ในงาน BKK Vinyl Fair 2023 ที่จัดขึ้นในโรงแรม Public House Hotel วันที่ 24-26 มีนาคม 2566 นอกจากจะเป็นการรวมของคนรักแผ่นเสียง ร้านแผ่นเสียง และกิจกรรมสนุกๆ มากมายแล้ว ยังมีการจัดนิทรรศการศิลปะอีกด้วย ซึ่งนิทรรศการนี้ก็ย่อมต้องเกี่ยวข้องกับแผ่นเสียงแน่นอน เป็นนิทรรศการเล็กๆ ที่จัดโดยทีม happening ซึ่งเชิญศิลปินนักวาด 10 คนมาวาดหรือออกแบบแผ่นเสียงระดับไอคอนที่พวกเขาชื่นชอบในสไตล์ของตัวเอง เหมือนกับการเชิญนักดนตรีมาคัฟเวอร์เพลงโปรด แต่เป็นการชวนนักวาดมาคัฟเวอร์งานศิลปะบนปกแผ่นเสียงที่พวกเขาชื่นชอบแทน
คนที่ได้ไปงาน BKK Vinyl Fair 2023 ก็จะได้สัมผัสกับงานทั้ง 10 ชื้นนี้แบบเต็มๆ ตา และเห็นรายละเอียดแบบชัดๆ รวมทั้งอาจจะจับจองงานศิลปะทั้ง 10 ชื้น แต่สำหรับบทความชิ้นนี้ เราอยากจะบันทึกงานทั้ง 10 ชิ้นเอาไว้ในโลกออนไลน์ด้วย เพราะเป็นนิทรรศการศิลปะเล็กๆ ที่เราภูมิใจและคิดว่างานของศิลปินทั้ง 10 คนนั้นน่าอวดไม่เบา
เอาล่ะ นั่งให้สบายๆ เปิดเพลงให้พร้อม ปรับสายตาให้ชัดเจน แล้วค่อยๆ เดินเข้าสู่โลกของปกแผ่นเสียงที่หลอมรวมกับงานศิลปะไปพร้อมๆ กับเรา
Artist: JCCHR
12x12 inch print on Awagami Bamboo Paper, gradient frame paint.
แนน-จิดาภา จันทร์สิริสถาพร หรือศิลปินนักวาดภาพประกอบอิสระที่ใช้ชื่อว่า JCCHR เป็นคนหนึ่งซึ่งรู้สึกว่าดนตรีและเสียงเพลงทำงานกับความรู้สึกของเธอมากๆ โดยเฉพาะการฟังเพลงจากแผ่นเสียงที่เธอพูดถึงว่า "เรารู้สึกว่ามันเป็นการที่ได้ 'ตั้งใจฟัง' เสียงที่เราชื่นชอบ และได้สะสมงานดีไซน์ของปกไปด้วย"
ความชื่นชอบที่มีต่อการออกแบบแผ่นเสียงจึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เธอเลือกปกอัลบั้ม Homogenic (1997) ของ Björk เพราะอัลบั้มมีความเป็นศิลปะและศิลปินมีแนวทางของตัวเองชัดเจน รวมถึงเรื่องราวและเบื้องหลังการออกแบบปกนี้มีความน่าสนใจ ทั้งชุดกิโมโนเป็นงานดีไซน์ของ อเล็กซานเดอร์ แม็กควีน (Alexander Mcqueen) และเป็นผลงานการถ่ายภาพโดย นิค ไนต์ (Nick Knight) ซึ่งเธอรู้สึกว่ามีการตีความออกมาได้โมเดิร์นและน่าสนใจ อีกทั้งชุดกิโมโนและภาพปกอัลบั้มนี้ยังถูกนำไปจัดแสดงในนิทรรศการ Kimono: Kyoto to Catwalk exhibition ที่ Victoria and Albert Museum ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จึงอยากนำสิ่งเหล่านี้มาเป็นแรงบันดาลใจในการถ่ายทอดปกนี้จากมุมมองของเธอ แล้วตั้งชื่อผลงานชิ้นนี้ว่า Warrior
