ในแวดวงศิลปะ ดุจดาวคือนักแสดงละครเวทีในกลุ่ม B-Floor ที่เน้นใช้การเคลื่อนไหวแทนการสื่อสารด้วยวัจนภาษา เธอฝากผลงานไว้มากมาย มีทั้งที่เป็นผู้กำกับและนักแสดงทั้งของ B-Floor และทำงานร่วมกับคนอื่น อาทิ Blissfully Blind, สัตว์มนุษย์ / HUMANIMAL และ Make Love, Not War รักหรือรบ เป็นต้น
ในแวดวงสุขภาพ ดุจดาวคือนักบำบัดจิตด้วยการเคลื่อนไหว มีงานหลักคือผู้ช่วยผู้อำนวยการอาวุโสด้านการสื่อสาร โรงพยาบาลกรุงเทพ ทำงานเรื่องการสื่อสารระหว่างผู้ให้บริการทางแพทย์ พยาบาล และบุคลากรในโรงพยาบาล เพื่อดูแลด้านคุณภาพ ความปลอดภัย ลดความเสี่ยงในการรับบริการให้กับผู้ป่วยและญาติๆ รวมถึงการพูดคุยแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจผู้ป่วย ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้ง The Workshoppers กลุ่มผู้ทำเวิร์กช็อปแบบตัวต่อตัว เพื่อทำงานกับผู้รับบริการอย่างตรงประเด็น ไม่ว่าเรื่องบุคลิกภาพ ความไม่พอใจในตัวเอง ไปจนถึงความอยากเข้าใจตัวเองหลายๆ ด้าน
ในแวดวงสื่อ ดุจดาวร่วมกับสำนักข่าว The Standard ทำพอดแคสต์สุขภาพจิตชื่อ R U OK สำหรับคนทั่วไปที่ต้องการทำความเข้าใจตัวเอง และเข้าถึงเรื่องสุขภาพจิตได้ง่าย ไม่รู้สึกว่าการพบจิตแพทย์หรือการรักษาอาการป่วยไข้ทางจิตใจเป็นเรื่องแย่
และในแวดวงคนออกกำลังกาย ดุจดาวถือเป็นคนทำงานที่วิ่งอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการวิ่งเทรล (Trail Running) เธอเคยลงแข่งแล้วหลายรายการทั้งที่ไทยและต่างประเทศ อันที่จริงแล้วเราไม่อยากใช้คำว่า 'ลงแข่ง' สักเท่าไหร่นัก เพราะจุดประสงค์หลักในการวิ่งของเธอไม่ใช่การแข่งกับตัวเองหรือใคร ทว่าเป็นความสนุกที่เกิดขึ้นระหว่างทางกับปลายทางมากกว่า
ย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน ดุจดาวกลับมาประเทศไทยด้วยปริญญาโทด้าน Dance Movement Psychotherapy (DMP) ด้านบำบัดจิตด้วยศิลปะเคลื่อนไหว ที่ Goldsmiths University of London ตอนนั้นแทบไม่มีใครรู้จักศาสตร์นี้ เธอพยายามบุกเบิกที่ทางให้การบำบัดจิตด้วยวิธีนี้จนเป็นที่สนใจอย่างกว้างขวางขึ้นในปัจจุบัน
แม้ดุจดาวจะเรียนจบปริญญาตรีด้านวารสารศาสตร์และทำงานในวงการบันเทิงเป็นหลัก แต่เธอก็สนใจเรื่องการเต้นและการเคลื่อนไหวของร่างกายมานานแล้ว พอเข้าบีฟลอร์ เธอจึงเริ่มเข้าใจธรรมชาติของร่างกายมากขึ้น
"ระหว่างซ้อม พบว่ามันทำงานกับสภาวะจิตใจเราในหลายๆ แง่มุมมากทั้งที่ไม่ได้ตั้งใจ พอเกิดแบบนี้ขึ้น เราก็อยากเข้าใจ เราสนใจอันนี้ ตอนนั้นเราอยากเรียนปริญญาโท แต่ไม่รู้จะเรียนอะไรดี ไม่อยากตั้งต้นกับอาชีพที่ทุกคนรู้จักอยู่แล้ว มันอาจไม่ใช่สิ่งที่เราชอบจากทั้งหมดจริงๆ เลยตั้งต้นจากสิ่งที่เราอยากรู้" ตอนนั้นดุจดาวอยากรู้ว่าจิตใจกับร่างกายทำงานเกี่ยวเนื่องกันอย่างไร พอรีเสิร์ชก็พบคอร์สนี้ที่ตอบโจทย์ทุกอย่าง
