ว่าน ธนกฤต ในวันที่เชื่อว่าการจัดคอนเสิร์ตและงานศพเป็นเรื่องเดียวกัน

    "คอนเสิร์ตกับงานศพคงเป็นเรื่องคล้ายกันในบางมิติ เพราะถือเป็นอีเวนต์สำคัญครั้งใหญ่ และอาจเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิต"

    ว่าน-ธนกฤต พานิชวิทย์ เล่าถึงสิ่งที่ตกตะกอนในช่วงวัยกลางคน ขณะที่ยืนอยู่กลางทางของการเตรียมตัวสำหรับคอนเสิร์ตเดี่ยวในรอบ 9 ปี 'ว่านธนกฤต ลองไทม์โนคอน - Long Time No Con' คอนเสิร์ตที่จะบอกเล่าบทเพลงใหม่ในอัลบั้มชื่อคล้ายกัน อย่าง ลองไทม์โนซอง (Long Time No Song) อัลบั้มที่ว่านบันทึกตัวตนและแง่มุมชีวิตในวัย 39 ปีไว้ และเล่นสนุกด้วยการไม่ปล่อยให้แฟนๆ ได้ฟัง จนกว่าจะมาพบกันในคอนเสิร์ต ซึ่งจะจัดวันที่ 13 กรกฎาคม 2567 ที่ ไบเทค บางนา

     เขาถือเป็นหนึ่งคนที่ยืนระยะในวงการบันเทิงมาเป็นเวลานานและเคยผ่านบทบาทมาแล้วหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักร้อง-นักแต่งเพลง นักแสดง นายแบบ พิธีกร ตลอดจนคนทำคอนเทนต์ในแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่เปลี่ยนวันธรรมดาให้กลายเป็นเรื่องราวน่าประทับใจ ในช่อง Soloist อีกด้วย เหมือนที่เขานิยามตัวเองว่าเป็นนักรับจ้างทั่วไปที่คอยคว้าทุกโอกาสในชีวิต เพื่อเรียนรู้และสนุกกับการพบเจอผู้คนใหม่ๆ อยู่เสมอ

    ในช่วงรอยต่อของเวลา ก่อนที่เขาจะก้าวเข้าสู่การทำงานในปีที่ 20 เช่นนี้ ชายหนุ่มอารมณ์ดีมีความคิด-ความเชื่อ และรักษาความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัวไว้อย่างไร แล้วการทำงานในฐานะ นักรับจ้างทั่วไป เติมเต็มหัวใจการทำงานได้แค่ไหน

    บทสนทนานี้จะพาทุกคนไปสำรวจระยะปลอดภัยในชีวิตของชายผู้ได้ฉายาว่า ว่านไปเรื่อย พร้อมกัน

เล่าถึงเพลงในอัลบั้มลองไทม์โนซองให้ฟังสักหน่อยได้ไหม

    สำหรับเพลงในอัลบั้ม Long Time No Song จะมีทั้งหมด 10 เพลง ห้าเพลงแรกจะเพลงที่เราปล่อยมาเรื่อยๆ ส่วนอีกห้าเพลงช่วงหลังจะเป็นเพลงใหม่ที่ยังไม่เคยปล่อยให้ใครฟังครับ ซึ่งเราก็จะไม่ปล่อย ทุกคนจะได้ยินครั้งแรกในคอนเสิร์ตลองไทม์โนคอน ก็นี่เป็นคอนเสิร์ตของเราหนิ เราจะทำอะไรก็ได้ คุณร้องไม่ได้ไม่เป็นไรนะ เพราะถ้าคุณร้องได้ แปลว่าคุณเอาไฟล์มาจากที่ไหน คุณแปลกแล้ว คุณเป็นคนแปลกมาก ยามต้องล็อกตัวแล้วนะ (หัวเราะ)

    ความพิเศษของอัลบั้มนี้ คือ มีหนึ่งเพลงที่เราแต่งขึ้นและอยากใช้เป็นเพลงในงานศพของตัวเอง ชื่อว่า ฌาธนกฤต เอาจริงๆ การจัดคอนเสิร์ตกับงานศพ คงเป็นเรื่องที่คล้ายกันในบางมิติ เพราะถือเป็นอีเวนต์สำคัญในชีวิตครั้งใหญ่ และอาจเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิต คิดภาพว่า มีเก้าอี้ว่างค่อยๆ ถูกแขกในงานที่ตั้งใจมางานนี้นั่งเติมเต็มจนครบ มันก็ให้ความรู้สึกคล้ายกันแล้วครับ

    ถ้าย้อนไป 9 ปีก่อน เราคงไม่คิดถึงเรื่องพวกนี้ เพราะน่าจะเป็นการเตรียมตัวตายไวไปหน่อย พออายุจะสี่สิบแล้ว รู้สึกว่าเขียนสักหน่อยดีกว่า ถ้าวันหนึ่งป่วยติดเตียงขึ้นมา เขียนไม่ได้อย่างที่หวังไว้คงจะไม่ดี วันนี้เราเข้าสู่ช่วงกลางคนและกลางทางจริงๆ ด้วยวัย 39 ปี วิธีการทำเพลงและคอนเสิร์ตของเราก็เปลี่ยนไป เราทำเพราะเราอยากถ่ายทอด 10 บทเพลงนี้จริงๆ ร่วมกับแขกรับเชิญก็น่าจะเป็นความทรงจำที่ดีเลย

