Fluffy Ice-cream: แบรนด์อารมณ์ดีที่เคยถูกก๊อป!

    หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ประสบปัญหาสายชาร์จพังอยู่บ่อยๆ ต้องเสียเงินซื้อสายชาร์จใหม่ซ้ำๆ แล้วสายชาร์จก็หายอยู่เป็นประจำ เราคือเพื่อนกัน!

    แท็ป-มฆรัตน์ ทวีชนม์ กราฟิกดีไซเนอร์หนุ่มอารมณ์ดี นั่งคุยกับเราด้วยสีหน้าเปื้อนยิ้มกับท่าทีเคอะเขิน เล่าถึงเรื่องราวเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ที่เขาเพิ่งเป็นบัณฑิตคณะออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ประสบกับความเกเรของเจ้าสายชาร์จเช่นเดียวกับเราๆ ทว่าเขากลับนำปัญหานั้นมาริเริ่มลองผิดลองถูกกับการหล่อซิลิโคนกับแฟนสาว จนได้เป็นเจ้าตัวไอศกรีมที่มีคุณสมบัติปกป้องและถนอมสายชาร์จ พร้อมกับโทนสีพาสเทลที่เจ้าตัวชื่นชอบ แล้วให้ชื่อแบรนด์ว่า 'ฟลัฟฟี่ ไอศครีม' (Fluffy Ice-cream) ตามความนิ่มและยืดหยุ่นของตัวซิลิโคน

    เมื่อปล่อย ฟลัฟฟี่ ไอศครีม สู่ตลาดออนไลน์เสร็จสรรพ แท็ปก็ได้กระแสตอบรับอย่างล้นหลาม เด็กหนุ่มบัณฑิตใหม่ป้ายแดงผู้ยังไม่ช่ำชองในโลกของการตลาด เล่าว่าตอนนั้นการทำเองขายเองช่างเป็นอะไรที่รู้สึกเท่ จึงไม่ยอมรับตัวแทนจำหน่าย ซึ่งขณะเดียวกันเขาก็ได้เริ่มต้นชีวิตพนักงานประจำควบคู่ไปด้วย

     "ตอนนั้นเป็นช่วงชีวิตที่ทำงานเยอะมาก ทำงานทั้ง 7 วัน ตื่น 6 โมงเช้า แพ็กของไปส่งไปรษณีย์ ทำงานประจำต่อ 10 โมงถึง 1 ทุ่ม แล้วก็กลับมาทำตรงนี้ต่อถึง 4 ทุ่ม ตอบไลน์ลูกค้าถึงเที่ยงคืน แพ็กของต่อถึงตี 2 นอนวันละ 3-4 ชั่วโมง วงจรชีวิตเป็นอย่างนี้ทุกวัน จนเรารู้สึกว่าร่างกายไม่ไหว ก็เลยลาออก"

    หลังจากนั้นแท็ปหันมาทุ่มเทกับแบรนด์มากขึ้น เรียกได้ว่าเจ้าตัวถนอมสายชาร์จรูปไอศกรีมจากแบรนด์ฟลัฟฟี่ ไอศครีมนี้ เป็นเจ้าแรกที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน ทำให้สินค้าฮิตติดกระแสอย่างรวดเร็ว และได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเป็นสาวๆ คงต้องเรียกว่ามีหนุ่มๆ มาจีบจนหัวกระไดบ้านไม่แห้ง

    "มันก็เริ่มขายดี สัปดาห์หนึ่งขายได้ 30-50 ชิ้น แต่กำลังผลิตเราได้แค่วันละ 10-15 ชิ้น เพราะทำมือเองทั้งหมด บวกกับเป็นงานที่ค่อนข้างละเอียด จึงต้องใช้เวลามากพอสมควร ตอนนั้นก็โดนว่าเรื่องของจริงไม่สวยเหมือนในรูป ซึ่งมันก็เกิดจากความบกพร่องในการทำ ด้วยความรีบทำงาน เพราะตอนนั้นลูกค้าเริ่มสั่งเยอะ"