การเทรนเป็นนักจิตบำบัด คือผลพลอยได้จากการเรียนครั้งนี้ ที่ผ่านมาเธอทำงานด้านวงการบันเทิงมาตลอด เมื่อได้ฝึกงานในโรงเรียนสอนเด็กที่มีภาวะออทิสซึ่มและเด็กที่มีความต้องการพิเศษ รวมถึงผู้ป่วยนิติเวชที่เคยก่อคดีอาชญากรรมแต่พิสูจน์แล้วว่ามีความเจ็บป่วยด้านจิตใจ ทำให้เธอค้นพบอีกบานประตูที่พาไปรู้จักว่าการเคลื่อนไหวร่างกายเป็นวิทยาศาสตร์ นับเป็นการเยียวยารักษาจิตใจได้ด้วย
คนส่วนใหญ่มักมองว่าการสื่อสารที่ดีที่สุดคือการพูดคุย แต่ความจริงแล้วมีคนบางกลุ่มที่ต้องการแสดงความรู้สึกออกมาแต่มีอุปสรรคในการพูด เช่น พูดไม่เก่ง เลือกคำมาพูดได้ไม่ตรงตามสารที่อยากสื่อ เป็นต้น ภาษากลายเป็นกำแพงในการสื่อสาร ฉะนั้นภาษาร่างกายจึงถูกหยิบมาใช้
"นอกจากภาษาพูด ภาษาร่างกายก็สำคัญ มันมีอีกหลายอย่างอยู่ในนั้น จริงๆ แล้วทฤษฎีการสื่อสาร การพูดทำงาน 7% ยังมีน้ำเสียงมีภาษาร่างกายอีก 93% ที่ยังสำคัญ เพราะฉะนั้นการบำบัดรักษาที่เราเสนอให้ บางอย่างต้องคุยกัน บางข้อมูลต้องแลกเปลี่ยน พอระหว่างการเดินทาง การแสดงออก และการค้นหา เราจะอนุญาตให้ร่างกายมีที่ทาง มีความคิดของมัน โดยที่ไม่ต้องรีบเอาตัวภาษาไปดักไปจับไปแปลความมันมากนัก การใช้ภาษาร่างกายทำงานภายในความเงียบ โดยไม่มีภาษามาฟิลเตอร์ระหว่างทาง บางทีมันลงไปลึกซึ้งละเอียดอ่อน เข้าไปจัดการข้อมูลที่มีในเนื้อตัวเราได้อย่างลงลึกเหมือนกัน เพราะไม่เด้งขึ้นมาที่หัวเท่าไหร่" เธออธิบายด้วยเสียงนุ่มฟังสบาย
ตั้งแต่เล็กจนโต ร่างกายถือเป็นแหล่งสะสมข้อมูลประสบการณ์ในชีวิต ทั้งสัมผัสที่ดีและสัมผัสที่ไม่ดี ท่ายืนนอนนั่งทั้งหมด มนุษย์ใช้ร่างกายในแง่ฟังก์ชั่น แต่ไม่เคยมองเป็นกรุข้อมูล การบำบัดคือการอนุญาตให้ร่างกายเคลื่อนไหวตามจิตใต้สำนึก ปล่อยให้ภาษาร่างกายได้พูด โดยมีนักบำบัดคอยช่วยเหลือประคับประคอง และพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิด เพื่อตีความหรือสร้างความหมายร่วมกัน ทั้งนี้ต้องพิจารณาถึงความพร้อมของกระบวนการและตัวผู้รับการบำบัดด้วย
ดังนั้น สำหรับดุจดาว กายกับจิตจึงไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เพียงแต่การจัดการจิตใจอาจดูเป็นเรื่องนามธรรมเกินไป บางคนไม่สามารถทำได้ การจัดการกับภาชนะที่บรรจุจิตอย่างร่างกายจึงเป็นวิธีที่ง่ายกว่า
