SC Asset กับการเติมแต่งย่านเกษตร-บางบัวให้รื่นรมย์และปลอดภัย ในงาน Bangkok Design Week 2024

    หากย่านเจริญกรุงมีงานอาร์ต ย่านปากคลองตลาดมีดอกไม้ แล้วย่านเกษตรมีอะไรล่ะ?

    จากคำถามเล็กๆ นี้ นำมาสู่การเติมแต่มสีสันให้ย่านเกษตร-บางบัว ในงานเทศกาลออกแบบประจำปี อย่าง Bangkok Design Week 2024 ที่ชักชวนนักออกแบบและคนทั่วไปมาร่วมสร้างประสบการณ์จากงานออกแบบ ภายใต้ธีม Livable Scape คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี ที่ชวนนักออกแบบและคนทั่วไปมาร่วมสร้างกรุงเทพมหานครให้กลายเป็นเมืองที่เหมาะกับการอยู่อาศัย และต่อยอดไปสู่การพัฒนาเชิงเศรษฐกิจและความคิดสร้างสรรค์ให้เติบโตขึ้น ในปีนี้ ผู้ชมจะมีโอกาสสัมผัสอัตลักษณ์ ตัวตน ของผู้คนและสถานที่ในชุมชนต่างๆ มากกว่า 15 ย่านทั่วกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม - 4 กุมภาพันธ์ 2567

    จากเมืองที่ผู้คนสัญจรผ่านไปมากำลังจะค่อยๆ เปลี่ยนไป เพราะปีนี้ย่านเกษตร-บางบัว ก็มีกิจกรรมที่น่าสนใจให้ผู้ชมได้ร่วมสนุกมากกว่า 25 กิจกรรม ไม่ว่าจะเป็น สตรีทอาร์ตริมทางเท้า Installation Art ตามจุดต่างๆ ของเมือง กิจกรรมเวิร์กช็อป งานออกแบบ คอนเสิร์ต ภาพยนตร์กลางแปลง จุดพักผ่อนเล็กๆ ที่เปิดให้ผู้คนแวะมาพักใจ ตลอดจนการสร้างพื้นที่ทดลองเล็กๆ ที่ใช้งานออกแบบมาพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนอีกด้วย

    ทีม happening มีโอกาสได้พูดคุยกับ 3 ผู้อยู่เบื้องหลังการพลิกโฉมย่านเกษตรในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น มาร์ค-ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์การทดลองเมืองกรุงเทพมหานคร (City Lab) ซึ่งร่วมคิดและทดลองการสร้างเมื่องที่น่าอยู่ในย่าน เกษตร-บางบัว, ตั้บ-ธนพัฒน์ บุญสนาน สถาปนิกเจ้าของสตูดิโอ ธ.ไก่ชน ผู้เป็นเจ้าของพาวิลเลียน Bamboo Mache Modular หนึ่งในไฮไลต์ประจำย่านนี้ และ จูน-โฉมชฎา กุลดิลก หัวหน้าสายงานกลยุทธ์แบรนด์และสื่อสารองค์กรจาก SC Asset

    ท่ามกลางความท้าทายในการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ๆ พวกเขาจะหยิบยกสิ่งใดมาชูโรงให้เกษตร-บางบัว และเปลี่ยนจากเมืองผ่านมาสู่ย่านที่เป็นหมุดหมายในชีวิตของผู้คนได้อย่างไร

ตั้บ-ธนพัฒน์ บุญสนาน จูน-โฉมชฎา กุลดิลก และ มาร์ค-ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์

'เมืองผ่าน' กับการสร้างพื้นที่สำหรับเวลา 8 ชั่วโมงที่เหลืออยู่ในแต่ละวัน

    ย่านเกษตรในความทรงจำของใครหลายคนอาจเป็นเพียงเมืองผ่านที่การสัญจรทางถนนติดขัด และอาจเพราะไม่มีใครรู้ว่าที่แห่งนี้มีอะไรน่าสนใจ คนจึงใช้ถนนในย่านนี้เพียงแค่ ผ่านมา และ ผ่านไป โดยไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับพื้นที่และชุมชนในย่านนี้มากนัก

