หญิงสาวคนนี้ชื่อ ปอย-กฤตชญา ทวิชศรี-กรานาติ เธอเป็นเจ้าของสตูดิโอเล็กๆ ในนิวยอร์กที่ชื่อว่า Summer Space Studio ซึ่งเป็นสตูดิโอที่สร้างและสอนงานดอกไม้กระดาษ
แต่เดิมนั้นปอยเป็นหญิงสาวที่ไม่ชอบดอกไม้ แต่ปัจจุบันเธอทำสตูดิโอสร้างงานศิลปะดอกไม้กระดาษอยู่ในมหานครของนักล่าฝันอย่างเมืองนิวยอร์ก …และมันกำลังไปได้ดีเลยทีเดียว
เรานัดคุยกับปอยที่หอศิลปกรุงเทพฯ ในช่วงที่เธอกลับมาเยือนเมืองไทยในระยะเวลาสั้นๆ ก่อนจะกลับไปทำงานของเธอที่นิวยอร์กต่อ ปอยพกผลงานของเธอที่เพิ่งได้จากการสอนเวิร์กช็อปมาฝากเรา ทำให้เราได้เห็นรายละเอียดอันสวยงามของดอกไม้กระดาษแบบที่เธอทำอยู่ และเมื่อเห็นชิ้นงาน เราก็พบว่ามันมีรายละเอียดที่น่าสนใจและสวยงามมาก
เป็นความงามที่ไม่มีวันเหี่ยวเฉาโรยรา
ปอยเริ่มต้นเล่าเรื่องของเธอว่า เธอเรียนจบด้านวารสารศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนจะไปทำงานด้านเอเจนซี่โฆษณาในตำแหน่งเออี (Account Executive) เธอเริ่มรู้ตัวว่าสนใจงานสร้างสรรค์เพราะชอบไปขลุกอยู่กับพี่ๆ ครีเอทีฟ
"ไม่รู้ตัวว่าชอบด้านศิลปะ คือตอนที่ดีลงานกับลูกค้าก็รู้สึกว่าทำได้ แต่พอไปแฮงค์เอาท์กับพี่ๆ ครีเอทีฟชอบไปนั่งดูว่าเขาทำอิลัสเตรเตอร์ยังไง ชอบไปคุยกับพี่ที่เป็นครีเอทีฟ ไดเรกเตอร์ ว่าเขาคิดไอเดียยังไง จำได้ว่าตอนเด็กๆ ปอยก็ชอบวาดรูปทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ อยู่แล้ว แต่ก็ไม่นึกว่าจะไปเรียนทางด้านมัณฑศิลป์ หรือสถาปัตย์ ไม่เคยคิดเลยค่ะว่าตัวเองเป็นคนเก่งด้านอาร์ต แต่พอช่วงทำงานเอเจนซี่เสร็จเราก็รู้สึกอยากจะลองด้านอาร์ตอยู่ ซึ่งก็จะเป็นพวกกราฟิกดีไซน์ ทีนี้ประจวบกับที่เบื่อเมืองไทย อยากจะไปเมืองนอก อยากจะลองดูว่าเป็นยังไง แล้วพอดีมีป้าอยู่นิวยอร์ก พ่อเลยบอกว่าถ้าไปเนี่ย ไปอยู่กับป้าแบบไม่ต้องเสียค่าเช่าบ้านก่อนแล้วกัน" เธอหัวเราะ "ก็เลยจะไปลองดูสัก 6 เดือนค่ะ ก็เลยไปเทคคอร์สกราฟิกดีไซน์ที่ Pratt Institute เขาก็จะมีคอร์สลักษณะสั้นๆ ก็เรียน Illustrator, Photoshop ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ เอ๊ะ! จะเอายังไงต่อกับชีวิตดี ทีนี้ก็มารู้ตัวเองว่าเริ่มชอบเรื่อง Branding เริ่มชอบเรื่อง Web Design ทีนี้ก็เลยหาทางนี้เรื่อยมาๆ"
ช่วง 6 เดือนแรกในนิวยอร์ก ปอยใช้เวลาว่างไปดูงานศิลปะตามมิวเซียมและแกลเลอรี่ต่างๆ รวมทั้งพบเจอผู้คนหลายๆ แบบ เพื่อค้นหาพื้นที่ที่เหมาะสมกับตัวเอง
"รู้สึกว่าตัวเองไม่ชอบงานศิลป์ที่คิดเยอะ แบบอิมเพรสชั่นนิสต์ (Impressionist) คือไป MoMa (Museum of Modern Art) จะไม่เก็ท แต่ไป MET (The Metropolitan Museum of Art) ที่เป็นงานประวัติศาสตร์จะโอเค ...คือถ้าไปดูงานแวนโก๊ะ (Van Gogh) จะไม่ได้อินเบอร์นั้น ให้ไปดูเรื่องสีก็พอได้ แต่ถ้าฝั่ง MET จะถูกจริตเรามากกว่าค่ะ"
ช่วงนั้นปอยเรียนเรื่องกราฟิกดีไซน์โดยพยายามใส่เรื่องแบรนดิ้งที่ตัวเองสนใจเข้าไปด้วย เธอเอาทักษะของงานเออีที่เคยทำมาผสมผสาน โปรเจกต์หนึ่งที่เธอทำในตอนเรียนคือการลองรีดีไซน์เว็บไซต์ของ Long Island Railroad
