NATTHAPHORN จากเด็กที่อ่านการ์ตูนขายหัวเราะ สู่การบอกเล่าวัฒนธรรมผ่านภาพวาดของตัวเอง

    เต็นท์-ณัฐพร ขำดำรงเกียรติ กำลังเดินใกล้เข้ามายังสถานที่ซึ่งเรานัดกันไว้ บ่าข้างหนึ่งของเขาสะพายกระเป๋า ขณะที่มืออีกข้างหนึ่งถือถุงใบใหญ่บรรจุเล่มผลงานเตรียมมาคุยกับเรา
    ย้อนกลับไปในงาน Bangkok Illustration Fair 2022 ระหว่างที่เดินทำความรู้จักกับผลงานของนักวาดที่เข้ารอบเป็น BKKIF Artist ทั้ง 150 คนทีละบูท หนึ่งในศิลปินที่ทำให้เราแวะสำรวจสิ่งที่อยู่ในภาพคือ NATTHAPHORN นอกเหนือจากลายผ้าและการตัดเส้นสวยสะอาด การลงสีด้วยมาร์กเกอร์ที่แนบเนียนเหมือนสีน้ำยิ่งละมุนละไม จนอยากทำความรู้จักกับคนในแต่ละภาพมากกว่านี้
    เขาส่งผลงานเข้ามาอีกในปีถัดมา จากปีแรกที่เราได้ชมภาพวาดพอร์เทรตของหญิงชายที่สะท้อนเรื่องราวผ่านลายผ้าและการแต่งกาย ปีที่สองเขาส่งภาพพอร์เทรตของหญิงสาวที่ทำผม สวมเครื่องประดับ บรรจุอยู่ในกรอบสวย โดยมีฉากหลังเป็นวอลเปเปอร์ลวดลายดอกไม้ หรือ ภาพของตัวพระที่สวมใส่เครื่องแต่งกายงามวิจิตรกำลังร่ายรำอย่างอ่อนช้อย กระทั่งภาพซึ่งบรรจุตัวละครที่ให้เบาะแสของเรื่องราวด้วยฉากหลัง
    ความแตกต่างในการนำเสนอผลงานทำให้เขาได้รับเลือกให้เป็น BKKIF Artist 2023 ต่อเนื่องอีกปี เราสงสัยว่าทำไมเขาจึงเลือกสร้างสรรค์ศิลปะที่ผสมผสานความเป็นไทยในยุคปัจจุบัน แถมยังบอกเล่าเรื่องราวทางวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของตัวละครนั้นๆ ได้อย่างน่าค้นหา
    เมื่อเขามานั่งอยู่เบื้องหน้าเราจึงไม่รอช้า และเริ่มทำความรู้จักกับเขาทันที
แรงบันดาลใจจากขายหัวเราะและภาพประกอบในวรรณกรรมเยาวชน
    เต็นท์เล่าให้ฟังว่าเขามีความสนใจด้านการวาดรูประบายสีตั้งแต่เด็ก แต่สิ่งที่สนใจและผลักดันให้อยากวาดรูปเป็นพิเศษคือการ์ตูน 
    "ผมเป็นเด็กที่อยู่ในช่วงยุคปลาย 90 ย่าง 2000 เหมือนเด็กทั่วไปในยุคนั้นที่วันเสาร์อาทิตย์จะตื่นเช้ามาดูการ์ตูน เพราะเราเป็นคนกรุงเทพฯ ปริมณฑล อะไรที่เป็นเทรนด์ช่วงนั้นเราก็ได้เห็น พวกสื่อต่างๆ การ์ตูนต่างประเทศ การ์ตูนญี่ปุ่น การ์ตูนดิสนีย์ เราได้ดูผ่านสื่อ ทีวี โรงหนัง แล้วเราชอบ ทีนี้เราอ่านการ์ตูนด้วย การ์ตูนที่ผมอ่านจะเป็นการ์ตูนไทยอย่างขายหัวเราะ เพราะเป็นการ์ตูนที่ราคา 8-10 บาท ไม่แพง ขอเงินแม่ซื้อได้ แล้วเมื่อก่อนคำพูดของตัวการ์ตูนยังเป็นลายมือของนักวาด ไม่ใช่การพิมพ์ เลยมีความสนใจทั้งคาแรกเตอร์ ลายเส้น และลายมือของเขาด้วย คนนี้เขียนเส้นหนาๆ อีกคนเขียนเส้นเล็กๆ มีความละเอียดอ่อน เรียกได้ว่านักวาดมีเอกลักษณ์ของตัวเอง" 
    เราถามถึงนัดวาดการ์ตูนที่เขาชอบ แล้วก็ได้คำตอบว่ามีความชอบต่อนักวาดแต่ละคนไม่เหมือนกัน เช่น ชอบอ่านเนื้อหาของพี่ต่าย (ภักดี แสนทวีสุข) ชอบลายเส้นของ เฟน สตูดิโอ (อารีเฟน ฮุซานี) ซึ่งเมื่อชอบลายเส้นของใครแล้วก็จะเหมือนกับเด็กทั่วไปที่จะเริ่มหัดวาดตาม "ผมถึงกับเอากระดาษเอสี่มาพับแล้วทำเป็นหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะของตัวเอง อารมณ์เด็กๆ ที่ชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก แล้วเป็นสิ่งที่ชัดเจนมาก"
    จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นความสนใจในหนังสือก็เติบโตขึ้นตามวัย "ตอนมัธยมผมเริ่มสนใจอ่านวรรณกรรมเยาวชน ทั้งวรรณกรรมแปลของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ นานมีบุ๊คส์ ที่มีความพิถีพิถันในการออกแบบรูปเล่มและภาพประกอบสวย ส่วนใหญ่จะมีความคราฟต์ ดรออิงสวย ลายเส้นมีเอกลักษณ์ แล้วผมสนใจอ่านวรรณกรรมแปลแนวแฟนตาซีพวก แฮร์รี่ พอตเตอร์ ด้วยนะ ซึ่งเวลาเราซื้อมาอ่านเราจะเปิดดูภาพประกอบซ้ำๆ ลายเส้นพวกนี้ดีมากเลย เหมือนจดจำเป็นภาพติดตา แล้วส่วนประกอบของเนื้อเรื่องในวรรณกรรมเหล่านี้จะมีแหล่งที่มาจากพวกตำนานกรีกโรมัน ผมเลยไปซื้อหนังสือเทพปกรณัมมาอ่าน เราเลยมีโอกาสได้เห็นภาพประกอบเรื่องที่เขาไปดึงมาจากงานเพนต์ติงคลาสสิกของฝรั่งที่วาดเกี่ยวกับเรื่องของเทพหรือปกรณัมเรื่องนั้นๆ ทำให้เราได้เห็นภาพมาสเตอร์พีซมากมายในหนังสือ"
แรงดึงดูดจากผลงานอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต
    ดูจากผลงานปัจจุบันของเต็นท์แล้วจะสัมผัสได้ถึงความเป็นไทยที่มีความละมุนละไม เราจึงอยากรู้ว่าเขาได้รับอิทธิพลของความเป็นไทยมาจากไหน แล้วก็ได้รับคำอธิบายว่าอยู่ในช่วงวัยเรียนอย่างเข้มข้นทีเดียว ตอนมัธยมเขาเรียนนาฏศิลป์ไทย ที่วิทยาลัยนาฏศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ซึ่งอยู่ในบรรยากาศศิลปะในขนบธรรมเนียมไทยอยู่แล้ว แต่ยังคงเหมือนกับวัยรุ่นทั่วไปที่มีความสนใจอยู่กับเทรนด์ร่วมสมัยและศิลปะตะวันตก จนตอน ม.4 มีวิชาหุ่นไทยที่เขาต้องทำรายงานส่งอาจารย์ แล้วได้อ่านหนังสือเรื่องหุ่นที่เขียนโดย จักรพันธุ์ โปษยกฤต จึงเริ่มหันมาสนใจศิลปะไทยอีกครั้ง
    "ภาพประกอบในหนังสือเล่มนั้นของ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต เป็นงานที่สวยงาม มีความเชื่อมโยงกับเราตรงที่อาจารย์ชอบศิลปะและนาฏศิลป์ไทย เขาวาดสิ่งที่เรากำลังเรียนอยู่ องค์ประกอบต่างๆ ในภาพเป็นของไทย ขณะเดียวกันสไตล์การวาดเหมือนกับงานคลาสสิกของตะวันตก เลยรู้สึกว่ามู้ดแบบนี้ใช่ เราเห็นงานมาสเตอร์พีซฝรั่งก็ชอบ แต่ชอบเฉยๆ พอมาเจองานอาจารย์เป็นอีกขั้นหนึ่งของความชอบ มันอิ่มเอม การใช้สี ความชวนฝัน มู้ดของภาพเป็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็นใครทำอะไรแบบนี้มาก่อน เราก็เลยไปติดตามผลงานของอาจารย์ต่อ ผมจำได้ว่าจะมี ส.ค.ส. ของมูลนิธิเด็กที่อาจารย์วาดออกจำหน่ายช่วงปีใหม่ เราก็ไปตามซื้อ และอาจารย์จะเขียนคอลัมน์ประจำลงนิตยสารพลอยแกมเพชร แต่ผมไม่ได้ซื้อนิตยสาร จะหาซื้อหนังสือรวมเล่มของอาจารย์จากร้านหนังสือ โดยหนังสือรวมเล่มของอาจารย์ใช้ชื่อว่า รวมเรียงความของ ศศิวิมล และอาจมีชื่ออื่นๆ อีก เช่น ศศิวิมลท่องเที่ยว คิดถึงครู หุ่นจักรพันธุ์ เป็นต้น เพราะยุคนั้นเราไม่ได้เข้าถึงอินเตอร์เนตขนาดนั้น ถ้าอยากดูว่าผลงานของอาจารย์มีอะไรอีกบ้างและได้อ่านบทความหลายๆ เรื่องก็ต้องซื้อหนังสือ"
