SANDT เปลี่ยนยาดมเป็น Aroma Gadget ด้วยนวัตกรรมการออกแบบ

    กล่องบรรจุภัณฑ์ อโรมาแกดเจ็ต (Aroma Gadget) ประกอบด้วยตัวแกดเจ็ตรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมนขนาดกำลังเหมาะมือ ชุดรีฟิลกลิ่นตามที่เลือก คำอธิบายกลิ่น คู่มือใช้งาน และที่คีบสำหรับใส่รีฟิลเติมลงในแกดเจ็ต เพียงแกะกล่องก็รู้สึกว่าแบรนด์ SANDT (แซนท์) มอบประสบการณ์ให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการประกอบอโรมาแกดเจ็ตด้วยตัวเอง ส่วนวิธีการใช้ก็สะดวกมาก เพราะถือมือเดียวแล้วใช้นิ้วโป้งกดเพื่อเปิดก็พร้อมสูดกลิ่นหอมสดชื่นได้อย่างรวดเร็ว สมกับสโลแกนที่ว่า 'แค่กดก็สดชื่น' หรือ 'Snap, breathe in'
    หากกำลังมีคำถามว่า อโรมาแกดเจ็ต ที่ว่านี้คืออะไร แปลว่าเริ่มสนใจผลิตภัณฑ์นี้เข้าแล้วใช่ไหมล่ะ
    เราอาจจะเรียก อโรมาแกดเจ็ต นี้ให้เข้าใจง่ายๆ ว่า ยาดม นั่นเอง แต่ก่อนที่แบรนด์ SANDT จะสร้างสรรค์อโรมาแกดเจ็ตขึ้นมาได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายแค่ใช้นิ้วกดหรอกนะ เราลองไปฟังเรื่องราวการเปลี่ยนรูปลักษณ์ของยาดมที่คุ้นเคยมาเป็นผลิตภัณฑ์ อโรมาแกดเจ็ต จาก 3 ผู้ก่อตั้ง กวิ้น-กตัญญู ชื่นมีเชาว์, เอ-คณิน ชื่นมีเชาว์ และ ผิง-อภิญญา ชื่นมีเชาว์ กันดีกว่า
ยาดมจะมีรูปลักษณ์ใหม่ๆ บ้างไม่ได้หรือ
    กวิ้นเล่าให้ฟังว่าทั้งสามคนชอบใช้ยาดมเหมือนกัน แต่มีความรู้สึกไม่ลงตัวต่อรูปแบบสินค้าและวิธีการใช้งานเท่าไรนัก "สินค้าประเภทยาดมในท้องตลาดที่เราคุ้นเคยจะมีรูปลักษณ์แบบเดิมมาเป็นเวลานานใช่ไหมครับ แต่มันอาจจะยังมีความติดขัดบางอย่าง (pain point) ที่ยังไม่ตอบโจทย์การใช้งานของคนในยุคสมัยนี้ แล้วคิดว่า เราสามารถทำให้มันตอบโจทย์ได้มากขึ้นไหม เราลองทำการวิจัยกับคนใกล้ตัวดูก่อน เลยไปถามญาติพี่น้อง เพื่อนๆ ก็ปรากฏว่า เฮ้ย! มีคนที่คิดเหมือนกับเราอยู่นะ บางคนเลือกที่จะไม่ใช้เพราะเข้ากับไลฟ์สไตล์เขาไม่ได้ ติดเรื่องดีไซน์ หรือไม่ได้มีกลิ่นให้เลือกหลากหลาย สิ่งที่เราคิดเขาก็คิดเหมือนกัน มีความน่าสนใจในช่องว่างของตลาดที่เรายังเข้าไปเล่นได้อยู่ แล้วคุยกันว่า ลองทำสิ่งนี้ขึ้นมาดูไหม" จึงนำมาสู่การพูดคุยเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมกัน
    เอเสริมถึงความน่าสนใจของผลิตภัณฑ์นี้ว่า "หลัก ๆ น่าจะเป็นมุมมองด้านโอกาสทางธุรกิจด้วยครับ เพราะผมมีพื้นฐานด้านการออกแบบมา แต่พบว่าการทำธุรกิจนั้นทำด้วยตัวคนเดียวไม่ได้ มันมีเรื่องโมเดลทางธุรกิจที่ดีมาครอบไหม มีกลยุทธที่น่าสนใจหรือเปล่า กวิ้นเขาเรียนด้านธุรกิจมา ส่วนผิงดูแลเรื่องการตลาดและการสื่อสารกับลูกค้าอยู่แล้ว มันก็เหมือนจิ๊กซอว์ที่ลองต่อกันดูแล้วมีความเป็นไปได้"
