เมื่อเธอกับคู่ฝาแฝด แวว-แวววรรณ หงษ์วิวัฒน์ ได้ทำภาพยนตร์กับค่ายจีดีเอชเรื่อง เธอกับฉันกับฉัน (You & Me & Me) วรรณก็ใช้ช่องเวลาว่างเล็กๆ ในกองถ่ายไปกับการบันทึกโมเมนต์ในการทำงานด้วยกล้องฟิล์มของเธอ
อย่างที่หลายคนอาจจะพอรู้แล้วว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องราวของฝาแฝดที่ชื่อ 'ยู' กับ 'มี' ซึ่งมีเรื่องราวให้ต้อง 'ก้าวพ้นวัย' (Coming of Age) ในห้วงเวลาที่โลกและประเทศไทยกำลังก้าวผ่าน Y2K หรือปี 2000 พอดี ซึ่งการที่ผู้กำกับวรรณแววและแวววรรณเป็นฝาแฝดที่มีประสบการณ์ในแวดวงมาพอสมควรเลือกที่จะบอกเล่าหนังใหญ่เรื่องแรกของพวกเธอด้วยเรื่องราวนี้ก็ดูเป็นเรื่องพิเศษทีเดียว
happening พบว่าในจำนวนภาพถ่ายจากกล้องฟิล์มหลายม้วนของวรรณแวว มีหลายๆ ภาพที่ไม่ได้แค่ถ่ายเพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่ยังบอกเล่าประสบการณ์การทำหนังเรื่องนี้ผ่านสายตาของหนึ่งในสองผู้กำกับได้อย่างน่าสนใจอีกด้วย เราจึงเลือกมา 36 ภาพแล้วให้วรรณแววบอกเล่าเรื่องราวที่อยู่ในภาพเหล่านั้น เพื่อสะท้อนถึงความยาก ความสนุก และบรรยากาศในกองถ่ายของ เธอกับฉันกับฉัน
สำหรับคนที่ได้ชมภาพยนตร์ เธอกับฉันกับฉัน ก็จะรู้ว่าภาพเคลื่อนไหวของหนังเรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวหลายๆ อย่างที่น่าประทับใจไปแล้ว คราวนี้ลองมาดูภาพนิ่งกันบ้างดีกว่าว่าเรื่องหน้ากล้องและหลังกล้องของหนังเรื่องนี้มีอะไรซ่อนอยู่อีกบ้าง
"ที่นครพนม นอกจากหอนาฬิกาที่วรรณชอบแล้ว ก็คือสีของตึกต่างๆ ในเมืองค่ะ โครงสร้างตึกจะเก่าๆ แล้วก็มีสีที่มันน่ารัก เราก็พยายามดึงขึ้นมาเป็นมู้ดแอนด์โทนของหนังด้วย ก็เลยจะมีความสีๆ แต่เป็นพาสเทลหม่นๆ แล้วถ้าเราเห็นโครงสร้างเก่าๆ ที่ไหนเราก็จะพยายามถ่ายให้อยู่ในหนังด้วยค่ะ" วรรณบอกเล่าสบายๆ