    ข้อสำคัญของการซื้อหนังสือมาอ่านทำให้เขาเข้าใจแนวคิดและการทำงานของศิลปินผ่านงานเขียนด้วย "พอเราซื้อก็ไม่ได้ดูภาพอย่างเดียว เราอ่านเนื้อหาด้วย ทำให้ได้อ่านความคิดของศิลปินผ่านงานเขียน ต้นทางของความคิดกว่าจะมาเป็นรูปหนึ่งของอาจารย์เป็นมาอย่างไร อาจารย์ไม่ได้ทำงานเรียลลิสติกอย่างเดียว เราเห็นว่าอาจารย์วาดรูปจิตรกรรมไทยด้วย รู้สึกว่าเขาเป็นศิลปินที่เก่ง จึงเริ่มเกิดความรู้สึกว่าอยากวาดรูปเก่งๆ อยากวาดสีน้ำ สีน้ำมันได้สวยๆ อย่างศิลปินคนนี้ ช่วงนั้นเป็นช่วงมัธยมปลายพอดี ผมเลยคิดว่าจะเรียนไฟน์อาร์ต หาข้อมูลและเริ่มไปเรียนติว สุดท้ายจึงเข้าเรียนที่คณะศิลปกรรม ภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"
เลือกเดินบนเส้นทางศิลปะและการค้นหาแนวทางเฉพาะของตน
    เมื่อถามถึงช่วงเวลาที่ตัดสินใจว่าจะจริงจังกับศิลปะ เต็นท์ก็บอกว่า "ตอนเด็กๆ เวลาเราวาดรูปเรามีความจริงจังนะ เราวาดเล่นๆ ก็จริง แต่เราตั้งใจวาด ไม่ได้วาดเสร็จแล้วจบๆ ไป อาจจะวาดในสมุดเรียน ไม่ได้วาดในสมุดสเก็ตช์ หรือแต่ก่อนจะมีสมุดระบายสีที่มีลายเส้นแล้วให้เด็กลงสี เราจะตั้งใจกับการลงสีมาก อารมณ์ในการที่เราวาดตอนนั้น เราถือว่าเราจริงจังนะ ความเป็นคนชอบวาดรูปก็มีพื้นฐานในระดับหนึ่ง แต่พอเวลามาเรียนในมหาวิทยาลัย จากเด็กที่ชอบวาดรูปเมื่อเข้ามาเป็นนิสิตเรียนศิลปะจริงๆ แล้ว มันมีอะไรมากกว่าการแค่ชอบวาดรูปและลงมือทำเฉยๆ แต่ต้องเรียนทักษะและหลักวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวกับศิลปะ ฝึกวิธีคิด และการนำเสนอผลงานกับอาจารย์ ระหว่างเรียนจึงมีช่วงท้อ สับสน และเครียดบ้าง แต่ไม่เคยรู้สึกว่าเลือกเรียนผิดครับ" เขายืนยันหนักแน่นว่ามีความชอบด้านศิลปะที่ชัดเจนมาตลอด
    เพียงแต่เมื่อเลือกเดินบนเส้นทางศิลปะแล้วก็ต้องค้นหาแนวทางของตัวเองจนกว่าจะเจอ เขาเล่าให้ฟังว่าช่วงแรกตอนเรียนวิชาเอกเพนต์ติง เริ่มทำงานที่ต้องสร้างสรรค์ผลงานด้วยตัวเอง เขายังอยากวาดรูปพอร์เทรตหรือรูปผู้หญิงสวยๆ แต่เมื่อมองย้อนกลับไปเขาก็เข้าใจว่าสมัยนั้นยังยึดติดอยู่กับผลงานของอาจารย์จักรพันธุ์ที่ตัวเองชื่นชอบอยู่ จึงเป็นช่วงที่ล้มลุกคลุกคลานพอสมควร ตอนเรียนจบแล้วจึงเริ่มวาดรูปสไตล์อื่นดูบ้าง
    "พอเรียนจบมีความรู้สึกว่าอยากเรียนจิตรกรรมไทยบ้าง ก็เลยเข้าไปเรียนที่โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย) แต่ผู้ชายหรือผู้หญิงเรียนได้หมดครับ หลักสูตรเขาเหมือนโรงเรียน กศน. หลักสูตรแค่ 1 ปี เรียนปฏิบัติร้อยเปอร์เซ็นต์ รับผู้เรียนอายุ 15 ปีขึ้นไป เพราะฉะนั้นช่วงที่เราสมัครเข้าไปเรียนจะมีคนมาเรียนทุกช่วงวัยเลยครับ มีตั้งแต่เด็กวัยรุ่น คนทำงาน คนเกษียณ พอมาเรียนที่โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย) ก็เลือกเรียนแผนกช่างเขียน ทุกคนไม่ได้เป็นศิลปะ บางคนเขาอาจจะเป็นแม่บ้าน ว่างๆ แล้วมาเรียน เหมือนต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ เรียนไปพร้อมๆ กัน เรียนการเขียนลาย จิตรกรรมไทยเริ่มต้นอย่างไร แต่เรามีพื้นฐานการเรียนศิลปะมาแล้วก็เรียนรู้ได้ง่าย เรียนรู้ไว เข้าใจได้ง่ายหน่อย เพียงแต่ว่าเป็นศิลปะสาขาไทยเฉยๆ"
ผืนผ้าที่ปูทางไปสู่แนวทางการวาดภาพของตัวเอง

