ในวาระการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2566 ถือเป็นอีกห้วงเวลาหนึ่งที่เราได้เห็นหน้าค่าตา ได้ฟังความคิดและวิสัยทัศน์ของเหล่านักการเมืองที่อาสาเข้ามาทำงานพัฒนาประเทศกันอย่างล้นหลาม มีความคิดและนโยบายที่แตกต่างและคล้ายคลึงกันจากหลายๆ พรรคการเมืองถูกแถลงออกมาเพื่อประกอบการตัดสินใจของประชาชน ถือเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่หลายๆ คนได้ขบคิดเรื่องทิศทางที่อยากให้ประเทศของเราเดินไปอย่างจริงจัง
สำหรับผู้คนในแวดวงศิลปะ แวดวงสร้างสรรค์ และรวมไปถึงคนทำงานในด้านบันเทิงหลายๆ คนเองก็มีปัญหาทีอยากให้คนที่กุมนโนบายของรัฐ หรือคนที่ทำงานการเมืองได้รับฟังเช่นกัน ในวาระนี้ ทีม happening ลองสอบถามความเห็น ไอเดีย หรือกระทั่งนโยบายที่คนในแวดวงนี้จำนวน 26 คนอยากนำเสนอกับนักการเมือง แล้วนำมาบันทึกไว้ เพื่อเป็นการสะท้อนปัญหาของแวดวง 'ซอฟต์ พาวเวอร์' ของบ้านเราเอาไว้ เผื่อว่าจะมีนักการเมืองแวะมาอ่าน และเผื่อว่าวันหนึ่ง ไอเดียเหล่านี้จะได้ถูกนำไปปรับใช้หรือต่อยอดได้
เราส่งคำถามสั้นๆ ให้คน 26 คนในแวดวงนี้ว่า 'คุณอยากบอกอะไรกับนักการเมือง?' และข้อความเหล่านี้คือสิ่งที่ถูกตอบกลับมา
และท้ายสุด เราอยากบอกว่าความเห็นและชื่อผู้คนในสกู๊ปชิ้นนี้ไม่ได้เรียงตามลำดับด้วยเกณฑ์ใดๆ คือไม่ได้เรียงตามอายุ ไม่ได้เรียงตามประเภท บทบาท หรือเรียงตามความเห็นความเชื่อทางการเมืองแบบใดๆ ทั้งสิ้น โดยเราหวังเพียงว่าสกู๊ปชิ้นนี้จะเป็นเพียงเสียงหนึ่งจากฝ่าย 'ประชาชน' ที่อยากส่งถึง 'นักการเมือง' เท่านั้น และหากคนในแวดวงศิลปะคนอื่นๆ จะส่งต่อไอเดียนี้ด้วยการแสดงความเห็นถึงสิ่งที่อยากบอกนักการเมืองไทยแบบที่ศิลปินทั้ง 26 รายได้ลองแสดงความเห็นในสกู๊ปชิ้นนี้ไปแล้ว พร้อมกับติดแฮชแท็ก #คนศิลปะอยากบอกนักการเมือง ก็น่าจะเป็นการร่วมกันส่งเสียงให้ดังขึ้นไปอีก เผื่อว่าจะไปถึงนักการเมืองของเราเข้าสักวัน
หมายเหตุ: สำหรับผู้ที่ตอบกลับด้วยการให้สัมภาษณ์เป็นคำพูด ทีม happening จะทำเป็นข้อความในเครื่องหมายคำพูดเอาไว้ ส่วนคนที่ตอบกลับด้วยการเขียนเป็นตัวหนังสือมาให้ เราก็จะคงความเป็นงานเขียนเอาไว้เช่นกัน
ศิลปินเซรามิก, ช่างภาพ, ศิลปินศิลปาธร ปี 2553
เเต่ละคนมีความสามารถความถนัดที่เเตกต่างกัน อยากให้คนทำงานการเมือง หรือ ราชการ ลองเปิดใจให้โอกาสเเละไว้ใจคนที่ถนัดในเรื่องต่างๆ ได้รับผิดชอบ เสนอเเนะ สิ่งที่เขาคุ้นเคย เเละที่สำคัญที่สุดคือควรรับฟังเหตุเเละผล ทั้งจากผู้ที่เข้ามาเเนะนำ เเละความเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ เวลาที่ต้องมาทำงานบางอย่างด้วยกัน
แต่ปัญหาที่เจอบ่อยที่สุดคือ ทุกคนพยายามใส่ เพิ่มเติมเสริม ทุกอย่างที่นึกออก ยัดเพิ่มเข้าไปจนเกินเเละหลุดออกจากจุดควรเป็น ที่มักจะมากเกินพอดีไปเสมอ อย่างเรื่องศิลปะ ก็ให้คนที่ถนัดทางนี้ ได้ทำให้เต็มที่ แล้วขอเพียงให้คอยสนับสนุน ประสาน เเละเชื่อมโยง ให้ทุกฝ่ายได้ทุกอย่างที่ต้องการมากที่สุด เเละตัวงานไปสุดกรอบที่สุด โดยที่ไม่ขัดต่อภาพรวมที่ดีที่สุดของงานนั้น หรือสถานที่นั้น
เเม้บางครั้งผลที่จะได้รับอาจต้องใช้เวลานานกว่าช่วงเวลาที่พวกท่านยังอยู่ในอำนาจ เเต่ก็อยากให้พวกท่านเสียสละ เเละลงทุน เพื่อสร้างวางฐานที่ดี เเละ มั่นคง เพื่อประโยชน์ของชุมชนบ้านเราตลอดไป
และสุดท้าย ทุกงานที่เสร็จเเล้วต้องมีการดูเเลต่อเนื่อง ไม่ควรใส่ใจเเค่ช่วงทำข่าว เเละปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นขยะให้คนในชุมชน เเละทำลายความรู้สึกของคนที่เข้ามาสนับสนุน
ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc)
"อยากให้นักการเมืองทุกท่านช่วยกันปรับความเข้าใจว่า ศิลปะนั้นมีประโยชน์กับสังคมอย่างไร คือตอนนี้เวลาคนทั่วไปนึกถึงศิลปะ อาจจะคิดว่าเป็นการช่วยซื้อ หรือช่วยกัน ซึ่งมันจะเอนไปทางเรื่องการกุศล แต่ศิลปะไม่มีบุญให้ มันไม่ใช่ว่าคุณซื้องานศิลปะแล้วจะได้บุญ อยากให้นักการเมืองช่วยกันปรับความเข้าใจว่า จริงๆ แล้วศิลปะคือการลงทุนให้กับสังคมในอนาคต เหมือนคุณลงทุนปลูกต้นไม้ คุณต้องรออีก 20 ปีกว่าคุณจะได้พื้นที่ที่มันร่ม เราก็อยากให้มองว่าศิลปะมันคือการลงทุนให้กับคนรุ่นต่อๆ ไป อีก 10 ปี 20 ปีข้างหน้า