"เราได้ใบปอก่อน แล้วทีมแคสต์เขาก็ไปหาสแตนด์อิน ซึ่งเรามารู้ทีหลังว่าควรเรียกว่าดับเบิ้ล (double)" วรรณหัวเราะ "คือเขาก็ไปแคสต์มา เบื้องต้นที่เราดูเทปแคสต์คือเห็นว่าน้ำแข็งเล่นดราม่าได้ ร้องไห้ได้ เขาเป็นคนมีทักษะการแสดง แต่ดูจากรูปวรรณก็ไม่มั่นใจว่าเขาเหมือนกันขนาดนั้นเหรอ เลยมีการเรียกน้ำแข็งมาเจอกับใบปอ แล้วเราก็โยนสถานการณ์ให้เขา ให้เขาอิมโพรไวซ์เล่นด้วยกัน โจทย์ตอนนั้นคือเป็นวันแรกที่เข้าปีหนึ่ง แล้วทั้งคู่เดินมาเจอคนที่หน้าตาเหมือนกันเป๊ะ ก็ลองดูว่าเขาจะแสดงยังไง ให้เข้าไปคุยกัน จนเจอว่าเป็นพ่อแม่เดียวกัน แล้วรู้สึกว่าเราเห็นว่าน้ำแข็งมีความพยายามชวนคุยและพยายามโยงเข้าเรื่อง เวลานักแสดงที่ไม่มีทักษะ เวลาอิมโพรไวซ์กันแล้วมันจะตัน เรื่องมันจะไม่ไปไหน คือจะไม่ได้ฟังคนอื่นมากพอที่จะทำให้เรื่องเดินไปข้างหน้า แต่เราเห็นความพยายามของน้ำแข็งในการทำให้เรื่องมันดำเนินไป เช่น 'เอ้ย เราขอดูรูปพ่อแม่เธอได้ไหม' อะไรแบบนี้ค่ะ เลยรู้สึกว่าน้องน่าสนใจ น้องดูมีไหวพริบ แล้วด้วยความที่เขาโตกว่าใบปอด้วย ตอนนั้นใบปอ 17 น้ำแข็ง 20 แล้ว เขาเลยมีเคมีที่เย็นๆ กว่าใบปอหน่อย เลยรู้สึกว่าเป็นส่วนผสมที่ลงตัว มีนิดหน่อยตรงที่สีผิวของน้ำแข็งไม่เหมือนใบปอเลย ซึ่งในวันที่เราเลือกน้ำแข็งก็ต้องเช็กกับทีมโพสต์ด้วยว่าเรื่องสีผิวนี่เป็นปัญหาไหมนะ แล้วโครงหน้าแบบนี้ถ้าต้องทำเฟซสแกน (face scan) หรือเฟซรีเพลสเมนต์ (face replacement) จะมีปัญหาไหม ก็สรุปว่าเรื่องพวกนี้เราไปจัดการกันตอนโพสต์โปรดักชั่นได้"
นี่คือเซ็ตภาพที่แสดงความสนิทสนมของใบปอและน้ำแข็ง ซึ่งก่อนจะมาแสดงร่วมกันทั้งคู่ต้องผ่านเวิร์กช็อปมาไม่น้อย โดยจะมีตั้งแต่เวิร์กช็อปแอ็กติ้งแบบพื้นฐาน เวิร์กช็อปสำหรับคาแรกเตอร์ต่างๆ ซึ่งน้ำแข็งกับใบปอต้องผ่านขั้นตอนเหล่านี้เหมือนๆ กัน เพราะทั้งคู่ต้องเล่นสลับเป็น 'ยู' กับ 'มี' ทั้งสองคน
นอกจากนี้ น้ำแข็งกับใบปอยังต้องเข้า 'เวิร์กช็อปความแฝด' เช่นการทำให้ร่างกายเข้าขากัน ให้ลองเดาใจกัน ซึ่งถือเป็นเวิร์กช็อปพิเศษสำหรับหนังเรื่องนี้
