หมีขอกลิ่นเหมือนป๊อปคอร์นจริงไหม ไข่ของสัตว์ปีกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกคือไข่ของอะไร อ้าว! หมีขอไม่ใช่หมีหรอกหรือ แล้วน้ำนมของฮิปโปเป็นสีชมพูได้อย่างไร ฯลฯ เกร็ดความรู้สนุกๆ เกี่ยวกับสัตว์ในสวนสัตว์เหล่านี้ถูกบอกเล่าผ่านภาพวาดการ์ตูนจากเพจเฟซบุ๊ก
EDU Zoo Say ที่ดูแลโดย งานสื่อการเรียนรู้ ของ ฝ่ายการศึกษา สวนสัตว์เปิดเขาเขียว
ความน่ารัก น่ารู้ แฝงไปด้วยอารมณ์ขันของการ์ตูนในเพจนี้ทำให้เราอยากเดินทางไปทำความรู้จักกับทีมที่อยู่เบื้องหลังผลงานสนุกๆ รวมถึงเหตุผลว่า ทำไมหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบผลิตสื่อการเรียนรู้ภายในสวนสัตว์ จึงเลือกใช้ศิลปะการวาดภาพมาใช้ขยายขอบเขตเรื่องราวของสัตว์ในสวนสัตว์มาสู่โลกออนไลน์กันนะ
เราเดินทางโดยรถยนต์ไปบนเส้นมอเตอร์เวย์สาย 7 มุ่งหน้าสู่จังหวัดชลบุรี ใช้ทางออก บางแสน-ศรีราชา ใช้เวลาไม่นานก็เดินทางถึงสวนสัตว์เปิดเขาเขียว เรานัดพบกับ ณรงวิทย์ ชดช้อย ผู้อำนวยการสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ที่รอต้อนรับท่ามกลางต้นไม้ใหญ่บริเวณส่วนจัดแสดงฮิปโปโปเตมัส และรับหน้าที่เล่าถึงภารกิจของสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ซึ่งเป็นแนวคิดในการบริหารจัดการพื้นที่กว้างใหญ่แห่งนี้ให้ฟัง

ณรงวิทย์ ชดช้อย ผู้อำนวยการสวนสัตว์เปิดเขาเขียว
"สวนสัตว์เปิดเขาเขียวมีภารกิจด้วยกันอยู่ 4 ด้านนะครับ อันดับแรกคือ การอนุรักษ์ เมื่ออนุรักษ์แล้วภารกิจที่สองคือ การวิจัย เมื่อทำทั้งสองภารกิจแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อคือ การให้การศึกษา โดยเรานำข้อมูลเรื่องการอนุรักษ์และการวิจัยมานำเสนอให้คนทั่วไปทราบ และภารกิจสุดท้ายจะเป็นเรื่องการพักผ่อนหย่อนใจ"
ขณะที่ผู้อำนวยการเล่า เราก็เห็นทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทย ชาวต่างชาติ และ กลุ่มนักเรียนที่มาทัศนศึกษา เดินเข้าไปหาแม่มะลิและต่อแถวรอชมหมูเด้งอย่างใจจดใจจ่อ

"คนที่มาเที่ยวสวนสัตว์ส่วนใหญ่จะมาพักผ่อนหย่อนใจกัน แต่ทางสวนสัตว์เปิดเขาเขียวเราทำภารกิจทั้ง 4 ด้านไปพร้อมๆ กัน ความจริงป้ายให้การศึกษาเรื่องข้อมูลสัตว์ถือเป็นเรื่องสำคัญ ในการที่เราจะให้ความรู้แก่นักเรียน เยาวชน หรือ ประชาชนทั่วไปนะครับ เรามีป้ายให้การศึกษาซึ่งออกแบบไว้อย่างดี ซึ่งทางฝ่ายการศึกษา หรือ เพจ EDU Zoo Say ได้ทำการออกแบบป้ายการศึกษาเป็นการ์ตูนที่เพิ่มความน่าสนใจให้กับนักท่องเที่ยว ให้เข้ามาอ่านข้อความบนป้ายมากยิ่งขึ้น"