    ระหว่างการค้นหาตัวเองเขายังสนใจภาพวาดทางพฤกษศาสตร์ (Botanical Art) ซื้อดอกไม้ที่ปากคลองตลาดมาวาดรูปบ้าง แต่ยังหาแนวทางที่ชัดเจนไม่เจอ ยังวนเวียนอยู่กับการวาดที่สวยงาม พิถีพิถัน และเน้นไปที่การใช้สีเป็นหลัก ถือเป็นการทดลองไปเรื่อยๆ จนกระทั่งรู้จักกับเพื่อนหลายคนในโรงเรียนช่างฝีมือในวังชายที่มีความสนใจและสะสมผ้า

    "คนที่มีเรียนที่นี่ส่วนใหญ่มีความสนใจในความเป็นไทยอยู่แล้ว และมีเพื่อนคนหนึ่งเขาสะสมผ้า ทำให้เราได้เห็นผ้าจริงๆ คือก่อนหน้านั้นเราอาจจะเคยเห็นผ้าซิ่นหรือผ้าอะไรแต่เราไม่เคยสนใจ แต่พอเราเห็นผ้าจากคนที่เขามีความสนใจเรื่องเครื่องแต่งกาย เขามีการรีเสิร์ชและรู้จักวัฒนธรรมท้องถิ่น ทำให้เราได้เห็นความงามในลายผ้า แบบที่ไม่ได้ดูจากอินเตอร์เนต เราได้สัมผัสเนื้อผ้าจากวัสดุที่หลากหลาย มีการใช้ทองคำมาผสมในการทอผ้า มันรู้สึกว่าสวย เห็นแล้วชอบมาก พอเราได้คุยกับเขาว่าลายนี้คืออะไร การแต่งกายของภาคเหนือเป็นอย่างไร เอกลักษณ์ของผ้าซิ่นแต่ละที่ไม่เหมือนกัน เราก็เริ่มเห็นคุณค่าในสิ่งนี้มากขึ้น บวกกับเราชอบวาดรูป เราก็อยากถ่ายทอดความงามเหล่านี้ออกมาเป็นรูปวาดนะ คือวาดใส่รสนิยมตัวเองลงไปด้วย ไม่ได้ลอกเหมือนงานลอกลายหรือเขียนเป็นแพทเทิร์น เราเลยศึกษาให้เข้าใจก่อนว่าโครงสร้างหรือผ้านั้นๆ มีที่มาที่ไปอย่างไร ใช้สีประมาณไหน ก่อนที่จะมากำหนดสีแบบที่เราต้องการแล้วเขียนขึ้นมา แล้วเล่าจินตนาการของเราผ่านตัวคนและเสื้อผ้า"
    เต็นท์พาเราไปสัมผัสกับความตื่นเต้นที่ได้สัมผัสกับเสน่ห์ผ้าไทยอีกครั้ง
การทดลองใหม่ๆ ที่ไม่สิ้นสุด