    อ๋อ ผมจะมีหนังสือชื่อเดียวกันปล่อยพร้อมกันในงานครั้งนี้ด้วยครับ

ในฐานะศิลปินที่เขียนเพลงมาทั้งชีวิต การเขียนหนังสือเป็นเรื่องยากสำหรับคุณไหม

    ยากครับ ยากมากๆ ด้วย การเขียนหนังสือเป็นสิ่งที่เราไม่เคยทำได้เลย แต่พอได้เขียนก็รู้สึกดีนะครับ มันก็คล้ายๆ กับการเขียนเพลงนะ ปกติเราย่อเรื่องยาวๆ ให้อยู่ในสามนาที แต่อันนี้เราเรียบเรียงเรื่องยาวๆ ให้มันอ่านรู้เรื่อง

    จริงๆ ในช่วงแรกของการทำงานเคยมีคนชวนทำพ็อกเก็ตบุ๊คนะ แต่เราไม่รู้จะเล่าอะไร ด้วยประสบการณ์ชีวิตที่น้อยเกินไป เรื่องทั่วไปของเรา มันอาจจะมีแค่กินนักเก็ตไม่จิ้มน้ำจิ้ม มันดูกิ๊กก๊อกเกินไป แต่พอเวลาผ่านไปจนถึงวัยกลางคน เรามีประสบการณ์มากขึ้น หนังสือฌาธนกฤตก็จะเล่าถึงเส้นทางในชีวิตของเราตั้งแต่วันที่อายุ 0 ขวบ ตอนนั้นเราจำไม่ได้หรอกว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่เรามีบันทึกของแม่เก็บไว้ด้วย ทำให้เราเห็นว่า เส้นทางที่เราเติบโตมา เราพบเจออะไรมาบ้าง

ในฐานะที่ ว่าน เป็นหนึ่งคนที่มีมิตรภาพดีๆ ในวงการอยู่เยอะ การเลือกศิลปินรับเชิญในคอนเสิร์ตครั้งนี้มีความยากไหม

    เราเลือกจากความเกี่ยวข้องกับตัวเราก่อนเลยครับ เริ่มต้นจากวงเฉลียง พี่เจี๊ยบ (วัชระ ปานเอี่ยม) และ พี่แต๋ง (ภูษิต ไล้ทอง) เป็นสองคนที่มาทำเพลงร่วมกันหนึ่งบทเพลงในอัลบั้มนี้ คือเพลง ดาวเทียม จริงๆ วงเฉลียง เป็นวงที่แม่ชอบและอุ้มเราไปดูคอนเสิร์ตสมัยเด็กๆ พอโตมาก็พบว่า เพลงของเฉลียงมีทั้งสาระและบันเทิงในเพลงเดียวกัน ไม่ได้มุ่งเน้นความฮิต เล่นอย่างที่อยากเล่น แต่งอย่างที่อยากแต่ง เราก็ตัดสินใจเป็นแฟนเพลงเฉลียง และถ้าเป็นไปได้ก็จะไปดูคอนเสิร์ตของวงอยู่เสมอ เราเคยได้ไปเป็นแขกรับเชิญในคอนเสิร์ตของพวกเขาด้วย เราดีใจมาก ตกลงโดยที่ไม่ถามค่าตัวด้วยซ้ำ

    สำหรับ No One Else เพื่อนบ้านที่แสนดีจากค่าย Spicydisc เรารู้จักกันมานานกว่า 10 ปีแล้ว แต่มาสนิทกันเพราะเล่นเกมกับพี่แนตตี้ (จิรุตถ์ ตันติวรอังกูร) แล้วช่วงที่ทำเพลง แล้วคดีฆาตรกรรมในห้องปิดตายก็ถูกคลี่คลายด้วยรอยยิ้มของเธอ พี่ใหม่ (กิติวัฒน์ แสงประทีป) และพี่กุ๊ก (จิตติพล ถาวรกิจ) ก็น่ารักกับผมมากๆ พอ พอมีวาระคอนเสิร์ต No One Else ก็เป็นอีกหนึ่งชื่อแรกๆ ที่ติดสินใจว่าต้องเชิญแน่นอน

    คนต่อมาคือ นนน-กรภัทร์ เกิดพันธุ์ น้องรักของผมอีกหนึ่งคน จากประสบการณ์การเป็นลูกคนเดียวมาตลอดชีวิต เราเปิดรับน้องชายไม่เยอะ นนนเป็นหนึ่งในนั้น เราพบว่าเขาติดตามเพลงของเรามาตลอด มันมีบางบทเพลงของเราที่พาให้เขาผ่านพ้นช่วงเวลาแย่ๆ มาได้ ผมคิดว่ามันคงจะเป็นโมเมนต์ดีๆ ถ้าเราชอบศิลปินคนหนึ่ง เหมือนที่ผมชอบวงเฉลียง แล้วเขาชวนเราไปเล่นคอนเสิร์ตด้วยกัน แล้วน้องน่ารักมาก จริงๆ คืนนั้นน้องต้องบินไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อเตรียมเอเชียทัวร์ แต่น้องก็มา