บรรยากาศภายในสวนสัตว์เปิดเขาเขียวมีความร่มรื่น ตามเส้นทางจะเห็นว่ามีการแบ่งส่วนจัดแสดงสัตว์ออกเป็นสัดส่วน แต่ดูกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมที่มีความเป็นธรรมชาติ ขณะที่การจัดวางป้ายข้อมูลสัตว์และนิทรรศการให้ความรู้ก็จัดวางอยู่อย่างเหมาะสม ซึ่งผู้อำนวยการณรงวิทย์บอกว่าเป็นความตั้งใจของสวนสัตว์
"ผมถือว่าการดูแลป้ายต่างๆ ก็เป็นการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ ไม่ให้ไปรบกวนหรือบดบังทัศนียภาพของการเที่ยวชมของผู้ที่มาเยี่ยมชมด้วยครับ อย่างป้ายให้การศึกษา ป้ายข้อห้าม กฏระเบียบข้อบังคับต่างๆ เราพยายามให้อยู่ภายในจุดเดียวกัน รวมถึงเรื่องกายภายที่มีการออกแบบให้กลมกลืนและสอดรับกับธรรมชาติมากที่สุด ดังนั้นมุมมองส่วนตัวของผมศิลปะเป็นสิ่งที่เข้าได้กับทุกสถานการณ์และทุกกิจกรรมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบป้าย การออกแบบส่วนจัดแสดงสัตว์ อาคารที่มีการเพ้นต์ลวดลายต่างๆ รวมถึงการจัดโซนที่ทางสวนสัตว์ทำไว้ เรามีการนำสถาปัตยกรรมหรือศิลปะที่เกี่ยวกับถิ่นที่อยู่ของสัตว์ในโซนนั้นๆ มาใช้ในการออกแบบ เพื่อให้ผู้มาเยือนรู้ว่าสัตว์ชนิดนี้มีถิ่นที่อยู่อยู่ที่ไหน เช่น โซนแอฟริกาก็ต้องมีการเพ้นต์ภาพสไตล์แอฟริกา สัตว์ที่อยู่ในทวีปออสเตรเลียก็จะมีรูปแบบการจัดแสดงแบบออสเตรเลีย หรือโซนเอเชียก็จะมีสถาปัตยกรรมที่แสดงถึงอารยธรรมของเอเชีย"
นั่นทำให้รู้ว่าการบริหารจัดการสวนสัตว์มีรายละเอียดมากมาย นอกเหนือจากการดูแลสภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่ อาหาร น้ำ และสวัสดิการต่างๆ ของสัตว์ที่เราเห็นอยู่

หลังจากพูดคุยกับผู้อำนวยการแล้ว เราก็ได้ทำความรู้จักกับทีมฝ่ายการศึกษาที่ทักทายเราด้วยรอยยิ้ม ตู่-วัลภา งามสม หัวหน้างานสื่อการเรียนรู้ เป็นคนแนะนำให้เรารู้จักกับ กลอย-อารีรัตน์ ทับทิม เจ้าหน้าที่สื่อการศึกษา ผู้รับหน้าที่การออกแบบสื่อการเรียนรู้และนักวาดหนึ่งเดียวของเพจ EDU Zoo Say แถมยังเป็นผู้วาดสติกเกอร์ไลน์หมูเด้ง Pygmy hippy กับ Pygmy hippy ver.2 เสื้อเด้งและชุดเด้งดึ๋ง รวมถึงเสื้อกะปิปลาร้าของเหล่าคาปิบาราที่ดังมาก่อนหมูเด้งอีกด้วย
ลำดับจากซ้ายไปขวา ตู่-วัลภา งามสม และ กลอย-อารีรัตน์ ทับทิม
สวนสัตว์คือพื้นที่การศึกษาสำหรับทุกคน
ตู่เล่าพูดถึงงานของฝ่ายการศึกษาว่า "งานสื่อการเรียนรู้มีภารกิจหลักในด้านการผลิตสื่อการเรียนรู้ค่ะ เดิมทีสื่อที่ผลิตจะเป็นประเภทป้ายให้ความรู้เกี่ยวกับข้อมูลสัตว์บริเวณส่วนแสดงสัตว์ ป้ายนิทรรศการสำหรับให้ความรู้ในช่วงการจัดกิจกรรมเป็นส่วนใหญ่ จากเดิมที่นำภาพจริงของสัตว์มาใช้ เราเริ่มปรับมาเป็นภาพวาดตั้งแต่ปี 2562 โดยมีแนวคิดว่าป้ายหน้าส่วนแสดงไม่จำเป็นต้องเป็นภาพจริง เนื่องจากนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่เข้ามาเที่ยวชมสวนสัตว์สามารถเห็นสัตว์ตัวจริงได้อยู่แล้ว"