"ซึ่งพอคิดต่อจากความเข้าใจนี้ ก็เลยอยากเห็นนโยบายแต่ละพรรคให้มองไปยังอนาคต ซึ่งก็หมายความว่าเราจะต้องมองไปยังระบบนิเวศของวงการศิลปะ เพราะว่าตอนนี้โครงสร้างของเรายังไม่มี เรายังไม่มีโครงสร้างในการสนับสนุนหรือให้ทุนอะไรที่ชัดเจน เรายังไม่มีกฎหมายที่เปิดทางให้เรามี Art Industry อย่างชัดเจน และเรายังไม่มีศูนย์ศิลปะที่อยู่นอกเขตกรุงเทพฯ หรือนอกจากในเขตปทุมวันอย่าง bacc ทั้งที่เราควรจะมีศูนย์ศิลปะในจุดต่างๆ ทั่วประเทศไทย สิ่งเหล่านี้มันจะไปช่วยกันต่อเติมระบบนิเวศของวงการศิลปะให้เต็มได้ ตอนนี้เรามีศิลปินที่มีผลงานสู้คนอื่นๆ ได้แล้ว เรามีผลงานที่ดีอยู่เยอะมากๆ แล้ว แต่พื้นที่ที่เป็นศูนย์ศิลปะแบบ bacc มีแค่จุดเดียว แล้วก็มีแกลเลอรี่ขนาดย่อมๆ ที่เขาก็สร้างตัวเองขึ้นมากันอยู่แล้ว เลยอยากเห็นนักการเมืองที่คิดได้ว่าในเมื่อมันเป็นการลงทุนสำหรับอนาคต คุณจะมาช่วยสร้างโครงสร้างพื้นฐานกันยังไง ให้ในอีก 20 หรือ 30 ปีข้างหน้า เราจะมีทุกอย่างครบ ทั้งพิพิธภัณฑ์ที่เก็บงานร่วมสมัยอย่างชัดเจน มีศูนย์ศิลปะอยู่ทั่วประเทศไทยที่สามารถช่วยเรื่องการศึกษาด้านนี้ เรามีการสร้างคน สร้างอาร์ตแมเนเจอร์ คิวเรเตอร์ หรือผู้ติดตั้งงานศิลปะมืออาชีพ มีการสนับสนุนศิลปินเด็กๆ สนับสนุนศิลปินรุ่นใหญ่ ที่พอถึงจุดหนึ่งเราจะช่วยพาเขาไปอีกระดับหรือพาไปอยู่ใน Global Dialogue ได้อย่างไร ทั้งหมดมันต้องเกิดจากโครงสร้างที่พร้อมค่ะ"
ช่างภาพ, นักอนุรักษ์
"ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่าวงการศิลปะไทยเติบโตขึ้นมากเลยนะครับ เห็นได้จากงานเทศกาลศิลปะต่างๆ ที่เกิดขึ้นหรือจะเห็นได้ว่าองค์กรหรือบริษัทที่นำเรื่องของศิลปะเข้าไปใช้ในการสื่อสารหรือว่าจัดกิจกรรมต่างๆ แต่เทศกาลงานศิลปะเหล่านี้ยังกระจุกตัวอยู่แค่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น ผมคิดว่านโยบายของภาครัฐที่สนับสนุนงานศิลปะยังไม่ค่อยชัดเจน ผมเลยอยากจะเห็นนโยบายที่สนับสนุนวงการศิลปะในระดับท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น อาจจะเป็นการจัดเทศกาลศิลปะของแต่ละจังหวัดปีละ 1 ครั้ง เพื่อโชว์เคสศิลปินหรือศิลปะของแต่ละจังหวัด แต่ถ้ามันเป็นไปได้ยาก ลองคิดว่าก็อาจจะจัดภาคละ 1 งาน ปีละ 1 ครั้งก็ได้ครับ แล้วก็แต่ละภาคก็คัดเลือกศิลปินมาแสดงผลงาน และทางภาครัฐก็มีเรื่องของโร้ดแมพ การสนับสนุนศิลปินเหล่านี้ที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นภายในประเทศหรือการเติบโตในต่างประเทศเองก็ตาม มันจะทำให้ศิลปินรู้สึกว่าอาชีพนี้ก็สามารถสร้างความมั่นคง หรือว่ามีทิศทางในการทำงานได้เหมือนกัน ผมมองว่าอันนี้น่าจะดีนะครับ จริงๆ คนไทยมีความคิดสร้างสรรค์มากๆ ไม่ใช่เรื่องยากที่จะถูกยอมรับจากชาวโลกครับ"
นักเขียน, นักแปล
เราอยากให้นักการเมืองสนใจเรื่องวัฒนธรรมพื้นถิ่นมากกว่านี้ หมายถึงสิ่งที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมจริงๆ อย่างเช่นอาหารท้องถิ่น ภาษาท้องถิ่น นาฎยกรรมท้องถิ่น เครื่องดื่มท้องถิ่น คือในที่สุดหลายสิ่งมันหายไปเพราะทางเลือกของคนที่ทำสิ่งเหล่านี้น้อยลงทุกที เราควรมีสาโทที่ทำจากข้าวท้องถิ่นในอีสานให้คนได้เลือกดื่ม เราควรมีโรงเรียนที่สอนภาษาถิ่นให้คนในพื้นที่และนอกพื้นที่ได้เรียนแทนที่จะทำให้มันหายไป เราควรมีแปลงปลูกผักท้องถิ่นที่เป็นของในพื้นที่จริงๆ ที่สนับสนุนให้คนในพื้นที่ปลูกกันและจัดหาตลาดให้ด้วย
ชุมชนที่เข้มแข็งควรเป็นทางออกและทางเลือกที่สำคัญสำหรับคนรุ่นใหม่
นักเขียนซีไรต์ ประจำปี 2558 และ 2561
งานศิลปะบางประเภทเป็นหนึ่งในสินค้ามูลค่าสูงสุด และมีมูลค่าเพิ่มตลอดเวลา ยิ่งเวลาผ่านยิ่งมีราคาสูง การสะสมจึงเป็นการลงทุนที่ให้กำไรสูงกว่าอสังหาริมทรัพย์ ส่วนแขนงอื่นๆ อย่างหนัง ละคร เพลง วรรณกรรมก็ทำมูลค่าได้ไม่ยิ่งหย่อน และยังรวดเร็วกว่า แต่ต้องการการสนับสนุนและการตลาดที่ดี ที่สำคัญต้องเข้าใจความเป็นสากลพอที่จะพัฒนางานให้เป็นสากล เป็นภาษาอังกฤษ เจาะตลาดที่ไม่เข้าใจภาษาไทยและไม่สนใจความเป็นไทย ตลาดที่ใหญ่พอที่จะทำมูลค่า ที่ผ่านมาเอะอะรัฐก็เน้นความเป็นไทย ที่มีประชากรแค่หกสิบกว่าล้าน และแค่ไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์สนใจและเข้าใจศิลปะ
นักการเมืองควรให้ความสำคัญกับทุนในการผลิตงาน และสนับสนุนการเผยแพร่ผลงาน แสดงงาน จัดแสดง จัดฉาย ตีพิมพ์ โพรโมท ส่งแข่งขัน ออกทุนแสดง หาพื้นที่ในเวทีโลก ตีพิมพ์ภาษาต่างๆ เป็นเจ้าภาพเชิญต่างชาติมาชมงาน สลายข้อจำกัด สนับสนุนงานที่เป็นสากล ไม่ใช่ไทยๆ รวมถึงสนับสนุนการศึกษาและสร้างสภาพแวดล้อมสร้างสรรค์ให้กับศิลปิน และสร้างความเข้าใจศิลปะในหมู่คนทั่วไป ตั้งแต่ระดับโรงเรียนถึงห้างร้านเอกชน
หากนักการเมืองมองเห็นตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง เข้ามาทำงานเหมือนๆ เป็นพวกเราทุกคน ไม่ใช่เข้ามาเป็นชนชั้นปกครอง ผู้มีอำนาจเหนือ หรือนักแสวงกำไร เขาจะพบว่าการพัฒนาประเทศที่เต็มไปด้วยศักยภาพและความเป็นไปได้นี้เป็นเรื่องง่ายดาย และผลตอบแทนที่เขาจะได้รับเหมือนประชาชนคนหนึ่งก็ไม่ได้แย่ขนาดที่เขาต้องขายศักดิ์ศรีและวิญญาณแม้แต่น้อย