    พวกเขาเริ่มไอเดียที่จะใช้นวัตกรรมการออกแบบปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ของยาดมเดือนมกราคมปี 2564 แล้วในช่วงระยะเวลาหนึ่งปีหลังจากนั้นก็เป็นเรื่องของหาคำตอบว่า อะไรคือสิ่งที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของคนชอบดมยาดม แต่ไม่อยากใช้ยาดมแบบเดิมๆ ได้บ้าง
ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ SANDT เรียงลำดับจากซ้ายไปขวา: เอ-คณิน ชื่นมีเชาว์, กวิ้น-กตัญญู ชื่นมีเชาว์ และ ผิง-อภิญญา ชื่นมีเชาว์
ไม่นิ่งเฉยต่อความคุ้นเคย เพื่อนำเสนอสิ่งใหม่
    ยาดมเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่คู่คนไทยมารุ่นสู่รุ่นจนเราเห็นเป็นของธรรมดา แต่แบรนด์ SANDT ไม่นิ่งเฉยต่อความคุ้นเคยและวิธีการหมุนเปิดฝาก่อนการสูดดมแบบที่ผ่านมา พวกเขาพลิกมุมมองด้วยการนำเสนอรูปลักษณ์ใหม่ๆ ให้คนลองทำความรู้จักกับสิ่งนี้ในผลิตภัณฑ์ที่ชื่อ อโรมาแกดเจ็ต หนึ่งอุปกรณ์พกพาที่หยิบขึ้นมาเมื่อไรก็ดูทันสมัยและใช้งานสะดวก 
    ก่อนที่จะปรากฏออกมาเป็น อโรมาแกดเจ็ต รูปแบบนี้ ทั้งสามคนก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตั้งข้อสงสัยไว้จะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร พวกเขาแค่อยากลองสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ ยกระดับประสบการณ์ของคนที่ใช้ยาดม และตอบโจทย์ที่หลายๆ คนอาจจะมีความรู้สึกร่วมเหมือนกัน 
    ผิงพูดถึงพฤติกรรมการใช้ยาดมในมุมมองของพวกเขาว่า "จริงๆ แล้วยาดมอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราใช้เวลาเป็นลมหรือเป็นหวัดเท่านั้น เรารู้สึกว่าเราชอบใช้ยาดมในหลายๆ สถานการณ์ หลายกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เราเลยรู้สึกว่ามันสามารถเป็นอย่างอื่นนอกจากยาดม เป็นเหมือนอโรมาที่พกพาไปได้ทุกที่ค่ะ"
    ในมุมมองของเอที่อยู่ในวงการออกแบบผลิตภัณฑ์อยู่แล้วมีความคิดเห็นว่า "วันนี้ใครๆ ก็ใช้ยาดมเพื่อความสดชื่นตอนทำงาน หรือนักเรียนนักศึกษาที่ใช้เวลาอ่านหนังสือสอบ แต่ยาดมยังหน้าตาเหมือนเดิมอยู่ ทั้งๆ ที่ตัวผลิตภัณฑ์กับการเล่าเรื่องมันมาไกลจากภาพของคนที่ใช้ตอนเป็นลมมากแล้วนะ มันน่าจะมีวิธีเล่าเรื่องที่พร้อมส่งไปกับตัวผลิตภัณฑ์"
    กวิ้นรับช่วงเล่าถึงที่มาของการเรียกสินค้าชนิดนี้ว่า อโรมาแกดเจ็ต ให้ฟังอย่างต่อเนื่อง "ตอนนั้นมีประเด็นที่เราคุยกันว่า ทำไมยาดมต้องเป็นยานะ มันสามารถเป็นอโรมาฉบับพกพาได้หรือเปล่า แล้วเรากำลังดีไซน์สำหรับคนในยุคสมัยนี้ จึงรู้สึกว่าการที่มันเป็นแกดเจ็ตดูเข้าถึงง่ายเนอะ เข้ากับไลฟ์สไตล์ ดูเหมาะสำหรับคนรุ่นใหม่ ดูทันสมัย ซึ่งสุดท้ายพอเอดีไซน์ออกมา มันกำลังกลายเป็นอโรมาที่ใครๆ ก็พกพาติดตัวไปได้ เราลองเรียกมันว่า อโรมาแกดเจ็ต ไหม"
ค้นหาดีไซน์เพื่อความสดชื่นอย่างยั่งยืน

