ปัญญาประทีป: โรงเรียนทางเลือกที่เราได้เลือกทางเดินและออกแบบชีวิตตัวเอง

    ภายใต้บรรยากาศร่มรื่นของพันธุ์ไม้นานาชนิดบนพื้นที่กว่า 82 ไร่ ที่บ้านหนองน้อย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ยามเช้าภายในโรงเรียนปัญญาประทีป ถูกปกคลุมด้วยแสงแดดอุ่นๆ ที่เล็ดลอดลงมาจากร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ ลมเย็นๆ พัดผ่านชวนให้รู้สึกสดชื่น สนามฟุตบอลถูกจับจองไปด้วยผู้คนที่ออกมาวิ่งตามกิจวัตรประจำวัน เสียงพูดคุยของเหล่านักเรียนและคุณครูตัดสลับกับเสียงหัวเราะ ก่อนที่ทุกคนจะแยกย้ายไปเตรียมตัวสำหรับเช้าวันใหม่

    เป็นเวลากว่า 15 ปีแล้ว นับตั้งแต่ปี 2551 ในยามที่หลายโรงเรียนเน้นการแข่งขันทางวิชาการ ปัญญาประทีปเกิดขึ้นในฐานะโรงเรียนทางเลือกที่เชื่อในการพัฒนานักเรียนให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและคุณธรรม ผ่านการศึกษาในรูปแบบของโรงเรียนบ่มเพาะชีวิตที่หล่อหลอมให้นักเรียนได้ค้นหาชีวิตในแบบที่ตัวเองออกแบบเองได้ ด้วยหลักสูตรการเรียนรู้ด้านวิชาการและทักษะด้านวิชาชีพ อีกทั้งเด็กๆ จะได้เรียนรู้การรับมือกับอารมณ์และอยู่กับความเป็นจริงของชีวิต ตามหลักไตรสิกขาของพระพุทธศาสนา (พฤติกรรม จิตใจ ปัญญา)

    หากใครพอได้ยินชื่อ โรงเรียนทอสี อยู่บ้าง คุณคงพอนึกภาพของโรงเรียนพุทธปัญญาออก ปัญญาประทีป เปรียบเสมือนภาคต่อของการเรียนรู้ของชาวพุทธ จากระดับชั้นอนุบาลและปฐมวัย มาสู่ชั้นมัธยมฯ ตามความตั้งใจของกลุ่มผู้จัดการศึกษาในชุมชนโรงเรียนทอสี โดยได้รับความเมตตาจาก คุณยายทอสี สวัสดิ์-ชูโต ที่ต้องการสนับสนุนการสร้างรูปแบบการเรียนรู้ เพื่อพัฒนามนุษย์แบบองค์รวม กล่าวคือ เด็กๆ จะได้เรียนรู้ทักษะทั้งด้านวิชาการและวิชาชีวิตควบคู่กันไป

    เราอาจคุ้นเคยกับการแบ่งหลักสูตรตามรายวิชา เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย สังคมฯ แต่สำหรับโรงเรียนปัญญาประทีปนั้น ทางโรงเรียนมีการออกแบบหลักสูตรที่ผสมผสานหลายรายวิชาเข้าด้วย จึงไม่แปลกเลย หากบางครั้ง เราจะเห็นครูวิทยาศาสตร์ สอนอยู่ในห้องเดียวกับครูสังคมหรือครูแนะแนว หากสิ่งที่เด็กๆ เรียนรู้นั้น มีความเชื่อมโยงกันในรายวิชา

    "ถ้าเป็นโรงเรียน ม.ปลายที่อื่น เราจำเป็นต้องมีสายการเรียน แต่ที่นี่เราไม่มีสาย ต่างคนต่างมีความชอบของตัวเองค่ะ" น้ำ-นันท์นภัส จันทร์พริ้ม หนึ่งในนักเรียนชั้นมัธยม 6 ที่กำลังจะก้าวไปสู่รั้วมหาวิทยาลัย เล่าถึงประสบการณ์ในรั้วโรงเรียนปัญญาประทีปว่า "ทุกคนจะได้เลือกวิชาเลือกที่ตัวเองสนใจ เราสามารถเลือกหยิบวิชาที่สนใจมาใส่ตะกร้าของตัวเอง มันเปิดโอกาสให้เราเรียนอย่างหลากหลาย เพื่อที่เราจะได้เลือกสิ่งที่เหมาะสมกับเป้าหมายของเรา หรือถ้าวิชานั้นไม่มีสอน เราก็สามารถเดินไปบอกคุณครูได้ค่ะ แล้วทางโรงเรียนก็จะหาผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ มาสอนเรา"