    ปกติเวลาทำคอนเสิร์ต เราก็อยากมีแขกรับเชิญที่หลากหลาย การมีศิลปินหญิงมาช่วยเติมความสดชื่นให้คอนเสิร์ตก็เป็นเรื่องที่ดี ซาร่าห์ (ศญพร เฮียงโฮม, Sarah Salola) ก็เป็นตัวเลือกแรกๆ ในใจเรา เพราะน้องเคยมาโปรโมทเพลงในช่อง Soloist แล้วเรารู้สึกว่า เชี่ย! ทำไมร้องเพราะขนาดนี้ อยากทำงานด้วยจังเลย ก็บอกน้องไปว่า วันหลังมาอีกนะครับ อยากทำงานด้วยมากๆ มันเป็นเสียงที่เราอยากฟัง

    ส่วนสองคนสุดท้ายเป็นทั้งความสบายใจปนลำบากใจ ทุกครั้งที่มี โอ๊ต (ปราโมทย์ ปาทาน) และ ป๊อป (ปองกูล สืบซึ้ง) บนเวทีจะมีความเป็นกันเองมาก แต่ความไม่สบายใจคือ เรามักจะลืมสิ่งที่เตรียมกันไว้ มีทีมงานถามว่า 'ช่วงของพี่โอ๊ตพี่ป๊อปจะคุยกันยาวแค่ไหน' ผมก็บอกว่า 'พี่ตอบไม่ได้ แต่รู้ว่าไม่สั้นแน่นอน' เพราะมันจะพูดอะไรก็ไม่รู้ ทำสคริปต์ก็ไม่ได้ อย่างตอนสามแยกปากหวาน สคริปต์จะเกิดจากโต๊ะกินข้าว จดเป็นโน๊ตสั้นๆ ให้เราไปซัดกันบนเวที มันเลยเป็นพาร์ทที่น่าจะเละเทะ (หัวเราะ) แต่พอรวมกับคนอื่นๆ ก็น่าจะสนุกกลมกล่อมครับ

มองย้อนกลับไป ว่าน ธนกฤต ในวัยเด็กเป็นเด็กแบบไหน

    ผมเป็นเด็กขี้อายครับ พูดน้อย ไม่ค่อยมีเพื่อนเล่นเพราะเป็นลูกคนเดียว พ่อแม่ไปทำงาน เราก็อยู่กับยาย เหมือนพลอตละครไทยชีวิตเปื้อนฝุ่น (หัวเราะ) อาศัยอยู่ในบ้านที่ไม่ได้ลำบากแต่ก็ไม่ได้สบายขนาดนั้น อยู่ในโรงเรียนก็ไม่ค่อยกล้าคุยกับคน ไม่กล้าพูดหน้าชั้น ไม่ค่อยเล่นกับเพื่อนเท่าไหร่ ชอบเล่นกับจินตนาการของตัวเอง อย่างเราไปเดินในห้างสรรพสินค้า เจอกระเบื้องสีๆ เราก็จะพยายามเดินให้อยู่บนนั้น เพื่อไม่ให้ตกลงไปในบ่อน้ำแห่งกระเบื้องสี มันก็สนุกดีนะ

แล้วมาเริ่มสนใจการแต่งเพลงตั้งแต่เมื่อไหร่

    เราเริ่มจากฟังเพลงตามแม่ ที่บ้านจะมีเทปคลาสเซ็ตเยอะ เราก็เอามาเปิดอ่านดู​ก็พบว่า งานเพลงมันมีตำแหน่งของตัวเองนะ เนื้อร้อง ทำนอง โปรดิวเซอร์ แล้วเราก็เห็นชื่อคนซ้ำๆ อยู่หลายคน เช่น สีฟ้า (นิ่ม-กัลยารัตน์ วารณะวัฒน์) นิติพงษ์ ห่อนาค ชาตรี คงสุวรรณ เราไม่เคยเห็นหน้าคนเหล่านี้เลย แล้วเขาทำเรื่องซ้ำๆ นี้ที่ไหนกันนะ พอเข้าสู่ช่วงมัธยมปลายก็เริ่มเข้าใจว่าเราสามารถเป็นนักแต่งเพลง-นักดนตรีได้นี่นา รู้สึกว่ามันเท่ดีนะ มันเป็นอาชีพที่เราทำงานได้โดยไม่ต้องเจอหน้ากัน ด้วยความที่ตัวเราไม่ได้ชอบเจอคนอยู่แล้ว ก็คิดว่าน่าจะเหมาะกับตัวเอง