"Long Island Railroad ซึ่มันเป็นเหมือนรถไฟที่จากนิวยอร์ก ไป ลอง ไอส์แลนด์ จริงๆ คือตอนนั้นปอยมีแฟนอยู่ ลอง ไอส์แลนด์ ก็เลยนั่งบ่อยมาก (หัวเราะ) จากในเมืองที่ เพนน์ สเตชั่น (Penn Station) ก็นั่งไปเจอแฟนทุกอาทิตย์ แล้วก็รู้สึกว่าแบบ ทำไมการซื้อตั๋วมันยากจัง รู้สึกว่ามันดูแล้วมันงงค่ะ พอดูระบบตั๋วแล้วคิดว่ามันต้องมีอะไรที่ง่ายกว่านี้สิ ไม่ใช่แค่เรื่องดีไซน์แต่ว่าขั้นตอนการกดหาตั๋ว การเปลี่ยนชานชาลาว่าจะไปยังไงต่ออะไรด้วย ก็จะเป็นโปรเจกต์ที่ตอนนั้นทำแล้วก็ใช้ยื่นเข้าเรียนต่อปริญญาโทด้วย ก็เลยภูมิใจว่าชอบงานนี้จังเลย เพราะเราไม่ได้ดึงแค่ดีไซน์หรือแบรนดิ้งอย่างเดียวแต่ว่าเป็น UX (User Experience) ด้วย เลยไปเรียนต่อโทด้าน Interactive Telecommunications Program (ITP) ซึ่งเขาไม่ได้สนใจว่าใครมีแบ็กกราวน์แบบไหน มีเพื่อนร่วมเรียนทั้งที่เป็นครู เป็นดีเจ หรือว่าเป็นทนายมา คือเหมือนทุกคนนำสิ่งที่ตัวเองเป็นมาก่อน มารวมกับเทคโนโลยี เช่นอยากจะมาทำ UX จะเอา Coding มารวมกับ Projection Mapping ได้ยังไง หรือจะใช้เรื่อง data มาพรีเซนต์เรื่องอาร์ตยังไง คือมันไม่จำเป็นต้องเป็นอาร์ตก็ได้"
เธอเล่าถึงเรื่องการเรียนของเธอที่นิวยอร์กด้วยความสนุกสนาน แต่ปอยก็ขยายให้เราฟังด้วยว่าตอนต้องเรียนกระทั่งเรื่องโคดดิ้ง (coding) และการต่อและบัดกรีสายไฟซึ่งถือว่ามาไกลจากด้านที่เธอเรียนปริญญาตรีไม่น้อย
และการเรียนโทที่ NYU นี่เองที่ทำให้เธอได้เจอกับคลาสเรียนคลาสหนึ่งที่ชื่อว่า 100 Days of Making
"ตอนแรกปอยคิดว่า คลาสนี้มันน่าสนใจนะ ก็เลยชวนเพื่อนสนิทสองคนลงเรียนด้วยกัน บอกเพื่อนว่าเนี่ย...มันจะต้องดีกับเรามากแน่ๆ เลย" เธอหัวเราะ "คือสนใจเรื่องการสร้างวินัย เรื่องการเปลี่ยนนิสัย แต่พอถึงเวลาปอยก็มาคิดว่า แต่ว่าทำไมชั้นต้องมาจ่ายตังค์เพื่อให้คนบอกชั้นต้องทำอะไรในหนึ่งร้อยวันนะ ทำไมชั้นทำเองไม่ได้ ก็เลยดร็อปเรียนคลาสนั้นไป" เธอหัวเราะอีก "ส่วนเพื่อนสองคนก็เรียนจนจบ แล้วเขาก็มาบอกว่า 'This class changed my life'" ปอยหัวเราะอีกครั้ง "เราก็คิดว่านี่มันเวอร์หรือเปล่า แล้วช่วงนั้นมันเป็นช่วงเรียนจบพอดี แล้วเราก็เห็นว่าคนอื่นได้งานกันหมด แล้วปอยหางานยากมาก เป็นช่วงแบบมี self-doubt เยอะ รู้สึกว่าทำไมเพื่อนคนอื่นเก่งจัง เราไม่เก่งพอ ก็มี self-sabotage เยอะมาก แล้วก็ suffer มากๆ ด้วย"
ปอยหางานด้าน UX ทำอยู่นานแต่ยังไม่ได้งาน บางครั้งเธอรู้สึกว่าตัวเองยังพยายามไม่มากพอ แต่บางทีเธอก็คิดว่าตัวเองเหนื่อยมากเหลือเกินแล้ว
