ยุรี เกนสาคู กับ เมธี น้อยจินดา และอาร์ตกีตาร์ 2 ตัวที่มาจากหมาตัวเดียวกัน

    ยุรี เกนสาคู เป็นศิลปินชื่อดังที่มีนิทรรศการเดี่ยวมาแล้วหลายครั้ง ส่วน เมธี น้อยจินดา เป็นที่รู้จักมากกว่าในบทบาทมือกีตาร์ของวงโมเดิร์นด็อก แต่เขาก็เป็นศิลปินที่มีงานภาพจัดแสดงอยู่เรื่อยๆ เช่นกัน เราพบเห็นเมธีกับยุรีอยู่ด้วยกันเสมอๆ แต่เรื่องที่เขาและเธอทำด้วยกันล่าสุดนี่ถือว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง

    ทั้งคู่เพิ่งจะลงมือออกแบบกีตาร์คนละตัว และเรียกมันว่าเป็น 'อาร์ตกีตาร์' หรือเป็นผลงานศิลปะนั่นเอง

    "โปรเจกต์นี้เริ่มมาจาก คุณบี-วรวุฒิ สัจจะปรเมษฐ ที่เป็นนักเขียนนามปากกา หนุ่มโรงงานน้ำตา เขาตามงานพวกเราอยู่ ช่วงหลังเขาจะชอบงานศิลปะ สนับสนุนศิลปิน เขาเริ่มมีแกลเลอรีของตัวเอง เขาเล่นกีตาร์ด้วย เป็นเนิร์ดกีตาร์ คือรู้เรื่องเยอะ ก็เลยมาชวนพวกเราให้ออกแบบกีตาร์" เมธีเล่าที่มาให้ฟังในวันที่เราแวะไปเยือนเขาที่บ้านย่านเอกมัย

    พอตัดสินใจจะลงมือออกแบบกีตาร์ ทั้งคู่ก็แยกย้ายกันไปวางแนวคิดของตัวเอง ในส่วนของเมธีนั้นเนื่องจากเป็นมือกีตาร์ แถมยังร่ำเรียนมาทางออกแบบ วิธีการคิดของเขาจึงผสมผสานทั้งฟังก์ชันและดีไซน์ในทุกๆ มิติ

    "เราเรียกมันเล่นๆ ว่า อาร์ตกีตาร์ เป็นงานอาร์ตที่เล่นเป็นกีตาร์ได้ ผมคิดว่ามันควรจะมีขนาดใหญ่กว่ากีตาร์ปกติสักนิด เพราะกีตาร์มันจะโดนเจาะปิ๊กอัพ เจาะนู่นนี่นั่น ก็จะเหลือพื้นที่น้อย ก็น่าจะต้องไซส์ใหญ่ขึ้นเพื่อจะมีที่ในการดีไซน์ ตอนแรกก็คิดมา 2-3 แบบ สุดท้ายก็มาจบที่หมาครับ" เมธีหัวเราะ "ผมมานั่งคิดว่า มีโอกาสได้ทำกีตาร์ ทำไมไม่ทำฟอร์มที่มันหลุดออกไปจากกีตาร์ปกติไปเลย แล้วผมก็เป็นคนตัวเล็ก ชอบเล่นกีตาร์เบาๆ ก็เลยคิดถึงฟอร์มว่ามันน่าจะเป็นดาวที่มี 5 แฉก ซึ่งก็ยังดูใหญ่แต่ไม่หนัก สุดท้ายก็กลายเป็นฟอร์มหมา คือเมื่อก่อนผมชอบวาดรูปพวกหมาป่าหมาจิ้งจอกไว้เยอะ ได้แรงบันดาลใจมาจากหมาที่เลี้ยงไว้ที่ชื่อ เมาคลี นั่นเอง" เขายิ้มกว้าง "ผมเรียนด้านสถาปัตย์มา ก็อดคิดเรื่อง Form follow Function ไม่ได้ รูปดาวมันก็ดีตรงเอาง่ามดาวมาวางไว้ตรงขาตอนเล่นได้ แล้วก็คิดว่าทำอย่างไรให้น้ำหนักเบาขึ้นอีก คือปกติกีตาร์จะมีการเจาะรูถ้ำข้างใน แต่เสียงกีตาร์มันจะก๊องๆ ผมไม่ชอบเสียงแบบนั้น เลยคิดถึงเรื่องการเจาะหูหมา ก็เลยออกแบบให้มันมีหูหิ้วด้วยครับ ซึ่งก็ดูตลกๆ ดีที่เป็นหูหิ้วอยู่ตรงหูจริงๆ" เมธีหัวเราะเบาๆ ก่อนที่เราจะเห็นเจ้าเมาคลี ไซบีเรียนฮัสกี้ วัย 10 ปีของเขาเข้ามาเดินป้วนเปี้ยนใกล้ๆ

    แต่ทีเด็ดของเมธียังไม่หมด กีตาร์หมาตัวนี้ยังมีไฟที่ดวงตา และไม่ใช่ไฟธรรมดาๆ เสียด้วย 