นอกเหนือจากการเผยแพร่ความรู้ผ่านสื่อต่างๆ ในสวนสัตว์แล้ว ฝ่ายการศึกษายังมีการทำงานออกแบบสื่อร่วมกับบุคลากรจากฝ่ายต่างๆ ภายในสวนสัตว์เปิดเขาเขียว เช่น สัตวแพทย์ การบัญชี การตลาด ไฟฟ้า ประชาสัมพันธ์ สัตวบาล นิเทศศิลป์ กฎหมาย ฯลฯ จึงมีการทำงานครอบคลุมทุกพื้นที่ และทำให้เรารู้ว่ายังมีบุคลากรอีกหลากหลายสาขาอาชีพทำงานร่วมกันอยู่ในสวนสัตว์
ตอนที่เราเดินทางไปถึงเป็นเวลาเดียวกับนักเรียนจากหลายโรงเรียนเดินทางมาทัศนศึกษาที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จึงเห็นบรรยากาศที่วิทยากรนำชมน้องๆ สลับกับกลุ่มครอบครัวที่เดินทางมาเที่ยวอย่างคึกคัก "นักท่องเที่ยวและกลุ่มนักเรียนเพิ่งกลับมาเยี่ยมชมสวนสัตว์ปี 2566 นี้เองค่ะ ก่อนหน้านี้สวนสัตว์ค่อนข้างเงียบเหงา เพราะตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ที่โควิดระบาด ทำให้สวนสัตว์เปิดเขาเขียวต้องปิดให้บริการในหลายๆ ช่วงของการดำเนินงาน จากเดิมที่นักเรียนและนักท่องเที่ยวเดินทางมาสวนสัตว์ เราจึงมีแนวคิดที่จะสื่อสารกิจกรรมของสวนสัตว์ในด้านต่างๆ ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้สามารถเข้าถึงสวนสัตว์ได้แม้ว่าจะไม่ได้เดินทางมาที่สวนสัตว์ด้วยตัวเอง ส่วนของงานสื่อสารการเรียนรู้เลยต้องการถ่ายทอดเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้งานศิลปะกับองค์ความรู้ด้านสัตว์ป่า เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีองค์ความรู้และความสามารถด้านนี้เป็นงานประจำที่ทำอยู่แล้ว จึงจัดทำเพจการเรียนรู้ออนไลน์ในรูปแบบศิลปะเชิงสร้างสรรค์ผ่านเพจเฟซบุ๊ค EDU Zoo Say ขึ้นตั้งแต่ปี 2564 เพื่อให้ผู้สนใจทราบเรื่องราวของสัตว์ในรูปแบบของการสื่อสารออนไลน์ได้ค่ะ"

หลายๆ คนอาจจะเคยเห็นเรื่องราว ภาพถ่าย และคลิปวิดีโอน่ารักๆ จากผู้ดูแลสัตว์ของสวนสัตว์เปิดเขาเขียวผ่านเพจ
ขาหมู แอนด์เดอะแก๊ง ที่แจ้งเกิด หมูตุ๋น ฮิปโปโปเตมัสแคระ ซึ่งรุ่นน้องอย่างหมูเด้งก็มาแรงแซงโค้งโด่งดังไปทั่วโลกนำหน้ารุ่นพี่ไปแล้ว อีกทั้งยังมีการโชว์การใช้ชีวิตสุดลโลว์ของสลอธ ดูวิถีชีวิตสุดชิลของคาปิบารา เจ้าของฉายาหมามะพร้าวกันมาบ้าง แต่เพจ EDU Zoo Say จะนำเสนอสิ่งที่แตกต่างออกไป โดยใช้ภาพวาดการ์ตูนบอกเล่าเรื่องราวความรู้และเกร็ดน่าสนใจของสัตว์หลายชนิด เมื่อเดินทางมาถึงสวนสัตว์ก็จะได้เห็นลายเส้นที่คุ้นตานี้บนป้ายข้อมูลบริเวณส่วนแสดงสัตว์ ซึ่งทั้งหมดเป็นฝีมือการวาดของกลอยนั่นเอง