    จริงๆ ผมไม่ได้เป็นคนที่ร้องเพลงเก่งเท่าไหร่ เราเกิดและโตมาโดยไม่เคยคิดว่าจะเป็นนักร้อง เราอยากเป็นนักเขียนเพลง เคยฟังบทสัมภาษณ์ของพี่เจี๊ยบ เขาบอกว่า ความเป็นจริงของเฉลียงไม่ใช่การร้องเพลงที่เพราะ แต่เป็นการร้องเพลงแบบเฉลียง อ๋อ เราไม่ต้องเป็นนักร้องที่ร้องเพราะที่สุดก็ได้หนิ แค่เสียงนี้ออกไปแล้วคนรู้ว่า นี่ไง เฉลียง! นี่ไง ว่าน ธนกฤต! แค่นั้นพอแล้ว

เพลงในแบบของ ว่าน ธนกฤต มักมีเรื่องราวแบบไหนอยู่ในนั้น

    สมัยที่เราเป็นวัยรุ่น เรามักจะเล่าเรื่องของตัวเองทั้งบวกและลบ พอผ่านไปสองอัลบั้มก็รู้สึกว่า ใช้เรื่องของตัวเองต่อไปแบบนี้ ไม่น่าจะไหว หัวใจน่าจะบิดเบี้ยว คล้ายกับว่าเราต้องบอกเลิกใครสักคน ทุกครั้งที่จะเขียนเพลงเศร้าเหรอวะ มันเป็นไปไม่ได้หรอก ก็เริ่มสอบถามพี่ๆ นักประพันธ์รุ่นโตกว่า เขาก็บอกว่าเล่าเรื่องของคนอื่นสิ เรื่องของเพื่อนเวลาเขามาปรึกษา มันเป็นวัตถุดิบที่ดีเลยนะ ส่วนเรื่องของตัวเองก็ต้องรอให้เข้มข้นจริงๆ ตกตะกอนแล้วค่อยหยิบมาใช้ แต่ถ้าต้องเดินทางออกไปหาเรื่องคน เพื่อให้ได้งานกลับมา มันคงไม่ถูกต้อง

เพลงที่สะท้อนให้เห็นความเป็น ว่าน ธนกฤต ในเวลานี้

    เลือกยากเหมือนกันนะ เพราะจริงๆ เราก็รักทุกเพลงที่ทำ ถ้าเป็นเพลงที่ยังชอบเสมอมา และรู้สึกว่ายังมีคนนึกถึงอยู่ น่าจะเป็นเพลง นิทรรศการน้ำตา เป็นเพลงปิดอัลบั้ม อโลนเวร่า อัลบั้มแรกหลังจากมาอยู่กับค่าย Spicydisc เป็นเพลงที่บอกว่า ชีวิตมันไม่ง่ายเลย แต่ความสุขอยู่ใกล้ตัวมาก ยิ่งโตยิ่งไม่อยากไปไหนไกล แต่อยากกลับไปเจอคนที่บ้าน เราเขียนตอนจบไว้ว่า มาถึงวันนี้ก็ยังร้องเพลง และไม่ได้ต้องการคนฟังมากนัก แค่มีคนที่นั่งอยู่ตรงนี้ด้วยกันก็พอแล้ว ต่อให้จะเป็นคอนเสิร์ตห้าพันคน หรือมีแค่ห้าคน ถ้าคนคนนั้นยังฟังอยู่ เพลงนี้ก็ยังบรรเลงต่อไปได้

    ส่วนใหญ่ผมจะชอบเพลงสุดท้ายของทุกอัลบั้ม มันไม่ใช่เพลงหวังผลอยู่แล้ว เลยมักจะเป็นเรื่องส่วนตัว อย่างเพลง บริบูรณ์ ในอัลบั้มที่สาม (ASOKE, 2554) ก็มาจากคำว่า จบบริบูรณ์ เหมือนการเลิกราครั้งนี้ไม่มีอะไรต้องเสียใจอีกต่อไปแล้ว

แล้วมาอยู่กับค่าย Spicydisc ได้อย่างไร

    จริงๆ ผมควรจะได้อยู่ตั้งแต่อัลบั้มแรก พี่เต้ง (พิชัย จิราธิวัฒน์) เคยมาชวนให้ไปอยู่ด้วยกันตั้งแต่รายการเอเอฟ (True Acadamy Fantasia) เพิ่งจบ ในวันนั้นเรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพี่เต้งเป็นใคร จำได้ว่าเขาเดินมาตบไหล่แรงๆ ตามสไตล์แล้วก็บอกว่า 'เห้ยว่าน! มาอยู่ค่ายพี่' แต่ตอนนั้นเราติดสัญญาของโครงการอยู่ ชีวิตก็เดินไปตามเส้นทางของมัน มาถึงวันที่เราออกมาเป็นศิลปินอิสระอยู่เกือบสองปี พอมีโอกาสคุยกับพี่เต้ง เขาก็บอกว่า 'ที่นี่ทำงานง่าย อยากทำเพลงประเภทไหน อยากเป็นนักร้องแบบไหน อยากให้คนฟังเห็นเราเป็นแบบไหน ก็ทำเพลงแบบนั้นมาเลย แล้วค่อยมาหารือกันว่าเป็นไปได้ไหม ถ้าทำอัลบั้มเสร็จ เดี๋ยวพี่ทำคอนเสิร์ตให้ด้วย' เพื่อให้คนรู้ว่าเราย้ายมาที่นี่อย่างเป็นทางการแล้ว และมันก็เกิดขึ้นเมื่อเก้าปีก่อนครับ