แนนเล่าให้ฟังถึงช่วงเวลาขณะวาดภาพให้ฟังว่า "ด้วยความเป็นศิลปะของเพลงที่เป็นนามธรรมมาก ทำให้เราไม่มีการสเก็ตช์แบบเลย เหมือนพอฟังเพลงมาถึงจุดหนึ่งแล้วเรารู้สึกอย่างไร ก็วาดมันออกมา ส่วนตัวเราชอบความครีเอทีฟของศิลปินที่เขาสร้างเพลงให้รู้สึกว่าทุกอย่างมันลื่นไหล ไร้กรอบและขอบเขตสำหรับความคิดสร้างสรรค์" โดยเธอเลือกบิดความเป็นขนบกับความล้ำสมัยให้มีความเป็นนามธรรมมากขึ้น แล้วปล่อยพื้นที่ให้ผู้ชมสามารถตีความได้อย่างอิสระและรู้สึกต่องานชิ้นนี้ในแบบของตัวเอง
เมื่อวาดเสร็จแล้วส่วนตัวแนนรู้สึกว่า "พอให้ความรู้สึกตอนฟังเพลงเป็นตัวกำหนดวิชวล ประกอบกับโทนสีของปกออริจินัลที่เราชอบมากๆ อยู่แล้ว เลยรู้สึกว่าผลงานออกมาได้สมบูรณ์ในแบบที่เราอยากให้เป็นค่ะ"
Artist: juli baker and summer
12x12 inch acrylic on canvas
ดังนั้นเมื่อเอ่ยปากชวนมาร่วมวาดภาพในโปรเจกต์นี้เธอจึงตอบตกลงทันที ป่านเข้าไปค้นแผ่นเสียงจากห้องคุณพ่อแล้วพบกับแผ่น Double Fantasy (1980) โดย John Lennon และ Yoko Ono ซึ่งเป็นอัลบั้มที่เธอชอบมากอยู่แล้ว เธอได้แรงบันดาลใจจากหน้าปกเป็นภาพขาว-ดำว่า หากนำมาวาดใหม่แล้วเติมสีสันให้ก็น่าจะสนุกดี ที่สำคัญ Double Fantasy ยังเป็นผลงานสตูดิโออัลบั้มชิ้นสุดท้ายในชีวิตของจอห์นที่เธอรู้สึกเหมือนเป็นบันทึกประวัติศาสตร์สำคัญอีกครั้งหนึ่งในชีวิตของเขา และส่วนตัวเธอชื่นชอบโยโกะในฐานะศิลปินหญิงและนักต่อสู้เพื่อสันติภาพคนหนึ่งด้วย
เธอเล่าถึงช่วงเวลาที่ฟังเพลงไปพร้อมๆ กับการวาดภาพว่า "พอเปิดฟังไปเรื่อยๆ แล้วรู้สึกว่าส่วนผสมระหว่างจอห์นกับโยโกะในอัลบั้มนี้มันดีนะ จริงๆ ป่านไม่ได้ชอบเพลงแนวทดลองมากๆ ของโยโกะนัก แต่โยโกะเวอร์ชั่นของอัลบั้มนี้เป็นเวอร์ชั่นที่เราชอบมากๆ สำหรับจอห์นเราชอบแน่นอนอยู่แล้ว มันเพราะมากๆ มีความหมายมาก ป่านเพิ่งมาสังเกตว่าป่านชอบวิธีการเรียงเพลงในอัลบั้มนี้มากๆ แล้วไดนามิกของความรู้สึกตอนฟังเพลงมันสนุกดี เมื่อก่อนเราอาจจะฟังแต่เพลงดังอย่าง Woman หรือ Beautiful Bay (Darling Boy) แต่พอมาฟัง (Just Like) Starting Over แล้วชอบเพลงนี้มากค่ะ"