ระหว่างที่กลอยขับรถกอล์ฟพามาถึงโซนแอฟริกา เราได้พบกับยีราฟ เมียร์แคท ม้าลาย แรด ฟลามิงโก ตัวลีเมอร์ ก่อนที่จะเข้าสู่ส่วนแสดงสลอธ ฮิปโปโปเตมัส จนไปเจอหมีหมาและหมีควาย ซึ่งเป็นแค่ช่วงแรกของการเที่ยวชมก็ทำให้รู้สึกตื่นตาตื่นใจกับสัตว์ตัวจริงแล้ว แต่นอกเหนือจากนั้นเราจะเห็นป้ายข้อมูลสัตว์แต่ละชนิดที่มีภาพประกอบน่ารัก อักษรเบล และรูปนูนต่ำของสัตว์ชนิดนั้นๆ สำหรับผู้พิการทางสายตา ที่ทำให้รู้ว่าสวนสัตว์เป็นพื้นที่สำหรับทุกคนจริงๆ


ศิลปะในการให้ข้อมูลและความรู้เรื่องสัตว์
เราถามกลอยว่าเธอเข้ามาทำงานกราฟิกและศิลปกรรมในฝ่ายการศึกษาที่นี่ได้อย่างไร กลอยจึงเริ่มเล่าย้อนไปถึงพื้นฐานด้านศิลปะและในสมัยที่ยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยบูรพาให้ฟัง "พื้นฐานตอนเด็กเรียนจิตรกรรมมาค่ะ แต่ตอนเข้ามหาวิทยาลัยตอนนั้นยังไม่รู้ว่าเรขาศิลป์คืออะไร เลยสมัครเข้าไปเรียนกราฟิกดีไซน์ เอกกราฟิกและโฆษณาที่มหาวิทยาลัยบูรพา ทีนี้ตอนฝึกงานก็ได้เข้ามาฝึกงานที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว แล้วช่วยงานพี่ที่เคยทำตำแหน่งนี้มาก่อน แล้วสมัยนั้นงานวาดนิทรรศการเป็นงานเพ้นต์มือ ป้ายแบ็คดรอปยังเป็นงานวาดมือที่ใช้สีกับพู่กันอยู่เลยค่ะ ซึ่งพี่เขาจบช่างศิลป์กันมา เราก็รู้สึกว่าสนุกนะ"
เมื่อเรียนจบแล้วกลอยมีโอกาสทำงานกราฟิกที่อื่นอยู่บ้าง จนทราบข่าวว่าที่สวนสัตว์เขาเขียวเปิดรับพนักงานจึงถือโอกาสมาสมัคร เธอได้งานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่สื่อการศึกษา แล้วเริ่มทำงานออกแบบทำป้ายและสื่อต่างๆ ให้กับสวนสัตว์เปิดเขาเขียวนับตั้งแต่นั้นมา


กลอยอธิบายภาพรวมของการทำงานให้ฟังว่า "งานมีหลายส่วนค่ะ เริ่มจากทำป้ายหน้าส่วนแสดงสัตว์ก่อน แล้วจะมีนิทรรศการให้ความรู้ตามจุดต่างๆ รวมถึงนิทรรศการให้ความรู้ประจำวันสำคัญ เช่น วันที่ 29 กรกฎาคม เป็นวันรักเสือโคร่ง ก็จะจัดทำนิทรรศการเกี่ยวกับเสือโคร่ง เป็นต้น"
รถที่นำนักเรียนเยี่ยมชมสวนสัตว์กำลังขับผ่านเรา โดยมีวิทยากรเล่าเรื่องเกี่ยวกับสัตว์ให้เด็กๆ ฟังอย่างขยันขันแข็ง กลอยบอกว่าวิทยากรจะเข้ามามีบทบาทในการให้ความรู้ ซึ่งแต่ละคนจะมีมุกมีแก๊กตามสไตล์ของตัวเอง ขณะที่ป้ายให้ความรู้ในส่วนจัดแสดงที่เห็นอยู่ในปัจจุบันจะเป็นเกร็ดความรู้ที่ย่อยมาแล้ว ต่างจากสมัยก่อนที่ป้ายเหล่านี้เคยใช้ภาพสัตว์จริงและได้รับข้อมูลมาจากฝ่ายอนุรักษ์ วิจัย และสุขภาพสัตว์ ที่เป็นสัตวแพทย์และนักวิจัย ซึ่งมีลักษณะที่เป็นทางการ เมื่อมีการปรับมาใช้ภาพวาดลักษณะการ์ตูนในการให้ข้อมูลทำให้คนทั่วไปเข้าถึงเนื้อหาง่ายขึ้น