    อาจารย์มาร์คเล่าถึงความเป็นไปของย่านเกษตรว่า "จากเดิมที่ย่านเกษตรมีส่วนราชการและมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว เมื่อเมืองเติบโตขึ้น มีโรงพยาบาล มีรถไฟฟ้า มีห้างสรรพสินค้า มีสิ่งต่างๆ เกิดขึ้น พื้นที่โดยรอบก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลง จากที่มีแค่คนในชุมชนดั้งเดิม เกษตรกลายเป็นย่านที่มีคนนอกพื้นที่เข้ามาอาศัยมากขึ้น โดยเฉพาะนักศึกษาที่มีจำนวนกว่า 50,000 คน ซึ่งเราพบว่า คนที่อาศัยในบริเวณนี้ นอกจากไปเรียนหรือทำงาน พวกเขาก็ไม่ค่อยได้ใช้เวลาอยู่ในพื้นที่นี้เท่าไหร่นัก"

    หากพูดถึงชีวิตของคนเมือง ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมงของแต่ละวัน เรามักจะใช้เวลา 8 ชั่วโมงแรกไปกับการเรียนหรือทำงาน และหมดเวลา 8 ชั่วโมงสุดท้ายไปกับการพักผ่อน แต่ระยะเวลา 8 ชั่วโมงที่เหลืออยู่นั้น เราต่างใช้มันไปกับความสนใจที่แตกต่างกันไป แล้วจะทำอย่างไร จึงจะทำให้พวกเขาหยุดพักและใช้เวลาในย่านนี้ได้?

    "พอต้องทำเรื่องเมืองน่าอยู่ เราจึงอยากเจาะไปที่ประชากรชั่วคราว อย่างกลุ่มนักศึกษาที่จะผลัดเปลี่ยนกันมาอยู่ในย่านนี้ทุก 4 ปี เราเริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่า เราจะทำให้เขามีความทรงจำที่มีความหมายกับการใช้ชีวิตอยู่ในย่านนี้ได้อย่างไร ผมมองว่า การออกแบบ คือการให้ทางเลือก มากกว่าการกำหนดชีวิตของใครคนหนึ่ง เราจึงพยายามนึกว่า เราจะสร้างทางเลือกที่สามในชีวิตของพวกเขา นอกเหนือจากการทำงานและพักผ่อน และทำให้เมืองนี้เป็นมากกว่าเมืองผ่านได้ยังไงบ้าง มันเป็นความท้าทายของงานนี้ครับ" อาจารย์มาร์คเล่าถึงแนวคิดในการทำงานครั้งนี้

    "เมืองที่ดี สำหรับผม มันน่าจะมีพื้นที่สาธารณะ มีประติมากรรม หรือมีมุมเล็กๆ ที่เราสามารถถ่ายรูปเล่น นั่งคุยเล่นกับเพื่อนก่อนกลับบ้านได้ ส่วนตัวผมเป็นแค่คนที่ผ่านไปผ่านมาในย่านนี้ ผมว่ามันน่าจะดีนะ ถ้าเราเป็นหนึ่งคนที่ทำให้ย่านนี้มีภาพจำใหม่ๆ แน่นอนว่าการทำงานบนความว่างเปล่า มันเป็นความท้าทายของดีไซเนอร์ แต่จริงๆ มันง่ายกว่าการออกแบบชิ้นงานไปตั้งข้างวัดพระแก้วอีกนะ" ตั้บเสริมด้วยเสียงหัวเราะ

    และนั่นก็ทำให้โปรเจกต์ BANGBUA The Third Place เกิดขึ้น เพื่อทำให้ เกษตร-บางบัว กลายเป็นหมุดหมายที่ทำให้คนอยากใช้เวลาหนึ่งในสามของชีวิตแต่ละวันมากขึ้น

SC Asset กับบทบาทการเป็นผู้ซัพพอร์ตคุณภาพชีวิตคนเมือง

    ในฐานะที่ SC Asset เป็นหนึ่งองค์กรด้านอสังหาริมทรัพย์ที่พาผู้คนจากนอกพื้นที่เข้ามาอยู่อาศัยในย่านต่างๆ และให้ความสำคัญกับการพัฒนาชีวิตของคนเมืองเป็นอันดับต้นๆ จึงไม่แปลกเลย หากเราจะได้เห็นพวกเขาเข้าไปซัพพอร์ตกิจกรรมทางสิ่งแวดล้อม ศิลปะและงานออกแบบ และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนเมืองมาอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะงาน Bangkok Design Week ที่เกี่ยวโยงถึงชีวิตคนเมืองโดยตรงเช่นนี้