"งั้นเราทำงานกับร่างกายแล้วมันเชื่อมโยงมาที่จิตใจ จะได้มีอะไรที่เห็นชัดจับต้องได้ มันค่อนข้างเวิร์กมากกับเด็กๆ อย่างเด็กอายุ 6-7 ขวบกำลังโฟกัสกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย แต่เราไปทำงานกับจิตใจเขา โดยไปทำกับส่วนร่างกาย มันจะส่งผลกับจิตใจ
เช่นคุณเป็นเด็กที่ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง ไม่กล้าไปพรีเซนต์หน้าห้อง กลับมาบ้านบอกเราว่าทำไม่ได้ แล้วเราบอกคุณว่าทำได้สิ มั่นใจสิ ต้องมั่นใจสิ เด็กก็พยายามคิดว่ามั่นใจสิคืออะไร แต่ถ้าเราทำแบบการบำบัด ใช้การเคลื่อนไหวเน้นหนักๆ เช่น เดินให้ดังๆ ซึ่งมันลิงก์กับความมั่นใจ ตามที่เราเรียน Psychological Effects ที่ลิงก์กับ Movement Quality สังเกตไหม คนมีความมั่นใจจะพูดเสียงหนักแน่น เราก็ทำอันนั้นให้เด็กแทน แล้วก็ทำไปเรื่อยๆ ความมั่นใจจะเพิ่มขึ้นเอง โดยที่เขาไม่ต้องไปนั่งคิดแล้วคิดไม่ออก"
นอกจากด้านศิลปะและสุขภาพจิตแล้ว ฉันยังชื่นชมดุจดาวในเรื่องการออกกำลังกายด้วย แม้งานหนักรัดตัวมากขนาดไหน เธอก็ยังซ้อมวิ่ง เข้าฟิตเนส และไปวิ่งเทรลอยู่เป็นประจำ ซึ่งการออกกำลังกายนี้ถือเป็นการเคลื่อนไหวที่เชื่อมโยงกับจิตใจเช่นเดียวกัน
"เวลาออกกำลังกายที่ได้อยู่แล้วคือสุขภาพร่างกาย แต่อีกหนึ่งอย่างที่ช่วยคือสุขภาพจิตใจ สารเคมีในสมองอย่างสารเอนโดรฟีนจะหลั่งออกมา จึงมีคำแนะนำว่าใครเป็นซึมเศร้าอ่อนๆ ถ้าออกกำลังกายจะช่วยได้ แล้วลักษณะของกีฬาที่ออกมันเชื่อมโยงกับเราอยู่ สมมติบางคนชอบเต้นบัลเลต์ เต้นมาตั้งแต่เด็กจนโต เขาจะมีท่าทางที่มั่นคงมีการควบคุมกล้ามเนื้อที่ดี ซึ่งส่งผลต่อสภาวะบุคลิกภาพนิสัยใจคอด้วย คนที่เล่นยิงธนู โดยไม่ได้ตั้งใจ เขาจะเป็นคนที่โฟกัสอะไรได้อย่างแม่นยำและสุขุมเยือกเย็นกว่าเด็กหรือผู้ใหญ่คนอื่น คนหนึ่งต่อยมวยมาแต่เด็ก จะมีอะไรบางอย่างที่ซึมไปกับความเคลื่อนไหวซ้ำๆ ที่เขาใช้"
จุดเริ่มต้นในการวิ่งเทรลของดุจดาวเริ่มจากการวิ่งปกติช่วงหลังเลิกงานหรือเพื่อวอร์มซ้อมละคร ก่อนจะเริ่มวิ่งบ่อยขึ้นในช่วงที่สภาวะจิตใจไม่ดี รู้สึกดาวน์ เพราะเธอเชื่อในหลักการที่ยึดถือว่าให้ร่างกายได้ขยับทุกส่วน ให้ร่างกายได้คุยกันเองภายในระหว่างที่วิ่ง
"ระหว่างวิ่งมีเรื่องอะไรออกมาในหัวที่ยังคิดไม่เสร็จ เราเป็นสายอนุญาตให้เรื่องอะไรที่เป็นปมคั่งค้าง เสียงในหัวดังๆ เราอนุญาตให้มันดัง ให้ร่างกายไปคุยกับมันให้เต็มที่ในระหว่างที่ตัวเราเคลื่อนไหว บางทีวิ่งไปเรื่อยๆ แล้วได้คำตอบบางอย่าง มันได้คุยกับตัวเอง" นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอยังคงวิ่งเรื่อยมา