    เพราะนักเรียนทุกคนล้วนมีความสามารถและความสนใจที่แตกต่างกัน โรงเรียนจึงออกแบบหลักสูตรที่เน้นการเรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริงร่วมกันระหว่างนักเรียน ครู และผู้ปกครอง เพื่อให้นักเรียนสามารถออกแบบชีวิตของตัวเองได้

    "โรงเรียนไม่ได้วัดผลจากการสอบค่ะ แต่ละปีเราจะตกลงกับคุณครูแต่ละวิชาว่า เราจะวัดผลความรู้ของเรายังไง บางปีเราก็ทำเป็นโปรเจกต์บ้าง ทำงานเพื่อสังคมบ้าง เราไม่มีการประกาศคะแนนแบบเปิดเผยและจัดอันดับในห้องค่ะ แต่เราวัดผลกันที่ความสำเร็จส่วนตัว วัดจากเป้าหมายที่เราวางไว้ ทุกเทอมก่อนเรียน คุณครูจะมีการให้เราตั้งเป้าหมายว่า เราอยากพัฒนาเรื่องอะไร อยากรู้เรื่องอะไรเพิ่ม ถ้าเราทำตามเป้าหมายได้ก็นับเป็นความสำเร็จ นอกจากนี้ โรงเรียนก็พาเราไปแข่งขันข้างนอก มันทำให้เรารีเช็กกับตัวเองว่า ถ้าเทียบกับโรงเรียนอื่นๆ ตัวเรามีความสามารถมากพอไหม เราอยู่ในระดับไหนในสังคมตอนนี้" น้ำเสริมถึงวิธีวัดความสำเร็จในรูปแบบของปัญญาประทีป

    นอกเหนือจากวิชาการตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ยังมีกลุ่มวิชา PPS SIXNATURE วิชาที่เป็นลายเซ็นประจำโรงเรียน เพื่อพัฒนาศักยภาพทางด้านร่างกายและจิตใจของเด็กๆ อีกด้วย

    ยกตัวอย่าง เช่น วิชาวิ่งชีวิต ที่ให้เด็กๆ ได้ฝึกความอดทนไปพร้อมกับเสริมสร้างสุขภาพร่างกาย หรือ กลุ่มวิชาเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว ที่บูรณาการการเรียนรู้และกิจกรรมแตกต่างกันไปในแต่ละชั้นปี ชั้นมัธยมต้นถือเป็นการปรับตัวให้เด็กๆ เรียนรู้ภายในตัวเองก่อน เริ่มจาก กินเป็น ที่สอนให้เด็กๆ รู้ถึงคุณค่าของอาหารและเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์, ซับเหงื่อโลก วิชาที่ชวนเด็กๆ เรียนรู้เพื่อหาคำตอบว่า เราจะใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าและอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืนได้อย่างไร, โตก่อนโต วิชาที่เปิดให้เด็ก ม.3 ออกไปเรียนรู้กระบวนการทำงานของผู้คนในสาขาอาชีพต่างๆ ผ่านประสบการณ์การฝึกงานในระยะสั้นๆ

    สำหรับช่วงชั้นมัธยมปลาย เด็กๆ จะได้เรียนรู้และเปิดมุมมองต่อสังคมมากขึ้น เริ่มจาก สื่อสารเป็น วิชาที่เปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ได้ทำความเข้าใจทั้งตนเองและผู้อื่น โดยใช้ศาสตร์การแสดงมาเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร, สัมมาธุรกิจ วิชาที่ให้เด็กๆ ได้ทดลองเขียนแผนธุรกิจ เป็นเจ้าของธุรกิจ ไปพร้อมกับการรับผิดชอบต่อสังคม โดยมีเหล่าผู้ปกครองในชั้นปีคอยให้คำปรึกษา และ แกะสลักชีวิต วิชาสุดท้ายของเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว กับการเตรียมความพร้อมทั้งด้านวิชาการและจิตใจให้กับน้องๆ ม.6 ก่อนที่พวกเขาจะเติบโตและก้าวออกจากรั้วปัญญาประทีป