เมื่ออัลบั้มนี้เป็นปกขาว-ดำ ประกอบกับจอห์นไม่มีชีวิตอยู่แล้วและความสัมพันธ์ระหว่างเขากับโยโกะเป็นเรื่องในอดีต เธอจึงเปิดอัลบั้มนี้ฟังไปพร้อมๆ กับจินตนาการว่าเธอเห็นภาพนี้เป็นสีอะไร โดยวาดด้วยความรู้สึกที่อยากให้อัลบั้มนี้กลับมามีชีวิตขึ้นอีกครั้ง แล้วปล่อยให้จังหวะของสีสันและพู่กันซิงก์ไปกับจังหวะของเพลง เธอรู้สึกว่าเพลงของจอห์นให้ความรู้สึกแบบเอิร์ธโทน ขณะที่โยโกะมีความฉูดฉาดกว่า โดยไม่ลืมที่จะดึงสีเหลืองที่อยู่บนปกออริจินัลมาใช้ในผลงานชิ้นนี้ด้วย
Artist: May-T Noijinda
12x12 inch acrylic & modeling gel medium on wood board
อัลบั้มชุด White Album (1968) ของ The Beatles ถือเป็นเป็นงานเพลงที่คอนทราสต์กับชุดก่อนหน้าอย่างแรง อัลบั้มก่อนหน้านี้คือ Sgt Peppers's Lonely Hearts Club Band (1967) มีความสุดโต่งทุกอย่าง ทั้งเพลง ชุดแต่งกาย โดยเฉพาะปกที่มีความ 'เยอะ' เป็นพิเศษ แต่ชุด White Album จะมีความมินิมอลอย่างยิ่ง ตั้งแต่ปกที่น้อยมากๆ เพลงที่ มีเครื่องดนตรีน้อยชิ้น แม้แต่กีตาร์ที่เคยเอาไปทำสีฉูดฉาดแบบไซคีเดลิกในชุดก่อนก็มีการขูดสีออกจนเหลือแต่เนื้อไม้ ทำให้เสียงกีตาร์ดูโปร่งขึ้น ซึ่งเป็นอิทธิพลจากการที่สมาชิกสี่เต่าทองได้ไปพักที่ศูนย์ Transcendental Meditation course เป็นการชำระจิตใจและร่างกาย โดยเฉพาะเรื่อง LSD ที่มีบทบาทสำคัญในชุด Sgt. Peppers's Lonely Hearts Club Band ก่อนหน้านี้ด้วย
จากแรงบันดาลใจมาจากความมินิมอลของปกอัลบั้ม White Album ปกในตำนานที่ออกแบบโดย ริชาร์ด แฮมิลตัน (Richard Hamilton) และ พอล แม็คคาร์ทนีย์ (Paul McCartney) ศิลปิน เมธี น้อยจินดา (เมธี โมเดิร์นด็อก) วาดคัฟเวอร์งานนี้เพียงชื่อวงด้วยสีขาวนูนๆ ลักษณะเหมือนปกดั้งเดิม และมีเต่าทอง 4 ตัว แทนสมาชิกทั้ง 4 เต่าทอง ซึ่งจะหันออกจากกัน โดยสะท้อนถึงบรรยากาศการทำชุดนี้ที่ สมาชิกในวง