นี่ไม่ใช่เรื่องการเสียสละ แต่เป็นเรื่องของการเป็นมนุษย์และมีชีวิตอยู่อย่างสง่างาม
นักเต้นโขนร่วมสมัย, ศิลปินศิลปาธร ปี 2552
ก่อนเลือกตั้งเป็นประชาชน หลังเลือกตั้งเป็นนักการเมือง พอเป็นนักการเมืองมีตำแหน่งทางการเมืองก็เป็นโรคหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder หรือ NPD)
อาการของ NPD แบ่งกลุ่มโรคหลงตัวเองเป็น 2 กลุ่ม คือ คนหลงตัวเองเนื่องจากรู้สึกวิตกกังวล ไม่มั่นคง และอ่อนไหว (Vulnerable Narcissist) และคนหลงตัวเองโดยยกตนให้เหนือผู้อื่น (Grandiose Narcissist)
การเมืองเป็นเรื่องส่วนรวม การได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้ท่านเป็นนักการเมืองด้วยเหตุผลที่ประชาชนต้องการให้ท่านเข้าไปทำงานการเมืองเพื่อประชาชนกับประชาชนในการสร้างอนาคตสร้างชาติ
การกลายพันธุ์ของนักการเมืองและอาการป่วยของนักการเมืองดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้วในสังคมไทย
ประชาชนต้องการคนทำงานการเมือง
ประชาชนไม่ต้องการนักการเมือง
ศิลปิน, นักร้อง, นักแต่งเพลงในนาม MILLI
สิ่งที่ใกล้ตัวหนูที่สุดที่คิดว่าสามารถแสดงความคิดเห็นได้คือในแง่ของวงการศิลปะ ก่อนอื่นเลยคือ หนูเชื่อว่าศิลปะเป็นหนึ่งในสิ่งที่สำคัญสำหรับสังคมขนาดใหญ่ การลงทุนไปกับงานศิลปะจะไม่สูญเปล่า เพียงแต่จะได้กำไรกลับมาในแง่ของทัศคติ คุณภาพการใช้ชีวิต ไม่ใช่ตัวเงินค่ะ
งานศิลปะไม่ว่าจะแง่ไหนก็ตามก็เหมือนกับอาหารสมองค่ะ แต่กว่าที่จะมีอาหารไปถึงต้องสมองท้องก็ต้องอิ่มก่อน คนจะมีสุนทรีย์ขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนเหล่านั้นไม่ต้องเครียดไปกับเรื่องปากท้องของชีวิต หนูเชื่อว่าคนไทยมี potential และ passion มากพอ หลายๆ ท่านเราไปไกลถึงต่างประเทศเลยค่ะ หนูไม่แน่ใจว่าทางรัฐบาลสามารถสนับสนุนในแง่ไหนได้บ้าง อาจจะเป็นการเปิดใจ หรืออาจจะเป็นตัวเงิน หรืออาจจะเกิดโปรเจกต์ free arts สำหรับทุกๆ คน ไม่ว่าจะมีเงินหรือไม่มีเงินก็สามารถเข้าถึงงานศิลปะได้ โดยศิลปินในแต่ละแขนงก็จะถูกว่าจ้างจากรัฐบาลอีกที ไม่แน่ใจว่ามันจะพอเป็นไปได้หรือเปล่านะคะ
บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์เครือ Biblio
ในฐานะของคนที่ทำงานในวงการสิ่งพิมพ์มายาวนาน แม้ว่าตอนนี้จะเห็นนโยบายที่เกี่ยวกับวงการหนังสือจากบางพรรคมาบ้าง แต่จุดใหญ่ใจความที่อยากให้นักการเมืองเข้าใจคือ ธุรกิจหนังสือประเภทพ็อกเก็ตบุ๊กนั้นต้องอาศัยการเรียนรู้และความเข้าใจในการพัฒนาในหลายๆ ด้าน ไม่ใช่แค่เงินทุนบางส่วน หรือแค่ซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดเท่านั้น แต่ต้องลงลึกถึงการสร้างระบบนิเวศน์ของวงการนี้ขึ้นมาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง และการที่ภาครัฐหรือนักการเมืองลงมาวิจัยปัญหาด้วยตนเองจะทำให้รู้ได้ว่า ปัญหาใหญ่ที่ซับซ้อนไม่แพ้ธุรกิจอื่นๆ ก็คือการผูกขาดของนายทุนใหญ่ และการจะแก้ปัญหานี้ได้จำต้องอาศัยความเข้าใจและกฎหมายที่สร้างความเป็นธรรมให้กับคนทำงานในธุรกิจนี้ ซึ่งปัญหาเรื่องคนทำหนังสือต่างต้องดิ้นรนเอาตัวรอดกันเองนั้นมีมาช้านาน ผ่านมาหลายรัฐบาล แต่ก็ไม่เคยมีรัฐบาลไหนจะสนใจและเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างแท้จริง หากแต่เป็นแค่การยกยอเพียงบางเวลาเพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับผู้หลักผู้ใหญ่ในภาครัฐได้ถ่ายรูปเท่านั้น ซึ่งนั่นไม่มีประโยชน์อะไรในระยะยาวเลย
ไม่ว่าพรรคไหนจะได้เป็นรัฐบาลก็ตาม อยากให้ทราบว่าพลังของหนังสือนั้นยิ่งใหญ่และมีมูลค่าต่อยอดไปสู่ศิลปะแขนงอื่นๆ ได้อีกมาก ดูได้จากประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย หากวงการนี้ได้รับการดูแลและเชิดชูอย่างจริงใจ โดยคนทำหนังสือสามารถทำงานของตนได้อย่างไม่ต้องกังวลมากจนเกินไปว่าอนาคตจะอยู่รอดเลี้ยงชีพได้ไหม หรือไม่ต้องกังวลว่าทำหนังสือวิพากษ์วิจารณ์รัฐหรือผู้มีอำนาจแล้วจะโดนจับโดนแบนเมื่อไหร่ เชื่อได้ว่าการสื่อสารทางวัฒนธรรมของไทยนั้นจะแข็งแรงและทำให้นานาชาติสร้างนิยามใหม่ๆ แก่ประเทศแห่งนี้ได้ ไม่ตีบตันเพียงแค่ภาพลักษณ์เดิมๆ ที่รัฐไทยเองก็ไม่เคยภูมิใจยอมรับด้วยซ้ำ
ศิลปิน, นักขับเคลื่อน, ผู้ก่อตั้ง โพธิสัตวา LGBTQ+ แกลเลอรี่
