Silly Fools: King Size

    นี่คือรีวิวอัลบั้ม King Size ฉบับเด็กเกิดในยุคคาบเกี่ยวระหว่าง 90s - 2000 หลังจากได้ยินเพลง คนที่ฆ่าฉัน ผ่านหู แล้วเกิดความสงสัยว่า เพลงนี้เป็นเพลงของใครกัน?

    หลังจากที่ได้กลับไปค้นหาข้อมูลก่อนจะรู้ว่าเพลงนี้เป็นเพลงในอัลบั้ม Kingsize ผลงานชุดที่ห้าของวงดนตรีร็อกมากความสามารถ อย่าง Silly Fools ที่ถูกปล่อยครั้งเเรกในปี 2547 รับไม้ต่อความสำเร็จจากอัลบั้ม Candyman (2542) Mint (2543) และ Juicy (2545) ด้วยการส่งเพลงฮิตติดหู อย่าง น้ำลาย, คนที่ฆ่าฉัน และเพลงอื่นๆ ในอัลบั้ม มาตอกย้ำให้เพลงของพวกเขาได้เข้าไปฝังลึกและตีตลาดฐานคนฟังเพลงทั้งในและนอกกระเเส กระทั่งกลายเป็นเพลงขวัญใจวัยรุ่นในยุคนั้น จนลามมาถึงวัยรุ่นในยุคนี้แบบเรา

    เเต่ก่อนที่พวกเขาจะประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จักเหมือนทุกวันนี้ พวกเขาใช้เวลาในการเดินทางอยู่ไม่น้อย เริ่มจากได้ไปทำเพลงกับค่าย Bakery Music กระทั่งได้ออกอีพีอัลบั้มในโปรเจกต์ Bakery Sampler จนเมื่อปี 2541 จึงได้ออกอัลบั้มเดบิวต์ที่มีชื่อว่า IQ 180 เป็นอัลบั้มเต็มชุดแรกในฐานะศิลปินในค่ายมอร์ มิวสิค (More Music) ค่ายเพลงที่อุดมไปด้วยวงร็อกระดับตำนาน ภายใต้การดูแลของค่ายจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (Gmm Grammy) หลังจากได้นำเดโมไปทางเสนอค่าย อัลบั้มนี้ทำให้พวกเขาถูกพูดถึงในวงกว้างมากขึ้น เพราะจากเดิมที่พวกเขาอยู่ใต้ดิน ได้ขึ้นมาอยู่บนดินเต็มตัว รวมถึงการทำเพลงให้เข้าถึงคนหมู่มากแต่ยังคงรักษาตัวตนของวงเอาไว้และมีเพลงที่ติดหูอย่าง เมื่อรักฉันเกิด

    หลังจากนั้น ในปี 2542 พวกเขาได้ออกอัลบั้มใหม่ที่มีชื่อว่า Candyman โดยทางวงได้หยิบเสียงซินธิไซเซอร์ (Synthesizer) มาใช้ผสมผสานกับดนตรีร็อกดิบๆ รวมถึงกลิ่นอายของความเป็นแจ๊ซและฟังก์ ภายใต้เนื้อหาที่ถ่ายทอดประเด็นหลากหลายทั้งความฝัน ปัญหาครอบครัว หรือเพลงรักที่เพราะจับใจหลายๆ คนอย่าง เพียงรัก กับเนื้อร้องติดหูที่ชาวร็อกร้องได้อย่างไม่เขินอายอย่างเพลง อย่าบอกว่ารัก ไหนว่าจะไม่หลอกกัน เป็นต้น ซึ่งอัลบั้มนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้วง Silly Fools ก้าวสู่การเป็น ผู้ยิ่งใหญ่ เหมือนชื่อเพลงของพวกเขาในนามของร็อกสตาร์เบอร์ต้นๆ ของวงการเพลงร็อกไทยที่กลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศ

    สำหรับเราซึ่งได้ฟังอัลบั้มตอนเด็กๆ แล้ว Silly Fools เป็นเหมือนเพลงไทยรสชาติใหม่ในยุคนั้น ด้วยเสียงกีตาร์แสบสัน รวมไปถึงสไตล์การนำเสนอตัวตนที่มีเอกลักษณ์อย่างโดดเด่น แปลกใหม่ และน่าประทับใจ ตอนที่ได้ฟังเพลง คนที่ฆ่าฉัน จากเทปที่พ่อเปิดฟังอยู่ทุกวัน ฟังครั้งแรกก็รู้สึกชอบเนื้อเสียงของนักร้อง ยิ่งฟังยิ่งหยุดไม่ได้ (นึกแล้วก็แอบคิดถึงสมัยเด็กๆ เหมือนกันนะ) เลยอยากลองมาปัดฝุ่นผงแห่งความทรงจำ ด้วยการเริ่มต้นย้อนฟังเพลงทุกเพลงในอัลบั้มนี้ใหม่ตั้งแต่วินาทีแรกจนวินาทีสุดท้ายดู เอาล่ะ ปรับจูนคลื่นเสียงในหูพร้อมแล้ว เราไปลุยกัน!

Limited Vinyl Running Number 999 Copies Made in Japan

    อัลบั้ม King Size เริ่มต้นด้วยซาวน์หนักแน่น แล้วแต่แป๊ะ เพลงที่บ่งบอกตัวตนของ Silly Fools ได้ดีที่สุด ด้วยจังหวะสุดมัน ฟังแล้วหนึบหนับอยู่ที่หู เรียกความสนใจเราตั้งแต่วินาทีแรก ในส่วนของเนื้อเพลงเหมือนกำลังสื่อว่า เบื่อที่ต้องมาเอาใจใคร บ่งบอกว่าตัวเองเริ่มจะไม่แคร์อะไรเเล้ว แถมยังแอบเตือนสติเราเบาๆ ดังท่อน 'เสียงนกเสียงกา หลับตาใช้ใจบอก ไม่ต้องฝืนไปข่มขืนใจ' ชวนให้คิดว่าบางเรื่องไม่ต้องไปใส่ใจมากเกินไป เป็นความเหนื่อยใจที่ไร้ประโยชน์

    ไปต่อกันที่ น้ำลาย เพลงดังเหนือกาลเวลา เราชอบทุกอย่างที่มันเชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะมิวสิกวิดีโอที่เสียดสีวัฒนธรรมไทยในยุคนั้น และเนื้อร้องที่เสียดสีสัจธรรมของมนุษย์ คนเรามักจะโดนคนอื่นตัดสินจากมุมมองที่เห็น (แปลกเเต่จริง) ส่วนคนที่โดนตัดสินมักจะเก็บน้ำลายที่พวกเขาพ่นมาใส่ใจ แม้เวลาผ่านไปเป็นสิบๆปี เพลงนี้ก็ยังเตือนใจคนได้เหมือนเดิม เหมือนกับแต่งมาเพื่ออนาคต ทำให้เพลงนี้ก็กลายเป็นแทร็กที่ผู้คนมากมายยังเปิดฟังมาจนถึงปัจจุบัน

    มาถึงสองเพลงช้ำรักสุดฮิตจากอัลบั้มนี้อย่าง คนที่ฆ่าฉัน และ หนึ่งเดียวของฉัน มาพร้อมกับเมโลดี้ที่ชวนให้ดำดิ่งไปกับเนื้อหาในเพลงอย่างเต็มสูบ ขณะที่ คนที่ฆ่าฉัน เปรียบเทียบความรักเป็นดั่งอาวุธทำร้ายใจคน และ หนึ่งเดียวของฉัน ที่เป็นแทร็กต่อกันก็พร่ำบอกถึงความเจ็บปวดและความทรมานจากการได้รักเป็นอย่างดี

    หลังจากฟังเพลงเศร้ากันมาเยอะแล้ว แทร็กที่ห้า อย่าง ตูมตาม ก็เข้ามาเบรกอารมณ์ไว้ ด้วยสายตาบาดใจของหญิงสาวในเพลง ส่วนตัวรู้สึกเซอร์ไพรส์เมื่อได้ฟังเพลง ตูมตาม โดยเฉพาะท่อนพรีฮุกที่อยู่ๆ ก็มีไลน์กีตาร์ขึ้นมา ต่อด้วยไลน์เบสและกลองที่ค่อยๆ ไล่ตามมาทีหลัง ฟังแล้วรู้สึกถึงกลิ่นอายของวงดนตรีร็อกนูเมทัลระดับตำนานจากอเมริกาอย่างวง Korn เจ้าของเพลงดัง อย่าง Freak On a Leash และ Falling Away from Me อยู่เบาๆ

