เธอกับฉันพบกันในโมงยามที่ผู้คนเฉลิมฉลองท่ามกลางดอกไม้ไฟ ก่อนวันเวลาจะพัดพาเธอห่างหายไปจากความสัมพันธ์
หกปีที่แล้ว ความฝันของ โต-เลอทัศน์ เกตุสุข (ร้องนำ) และ นาว-วิชชานนท์ ว่องวีรชัยเดชา (กีต้าร์) ก่อตัวในชมรมดนตรีกลางของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อนที่วง Mirrr จะเกิดขึ้น และเสิร์ฟงานเพลงแนวซินธิไซเซอร์ผสมกับซาวน์กีตาร์เท่ๆ ให้กับผู้ฟัง
จากวงดนตรีที่ละเมอทำเพลงอยู่ระหว่างความจริงและความฝัน พวกเขาเริ่มมีเพลงฮิตออกมามัดใจแฟนๆ อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็น รอให้เธอ (Never), เกม (Your Rules), นิโคติน (Nicotine) และ มาโซคิสม์ (Masochism) อีกทั้งยังเคยปล่อย Ep. Social Anxiety (2021) ให้แฟนๆ ได้ทำความรู้จักกับพวกเขามากขึ้นอีกนิดเมื่อครั้งร่วมงานกับค่าย Macrowave ก่อนโตและนาวจะกลายมาเป็นศิลปินในสังกัด What The Duck และขยับเข้าใกล้ความจริงอีกครั้ง ในวันที่อัลบั้มเต็มชุดแรกอย่าง Q.E.D. ถูกปล่อยออกมาให้แฟนๆ ได้ฟังอย่างเต็มตัว
Quod Erat Demonstrandum ประโยคภาษาละตินที่มักถูกเขียนกำกับไว้ด้านหลังคำตอบในโจทย์คณิตศาสตร์เพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง กลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการตั้งชื่ออัลบั้มชุดนี้ว่า Q.E.D อัลบั้มที่เป็นบทพิสูจน์ของวันเวลากว่าหกปีที่พวกเขาเดินทางอยู่บนเส้นทางดนตรีนี้
แม้ Q.E.D อาจไม่ถูกกล่าวขานว่าเป็นอัลบั้มที่ดีที่สุดแห่งปี 2022 แต่เชื่อว่าสำหรับแฟนเพลงของวง Mirrr แล้ว นี่เป็นอีกหนึ่งอัลบั้มที่สะท้อนให้เห็นตัวตนและการเติบโตของทั้งคู่ได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นแนวดนตรีที่ผสมผสานเพลงหลากสไตล์ไว้อย่างลงตัว เนื้อหาที่หยิบจับเรื่องราวความสัมพันธ์มาเปรียบเทียบกับสิ่งใกล้ตัวจากโต ประกอบกับการโซโลกีตาร์อันมีเอกลักษณ์ของนาว
หากใครมีโอกาสได้ฟัง 5 เพลงจาก Ep. Social Anxiety ที่ปล่อยมาก่อนหน้านี้ คุณคงสัมผัสได้ถึงการร้อยเรื่องราวในแต่ละบทเพลงที่ต่อเนื่องจนคล้ายกับกำลังรับชมภาพยนตร์สั้นเรื่องหนึ่งอย่างไรอย่างนั้น
เช่นเดียวกัน 10 เพลงในอัลบั้ม Q.E.D ก็ทำหน้าที่พาเราเข้าไปสู่เรื่องราวความสัมพันธ์อันแสนเศร้าไม่ต่างกันนัก เพียงแต่ในอัลบั้มนี้ เราจะได้เห็นการเติบโตทางดนตรีของทั้งคู่อย่างก้าวกระโดด จากเด็กหนุ่มที่ไล่ตามความฝันในการเป็นศิลปิน สู่ศิลปินมืออาชีพที่เรียบเรียงเพลงได้อย่างกลมกล่อมในจังหวะที่พอดี
จนแทบเรียกได้ว่า อัลบั้ม Q.E.D คือ Mirrr ในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด ณ เวลานี้แล้ว