ต่างคน ต่างหลบ แยกเข้ามาทำเพลงของตนเอง โดยไม่เกี่ยวกับคนอื่นในวง สีของเต่าทองจะเป็นสีแม่สี ทั้ง 3 สี และสีขาว เหมือนจะสื่อ ถึงคาแรกเตอร์ของสมาชิกแต่ละคนที่ทำให้เกิดส่วนผสมของสีสันมากมายขึ้นมาได้ในอัลบั้มนี้ การพยายามวาดให้เต่าทองตัวใสๆ และตัวสีขาวกลืนกับแบ็กกราวนด์เพราะอยากจะสื่อถึงการ หลบ การอำพราง ของสมาชิกแต่ละคน ที่พยายามหลบ และสลับเวลากันเข้ามาทำงานนี้ได้เสร็จสมบูรณ์ได้ จนกลายเป็นอัลบั้มที่ยิ่งใหญ่และสำคัญอัลบั้มหนึ่งของทั้ง เดอะ บีทเทิลส์ และของวงการดนตรีโลก
Artist: Try2benice
12x12 inch print on canvas
ศิลปิน Try2benice หรือ สุรัติ โตมรศักดิ์ คือนักออกแบบรุ่นใหญ่ที่เคยทำงานกราฟิกดีไซน์ทั้งปกหนังสือ เสื้อยืด โลโก้ มามหาศาล รวมทั้งงานศิลปะส่วนตัวที่เคยจัดแสดงนิทรรศการที่ประเทศญี่ปุ่นมาแล้วหลายครั้ง เขาเลือกที่จะตีความปกอัลบั้มชุดนี้ใหม่เพราะชอบการบริหารจัดการอากาศในงานออกแบบและชอบรสนิยมในการใช้เสียงของ Pet Shop Boys
และเมื่อถามถึงแนวคิด เขาตอบกลับมาเพียงว่า 'สนุกกับการตีความและการกระทำ'
Artist: Yuree Kensaku
12x12 inch acrylic, glitter and collage on wood
ยุรี เกนสาคู ศิลปินชื่อดังคนหนึ่งของบ้านเราได้รู้จักวง Pink Floyd ครั้งแรกในวัยเด็กโดยเริ่มจากการได้เห็นผลงานแอนิเมชั่นสุดเซอร์ ที่ประกอบกับเพลงเท่ๆ ของ Pink Floyd ด้วยความสนใจในงานแอนิเมชั่นก่อน ตามมาด้วยความชื่นชอบในคุณภาพของดนตรีและเนื้อหาที่เข้มข้นสะท้อนสังคมในเพลงของ Pink Floyd ชุด The Wall (1979) ทําให้ยุรีตัดสินใจเลือกปกนี้มาสร้างผลงานขึ้นใหม่
ในภาพมีตัวละคร 'มานี' ที่มาจากแบบเรียนภาษาไทย ที่ยุรีเปรียบเทียบกับระบบระเบียบของสังคมไทยลงไปด้วย ซึ่งในตัวแอนิเมชั่นนั้น โรเจอร์ วอเตอร์ส (Roger Waters) เคยให้สัมภาษณ์ว่า ครูเปรียบเสมือนรัฐบาล และนักเรียนก็เป็นตัวแทนของประชาชน รัฐบาลไม่ยอมปล่อยให้ประชาชนได้ทําในสิ่งที่พวกเขาต้องการ และรัฐบาลก็อยากจะควบคุมทุกคน และในภาพยังมีเครื่องจักรบดมนุษย์, ค้อนที่เป็นสัญญะที่เป็นภาพจําถึงชุดนี้ด้วย
Artist: Nut Dao
12x12 inch print on paper, aluminum frame.