    และเมื่อเดินทางมาถึงแทร็กที่หก อย่าง ไม่หวั่นแม้วันมามาก ด้วยเมโลดี้ที่ฟังแล้วอยากโยกหัวตามจังหวะกวนๆ ทำให้เรานึกถึงงานดนตรีในโรงเรียนสมัยมัธยม ตอนที่ทุกคนยืนรวมตัวกันหน้าเวที ในจังหวะที่นักร้องชี้เป้ามาคนดูแล้วพูดว่า 'บอกมา รับคำท้าไม่ว่าหน้าไหน' แล้วทุกคนตอบรับด้วยการโยกพร้อมกัน เป็นช่วงเวลาที่ปลุกเราให้ลุกออกจากชีวิตเหนื่อยหน่าย ไปสู้กับชีวิตในวันพรุ่งนี้ได้เป็นอย่างดี แถมมิวสิกวิดีโอเพลงนี้ก็ปั่นสุดๆ งัดความบ้าๆ บอๆ ของพวกเขาออกมาเรียกรอยยิ้มให้ผู้ชมตั้งเเต่ต้นยันจบ สรุปแล้วเพลงมันดีมากแบบ 200% ตามที่เขาได้บอกไว้ในมิวสิกวิดีโอโดยไม่ต้องสงสัย

    บอกลา ได้แทนใจคนที่กำลังจะถูกบอกลาในความสัมพันธ์อย่างตรงไปตรงมาที่สุด โดยเฉพาะท่อนฮุก 'ไม่มีสิ่งใดที่ไม่เข้าใจ ไม่ได้เสียใจไม่มีหัวใจต่อไป เบื่อก็บอกลาไม่มีปัญหา ไม่มีเวลาไม่หลั่งน้ำตาให้เธอ' เพียงแต่การบอกลาครั้งนี้เป็นการบอกลาที่มันระเบิด เพราะมีซาวน์กีตาร์มันๆ และจังหวะกลองรัวๆ เป็นคนเบิกทางให้การจากลาครั้งนี้ ขณะเดียวกัน เพลงนี้ก็เป็นตัวแทนการบอกลาแบบไม่มีน้ำตาระหว่างเรากับเพื่อน ฟังแล้วนึกถึงช่วงเวลาที่ได้ตะโกนร้องเพลง พร้อมเก็บบรรยากาศภาพความทรงจำในวันที่จากกันเป็นอย่างดี

    เพลงที่โชว์ชั้นเชิงดนตรี อย่าง มันแอบอยู่ข้างเครื่อง ก็ยังคงเสิร์ฟซาวน์มันๆ มาให้เราฟังอย่างต่อเนื่อง เพลงนี้เป็นเพลงที่เราชอบซาวน์ช่วงโหมโรงก่อนเข้าอินโทรมาก จังหวะกลองที่รัวขึ้นมา พร้อมกับริฟฟ์กีต้าร์แสบทรวงทำให้รู้สึกใจเต้นเเรง ก่อนจะถูกสวิตช์อารมณ์ด้วยเสียงเนิบๆ ของนักร้อง แล้วจึงถูกกระชากกลับมาอีกครั้งด้วยริฟฟ์กีต้าร์ที่วนกลับมาในท่อนฮุก ฟังแล้วให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ท่ามกลางรถมอเตอร์ไซค์ที่มีเสียงท่อดังๆ แต่อย่าได้ไปฟังตอนขับรถเชียว จิตวิญญาณนักซิ่งที่ซ่อนอยู่ในตัวคุณ อาจจะถูกปลดปล่อยให้ไหลลื่นไปกับเพลงได้แบบไม่รู้ตัว

    มาถึงสองเพลงช้าค่อนไปทางมีเดียม (Medium) ประจำอัลบั้มนี้ เพลงของเธอ เพลงรักที่ของคนมีหวังกับการรอคอยความรัก คงเป็นเพลงที่โรแมนติกที่สุดในอัลบั้มนี้ ด้วยเมโลดี้และจังหวะฟังสบาย แต่กลับให้ความรู้สึกสับสนและชวนคิดต่อไปว่า สุดท้ายแล้วรักครั้งนี้จะเป็นรักที่สมหวังจริงหรือไม่