"ประมาณ 6 เดือนแรกเราก็ซัฟเฟอร์มาก พอดีได้คุยกับเพื่อนคนที่บอกว่า This class changed my life จำได้เลยว่าอยู่บนชั้นดาดฟ้า ของเพื่อนและแบบนั่งมองแมตฮัตตันแล้วคิดว่า 'ชั้นมานั่งทำอะไร' แบบร้องไห้เลย คืออุตส่าห์เรียนจบแล้ว ให้พ่อแม่ส่งเงินมาแล้วแบบเสียเปล่าหรือเปล่า เพื่อนก็เลยบอกว่า 'นี่ ถ้าคุณมีเวลาตรงนี้ เอาเวลาไปทำ 100 days ไหม ไม่งั้นก็จะเครียดอยู่อย่างนั้น' คือตอนนั้นเราคิดทุกวัน รีเฟรชอีเมลทุกวัน ว่าเมื่อไหร่จะได้งาน อยู่ไปก็เครียดนะ ก็เลยตัดสินใจเริ่มจากการที่ว่าโจทย์ของการทำอะไรหนึ่งร้อยวันติดต่อกันที่ มันจะมีกรอบของมันว่า ให้เลือกอย่างนึงที่เราสามารถทำได้ทุกวัน เธอตัดสินใจเรื่องทำดอกไม้กระดาษ
"โจทย์มันให้เราคิดแค่ว่า อยากทำอะไรที่ตัวเองตั้งใจอยากทำมาตั้งนานแล้วแต่ยังไม่เคยได้ทำสักที จริงๆ แล้วปอยเป็นคนชอบกระดาษ ชอบวาดเขียน ชอบทำสมุดบันทึก ระบายสีเล่นๆ คือเป็นคนเขียนไดอารี่มาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว ชอบงานกระดาษ อย่างพวกสติกเกอร์หรือโปสเตอร์นี่ชอบมาก ชอบโอริกามิ แล้วอีกฝั่งหนึ่งคือชอบสีด้วย คือด้วยความที่ปอยทำแบรนดิ้งหรือทำ UX ก็จะชอบจับคู่สี ชอบอะไรที่มันเป็นธีม ชอบแพกเกจจิ้งสวยๆ ทีนี้พอรู้ตัวว่าเราชอบสี เราชอบกระดาษก็เอามารวมกัน เอ๊ะ! สื่อชิ้นงานมันคืออะไร จริงๆ ตอนนั้นก็ยังคิดไม่ออก ก็เลยเริ่มจากที่เอางานกระดาษก่อนละกัน ก็เลยตั้งว่าจะทำดอกไม้กระดาษหนึ่งร้อยวัน ที่นี้ก็ทำเลยค่ะ ปรากฎว่าใช้เวลา 8 ชั่วโมงนั่งทำแคคตัสกระดาษ แล้วก็ไปหากระดาษที่ดีที่สุด พยายามจะให้มันเพอร์เฟกต์ ทีนี้พอทำไปประมาณสักอาทิตย์นึงเพื่อนก็บอกว่า 'เธอ แบบนี้น่ะมันไม่ใช่หลักนะ มันไม่ยั่งยืนเลย …เป็นไงล่ะ ไม่ยอมเข้าคลาสก็เลยไม่รู้' คือมันต้องเป็นอะไรที่ใช้เวลาไม่เกินวันละ 30 นาทีหรือ 1-2 ชั่วโมงน่ะค่ะ" เธอเล่าพลางหัวเราะ
"คือก่อนหน้านี้ปอยเป็นคนที่ติดความสมบูรณ์แบบมาก…มากจนเป็นผลเสียกับตัวเอง เพราะว่าอยากให้งานมันเพอร์เฟกต์ อยากให้งานออกมาดีจนพอมันไม่เสร็จก็ไม่ทำแล้ว เพราะมันรู้สึกไม่ดี ก็เลยเป็นคนทำอะไม่เสร็จไปโดยปริยาย ทีนี้พอมาทำโปรเจกต์นี้ปอยก็เริ่มจากการคิดการใหญ่อีกแล้ว ฉันจะต้องเป็นศิลปิน คิดโปรเจกต์แต่ละอันจะต้องดีจนมันใช้เวลามากไป"
เธอตั้งหลักใหม่อีกครั้งโดยกำหนดโจทย์ให้ง่ายขึ้น ปอยหาเรเฟอเรนซ์ดอกไม้กระดาษไปเรื่อยๆ จนมาเจอการทำดอกไม้กระดาษที่มีลักษณะย่นๆ และบางๆ โดยใช้วัสดุที่เรียกว่า Italian Crepe Pape เธอตามหากระดาษชนิดนี้จนเจอ แล้วเริ่มต้นทำดอกไม้กระดาษวันละดอก
"ตกลงกับตัวเองว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน ทำทีละดอก หรือถ้าดอกนี้วันนี้ทำแล้วยังไม่สวย วันต่อไปก็จะทำดอกเดิมแต่เป็นเวอร์ชั่นใหม่ ทีนี้พอทำไปสักประมาณน่าจะวันที่ 80 ก็มีเพื่อนเห็น เพราะว่าปอยโพสต์ในอินสตาแกรมทุกวันด้วย คือคลาสนี้เขาจะให้เราโพสต์ลงบล็อกหรืออินสตาแกรมด้วยนะคะ เหมือนเป็นการรีเช็กตัวเอง ทีนี้ก็มีเพื่อนมาขอให้ทำดอกไม้กระดาษให้เขา บอกว่า 'ฉันอยากจะส่งของให้ผู้หญิงที่อีกรัฐหนึ่ง' ปอยก็ประหลาดใจว่าสิ่งนี้ทันทำเงินได้ด้วยเหรอ" เธอหัวเราะเบาๆ "ประจวบกับตอนนั้นก็ยังไม่มีงาน ก็ยังเครียดเรื่องเงิน แต่สิ่งนี้มันทำเงินให้เราได้! ตอนนั้นจำได้ว่าเพื่อนบอกว่าให้คิดตังค์มาเลย จำได้ว่าเราทำดอกพิโอนี 5 ดอก ทำอยู่ 16 ชั่วโมง ก็คือทั้งวีคเอนด์เลย ปอยก็คิดราคาไป 47เหรียญ ซึ่งเพื่อนก็โอเค" เธอหัวเราะสนุก