Nut Dao หรือ นัดดาว-ณัฐพงศ์ ดาววิจิตร คือนักวาดภาพประกอบที่มาแรงคนหนึ่ง (งานล่าสุดที่หลายคนจำได้คือการออกแบบคีย์อาร์ตของ Bangkok Design Week 2023) เขาเลือกปก September (1978) ของ Earth, Wind & Fire หนึ่งในเพลงฮิตตลอดกาลจากยุค 70 ด้วยความชื่นชอบในดนตรีแนวดิสโก้ฟังก์ และอยากนำเสนอปกนี้ผ่านการตีความใหม่ในมุมมองของผู้ฟัง
สำหรับคอนเสปต์ในการวาดผลงาน Dancin' in September นัดดาวตีความจากอารมณ์ในบทเพลงที่ส่งผลต่อความรู้สึกของผู้ฟัง จนนำมาสู่ผลงานที่ถ่ายทอดความสนุกสนานของผู้ฟังผ่านท่าทางและสีสันภายในภาพ เป็นการต่อยอดจากเรื่องราวในปกอัลบั้ม Original ซึ่งเป็นภาพถ่ายของศิลปินระหว่างทำการแสดง
"ส่วนตัวชอบฟังเพลงแนวดิสโก้ฟังก์อยู่แล้ว รู้สึกว่าเป็นแนวที่สนุกดี ด้วยความที่ปกอัลบั้มนี้เป็นภาพถ่ายศิลปิน เราเลยอยากลองทำเป็นอีกสไตล์ดูครับ ด้วยดนตรีหรือเนื้อหามันไม่ได้ซ้อนซ้อน เราเลยหยิบอารมณ์ของเพลง จังหวะต่างๆ มาคิดต่อเป็นภาพ เราเลยไปนึกถึงอะไรที่เรียบง่ายมากๆ อย่าง movement ของคนที่ฟังเพลงนี้ หวังว่าคนที่เห็นงานนี้จะรู้สึกสนุกไปกับมันครับ"
Artist: Munins
12x12 inch print on Cocktail Silver Paper
มุนินฺ (Munins) หรือ เมษ์-มุนินทร์ สายประสาท เลือกปก Close To You (1970) ของ Carpenters หนึ่งในอัลบั้มที่คุณพ่อของเธอชื่นชอบ มาตีความใหม่เป็นภาพวาดสีน้ำที่ถ่ายทอดเรื่องราวความรักและความใกล้ชิดของคู่รัก ในผลงานที่ชื่อว่า Always Close To You
เธอนำรายละเอียดในปก Original มาเป็นส่วนหนึ่งในผลงาน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกายของสองคาแรกเตอร์ที่คล้ายกับ แคเรน และ ริชาร์ด สองพี่น้องแห่งตระกูลคาร์เพนเทอร์ โทนสีของปลอกหมอนที่ล้อไปกับสีท้องฟ้าและโขดหิน ตลอดจนชื่ออัลบั้มที่ถูกเขียนขึ้นใหม่ด้วยลายมือของมุนินฺ
"งานชิ้นนี้ให้อะไรกับเราเยอะมาก มันทำให้เรารู้จักศิลปินมากขึ้นผ่านเพลงของเขา เรื่องราวของเขาแถมยังได้ทำงานสีน้ำที่ไม่ได้ทำมานานแล้ว มันทำให้เราอินกับมันมาก ภูมิใจกับงานชิ้นนี้ จนรู้สึกว่า เอ๊ะ ไม่ขายได้ไหมนะ" เธอพูดพลางหัวเราะ "เราหวังว่างานชิ้นนี้จะทำให้คนที่เห็นอยากไปฟังเพลงของศิลปินต่อ แล้วก็สัมผัสความรู้สึกแบบเดียวกับที่เรารู้สึกจากการทำงานครั้งนี้" นักวาดการ์ตูนสาวที่มีแฟนๆ ติดตามเป็นจำนวนมากพูดถึงการทำงานชิ้นนี้ด้วยความประทับใจ
ภาพวาดชิ้นนี้จึงถือเป็นการผสมผสานเอกลักษณ์ เรื่องราวดั้งเดิมของปก และเรื่องราวของศิลปินได้อย่างลงตัว
