moreover: แบรนด์ของแต่งบ้านที่ให้คุณสร้างสรรค์ต่อ

    มากกว่าการเป็นของตกแต่งบ้านให้สวยงาม แบรนด์ มอร์โอเวอร์ (moreover) ยังออกแบบให้สินค้าทุกชิ้นของพวกเขา เปิดรับ ทุกไอเดียจากผู้ใช้ ให้สามารถต่อยอดสินค้าของพวกเขาด้วยการใส่ความคิดสร้างสรรค์ของผู้ใช้แต่ละคน เข้าไปเติมในสินค้าของมอร์โอเวอร์ จนเกิดเป็นรูปแบบใหม่ๆ ได้ไม่จำกัด

    นี่คือหลักแนวคิด Creative is More ที่แบรนด์มอร์โอเวอร์ยึดมั่น จากความเชื่อที่ว่าความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้หยุดอยู่ที่คนออกแบบ แต่ยังขยายเพิ่มต่อไปได้จากตัวผู้ใช้ ให้ความคิดสร้างสรรค์ได้ทำงานต่อ และช่วยสร้างวิถีใหม่ที่ดีกว่าให้ชีวิตของผู้ใช้แต่ละคน

    มอร์โอเวอร์ใส่ไอเดียนี้ลงไปในผลงานทุกชิ้นของพวกเขา เป็นความคิดสร้างสรรค์ที่ซุกซ่อนอยู่ในทุกรายละเอียด ภายใต้รูปลักษณ์สินค้าเรียบง่าย ที่วันนี้พวกเขาจะมาเปิดเผยให้เพื่อนๆ ได้ทำความรู้จัก

    มอร์โอเวอร์เกิดขึ้นมาจากไอเดียของสองเพื่อนซี้ ปุ้ม-นวัต ศักดิ์ศิริศิลป์ และ ตี้-กรวุฒิ กาญจนาบุญมาเลิศ

    ทั้งสองมีความฝันทำแบรนด์ร่วมกัน แต่ถนัดกันคนละอย่าง ปุ้มเรียนจบทางด้านการออกแบบ เคยมีประสบการณ์ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้บริษัทต่างๆ ส่วนตี้เคยทำงานเป็นครีเอทีฟ และคิดว่าความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่ไม่ได้ใช้ได้กับงานที่ทำได้เท่านั้น จึงนำประสบการณ์มาออกแบบการสื่อสารของแบรนด์ กลายเป็นส่วนผสมไอเดียทั้งสองฝั่งที่มารวมกันเป็นมอร์โอเวอร์

    "เราอยากทำแบรนด์ของตนเอง และเลือกสินค้าประเภท Home Decor หรือของตกแต่งบ้าน เพราะมันสามารถเล่นได้เยอะ ของตกแต่งบ้านมันมีสเปซให้ผมสามารถเล่นได้มาก และด้วยความที่ต้องมีฟังก์ชัน ทำให้เราได้ออกแบบลูกเล่นลงไปในสินค้าให้เล่นกับพื้นที่ต่างๆ ภายในบ้าน" ปุ้มเล่าที่มาของสินค้าแบรนด์มอร์โอเวอร์ให้ฟัง

    แม้ปัจจุบันจะมีผู้เล่นหลายเจ้าในตลาดของตกแต่งบ้าน แต่มอร์โอเวอร์ค้นพบข้อแตกต่างจากแบรนด์ของแต่งบ้านอื่น อย่างแรกคือเรื่องวัสดุที่พวกเขาเลือกใช้ 'เหล็ก' เป็นหลัก เพราะส่วนมากของตกแต่งบ้านจะทำจากไม้ เซรามิก หรือพลาสติก ไม่ค่อยนิยมนำเหล็กมาทำเป็นของตกแต่งบ้านเท่าไหร่ นอกจากจะเป็นราวตากผ้าหรือของใช้ในครัว และพวกเขายังค้นพบข้อดีของเหล็กอีกประการที่หลายคนอาจไม่รู้