"เราก็พยายามอธิบายเขาว่าความเป็นฝาแฝดมันเป็นยังไง มันต่างจากพี่น้องเฉยๆ ยังไง แต่ก็เป็นการบอกเล่าด้วยคำพูดนะ ซึ่งต้องให้น้องสองคนผ่านประสบการณ์บางอย่างถึงจะเข้าใจมากขึ้น อย่างเช่นการได้เห็นพี่วรรณกับพี่แววอยู่ด้วยกัน วิธีที่พี่ๆ คุยกันหรือกินข้าวด้วยกัน หรืออาจจะรวมกับการที่น้ำแข็งกับใบปอสนิทกันมากขึ้น แล้วเขาเชื่อมโยงกันในความเป็นเพื่อนด้วย และไปผ่านเวิร์กช็อปที่เราเอาความเป็นเพื่อนของเขาไปทำให้ลึกซึ้งขึ้นด้วย ซึ่งก็ต้องถือว่าสองคนเข้าขากันได้ดีมากค่ะ"
สำหรับการถ่ายบนรถ ทีมงานต้องมี 'ฐานทัพ' ในการถ่ายทำด้วย แล้วการถ่ายก็จะให้รถบัสขับวนเป็นวงกลมแล้วถ่ายไปเรื่อยๆ ทีละช็อต พอถ่ายเสร็จแต่ละช็อตก็แวะไปเอาอุปกรณ์ที่ฐานทัพมาติดตั้งเพิ่มบนรถ โดยเริ่มจากการถ่ายทำที่ใช้อุปกรณ์น้อยๆ แต่นักแสดงเยอะ ไปถึงช็อตที่ต้องใช้อุปกรณ์เยอะๆ แต่นักแสดงน้อยในที่สุด
ในภาพการถ่ายทำบนรถเมล์สองภาพจะเห็นฉากที่ใบปอนอนซบกับน้ำแข็ง และอีกภาพเป็นการถ่ายใบปอนิ่งๆ เพื่อนำหน้าของใบปอไปแทนหน้าของน้ำแข็งอีกที ซึ่งช็อตหลังจะต้องใช้อุปกรณ์เยอะกว่า
ส่วนอีกสองภาพที่วรรณได้จากบนรถเมล์ตอนถ่ายทำเสร็จแล้วกำลังเดินทางกลับ ภาพแรกเป็นภาพขาของสองสาวในชุดนักเรียนที่คอมโพสต์สวยถูกใจวรรณ เป็นภาพที่แสดงถึงความต่างกันของสีผิวของใบปอและน้ำแข็ง และอีกภาพเป็นภาพขณะที่วรรณสังเกตเห็นว่าพี่คนขับรถมีหมวกหลายใบและสีสวยดี เลยกดชัตเตอร์เก็บภาพเอาไว้
เช่นในซีนริมแม่น้ำนี้ที่มีต้นไม้อยู่ในฉากเยอะหน่อย ทีมคอมพิวเตอร์กราฟิกก็จะเลือกให้ติดจุดสีฟ้าบนใบหน้าของน้ำแข็ง เพื่อให้เห็นชัดเจนกว่าพื้นหลังส่วนใหญ่ในฉาก
ส่วนภาพถ่ายจากกล้องฟิล์มภาพนี้ที่ดูรวมๆ แล้วสีสันสดใส ต้องยกให้สีส้มจากรถคันข้างหลัง ...ซึ่งก็คือรถห้องน้ำที่ทีมงานเช่ามาใช้ในกองถ่ายนั่นเอง
สิ่งที่คุยกันระหว่างการบรีฟก็มักจะเป็นการเล่าซีนนี้หรือในช็อตนี้ต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งนอกจากเรื่องบทและอารมณ์แล้ว ยังมีเรื่องเทคนิคในการถ่ายทำด้วย เช่นในซีนนี้ใบปอต้องแสดงเป็น 'ยู' ก่อนแล้วเล่นเฉพาะเสียงพิณเพลง กันและกัน แล้วค่อยมาแสดงเป็น 'มี' อีกครั้งโดยต้องฟังเสียงพิณที่ตัวเองเล่นโดยฟังจากหูฟังที่ซ่อนไปตามไรผมแล้วร้องเพลงตาม เป็นซีนที่ 'มี' ร้องเพลงเพี้ยนๆ