ผลงาน 100 Days of Making ของกฤตชญา
และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอมองเห็นหนทางบางอย่าง พอใกล้ครบ 100 วัน ปอยก็เริ่มวางแผนสร้างพอร์ต ด้วยความที่เธอถ่ายรูปได้ ทำเว็บไซต์ได้ เธอจึงลองทำเว็บไซต์เล็กๆ ลงภาพดอกไม้จาก 100 วันของเธอเอาไว้ด้วย
"พอจบ 100 วันปอยก็ได้ไปคุยกับเพื่อนแก๊งเดิมที่เรียนมาด้วยกัน ซึ่งจริงๆ เพื่อนสองคนที่เรียนมาด้วยกันตอนนั้นเขาน่าจะทำ 100 Days of Making คนละหลายครั้งแล้ว คือทำจบก็มีโปรเจกต์ใหม่เรื่อยๆ ซึ่งปอยชื่นชมเขามาก เขาถามว่าเรารู้สึกอย่างไรกับมันบ้าง เราก็ตอบว่ารู้สึกว่าเจอสิ่งที่รักแล้ว คือปอยพบว่าตัวเองชอบทั้งเรื่อง UX และเรื่องดอกไม้กระดาษด้วย ก็เลยคิดว่าจะมุ่งไปด้านนี้ดู ปอยก็เลยหาโอกาสไปสอนทำ เป็นเวิร์กช็อปแบบป๊อปอัพ หรือหาร้านที่เขาอยากให้เราไปร่วมงาน เราก็เริ่มคิดแตกสายงานไปเรื่อยๆ แต่คิดว่าเริ่มจากสอนก่อนแล้วกันเพราะง่ายสุด จนไปเจอสตูดิโอหนึ่งอยู่ที่นิวยอร์กที่เขาทำคลาสพวกสีน้ำ หรือวาดรูปต่างๆ ก็ไปคุยกับเขาว่าเรามีทักษะเรื่องนี้นะ สนใจให้เราไปสอนไหม ก็เริ่มสอนเลย แล้วเรามีพอร์ตอยู่แล้ว มีดอกไม้ให้เขาดูอยู่แล้ว ก็เดินไปทั่วเมืองเลยค่ะ ตามถนนต่างๆ ในนิวยอร์ก เข้าไปถามผู้จัดการร้านว่าเรามีสิ่งนี้ ร้านคุณมีอะไรที่ทำด้วยกันได้ไหม ด้วยความที่เราเคยเป็นเออีมาก่อน ก็คิดว่าเขาต้องมีแผนรายปี หรือแผนสำหรับวันหยุด ตอนนั้นช่วงปลายปีพอดี ไปถามก็ผิดหวังบ้าง แต่คิดว่าถ้าผิดหวังร้านนี้ นิวยอร์กยังมีอีกเป็นพันๆ ร้านน่ะ" ก็เดินเข้าเดินออก แล้วก็ถามเพื่อนๆ ด้วย จนเริ่มมีงานสอนทำดอกไม้กระดาษ"
ราวสองเดือนหลังจากที่เริ่มต้นชีวิตศิลปินทำดอกไม้กระดาษ เธอก็ได้งานประจำด้าน UX ที่ตามหามานาน กลายเป็นว่าวันธรรมดาเธอก็ทำงานประจำที่เธอชอบ และวันเสาร์อาทิตย์ก็ทำงานสอนดอกไม้กระดาษที่เธอชื่นชอบเช่นกัน
ปอยใช้ชีวิตการงานแบบเต็มที่และมีความสุขอยู่ราวปีครึ่ง โรคระบาด โควิด 19 ก็มาถึง ชีวิตเธอเปลี่ยนอีกครั้ง เธอโดนให้ออกจากงาน UX ที่เธอรัก
"เป็นงานที่บริษัทดีมาก ทีมดีมาก คือปอยได้ทำที่ Estee Lauder แล้วเป็นแบบ Global Office แล้วทำ UX ซึ่งเป็นอะไรที่เหมือนความฝัน ชอบงานนั้นมาก" หญิงสาวเน้นเสียงพลางยิ้มกว้าง "แต่จำได้ว่าตอนที่เขาจะเริ่มเลย์ออฟก็คิดในใจว่าเรารู้อยู่แล้ว เพราะเราเป็นพนักงานแบบเซ็นสัญญาอยู่คนเดียวในทีม คนอื่นเป็นพนักงานประจำ ก็คิดว่าเราโดนก่อนแน่เลย แต่ตอนที่รู้ก็ไม่รู้ทำไมรู้สึกโชคดีที่ตัวเองมีสิ่งนี้ คิดว่าในใจว่า อุ๊ย! ชั้นจะได้ทำสตูดิโอฟูลไทม์แล้วนะ!" เธอหัวเราะสนุก "ครึ่งหนึ่งแอบดีใจ ครึ่งนึงก็คิดว่าจะเอาเงินที่ไหนใช้นะ แต่ก็โชคดีอีกแหละที่สามีเป็นหมอทางโควิดเลย" เธอหมายถึงคนรักที่แต่ก่อนอยู่ที่ลองไอส์แลนด์ที่เธอต้องนั่งรถไฟไปหาบ่อยๆ