นอกจากบทบาทการเป็นศิลปินแล้ว คุณยังมีอีกบทบาทคือการทำคอนเทนต์ในช่องทางออนไลน์ด้วย มันเกิดขึ้นได้อย่างไร

    ตอนนี้ช่อง Soloist ก็เดินทางมาถึงปีที่ห้าแล้ว มันเริ่มจากเราเป็นศิลปินยุคไร้ยูทูบ (Youtube) ที่ไม่รู้จักสิ่งนี้เลย คนแรกที่เปิดประตูให้กับเราคือ พี่โค้ดดี้ (อรรถพล โพธิ์หาญรัตนกุล) แกโทรมาชวนทำรายการด้วยกัน นั่นคือรายการนอนบ้านเพื่อน ทำกับ พี่ตู่ (ภพธร สุนทรญาณกิจ) และ ทอม (อิศรา กิจนิตย์ชีว์) พอวันหนึ่งต้องมาทำช่องของตัวเอง เรามองว่ารายการบันเทิงมันเยอะมากแล้ว เราอยากทำเรื่องเชยๆ อย่าง ข่าวช่วยชาวบ้าน ผลไม้เมืองร้อน กระจกหกด้าน เจ้าขุนทอง หรืออะไรพวกนี้ เพราะเด็กๆ น่าจะไม่เคยดูกันนะ งั้นเราเอาสิ่งนี้เข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มที่เขาอยู่ดีไหม

    รายการแรกคือ ประชาชื่น จุดตั้งต้นคือ เราอยากคุยกับคนที่ทำอาชีพที่เราไม่เคยทำ จริงๆ การได้สัมภาษณ์คนที่อยู่ในเส้นทางบันเทิงเหมือนกัน มันก็ดีนะ แต่การสัมภาษณ์คนต่างอาชีพที่เราไม่เคยเข้าใจเลย มันสนุกมากเลย เช่น คนเก็บเงินค่าทางด่วน เขาไม่มีเวลาแม้แต่ขอบคุณและสวัสดีด้วยซ้ำ รายได้เขาก็ไม่ค่อยเยอะ ทำไมเขายังเอนจอยกับมันมา 30 ปีนะ เรารู้ทั้งรู้ตั้งแต่วันแรกนะว่า ประชาชื่นจะเป็นรายการที่ไม่ทำรายได้ให้กับช่อง แต่มันยังเป็นรายการที่เราอยากให้มันมีต่อไป

ไม่ใช่แค่คนแปลกหน้า แต่คุณยังได้ทำงานกับเพื่อนและครอบครัวด้วย เล่าเบื้องหลังให้ฟังหน่อยได้ไหม

    เริ่มจาก มีเพื่อนเมื่อพร้อม เป็นรายการที่ผมทำกับ ทิว (Cactus) มันเป็นคนมีดีเอ็นเอแปลกๆ นะ ที่สำคัญคือมันเป็นเพื่อนผมตั้งแต่มอหนึ่ง ทุกประสบการณ์ชีวิตที่เรามีร่วมกัน ทำให้เราทำงานง่ายมาก พอจุดประเด็นเรื่องหนึ่งขึ้นมา มันคือวันเดียวกัน เรามีภาพเดียวกัน ไม่ต้องบรีฟอะไรเยอะ เช่น ถ้าพูดถึงของเล่นชิ้นหนึ่ง มันแทบจะเป็นชิ้นเดียวกันด้วยซ้ำ 'เออ ก็เคยเล่นนะ แต่เป็นของมึงไง เพราะบ้านกูไม่มี' ตอนแรกทิวก็ไม่เชื่อนะ มันบอก 'มันมีกล้องแล้วผมจะพูดยังไง' 'มึงลองดู' ตอนนี้มันบอกว่า 'ผมประสบความสำเร็จแล้ว ผมพอแล้ว' เชี่ย! มึงสำเร็จเร็วมาก

    ผมว่าคนเรามันจะมีเพื่อนที่คบกันนานกว่า 25 ปีขึ้นไป มันมีนะ แต่ปริมาณอาจจะน้อย ถ้าเราลากมันมาทำงานด้วยกันได้ มันเป็นเรื่องที่สุดยอดเลย