    หาก ฟลัฟฟี่ ไอศครีม เป็นเด็กคนหนึ่ง คงเปรียบเหมือนวัยกำลังโต เพราะตั้งแต่กระบวนการทำมือ สู่การขายจริง เริ่มเป็นที่รู้จัก จนย่างเข้าสู่กระบวนการเข้าโรงงาน เจ้าของแบรนด์อย่างแท็ปก็ต้องเติบโตขึ้นไปพร้อมๆ กัน และเมื่อต้องถึงจุดที่ขยายสเกลเข้าสู่ระบบโรงงานที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก เขาจึงต้องสวมบทบาทเป็นนักธุรกิจต่อรองกับทางโรงงานและตัวแทนที่สนใจผลิตภัณฑ์ของเขาจนได้เงินมาลงทุน ด้วยความมั่นใจจากทุกฝั่งที่เชื่อว่าสินค้าชิ้นนี้จะต้องขายได้อย่างแน่นอน

    และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เมื่อแท็ปสามารถทำทุนคืนกลับมาได้หลังจากปล่อยสินค้าไปแค่เพียง 2 สัปดาห์ เขาเล่าถึงความนิยมในระยะเวลา 3 เดือนแรกว่ามีคนขอเข้ามาเป็นตัวแทนจำหน่ายจำนวนมากเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 10 เจ้าต่อวัน

    "ตอนแรกเราก็ไฟแรง โดนรุ่นพี่โทรมาด่าเยอะมากว่าบ้าหรือเปล่า กล้าลงทุนไปได้ไง ทำงานซิลิโคนไม่กลัวโดนก๊อปเหรอ แต่ตอนนั้นเราใจร้อน เราไม่รู้เรื่องอะไร คิดปุ๊บก็ทำเลย ก็ไม่ทันคิดว่าจะมีของก๊อปหรือการขโมยดีไซน์เกิดขึ้น" เจ้าของแบรนด์เล่าถึงสถานการณ์ตอนนั้น

    จนประมาณ 2 ปีต่อมา สิ่งที่แท็ปไม่ได้คาดฝันก็เกิดขึ้นจริงๆ

    "แบรนด์เราโดนก๊อปหนักมาก แย่สุดคือเคยมีลูกค้ามากระซิบกันหน้าร้านเราว่าเขาซื้อมาแค่ 10 บาทเองนะ ทำไมเราขายแพงจัง บางทีก็มาถามว่าไปรับมาจากที่ไหนเนี่ย ที่นั่นถูกกว่าเยอะเลย เหมือนของเรากลายเป็นของปลอมไปด้วย" แท็ปหัวเราะขื่นๆ

    ผลจากการถูกก๊อบปี้สินค้า ทำให้ยอดขายตกลงไปเกือบ 70% คงเรียกได้ว่าเป็นช่วงดาวน์ของแบรนด์ก็ว่าได้ แต่สิ่งที่แท็ปไม่คิดจะทำเลย คือการลดราคา เพราะนั่นจะเป็นการดูถูกสินค้าของเขาเอง หนุ่มนักออกแบบจึงพยายามพัฒนาสินค้า สร้างมาตรฐานแบรนด์ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงการพยายามทำภาพลักษณ์ให้แบรนด์เป็นที่จดจำ (เช่น การลงโฆษณาในนิตยสาร happening) เพราะถึงแม้ว่ายอดขายจะตกก็ใช่ว่าจะขายไม่ได้เลย ดังนั้นสินค้าของ ฟลัฟฟี่ ไอศครีม จึงยังคงมีคอลเล็กชันสีใหม่ออกสู่ตลาดเรื่อยมา เพื่อแสดงจุดยืนให้ผู้ใช้เห็นว่าแบรนด์ของเขานี่แหละที่เป็นของออริจินัล