    "ตรงตาเราก็เจาะไม้ออกไปเพื่อให้มันเบาขึ้นอีก แล้วตอนแรกเราพยายามทำเป็นกีตาร์ 2 ตัวที่ไม่เหมือนกัน ให้ของยุรีเป็นเสียงใสๆ ปิ๊งๆ หน่อย ของผมจะเป็นเสียงหนาๆ ดุๆ เหมือน Fender กับ Gibson ทำไปทำมาเราก็อยากให้กีตาร์แต่ละตัวมันเล่นได้กว้างที่สุด ก็เลยให้ระบบมันเป็น Humbucking ทั้งสองตัวเลย ถ้าอยากจะเล่นเสียงใสก็ดึงปุ่มวอลลุ่มขึ้นมา มันก็กลายเป็น Single Coil ซึ่งเสียงใส เลยเป็นกีตาร์ที่เล่นเสียงได้กว้าง ผมคิดว่าไหนๆ มันก็มีเสียงหลายอารมณ์ ผมก็อยากให้หมามีหลายอารมณ์ เลยคิดถึงเรื่องไฟว่ามันลิงก์กับอารมณ์ วันนี้เราอยากเล่นสีแดงดุๆ พรุ่งนี้เราอยากเล่นสีฟ้าหวานๆ ก็เลยให้มีไฟที่ตาของหมาขึ้นมา ปรับสีได้หลายๆ สี บวกกับเวลาไปเล่นคอนเสิร์ต บางทีก่อนจะเริ่มเล่น เขาจะปิดไฟบนเวที ผมก็มองกีตาร์ไม่เห็น ก็เสี่ยงที่จะเล่นผิด การมีไฟแสงสว่างอยู่บ้างก็ช่วยเรื่องนี้ด้วยนะ"

    เมธีตั้งชื่อกีตาร์ของเขาว่า Bark 1 และแอบใส่ชื่อของตัวเองที่อินเลย์ (Inlay) ที่คอกีตาร์ด้วย ส่วนกีตาร์ของยุรีก็มีลายเซ็นของเธออยู่ติดกับชื่อกีตาร์ที่ชื่อว่า Voluntad ซึ่งชื่อนี้มีที่มาสมกับเป็นแนวคิดของศิลปินที่กำลังสร้างงานศิลปะจริงๆ

    "ตอนแรกยุรีเดาว่าพี่เมน่าจะวาดเป็นหมา" ศิลปินสาวหัวเราะเมื่อเล่าถึงการออกแบบ "เพราะพี่เมเขาเป็นสมาชิกวงโมเดิร์นด็อก แล้วก็ผูกพันกับเมาคลีมาก เราก็ไปสเก็ตช์เป็นปลา เป็นเสือ แต่สุดท้ายก็คิดว่ามันเป็นโปรเจกต์ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นบ่อยๆ เราก็อยากทำอะไรที่เราผูกพันเหมือนกัน ก็เลยมาลงตัวที่ทำโดยมีเมาคลีเป็นแรงบันดาลใจทั้งคู่" เธอหัวเราะ "เราเริ่มจากวาดฟอร์มหน้ามันก่อน แล้วก็ลงสี ซึ่งก็ทำมาหลายแบบหลายสีมาก จนมาจบที่เป็นพาสเทลหน่อย เพราะเราจินตนาการคนเล่นว่าน่าจะเป็นวงเก๋ๆ หรือไม่ก็เป็นวงร็อกๆ ที่ใช้กีตาร์ตัวนี้แล้วดูคอนทราสต์ เลยเลือกให้มันหวานไปเลย แล้วเราเห็นกีตาร์ในท้องตลาดไม่ค่อยมีลักษณะที่เป็นสีแคนดี้โทนนี้ ยุรีตั้งชื่อรุ่นว่า Voluntad เพราะไปเที่ยวสเปนแล้วก็ไปเจอร้านขายของของคนอินเดียนแดง ในร้านเขาจะมีขายเครื่องราง เป็นเรื่องความรัก สุขภาพ เรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วยุรีไปเจอเครื่องรางเรื่องเจตจำนง ความมุ่งมั่น ว่าถ้าแขวนแล้วจะประสบความสำเร็จ แล้วมันเป็นรูปหมาป่าพอดี ก็เลยเอาคำว่า Voluntad ที่เป็นชื่อเครื่องรางภาษาสเปนมาใช้กับกีตาร์ ว่าเราแขวนกีตาร์ก็เหมือนแขวนเครื่องราง ผู้ใช้ก็ได้รับความหมายดีๆ จากตัวเครื่องรางนี้ไปด้วย เป็นเจตจำนงของศิลปิน" เธอยิ้มกว้าง