    จูนเล่าถึงแนวคิดเบื้องหลังการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงาน Bangkok Design Week ว่า "ช่วงหลังมานี้ SC Asset ร่วมกับ Bangkok Design Week ทุกปี บางปีเรามีส่วนร่วมในการเสนอแนวคิด บางปีเรานำเสนอตัวตนและไลฟ์สไตล์ของคนเมือง แต่ช่วงหลังมานี้ เราเริ่มเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนมากขึ้น เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และเป็นตัวกลางที่พาผู้คนเข้ามาอาศัยภายในย่านต่างๆ ยิ่งถ้าโครงการ COBE เกษตร-ศรีปทุม เสร็จเมื่อไหร่ จะมีครอบครัว นักศึกษา และกลุ่มคนใหม่ๆ เข้ามาอยู่ในพื้นที่ เราจึงน่าจะใช้ความคิดสร้างสรรค์เข้ามาสร้างเมืองน่าอยู่ให้กับพวกเขาตั้งแต่ต้น ประกอบกับคุยกับทาง CEA (สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์) ว่า เราน่าจะขยายพื้นที่จัดแสดงงานมา นอกเมืองบ้าง ทำให้เราได้มาลงเอยในย่านเกษตร-บางบัวในปีนี้"

    เธอย้ำอีกว่า บทบาทของแบรนด์คือการซัพพอร์ตให้ทุกกิจกรรมเกิดขึ้นและดำเนินไป เพื่อให้ผู้คนได้เข้ามารับประสบการณ์และเลือกสรรชีวิตในแบบที่ต้องการได้ด้วยตัวเอง

    "เรามองบทบาทของตัวเองเป็นผู้สนับสนุน เป็นเบื้องหลังที่ก่อให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น เพราะเมืองไทยมีนักสร้างสรรค์อยู่มากมาย แต่เรายังขาดการสนับสนุนในหลายๆ ด้าน SC Asset จึงอยากเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ซัพพอร์ตให้งานของพวกเขาเกิดขึ้นจริง การมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโปรเจกต์นี้ มันทำให้คนได้เห็นว่า อะไรบ้างที่แบรนด์ให้ความสำคัญ สำหรับองค์กรของเรา เรามีหลายสิ่งที่ให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี หรือความคิดสร้างสรรค์ สิ่งที่เกิดขึ้นในโครงการนี้ จึงเป็นหนึ่งร่องรอยที่ทำให้คนรู้ว่า เราให้ความสำคัญกับอะไร" จูนเล่าต่อ

    "ยิ่งพอได้เห็นชิ้นงานและกิจกรรมที่ทางอาจารย์มาร์ค ตั้บ และน้องๆ นักศึกษา นำมาแสดง มันยิ่งทำให้เราตื่นเต้นเพราะเราได้สร้างพื้นที่ให้ทุกคนได้มีโอกาสมาแสดงออกร่วมกัน การได้เห็นคนมาชมงาน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น มาร่วมสร้างความทรงจำด้วยกันแบบนี้ มันไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ เลย" เธอปิดท้ายด้วยความรู้สึกที่มีต่อกิจกรรมภายในงานครั้งนี้

    หลังจากย่านเกษตร-บางบัวได้สารตั้งต้นและการสนับสนุนจากองค์กรแล้ว ก็ถึงเวลาของการก่อร่างสร้างกิจกรรมให้เกิดขึ้นจริง

งานสร้างสรรค์ที่ตอบสนองทั้งความต้องการของเมืองและความสุขทางใจ

    COBE เกษตร-ศรีปทุม ถือเป็นพื้นที่หลักในการจัดแสดงงานประจำย่านของปีนี้ ผู้ชมอย่างเราๆ จะได้สัมผัสประสบการณ์หลากหลาย ผ่านกิจกรรมไฮไลต์ในงาน ไม่ว่าจะเป็น Bamboo Mache Modular จาก ธ.ไก่ชน พื้นที่พักผ่อนจากไม้ไผ่ที่เปิดให้ทุกคนได้ใช้เวลาและสร้างบทสนทนากับคนใกล้ตัว ผู้ชมสามารถสนุกไปกับแสงสีเสียงจากเหล่าดีเจและศิลปินยามค่ำคืน อย่างในช่วงสัปดาห์แรกก็ได้วง Srirajah Rockers มามอบความสนุก ภายใต้แสงไฟแบบจัดเต็มจากทีม Autosave ขณะที่ช่วงหัวค่ำจะมีการฉายภาพยนตร์เรื่องดังและภาพยนตร์สั้นจากเหล่านักศึกษาให้ชมพร้อมกับลิ้มลองอาหารจากร้านฟู้ดทรัคภายในงานอีกด้วย