ประเด็นเรื่องสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ สำหรับเรามันคือตัวชี้วัดการมองเห็นความเท่าเทียม aka ประชาธิปไตย ของพรรคเลยนะ ดังนั้นสิ่งเราอยากเห็นคือการขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรม อันดับแรกแน่นอนว่า 'กฏหมายสมรสเท่าเทียม' ต้องมา การเปลี่ยนสรรพนามในบทกฏหมายให้มีความเป็นกลางทางเพศ จาก 'สามี-ภรรยา' เป็น 'บุคคล-บุคคล' ถือเป็นสิ่งที่จะรับรองอัตลักษณ์และเปลี่ยนการวางแผนชีวิตของคนที่มีเพศสภาพที่หลากหลาย บางคนอาจจะมองว่ามันเป็นเรื่องของถ้อยคำ แต่เราว่ามันคือการให้เกียรติและเคารพพวกเราในฐานะมนุษย์นะ นอกจากนี้ มันจะเป็นจุดเริ่มที่สำคัญมากๆในการทำให้คู่รัก LGBTQ+ สามารถเข้าถึงรัฐสวัสดิการได้ ทั้งสิทธิการรักษา สิทธิหลังเกษียณ ฯลฯ อันนี้ เช่นเดียวกับเรื่องการเปลี่ยนคำนำหน้า คือมันเป็นเรื่องที่ทำได้เลย และควรทำ ณ บัดนาว
อีกประเด็นที่อยากให้ทำอย่างชัดเจนคือเรื่องสาธารณะสุขสำหรับชาว LGBTQ+ เราเบื่อมากกับการเป็น 'สีสัน' ให้สังคม เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ แต่ไม่มีสิทธิการเข้าถึงสิ่งที่จำเป็นทางสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการรับฮอร์โมน, การช่วยเหลือด้าน Sexual Reassignment, การทำแท้ง, การดูแลด้านสุขภาพจิต ไปจนถึงห้องน้ำที่ปลอดภัย ตัวเราเองเวลาไปโรงพยาบาลหรือคลินิกต่างๆ ก็โดนเลือกปฏิบัติโดยพนักงานสาธารณสุขที่ไม่มีความรู้เรื่องความหลากหลาย สิ่งนี้ต้องเปลี่ยน
โยงไปถึงประเด็นสุดท้าย นั่นคือนักการเมืองที่เข้ามาต้องผลักดันการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับ LGBTQ+ ทั้งในและนอกสภา การมี Gender Qouta ให้มีตัวแทนประชาชนที่หลากหลายในสภา, การเปลี่ยนระบบการศึกษาที่มีอคติทางเพศ, หรือแม้กระทั่ง การสนับสนุน Pride มันเป็นจุดประสงค์เดียวกันกับที่เราทำงานศิลปะเกี่ยวกับเพศสภาพ เพราะสิ่งเหล่านี้คือการช่วยสังคมให้ได้มองเห็นประเด็นเรื่องเพศสภาพในมุมกว้าง ว่ามันคือความปากท้อง มันคือความเป็นคน
ศิลปิน
นอกจากปัญหาคุณภาพชีวิต ที่อยากให้แก้ไขได้จริงๆ การตระหนักในการแก้ปัญหาเรื่อง เสรีภาพ ความเท่าเทียม สุขภาพ ความปลอดภัย รถติด คอรัปชั่น ฯลฯ ที่เป็นเรื่องพื้นฐานความสุข การสร้างคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนแล้ว หากพูดถึงในมุมของคนทำงานศิลปะโดยเฉพาะ คงเป็นเรื่องของความเข้าใจคุณค่าของศิลปะ การให้การสนับสนุน ตลอดจนให้ความคุ้มครองเพื่อให้ผู้ทำงานสร้างสรรค์สามารถที่จะสะท้อนมุมมองและแง่คิดได้อย่างมีเสรีภาพทางความคิด เช่นในเรื่องการเมือง, การปกครอง หรือแม้แต่ความเชื่อ และศาสนา ผู้สร้างสรรค์ไม่ต้องกังวลจนต้องเซนเซอร์ตัวเองจนแทบจะไม่เกิดความหลากหลายในการสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างสังคมที่แลกเปลี่ยน ยอมรับและเข้าใจผู้อื่น ตลอดจนให้การสนับสนุน มีความรู้ ความเข้าใจ ในศิลปะวัฒนธรรมที่สืบต่อมา และมีความเข้าใจ ผลักดัน ศิลปะร่วมสมัยไปพร้อมกันด้วย
ผู้บริหารค่ายเพลง Classy Records, นักแต่งเพลงนามปากกา แจ็ค รัสเซล
อยากให้นักการเมืองทุกคน ตระหนักก่อนว่าที่เข้ามารับเงินเดือนจากเงินภาษีของประชาชนได้นั้น เพราะประชาชนเลือกเข้ามา ก็ควรนึกถึงชาติ นึกถึงประชาชนก่อน มิใช่นึกถึงแต่ครอบครัว ญาติพี่น้อง และพวกพ้องของตนเอง ทำเช่นนี้ได้ก็จะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับนักการเมืองไทย นั่นคืออาชีพของพวกคุณ ที่นับวันมีแต่แย่ลง และแทบจะไม่หลงเหลือความน่าเชื่อถือใดๆ อีกแล้วในสายตาประชาชนคนไทย
สำหรับนักการเมืองไทย แค่ไม่คอรัปชั่น ไม่โกงกิน ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับนักฟอกเงินที่เกิดขึ้นอย่างหนาตาในปัจจุบัน ก็ถือได้ว่าเป็นนักการเมืองที่ดีแล้ว เอาเรื่องแค่นี้ก่อน ผมไม่คิดหวังไกลไปกว่านั้น เพราะแค่เรื่องนี้ผมก็คิดว่ายากแล้ว
คณบดี คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นักเขียน
อยากให้พรรคการเมืองให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กอย่างเป็นรูปธรรม โดยเคารพในหลักการเรื่องความหลากหลาย ไม่ใช่แค่ความสามารถที่หลากหลายแตกต่างกัน แต่ยังรวมถึงความคิดความเชื่อที่แตกต่างหลากหลาย (และยังแตกต่างจากผู้ใหญ่อีกด้วย) ไม่ใช่คิดเองเออเองว่าเด็กต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ เด็กต้องมีลักษณะอย่างนี้เท่านั้นจึงจะเรียกว่าเป็นเด็กที่ดี เปิดโอกาสให้เด็กเติบโตโดยใช้ศักยภาพของตนเองที่แตกต่างกันพัฒนาตนเองได้ตามที่แต่ละคนเป็น โดยรัฐมีหน้าที่สร้างปัจจัยพื้นฐานเพื่อสนับสนุนให้เด็กพัฒนา และทำให้เด็กเชื่อมั่นในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เคารพในสิทธิของผู้อื่น ซึ่งก่อนที่รัฐบาลจะสร้างเด็กให้เป็นแบบนี้ได้ รัฐบาลต้องมองเห็นเด็กอย่างเชื่อมั่นในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเด็ก เคารพในสิทธิเด็กเสียก่อน
ศิลปิน
สิทธิ เสรีภาพ และศิลปะ สำหรับผมทุกอย่างสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันเลยแม้แต่น้อย