    ช่วงที่พวกเขาทำการรีเสิร์ชกับโฟกัสกรุ๊ปมีประเด็นเรื่องวิธีการใช้ยาดมที่อาจจะดูไม่เหมาะสมในบางโอกาส การออกแบบอโรมาแกดเจ็ตจึงเริ่มต้นจากการมองความเป็นไปได้ของการใช้งาน ลดทอนลักษณะการสูดดมโดยตรงกับตัวหลอดลง หันมาให้น้ำหนักกับภาพลักษณ์ใหม่ๆ ที่ให้ประสบการณ์ความสดชื่นได้เหมือนเดิม ขณะเดียวกันผู้ใช้ยังสามารถเลือกแกดเจ็ตสีต่างๆ ที่สะท้อนตัวตนได้ นอกจากนั้นเรื่องแรกที่เขาคำนึงถึงคือแพ็คเกจที่สามารถรีฟิลกลิ่นใหม่ได้ เพื่อให้เกิดการใช้งานผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืน จนเกิดเป็นฟังก์ชั่นการรีฟิลที่ทำให้ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนกลิ่นตามใจได้อย่างอิสระ ไม่จำเป็นต้องยึดติดอยู่กับกลิ่นใดกลิ่นหนึ่ง

    เอเล่าถึงมุมมองการออกแบบไว้ว่า "ในวันที่เรามองว่ามันไม่ได้เป็นยาแต่เป็นอโรมาติก เราจะเห็นว่าหลายๆ คนมีเทียนหอมหลากหลายกลิ่น หรือมีการเปลี่ยนสบู่อาบน้ำเวลาใช้ไปสักระยะหนึ่ง แปลว่าทุกคนมีความรุ่มรวยไปกับความหอมที่พึงพอใจได้ในแต่ละวัน เราจึงอยากให้ผลิตภัณฑ์สะท้อนความต้องการของผู้ใช้ได้รู้สึกสนุก รู้สึกแอคทีฟ"
    พวกเขายังไม่หยุดแค่การรีฟิล ด้วยพื้นฐานที่ทำงานด้านการออกแบบทำให้เอมีความคุ้นเคยกับวัสดุทางเลือก แบรนด์จึงมีการนำนวัตกรรมด้านวัสดุไบโอแมสเบสโคโพลีเมอร์ (biomass-based copolymer) ที่มีส่วนผสมของพืชเข้ามาใช้ เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนเข้าไปด้วย
    ถึงแม้ช่วงพัฒนางานออกแบบเขาจะมีความกังวลอยู่บ้าง แต่ตอนนี้เอเล่าให้เราฟังด้วยรอยยิ้มอย่างผ่อนคลายได้แล้ว "ช่วงแรกๆ เราตื่นขึ้นมาพร้อมกับความสงสัยว่า 'เราจะทำดีไหม' 'สื่อสารไปเขาจะฟังหรือเปล่า' 'เราคิดไปเองคนเดียวหรือเปล่านะ' เพราะเราไม่สามารถคิดแทนคนอื่นได้ ทันทีที่เราต้องเริ่มสื่อสารกับคน เราจะเริ่มสงสัยกับสิ่งที่ตัวเองทำ ต้องยอมรับว่ามันแตกต่างจากภาพเดิมไปเยอะ ไม่ว่าจะเป็นแบบกระปุกหรือแบบหลอด"