    "เหล็กมัน Eco นะ อย่างวัสดุไม้ก็ต้องไปตัดต้นไม้ แต่เหล็กสามารถรีไซเคิลได้ 100% และเรามองว่าเหล็กเอามาทำให้สวย ให้มันมีความอ่อนช้อยประณีตได้ ก็ใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไป และเริ่มต้นพัฒนามอร์โอเวอร์จากวัสดุตัวนี้" ตี้อธิบายที่มาของวัสดุเหล็กของแบรนด์

    นอกจากนั้นพวกเขายังเชื่อในพลังของความคิดสร้างสรรค์ และต้องการที่จะทำสินค้าเพื่อตอบสนองกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ที่เป็นคนสายครีเอทีฟ ดีไซน์ ชอบความคิดสร้างสรรค์ อยากให้ของตกแต่งบ้านสามารถถูกนำไปต่อยอดได้ ทำให้ผู้ใช้รู้สึกสนุกที่ได้เพิ่มอะไรเข้าไป จึงเกิดออกมาเป็นคอลเล็กชันแรกของพวกเขา Origami

Paper Boat ในคอลเล็กชัน Origami

    "เราเปิดตัวสินค้าของแบรนด์มอร์โอเวอร์ด้วยคอลเล็กชัน Origami เพราะเราอยากจะสะท้อนให้คนได้เห็นคอนเซปต์ของแบรนด์ และสามารถเข้าใจสิ่งที่เรากำลังจะทำจากวัสดุเหล็กที่เลือก ก็เลยคิดว่าไม่น่าจะมีอะไรสะท้อนได้ดีกว่าการเอาเรื่องการพับกระดาษแบบญี่ปุ่นที่เรียกว่า โอริกามิ (Origami) มาเล่า แล้วก็เอาของเบสิกที่เวลานึกว่าพับเป็นอะไรได้บ้าง เช่น พับนก พับเรือ มาใช้ในการตีโจทย์ออกมาเป็นสินค้า" สิ่งที่ปุ้มอธิบายให้ฟังเลยเป็นเหตุผลทำให้ช่วงแรกของแบรนด์ เขาต้องนั่งพับกระดาษขึ้นเป็นแบบ แล้วลองให้ช่างฝีมือนำเหล็กมาลองพับให้ออกมาเป็นรูปทรงคล้ายกระดาษ และการนำวัสดุที่แข็งอย่างเหล็กมาเลียนแบบคุณสมบัติความบางที่พับได้ด้วยมือเปล่าของกระดาษ จึงทำให้ผลงานบางชิ้นในคอลเล็กชันนี้ของมอร์โอเวอร์ใช้เวลาทดลองกันถึง 2 ปี!

    "เวลาพับในกระดาษ พอนำมาทำโปรดักชันจริงๆ มันไม่ได้" ปุ้มอธิบายขั้นตอนการออกแบบให้ฟัง "มันไม่ได้ทำง่ายเหมือนพับกระดาษ เราต้องทดลอง เอาไปคุยกับโรงงาน ให้เขาลองใช้เครื่องมือต่างๆ มาลองพับเหล็กให้ได้ตามแบบที่เราต้องการ บางเทคนิคช่างเขาก็จะมีวิธีการใช้เครื่องให้เหมาะกับการพับแต่ละจุด หรือบางเทคนิคอาจจะต้องแยกชิ้นแล้วมาประกอบทีหลัง ตอนนั้นเราทำงานกับโรงงานจนเกือบจะเป็นญาติพี่น้องกันแล้ว" ปุ้มปิดท้ายด้วยอารมณ์ขัน หลังเล่าถึงผลงานที่ใช้เวลาพัฒนาถึง 2 ปี จนออกมาเป็นสินค้าเรือพับ Paper Boat ในคอลเล็กชัน Origami