Artist: Prang Vipaluk
12x12 inch print on Premium Matte, 200 gsm paper
เมื่อเราชวน ปรางค์ วิภาลักษณ์ ศิลปินรุ่นใหม่ที่กำลังมาแรง มาร่วมงานนี้ เธอตอบทันทีว่าขอเลือกปกอัลบั้ม Yellow Submarine (1969) ของวงสี่เต่าทอง ทั้งที่ด้วยวัยแล้วปรางค์ไม่น่าจะเป็นแฟนวง The Beatles แต่ด้วยภาพสีสันสดใสของแอนิเมชั่น Yellow Submarine และภาพเรือดำน้ำสีเหลืองที่กลายเป็นภาพจำในป๊อปคัลเจอร์ไปแล้ว ก็ทำให้คนรุ่นใหม่อย่างปรางค์คุ้นเคยกับปกอัลบั้มที่ออกแบบโดย ไฮน์ อีเดอร์มานน์ (Heinz Edelmann) ศิลปินเชื้อสายเช็ก-เยอรมัน เป็นอย่างดี
ด้วยความที่อัลบั้มนี้เป็นอัลบั้มรวมเพลงที่ใช้ประกอบภาพยนต์ในชื่อเดียวกัน ปกที่ปรางค์ออกแบบมาจึงอยากเน้นไปที่ตัว Yellow Submarine หรือเรือดำน้ำสีเหลือง พาหนะหลักในเรื่องที่พา The Beatles ออกเดินทางไปยัง Pepperland โดยที่องค์ประกอบต่างๆ ของเรื่อดำน้ำจะถูกนำมาใช้กระจายทั่วทั้งงาน ไม่ว่าจะเป็นตัวเรือดำน้ำที่ถูกวาดใหม่และถูกจัดวางอยู่ตรงกลางงานบนพื้นหลังสีสด ให้เหมือนกับ psychedelic journey ของ The Beatles ในภาพยนตร์ ตัวโครงสร้างด้านข้างของเรือดำน้ำที่ถูกวางองค์ประกอบให้ล้อกับเนินเขาจากปกเดิม และวาดให้เหมือนกับ The Beatles กำลังลอยออกมาจากหน้าต่างเรือดำน้ำ ขึ้นมาโผล่บน Pepperland ที่รายล้อมด้วยองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับสถานที่และตัวละครต่างๆในเรื่อง ที่ดึงมาจากปกออริจินัล รวมถึงหน้าต่างของเรือที่ถูกนำมาวางไว้บนชื่อวงอีกด้วย
นี่คืองานที่สะท้อนความประท้บใจและความรู้สึกที่สนุกสนานของ ปรางค์ วิภาลักษณ์ ซึ่งมีต่ออัลบั้ม Yellow Submarine
Artist: Art of Hongtae
12x12 inch acrylic on canvas
ฮ่องเต้-กนต์ธร เตโชฬาร เป็นศิลปินที่นำเสนอผลงานศิลปะหลายรูปแบบในนาม Art of Hongtae เขาเลือกปกอัลบั้ม Queen II (1974) ของ Queen มาสร้างสรรค์ใหม่ เพราะรู้สึกว่าวงนี้เป็นวงที่มีเอกลักษณ์ เนื้อหาเพลงมีความเป็นกวี การสร้างสรรค์ดนตรี และอาร์ตไดเร็กชั่น มีแนวทางการทำงานที่ไปในทิศทางเดียวกัน อีกทั้งความกบฏของวงที่ตอกย้ำให้เขารู้สึกว่า "การที่เราจะเป็นตัวเองได้อย่างดีแล้วเด่นขึ้นมาได้จริงๆ ต้องอาศัยความกล้าหาญและเชื่อในรสนิยมของตัวเอง" ซึ่งฮ่องเต้มองว่าสิ่งที่เป็นสปิริตของวงนี้นำมาใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย และเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาชื่นชอบวง Queen มาก