"ซึ่งต้องชมใบปอที่สามารถแยกสติได้เยอะมากๆ เพราะต้องเป็นตัวละครด้วย และต้องฟังเสียงในหูไปด้วย ซึ่งความจริงเราไม่ได้ตั้งใจให้น้องร้องเพี้ยนนะ แต่พอต้องร้องแล้วฟังดนตรีในหูไปด้วยก็อาจจะยาก เลยออกมาเพี้ยน แต่เราก็คิดว่าน่ารักดี" วรรณเอ่ยถึงการแสดงในซีนนี้ของใบปอ
ส่วน 'รถสาลี่' ที่ว่า ก็คือรถบรรทุกที่ดัดแปลงให้มีเพลตรองรับอุปกรณ์การถ่ายภาพยนตร์เอาไว้ใช้ในซีนเกี่ยวกับรถยนต์แบบนี้ ซึ่งว่ากันว่าแต่ก่อนเอาไว้ขนผลไม้ แล้วถูกดัดแปลงมาใช้ในกองถ่ายแทน ซึ่งที่มาที่ไปจริงๆ จะเป็นอย่างไรคนในกองถ่ายก็ไม่อาจยืนยันได้ แต่ก็ถูกชาวกองถ่ายเรียกกันมาว่า 'รถสาลี่' ไปเสียแล้ว
มีเกร็ดอีกนิดว่าซีนนี้ไม่ได้ถ่ายที่นครพนม เนื่องจากต้องหาโลเคชั่นที่ต้องตอบโจทย์ทั้งการที่มีวิวสวยๆ มีถนนกว้างพอสำหรับขนาดของรถสาลี่ (ที่จะต้องถอยกลับรถไปมาหลายรอบในการถ่ายทำด้วย) และยังต้องจ้างรถสาลี่ไปอีก หากให้ไปถ่ายถึงนครพนมคงเป็นเรื่องใหญ่ ทีมงานจึงมาได้โลเกชั่นนี้ที่แถวๆ สระบุรีแทน
"เป็นคิวถ่ายทั้งวันแม้ว่าจะมีไม่กี่ช็อตในภาพยนตร์ เพราะต้องใช้เวลาเซตอัพและใช้เวลากับเทคนิคต่างๆ ค่อนข้างเยอะค่ะ" วรรณสรุปความยากของคิวนี้ให้ฟัง
ในการถ่ายช็อตนี้ ทีมงานใช้วิธี 'ชิง Blue' หรือการชิงท้องฟ้าสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นการถ่ายท้องฟ้าที่เริ่มจะมืดแต่ยังมีรายละเอียดให้เห็นอยู่ ซึ่งเวลานำไปแก้สีก็จะมีเนื้อภาพให้แก้ได้อยู่ ไม่ได้มืดจนเกินไป
ในภาพยนตร์ซีนนี้จะเป็นตอนฟ้าสาง แต่ทีมงานเลือกถ่ายตอนหกโมงเย็น คือไปสแตนด์บายรอท้องฟ้า ดังนั้นจึงต้องตั้งกล้องให้เสร็จก่อน แล้วเริ่มถ่ายตั้งแต่ห้าโมงครึ่ง พอถ่ายเสร็จก็เอาฟุตเทจมาแก้สีให้กลายเป็นท้องฟ้าตอนเช้า
"หนังเรื่องนี้ตอนถ่ายก็มีการต้องชิงบลูหลายรอบเหมือนกันค่ะ แล้วทุกครั้งที่ถ่ายก็จะเครียดเพราะเวลามันสั้นมากๆ ที่เราจะถ่ายแบบนี้ได้" วรรณบอกถึงความยากของการถ่ายด้วยเทคนิคนี้