    เต็นท์เริ่มนำผลงานของเขาออกมาประกอบการเล่าเรื่องให้เห็นภาพ เขาพลิกแฟ้มผลงานไปถึงช่วงแรกที่เน้นการนำเสนอตัวคนและลวดลายของผ้า ซึ่งปรากฏให้เห็นภาพขาว-ดำก่อนที่จะเริ่มลงสีสันลงไป "เราโฟกัสแค่นี้ก่อน เพราะพื้นหลังอย่างป่า ทุ่งหญ้า อาจจะไม่จำเป็นในการเล่าสิ่งที่เรากำลังนำเสนอ และถ้าวาดแบ็คกราวน์จะใช้เวลานานกว่าจะเสร็จ จำได้ว่าเริ่มจากรูปขาว-ดำก่อน พอวาดหนึ่งรูปเสร็จมันก็เกิดไอเดียต่อไปเรื่อยๆ เพราะเรื่องเหล่านี้ไม่ได้มีแค่แพทเทิร์นอย่างเดียว มันมีแง่มุมอื่นที่หลากหลายน่าค้นหามากขึ้น ผ้าของที่นี่เรายังไม่เคยวาด สีแบบนี้ยังไม่เคยใช้ เลยเกิดมาเป็นซีรีส์ชุดพอร์เทรตคนสวมชุดต่างๆ ขึ้นมา"

    "เวลาผมวาดรูปช่วงแรกเวลาลงสีจะใช้สีน้ำกับสีกวอชผสมกัน อาจจะมีทองคำเปลวมาผสมบ้าง แล้วช่วงนั้นเวลาต้องทำงานอื่นไปด้วย พอมาวาดสีน้ำจะใช้เวลานาน ก็เลยเปลี่ยนมาเป็นมาร์กเกอร์ เรายังไม่เห็นใครทำงานมาร์กเกอร์กับจิตรกรรมไทย ก็เลยลองทำดูว่าผลลัพธ์มันจะออกมาเหมือนอย่างนี้ไหม ทดลองมาเรื่อยๆ ครับ พอเริ่มรู้แล้วว่าจะต้องลงสีอย่างไรให้ไม่เป็นปื้น ไม่ให้เป็นรอย เพราะสีมาร์กเกอร์มันจะเบลนด์ไม่ได้เหมือนสีน้ำ พอเริ่มรู้แล้วว่าเทคนิคจะทำยังไงเลยเริ่มพัฒนา ลองสีทองดูสิ เปลี่ยนจากทองคำเปลวมาเป็นหมึกสีทอง เริ่มแบบนี้ทำมาเรื่อยๆ"

    ถึงแม้ว่าเต็นท์จะทำงานฟรีแลนซ์ด้านศิลปะ กราฟิกดีไซน์ และอื่นๆ แต่เขารู้สึกว่าการทำงานศิลปะส่วนตัวเป็นสิ่งที่ตอบสนองความต้องการของตัวเองมากที่สุด "งานพวกนี้คืองานส่วนตัวร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วแต่ละชิ้นไม่ได้เกิดขึ้นในวันสองวัน ต้องใช้เวลาครับ งานมาร์กเกอร์หนึ่งรูปใช้เวลาหนึ่งเดือน เราทำงานอย่างอื่นไปด้วย แล้วค่อยๆ ทำงานส่วนตัวไป เพราะดีเทลมันเยอะ บางทีผมคิดภาพในหัว อาจจะมีสเก็ตช์คร่าวๆ บ้าง แต่พอทำจริงเราไม่รู้ว่าจะต้องจบอย่างไร ทำไปคิดไปก็มี แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไป"
    ด้วยความละเอียดและพิถีพิถันในงานของเขาทำให้หลายคนไม่คิดว่าเขาลงสีด้วยมาร์กเกอร์ "คนมาดูงานแล้วบอกว่างานสีน้ำ ผมก็บอกว่าไม่ใช่ ผมก็งงว่าทำไมคนถึงมองว่าเป็นงานสีน้ำเหมือนกัน อาจจะเพราะโดยพื้นฐานเราทำงานสีน้ำอยู่แล้ว ซึ่งเวลาลงสีจะต้องวางแผนเพราะแก้งานยาก ถ้าจุดนี้เสียจะเห็นเลยว่าสีช้ำ มันลบไม่ได้ พื้นขาวต้องไม่เลอะ เราต้องหาอะไรมากั้น สมมติเราจะลงสีช่วงนี้เราก็จะเอากระดาษมาปิด มันเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้งานพวกนี้ใช้เวลาหนึ่งเดือน เพราะเราไม่ได้โฟกัสแค่การลงสี เราโฟกัสที่พื้นที่ต้องสะอาดด้วย ดังนั้นเมื่อเปลี่ยนมาใช้มาร์กเกอร์จึงเรียนรู้ไม่นาน"
การวาดภาพที่หลากหลายเพื่อฝึกฝนและพัฒนาฝีมือ