ถ้าเด็กในสังคมในประเทศของเราได้มีโอกาสได้เข้าถึงงานศิลปะ แวดล้อมไปด้วยศิลปะ ในแบบที่ว่าเข้าไปอยู่ในชีวิตของพวกเขาอย่างกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน ผมเชื่ออย่างยิ่งครับ ว่าบ้านเมืองจะสวยงาม น่าอยู่ ผู้คนมีความสุขในแบบยูโทเปียหรือเมืองในฝันเลยล่ะ
ผู้กำกับภาพยนตร์, โปรดิวเซอร์
อยากให้รัฐ ที่พร่ำพูดถึงคำว่า 'ซอฟต์พาวเวอร์ (soft power)' อยู่ตลอด มาลงมือสนับสนุนอย่างจริงจัง ศึกษาโมเดลต่างประเทศ แล้วหาคนที่รู้จริงมาทำให้มันเกิดขึ้น และอุตสาหกรรมหนังอยู่รอดได้จริงๆ ในระยะยาว
นักออกแบบ, อาจารย์มหาวิทยาลัยหลายสถาบัน, หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Practical School of Design
อยากเสนอให้นำกระบวนการออกแบบอยู่ในหลักสูตรพื้นฐานการศึกษา และรวมไปถึงการศึกษานอกระบบที่ทุกคนเข้าถึงได้ เพราะเชื่อมั่นว่ากระบวนการออกแบบไม่ใช่แค่ทักษะทางอาชีพ แต่เป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญที่จะช่วยให้ผู้คนเชื่อมโยงและประยุกต์ความรู้ด้านต่างๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และช่วยสร้างแนวทางการแก้ปัญหาที่กำลังเผชิญได้ 'กระบวนการออกแบบ' จึงเป็นทักษะที่น่าจะอยู่ในทักษะพื้นฐานที่รัฐควรเข้ามาให้ความสำคัญ
นักการละครร่วมสมัย, ศิลปินศิลปาธร ปี 2547
ผมอยากเสนอให้รัฐจริงจังกับการออกนโยบาย 'พื้นที่สร้างสรรค์ประจำท้องถิ่น' เพื่อสร้างต้นทุนทางศิลปะวัฒนธรรมอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะตอบโจทย์เรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์และซอฟต์พาวเวอร์ที่เป็นรูปธรรม มีทฤษฎีและงานวิจัยมากมายพิสูจน์มานานแล้วว่าศิลปะสร้างสรรค์ โดยเฉพาะละครร่วมสมัยนั้น มีผลต่อพัฒนาการของตัวผู้สร้างสรรค์ ต่อศิลปิน ต่อผู้ชม ทั้งในระดับปัจเจก ระดับครอบครัว ระดับชุมชน ไปจนถึงระดับสังคมในวงกว้าง
แนวทางที่รัฐสามารถทำได้อย่างเป็นรูปธรรมคือการจัดตั้ง 'ศูนย์ศิลปะสร้างสรรค์' ในระดับท้องถิ่นที่อาจเริ่มจากเมืองหลักๆก่อนแล้วค่อยขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ทั้งนี้ต้องจัดหาและสนับสนุนงบประมาณโดยรัฐ แต่ดำเนินการโดยองค์กรภาคประชาสังคมที่ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญ เครือข่ายศิลปิน และผู้บริหารโครงการมืออาชีพ ไม่ใช่หน่วยราชการที่เทอะทะรุงรังเข้มงวดในกฎระเบียบจนขาดการยืดหยุ่นที่เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรม และไม่จำเป็นต้องยึดโยงหรือจำกัดอยู่กับแบบแผนประเพณีดั้งเดิม แต่เปิดกว้างสู่ความสนใจ ความใฝ่ฝัน แรงบันดาลใจ ของปักเจกบุคคลอย่างเป็นอิสระ ที่จะสะท้อน เชื่อมโยง และสื่อสารกับสังคมไร้พรมแดนในโลกปัจจุบัน
คอนเทนต์ครีเอเตอร์ ช่อง รับทราบ โปรดักชัน
"เลิกเป็นอุปสรรค เลิกเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ ยกเลิกมาตรา 32 โฆษณาสุรา เพราะมันเป็นอุปสรรคกับซอฟต์พาวเวอร์โดยตรง"
อาจารย์ภาควิชาสื่อศิลปะ และการออกแบบสื่อ ม.เชียงใหม่
"ผมเชื่อมั่นการวางรากฐานสังคมใหม่ที่จะทำให้ทุกคนสร้างต้นทุนความสำเร็จให้กับตัวเองได้ และเมื่อเชื่อดังนั้น การรื้อถอนรัฐตำรวจ (police state) ในเรื่องการศึกษา ศิลปะ-วัฒนธรรม แวดวงทหาร-ตำรวจ เพศสภาพ ศาสนา ซึ่งมักอ้างความภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ จึงเป็นสิ่งที่อยากเห็นมันเกิดขึ้น
"ผมมีความหวังและความฝันที่จะเห็นอิสระภาพของผู้คนที่จะหลุดพ้นไปจากรัฐตำรวจข้างต้น มันเป็นสิ่งที่ต้องใช้กำลังสมอง ความมุ่งมั่นมากกว่าทุกครั้ง ไม่ใช่เพื่อจะชัยชนะแต่เพื่อที่จะนำสังคมทั้งองคาพยพให้หลุดพ้นไปจากรัฐพันลึกที่ดำรงอยู่มากว่าหนึ่งศตวรรษ"
โปรดิวเซอร์, ผู้กำกับ และผู้บริหาร Be On Cloud
"ก่อนจะมาทำซีรีส์และภาพยนตร์ ผมเป็นคนทำคอนเสิร์ตมาก่อน ดังนั้นเรื่องแรกจึงอยากให้นักการเมืองช่วยกันผลักดันเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์เพลงให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น คุ้มครองเจ้าของลิขสิทธิ์จริง แต่ต้องไม่เอาเปรียบจนเกินไป จนทำให้ผูกขาด ไม่มีผู้เล่นรายใหม่ๆ เข้ามา
"ขณะเดียวกันเราเป็นประเทศที่ประชาชนชิลล์ๆ สนุกสนาน มีความคิดสร้างสรรค์ มีสภาพแวดล้อมที่มีความสุข ทำให้มีศิลปินรวมถึงคนทำงานเบื้องหลังมากมาย แต่คนเหล่านั้นไม่มีโอกาสได้โชว์ฝีมือ ไม่มีโอกาสได้ทำงานแปลกใหม่ เพราะถูกจำกัดเรื่องความกำไรหรือขาดทุนของโปรเจกต์ การเสนอโปรเจกต์ก็ต้องเสนอแนวทางที่คิดว่าทำเงินได้แน่ๆ นายทุนถึงจะลงทุน เลยทำให้เนื้อหาของผลงานวนเวียนแบบเดิมอย่างที่เราเห็น