"เป็นการเซตอัพเพื่อถ่ายข่าวนั้นค่ะ เป็นห้องร้างที่เราไปถ่ายวันเดียวกับที่ไปถ่ายที่โรงเรียน เราก็ไปใช้ห้องที่เขากำลังก่อสร้างอยู่ แล้วให้ทีมอาร์ตเซตอัพเป็นซีนอาชญากรรมขึ้นมา แล้วผ้าที่เห็นกองๆ อยู่ก็จะต้องมีคนมานอน มีการจ้างเอ็กตร้าฝรั่งมาทำท่าทางสืบสวนสอบสวนด้วย เป็นซีนที่รู้สึกว่าเราเซตได้เหมือนมากๆ แต่มันแทบไม่เห็นเลยในหนังนะ" วรรณเล่าแล้วหัวเราะสนุก
เป็นช็อตที่ 'ยู' ที่ซ้อนท้าย 'มี' จะต้องพูดว่า 'โอเค' แล้วกอดคนข้างหน้า แล้วคนข้างหน้าจะต้องทำเฟซสแกนแล้วทำเฟซรีเพลสเมนต์ต่อไป ซึ่งต้องใช้ตัวของน้ำแข็งแต่เอาหน้าใบปอมาใช้
"ข้อจำกัดในการทำรีเพลสหน้าคือ หน้าคนที่ถูกรีเพลสจะต้องไม่พูด และแสดงสีหน้าไม่เยอะค่ะ และขยับตัวไม่เยอะ ทีนี้พอเราถ่ายคัตหลักๆ ที่ใบปอซ้อนท้ายแล้วน้ำแข็งปั่นจักรยานไปแล้ว เราก็ต้องเอาใบปอมาถ่ายบนกรีนสกรีนอีกที ให้น้องแสดงหน้าที่เป็นโมเมนต์นั้น ซึ่งจริงๆ แล้วน้ำแข็งไม่จำเป็นต้องมานั่งซ้อนท้าย แต่เราก็ให้น้ำแข็งมานั่งเพื่อส่งกำลังใจ แล้วก็คอยพูดว่า 'โอเค' เพื่อให้ใบปอแสดงสีหน้าออกมา จริงๆ แล้วหลายๆ ครั้งน้ำแข็งไม่จำเป็นต้องอยู่ในซีน แต่น้องเขาก็จะอยากให้มาด้วยกัน เพื่อเป็นกำลังใจ" วรรณหัวเราะเบาๆ
มีเกร็ดอีกหน่อยว่าการถ่ายบนกรีนสกรีนนี้ทีมงานมักจะถ่ายในเวลาและสถานที่ต่อเนื่องจากซีนเดียวกันที่เพิ่งถ่ายไปเลย เพื่อให้แสงใกล้เคียงกันมากที่สุด
"บนดาดฟ้าของบ้าน 'ยายเหว่' เราจะเห็นทั้งฝั่งลาวและฝั่งนครพนมด้วย พอฟ้าสวยทุกคนก็ถ่ายรูปกันใหญ่เลย ในขณะที่กล้องหลักก็ถ่ายอินเสิร์ตไป" วรรณหัวเราะเบาๆ อีกทีเมื่อเล่าถึงเรื่องสนุกๆ ในกองถ่าย
ผู้ช่วยหนึ่ง ใหม่-ชุติกาญจน์ สีชมภู คือคนที่ได้รับผลกระทบจากการถ่ายฝาแฝดด้วยวิธีนี้มากๆ เพราะเธอต้องเป็นคนจัดเบรกดาวน์ขั้นตอนในการถ่ายที่ละเอียดกว่าภาพยนตร์ทั่วไป เช่น ต้องระบุว่าใบปอต้องเล่นเป็น 'ยู' ก่อนกี่คัต แล้วเปลี่ยนเป็น 'มี' กี่คัต ซึ่งอาจจะละเอียดถึงขนาดที่ในการถ่ายหนึ่งซีน อาจจะมีการถ่ายผ่านไหล่ของยูเพื่อให้กล้องรับมี ผ่านไหล่มีให้กล้องรับยู แล้วต่อด้วยสปลิตเฟรม (spilt frame) แล้วก็ช็อตคู่ แสดงว่าทีมต้องถ่ายรับหน้ายูก่อน แล้วต่อด้วยสปลิตเฟรมฝั่งยูก่อน แล้วก็ล็อกกล้อง แล้วใบปอค่อยเปลี่ยนเสื้อเป็นมีเพื่อถ่ายสปลิตเฟรมฝั่งมี แล้วค่อยไปถ่ายกล้องแคบรับหน้ามี (อ่านซ้ำอีกทีได้หากคุณงง)