    นอกจากคาแรกเตอร์คนสวมใส่เสื้อผ้าในอิริยาบถต่างๆ แล้ว ช่วงหลังเราได้เห็นผลงานรูปแบบอื่นๆ ทั้งการวาดภาพสัตว์ พื้นหลังที่มีฉากเป็นห้อง ผนังลวดลายต่างๆ หรือ ท่ามกลางธรรมชาติ เหมือนกับยังค้นหาสิ่งใหม่ๆ ในแนวทางการวาดภาพของตัวเองได้อยู่เสมอ

    เขาเล่าย้อนให้เห็นถึงเส้นทางการพัฒนาผลงานของตัวเองอีกนิด "ใช่ จุดเริ่มต้นเราอาจจะชอบงานพอร์เทรต จนปัจจุบันก็ยังชอบอยู่นะ เพียงแต่สมัยเรียนเราอาจจะยึดติดกับศิลปินหรืองานศิลปะที่เราชอบ 'ฉันจะต้องทำอย่างนี้' 'ต้องใช้สีสวยๆ เท่านั้น'  แต่พอเราได้มาวาดแนวทางนี้ เหมือนเราหลุดออกจากสิ่งที่เรายึดติดตอนเรียน ไม่ได้หมายความว่าเราจะทิ้งศิลปินที่เราชอบที่เรารัก เราชอบเหมือนเดิม เราชื่นชมเหมือนเดิม ศึกษางานเขาเหมือนเดิม และไม่ปฏิเสธว่าได้รับอิทธิพลมาจากตัวเขา แต่เรารู้จักตัวเองเพิ่มขึ้นว่า เราอาจจะมีจุดร่วมบางอย่างกับสิ่งที่ศิลปินเราชอบทำ แต่เราไม่ใช่เขา แบ็คกราวน์ชีวิตเราไม่เหมือนกัน เรามีมุมมองของเรา มีความชอบส่วนตัวของเรา เราก็เลยหันมาโฟกัสกับความสนใจในสิ่งที่เราคิดว่าเราชอบสิ่งนี้จริงๆ แล้วถ่ายทอดมันออกมา อย่างเวลาจะคิดงานพวกนี้ครับ มันมีเรฟเฟอเรนซ์มันของมันอยู่แล้ว และเกิดมาก่อนศิลปินที่เราชอบอีก เราก็เลยหันไปเอาแรงบันดาลใจจากข้าวของ เรื่องราว หรือ ประวัติศาสตร์จากสิ่งเหล่านั้นดีกว่า เหมือนเป็นการหาออริจินัลไอเดียของเราจากสิ่งที่เป็นศิลปะวัตถุ เวลาเราจะคิดงานหรืออยากวาดองค์ประกอบอะไรบางอย่างในงานของเรา ผมเลยจะรีเสิร์ชจากพิพิธภัณฑ์ เว็บไซต์ หรือ บางทีก็ศึกษาวัฒนธรรมอะไรบางอย่างไปเรื่อยๆ แล้วจะเริ่มเชื่อมโยงกันได้เอง มันเกิดไอเดียที่เราคิดขึ้นมาได้ เราอาจจะไม่ใช่คนแรกที่คิด เพียงแต่เรามีมุมมองในแบบที่เราจะสร้างขึ้นมา"
    แล้วความรู้ที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้ภาพชุดใหม่ๆ มีการนำเฟอร์นิเจอร์ ของใช้ ของตกแต่ง หรือกระทั่งฉากหลังของยุคสมัยต่างๆ มาใช้ในการวาดลงไปในภาพด้วย
    เขาเล่าว่าองค์ประกอบต่างๆ มีการเลือกสิ่งที่เข้ากันกับภาพมาใช้ บางชิ้นอาจจะไม่ได้อยู่ในยุคสมัยเดียวกัน แต่เมื่อมองลงไปในรายละเอียดของสิ่งต่างๆ จะพบว่ามีความน่าสนใจ และเป็นการขยับขยายที่กว้างกว่าการใช้ลวดลายของผ้าอย่างเดียวเหมือนช่วงแรกๆ
    "เริ่มจากผมไปดูภาพถ่ายเก่าๆ เวลาคนถ่ายรูปถ่ายสมัยโบราณ ในสตูดิโอของเขาจะมีพร็อป เราก็ได้เรฟเฟอเรนซ์จากตรงนั้นแหละ แต่วัตถุต่างๆ เราเลือกสิ่งที่เข้ากับตัวประธานซึ่งเป็นตัวคนในรูปมากที่สุด อย่างรูปนี้เป็นชุดในยุครัชกาลที่ 6-7 ที่เริ่มมีอิทธิพลของตะวันตกเข้ามา เราก็เลือกแจกันที่มีรูปเมอร์เมด รวมถึงไทยรับวัฒนธรรมมาหลากหลายและมีของจีนด้วย คนไทยก็ชอบปลูกไม้ดัดบอนไซเหมือนกันจึงมีกระถางบอนไซจีนให้เข้ากับตัวคนที่สวมชุดในยุคนั้น"