เหมือนกับ เรื่องน่ารู้... สลอธ ตรงนี้ ที่ทำให้เรารู้ว่า สลอธสามารถหมุนหัวได้ 270 องศา และอึแค่สัปดาห์ละครั้ง แล้วยังมีเรื่องสนุกๆ ของสัตว์อีกหลายชนิดให้ค้นพบไปตลอดทาง



ตู่เล่าถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบของการนำภาพประกอบมาใช้กับเนื้อหาข้อมูลที่คนทุกกลุ่มสามารถเข้าใจได้อย่างปัจจุบันว่า "ที่เราสามารถเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอจากการใช้ภาพจริงมาเป็นภาพวาด เนื่องจากเรามีโอกาสรับเจ้าหน้าที่เข้ามาใหม่และตรงกับที่ต้องการและมีความสามารถด้านกราฟิก จากเดิมที่เราขาดบุคลากรด้านกราฟิกที่จะมาช่วยทำงาน เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้สวนสัตว์ในรูปแบบที่เข้าถึงได้มากขึ้น เข้าใจง่ายขึ้นมากกว่าการถ่ายทอดในรูปแบบวิชาการ"
โดยเนื้อหาที่เผยแพร่ทางเพจ EDU Zoo Say จะใช้เกร็ดความรู้เหล่านี้มาปรับและหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อทำเป็นภาพประกอบลงเพจ ถือเป็นหนึ่งในสื่อการสอนช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดที่นักเรียนไม่สามารถมาสวนสัตว์ได้เหมือนกัน กลอยเล่าขั้นตอนการทำงานให้ฟังคร่าวๆ ว่า "ข้อมูลของสัตว์ อย่างเช่นสถานภาพ จะมีการตรวจสอบก่อนปรรับเปลี่ยนป้ายทุกครั้ง เพราะจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอด เมื่อเราเริ่มทำเนื้อหาอะไรสักอย่าง เช่น ไฮยีน่า เราจะไปดูว่าเขามีความพิเศษอะไร โดยหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ หลายเว็บไซต์ทั้งของต่างประเทศและของไทย นำมาเปรียบเทียบและคัดเลือกข้อมูลที่น่าสนใจ แล้วตรวจสอบว่าข้อมูลเหล่านั้นเชื่อถือได้หรือเปล่า และมีสัตวแพทย์คอยตรวจสอบความถูกต้องด้วยค่ะ"

ตู่เสริมให้ฟังว่า "วัตถุประสงค์ของฝ่ายการศึกษาทั้งภายในสวนสัตว์และช่องทางออนไลน์ต้องการสื่อสารองค์ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ในด้านต่างๆ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความรักและหวงแหนสัตว์ป่า ซึ่งการใช้ทักษะด้านงานศิลปะเชิงสร้างสรรค์นี้ถือเป็นตัวเลือกหนึ่งในการสร้างจินตนาการให้เกิดการเรียนรู้ชีวิตสัตว์ป่าได้ค่ะ" ระหว่างที่เดินชมสัตว์แต่ละประเภทเราจึงได้อ่านข้อมูลที่มีความเชื่อมโยงระหว่างสัตว์ป่าและธรรมชาติอยู่เป็นระยะ
เวทีแสดงศิลปะที่กว้างใหญ่ในสวนสัตว์เปิดเขาเขียว