    "สิ่งที่สินค้าก๊อบปี้ทำได้ไม่ดีเท่าเราก็มีอยู่เยอะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องซิลิโคนที่แข็งและเล็กกว่า เพราะเขาไม่ได้มีไว้ปกป้อง เขามีไว้แค่คลุมเฉยๆ ไม่ได้มองถึงฟังก์ชัน เขามองเป็นแฟชั่นมากกว่า สุดท้ายแล้วคนที่ใช้ก็กลับมาซื้อของเรา เพราะว่าเขาต้องการอันที่มันถนอมสายชาร์จเขาได้จริงๆ" ชายหนุ่มเล่าอย่างภูมิใจ

    อีกจุดที่ทำให้แบรนด์ ฟลัฟฟี่ ไอศครีม เป็นที่รู้จักมากขึ้น นอกเหนือจากแค่ในประเทศไทย ก็คือการได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 5 แบรนด์ของประเทศไทย ที่ได้ไปจัดจำหน่ายและแสดงผลงานในเทศกาลพับลิก การ์เดน (Public Garden) ที่ประเทศสิงคโปร์ ถือเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ไทยที่ได้ไปโกอินเตอร์ กลายเป็นที่สนใจของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะแถบเอเชีย ซึ่งได้วางจำหน่ายไปแล้วทั้งในประเทศสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไต้หวัน เป็นที่ถัดไป

    "ส่วนใหญ่คนชอบบอกว่าให้คิดก่อนทำ แต่เรามองว่าการคิดเยอะเกินไปจะทำให้เราไม่ได้ทำมันขึ้นมา จริงๆ เราควรคิดแค่ในระดับที่รู้สึกว่ามั่นใจกับมัน แล้วเราเห็นภาพก่อนว่ามันโอเค จึงค่อยทำสเต็ปต่อไป แต่ถ้าเราคิดไปเรื่อยๆ คิดจนตัดทอนทุกอย่าง เราก็จะไม่กล้าทำ และ ฟลัฟฟี่ ไอศครีม ก็คงไม่เกิดขึ้น"

    แม้ว่าผลิตภัณฑ์ที่พ่วงมากับเทคโนโลยีมักจะอยู่ในกระแสได้ไม่เกินปีสองปีแล้วก็หายไป แต่แบรนด์ฟลัฟฟี่กลับยืนหยัดมาได้กว่า 4 ปีแล้ว และตอนนี้แท็ปเองก็กำลังจะปรับรูปโฉมแบรนด์ใหม่เป็น Fluffy House ที่รวมเอาผลงานการออกแบบของเขากับคนรักเอาไว้ ซึ่งจะไม่ได้มีแค่ตัวถนอมสายชาร์จเท่านั้น แต่ยังมีสายรัด เคสมือถือ สติกเกอร์ และงานปักผ้า ซึ่งยังคงความพาสเทลตามแบบฉบับของฟลัฟฟี่

     "เรากำลังพยายามสร้างคุณค่าของแบรนด์เรา เวลาขาย เราจะบอกลูกค้าตลอดว่าขอให้ซื้อเพราะชอบ อย่าซื้อเพราะถูกเลย เพราะถ้าถูก มันซื้อได้ทุกที่แหละ แต่ถ้าชอบก็อยากให้สนับสนุน เพราะว่าเราตั้งใจทำ" แท็ปปิดท้ายด้วยรอยยิ้ม

สุภาพรรณ มะเทวิน

เด็กหญิงขี้สงสัย สนใจในทุกเรื่อง มีความสุขกับการวาด การอ่าน การเขียน ชอบท่องเที่ยว ชอบถ่ายรูป ชอบผู้คน ชอบดูหนัง หลงใหลในความบันเทิง ของกิน และของฟรี

เดือนเพ็ญ จุ้ยประชา

นักเขียนและกองบรรณาธิการที่พบเจอตัวได้ตามหอศิลป์และร้านหนังสือ ชอบกินแซลมอนและชาบู อยากแก่ไปเป็นคุณป้าใจดีและมีฝูงแมวห้อมล้อม