    เขาไม่หยุดอยู่เพียงการวาดคน ฉาก และสิ่งของ แต่นำสัตว์และการออกแบบพื้นหลังมาเพิ่มชีวิตชีวาให้กับผลงาน "เนื่องจากพอวาดคนจะเหมือนกับว่าเราสนใจเฉพาะคนเฉยๆ แต่จริงๆ แล้วอาจารย์ที่เก่งจิตรกรรมไทยเขายังวาดยักษ์ ลิง และสัตว์ต่างๆ ด้วย พอเรามีผลงานที่นำเสนอคนเป็นหลักแล้ว ผมรู้สึกว่าเราต้องวาดอย่างอื่นได้ด้วย เพราะเราจะวาดอยู่แค่อย่างเดียวไม่ได้ เลยลองวาดสัตว์หิมพานต์ ราชสีห์ เพื่อที่จะไม่ทิ้งทักษะเหล่านี้ไป ถ้าเราวาดสิ่งหนึ่งไปนานๆ พอจะมาวาดสัตว์จะจับทางไม่ถูก เราเลยรู้สึกว่าไม่ได้นะ เราต้องทำได้ ถ้าในอนาคตอยากวาดอะไรที่มากกว่าเดิม แล้วจะต้องนำพวกนี้มาใช้ การวาดสัตว์ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ เหมือนการฝึกฝนตัวเองและสร้างความน่าสนใจของงานตัวเองไม่ให้มีเฉพาะงานวาดคนอย่างเดียว"

การนำผลงานมาจัดแสดงที่ Bangkok Illustration Fair เป็นครั้งแรก

    ระหว่างที่พลิกแฟ้มผลงานและเล่าเรื่องราวแต่ละภาพให้ฟัง เต็นท์บอกว่าเขาวาดภาพสะสมมาแล้วหลายปี ตอนแรกตั้งใจว่าจะส่งผลงานเข้ามาสมัคร Bangkok Illustration Fair ตั้งแต่ปีแรก แต่ติดปัญหาเรื่องไฟล์ผลงาน จึงเตรียมความพร้อมแล้วนำมาส่งในปี 2022 โดยใช้ชื่อว่า NATTHAPHORN แบบไม่ได้คาดหวังอะไร แต่เขาก็ได้รับเลือกให้เป็น BKKIF Artist 2022 และเข้าร่วมจัดแสดงงานในที่สุด

    "สาเหตุที่ตัดสินใจส่งเข้ามาเพราะผมไม่เคยแสดงงานในแกลเลอรีมาก่อน แต่ช่วงนั้นยังไม่ได้วาดภาพแนวนี้นะครับ ทีนี้พอเห็นรายละเอียดของงาน Bangkok Illustration Fair รู้สึกว่าน่าสนใจ น่าจะเปิดโอกาสให้กับเราได้ แล้วช่วงเวลาของการแสดงงานไม่กี่วัน การติดตั้งวางแผนมาแล้วว่าจะติดตั้งไม่ยากมาก เก็บง่ายๆ เลยไม่ค่อยเหนื่อยเท่าไร แล้วงานที่มีอยู่แล้วยังไม่เคยมีใครเห็นงานจริง ทำให้คนที่เข้ามาจะมีสองแบบ หนึ่งคือคนทั่วไปที่ไม่เคยเห็นงานเรามาก่อนจะสนใจและชอบศิลปะไทยเหมือนกัน สองคือคนที่เคยติดตามงานผมอยู่แล้วและมาเพื่อที่จะมาหาเราโดยเฉพาะ ผมก็แปลกใจว่าเขารู้จักเราด้วย ผมรู้สึกว่าคนที่เป็นผู้ใหญ่เขาจะเข้าใจงานเราง่าย แต่ยังมีคนที่อายุน้อยกว่าเรามาสนใจเหมือนกัน เพราะที่ผ่านมาผมเคยไปออกบูทขายของบ้าง คนที่สนใจการ์ดของเราส่วนใหญ่จะเป็นคนอายุเยอะหน่อย หรือคนที่เนิร์ดเรื่องวัฒนธรรมอยู่แล้วถึงจะมาสนใจงานของเรา แต่ BKKIF เป็นงานที่มีคนทุกช่วงวัย จึงได้เจอคนทุกกลุ่ม"
    การพัฒนาผลงานไม่หยุดนิ่งยังทำให้เขาได้รับเลือกให้เป็น BKKIF Artist 2023 อย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่สอง และมีโอกาสแบ่งปันแนวคิดการทำงานและประสบการณ์การค้นหาแนวทางของตัวเองใน Talk Session อีกด้วย

