไปกับพ่อแม่ ไปกับเพื่อน ก็ช่วยตอกย้ำซึมซับไปเรื่อยๆ ถ้ามันไม่มีเลย มันอยู่ไกล ครูพาไปก็น้อย พ่อแม่พาไปก็น้อย เขาก็ไม่มีข้อมูล การเกิดแรงบันดาลใจมันไม่มี การที่เด็กๆ บอกว่าอยากให้มีหอศิลป์ร่วมสมัยในต่างจังหวัด เป็นความคิดที่ดี เป็นความรู้สึกที่ดี เขาก็เป็นห่วง อยากจะให้แชร์ความยุติธรรม ให้กับสังคมโดยรวม เพราะว่าการบริหารของเรา ส่วนกลางจะเป็นหลัก แล้วค่อยกระจาย ส่วนกลางเลยมีตั้งแต่โรงเรียน มหาวิทยาลัย ธุรกิจทุกอย่าง การที่เด็กในกรุงเทพได้เห็น ได้เรียนรู้อะไรมา เขาจึงบอกว่า อยากให้อันนี้ไปอยู่ต่างจังหวัด หรือเด็กต่างจังหวัดไปเรียนกรุงเทพฯ ก็อยากจะเห็นสิ่งที่ดีๆ งามๆ ที่บ้านบ้าง มันเป็นแบบนี้"
นอกจากหอศิลป์ริมน่านจะเป็นพื้นที่ค่ายอบรมศิลปะให้กับเยาวชนน่าน โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชนของเมืองน่านแล้ว ยังมีงานเทศกาลดนตรีที่จัดปีละครั้งชื่อ รักษ์ป่าน่านเต๊อะ ซึ่งมีศิลปินหลายท่านมาร่วมงาน เช่น ครั้งที่ผ่านมา อ.เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ได้มาประพันธ์บทกวี ขณะอาจารย์วินัยกำลังเขียนรูป ไปพร้อมๆ กับการบรรเลงแซกโซโฟนของ Mr.Carl Peverall และจ่านิน (ธาณินทร์ รณหงษา) ซึ่งมาช่วยสร้างสรรค์ให้พื้นที่ของหอศิลป์ริมน่านเต็มไปด้วย ดนตรี กวี ศิลป์ ยิ่งมองดูแล้ว หอศิลป์ริมน่านก็ได้กลายมาเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ให้คนรักศิลปะมารวมตัว สร้างผลงานศิลปะตามความสนใจของตนเอง
หอศิลป์ที่สร้างคุณค่าให้สังคม
หอศิลป์ริมน่านเดินทางต่อเนื่องด้วยทุนส่วนตัวของอาจารย์วินัยมาตลอด 16 ปี จากมีนักท่องเที่ยวเข้าชมปีแรก 8,000 คน ก่อนจะค่อยๆ ไต่ขึ้นมาหลักหมื่นต้นๆ จนถึง 50,000 คนในปัจจุบัน โดยมีค่าเข้าชมเพียง 20 บาทเท่านั้น ซึ่งเงินส่วนนี้จะเป็นค่าใช้จ่ายของพนักงาน ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ในหอศิลป์ แม้ในปีนี้การท่องเที่ยวจะหยุดชะงักจากโรคระบาดโควิด – 19 ทำให้หอศิลป์ขาดรายได้นานถึง 3 เดือน ก็มีคำถามจากหลายคนเข้ามาสอบถามว่า หอศิลป์อยู่ได้อย่างไร
"น้อยมากที่จะขายงานศิลปะมาเลี้ยง เรียกว่า อย่ายึดเลยว่าจะได้งานค่าบัตรผ่านประตู ถ้าคนไม่เยอะ ได้ค่าบัตรผ่านประตูน้อย เราก็ไม่คุ้มอยู่แล้ว ยิ่งบางฤดูกาลยิ่งไม่คุ้ม เพราะเราเก็บ 20 บาท ตั้งแต่ 16 ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน เราไม่มีนโยบายจะเปลี่ยน เพราะถ้าเก็บมาก เราก็ห่วงคนเข้ามาน้อย เหมือนเราไปปิดกั้น ไม่ได้ส่งเสริมการท่องเที่ยว ไม่ได้ส่งเสริมการเข้ามาชมงานศิลปะ มันจะขัดแย้งกับแนวคิดเรา ดังนั้น 20 บาท จึงสอดคล้องกับเป้าหมายของเรา"
อาจารย์วินัยยังคงใช้เงินที่ตัวเองเก็บหอมรอมริบ เงินจากการขายภาพตัวเอง เงินจากการขายของที่ระลึก ร้านกาแฟ มาหล่อเลี้ยงพนักงานในหอศิลป์ โดยขยับเงินเดือนให้พนักงานขึ้นทุกปี "เรื่องการนำเงินมาบริหารว่า มันจะคุ้มไม่คุ้ม ถ้าดูภาวะตอนนั้นตั้งแต่แรกไม่คุ้มหรอก แต่ดูภาวะตอนนี้ในระยะยาว เราก็ปรับเปลี่ยนปรับตัวให้อยู่ได้ เราเริ่มฟื้นมา คำว่าเริ่มฟื้นมาคือ เรามีงานให้กับคนอื่น เรามีงานให้พนักงาน เรามีงานให้พื้นที่ เรามีกิจกรรมให้รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมน่าน เป็นส่วนหนึ่งของวงการศิลปะ และเป็นส่วนหนึ่งของการเริ่มต้นเผยแพร่สร้างสรรค์ในพื้นที่ต่างจังหวัด มันมองเห็นค่าตรงนี้ที่ไม่ได้เป็นเม็ดเงิน แต่มันเป็นคุณค่าของสังคม ทำให้ชีวิตเรามีค่า มีส่วนร่วมกับสังคมยุคใหม่ เหมือนจากจุดเริ่มต้น เรามาด้วยใจ แล้วเราก็ใช้ใจ" ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เราสัมผัสได้ตลอดการพูดคุย คืออาจารย์วินัยไม่ได้มองการทำหอศิลป์ริมน่านเป็นเรื่องของเงินทอง แต่มองคุณค่าของสิ่งที่กำลังทำว่ามีประโยชน์เพื่อสังคมมากกว่า
สิ่งที่เกิดขึ้นในหอศิลป์ริมน่านคือ การค่อยๆ เดินทางตลอด 16 ปี เพื่อพาศิลปะเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำของผู้คน ทุกคนสามารถดูงานศิลปะ แล้วถ่ายรูปอย่างสนุกสนาน บางครั้งอาจเข้าใจความหมาย บางครั้งอาจไม่เข้าใจ แต่ทุกคนมีจุดร่วมกันคือสัมผัสได้ถึงความเป็นศิลปะ
"การท่องเที่ยวชมงานศิลปะของคนไทยมันยังไม่มี พอตอนนี้มันเริ่มเกิด หอศิลป์ริมน่าน เป็นหอศิลปะที่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยว ถามว่านักท่องเที่ยวรู้จักคำว่าร่วมสมัยไหม ไม่รู้จัก แต่มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ที่เริ่มเข้ามาอยู่ด้วยกัน แล้วเขารู้ว่าศิลปะอยู่ทุกที่ ตั้งแต่เสื้อผ้า อาคาร สถาปัตยกรรม ห้างสรรพสินค้า แฟชั่นโชว์ โทรศัพท์ ดีไซน์ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นศิลปะ เขาไม่รู้ตัวมาก่อนว่าเขามีศิลปะอยู่ในตัว"
"เรารู้สึกว่าหอศิลปะ เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวได้ ทำเงินให้กับท้องที่ได้ เป็นจุดเช็คอิน แล้วมันเป็นปรากฏการณ์ว่าคนไทยท่องเที่ยวชมงานศิลปะ ไม่ต้องบอกแล้วว่ากลุ่มไหน เข้าใจศิลปะไหม อันนั้นตั้งข้อสงสัยแบบมองแง่ลบ ถ้ามองแง่บวก คือมันเริ่มขึ้นแล้วนะ มันเห็นผลแล้วนะ มันเป็นรสนิยมของการท่องเที่ยวแล้วนะ"
อาจารย์วินัยขอตัวไปต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนหอศิลป์มากขึ้นเรื่อยๆ เที่ยงกว่าแล้วแต่อากาศในหอศิลป์ยังเย็นสบาย เรามองเห็นผู้คนหลากหลายวัย เด็ก วัยรุ่น ครอบครัว ผู้สูงอายุ ยืนดูงานศิลปะกันเพลินๆ ช้าๆ เนิบๆ ไม่เร่งรีบ
"แม่ ใครวาด" เด็กคนหนึ่งถามแม่ว่าผลงานเหล่านี้เป็นฝีมือใคร
แม่อ่านป้ายพร้อมถามเธอว่า "สวยไหม"
"สวยค่ะ"
เมื่อเด็กคนหนึ่งได้เดินดูความงามของผลงานศิลปะตั้งแต่ยังเล็ก สิ่งเหล่านี้จะช่วยเขาซึมซับความงดงามรอบๆ ตัว เกิดแรงบันดาลใจที่จะพาตัวเองไปค้นหาตัวตน พร้อมเข้ามาทำความรู้จักกับศิลปะอีกมากมายหลายแขนง ที่จะช่วยสะท้อนความรู้สึกนึกคิด สุข ทุกข์ เหงา เศร้า เรียกร้อง ต่อต้าน โดยให้ศิลปะเป็นผู้พูดแทน
ไม่แน่ว่า เด็กคนนี้อาจเติบโตขึ้นจากการมาหอศิลป์ ...พื้นที่ที่สร้างให้คนรักศิลปะมารวมตัวกัน
หอศิลป์ริมน่าน 122 หมู่ 2 ถนนน่าน-ท่าวังผา(กม.20) ตำบลบ่อ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน 55000
เปิดบริการทุกวัน ยกเว้นวันพุธ เวลา 9.00-17.00 น.
ค่าเข้าชม 20 บาท
สามารถเข้าไปติดตามรายละเอียดงานนิทรรศการต่างๆ ได้ที่ Nan Riverside Arts Space