แต่จุดที่ทำให้เธอรู้ว่าตัวเองเอนจอยกับการวิ่งเทรลและถือเป็นเปิดกรงให้ตัวเองคือ การลงแข่งรายการแอดเวนเจอร์เมื่อ 2-3 ปีก่อน เป็นรายการที่มีทั้งวิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ และพายเรือคายัค ครั้งนั้นคนรักของดุจดาวชวนลงแข่งด้วยกัน นอกจากทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่แน่นแฟ้นขึ้นจากกติกาที่ต้องทำอะไรด้วยกันเป็นคู่แล้ว เธอยังได้รู้ตัวเองว่าชอบกีฬาแนวแอดเวนเจอร์
ส่วนจุดที่ทำให้เธอได้สัมผัสการแข่งวิ่งเทรลจริงๆ และกลายเป็นกีฬาสุดโปรดคือ การไปดูคนรักของเธอวิ่งเทรลที่รายการแข่งรายการหนึ่งในจังหวัดชลบุรี
"รายการนั้นแฟนลง 25 กิโลเมตร แต่เราไม่เคยวิ่งเลย แฟนบอกว่าแทนที่เธอไปนั่งรอเฉยๆ เธอก็ลงสัก 10 กิโลเมตรสิ เธอไม่ได้วิ่งกับเรา แต่จะจบพร้อมๆ กัน ดีกว่านั่งเฉยๆ สรุปพอไปถึง เขาลงทะเบียนให้เราผิด เป็น 25 กิโลเหมือนกัน เราก็ถามแฟนว่าคิดว่าเราทำได้ไหม แฟนบอกว่าได้ ก็เลยเป็นครั้งแรกที่วิ่ง 25 กิโลเมตร สนุกดี แต่เดินเยอะอยู่เหมือนกัน มันจัดเตรียมร่างกายไม่ทัน แต่พื้นฐานเราเป็นคนใช้ร่างกายและการเคลื่อนไหวเป็นชั่วโมงๆ อยู่แล้ว คิดว่าน่าจะพอไหว ตอนนั้นก็รู้สึกเหมือนกันว่าทำไมไกลจังวะ เพราะเราไม่ได้วิ่งบ่อย กะกิโลฯ ไม่ออก 25 กิโลเมตรมันไกลแค่ไหน" เธอเล่าเจือรอยยิ้มในวันที่เธอวิ่งได้ไกลกว่าวันนั้นแล้ว
การวิ่งเทรลคือการวิ่งแบบผจญภัยบนพื้นที่ธรรมชาติ เช่น ป่า ภูเขา และทุ่งหญ้า ตามแต่ภูมิประเทศของสถานที่จัดงาน แตกต่างจากการวิ่งในเมืองที่จะวิ่งตามท้องถนน สะพาน และสวนสาธารณะ ซึ่งการวิ่งเทรลต้องใช้สมาธิและต้องระมัดระวังมากกว่า เพราะมีสภาพแวดล้อมกับความชันที่หลากหลาย
ดุจดาวลงแข่งรายการด้วยจุดประสงค์ที่ต้องการความสนุก ไม่ใช่ต้องการแข่งขัน แต่เป็นความรู้สึกสนุกที่เจอกับอุปสรรค เจอถนนที่ไม่เรียบสม่ำเสมอ มีรากไม้ใบไม้บดบัง รวมถึงเธอเองอยากสร้างบาลานซ์ชีวิตให้ตัวเองด้วยการไปอยู่ในสังคมธรรมชาติที่ไม่ใช่สังคมเมืองบ้าง รวมถึงระหว่างวิ่งเทรลนั้นก็ได้อยู่กับปัจจุบันขณะเต็มที่ เพราะถ้าสมาธิหลุดหรือว่อกแว่กเมื่อไหร่ อาจได้รับบาดเจ็บหรือหลงทางได้
'ความรู้สึกตอนวิ่งปกติกับวิ่งในรายการแข่งแตกต่างกันไหม' ฉันถามนักบำบัดตรงหน้า เพราะสำหรับคนทั่วไป คำว่า 'แข่งขัน' ย่อมทำให้เกิดความกดดันแน่นอน แต่สำหรับดุจดาว ฉันอยากฟังคำตอบ
"เราไม่กดดันเลย เราไม่แคร์เรื่องความเร็ว เรื่องเพอร์ฟอร์มานซ์ในเชิงเวลาที่หลายคนกังวลกัน เพราะรูปแบบชีวิตเขาเอื้อให้ซ้อมได้ ของเรายังโฟกัสว่าเราต้องการความสนุกในชีวิต นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตเรารู้สึกบาลานซ์ เพราะฉะนั้นมันเติมเรา ต้องรักษาว่าให้เป็นความสนุก สนุกคืออะไร ไม่ได้วิ่งเร็วขึ้น แต่ก่อนเราวิ่งเทรลใหม่ๆ จะกลัวทางลงมาก พอถึงทางลงจะเบรกแล้วลงช้าๆ เดี๋ยวนี้เราสามารถฝึกวิธีที่จะลงเร็ว หาเทคนิควิธีจัดการกับอุปสรรคที่ไม่เคยผ่านไปได้อย่างสนุกสนาน เราก็ทำมันได้สนุกขึ้น การได้กระโดดข้ามขอนไม้ เราก็สนุก ได้กระโดดหิน เหมือนด่านของโหดมันฮา เราก็สนุก ไม่ค่อยได้กดดันตัวเอง"
คนรักเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เธอยังวิ่งได้สม่ำเสมอ ทั้งคู่มีความสนใจคล้ายๆ กัน การวิ่งเทรลถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ได้ใช้เวลาร่วมกัน กลายเป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองด้วย
"มันได้ใช้เวลาซัพพอร์ตกันและกันอย่างจริงจัง ได้อยู่เคียงข้างกัน เป็นแรงผลักดันซึ่งกันและกัน หรือถ้าเป็นระยะที่ไกลกว่าที่เราเคยวิ่ง แฟนเราจะวิ่งด้วย ถามว่าเราไหวไหม ถ้าระยะที่ไม่ไกลกว่าที่เคยวิ่ง เราจะวิ่งคนเดียว เขาวิ่งเร็วก็ให้เขาวิ่งของเขา แต่ถ้าเป็นระยะใหม่เขาจะวิ่งกับเรา ประเด็นคือมันก็ฝึกให้เราพลอยยินดีกับเขาเวลาเขาวิ่งไปเลย เข้าเส้นชัยแล้วมารอรับรอเชียร์ มารอถามไถ่ ทำให้เราฝึกที่จะห่วงหาอาทรกัน"
ปกติแล้วเมื่อเราวิ่งได้ระยะทางหนึ่งๆ ในครั้งต่อๆ ไป เราก็มักคาดหวังกับตัวเองว่าจะวิ่งได้มากขึ้นใช่ไหม แต่สำหรับดุจดาว เธอไม่คิดแบบนั้น การวิ่งเทรลมีหลายระยะทางไม่ต่างจากการวิ่งแบบปกติ แต่ช่วงไหนที่เธอรู้ว่าตัวเองงานเยอะ ตารางแน่น นักวิ่งคนนี้จะปรับระยะลงมาให้เหมาะกับการหายใจของตัวเอง
"มันเป็นหลักการที่เราถูกเทรนมาตั้งแต่เด็ก พอได้อันนี้แล้วอันถัดไปต้องมากกว่าเดิม แล้วทำไมต้องมากกว่า ถ้าบางคนตอบได้ก็แล้วไป แต่เราตอบไม่ได้ว่าจะเพิ่มระยะทำไม เพราะเราวิ่งแค่เพื่อสนุก และเวลาซ้อมเราก็ไม่ได้มากแบบปีที่แล้ว เพราะฉะนั้นก็เซฟร่างกายเซฟความสนุกไว้ดีกว่า มันจะมีจุดที่วิ่งเทรลแล้วเหนื่อยมากๆ ช่วงท้ายๆ ในหัวจะมีเสียงแบบไม่เอาแล้วเว้ย มาวิ่งทำไม มีเสียงแบบนี้มาบ้างถ้าเหนื่อยมากๆ เราเลยปรับว่าไม่ต้องวิ่งถึงจุดที่มีเสียงแบบนั้นแล้วเรายังสนุกดีกว่า"
ดุจดาวแบ่งเวลาในการซ้อมวิ่งและเข้าฟิตเนสสัปดาห์ละครั้งเป็นอย่างน้อย เธอซ้อมวิ่งได้ทุกที่ไม่ว่าจะสวนสาธารณะ บนถนน หรือแม้กระทั่งเวลาไปทำงานต่างจังหวัดหรือเที่ยวต่างประเทศ ขึ้นอยู่ว่าตอนไหนสะดวกที่ไหนระยะทางเท่าไหร่
นอกจากนี้เธอยังทำอีกกิจกรรมที่เป็นการออกกำลังกายไปด้วย นั่นคือ การดำน้ำเก็บขยะ ซึ่งเป็นคำชวนจากเพื่อนในแก๊งนักวิ่งที่เป็นสมาชิกกลุ่ม SPA (Save The Planet Associate) พวกเขามักรวมตัวกันดำน้ำในแหล่งท่องเที่ยว เพื่อเก็บขยะและตัดอวนแหลากที่เรือประมงทิ้งไว้ใต้น้ำ
ส่วนใครที่อยากออกกำลังกายบ้าง แต่ไม่รู้ว่าควรเริ่มจากขั้นตอนใด เลือกออกกำลังกายประเภทไหน ดุจดาวได้ให้แนวคิดดีๆ ในการเลือกการตัดสินใจไว้