    นอกจากนี้ เด็กๆ ทุกคนจะได้เรียนรู้และรู้จักรับมือกับอารมณ์ของตัวเอง ไปพร้อมกับการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น โดยมีคุณครูและผู้ปกครองเป็นผู้ช่วยสร้างบรรยากาศให้เด็กเรียนรู้ที่จะยอมรับทุกด้านของตัวเองและผู้อื่น ตั้งแต่ตัวตน ความผิดพลาด และการยินดีต่อความสำเร็จ เพื่อให้พวกเขาเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมมาโดยตลอด

    ฟังดูแล้ว นี่อาจเป็นโจทย์ใหญ่ของเหล่าคุณครูในโรงเรียน เพราะไม่เพียงต้องสอนด้านวิชาการ แต่ยังต้องดูแลเอาใจใส่เด็กๆ รวมถึงให้คำแนะนำเหล่าผู้ปกครองอีกด้วย การสังเกตจึงเป็นทักษะสำคัญที่ช่วยให้ครูสามารถรับรู้ถึงบุคคลิกภาพของเด็กแต่ละคน รวมถึงปัญหาที่เด็กๆ เผชิญอยู่

    นอกจากนี้ ทางโรงเรียนยังมีการประยุกต์ใช้กิจกรรมต่างๆ มาพัฒนาผู้เรียนด้วย ยกตัวอย่างเช่น กิจกรรมโยนไข่ เพื่อเสริมสร้างทักษะการทำงานเป็นกลุ่ม ซึ่งกิจกรรมนี้จะให้เด็กๆ จับกลุ่มแล้วออกแบบการโยนไข่จากที่สูงด้วยอุปกรณ์ที่จำกัด โดยต้องคิดวิธีว่าทำอย่างไรให้ไข่ไม่แตก เพื่อสำรวจว่าเด็กๆ มีการรับมือกับสถานการณ์ตรงหน้าอย่างไร เด็กบางคนอาจรับฟังเพื่อนด้วยดี บางคนกล้าแสดงออก บางคนมีปัญหาในการทำงานร่วมกับผู้อื่น เมื่อสังเกตเห็นปัญหาเหล่านี้ ครูจึงเข้าสู่กระบวนการพูดคุยรายบุคคล เพื่อช่วยแนะนำหรือหาแนวทางในการปรับตัวร่วมกันกับเด็กๆ

    แต่อย่างที่รู้กันว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่เด็กๆ โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นจะเปิดใจกับใครสักคน เหล่าคุณครูจึงต้องใช้เวลาไม่น้อยในการพูดคุย ทักทายเด็กๆ ทุกเช้า คอยรับฟังปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ของทุกคน ฯลฯ อีกทั้งพวกเขายังต้องเข้ารับการอบรบด้านการให้คำแนะนำ เพื่อให้ครูกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กๆ ในโรงเรียน

    เมื่อสายสัมพันธ์ถูกสร้างขึ้นแล้ว สิ่งที่ทุกๆ คนต้องการถัดจากนี้คือช่วงเวลาดีๆ ที่ได้ใช้ร่วมกัน ครูอาจชวนให้เด็กๆ ได้จิบชาสบายๆ ด้วยกัน หรือเดินเล่นชมธรรมชาติไปพร้อมกับการรับฟังเรื่องราวที่หนักอึ้งในใจ และคอยตั้งคำถามเพื่อพาให้เด็กๆ ได้ทำความเข้าใจและค้นหาคำตอบที่เหมาะสมกับตัวเอง โดยมีครู เพื่อนๆ และผู้ปกครอง คอยอยู่เคียงข้างให้พวกเขาผ่านช่วงเวลาเหล่านี้ไปได้