    ส่วน วัยทอง Long Ago เป็นความตั้งใจของผมเอง เราเห็นพฤติกรรมและกิจกรรมที่พ่อกับแม่ชอบทำ มันคือการออกไป Road Trip เหนื่อยตรงไหนก็นอนตรงนั้น จนมีวันหนึ่งเขาแอบไปดูรถบ้าน (Campervan) คือคนรุ่นพ่อแม่เราเหนี่ย จะชอบมัธยัสถ์ในเรื่องไม่เป็นเรื่อง บางทีเราจะจองโรงแรมดีๆ ให้ ส่วนต่างแค่สามสี่ร้อยยังไม่ยอมจ่ายเลย แล้วรถคันละสองล้านจะซื้อหรอ ไม่มีทางหรอก เราเห็นเขาไปดูหลายที่มากๆ จนค่าน้ำมันจะใช้ดาวน์รถได้อยู่แล้ว (หัวเราะ) ทั้งที่เขาเป็นคนสอนเราด้วยซ้ำว่าอย่าลืมค่าใช้จ่ายแฝงนะลูก แต่ตัวเองขับไปดูรถถึงลาดกระบังตั้งกี่ครั้งเหนี่ย ค่าใช้จ่ายแฝงเท่าไหร่

    มันก็เลยเกิดขึ้นเป็นรายการ วัยทอง Long Ago ขึ้นมา ก็ต้องรับสภาพเหมือนกันว่า เราติดลบตั้งแต่วันแรกที่ทำแล้วนะ ต้นทุนค่ารถก็หมดแล้ว เราจะหาเงินสองล้านกว่าบาทมาจากไหน เพื่อให้ครอบคลุมกับรายการที่พ่อแม่เป็นพิธีกร เราต้องวางชุดความคิดนี้ไว้ข้างหลัง และมานั่งคุยกับพ่อแม่ว่าไปดูมากันเยอะใช่ไหม เราเห็นข้อดีคือ มันขับไปเที่ยวได้เรื่อยๆ มีห้องน้ำในตัว ไม่ต้องแวะปั๊มกันบ่อย งั้นเราจะซื้อให้คันหนึ่งนะ เขาก็บ่นๆ แต่จริงๆ ก็อยากได้แหล่ะ ไปดูมาขนาดนั้น

    เราบอกพ่อแม่ประโยคเดียวกับในรายการว่า ไม่ต้องแคร์ว่ามันจะสร้างผลกำไรไหม เพราะแม่เห็นผลประกอบการต่อปีของลูกอยู่แล้วว่าได้เท่าไหร่ ขอให้รายการนี้เป็นเหมือนความประทับใจและไดอารี่เล่มสุดท้ายที่พ่อแม่ทิ้งไว้ให้ลูกดูในออนไลน์แล้วกัน เผื่อวันข้างหน้า เรามีลูกแล้วพ่อแม่อยู่ไม่ทันหลาน เขาจะได้เห็นว่า ปู่กับย่าแม่งเท่มาก 'เขาเฟี๊ยวขนาดนี้เลยหรอครับพ่อ' วันนั้นเราคงจะมีความสุขมาก แล้วมันก็ออกมาเป็นแบบนั้นจริงๆ นะ พอเทปแรกตัดเสร็จ เราก็ให้พ่อกับแม่ดู เขาก็ตกใจที่มันออกมายอดเยี่ยมขนาดนี้ เพราะเขากังวลกับการออกไปถ่ายโดยที่ไม่มีเรา รันสคริปต์หลวมๆ กันเอง โดยมีทีมงานตามไปถ่ายแบบสบายๆ แต่ฟุตเทจเยอะมากนะ (หัวเราะ)

พูดถึงคุณพ่อคุณแม่แล้ว คุณคิดว่าตัวเองเหมือนใครมากกว่ากัน

    มันก็ผสมๆ กันนะ อย่างแม่จะเป็นคนฉะฉาน ผมจะเหมือนแม่ในมุมนี้และการทำงาน แม่ผมเป็นคนทำงานเก่ง ทำงานหนักมาตลอดตั้งแต่สมัยสาวๆ อย่างเคยมีวันที่ลูกค้าเข้ารายการ วัยทอง Long Ago แม่ก็จะเป็นคนจัดการเรื่องสคริปต์ได้อย่างดี ส่วนพ่อจะเป็นสายซัพพอร์ต เป็นผู้ตามที่ดี เป็นซุปเปอร์พ่อบ้านเหมือนอัลเฟรดในเรื่องแบดแมน ถ้าบ้านไม่มีพ่อ ต้นไม้จะรุงรังมาก พ่อก็จะเป็นคนสวน เป็นช่างประจำบ้าน เป็นแฟนที่ดีของแม่ และเป็นพ่อที่ดีของลูก จริงๆ พ่อไม่ได้ชอบไปเที่ยวนะครับ เขาแค่อยากไปดูแลแม่ แค่อยากไปดูแลแฟนของเขา

    แล้วพ่อก็เป็นคนอยู่ง่าย เราก็จะได้ความอยู่ง่ายมาจากเขา พ่อผมสอนตั้งแต่เด็กว่า 'กินง่าย อยู่ง่าย ตายยากนะลูก' แล้วเขาก็จะให้เราลองกินอะไรไม่รู้ไปเรื่อย อย่างช่วงปิดเทอมเคยลงไปอยู่ภาคใต้กับเขาสั้นๆ เมนูแรกที่เขาให้กินคือ กระรอกผัดเผ็ดมั้ง (หัวเราะ) แล้วพ่อก็เป็นคนไม่ค่อยเจ็บป่วยจริงๆ นะ กลับกัน แม่จะเป็นสายชีวจิต กินผักปั่น กินดีนะ แต่ป่วยบ่อยกว่าพ่อ