    แล้วแทร็กรองสุดท้ายอย่าง เบื่อ ก็ดังขึ้น เหมือนกับภาคต่อที่เฉลยเรื่องราวของเพลงก่อนหน้า เพียงแค่ท่อน 'เบื่อที่จะรัก เบื่อที่จะร้อง เบื่อท่วงทำนอง เบื่อคำทุกคำที่ฉันพูดไป' ดังขึ้น เสียงของโตก็ปรับอารมณ์ให้ดิ่งลงไม่น้อย ด้วยเนื้อร้องที่บอกถึงบาดเเผลที่คนรักฝากไว้ และเสียงถอนหายใจในช่วงท้ายของเพลง ยิ่งส่งให้ความรู้สึกของผู้ฟังเพลงอย่างเราชัดเจนขึ้นมาก

    ก่อนจะปิดท้ายด้วย เเล้วเเต่แป๊ะ กลับมารับหน้าที่รันจบอัลบั้มนี้อย่างสวยงาม โดยวงได้ปรับดนตรีของเพลงนี้ให้ร็อกขึ้น ลึกขึ้น และเดือดขึ้น ในเวอร์ชั่นมอนสเตอร์มิกซ์ (Monster Mix) เป็นงานซาวน์ที่เครื่องดนตรีอย่าง กลอง กีต้าร์ และเบสรับบทเป็นตัวชูโรงอีกครั้ง สลับกับเสียงแหบๆ และเสียงว้ากสุดคลั่ง ฟังแล้วเหมือนหลุดไปอยู่กลางวงมอชพิทที่ทุกคนปลดปล่อยพลัง วิ่งปะทะกันหน้าเวที

    หลังจากฟังตั้งแต่ต้นจนจบ ก็พบว่าอัลบั้ม Kingsize มีความสุดโต่งในทุกทาง ตั้งแต่ภาษาที่เข้าถึงง่าย เน้นความเรียล ให้เห็นถึงความรู้สึกของคนที่เหนื่อยล้าในความสัมพันธ์ ประกอบกับดนตรีที่ชูความเป็นร็อก ผ่านจังหวะและท่วงทำนองที่สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของสมาชิกวงได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่เนื้อร้อง และทำนองของ โต-วีรชน ศรัทธายิ่ง สไตล์การริฟฟ์กีต้าร์สุดซิ่งของ ต้น-จักรินทร์ จูประเสริฐ รวมถึงไลน์เบสซ่าๆ จาก หรั่ง-เทวฤทธิ์ ศรีสุข และเสียงกลองหนักแน่นของ ต่อ-ต่อตระกูล ใบเงิน จนพูดได้เต็มปากเลยว่า อัลบั้มนี้สมกับเป็นคิงแห่งวงการ เช่นเดียวกับชื่ออัลบั้ม King Size: Silly Fools จริงๆ นี่คืออัลบั้มที่เราโดนตกเข้าอย่างเต็มๆ

    แต่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา เชื่อว่าหลายคนคงจะจำกันได้ดี หลังจากที่ King Size ออกมาสั่นสะเทือนวงการเพลงร็อกไม่นาน วงก็เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันในปี 2549 เมื่อโตได้ประกาศลาออกจากวง ด้วยเหตุผลที่ว่า ความรู้สึกที่มีต่อการทำเพลงเปลี่ยนไป จึงทำให้วงดำเนินต่อไปด้วยสมาชิกที่เหลือสามคน หลังทิ้งช่วงไปสักพักใหญ่ พวกเขากลับมาในปี 2555 พร้อมกับ เบน-เบนจามิน จุง ทัฟเนล ซึ่งมารับไม้ต่อเป็นนักร้องนำคนใหม่แทน แต่หลังจากนั้นไม่นาน ต่อ-ต่อตระกูล ใบเงิน ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกวง ก่อนที่ รัตน์ โกบายาชิ มาประจำตำแหน่งกลองคนใหม่