    ภายใต้ความกังวลและสงสัยตัวเองว่าควรจะยึดความเป็นอโรมาแกดเจ็ตแล้วตัดขาดจากคำว่ายาดมหรือไม่ SANDT ก็ส่งอโรมาแกดเจ็ตเข้าประกวดแล้วได้รับรางวัล Design Excellence Award 2022 (DEmark) ในโครงการของ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่มอบให้สินค้าไทยที่มีการออกแบบดีเป็นประจำทุกปี ประกอบกับการยื่นทะเบียนจดสิทธิบัตรกับทางกรมทรัพย์สินค้าปัญญาต้องใช้คำว่าหลอดยาดม ไม่สามารถเลี่ยงไปใช้คำอื่นได้ ทำให้แบรนด์กลับมาทบทวนว่า ยาดมเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมไทยและเป็นรากของอโรมาแกดเจ็ตด้วยเหมือนกัน

การดีไซน์กลิ่นตามฟังก์ชั่นการใช้ชีวิต
    การออกแบบกลิ่นก็สำคัญไม่แพ้กัน กวิ้นย้อนนึกไปถึงช่วงที่เรียนรู้เรื่องกลิ่นใหม่ๆ ที่จุดประกายให้รู้ว่า กลิ่นเป็นฟังก์ชั่นหนึ่งในการใช้ชีวิตได้ "ตอนแรกเราอยากเรียนเพราะอยากทำกลิ่นที่หอม แต่พอไปเรียนจริงๆ แล้ว การเบลนกลิ่นทำให้เรานึกถึงสิ่งต่างๆ ได้ เช่น กลิ่นนี้ดมแล้วนึกถึงหนังเรื่องไหน ดมแล้วรู้สึกอย่างไร มันเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้สึกคล้ายๆ กัน โจทย์ที่เราได้รับในคลาสทำให้เราคิดว่า การปรุงกลิ่นนั้นเราอยากให้เกิดฟังก์ชั่นอะไร เราจึงออกแบบด้วยความคิดว่า กลิ่นนี้ช่วยให้เขาสามารถใช้ชีวิต เรียน หรือ ทำงานได้หรือเปล่า มีกลิ่นที่ช่วยให้เขาเกิดไอเดียความคิดสร้างสรรค์หรือเปล่า ขณะนี้เขาต้องการโฟกัสกับการทำงาน หรือต้องการการพักผ่อนอย่างมีประสิทธิภาพหรือเปล่า เราจึงอยากให้กลิ่นมีฟังก์ชั่นเหล่านี้เข้ามาตอบสนองความต้องการของลูกค้า"
    เมื่อตกผลึกความคิดเรื่องการออกแบบกลิ่นได้แล้ว SANDT เลือกใช้น้ำมันหอมระเหยเกรดบำบัด 100% ร่วมกับส่วนผสมสมุนไพรไทย 11 ชนิดผ่านกระบวนการที่ควบคุมคุณภาพจนได้เป็น 4 กลิ่นพื้นฐาน เฮอร์เบิลบูส (Herbal Boost), ซิตรัส เอนเนอร์จี (Citrus Energy), พีชฟูล จัสมิน (Peaceful Jasmine) และ ชิลลิ่ง ทีทรี (Chilling Tea Tree) โดยทุกกลิ่นจะมีจุดร่วมอยู่ที่คุณสมบัติที่ช่วยบรรเทาอาการวิงเวียน ทำให้หายใจได้สะดวก ช่วยให้รู้สึกสดชื่น แล้วแบ่งออกเป็นคอลเลกชันที่มีฟังก์ชั่นต่างกันคือ แอคทีฟคอลเลกชัน ที่ช่วยกระตุ้นความสดชื่น ก่อให้เกิดสมาธิ กับ รีแลกซ์คอลเลคชัน สำหรับช่วงเวลาที่ต้องการความสงบ ผ่อนคลาย แถมยังออกแบบกลิ่นลิมิเต็ดที่จะออกมาสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ลองใช้กันเป็นระยะ