    สำหรับเด็กๆ แล้ว การมีมิตรภาพดีๆ และพื้นที่ปลอดภัยให้พวกเขาได้พึ่งพิงคงเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย โดยเฉพาะในวัยที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในจิตใจและเป้าหมายครั้งใหญ่อย่างการสอบเข้ามหาวิทยาลัย นอกเหนือจากการซัพพอร์ตทางใจ เหล่าคุณครู โดยเฉพาะครูวิชา 'เด็กแนว' มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เด็กๆ ก้าวไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้เช่นกัน

    ซึ่งทางโรงเรียนก็เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ออกแบบรูปแบบการเรียนที่เหมาะสมกับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดวิชาพิเศษหรือหาผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้เพิ่มเติม การปรับเปลี่ยนเวลาเรียนในรายบุคคล เพื่อให้เด็กๆ สามารถออกไปศึกษาหรือทำพอร์ตฯ ด้วยตัวเอง ตลอดจนการใช้ระบบ OKR เพื่อให้เด็กๆ ฝึกวางแผนชีวิต และเรียนรู้ที่จะกำกับตัวเองให้ไปสู่เป้าหมายในสิ่งที่ตัวเองชอบและรัก

    เมื่อเด็กๆ ตั้งเป้าหมายภายในตัวเองได้แล้ว พวกเขาก็สามารถออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมแก่ตัวเองได้ แล้วการเดินทางไปสู่เป้าหมายก็อาจไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด

    "ถ้าไม่มีโตก่อนโต น้ำคงจะไม่รู้ว่าตัวเราชอบอะไร พอเรามีโอกาสได้ไปเจอคนในสายงานนั้นจริงๆ ได้ลองดูวิธีการทำงานของเขาจริงๆ มันทำให้เรารู้ว่า เราต้องเลือกเรียนอะไรบ้าง เพื่อให้เราไปสู่เป้าหมายนี้ได้ น้ำรู้สึกว่า ถึงแม้เราจะไม่ได้มีเวลาไปเรียนพิเศษเหมือนโรงเรียนอื่นๆ แต่การปลูกฝังฉันทะของโรงเรียนนี้ ทำให้นักเรียนมีความพยายามที่จะไปถึงเป้าหมายได้ค่ะ มันขึ้นอยู่กับว่าเรามีฉันทะและความเพียรมากพอไหม"

    น้ำมีโอกาสได้ไปเรียนรู้ถึงความชอบในสายงานสถาปนิก ก่อนจะพบว่า ตัวเธอนั้นไม่เหมาะกับระบบการทำงานแบบนี้เท่าไหร่ โตก่อนโต ทำให้เธอย้อนกลับมาคิดกับตัวเองอีกครั้งว่า แท้จริงแล้ว เธออยากเติบโตไปทำงานแบบไหน ก่อนที่วิชาสัมมาธุรกิจจะทำให้เธอหันมาสนใจด้านการทำธุรกิจเพื่อสังคมมากขึ้น

    ขณะที่เพื่อนร่วมรุ่นอย่าง มะปราง-ปราง บุญธรรม แยม-ญาดาภา กุลปัญญาเลิศ และ จาโม่-บารมี บุณยพุกกณะ ที่ถึงแม้จะมีความสนใจในด้านศิลปะเหมือนกัน แต่ทุกคนต่างก็มีเบื้องหลังการค้นหาตัวตนของตัวเองที่แตกต่างกันไป

    "ส่วนตัวชอบวาดรูปตั้งแต่เด็กๆ อยู่แล้วและคุณพ่อก็เป็นศิลปินด้วย พอได้มาเรียนที่นี่ ได้เรียนคลาสศิลปะ ได้ลองทำอะไรหลายๆ อย่าง ตอนแรกเราสนใจอยากเป็นนักวาดภาพประกอบ แต่พอไปฝึกงานก็พบว่า ตัวเองชอบงาน Fine Art มากกว่า ชอบเพ้นต์งานชิ้นใหญ่ๆ ตอนนี้ก็ยังลองไปเรื่อยๆ ค่ะว่าตัวเองชอบงานสไตล์ไหนมากที่สุด" มะปรางเล่าถึงความชอบของตัวเองที่มีอิทธิพลมาจากคุณพ่อ วุฒิชัย บุญธรรม ก่อนที่วิชาโตก่อนโตจะพาเธอไปเรียนรู้ถึงสายงานที่เธอสนใจ