    เมื่อขยับเข้ามาภายในอาคาร คุณก็จะได้พบกับงาน Installation Art จากทีม Fixed Element ที่จำลองอารมณ์ ความรู้สึกของผู้คนและนำเสนอเป็นเสียงสะท้อนแห่งบางบัว พร้อมกับชิมชาอัญชัญสูตรพิเศษจากร้านกาแฟ KORELAB COFFEE STUDIO ที่เสิร์ฟ และเมื่อเดินออกมาด้านหน้าตึกคุณก็จะพบกับเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์สวยที่จัดแสดงตลอดริมฝั่งถนน ซึ่งเป็นผลงานออกแบบของกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีปทุมและเกษตรศาสตร์ เพื่อให้ผู้ชมได้สนุกกับการชมงานดีไซน์และใช้เวลาร่วมกับคนที่รัก

    นอกจากนี้ ภายในพื้นที่โดยรอบเกษตร อย่างมหาวิทยาลัยศรีปทุมเองก็มีการแสดงสดให้ชมในยามค่ำคืน หรือใครที่ชื่นชอบสตรีทอาร์ตก็สามารถแวะไปถ่ายภาพและใช้โทรศัพท์มือถือส่องภาพ AR ในผลงานจากเหล่าศิลปินได้ที่บริเวณใต้สะพานข้ามคลองบางบัวเช่นกัน

    ตั้บเล่าว่า ในงานครั้งนี้เขาได้สร้างสรรค์ผลงานที่ตอบสนองโจทย์ของงานไปพร้อมกับการทำงานที่เติมเต็มตัวเองด้วย

     "เมื่อก่อนผมมักจะทำงานให้เหมาะสมกับพื้นที่ แต่ผมไม่ชอบเลย เวลาที่เราไม่สามารถเอางานชิ้นนั้นไปทำอย่างอื่นต่อได้ แล้วเราต้องมาเถียงกันว่า ใครจะเป็นคนทิ้ง กลายเป็นว่าเราเป็นคนสร้างขยะให้กับพื้นที่ ทุกครั้งที่งานอีเวนต์จบ ในปีนี้ ผมจึงออกแบบชิ้นงานที่สามารถจัดเก็บและเสริมความแข็งแรงไปเรื่อยๆ ได้ ในงาน Bangkok Design Week 2024 นี้จะเป็นครั้งแรกที่โครงไม้ไผ่นี้จัดแสดง"

    "หลังจบงาน ผมจะถอดมันเก็บไว้ในออฟฟิศของผม เพื่อนำไปสร้างงานชิ้นใหม่ต่อในโปรเจกต์ต่อๆ ไป เมื่อเวลาผ่านไป ผมก็จะทำให้มันใหม่ขึ้นด้วยการเสริมความแข็งแรง โค้งเหล่านี้จะเป็นสารตั้งต้นหลัก ก่อนจะนำไปต่อยอดให้เหมาะกับพื้นที่ต่างๆ ด้วยความที่มันถูกออกแบบให้เหมาะกับการขนย้าย และสามารถใส่อุปกรณ์เครื่องมือในระหว่างช่องว่างของชิ้นงานได้ มันทำให้เราลดขยะ ลดค่าใช้จ่าย แถมยังมีงานใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ในราคาเท่าเดิม ส่วนตัวผมอยากให้เด็กๆ ที่เรียนด้านดีไซน์ได้เห็นตัวอย่างชิ้นงานที่ไม่ได้ทำลายพื้นที่ ใช้วัสดุธรรมชาติ แต่ยังมีความแข็งแรงสามารถใช้งานได้ และสามารถทำงานร่วมกับแสงสีเสียงหรือดีไซน์อื่นๆ ได้ด้วยครับ" ตั้บเสริมต่อ

    Bamboo Mache Modular จึงเปรียบเสมือนโปรเจกต์ระยะยาวที่ตั้บจะพางานชิ้นนี้เดินทางไปตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย กลายเป็นซีรีส์การแสดงงานที่น่าติดตามไม่น้อยเลยทีเดียว