"คือเขาเป็นหมอด้านปอด เพราะฉะนั้นพอโควิด 19 มาเขาต้องทำงานแบบเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ตอนนั้นนอกจากที่ปอยแฮปปี้ว่าจะได้ทำดอกไม้ 100% ก็ดีที่เราได้อยู่บ้าน ที่ได้ดูแลเขา เพราะเขากลับบ้านมาต้องถอดชุดที่ไปทำงานแล้วซักเลย ตอนนั้นหนักมากค่ะ ช่วงนั้นก็เลยเป็นจุดพลิกของชีวิตเหมือนกัน แล้วพอดีสามีได้งานใน ลอง ไอส์แลนด์ ก็เลยย้ายจากนิวยอร์กออกไปอยู่นอกเมืองที่ ลอง ไอแลนด์ ก็ได้อยู่ใกล้คุณพ่อเขาด้วย และบ้านใหญ่ขึ้น พอบ้านใหญ่ขึ้นปอยก็เลยมีสตูดิโอ ก็เลยได้หนึ่งห้องนอนเป็นสตูดิโอ ตอนนั้นก็คิดว่า โอเค...เราจะทำคลาสสอนออนไลน์ ก็เริ่มทำขึ้นมาเอง ซึ่งช่วงแรกก็ยากเหมือนกัน บางคนอยากเรียนจากวิดีโอ บางคนอยากเรียนแบบไลฟ์ ก็เลยต้องทำไว้ทั้งสองอย่าง พอสอนออนไลน์ไปแล้วก็มีคนสั่งทำให้เราส่งดอกไม้บ้าง ส่วนใหญ่จะโฟกัสเรื่องช่อดอกไม้ของเจ้าสาว (Bridal Bouquet) เพราะว่าปีแรกหนึ่งปี ของขวัญวันครบรอบแต่งงานปีแรกเขาจะให้เป็นกระดาษกัน คือเหมือนเขาจะมีธีมเป็นธรรมเนียมเลยว่าปีแรกเป็นกระดาษ ปีที่สองเป็นเครื่องเงิน ปีที่สามเป็นงานไม้ อะไรแบบนี้ แต่ว่ารายได้หลักก็จะมาจากการสอนเวิร์กช็อปก่อน"
สตูดิโอดอกไม้กระดาษแบบฟูลไทม์ของปอยที่ชื่อ Summer Space Studio เริ่มต้นมาแบบนั้น
บรรยากาศในการเรียนการสอนทำดอกไม้กระดาษของปอยน่าสนใจไม่น้อย
"คือคนเข้ามาเรียนบางคนเขาจะถามว่า 'ทำไมฉันทำแล้ว ไม่เห็นเหมือนของคุณเลย' หรือ 'เราจะทำได้ไหม เราไม่ใช่คนคราฟต์' ปอยก็บอกเขาว่า ให้วางตรงนั้นลงก่อน ให้คุณสนุกไปกับขั้นตอนของมัน เหมือนให้คุณมาลอง ถ้าคุณไม่ชอบดอกแรกก็ไม่เป็นไร เพราะคุณยังทำดอกที่สอง ที่สาม ที่สี่ได้ ปอยทำมาแล้วสามสี่ปีมันถึงได้แบบนี้ แต่ที่สำคัญคือเราไม่จำเป็นต้องเหมือนกันด้วย การทำงานศิลปะมันคือการแสดงตัวตน การที่คุณมาเอาพื้นฐานแล้วคุณก็ไประบายสีเองก็ได้" ปอยเล่าสบายๆ แล้วยิ้มกว้าง "แล้วพอจบคลาส ซึ่งปกติจะมีคนเรียนคลาสละ 12 คน ปอยก็จะบอกให้ทุกคนลองมองไปรอบๆ แล้วก็จะพบว่าดอกไม้ของทุกคนไม่เหมือนกัน นั่นคือความสวยงามของศิลปะ แล้วถ้าวันนี้คุณได้ลองทำแล้วรู้สึกว่ามันใหญ่ไป หรือสียังไม่สวย ก็ทำดอกต่อไป ทำต่อไปค่ะ เพราะนี่คือสิ่งที่ปอยเรียนรู้จาก 100 Days ของปอย ซึ่งมันเป็นบทเรียนในชีวิตมาก ที่ให้เราหยุดเป็นเพอร์เฟกชั่นนิสต์นะ ถ้าอันนี้ไม่ดีก็ค่อยทำอันต่อไปนะ"
"จริงๆ ปอยก็ได้เรียนรู้จากคนที่มาเรียนกับปอยเหมือนกัน อย่างคนที่บอกว่าเขาไม่เคยทำงานคราฟต์เลย แต่เขาบิดกลีบดอกไม้แบบนี้เพราะเขาชอบแบบนี้ เราก็รู้สึกว่าน่าสนใจ ก็เอามาลองทำบ้าง ปอยคิดว่าการมาร่วมคลาสคือการมาเป็นแรงบันดาลใจซึ่งกันและกัน ปอยไม่ได้ยกว่าตัวเองเก่งที่สุด เราแค่ทำมาเยอะ แล้วเอามาให้คนอื่นลองทำเท่านั้นเอง" หญิงสาวหยุดคิดชั่วครู่ก่อนจะเล่าต่อ "มันมีเรื่องฟินอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ช่วงโควิดที่ปอยสอนมาสักประมาณ 2 ปีได้แล้วมันมีโควิดระบาด แล้วปอยต้องออกจากงาน มันมีนักเรียนประมาณ 2-3 คน ที่เขามาคลาสของปอยตอนแรกๆ แล้วเขาตกหลุมรักการทำตอกไม้กระดาษ เขาก็ทำมาเรื่อยๆ แล้วพอผ่านโควิดมาเขาก็ส่งข้อความมาบอกปอยว่า 'Your paper flowers saved my life' เพราะช่วงนั้นเขาเครียดทั้งเรื่องงานและโควิดมาก เขาเลยนั่งทำดอกไม้ไปเรื่อยๆ จากที่มาเรียนกับปอย ทำให้จิตใจเขาดีขึ้น เราฟังแล้วรู้สึกว่ามันยิ่งใหญ่มาก รู้สึกใจฟูมาก เพราะมันช่วยชีวิตคนได้จริงๆ นะ"