"ถ้าเป็นไปได้ เรื่องที่สองที่อยากให้รัฐสนับสนุนคือ เงินลงทุนบางส่วน หรือการจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยถูก หรือมาตรการลดหย่อนภาษีบางส่วนสำหรับธุรกิจสร้างสรรค์ นอกจากนั้นยังมีอีกหลายหนทางที่รัฐจะช่วยได้ เช่น การจัดงานส่งเสริมให้นายทุนและคนทำงานได้พบปะแลกเปลี่ยนเพื่อโอกาสในการทำงานร่วมกัน รวมถึงการส่งเสริมให้ผลงานไทยไปเวทีสากล เพื่อเปิดตลาดต่างประเทศ เช่นงานเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆ ทั่วโลก เป็นต้น"
ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ พยัญชนะ
"ผมเชื่อว่าพลังความคิดสร้างสรรค์สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ครับ ธุรกิจขนาดเล็ก หรือ SME ก็เป็นฟันเฟืองที่สำคัญ เป็นห่วงโซ่ในระบบเศรษฐกิจทั้งประเทศ ดังนั้นผมอยากให้ภาครัฐให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์ และสร้างนักคิด นักออกแบบรุ่นใหม่ เน้นส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SME และเห็นถึงความสำคัญทางด้านงานออกแบบ ว่าสามารถสร้างแบรนด์สินค้าและบริการ ที่สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล
"และสำคัญที่สุดก็คือ ส่งเสริมให้คนในชาติ รักที่จะใช้สินค้า และผลิตภัณฑ์ของคนไทย เพื่อเป็นการสนับสนุน และพัฒนาต่อยอดให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันผลิตสินค้ามีคุณภาพ เพื่อให้เกิดความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมการออกแบบไทยได้ อีกทั้งเปิดโอกาสให้เยาวชน คนรุ่นใหม่ หรือผู้ที่มีความสามารถในด้านการออกแบบ มีช่องทางในการแสดงผลงานมากขึ้น รวมถึงส่งเสริมให้สร้างอาชีพ ซึ่งเราสามารถเห็นตัวอย่าง เช่นประเทศเกาหลีใต้ ในระยะเวลาเพียงไม่กี่สิบปี พลังความคิดสร้างสรรค์ของคนในประเทศ สามารถนำพาให้ประเทศเจริญรุ่งเรือง เป็นผู้นำส่งออกสินค้าที่โดดเด่นในด้านการออกแบบของฝั่งภูมิภาคเอเชีย แซงหน้าประเทศรอบข้างได้ นี่คือเป็นสิ่งที่ผมอยากให้ภาครัฐช่วยส่งเสริมครับ"
นายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, ช่างภาพ
"ในฐานะช่างภาพ ผมมองว่า ภาพถ่ายเป็นเหมือนเครื่องมือที่มีส่วนช่วยในการสื่อสารเรื่องราวหรือวัฒนธรรมที่น่าสนใจในประเทศไทยได้ ในยุคที่ทุกคนเป็นผู้ส่งสารได้และมีโทรศัพท์มือถืออยู่แล้ว หากรัฐให้ความรู้ความเข้าใจและจริยธรรมในการใช้สื่อและเทคโนโลยีให้กับประชาชนได้ เมื่อมีอะไรที่น่าสนใจในเขตหรือจังหวัดนั้นๆ พวกเขาก็สามารถเล่าเรื่องหรือนำเสนอผ่านภาพถ่ายหรือวิดีโอได้ ซึ่งมันก่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันและสร้างแรงขับเคลื่อนในสังคมได้
"ปัญหาของการทำงานร่วมกับภาครัฐ คือความไม่ต่อเนื่อง โครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้สร้างความยั่งยืนหรือการต่อยอด เช่น มีช่างภาพได้รับรางวัลการถ่ายภาพเพื่อการท่องเที่ยวจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หากรัฐสามารถต่อยอดแคมเปญอื่นๆ เช่น ให้เขาไปถ่ายสถานที่ต่างๆ ต่อ เพื่อนำมาลงในเว็บไซต์เพื่อการท่องเที่ยวหรือทำเป็นสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าได้ ไม่ใช่แค่การภาพถ่าย แต่รวมไปถึงสาขาอื่นๆ ด้วย หากรัฐมีการสนับสนุนที่เป็นรูปธรรมหรือผลักดันเขาไปสู่เวทีสากลได้อย่างชัดเจน ก็จะทำให้ศิลปินมีอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืนในอนาคต ดีกว่าการที่เขาได้รับรางวัล ได้รับการยินดี แล้วก็จบไป
"อีกหนึ่งปัญหาคือ ระบบการทำงานของราชการที่มีขั้นตอนซับซ้อน บางทีมันไม่ทันท่วงที ไม่ทันงบประมาณในรอบนี้ ต้องเข้าใจว่ากระแสความชื่นชอบในโลกมันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้การทำงานระหว่างเอกชนและภาครัฐมีความติดขัด และไม่ก่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ หากภาครัฐสามารถสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ และเปิดให้เอกชนหรือองค์กรต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดัน เราก็สามารถส่งออกวัฒนธรรมที่ถือเป็นจุดเด่นของประเทศเราได้
"หากภาครัฐสามารถสนับสนุนงานเฟสติวัลที่เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่องทุกปี มันน่าจะเป็นประโยชน์ให้กับภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมได้อย่างดี อย่างประเทศเราเด่นเรื่องของอาหารการกิน ถ้าเราทำเป็นเทศกาลอาหารทะเล เราก็สามารถทำได้เลยทันที เพราะงานแฟร์เหล่านี้สามารถทำให้มันเป็นประเพณีประจำประเทศเราได้เหมือนกับประเทศอื่นๆ ที่มีเทศกาลของตัวเอง อย่างเทศกาลเบียร์เยอรมัน ซึ่งเป็นที่จดจำและดึงดูดให้นักท่องเที่ยวอยากเดินทางไปในช่วงเทศกาล"