สำหรับคนที่ติดตามเพจ EDU Zoo Say จะได้เห็นเนื้อหาเกร็ดความรู้ที่มีภาพประกอบและวิดีโอสอนวาดภาพ โดยสัตว์ที่นำมาวาดล้วนมีอยู่ในสวนสัตว์เปิดเขาเขียวทั้งนั้น ความน่าสนใจและน่าสนุกของข้อมูลทำให้เราอยากตามมาพิสูจน์ให้เห็นกับตาว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ รวมถึงการได้มาเห็นความน่ารักของสัตว์ตัวจริงก็ช่วยเติมเต็มจินตนาการได้อย่างดี
กลอยอธิบายแนวคิดในการวาดภาพสัตว์ให้ฟังว่า "ช่วงแรกๆ คิดมาก กลัวว่าวาดแล้วเดี๋ยวไม่เหมือน ตัวจริงไม่ใช่แบบนี้ เมื่อก่อนมีขนโด่ขึ้นมาเส้นเดียวก็จะเอา แต่พอเราวาดภาพประกอบจะทำแบบนั้นไม่ได้ค่ะ ต้องตัดทอนเป็นการ์ตูน แต่ยังคำนึงถึงรูปร่าง สี อวัยวะ และรายละเอียดของสัตว์แต่ละชนิดที่ต้องมีอย่างถูกต้อง

เมื่อเราเดินทางมาถึงส่วนจัดแสดงฮิปโปก็เจอกับ น้าเขียด-สมพงษ์ สวัสดิ์นำ ผู้ทำหน้าที่ดูแล แม่มะลิ ฮิปโปที่อายุมากที่สุดในประเทศไทย ที่ปฏิบัติหน้าที่วันสุดท้ายไปเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2566 กลอยบอกว่าสัตว์ที่เธอประทับใจและอยากวาดเป็นพิเศษตัวหนึ่งก็คือ แม่มะลิ "ไม่รู้ว่าคุณยายเขาจะอยู่ให้วาดได้อีกกี่ปีค่ะ ปี 2567 แม่มะลิอายุ 59 ปีแล้ว หนูวาดครั้งแรกตั้งแต่คุณยายอายุ 52 ปี ก็อยากวาดเขาไปจนถึงอายุ 70 แต่ไม่รู้จะอยู่ไหวหรือเปล่า ตอนนี้ก็เริ่มเดินไม่ค่อยไหวแล้ว" ซึ่งในโอกาสที่น้าเขียดเกษียณกลอยก็วาดรูปให้น้าเขียดเป็นที่ระลึกด้วย "สัตว์บางชนิดดังในโซเชียลมีเดียใช่ไหมคะ แต่กว่าเขาจะดังขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง เขาเดินทางมานาน อย่างน้าเขียนเป็นคนที่ดูแลแม่มะลิมานาน 30 ปี ตั้งแต่ตอนอยู่สวนสัตว์เขาเขียว เขาจะรู้ว่าสัตว์แต่ละชนิดน่ารักด้วยตัวเขาเอง ฮิปโปใครจะรู้ว่าเขาน่ารัก สลอตนอนเฉยๆ ก็น่ารัก"
น้าเขียดที่ทำหน้าที่ดูแลแม่มะลิจนเกษียณไปแล้วก็ยังมาเยี่ยมเยียนแม่มะลิด้วยความคิดถึง
บางครั้งข้อมูลที่เผยแพร่ทางออนไลน์ผ่านเพจ EDU Zoo Say ก็นำพาให้คนเข้ามาพิสูจน์ความจริงของเกร็ดน่ารู้ต่างๆ ที่เกี่ยวกับสัตว์ในสวนสัตว์ รวมถึงกลุ่มนักเรียนที่มาทัศนศึกษาสนใจข้อมูลนั้นด้วยเหมือนกัน "การที่เราโพสต์หรือจัดแสดงข้อมูลสัตว์ทำให้เมื่อเดินทางมาสวนสัตว์ผู้ชมจะมีเรื่องพูดคุยกันและต่อยอดความรู้ได้ค่ะ อย่างเพื่อนกลอยที่มาเขาก็รู้ว่า 'หมีขอกลิ่นเหมือนป๊อปคอร์นนะ' แล้วบางทีนักเรียนเขาก็มายืนคุยกันว่า 'จริงหรือพี่' มันสนุกนะคะ และดีตรงที่เขาสามารถบอกต่อกันได้ เล่าให้คนอื่นฟังได้อีก เรายินดีที่คนที่มาสวนสัตว์เรียนรู้ พูดถึง บอกต่อ นี่คือความสำเร็จขั้นหนึ่งในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่"