สตูดิโอของกฤตชญา
"พอปลายปี 2023 ปอยย้ายจาก ลอง ไอแลนด์ กลับเข้ามานิวยอร์กเหมือนเดิม ทีนี้ก็เลยบอกเพื่อนๆ ว่าเรากลับมานิวยอร์กแล้วนะ" ปอยเล่าถึงการกลับสู่เมืองใหญ่อีกครั้ง
เรานึกสงสัยว่าการเป็นศิลปินคนไทยในนิวยอร์กจริงๆ แล้วมันยากหรือง่ายแค่ไหน
"ด้วยความที่นิวยอร์กเป็นเมืองที่มีคนจากหลายประเทศและเชื้อชาติ การเป็นคนไทยนี่ไม่ได้มีผลต่อสาขาอาชีพเลยค่ะ นอกจากว่าเราจะไฮไลต์การเป็นคนไทยในด้านคัลเจอร์หรือสไตล์การทำงานของเรา ซึ่งจริงๆ ปอยมองว่าเป็นข้อดีด้วยซ้ำที่จะสร้างความแตกต่าง ดังนั้น ถ้าถามเรื่องการเปิดรับคนต่างชาติของเขา ส่วนตัวคิดว่าที่นั่นเปิดรับค่ะ เพราะว่าทุกคนที่นั่นคือถ้าไม่เป็นคนต่างเมืองก็เป็นต่างชาติอยู่แล้ว ดังนั้นการมีสตอรี่เป็นของตัวเองสำคัญกว่าเรื่องเชื้อชาติค่ะ ว่าเราจะสร้างแบรนดิ้งของตัวเองหรือว่าจุดยืนของเรายังไง จริงอยู่ว่าทุกคนและทุกที่มันเรื่องการเหยียดเชื้อชาติหรือสีผิวอยู่แล้ว แต่ส่วนตัวแล้วไม่เคยเจอเลยค่ะ แต่แค่รับรู้ว่ามันมีอยู่จริงๆ" เธอนิ่งคิดก่อนเอ่ยต่อ "อีกด้านที่อาจจะมีผลคือการหาคอมมิวนิตี้หรือเครือข่าย (networking) ซึ่งเป็นผลดีต่อการต่อยอดธุรกิจ หรือว่าการหาคนที่ทำอะไรคล้ายๆ กับเรา อันนี้แล้วแต่ว่าเราจะเอาตัวเองไปอยู่ในจุดไหน เช่น Asian American Pacific Islanders (AAPI), Creative entrepreneurs, Solo-entrepreneurs in NYC, Women Creative Entrepreneurs หรือ Asian American Makers ซึ่งปอยคิดว่าเรื่องการเปิดรับน่าจะเป็นคำถามที่เราถามตัวเรามากกว่าค่ะ ว่าเราจะเอาตัวเองไปอยู่ในคอมมิวนิตี้แบบไหนที่เหมาะกับตัวตนของเรา"
หลังจากที่ลงหลักปักฐานงานดอกไม้กระดาษที่นิวยอร์กมาพักใหญ่ ช่วงที่ผ่านมาปอยเริ่มใช้เวลาที่กลับมาเยี่ยมเมืองไทย มาสร้างงานเอาไว้ที่บ้านเกิดเช่นกัน
"เวลากลับมาไทยตอนนี้ก็หาโอกาสลองมาสอนเป็นคลาสบ้าง สอนเยอะๆ แล้วมีคนที่มีความสุข รู้สึกว่าคนที่มาเรียนเขาได้ทำอะไรที่มันชะโลมจิตใจ ก็รู้สึกดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขามีความสุข"
มาถึงตรงนี้ เรานึกสงสัยว่าเธอทำดอกไม้กระดาษได้กี่ชนิดแล้ว
"โห ไม่เคยนับเลยค่ะ" เธอหัวเราะเบาๆ "ก็เยอะมาก แต่ที่ทำบ่อยน่าจะเป็น ดอกพิโอนีซึ่งอันนี้ขายดีที่สุด แล้วก็จะมีกุหลาบ ป๊อปปี้ ประมาณนี้ค่ะ แต่ที่กำลังสนใจตอนนี้เพราะว่าได้กลับมาเมืองไทยด้วยคือพวกดอกไม้เขตร้อน ซึ่งเป็นสิ่งที่อยากทำมานานแล้วแต่ยังไม่ได้เริ่มทำสักที อยากทำโปรเจกต์ทำดอกไม้เขตร้อนหนึ่งเดือนต่อหนึ่งดอกอะไรแบบนี้" เธอหัวเราะเบาๆ อีกครั้ง
เราแซวศิลปินสาวว่า สงสัยต้องกลับไปทำ 100 Days อีกแล้วใช่ไหม?