    จนเมื่อปี 2558 ได้เกิดจากเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อ เบน ได้ประกาศลาออกจากวงเนื่องจากปัญหาสุขภาพ ทำให้ ริม-กฤษณะ ปานดอนลาน ได้เข้ามาเป็นอะไหล่ชั้นดีแทนส่วนที่ขาดหายไปในฐานะฟรอนต์แมนจนถึงปัจจุบัน และด้วยเสียงสูงที่มีเอกลักษณ์ของริม ทำให้วงกลับมาคืนฟอร์มอีกครั้ง ด้วยวัยที่เติบโตขึ้นและมุมมองที่เปลี่ยนไป จากนักดนตรีบ้าพลังและสุดโต่ง พวกเขาแปลงโฉมเป็นชาวร็อกเข้าถึงง่าย และยังมีผลงานเพลงมากมาย อย่าง เเพ้ความอ่อนแอ, 20 ตุลา และเพลงอื่นๆ ให้ได้ติดตามกัน แต่ไม่ว่าพวกเขาจะเปลี่ยนสมาชิกวงหรือแนวทางการทำเพลงไปอย่างไร กลิ่นอายของความเป็น Silly Fools ก็ยังคงชัดเจนไม่เคยเปลี่ยนไป หากอ่านมาถึงท่อนนี้แล้วเริ่มสงสัยว่าเพลงใหม่ๆ ของวงเป็นอย่างไร เราขอชวนให้ทุกคนลองหาจังหวะเข้าไปสัมผัสตัวตนของพวกเขาอีกครั้งด้วยตัวเอง

    การที่ได้กลับมาฟังอัลบั้มนี้อย่างจริงจังอีกครั้ง ทำให้เรารู้สึกว่าเพลงมันไม่ตกยุคเลย ซึ่งก็เป็นเสน่ห์อีกเเบบที่เพลงในยุคนั้นแตกต่างจากยุคนี้เหมือนกัน หรือที่เขาเลื่องลือกันว่าไม่มีอะไรที่สามารถมาล้มล้างความเก๋าของวงนี้ได้ ก็คงจะจริง แต่แอบน่าเสียดายเหมือนกันที่ว่าอาจจะไม่มีเสียงร้องหรือเนื้อเพลงที่เผยให้เห็นตัวตนของโต ซึ่งยากที่จะมีใครเลียนแบบได้เช่นนี้อีก

    ก่อนจะจากกันไป เราขอแวะเเซวหน้าปกที่เรียกความสนใจตั้งแต่แรกเห็นกันสักหน่อย ตอนเห็นครั้งแรก เราเชื่ออย่างสนิทใจว่าพวกเขามีซิกเเพคกันจริงๆ พอมารู้ความจริงว่าทางวงได้เชิญนักกล้ามทั้งสี่คนมาเป็นแสตนอินถ่ายปกอัลบั้ม Kingsize ถึงกับทึ่งไปเลย จะว่าไปแล้วสิ่งเหล่านี้มันก็กลายเป็นจุดน่าจดจำของอัลบั้มนี้ เเถมยังมีดีไซน์ที่ไม่ซ้ำใครและติดตาไปอีกแบบ ชวนให้เหล่าเเฟนเพลงอยากเก็บสะสมเข้ากรุแห่งความทรงจำ

    มาถึงตอนนี้ถ้าใครกำลังมีคำถามว่าเริ่มฟังตอนนี้จะรู้เรื่องหรือไม่? เราคิดว่ามันไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับการเริ่มต้นฟัง Silly Fools เลย เพราะมันสวยงามทรงพลังเสมอมา จนอาจพูดได้ว่านี่คือตำนานที่ยังมีชีวิตและจะคงอยู่ไปอีกนานของวงร็อกวงหนึ่งในเมืองไทยก็เป็นได้ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งอัลบั้มที่เราอยากให้คุณเปิดใจและลองฟังตั้งแต่วินาทีแรกจนวินาทีสุดท้ายด้วยตัวเอง

อริญาดา นะรินนอก

นักศึกษาฝึกประสานงานในคราบของนักจ้องเกือก ชอบอิสระ รักการเดินทาง เกิดวันหนึ่งในฤดูร้อน เป้าหมายสุดท้ายของชีวิต 'ฟังเพลง แล้วตายไป'