คุณภาพชีวิตและความปลอดภัยที่สร้างได้ด้วยงานออกแบบ

    นอกจากความรื่นรมย์ภายใน COBE เกษตร-ศรีปทุม แล้ว บริเวณทางม้าลายด้านหน้าของโครงการยังเป็นพื้นที่ทดลองเมืองน่าอยู่ของโปรเจกต์ศูนย์ทดลองเมือง City Lab ที่ใช้งานออกแบบมาพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนอีกด้วย หากสังเกตดีๆ คุณจะพบว่า บริเวณพื้นถนนใต้สัญญาณไฟจราจร จะมีระบบเซนเซอร์สีแดงเพื่อเตือนคนข้ามถนน เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนี้ พวกเขายังมีแผนจะพัฒนาพื้นที่รอวินมอเตอร์ไซค์ที่มีระบบแจ้งเตือนจำนวนรถที่ว่างให้บริการ หรือการติดไฟหน้าวินบอกสถานะ เพื่อลดความขัดแย้งของวินในแต่ละพื้นที่ เรียกได้ว่า นี่เป็นอีกโปรเจกต์ที่ทางศูนย์ทดลองเมืองและกรุงเทพมหานครกำลังดำเนินการและพัฒนาให้เกิดขึ้นจริงในอนาคตเช่นกัน

    ในฐานะหนึ่งในนักพัฒนาเมือง อาจารย์มาร์คหวังว่ากิจกรรมเหล่านี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนในย่านเกษตร-บางบัว ลุกขึ้นมาสร้างพื้นที่และกิจกรรมในแบบของตัวเอง "ในงานนี้เราทำงานกับกลุ่มนักศึกษาเป็นหลัก ถ้าเขามีเพื่อนที่แสดงงานในนี้ เขาเห็นว่ามันเกิดการเปลี่ยนแปลง มีสถานที่ที่ให้ประสบการณ์ใหม่ๆ มีตัวอย่างที่สัมผัสได้จริง พวกเขาก็จะรู้สึกว่า ถ้าเขาทำได้ เราก็น่าจะทำได้เช่นกัน มันก่อให้เกิดแรงผลักดัน หรือ จุดประกายให้ตัวเขาอยากทำบางสิ่งบางอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ภายใต้ของสิ่งที่เขาชำนาญ"

    ตั้บเสริมต่อว่า "แค่เขามาร่วมงานและลองใช้สิ่งที่เราสร้าง แล้วบอกว่าเขาชอบหรือไม่ชอบ มันก็ทำให้พวกเราได้มุมมองใหม่ๆ และได้รับพลังในการสร้างสรรค์งานต่อแล้ว เวลาเราทำงาน เราไม่มีทางรู้หรอกว่า สิ่งที่เราสร้าง มันจะดีกับเขาจริงๆ ไหม ยิ่งโปรเจกต์ของอาจารย์มาร์ค มันทำงานกับคนเมืองจริงๆ ทำงานกับปัญหาที่มันเกิดขึ้นจริง เพราะฉะนั้น คนทั่วไปที่เข้ามาใช้ คือ กลุ่มคนที่เราจะตอบคำถามเหล่านี้ได้"

    ด้วยกิจกรรมอันหลากหลายที่เกิดจากการร่วมมือของเหล่าศิลปินและองค์กรเอกชนก็ทำให้ผู้ชมอย่างเราๆ มองเห็นความเป็นไปได้ของการเติบโตในย่านเกษตร-บางบัวไม่น้อยเลยทีเดียว

    แม้กิจกรรมตลอด 9 วันภายในงาน Bangkok Design Week 2024 อาจเป็นเพียงการทดลองเล็กๆ ที่เกิดจากการผสมของสารตั้งต้นอย่างชีวิตของคนเมือง เข้ากับการสร้างสรรค์และมุมมองใหม่ๆ เพื่อให้เหล่าผู้ชมได้รับประสบการณ์และแรงบันดาลใจ แต่ในอนาคต ทั้งสามคนเชื่อว่า ย่านเกษตร-บางบัว จะมีพื้นที่ทำกิจกรรมใหม่ๆ ที่สร้างความรื่นรมย์ในจิตใจและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในย่านให้ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน

นิษณาต นิลทองคำ

กองบรรณาธิการที่กำลังใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน ชอบคุยกับผู้คน ท้องฟ้า และเสียงดนตรี เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการฟังเพลง ที่บางทีก็ปล่อยให้เพลงฟังเรา

นภัส วิบูลย์พนธ์

ช่างภาพและนักประสานงานเจ้าระเบียบที่อัพสกิลความละเอียดขึ้นทุกปี กำลังใช้เวลากับเพื่อนสนิทที่ชื่องานเขียนและภาพถ่ายไปพลางๆ ระหว่างรอแก่ไปเจอฝันเล็กจิ๋วอย่างการนั่งชมต้นไม้ในสวนหลังบ้านของตัวเองบนเก้าอี้โยกกับหมาซักหนึ่งตัว