เธอรับคำพร้อมหัวเราะเบิกบาน
ปอยเติบโตในครอบครัวที่คุณพ่อเป็นวิศวกรเครื่องบิน
และคุณแม่ทำงานธนาคาร ครอบครัวเธอมีเชื้อสายเป็นคนจังหวัดชุมพร เธอได้รับอิสระให้เลือกเส้นทางของตัวเองมาตลอด แต่เมื่อถึงวันที่เลือกเป็นศิลปินที่ทำงานคราฟต์แล้ว คำถามหนึ่งที่หลายคนอาจจะสงสัยคือ มันเป็นอาชีพที่มั่นคงแข็งแรงแค่ไหน
"ตอนนี้ปอยกำลังมองว่า กำลังดีขึ้นนะ กำลังอยู่ในทางที่ตัวเองมองเอาไว้ กำลังอยู่ระหว่างทาง และมันเริ่มเห็นหนทางแล้ว ครั้งนี้กลับมาเมืองไทยรู้สึกว่าดีขึ้นมากๆ คลาสที่ไปสอนมาก็มีคนสนใจ อยากจะมาเรียนเพิ่ม แต่ที่นู่นก็มีงานรออยู่ ก็คือเหมือนเริ่มบิวท์ตัวเองในส่วนของฝั่งธุรกิจด้วย เช่นทำเป็นคลาสสำหรับองค์กรต่างๆ หรือเป็นกิจกรรม Team Building ด้วย ล่าสุดก็มีบริษัทคอนโดมิเนียมจ้างไปสอนเป็นกิจกรรมให้ลูกบ้าน พอทำแบบนี้ได้ก็จะรู้สึกว่ามันน่าจะยั่งยืนในจุดหนึ่ง แต่ก็รู้สึกว่าเราน่าจะยึดเป็นอาชีพได้เลย ถ้าเราทำที่นิวยอร์กด้วย และทำที่เมืองไทยไปได้ด้วย"
เมื่อเราถามถึงแผนการในอนาคตของเธอ ปอยก็ยิ้มกว้างแล้วบอกว่าชอบคำถามนี้มากๆ
"รู้สึกว่าคำตอบจะเป็นการแถลงการณ์ของตัวเอง" หญิงสาวหัวเราะสนุก "คือตอบแล้วชั้นจะต้องไปถึงตรงนั้นให้ได้จริงๆ แต่ความจริงปอยก็เคยคุยกับเพื่อนว่า เป้าหมายสูงสุดจริงๆ ของเราคือยากมีวินโดว์ดิสเพลย์ (window display) ในนิวยอร์ก อยากเห็นงานของตัวเองแบบนั้น จริงๆ ก็เริ่มมีคนติดต่อมาแล้วแต่ยังไม่ได้ทำค่ะ แต่เอาเป็นว่าตอนนี้คือเป็นเป้าหมายสูงสุดเลย เพราะเราชอบบรรยากาศที่เดินตามถนนในนิวยอร์กแล้วเห็นร้านรวงแต่งร้านเพื่อเทศกาลคริสมาสต์อะไรแบบนี้ คิดว่าเราต้องทำได้สิ!"
"แต่ว่าถ้าลดสเกลลงมา ก็อยากมีสตูดิโอที่แยกจากที่บ้านค่ะ อยากให้มันมีพื้นที่สอนเวิร์กช็อปหรือโชว์รูมด้วย เพราะคนส่วนใหญ่ที่ซื้อดอกไม้ปอยต้องเห็นของจริงถึงจะเข้าใจว่ารายละเอียดมันเยอะ แค่ดูรูปอาจจะยังไม่เห็นทั้งหมด"
ในมุมกลับกัน หากวันนี้มีคนถามว่าถ้าสนใจงานคราฟต์เปเปอร์หรือดอกไม้กระดาษ ต้องเริ่มต้นอย่างไร ปอยมีคำตอบง่ายๆ ให้เลยทันที
"เริ่มเลยค่ะ เริ่มเลย ถึงแม้ว่ากระดาษแบบนี้จะหายาก แต่เมืองไทยจริงๆ มันมีกระดาษที่ใช้แทนได้อย่างพวกกระดาษสา จริงๆ ปอยก็เพิ่งสั่งกระดาษสามาลอง หรือว่าจะไม่ทำเป็นดอกไม้ จะเป็นงานคราฟต์แบบไหนก็ตาม คือสิ่งที่ปอยเห็นจากเพื่อนที่ทำ 100 Days คือส่วนใหญ่เขาจะมีความสงสัยในตัวเองว่า 'ฉันเป็นคนไม่เก่ง' หรือ 'ฉันไม่มีหัวด้านคราฟต์' แต่มันไม่เกี่ยวกับการมีหัวด้านคราฟต์ มันเกี่ยวกับการที่ว่าคุณได้ลองทำ และได้ทำไปเรื่อยๆ จะลงมือทำไปหนึ่งร้อยวันก็ได้ ทำเป็นโปรเจกต์ให้ตัวเองก็ได้ อยากให้เริ่มลองก่อน ถ้าทำไปเรื่อยๆ แล้วไม่ชอบก็จะได้รู้ว่า โอเค มันไม่ใช่ของเรานะ" ปอยหัวเราะเบาๆ "ก็จะได้ขีดฆ่าออกไปจากลิสต์ของสิ่งที่อยากลองทำ แล้วลองค้นหาสิ่งที่ชอบต่อไปค่ะ"
ลองลงมือทำ แล้วถ้าไม่ทำก็จะไม่รู้ เธอบอกกับเราอย่างนั้น
บางทีการเริ่มต้นก็ไม่มีเคล็ดลับอะไรมากมาย เริ่มได้เลย เพื่อที่จะไปต่ออย่างแข็งแรง มั่นอกมั่นใจ หรือไม่ไปต่อด้วยการไม่ค้างคาใจ
ก่อนนัดพบกันในวันนี้ เราได้พบปอยเป็นครั้งแรกที่งานนิทรรศการศิลปะชื่อ Our Little Flower Shop นิทรรศการกลุ่มของสามศิลปินสาว faan.peeti, Atelier Pakawan และ WHITE HAT. since 2013 ที่นักวาดทั้งสามวาดรูปดอกไม้ในแบบของตัวเองมาจัดแสดงร่วมกัน นั่นเป็นโอกาสที่เราได้พูดคุยกันถึงสิ่งที่เธอกำลังทำอยู่ที่นิวยอร์ก และเรารู้สึกว่าน่าสนใจจนต้องขอนัดคุยยาวๆ เกี่ยวกับเรื่องของเธอจนกลายมาเป็นบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้