    "แยมรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้มีอะไรที่ชอบเป็นพิเศษ" เมื่อยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรเป็นพิเศษ แยมจึงเริ่มออกแบบชีวิตตัวเองจากสิ่งที่ทำได้ดี อย่าง ศิลปะ และ คณิตศาสตร์ "เราชอบศิลปะแต่ไม่ถนัดงาน Fine Art แล้วก็ชอบคณิตศาสตร์ด้วย ก็เริ่มมองหาว่า เราจะทำงานศิลปะและคณิตศาสตร์ไปคู่กันได้ไหม จนมาเจอคณะสถาปัตยกรรม ช่วงที่รู้ว่าอยากเรียนต่อด้านนี้แล้วต้องเรียนเสริมเพื่อทำพอร์ตฯ คุณครูก็ค่อนข้างเปิดรับค่ะ เราสามารถเสนอหรือวางแผนคาบเรียนกับคุณครูในช่วงที่กำลังเตรียมเข้ามหาวิทยาลัยได้ แล้วยังมีเพื่อนๆ คอยซัพพอร์ตด้วย พอได้ลองทำจริงๆ พบว่ามันเหนื่อยมากเลยค่ะ แต่ก็เป็นความเหนื่อยที่เราสนุกมากเหมือนกัน"

    "การเรียนโรงเรียนนี้ ทำให้เราพบว่า เราไม่จำเป็นต้องหาตัวเองเจอตั้งแต่แรก เราค่อยๆ เรียนรู้และค้นหาตัวเองไปเรื่อยๆ ก็ได้เหมือนกัน" จาโม่เล่าถึงประสบการณ์ในการค้นหาตัวเองภายในรั้วโรงเรียนปัญญาประทีป "ผมรู้ตัวว่าตัวเองชอบวาดรูปมาพักใหญ่ ยิ่งได้มาเข้าคลาสเรียนศิลปะของที่นี่ และได้ลองทำงานหลายแบบ ความชอบศิลปะก็ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นแฟชั่น จนตอน ม.3 ได้ไปฝึกงานที่ ASAVA ตอนนั้นเราชอบมากๆ แต่ระหว่างทาง ผมรู้สึกว่าความเข้าใจเกี่ยวกับงานศิลปะของเรามันเพิ่มมากขึ้น และเราอยากสื่อสารในมุมที่ลึกซึ้งกว่าเดิม ตอนนี้เลยอยากจะลองเรียนรู้เกี่ยวกับงานศิลปะหลายๆ ด้าน เพื่อหาสายที่ตัวเองถนัด"

    จะเห็นได้ว่าท่ามกลางคลาสเรียนที่เพื่อนๆ ในรุ่นเดียวกันต่างก็มีความสนใจและการออกแบบชีวิตของตัวเองที่แตกต่างกันไป ถ้าลองคิดภาพเล่นๆ ว่า เมื่อถึงวันที่ทุกคนในอีก 10 ปีข้างหน้ากลับมาพบกันอีกครั้ง ภายในห้องนั้นคงจะมีทั้ง เชฟ อาจารย์ นักสังคมสงเคราะห์ ศิลปิน วิศวกร นักเศรษฐศาสตร์ นักธุรกิจ ฯลฯ มาอยู่ร่วมกันอย่างหลากหลายนั่นเอง

    แน่นอนว่า โรงเรียนไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะเรื่องใหญ่ อย่างการเติบโตในสายอาชีพเท่านั้น แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เด็กสนใจ คณะครูก็พร้อมจะสนับสนุนให้เกิดขึ้นในรั้วโรงเรียนเช่นกัน