นอกเหนือจากภาพวาดสัตว์ฝีมือกลอยที่คุ้นเคยเราเห็นว่ามุมต่างๆ ของสวนสัตว์ก็มีภาพวาดสวยๆ ที่มีฝีแปรงเป็นเอกลักษณ์อยู่อีกหลายจุด "งานพวกนี้ไม่ใช่ฝีมือกลอยค่ะ เป็นป้าเล็ก" ว่าแล้วกลอยก็ขับพาเราไปหาป้าเล็กที่สวนแสดงช้าง


เล็ก-ณัฏฐพัศย์ เตชะวังศรี บอกว่าทำงานอยู่ที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียวมา 16 ปีแล้ว เริ่มจากฝ่ายการเงิน ก่อนที่จะย้ายไปเรื่อยๆ จนอยู่ในตำแหน่งภูมิทัศน์ในปัจจุบัน แต่เพราะผู้ใหญ่เห็นว่ามีฝีมือวาดรูปได้ จึงเริ่มให้เพ้นต์ไข่นกกระจอกเทศเป็นของที่ระลึกขายนักท่องเที่ยว แล้วให้เพ้นต์ฝาผนังตามจุดแสดงสัตว์ชนิดต่างๆ เช่น ผนังโซนฟลามิงโก้ ผนังภายในส่วนแสดงคาปิบารา บริเวณทางเข้าโซนออสเตรเลีย ส่วนแสดงนก เป็นต้น ซึ่งแม้ภาพบางจุดจะเริ่มจางไปตามกาลเวลาแต่ป้าเล็กก็เปิดภาพตอนวาดให้เราชมบรรยากาศการทำงานด้วย
นอกจากส่วนจัดแสดงเรายังเห็นฝีแปรงของป้าเล็กอยู่บนผนังห้องน้ำตามจุดต่างๆ ที่ทำให้บรรยากาศในสวนสัตว์ดูรื่นรมย์มากทีเดียว "ป้าไม่ได้ชอบศิลปะหรอก สมัยก่อนเคยเพ้นต์ลายผ้าก็เลยวาดรูปได้ แต่ไม่เก่งอะไรหรอกนะ" เราเดินตามป้าเล็กไปเรื่อยๆ แล้วก็ถามว่าเวลาวาดวางแผนอย่างไร "คิดอะไรได้ก็วาด ไม่ได้ร่างไว้ก่อนค่ะ" การวาดฟรีแฮนด์ทั้งสีสันและสัดส่วนของป้าเล็กถือว่าไม่ธรรมดาจริงๆ
นกพิราบหงอนวิคตอเรีย (Victoria Crowned-pigeon) ฝีมือการวาดของป้าเล็ก
นกพิราบหงอนวิคตอเรีย (Victoria Crowned-pigeon) ฝีมือการวาดของกลอย
การเดินทางมาเยี่ยมชมสวนสัตว์เปิดเขาเขียวครั้งนี้อาจจะเริ่มมาจากเกร็ดข้อมูลและการสอนวาดภาพสัตว์จากเพจ EDU Zoo Say แต่เมื่อมาถึงสวนสัตว์จริงๆ ก็พบว่าพื้นที่แห่งนี้มีศิลปะแทรกอยู่ในทุกๆ ที่ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ศิลปะเพื่อการตกแต่งหรือการสื่อสารเพื่อให้ความรู้ก็ตาม
"เราเป็นกราฟิกที่จะว่าโชคดีก็โชคดีนะคะ เพราะมีเวทีใหญ่มากเป็นของตัวเอง อยู่ที่จะใช้มันได้คุ้มค่าไหม ซึ่งเราไม่ได้รับหน้าที่ทำงานแค่ตรงนี้ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีหลายฝ่ายหลายสถาบัน หากเราสามารถทำงานตรงไหนได้เขาจะดึงตัวไปช่วยงาน ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของคนทำงาน"
เมื่อจบวันจึงพบว่า EDU Zoo Say เพจที่ใช้ศิลปะบอกเล่าเรื่องสัตว์ ได้พาเราเดินทางไปพบกับพื้นที่ศิลปะที่กว้างใหญ่ในสวนสัตว์เปิดเขาเขียวอย่างที่คาดไม่ถึงมาก่อนเลย
ขอบคุณ สวนสัตว์เปิดเขาเขียวและเจ้าหน้าที่ทุกท่านสำหรับการอำนวยความสะดวกในการเข้าไปถ่ายภาพครั้งนี้