    นอกจากนั้นพวกเขายังต้องออกแบบสินค้าทุกชิ้นให้มี Creative Function ที่ให้ผู้ใช้สามารถเติมความคิดสร้างสรรค์และหาวิธีการใช้ใหม่ๆ ให้เข้ากับชีวิตของแต่ละคน นอกจากด้านเทคนิคการผลิตแล้ว พวกเขาจึงต้องมาคิดกันว่าจะออกแบบแต่ละชิ้นให้ทำอะไรต่อได้บ้าง นั่นเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องหาให้เจอแล้วใส่เข้าไปในสินค้า เลยทำให้ทุกครั้งที่ออกสินค้าใหม่ พวกเขาจะมานั่งประชุมกับทีมว่าจะนำสินค้าตัวนี้ไปต่อยอดอะไรได้บ้าง

        "เราต้องการให้ลูกค้ารู้สึกสนุกเวลาได้เติมความคิดสร้างสรรค์ลงไปบนผลิตภัณฑ์ของเรา เพราะเราเชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์มันไม่ได้หยุดอยู่ที่คนออกแบบ มันต้องถูกเติมเต็มโดยตัวลูกค้าเองด้วย ทุกสินค้าของเราจึงจริงจังในเรื่องการออกแบบสิ่งที่จะมาเติมต่อเช่นกัน" ตี้ช่วยเสริม

    ตอนที่เราไปคุยกับตี้และปุ้ม ขณะนั้นมอร์โอเวอร์มีคอลเล็กชันออกมาแล้วทั้งหมด 3 คอลเล็กชันคือ Origami Collection, Season Collection และ Oasis Collection ในแต่ละคอลเล็กชัน พวกเขาจะพยายามใส่ไอเดียการใช้ชีวิตลงไป อย่างคอลเล็กชัน Season ที่พวกเขาต้องการจะบอกให้คนได้ออกไปสัมผัสบรรยากาศข้างนอก ออกไปเก็บเกี่ยวความสวยงามของฤดูกาลต่างๆ มาเก็บไว้ในบ้าน สินค้าในคอลเล็กชันนี้จึงออกมาเป็น พระอาทิตย์ในฤดูร้อน หยดน้ำจากฤดูฝน และต้นไม้ในฤดูหนาว 3 ฤดูของบ้านเรา

    มอร์โอเวอร์จึงไม่ได้ออกแบบแค่ของตกแต่งบ้าน แต่พวกเขาตั้งใจจะสร้างบรรยากาศภายในบ้านให้ช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์และยังตกแต่งให้สวยงามได้อีกด้วย

    ตลาดของมอร์โอเวอร์ไม่ได้อยู่แค่ไทย พวกเขายังก้าวออกไปสู่ตลาดต่างประเทศ ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ทำให้พวกเขามีโอกาสได้ไปออกงานแฟร์ในต่างประเทศ จนปัจจุบันสินค้าของมอร์โอเวอร์มีวางจำหน่ายกระจายอยู่กว่า 10 ประเทศ ทั้งเอเชียและยุโรป แต่การจะออกแบบสินค้าให้สื่อสารกับคนทั้งโลกแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

    "ถือเป็นอีกเรื่องยาก ปราบเซียนเลย ง่ายๆ แค่ลูกค้าต่างชาติมาซื้อสินค้ามอร์โอเวอร์ในเมืองไทย แค่นี้ก็ยังต่างจากคนไทยซื้อเลย การไปออกแฟร์หรือวางขายที่แต่ละประเทศ จึงมีประเด็นที่เราต้องกังวลไม่เหมือนกัน เช่น คนญี่ปุ่นเขาจะไม่ชอบเจาะผนัง เวลาไปออกแฟร์หรือวางขาย เช่นตัว Early Bird เราก็ต้องอธิบายว่าคุณไม่จำเป็นต้องเจาะผนังก็ได้ ใช้กาวสองหน้าแทน แต่ละประเทศจะมีดีเทลอะไรอย่างนี้อยู่" ตี้ที่ดูแลเรื่องการตลาดเข้ามาอธิบาย