"ปอยได้รับแรงบันดาลใจจากงานของน้องๆ สามคนมากๆ นะ" ปอยตอบเมื่อเราถามถึงความประทับใจจากงานนั้น "โดยเฉพาะตอนที่น้องๆ เขาพูดเปิดนิทรรศการแล้วเล่าเรื่องแนวคิดกัน เพราะว่า...คือบอกด้วยความแบบสัตย์จริง คือปอยไม่ได้เป็นคนชอบดอกไม้" เธอสารภาพแล้วหัวเราะเสียงดัง "คือปอยแค่ชอบกระดาษและสี ส่วนดอกไม้นี่เหมือนปอยรู้สึกว่าซื้อมาแล้วมันก็ตายนะ" เธอหัวเราะเบาๆ "คือปอยบอกเพื่อนว่า 'I killed plants, that's why I make paper flowers'" คราวนี้เราหัวเราะกันทั้งคนถามและคนตอบ
"จริงๆ ปอยเล่าตกไปเรื่องหนึ่ง คือตอนที่ยังเป็นแฟนกับสามี มีช่วงวาเลนไทน์ ปอยเคยบอกแฟนว่าไม่ได้อยากได้ดอกไม้ แต่ชอบกระดาษน่ะ แฟนเลยซื้อหนังสือที่เกี่ยวกับ Paper Flowers มาให้แล้วบอกว่า 'You make your own flowers ละกัน'" เธอหัวเราะ "ซึ่งก็ดี เพราะเราไม่เคยมีใครให้ดอกไม้อยู่แล้ว ตอนนั้นก็ดีใจ อุ๊ย! ชั้นมีทั้งหนังสือเล่มนี้แล้วก็มี Pinterest ด้วย ก็เลยลงมือทำตอนนั้น" เธอยิ้มสดใสอีกครั้ง
มาถึงตอนนี้ ปอยยังสนุกกับการทำงานดอกไม้กระดาษในหลายๆ บทบาท ทั้งการเป็นผู้สอน การรับทำดอกไม้ การเป็นศิลปิน และการค้นหาทิศทางใหม่ๆ ในการทำงาน
"อย่างเรื่องความหมายของดอกไม้ต่างๆ เราก็หาข้อมูลมากขึ้น เรื่องดอกไม้ประจำเดือน หรือความหมายของดอกไม้แต่ละสี จริงๆ อยากลองให้มันไปทางอินทีเรียดีไซน์ด้วย เพราะว่าปอยอยากให้งานของปอยมันเป็น Sculptural Arts ด้วยค่ะ ก่อนหน้านี้ก็ได้คอมมิสชั่นจากพี่พลอย จริยะเวช ให้ทำดอกไม้ให้ที่บ้าน ก็ได้คุยกับพี่พลอยเรื่องคอนเสปต์ต่างๆ เยอะมาก ปอยก็เลยอยากให้งานของเราไปทาง Art Piece ด้วย ไม่อยากให้คนมองว่าเราจะไปแข่งกับดอกไม้จริงนะ คือมันอาจเหมือนดอกไม้จริงนะ แต่มันควรจะเป็นอะไรที่มีรูปทรงเป็นของมัน หรือมีคอนเสปต์ของตัวเองด้วย แล้วการเป็นกระดาษ เราทำให้มันใหญ่ขึ้นก็ได้ หรือใช้สีอื่นที่ไม่ได้มีในดอกไม้จริงๆ ก็ได้ เป็นโลกอีกแบบที่เราอยากทดลองต่อไปนะ"
หลังจากนั้น ปอยยังเล่าถึงแผนการสนุกๆ อีกมากมายที่เธออาจจะทำในอนาคต ทั้งการขยายขอบเขตเวิร์กช็อปของเธอออกไปอีก การปรับเปลี่ยนแพลตฟอร์มสำหรับเวิร์กช็อปออนไลน์ ไปจนถึงการสร้างชุด kit สำหรับคนที่สนใจดอกไม้กระดาษ ซึ่งยิ่งคุยไปคุยมาเราก็ยิ่งเห็นส่วนผสมที่น่าสนใจซึ่งปรากฎอยู่ในความฝันของเธอ ทั้งความเป็นศิลปิน ความเป็นนักการตลาด และความเป็นนักขาย ที่สำคัญคือการเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่กำลังสนุกกับสิ่งที่ตัวเองทำในปัจจุบัน
บางคนเปรียบดอกไม้เป็นหญิงสาว บางคนเปรียบดอกไม้กับความรัก แต่สำหรับดอกไม้กระดาษของ ปอย-กฤตชญา ทวิชศรี-กรานาติ เราอยากเปรียบว่ามันสื่อถึงความฝัน
เป็นความฝันที่ไม่มีวันโรยราของหญิงสาวคนหนึ่ง
เข้าไปดูเว็บไซต์ของ Summer Space ได้ที่ summerspace.studio
578 VIEWS |
ผู้ก่อตั้งนิตยสาร happening, บรรณาธิการบริหารนิตยสาร happening, กรรมการบริหารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc), นักเขียน, นักแต่งเพลง, นักฟังเพลง และนักอ่านตัวยง
ที่ปรึกษาทีม happening shop, เจ้าของเพจเฟซบุ๊กและหนังสือ 'ญี่ปุ่นอุ่นอุ่น', นักเขียน ช่างภาพโฟโต้บุ๊ก 'Nagasaki Light' และไกด์บุ๊ก 'Kagawa Memories' นอกจากภาพถ่ายและงานเขียน สิ่งที่เธอสนใจเป็นพิเศษคือการนั่งสมาธิและการโปรยมุขไม่ขำ