"ที่ทำแบบนี้เพื่อเวลาเปลี่ยนชุดเป็นมีทีนึงก็ต้องเอาให้คุ้ม เปลี่ยนเป็นยูทีนึงก็ต้องเอาให้คุ้มค่ะ แล้วความยากก็คือพอตัวละครตัวนึงมีผมม้า การที่มีผมม้าหรือไม่มีผมม้านี่ก็ต้องเผื่อเวลาให้ตัวละครเซ็ตผมอีก ซึ่งผู้ช่วยหนึ่งจะเป็นคนเรียงเบรกดาวน์ว่าอะไรถ่ายก่อนถ่ายหลังให้กับทีมงาน แล้วยังต้องเป็นคนควบคุมเวลาให้ได้ตามที่วางแผนไว้ด้วยค่ะ"
ความยากของซีนนี้เริ่มตั้งแต่เรื่องความปลอดภัยต่างๆ เพราะเป็นการถ่ายกลางบึง ในภาพจึงเห็นทีมงานใส่เสื้อชูชีพกันถ้วนหน้า และทีมงานก็จัดสร้างแพลตฟอร์มใต้น้ำเอาไว้ใต้เรือด้วย เพื่อให้น้ำไม่ลึก เวลานักแสดงตกน้ำไปตามบทจะได้ไม่จมน้ำ และสามารถยืนอยู่ได้
ปัญหาต่อมาคือโทนี่ดันมีอาการกลัวน้ำ เพราะเคยมีประสบการณ์ไม่ดีเกี่ยวกับแหล่งน้ำธรรมชาติตอนเด็กๆ ทำให้เจ้าตัวต้องตั้งสติเป็นพิเศษ ทีมงานจึงให้โทนี่ลองมาพายเรือก่อนเพื่อให้คุ้นชินกับบึง
ในการถ่ายทำซีนนี้ต้องใช้เรือถึงสามลำ คือเรือของนักแสดงที่ปรากฏในภาพยนตร์ เรือของกล้องที่ริกติดกัน และแพมอร์นิเตอร์ การถ่ายต้องออกจากฝั่งไปถ่ายกลางบึงจนจบทุกช็อตแล้วค่อยกลับมาฝั่ง กลับมาเพื่อให้ทีมงานทานข้าว แล้วถ่ายซีนที่อยู่ริมฝั่ง แล้วค่อยออกมาเพื่อถ่ายช็อตที่ตัวละครต้องจมน้ำ ...คือให้ตัวละครเปียกทีเดียวเป็นตอนสุดท้ายของขั้นตอนในวันนั้น
"เราคุยกันตั้งแต่เรื่องกล้องจะต้องทำยังไง จะอยู่บนเรือท้องแบนแค่ไหนยังไง มีเฮาส์ซิ่ง (housing) ไหม เราคุยทวนเบรกดาวน์วันนี้หลายรอบมาก แล้วมันจะมีช็อตที่วรรณอยากจะได้ มันเป็นช็อตเปิดของทะเลบัวเลย ที่จะถ่ายโพรงต้นไม้แล้วตัวละครจะพายเรือลอดออกไป วรรณอยากได้มาก แต่มันไม่มีผลกับการเล่าเรื่อง ซึ่งน้องผู้ช่วยก็บอกว่า 'พี่อาจจะไม่ได้นะ ถ้าเราเก็บช็อตที่เป็นช็อตหลักไม่ทัน' เราก็อยากได้ ขอใส่ไว้ในเบรกก่อนได้ไหม ขอยังไม่ตัด" วรรณหัวเราะขำ "พอถึงวันถ่ายจริงๆ ตอนเช้าฝนตกหนักมากค่ะ เราไหว้พระไหว้แล้วไหว้อีก