    นอกจากความยากในการออกแบบแล้ว สิ่งยากที่ตามมาจึงเป็นเรื่องการสื่อสาร พวกเขาจะต้องตีโจทย์ให้ได้ว่า ลูกค้าแต่ละประเทศใช้ของแต่ละชิ้นในลักษณะไหน และต้องอธิบายออกไปให้ได้ เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจถึง Creative Function ที่แฝงอยู่ในตัวสินค้า การสื่อสารผ่านภาพหรือคลิปวิดีโอ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ลูกค้าเห็นแล้วนำไปต่อยอดและเกิดไอเดียการใช้งานใหม่ๆ ได้ ต้องสื่อสารให้ครอบคลุมมากที่สุด และมีการรับฟีดแบ็กตลอดเวลา หากลูกค้าไม่เข้าใจ ก็จะรีบทำสื่อเข้าไปอธิบายเสริมทันที

    หรือหากสังเกตไปที่แพ็กเกจของสินค้ามอร์โอเวอร์ให้ดี นี่คืออีกหนึ่งช่องทางสื่อสาร ที่พวกเขาใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการบอกกับลูกค้า แพ็กเกจของพวกเขาไม่ได้มีประโยชน์แค่เพียงรักษาสภาพสินค้าเท่านั้น หากมองไปที่รายละเอียดของรูปสินค้าบนกล่องสีขาวสะอาดให้ดี คุณจะค้นพบว่าบางเส้นบนสินค้าเป็นสีแดงแตกต่างขึ้นมา

    "เรามีเส้นสีแดงอยู่บนตัวรูป เพื่อบอกใบ้คร่าวๆ ว่าของชิ้นนี้จุดไหนที่เป็น Creative is More หรือเป็นจุดเด่นของสินค้า" ปุ้มอธิบายรายละเอียดเล็กๆ ที่เขาใช้สื่อสารบนแพ็กเกจ มันคือการไฮไลต์จุดขายของสินค้าแต่ละชิ้น และยังเป็นเหตุผลอธิบายว่าทำไมตัว V บนโลโก้แบรนด์ของพวกเขาที่ถูกนำมาบิดให้เป็นเครื่องหมาย มากกว่า หรือ น้อยกว่า เพื่อสื่อถึง Creative is More ถึงเป็นตัวอักษรสีแดง

    ความคิดเยอะ จริงจัง ใส่ใจ ประณีต และอีกจำนวนมาก ทั้งหมดนี้ล้วนอยู่ในรายละเอียดที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความเรียบง่ายของมอร์โอเวอร์

    ปัจจุบันพวกเขายังคงพยายามสร้างสรรค์สินค้าใหม่ๆ ให้ได้ติดตามกันอยู่ตลอด และยังมีโอกาสไปร่วมสนุกทำงานกับแบรนด์ต่างๆ

    และคงไม่มีอะไรจะอธิบายความเรียบง่ายของพวกเขาได้ดีไปกว่า การได้ลองหยิบสินค้าของพวกเขามาเพ่งชมรายละเอียดด้วยตนเองสักครั้ง


เข้าชมสินค้าจาก moreover บนเว็บไซต์ happeningandfriends.com ได้ ที่นี่

ภีมภัทร บุญนัก

นักศึกษาปี 4 จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชอบชีวิตที่เรียบง่าย สโลว์ไลฟ์อยู่ในร้านกาแฟ หลงใหลในความสวยงามของดนตรีและศิลปะ ชอบการทำนิตยสารเพราะมองนิตยสารเป็นงานศิลปะหนึ่งชิ้นที่น่าสนใจไม่แพ้งานอื่นๆ