เรื่องราวเริ่มต้นเมื่อเมโลดี้จากเพลงดอกไม้ไฟ (Firework) ดังขึ้น โตและนาวเปิดฉากความสัมพันธ์ด้วยการเปรียบเปรยความรักของคนสองคนที่พบเจอและจากกันในช่วงเวลาสั้นๆ กับดอกไม้ไฟที่แม้จะสวยงามแค่ไหนก็หายไปในพริบตา เสิร์ฟคู่กับทำนองเพลงซินป็อปเคล้าคลอไปกับโซโลกีตาร์ที่มีความร็อกนิดๆ ให้คนได้โยกไปกับจังหวะของเพลง เบื้องหลังเพลงนี้ได้ ฮาย-ธันวา เกตุสุวรรณ นักร้องนำวง Paper Planes และโปรดิวเซอร์ฝีมือดีผู้พ่วงตำแหน่งหัวหน้าแก๊งฟันน้ำนมในเวลานี้มาร่วมทำเพลงนี้ด้วย
ส่วนตัวเป็นคนชอบฟังเพลงสนุกจึงขอยกเพลง ไม่รู้ดิ (Keep It Low Key) เป็นเพลงโปรดในอัลบั้มและเป็นเพลงที่ชอบที่สุดในปี 2022 ด้วยจังหวะสนุกๆ ให้ความรู้สึกคล้ายกับเพลงเกม (Your rules, 2019) และเพลงชาคริส (Try?, 2019) สองเพลงแรกที่พาให้ได้รู้จักกับวง Mirrr ตั้งแต่วงปล่อยอัลบั้มเต็มชุดนี้ออกมา ไม่รู้ดิ ก็กลายเป็นเพื่อนที่คอยปลุกในตอนเช้า ในวันที่สุข ในวันที่เศร้า ในวันที่ชีวิตหลุดจากการควบคุม การได้ฟังเพลงที่ชอบก็พาให้จังหวะชีวิตและหัวใจค่อยๆ กลับมาสงบทุกครั้ง
ด้วยความแตกต่างของการออกเสียงและวรรณยุกต์ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะใช้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษร่วมกันในเนื้อร้องได้อย่างลงตัว แต่หลายเพลงในอัลบั้มนี้กลับทำได้ดีเกินคาด ไม่ว่าจะเป็นเพลง Another Pill ที่นำเสนอท่อนฮุคเป็นภาษาอังกฤษสลับกับท่อนอื่นๆ ที่เป็นภาษาไทย หรือเพลง Designer ที่โตร้องกึ่งแร็ปภาษาไทยและอังกฤษสลับกันไปมาทั้งเพลงได้อย่างแนบเนียน จนแทบไม่ทันสังเกตเห็นความต่างกันของภาษาเลยทีเดียว
"It's burning like fire ในเวลาที่เจอเธอ
มันยังคงเป็น Disaster
และในทุกคืนยังไม่ได้นอน เพราะว่าใจฉันมันยังร้อน
Still want that Desire
เธอไปก็ดีฉันคงไม่วอน ให้ชีวิตเหมือนในละคร
Cus I'm a Designer
ภาพสองเรายังตามหลอน I just think that turn me on
แต่สักวันฉันจะลืมเธอ"
- ท่อนฮุคจากเพลง Designer -
นอกจากเพลงที่มีจังหวะเบสหนักๆ และกีต้าร์ร็อกๆ ให้ผู้ฟังได้โยกตามแล้ว ในอัลบั้มนี้ยังมีเพลงช้าฟังสบาย (แต่ฟังแล้ว บางทีก็เผลอร้องไห้ไม่รู้ตัว) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่คนจดจำวงได้ อย่างเพลงเจ้าของที่ (My Favorite) ที่สะท้อนลายเซ็นต์การเขียนเพลงเศร้าอันเป็นเอกลักษณ์ของ Mirrr อย่างชัดเจน จนปล่อยมาไม่นานก็ขึ้นครองอันดับในชาร์ตเพลงสตรีมมิ่งทันที รวมถึงเพลงเธอเองจะรู้บ้างไหม (Ex) ด้วยเนื้อหาที่จริงใจ เรียบง่าย และทำนองฟังสบายๆ จึงทำให้เพลงนี้กลายเป็นเพลงแทนใจระหว่างแฟนๆ และศิลปินในโชว์เปิดตัวอัลบั้มที่ผ่านมา