"เราทำงานมาประมาณหนึ่งจะพบว่าชีวิตเราต้องการอะไร มันมีความต้องการทางด้านจิตใจ อย่างความสงบ หรือการเรียนรู้ เป็นต้น คนเรามีความต้องการเชิงจิตใจที่ไม่ใช่แค่สิ่งของจับต้องได้ มันไปอีกขั้นหนึ่ง ถ้าค้นหาดูว่าอะไรคือ TOP 3 ของเรา จะเริ่มรู้ว่าเราอยากทำกิจกรรมอะไรที่ช่วยตอบสนองความต้องการ อย่างของเราคือ ความสนุกเป็นอันดับหนึ่ง ความสงบเป็นอันดับสอง และความใหม่คืออันดับสาม" คนตรงหน้ากลับมาสวมบทนักบำบัดอีกครั้ง ซึ่งทั้งสามอย่างนี้ล้วนอยู่ในกีฬาวิ่งเทรลและการดำน้ำที่เธอทำ
"พอเจอสามอันนี้รู้เลยว่าออกกำลังกายแบบไหนตอบโจทย์ อะไรก็ได้ที่สนุก เอาความสนุกมาตั้ง กระโจนทำแน่นอน แล้วใช้อันนี้เป็นแรงจูงใจให้ตัวเอง เราไม่ได้ต้องการการเอาชนะมากขนาดนั้น แต่ถ้าใครอยากเอาชนะตัวเอง อยากพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ เขาก็อาจเจออะไรบางอย่างที่เป็นวิธีการออกกำลังกายของเขา เราแน่ใจว่าความต้องการของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ลองหาอันนี้ก่อน เพราะบางคนลึกๆ อาจต้องการความเชื่อมโยงกับผู้อื่น ต้องการความเป็นมิตร แต่เอาตัวเองไปเล่นกีฬาที่อยู่คนเดียวตลอดก็ไม่สนุก แต่ถ้าอยากไปสนุกกับเพื่อน เชื่อมโยงกับคนอื่น มันมีอะไรที่ไปทำเป็นแพๆ กับแก๊งเพื่อนหรือคนอื่นๆ ได้บ้าง ตรงนี้อาจเติมเต็มตัวเองได้"
สำหรับใครที่อยากมีสุขภาพจิตและร่างกายที่แข็งแรงแบบดุจดาว การเริ่มต้นง่ายๆ คือให้จำไว้เสมอว่าชีวิตดีเริ่มที่เรา ต้องรู้จักบาลานซ์ชีวิต ตามใจให้ทัน เพราะสิ่งเหล่านั้นอาจกระทบทุกการตัดสินใจในชีวิตประจำวัน ควรดับเบิลเช็กสุขภาพจิตของตัวเองไว้เสมอ การวิ่งหรือดำน้ำถือเป็นการบาลานซ์ชีวิตของดุจดาว ถ้าสุขภาพจิตดีมั่นคง ชีวิตประจำวันที่มีปฏิสัมพันธ์กับใครก็จะดีไปด้วย ดังนั้น ทุกคนควรหาวิธีการบาลานซ์ของตัวเอง อาจเป็นการออกกำลังกาย ทำกิจกรรม หรือรับประทานอาหารดีๆ เพราะชีวิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ทุกคนสามารถมีชีวิตดีเป็นของตัวเองได้
สำหรับผู้อ่านที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของการการเคลื่อนไหวทั้งแง่ศิลปะและการออกกำลังกายของ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ แล้วอยากมีชีวิตดีขึ้นสามารถเริ่มจากคลิกเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ชีวิตดีเริ่มที่เรา ก่อนที่จะค้นหาวิธีการที่ใช่ในแบบตัวเองดู
5067 VIEWS |
นักเขียนและกองบรรณาธิการที่พบเจอตัวได้ตามหอศิลป์และร้านหนังสือ ชอบกินแซลมอนและชาบู อยากแก่ไปเป็นคุณป้าใจดีและมีฝูงแมวห้อมล้อม