ชีวิตและการทำงานตลอด 20 ปี จากวันที่อายุ 19 ถึง 39 ปี มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปไหม

    ในวัย 39 ปี เราจะมีฟิลเตอร์ในการคัดกรองงานจากประสบการณ์ค่อนข้างเยอะ เรามีทั้งงานที่อยากทำและไม่อยากทำ ทำเป็นและทำไม่เป็น ทำได้ดีและทำได้ไม่ดี มันจะมีมาตรวัดของมันอยู่ วันนี้มันก็จะเหลือเฉพาะงานที่ทำแล้วน่าจะออกมาโอเค และเราคงมีความสุขไปกับมัน เพราะเราเป็นคนเลือกมันเอง

    ผมเชื่อว่าคนเราเปลี่ยนทุกสิบปี ห้าปีเราอาจจะเปลี่ยนตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่สิบปีเป็นเวลาที่เราจะเปลี่ยนแปลงทางความคิดและกายภาพ ตอนเพิ่งจะสามสิบเราอาจจะเป็นคนซิ่งกว่านี้หน่อย คิดว่าวันหยุดไม่จำเป็นเท่าไหร่ แต่พอกำลังจะอายุสี่สิบปี น้ำหนักในการให้ความสำคัญกับสิ่งต่างๆ ก็เปลี่ยนไป วันหยุดมันสำคัญเท่ากับวันทำงานเลยนะ การได้กินมื้ออาหารอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาสำคัญเท่ากับการทำงานเลย

    หรือช่วงอายุราวๆ 25 ปี เราจะชอบเจอคนแปลกหน้า อยากทำงานกับคนใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำ พอยิ่งโตขึ้นมาอีกเราก็เริ่มอยากทำงานกับคนที่เด็กกว่าเราบ้าง เพราะเจนเนเรชั่นเริ่มผลัดเปลี่ยน มันมีเรื่องที่เราไม่เข้าใจเพิ่มมากขึ้น มันเริ่มเข้าสู่ยุคที่เราต้องรับไหว้คนแล้ว สมัยก่อนอาจจะยกมือไหว้ ที่เคยแซวรุ่นพี่ในวงการไว้ว่าอยู่มานานจังเลย วันนี้มันถึงคิวของกูแล้วสินะ (หัวเราะ)

คุณคาดหวังอะไรจากการทำงานหนึ่งชิ้น เพลงหนึ่งเพลง หรือ รายการหนึ่งรายการ

    ผมมองว่า งานที่ทำอยู่อาจจะไม่จำเป็นต้องสร้างคุณค่าหรือส่งมอบอะไรบางอย่างให้ทุกคนเสมอไป ขอแค่ผู้ที่สร้างงานนี้รู้ว่า ตัวเองกำลังตั้งใจทำอะไรอยู่ บางคลิปบางเพลงอาจจะต้องมอบประโยชน์และพาเขาไปสู่ประตูที่ดี แต่อย่างบางเพลง เช่น รถเสียเมียหาย ที่ทำกับทิว มันไม่มีประโยชน์นะ แต่มีความสุข และอาจเป็นความสุขของเราแค่สองคนด้วยซ้ำ คนฟังอาจจะงงว่า อุ้ย เพลงอะไรมีคำว่าพ่อตายด้วย หรือเพลง รีเจนสู้ ตอนเขียนขึ้นมาก็ไม่คิดว่ามันมีประโยชน์ แต่สักพักมันเกิดประโยชน์กับผู้บริหารหลายคน เวลาที่เราไปเล่นในงานเลี้ยงภายใน เขาก็มักจะขอขึ้นมาร้องเพลงนี้เพื่อปลดปล่อย 'เอาจริงหรอพี่ พี่เพิ่งกล่าวเปิดงานบนเวทีไปเองนะ พี่จะขึ้นมาร้องเพลงนี้ เอาเนคไทด์คาดหัวจริงๆ เหรอ' (หัวเราะ) สนุกดีนะ ก็เลยตกตะกอนได้ว่า อ๋อ งานบางชิ้นมันคงมีประโยชน์สำหรับบางคนมั้ง

ตลอดชีวิตการทำงานคุณทำมาหลายบทบาท แล้วแก่นแท้ความเป็น ว่าน ธนกฤต ในวันนี้คืออะไร

    ผมชอบโมเดลรับจ้างทั่วไปนะ มันดูมีความพร้อมรับโอกาสใหม่ๆ ตลอดเวลา มีความยียวนกวนประสาท มีความอ่อนน้อมถ่อมต้น ภายใต้โมเดลของรถกระบะคอกทึบที่ติดคำว่า รับจ้างทั่วไป แล้วก็แนบเบอร์ไว้ ให้คนสงสัยว่า 'จริงหรอวะ เขาทำอะไรได้บ้างวะ เขาทำได้ทุกอย่างเลยหรอ' มองอีกมุมมันก็ดูเรียบง่ายดีนะ วันไหนไม่มีงานก็จอดไว้ตรงนั้น วันไหนมีงานก็ค่อยออกไปทำ
ถ้าถามว่ามีอะไรที่อยากทำอะไรอีกไหม วันนี้ผมคงตอบว่าอยากทำแบบเดิม เรามีความสุขของการได้ทำงานนี้ซ้ำๆ อยู่ ได้ทำเพลง ทำคอนเสิร์ต เพราะมันเป็นงานที่เราเลือกมาแล้วว่า เราอยากทำมันซ้ำๆ