นักร้องนำและนักแต่งเพลงวงภูมิจิต, วิศวกร
ผมอยากให้มี 2 ข้อ
1. อยากให้ประชาชนมีเงินเหลือเก็บเยอะขึ้น ทั้งจากรายรับที่มากขึ้น และการลดต้นทุนในการมีชีวิต ทั้งค่าเดินทาง ค่าน้ำไฟ ค่าใช้โทรศัพท์ อยากให้ช่องว่างนี้ลดลง ทันกับเงินเฟ้อที่ถ่างออกๆ กว้างขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี
2. อยากให้จัดการ Productivity ให้ผู้คนมีเวลามากขึ้น อยู่บนถนนให้น้อยลง มีงานมากพอที่จะไม่ต้องย้ายถิ่นฐานเพื่อไปหางาน และใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวให้มากขึ้นได้ ผมทำงานในระบบอุตสาหกรรม เจอเพื่อนๆ พี่ๆ น้องมากมายเกินครึ่งต้องจากบ้านมาเพื่อทำงานตามนิคมอุตสาหกรรม ทำ OT ดึกดื่น ผ่ารถติดกลับบ้านช่วงสงกรานต์ ได้เจอลูกหลานปีละไม่กี่วัน ผมคิดว่าถ้าคนเหล่านี้ได้อยู่บ้าน ได้เจอลูกหลาน มีเวลาร่วมกันมากขึ้น สถาบันครอบครัวที่เป็นรากฐานสำคัญน่าจะแข็งแรงขึ้น และช่วยแก้ปัญหาที่ซับซ้อนหลายๆ เรื่องได้
นายกสมาคมนักสะสมศิลปะไทย (TACA)
"ปัญหาของระบบนิเวศน์ในวงการศิลปะบ้านเรา คือจำนวนนักสะสมศิลปะที่ยังมีน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับจำนวนศิลปิน โดยเฉพาะนักสะสมที่เก็บผลงานด้วยความรักจริงๆ ยังมีน้อยเมื่อเทียบกับการเก็บเพื่อการลงทุน ภาครัฐมีส่วนสำคัญในการเพิ่มจำนวนของนักสะสมได้ ด้วยการทำนโยบายทางภาษี เช่น การลดหย่อนภาษีให้กับบริษัทหรือบุคคลที่ซื้อผลงานศิลปะ ซึ่งมีหลายประเทศที่ทำแบบนี้
"ในชีวิตจริง มีศิลปินหลายคนที่ขายงานไม่ได้ โดยเฉพาะศิลปินรุ่นเยาว์และรุ่นกลาง พอเขาอยู่ด้วยอาชีพศิลปินไม่ได้ เขาก็ต้องล้มเลิกไป ที่ผ่านมาเราสูญเสียบุคลากรที่มีฝีมือไปอย่างน่าเสียดาย บางคนเป็นถึงมือรางวัลด้วยซ้ำ ถ้าภาครัฐสามารถสนับสนุนให้เกิดนักสะสมในประเทศและต่างประเทศให้มากขึ้นได้ มันก็จะทำให้แวดวงนี้ขับเคลื่อนไปได้ ศิลปินไทยของเรามีศักยภาพสูงนะครับ ถ้าภาครัฐเข้ามาสนับสนุน สร้างให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม เราจะสร้างอะไรให้ประเทศได้อีกเยอะเลย
"อย่างพิพิธภัณฑ์ในเมืองไทยหลายแห่ง เราเอาเงินทุ่มลงไปจนโครงสร้างใหญ่ๆ เสร็จหมดแล้ว แต่เราไม่มีแผนการจัดการมันต่อ จนต้องปล่อยทิ้งไว้ ไม่มีใครได้ใช้ ผมรู้สึกว่ามันแปลก เหมือนเราทุ่มเงินลงไปแล้วปล่อยให้มันค้างคาอย่างนั้น ผมคิดว่ารัฐสามารถเข้ามาให้การสนับสนุนได้ทุกจุดเลย เพียงแต่เขาเห็นศักยภาพหรือความสำคัญของวงการนี้หรือเปล่า
"ที่ผ่านมา ภาครัฐยังขาดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในวงการศิลปะ ผมมองว่าวงการศิลปะต้องการคนที่มีความรู้ความเข้าใจและมีวิสัยทัศน์ เพราะในมุมของคนที่ไม่มีความเข้าใจด้านศิลปะ เขาอาจมองว่า ศิลปะเป็นเรื่องไกลตัวและห่างไกลจากสังคม แต่ถ้าเรามองในเชิงเศรษฐกิจหรือการแข่งขันในระดับโลก ซอล์ฟพาวเวอร์กลายเป็นเรื่องหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปแล้ว มีหลายประเทศที่ใช้ศิลปะในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดีมากๆ จะมีสินค้าอะไรที่มีมูลค่าเพิ่มได้มากเท่ากับงานศิลปะ ในโลกนี้ผมว่าไม่มีนะ
"เพียงแต่เขาเห็นศักยภาพหรือความสำคัญของวงการนี้หรือเปล่า ถ้าเขาดูไม่รู้จะเริ่มในส่วนไหน ผมอยากแนะนำให้ภาครัฐจัดตั้งสภาด้านศิลปะหรือคณะกรรมการขึ้นมา แล้วดึงคนในแวดวงศิลปะที่มีประสบการณ์และเครือข่ายพร้อมอยู่แล้วมาคุยกัน มาทำงานร่วมกัน ช่วยกันวางแผนและขับเคลื่อนวงการศิลปะในประเทศเรา หากเราสร้างระบบนิเวศน์ที่เหมาะสมขึ้นมาได้แล้ว และมีโอกาสจัดอาร์ตแฟร์หรืองานต่างๆ มันก็ช่วยดึงนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อเข้ามา วงการศิลปะไทยเราก็จะเติบโตต่อไปอย่างมีนัยสำคัญและกลับมาสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างงดงาม รวมทั้งสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับไทยเราในฐานะประเทศที่รุ่มรวยไปด้วยวัฒนธรรม"
โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์อิสระ, นักเขียน, เจ้าของร้าน Barbali
เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 โลกดิจิตัลมีความสำคัญมากพอๆ กับโลกแห่งความเป็นจริงที่เราอยู่