เมื่อพูดถึงโชว์เปิดตัวอัลบั้มแล้ว ในฐานะหนึ่งคนที่ได้ชมการแสดงวันนั้น ต้องบอกตามตรงว่าเราประทับใจทุกองค์ประกอบทั้งการเพอร์ฟอร์แมนซ์ของโตและนาว ตลอดจนวิชวลต่างๆ ที่สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมเป็นอย่างดี จากอัลบั้มที่มีกลิ่นอายของไซเบอร์พังก์แฟนตาซี กลายมาเป็นงานวิชวลที่หยิบกลิ่นอายของบทเพลงมาเล่าผ่านงานกราฟิกและแสงสีที่แตกต่างกันไป โดยมีการคุมโทนสีน้ำเงิน เขียว ซึ่งเป็นสีจากอัลบั้มและสีม่วงที่เป็นตัวแทนของวง ยิ่งเติมเต็มให้ผู้ชมได้สัมผัสถึงความรู้สึกของอัลบั้มนี้มากกว่าเดิม
แน่นอนว่าเราคงจะไม่สามารถจมปลักอยู่กับความเศร้าตลอดไป หลังจากที่ 9 เพลงในอัลบั้มพาเราด่ำดิ่งไปกับความสัมพันธ์ที่ไม่สมหวังแล้ว เพลง ตลอดไปไม่มีจริง (NO!FOREVER?) ซึ่งเป็นแทร็คสุดท้ายของอัลบั้ม Q.E.D และได้เสียงหวานๆ ของ อ๊ะอาย-กรณิศ เล้าสุบินประเสริฐ สมาชิกวง 4EVE มาช่วยเยียวยาหัวใจของเหล่าผู้ผิดหวังได้ผ่านความเจ็บปวดและก้าวเดินต่อไป ถือเป็นการปิดท้ายเรื่องราวความสัมพันธ์ที่สวยงามเช่นเดียวอีพีก่อนหน้านี้ได้ดีเลยทีเดียว
อัลบั้ม Q.E.D ถือเป็นอีกหนึ่งอัลบั้มที่มีแนวทางที่ชัดเจนและเรียบเรียงเพลงออกมาได้กลมกล่อมน่าสนใจ แม้แต่ละเพลงจะมีรายละเอียดของซาวน์และเมโลดี้ที่แตกต่างกัน โดยมีสารตั้งต้นเป็นซินป็อป ก่อนจะนำไปผสมกับความเป็นร็อกและซาวน์กีตาร์เฉพาะตัว หรือบีทหนักๆ อย่างฮิปฮอป ตลอดจนความเป็นอะคูสติกฟังง่าย แต่เมื่อนำมาร้อยเรียงกันแล้วทำให้เราเห็นแนวทางการทำเพลงในแบบฉบับของ Mirrr ได้อย่างชัดเจน
และด้วยองค์ประกอบทั้งหมดที่ผ่านมานี้ จึงเป็นเหตุผลที่เราอยากให้คุณลองฟังเพลงในอัลบั้ม Q.E.D ตั้งแต่ต้นจบดูสักครั้ง แม้เราไม่อาจรู้ว่าบทเพลงในอัลบั้มชุดนี้จะพาคุณไปสัมผัสกับประสบการณ์และความทรงจำส่วนตัวแบบไหน แต่เราเชื่อว่าระหว่างทางคุณจะได้เห็นการเติบโตทางความคิดและมิติทางดนตรีของศิลปินที่น่าประทับใจ และพิสูจน์ให้รู้ว่าพวกเขาเดินทางมาไกลแค่ไหนแล้วจากวันที่เริ่มฝัน
อีกอย่างเวลาเห็นวงที่ชอบมากๆ เติบโตขึ้นอีกระดับหนึ่ง มันก็พาให้เรามองย้อนกลับมาที่ตัวเองเช่นกัน บนถนนที่ชื่อว่าอนาคตและความฝัน ตัวเราเองก็เติบโตขึ้นไม่น้อยกว่าวงที่ชอบเลยทีเดียว
2619 VIEWS |
กองบรรณาธิการที่กำลังใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน ชอบคุยกับผู้คน ท้องฟ้า และเสียงดนตรี เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการฟังเพลง ที่บางทีก็ปล่อยให้เพลงฟังเรา