ถ้าคุณสามารถบอกอะไรก็ได้ให้ทุกคนฟังหนึ่งเรื่อง คุณอยากจะบอกทุกคนเรื่องอะไร

    จริงๆ แล้วผมไม่ได้เป็นคนเก่ง อย่างที่บอกว่าผมเป็นนักร้องไร้ทฤษฎี ผมไม่รู้หรอกว่าต้องร้องยังไงให้เพราะกว่านี้ เราอยากร้องแบบไหน เราก็ร้องแบบนั้น ผมเป็นคนโชคดีและได้รับโอกาสที่ดี การที่ผมเดินทางก้าวสู่ปีที่ยี่สิบได้ มันเป็นเพราะคนที่โคจรรอบตัวเรามากกว่า ทั้งผู้หลักผู้ใหญ่ เพื่อนพี่น้อง ที่ทำให้จักรวาลของเรามันขับเคลื่อนไปได้ตลอดเวลา ผมแค่กระโดดจับราว เพื่อคว้าทุกรถไฟแห่งโอกาสที่ผ่านเข้ามาไว้ ด้้วยความคิดที่ว่าอยากลองทำดู

คุณวางแผนบั้นปลายชีวิตของตัวเองไว้แบบไหน

    ด้วยช่วงวัยและการไปบวชเรียนเพิ่มเติม ทำให้เราได้เก็บเกี่ยวชุดความคิดของชายวัย 40 ปีที่กำลังจะก้าวเข้าสู่พรีเมียร์ลีกของชีวิต เราอยากเป็นคนที่ ถ้าไม่ได้ทำประโยชน์ให้ใครเยอะ ก็อย่าไปเอาของใครมาเยอะ อยู่ให้ตัวเราไม่เป็นภาระของโลก ของสังคม อยู่คนเดียวให้เก่ง เบียดเบียนคนอื่นให้น้อย อยากสร้างงานก็สร้าง โดยไม่ต้องคาดหวังว่าจะประสบความสำเร็จแค่ไหน ถ้าร้องเพลงไม่ไหวแล้ว แค่ได้ทิ้งหนังสือไว้หนึ่งเล่ม แค่นี้ก็โอเคแล้ว

การไปบวชเรียนในช่วงวัยนี้ให้อะไรกับคุณบ้าง

    เหมือนเราได้จอดตรงจุดพักมอเตอร์เวย์ เราได้พักจากความเร็วของโลก ทิ้งพนักงานไว้ที่ออฟฟิศ ทิ้งพ่อแม่ไว้ที่บ้าน ดูแลแค่บาตรกับจีวรพอแล้ว และการไม่ต้องจับโทรศัพท์ตลอดหนึ่งเดือน มันสุดยอดมากๆ เลย ร่างกายเราฟื้นฟูเร็วมาก แค่เพียงเรานอนเร็ว ตื่นเช้า โดนแดด ออกกำลังกาย ไปบิณฑบาตร พอกลับมาแล้วไฟแรง นี่เพิ่งเขียนเพลงเสร็จไปหนึ่งเพลง เนื้อหาใจความคือ มันมีอะไรหลายอย่างที่ทำให้เรานอนหลับได้ ไม่มีเธอตรงนั้นเราก็หลับได้ ต่อให้มีเรื่องอะไรผ่านเข้ามา เราก็นอนหลับได้ ถือเป็นอีกขั้นหนึ่งที่ก้าวผ่าน ฌาธนกฤต ไปแล้ว ...แต่วันที่เราคุยกันอยู่ ยังไม่มีใครได้ฟังอัลบั้มชุดที่ห้าเลยนะ (หัวเราะ)

Favorite Something
  •   Star War, Mr.Bean
  •   Friday - ไม่ว่าเธอจะรักฉันหรือไม่, โตน โซฟา - พี่ชาย
  •   ตรัย ภูมิรัตน - จิ้งหรีดแห่งเมืองสีเทา, คู่มือพระนวกะ
  •   พ่อและแม่

นิษณาต นิลทองคำ

กองบรรณาธิการที่กำลังใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน ชอบคุยกับผู้คน ท้องฟ้า และเสียงดนตรี เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการฟังเพลง ที่บางทีก็ปล่อยให้เพลงฟังเรา

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพผู้ชื่นชอบการวาดรูปและรับงานวาดภาพประกอบบ้างประปราย เธอมีความตั้งใจกับตัวเองว่าจะออกไปเที่ยวนอกประเทศให้ได้ปีละครั้ง