    "ผมชอบเอานิยายเข้าไปอ่านในห้องน้ำ แล้วเพื่อนแซว ผมเลยคิดว่า จะมีทางไหนที่เราจะไม่เบื่อในห้องน้ำ งั้นเราวาดการ์ตูนดีกว่า แล้วจะวาดการ์ตูนอะไรดี การ์ตูนตลกดีไหมนะ" เคน-ฆฤณ สุนทรวิภาต นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 3 เป็นเจ้าของมุกตลกที่ติดไว้ภายในห้องน้ำทั่วโรงเรียน นี่เป็นโปรเจกต์เล็กๆ จากวิชาโตก่อนโตที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ทดลองทำสิ่งที่ตัวเองสนใจ โดยมีการวัดผลในแต่ละช่วง เพื่อให้พวกเขาได้ตรวจสอบตัวเองว่า สิ่งที่เขาทำสร้างประโยชน์ให้กับสังคมอย่างไรบ้าง

    "ผมทำแบบสอบถามออกมา แล้ว 70% ตอบว่า ไม่ตลกครับ" เสียงหัวเราะดังขึ้น เมื่อเคนพูดจบ

    แม้จะไม่สำเร็จตามเป้าหมาย แต่อย่างน้อยเด็กๆ ก็มีพื้นที่นำเสนอตัวตนและความสนใจของตัวเอง

    จะเห็นว่า การเรียนรู้ภายในรั้วโรงเรียนปัญญาประทีป ค่อยๆ เปลี่ยนภาพของเด็กมัธยมต้น ผู้เริ่มจากการทำความรู้จักกับตัวตนและจิตใจของตัวเอง ก่อนที่พวกเขาจะเติบโตมาเป็นเด็กมัธยมปลายที่สามารถออกแบบทางเดินชีวิตของตัวเองได้ และกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มองเห็นคุณค่าทั้งจากภายในตนเองและภายในผู้อื่น

    แม้โลกนี้จะมีโรงเรียนหลากหลาย และไม่อาจหาข้อสรุปได้ว่า โรงเรียนแบบไหนกันแน่ที่จะเหมาะแก่การเรียนรู้ของเด็กที่สุด แต่เหล่านักเรียนปัจจุบันและศิษย์เก่าที่เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่เข้มแข็งทางกายและใจ และรู้ว่าพวกเขาสนุกกับการใช้ชีวิตแบบไหน ก็เป็นตัวการันตีได้ว่า...

    ปัญญาประทีปนั้นเป็นโรงเรียนที่เปิดโอกาสให้เด็กเลือกทางเดินไปสู่ฝันของตัวเองที่ดีไม่น้อยเลยทีเดียว


    ติดตามเรื่องราวการเรียนรู้แบบปัญญาประทีปเพิ่มเติมได้ทางวิดีโอนี้

    อ่านเรื่องราวการเรียนรู้และการเติบโตในเส้นทางที่หลากหลายของเหล่าศิษย์เก่าปัญญาประทีปเพิ่มเติมได้ที่ 'เรียนรู้จากศิษย์เก่า'

นิษณาต นิลทองคำ

กองบรรณาธิการที่กำลังใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน ชอบคุยกับผู้คน ท้องฟ้า และเสียงดนตรี เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการฟังเพลง ที่บางทีก็ปล่อยให้เพลงฟังเรา

นภัส วิบูลย์พนธ์

ช่างภาพและนักประสานงานเจ้าระเบียบที่อัพสกิลความละเอียดขึ้นทุกปี กำลังใช้เวลากับเพื่อนสนิทที่ชื่องานเขียนและภาพถ่ายไปพลางๆ ระหว่างรอแก่ไปเจอฝันเล็กจิ๋วอย่างการนั่งชมต้นไม้ในสวนหลังบ้านของตัวเองบนเก้าอี้โยกกับหมาซักหนึ่งตัว

สุธิสาร์ ปฏิภาณเทวา

ช่างภาพ นักเขียนฟรีแลนซ์ ที่ชอบงาน Portraiture, Documentary, การดำน้ำ และการเดินทางเป็นชีวิต
ปัจจุบันนอกจากจับกล้องเขียนงานแล้ว มือของวิวยังจับจอบ จับเสียม มุ่งมั่นสร้างป่าและทำนาอยู่ที่ 'สวนแม่ทำป่า พ่อทำยา' อีกด้วย