    เมื่อถามว่าเขาเป็นศิลปินแนวไหน เขาก็ตอบว่า "ไม่เคยนิยามตัวเองว่าสร้างงานประเภทไหนนะ แต่สิ่งที่เราทำเรารู้สึกว่า เรามีรสนิยมที่ชอบความวินเทจหรือแนวโอลด์สคูลที่มีความวิจิตรคนหนึ่ง มันคือสิ่งที่เราถนัด ต่อให้เราทำสิ่งที่ดูทันสมัยขึ้นมาหรือใช้ไอแพดวาดรูปก็ยังใช้ฝีมืออยู่ มันหลีกหนีไม่พ้น เราในฐานะที่ดูงานโบราณและเห็นงานศิลปะร่วมสมัยด้วย งานศิลปะไทยและเอเชียสมัยโบราณเขาก็ใช้สีสันสดใสแบบนี้ เราเลยรู้สึกว่าเราเป็นคนกลางๆ ไม่ได้ไปสุดในทางที่สมัยใหม่มาก แต่ไม่ได้ไปในทางอนุรักษ์นิยมขนาดนั้น เราสนใจสิ่งใหม่ สนใจปัจจุบันขณะ เมื่อมองเห็นงานโบราณเราก็นำมาสร้างสรรค์ในแบบที่เราถนัด ตามที่มองว่าน่าจะสร้างสรรค์ต่อแบบไหนได้"

    นับตั้งแต่ที่เริ่มต้นคุยกันจนถึงช่วงท้าย เราพบว่าเขามีความรักในการทำงานศิลปะมาตลอด จึงอยากรู้ว่าเขามองเส้นทางในอนาคตของตัวเองไว้อย่างไร
    "เรารักศิลปะเนอะ แล้วการที่เรียนศิลปะอาจารย์เขาจะให้คำแนะนำอยู่แล้วว่าการเป็นศิลปินในไทยลำบากอย่างไร เรามีการเตรียมใจพบเจอกับความยากลำบากหลังเรียนจบ และเรามีความรู้สึกว่าถ้าเรียนจบไปเราไม่อยากจะหยุดทำสิ่งนี้ ประกอบกับเวลาที่เราเห็นรุ่นพี่ที่เขาเรียนจบไป มีทั้งบางคนเขาไปทำอาชีพอื่น และบางคนอาจจะยังทำงานศิลปะอยู่อย่างต่อเนื่อง แล้วเห็นว่างานเขาดูก้าวกระโดดไปกว่าสมัยที่เขายังเรียนอยู่อีก เราก็อยากพัฒนางานของตัวเองอย่างนั้น เราไม่อยากเป็นคนที่กลับมาวาดรูปตอนอายุ 40 หรือ 60 เพราะมีเวลาว่าง มันจะขาดช่วง เหมือนการสะสมประสบการณ์มันจะขาดไป เราอยากที่จะรักษาความสามารถและทักษะของตัวเองมากกว่า ก็เลยคิดว่าศิลปินน่าจะเป็นสิ่งที่เราอยากเป็น" 
    วิธีคิดในการพัฒนาผลงานของเขา ทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในศิลปะแบบไทยที่สามารถอยู่ร่วมกับยุคสมัยได้อย่างน่าติดตาม โดยเฉพาะการทำผลงานอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง ทำให้เขาคือศิลปินอย่างที่อยากเป็นแล้ว ไม่ว่าใครจะนิยามผลงานเขาอย่างไรก็ตาม
Favorite Something
  •   The Chronicles of Narnia, Cloud Atlas, Watchmen
  •   Classic, Pop
  •   รวมเรียงความของ ศศิวิมล, A Series of Unfortunate Events, Harry Potter
  •   อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต, Gustav Klimt

ดุสิตา อิ่มอารมณ์

นักเขียน ผู้ใช้พื้นที่ในเวลาว่างไปกับการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ขี่จักรยาน อ่านการ์ตูน เล่นเลโก้ ฯลฯ โดยเชื่อเต็มหัวใจว่าเวลาที่หมดไปกับความรื่นเริงนี้สามารถเติมเต็มชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพผู้ชื่นชอบการวาดรูปและรับงานวาดภาพประกอบบ้างประปราย เธอมีความตั้งใจกับตัวเองว่าจะออกไปเที่ยวนอกประเทศให้ได้ปีละครั้ง