เขาฟังเพลงของวง Queen บ่อยมาก จึงตัดสินใจที่จะวาดปกอัลบั้มนี้แบบเงียบๆ "เราอยากให้เพลง Queen เล่นในหัว เพราะเราค่อนข้างอินกับหลายๆ เพลง แล้วมันเล่นวนอยู่ในหัวเราอยู่แล้วโดยที่ไม่จำเป็นต้องเปิดมัน"
ทันทีที่วาดเสร็จ ผลงานของเขาก็แตกต่างจากภาพที่เคยสเก็ตช์ไว้อย่างสิ้นเชิง "ชอบมาก แล้วไม่คิดว่าเราจะวาดออกมาเป็นแบบนี้ด้วย สเก็ตช์มันค่อนข้างนิ่งๆ ดูเก๊กๆ หน่อย แต่พอวาดชิ้นนี้ออกมา เรารู้สึกว่า 'กูวาดด้วยสปิริตของ Queen' แล้วมีการใช้สีตามอกตามใจเราพอสมควร"
ช่วงหลังฮ่องเต้มีแนวทางการวาดรูปในคอนเสปต์ Head in the Cloud ที่เขาเล่าให้เราฟังอย่างกระตือรือร้นว่า "เราไม่ชอบวาดหน้าคน เราชอบวาดภาพรวมและสื่ออารมณ์ออกมา แล้วเรารู้สึกว่าสีพื้นหลังและลักษณะของก้อนเมฆมันบอกอารมณ์ได้ไม่แพ้หน้าคน" เมื่อนำคอนเสปต์นี้มาประกอบกับความรู้สึกของเขาที่มีต่อสมาชิกวงทั้ง 4 ที่แต่ละคนมีคาแรกเตอร์แตกต่างกันและมีความเป็นตัวของตัวเองสูง แต่เมื่อมาทำเพลงร่วมกันแล้ว กลับก่อให้เกิดเมฆฝนและพายุในแบบที่น่าทึ่งมากๆ เขาจึงถ่ายทอดออกมาเป็นภาพของสมาชิกวง Queen ซึ่งมีหัวเป็นเมฆที่มีพายุอยู่ข้างใน
"แต่ละคนไม่ประนีประนอมและไม่พยายามที่จะปรับตัวเข้ามาคล้ายกัน ความเป็นตัวของตัวเองของสมาชิกวงที่มาอยู่ด้วยกันแม่งสตรองก์มาก นี่คือลักษณะของทีมเวิร์กสมัยใหม่ ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นทีมที่ขับเคลื่อนไปด้วยหลักคิดเดียวกัน แต่ทุกคนสามารถเป็นสีต่างๆ เป็นสเปกตรัมที่ทำให้เกิดสายรุ้งเส้นหนึ่งที่แข็งแรงมากๆ ได้"
Artist: EAOWEN
12x12 inch risograph printing and acrylic on paper
เอ้โอเว่น (EAOWEN) หรือ เอ้-พีรดา โคอินทรางกูร บางแบบ นักร้อง และนักวาดที่กำลังมาแรง เลือกคัฟเวอร์ปกอัลบั้ม Destroyer ของวง KISS วงร็อกสุดสนุกที่ออกมาเมื่อปี 1986 ปกอัลบั้มเดิมเป็นฝีมือการวาดของ เคน เคลลี (Ken Kelly) ถือเป็นปกอัลบั้มร็อกที่สนุกและสะท้อนความเป็นวง KISS ได้เป็นอย่างดี
เอ้บอกว่า "เพราะหลักๆ แล้วเอ้เป็นคนชอบวาดคาแรกเตอร์คนค่ะ และเอ้ชอบความสุดโต่งของปก KISS ทั้งอารมณ์ ท่าทาง เครื่องแต่งกาย รู้สึกว่าต้องสนุกแน่ๆ ถ้าได้วาดปกนี้" แล้วเธอก็วาดปก Destroyer ในแบบของเธอออกมา ถือเป็นชิ้นงานที่สร้างอารมณ์ขันเบาๆ ให้กับผู้ชม เมื่อได้มองรายละเอียดที่เกิดจากการผสมผสานความแตกต่างระหว่างวงเฮฟวีเมทัลอย่าง KISS และตัวศิลปินที่มีลายเส้นเรียบร้อยแต่สนุกอย่าง Eaowen
1206 VIEWS |