    หากอโรมาแกดเจ็ต 5 สี ได้แก่ Midnight Black, Coral Red, Cloud White, Matcha Latte และ Eternity Blue เป็นสีที่สะท้อนความชอบและตัวตนภายนอกของผู้ใช้ กลิ่นที่เลือกนำมารีฟิลไว้จึงเป็นสิ่งที่บ่งบอกอารมณ์ความรู้สึกและความปรารถนาในช่วงเวลานั้นๆ ได้เป็นอย่างดี

สวัสดี! เราคืออโรมาแกดเจ็ต
    อโรมาแกดเจ็ตของ SANDT เริ่มเปิดตัวมาความรู้จักกับทุกคนผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเล่าเรื่องราวผ่านเบื้องหลังการออกแบบและวิดีโอวิธีการใช้ ซึ่งแม้จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับกลิ่น แต่คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่ารูปลักษณ์ สีสัน และวิธีใช้ ดึงดูดให้อยากลองสัมผัสและสูดดมด้วยตัวเองจริงๆ 
    เอเล่าให้ฟังว่า กระบวนการออกแบบมีส่วนช่วยในการสื่อสารด้วยเหมือนกัน "ไม่รู้ว่าบังเอิญหรือเปล่านะครับ แต่เวลาที่เราใช้นิ้วกดปากกาเล่นเวลาเหงามือหรือทำอะไรสักอย่างเป็นจังหวะ เราเรียกสิ่งนี้ว่า ฟีดเจต (fidget) แล้วการออกแบบออกมาในรูปแบบของการกดเพื่อเปิด-ปิดที่เล่นกับนิ้วมือได้ เมื่อเราจะเริ่มทดลองตลาดออนไลน์ สิ่งแรกเรารู้ว่าคนจะไม่ได้ลองกลิ่น แต่เวลากดอโรมาแกดเจ็ตมีเสียง เห็นผ่านวิดีโอได้ กระตุ้นความสนใจได้ว่า 'เอ๊ะ! เกิดอะไรขึ้น ทำไมกดแล้วสดชื่น' มันไปเชื่อมโยงกับพฤติกรรมในอีกมิติได้ เมื่อเราเลือกที่จะนำเสนอประสาทสัมผัสในส่วนที่สัมผัสผ่านออนไลน์ไม่ได้ เลยตั้งสโลแกนเชิงกลยุทธ 'แค่กดก็สดชื่น' หรือ 'Snap, breathe in' ขึ้นมา"
    ผิงเสริมให้เห็นถึงพลังของโซเชียลมีเดียว่า "Tiktok เป็นช่องทางใหม่ล่าสุดของเรา แต่ผลตอบรับค่อนข้างโอเค พอลงคลิปไปตัวหนึ่งก็ค่อนข้างไวรัล ทำให้มีคนสนใจแบรนด์มาขึ้น แล้วก็มีอินฟูเอนเซอร์ด้านกลิ่นที่เขาคอยตามของใหม่ๆ อยู่แล้วมาสนใจกดสั่งซื้อด้วยตัวเอง พอเขาเอาไปลงรีวิวก็ทำให้มีคนมาสนใจสินค้ามากขึ้นด้วยค่ะ"
    หลังจากเปิดตัวผ่านช่องทางออนไลน์สักพัก SANDT ก็ได้พบปะผู้คนผ่านอีเวนต์ต่างๆ ทำให้ได้พบกับคนที่เคยติดตามทางออนไลน์และคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน "ที่ผ่านมาเราคุยกับลูกค้าทางออนไลน์ตลอดนะคะ แล้วเวลาไปออกบูทเราก็จะถามว่า 'ลูกค้ารู้จักเรามาจากที่ไหนคะ" แล้วเขาก็บอกว่าติดตามมาตั้งแต่วันแรกๆ เขาดีใจที่ได้เจอคนที่ทำ และเราก็ดีใจที่ได้เจอเขาเหมือนกัน ตอนนี้เริ่มมีลูกค้าที่ซื้อสะสมจนครบทุกสี แล้วติดตามกลิ่นใหม่ไปเรื่อยๆ หรือเวลามีสินค้าใหม่เป็นสเปรย์ฉีดหมอน (Pillow Spray) กลิ่น ลาเวนดรีม (LavenDream) ออกมา เขาก็อยากจะมาลอง รู้สึกดีใจค่ะ" ผิงเล่าถึงความรู้สึกที่ได้พบลูกค้าตัวจริงด้วยรอยยิ้ม