ศิลปะและวิทยาการเป็นของคู่กันหรือเป็นความหมายของ ซอฟต์พาวเวอร์ และ ฮาร์ด พาวเวอร์ ที่ผ่านมาไม่มีพรรคการเมืองไหนและนักการเมืองคนใดที่นำเสนอนโยบายด้านศิลปะวัฒนธรรมหรือซอฟต์พาวเวอร์ที่เป็นรูปธรรมและเข้าใจสิ่งเหล่านี้อย่างแท้จริง ซึ่งปัจจุบันศิลปะคือเครื่องมือที่ดีที่สุดในการใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนได้จริง ศิลปะเป็นพลังอ่อนที่เข้าไปหาคนได้อย่างแนบเนียน ศิลปะช่วยขัดเกลาจิตใจ ศิลปะช่วยสร้างความคิดสร้างสรรค์ให้กับคน ในกรณีศึกษาล่าสุดในเอเชียอย่างประเทศเกาหลีและญี่ปุ่น แม้กระทั่งจีน ทุกพื้นที่ล้วนแต่มีงานศิลปะในพื้นที่สาธารณะทั้งสิ้น จนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตทางด้านจิตใจที่ต้องพัฒนาให้เท่าทันการเติบโตในด้านวัตถุในโลกที่มีการแข่งขันด้านเศรษฐกิจสูงในปัจจุบัน และเมื่อประชาชนได้เห็นงานศิลปะที่สร้างทั้งรสนิยมและความคิดสร้างสรรค์จนถึงความงามเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ไม่ว่าในแง่ไหนจิตใจของประชาชนย่อมดีและนำมาซึ่งการพัฒนาด้านกายภาพ จนนำไปสู่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจอย่างชัดเจน เราไม่ต้องพิสูจน์กันเพราะมีตัวอย่างความสำเร็จให้เห็นมาแล้วอย่างไม่ต้องสงสัย
นักการเมืองควรมีนโยบายส่งเสริมและเปิดพื้นที่สาธารณะให้มีงานศิลปะทุกแขนง สนับสนุนทุนศิลปินให้สร้างงานมากขึ้น เมื่อเราเปิดพื้นที่มากขึ้น บวกกับการสนับสนุนทุนให้กับศิลปินทุกรุ่นอย่างต่อเนื่อง เราจะได้ความหลากหลายและสร้างทั้งงานและศิลปินเพื่อประโยชน์อย่างแท้จริงของคุณภาพชีวิตประชาชน ส่วนในหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ที่มีมากมายในประเทศ นักการเมืองควรมีนโยบายเข้าไปส่งเสริมนิทรรศการที่ดีระดับโลกให้นำเข้ามาให้คนไทยได้ดูให้มากขึ้นนั่นคือการสร้างรสนิยมให้กับคนในชาติ และทั้งหมดนี้จะต่อยอดนำพาไปสู่กระบวนการคิดสร้างสรรค์ให้กับประชาชน นี่คือในแง่พื้นฐานที่ประชาชนในสังคมควรได้รับ
สิ่งที่สำคัญมากพอๆ กับเรื่องข้างต้นคือการสนับสนุนความรู้เพิ่มเติมให้กับคนที่อยู่ในวงการศิลปะ ไม่ว่าจะเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาให้ความรู้และแลกเปลี่ยน จนถึงการสนับสนุนการเวิร์กช็อปในระดับมืออาชีพในระดับสากล ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรัฐบาลใด และทั้งหมดนี้ควรให้คนเข้าใจงานด้านซอฟต์พาวเวอร์เข้ามาทำงานอย่างจริงจัง และทำเป็นนโยบายที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้แม้จะเปลี่ยนรัฐบาล เพื่อประโยชน์ส่วนรวมแก่ประชาชนอย่างยั่งยืน
สุดท้ายแล้ว สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ไม่ยากเพราะโลกเปลี่ยนไปมาก แต่แค่นักการเมืองไทยจะทำหน้าที่หรือไม่ เพราะหน้าที่ของนักการเมืองเป็นตัวแทนของประชาชนในสภาเพื่อเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน มันเรียบง่ายและไม่ซับซ้อน ยกเว้นนักการเมืองจะมีเป้าหมายซ่อนเร้นที่ไม่ใช่ทำเพื่อประชาชน แต่มีหมุดหมายทำเพื่อตนเองและพวกพ้องเท่านั้นเอง
นักเขียน, เจ้าของร้านหนังสืออิสระ Booktopia
ผมคิดมาหลายคืน ว่าอยากบอกอะไรกับนักการเมือง แต่ยังไม่รู้ว่าจะบอกอะไรกับพวกเขา ไม่ใช่ไม่มีสิ่งใดจะบอก แค่ไม่รู้ว่าควรบอกอะไร อย่างไรก็ตาม สมมตินักการเมืองบอกกับใจตนเองถึงเรื่องเหล่านี้และทำตามที่บอกได้ โฉมหน้าเมืองไทยย่อมเปลี่ยนไปจากเดิม เรื่องดังกล่าว อย่างเช่น เราจะตั้งมั่นในการทำสิ่งดีงามเพื่อพี่น้องประชาชนและชาติบ้านเมือง เราจะไม่เป็นนักการเมืองที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว เราจะไม่เป็นพวกปลิ้นปล้อนคดโกงไม่โปร่งใส เราจะอยู่ในศีลในธรรมทางการเมืองอย่างสม่ำเสมอ ฯลฯ
คนเรากับ 'การบอก' นั้น ใครบอกก็ไม่เหมือนเราบอกใจตนเอง
ผู้กำกับ, หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Eyedropper Fill
"ผมอยากให้มีทุนที่สนับสนุนคนทำงานสร้างสรรค์ เป็นทุนที่คณะกรรมการเข้าใจรูปแบบของสื่อที่เปลี่ยนไปในปัจจุบันว่า ทุกวันนี้สื่อมีความหลากหลาย มีการผสมผสาน และสื่อไม่จำเป็นต้องมีเนื้อหายึดติดกับคุณงามความดีอย่างเดียว ผมอยากให้มีการปรับเกณฑ์ในการตัดสิน ให้คนทำสื่อมีโอกาสได้ทำงานที่พูดถึงสิ่งที่อยากพูดจริงๆ มีความเป็นอิสระ สามารถวิพากษ์วิจารณ์สิ่งต่างๆ ได้อย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องกลัวหรือลดเพดานของตัวเองลง
"ผมเองก็เคยผ่านประสบการณ์นี้มาด้วยตัวเอง ส่วนตัวรู้สึกว่านักออกแบบและคนทำสื่อในไทยเก่งมากๆ แต่กองทุนที่สนับสนุนทุนด้านสื่อทุกวันนี้ล้าหลังมากถึงมากที่สุด ทำให้พวกเขาไม่ได้รับการสนับสนุนที่ดีจากรัฐ ลองดูอย่างเด็กที่จบออกมาสิ เขาอยากทำหนังกัน อยากทำงานออกแบบกัน เขามีศักยภาพในการสร้างสรรค์กันหมด แต่ทุกวันนี้มีคนย้ายงาน กลับบ้าน เปลี่ยนอาชีพกันเยอะขึ้น เพราะลำพังเขาดิ้นรนกับตัวเองแล้วมันไม่รอด มีปัญหาทั้งสุขภาพกายและใจกันถ้วนหน้า ผมคิดว่าถ้ามีกองทุนที่มันอิสระพอ น่าจะช่วยให้คนทำงานด้านนี้อีกหลายคนยังสามารถสร้างสรรค์งานต่อไปได้ โดยไม่หมดไฟไปเสียก่อน"
3836 VIEWS |