    "ของยุรีจะเป็นลักษณะชอบดีไซน์แล้วก็มาปรึกษาผู้เชี่ยวชาญว่ามันโอเคไหม ซึ่งมันเป็นจุดที่ยากแล้วก็สนุก เพราะงานศิลปะ ปกติเราไม่ต้องถามใครเลย เราก็วาดของเราไปเรื่อยๆ แต่พอเราได้ทำงานที่ประสานกับทีมผู้เชี่ยวชาญ มันก็จะเป็นอีกเรื่อง เหมือนที่ยุรีเคยออกแบบหูฟัง คนที่ทำก็คือคนอื่นเลย คนขึ้นแบบก็เป็นอีกทีมหนึ่ง แล้วโปรเจกต์พวกนี้กว่าจะสำเร็จจะใช้เวลา จะยากเพราะมันหลายฝ่าย แต่มันก็สนุกมาก"

    "ตอนแรกก็ไม่ค่อยมั่นใจว่าเราจะทำได้ แต่พอคุณบีมาคุย เราก็มั่นใจขึ้น เขาก็หาช่าง หาผู้ผลิตมาสนับสนุนไอเดียเรา" เมธีเล่าขั้นตอนการทำงาน ก่อนยุรีจะช่วยเสริม "คุณบีเขาช่วยเรื่องการจัดหาอย่าง บอดี้ คอ แล้วก็ช่างประกอบ อย่างเวลายุรีเห็นตัวปิ๊กอัพ หรือว่าหมุดปรับวอลลุ่มเป็นหัวกะโหลก เขาก็จะไปสั่งให้ ก็คือคอยช่วยดูแลเรื่องการผลิต แต่ว่าเรื่องการทำสี เราจะเป็นคนหาโรงงานทำ เพราะเราเคยทำงานพวกประติมากรรมมาก็พอจะรู้แหล่งอยู่แล้ว"

    แง่คิดสนุกๆ ในงานนี้สำหรับทั้งคู่ก็คือเรื่อง 'ศิลปะ' กับ 'ฟังก์ชัน'

    "ตามความเคยชินของยุรีคือการทำงานศิลปะที่ไม่มีฟังก์ชัน" เธอหัวเราะ "ก็เป็นงานอาร์ตไปเลย ฉะนั้นพอเข้ามาสู่งานที่เป็นฟังก์ชันก็เป็นโจทย์ใหม่ แต่เราก็ยังชอบงานที่ไม่มีฟังก์ชันนะ"

    "ผมเคยคุยกับพี่โน้ต (อุดม แต้พานิช) คุยกันขำๆ พี่โน้ตก็บอกว่า 'พอเป็นศิลปะ เหมือนมันมักจะต้องไม่มีฟังก์ชัน มันแค่มีคุณค่าทางใจ เหมือนถ้าเป็นประติมากรรมตัวที่โคตรสวยเลย แต่ถ้าดันนั่งได้ ก็กลายเป็นเก้าอี้ มันจะกลายเป็นการลดราคาลงมานะ' " เมธีเล่าบ้าง

    "แต่ยุรีว่างานอาร์ตแบบเพียวๆ มันก็มีฟังก์ชันอีกแบบนะ ลองคิดดูว่าถ้าเรามีภาพที่ดูโหดๆ หรือภาพที่ดูนุ่มนวลแขวนอยู่ในบ้านเราทุกวัน มันก็น่าจะมีผลกับอารมณ์ของเราอยู่เหมือนกันนะ" ยุรีแสดงความเห็น

    อาร์ตกีตาร์ของเมธีและยุรีซึ่งเป็นทั้งงานศิลปะที่แขวนโชว์ได้และเป็นกีตาร์ที่เล่นได้จริง มีแผนจะผลิตเพียงแบบละ 4 ตัว โดยจะจำหน่ายเพียงแบบละ 3 ตัวนั้น (อีกตัวเป็นสมบัติของศิลปิน) ถือเป็นงานแบบลิมิเต็ดสุดๆ กีตาร์ Voluntad ของยุรีตั้งราคาไว้ที่ 190,000 บาท ส่วนของเมธีอยู่ที่ 160,000 บาท ซึ่งจะว่าไปก็เป็นราคากีตาร์แบบ 'สั่งทำพิเศษ' ที่พอรับได้

    ...แต่ถ้าคิดเป็นงานศิลปะของศิลปินระดับเมธีและยุรี ก็ถือว่าไม่แพงเลยล่ะ

วิภว์ บูรพาเดชะ

ผู้ก่อตั้งนิตยสาร happening, บรรณาธิการบริหารนิตยสาร happening, กรรมการบริหารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc), นักเขียน, นักแต่งเพลง, นักฟังเพลง และนักอ่านตัวยง

วรรณวนัช บูรพาเดชะ

ที่ปรึกษาทีม happening shop, เจ้าของเพจเฟซบุ๊กและหนังสือ 'ญี่ปุ่นอุ่นอุ่น', นักเขียน ช่างภาพโฟโต้บุ๊ก 'Nagasaki Light' และไกด์บุ๊ก 'Kagawa Memories' นอกจากภาพถ่ายและงานเขียน สิ่งที่เธอสนใจเป็นพิเศษคือการนั่งสมาธิและการโปรยมุขไม่ขำ