ด้วยใจรักในศิลปะและงานบันเทิงไทย หลังจากตัดสินใจวางมือจากบทบาทบรรณาธิการนิตยสาร Hamburger ในช่วงที่มีการปรับรูปแบบและแนวคิดเมื่อปี 2549 วิภว์ บูรพาเดชะ และกลุ่มเพื่อน จึงตัดสินใจออกมาเปิดตัว happening นิตยสารสายศิลปะและบันเทิงขึ้นในเดือนมีนาคม 2550

วิภว์มองว่างานบันเทิงเป็นศิลปะ มากกว่าเพียงข่าวซุบซิบ จึงใช้นิตยสารเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับงานบันเทิงออกมาในมุมมองแบบเดียวกับการเสพงานศิลป์ happening ถูกตีพิมพ์ในรูปแบบนิตยสารแจกฟรี นับตั้งแต่ปี 2550 ก่อนจะปรับมาเป็นนิตยสารจัดจำหน่ายรายเดือน จนกระทั่งถึงฉบับที่ 100 ในเดือนมิถุนายน 2558 จึงมีการปรับรูปแบบเป็นรายวาระ โดยมีวิธีการบอกเล่าเรื่องราวแบบไม่ตายตัว เนื้อหาภายในแต่ละฉบับจะเจาะลึกประเด็นทางบันเทิงและศิลปะเพียงประเด็นเดียว เช่น การเล่นแผ่นเสียง, ภาพถ่าย, งานคราฟต์ ฯลฯ

ทุกวันนี้ทีม happening ทำงานแบบ Project-based ครอบคลุมทั้งงานสื่อสิ่งพิมพ์ อาทิ นิตยสาร พ็อกเกตบุ๊ก หนังสือในวาระพิเศษต่างๆ และนอกจากการนำเสนอคอนเทนต์ในรูปแบบตัวหนังสือ เรายังจัดกิจกรรมนอกสถานที่สนุกๆ อยู่เป็นระยะ รวมทั้งได้ตั้งฐานทัพเล็กๆ ที่กักตุนข้าวของแบบแฮพเพนนิ่งๆ ไว้ในรูปแบบซีเลกต์ช็อปที่ชื่อ happening shop อีก 2 แห่งด้วย

การทำงานของเราเริ่มต้นด้วยโปรเจกต์ใดโปรเจกต์หนึ่ง แต่อาจต่อยอดด้วยการนำเสนอในหลากหลายรูปแบบ บางโปรเจกต์พาให้เราไปทำงานโทรทัศน์ จัดคอนเสิร์ต จัดงานเสวนา ทำเวิร์กช็อปศิลปะ หรือแม้กระทั่งฉายหนังดีๆ ในโรงหนังที่น่ารัก เราโชคดีที่ถูกแวดล้อมด้วยเพื่อนที่เป็นศิลปินและคนทำงานสร้างสรรค์ เพราะนั่นทำให้พวกเราได้สนุกกับงานและสนุกกับชีวิตไปพร้อมๆ กัน

เราเชื่อมั่นว่าศิลปะเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ยังมีคุณค่าทางจิตใจไปพร้อมๆ กันด้วย ทีม happening เชื่อว่าศิลปะอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่หลายคนคิด หนังสือ ภาพยนตร์ ดนตรี ชิ้นงานเล็กหรือใหญ่ จะงดงามได้ด้วยกระบวนการทำงานของศิลปิน เป้าหมายของเรา ชาวแฮพเพนนิ่ง คือส่งเสริมและให้โอกาสศิลปินไทยร่วมสมัย ไม่ใช่ในฐานะของผู้นำและผู้ตาม แต่เป็นในฐานะ 'เพื่อน' คนหนึ่ง