    สำหรับคนที่ไม่เคยรู้จักอโรมาแกดเจ็ตมาก่อน เอก็บอกว่าคนจะสงสัยกันทุกครั้งที่พูดคำนี้ "โอ้โห! สิ่งนี้เกิดขึ้นทุกวินาทีเลยครับ เรามองตาเขา มองวิธีที่เขาหันมาถามว่าอะไรนะ ทุกคนที่เดินผ่าน ทุกคนที่เดินเข้ามาคุย เราเก็บข้อมูลผ่านภาษากายได้จากเขาเยอะมากเหมือนกันครับ" 
    กวิ้นก็รู้สึกว่าการที่คนเริ่มสนใจ จะนำไปสู่การสื่อสารเพิ่มเติมได้ "เราต้องพูดถึงอโรมาแกดเจ็ตก่อนครับ แล้วพอเขาถามว่านี่คืออะไร เราก็จะบอกว่ายาดมสไตล์แกดเจ็ต เพื่อง่ายต่อการอธิบาย ซึ่งจริงๆ ก็มีข้อดีที่เรายอมรับว่านี่คือการที่เราใส่นวัตกรรมเข้าไปในยาดมตั้งแต่แรก"
    แนวคิดในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ใช้นวัตกรรมมาสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ตามความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยจึงเป็นที่มาของชื่อแบรนด์ SANDT ด้วยเหมือนกัน 
    กวิ้นบอกว่าชื่อแบรนด์เริ่มมาจาก คำว่า ทราย (Sand) วัสดุตั้งต้นที่นำมาสร้างนวัตกรรมใหม่ได้หลายอย่างมาก อีกทั้งสามารถเปลี่ยนรูปลักษณ์ของตัวเองไปตามภาชนะที่บรรจุ ส่วนตัว T มาจากความพยายามที่จะยกระดับประสบการณ์การรับรู้ของผู้คนไปตามกาลเวลา ชื่อแบรนด์จึงอ่านว่า แซนท์ โดยไม่ออกเสียงตัว T ก่อนที่ผิงจะเสริมว่า SANDT มีความหมายว่า Senses and Time ก็ได้ เพราะเป็นการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่สร้างประสบการณ์ทางผัสสะต่างๆ ให้เข้าไปอยู่ในแต่ละช่วงเวลาของชีวิตผู้คนได้ง่ายขึ้น
    ส่วน SANDT จะมีความหมายกับผู้ใช้อย่างไร ต้องลองค้นหาด้วยตัวเอง

    ทำความรู้จักกับ SANDT เพิ่มเติมได้ที่ sandtbkk.com ช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ของแบรนด์ หรือลองสัมผัสอโรมาแกดเจ็ตของจริงได้ที่ happening shop สาขาหอศิลปกรุงเทพฯ (bacc) ชั้น 3 และ โครงการดาดฟ้า ลาซาล 33

ดุสิตา อิ่มอารมณ์

นักเขียน ผู้ใช้พื้นที่ในเวลาว่างไปกับการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ขี่จักรยาน อ่านการ์ตูน เล่นเลโก้ ฯลฯ โดยเชื่อเต็มหัวใจว่าเวลาที่หมดไปกับความรื่นเริงนี้สามารถเติมเต็มชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นภัส วิบูลย์พนธ์

ช่างภาพและนักประสานงานเจ้าระเบียบที่อัพสกิลความละเอียดขึ้นทุกปี กำลังใช้เวลากับเพื่อนสนิทที่ชื่องานเขียนและภาพถ่ายไปพลางๆ ระหว่างรอแก่ไปเจอฝันเล็กจิ๋วอย่างการนั่งชมต้นไม้ในสวนหลังบ้านของตัวเองบนเก้าอี้โยกกับหมาซักหนึ่งตัว