มันก็ตกอยู่ประมาณหนึ่งชั่วโมงค่ะ ทำให้เราเริ่มเลตไปจากความตั้งใจหนึ่งชั่วโมง แล้วบัวมันจะหุบตอนสิบโมง ก็ทำให้เราต้องถ่ายช็อตที่เห็นดอกบัวให้เสร็จก่อนสิบโมง เราต้องวางแผนว่าพวกภาพกว้างทั้งหมดต้องจบในสิบโมงเช้า พอฝนตกแล้วทำให้เราเลต แต่เราก็ต้องลุยต่อ ปรากฏว่าถ่ายทำไม่ได้ยากขนาดนั้น ความกลัวน้ำของโทนี่ พอเห็นพี่ๆ ทีมงานทุกคนพร้อม มีคนลงไปลากเรือแล้ว น้องเขาก็ไม่กลัวแล้ว และมันอาจจะเป็นคิวท้ายๆ ของนครพนมแล้วด้วย น้องๆ ก็รู้ว่าต้องใส่เต็มนะจะได้จบ เลยสามารถผ่านไปได้ในไม่กี่เทค พอสี่โมงเย็นก็เสร็จแล้ว และช็อตที่วรรณอยากจะได้แต่ไม่ได้สักทีก็ได้ถ่ายตั้งแต่กลางวันเลย แล้วหลังจากนั้นก็เป็นการถ่ายตอนที่น้องจมน้ำ ก็เปียก แล้วก็กลับได้เลย คือเป็นซีนที่เราวางแผนกันเยอะมาก แล้วสุดท้ายก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด" วรรณหัวเราะสนุกเมื่อเล่าถึงคิวสุดท้ายที่นครพนม
เกร็ดเล็กๆ อีกอย่างหนึ่งในการถ่ายทำวันนั้นคือ ด้วยความที่นักแสดงหลักต้องอยู่ในเรือกันสองคนเป็นส่วนใหญ่ ในเรือเลยต้องบรรจุทุกอย่างที่นักแสดงต้องดูแลตัวเอง ทั้งร่ม พัดลมเครื่องเล็กๆ ทิชชู่ ไปจนถึงแป้ง ...เรียกว่าเป็นซีนที่นักแสดงต้องซับหน้าตัวเองเลยทีเดียว
"เบนซ์เคยถ่ายมิวสิกวิดีโอมาก่อน (เพลง ส่งเธอได้เท่านี้ ของ Lomosonic, ถ้าเธอรักฉันจริง ของ Three Man Down ฯลฯ) วันที่ต้องเลือกตากล้อง คือเราชอบภาพของเบนซ์ แต่เบนซ์ไม่มีประสบการณ์ ไม่เคยถ่ายหนังใหญ่มาก่อน คือการถ่ายหนังใหญ่มันต้องรับมือกับการเช่าอุปกรณ์ในระยะเวลายาวๆ ด้วย มันมีเรื่องการจัดการทีมด้วย ในวันที่เลือกเบนซ์ เราชอบฝีมือเบนซ์อยู่แล้ว รู้สึกว่ามันเข้ากับเราเลย มันมีความธรรมชาติๆ อยู่ แต่พอเบนซ์ไม่มีประสบการณ์ แล้วเราก็เป็นผู้กำกับใหม่ เราเลยควรจะมีตากล้องที่มีประสบการณ์มาช่วยซัพพอร์ตไหมนะ" เธอหัวเราะเบาๆ "ก็มีการเรียกเบนซ์มาคุยกัน ทีมพี่ๆ โปรดิวเซอร์เขาก็คุยกับเบนซ์ด้วย ทุกคนดูจะชอบทัศนคติของเบนซ์ แล้วเราก็รู้สึกว่าเบนซ์มันมีฝีมือมาก ในวันหนึ่งมันก็ต้องได้ถ่ายหนังใหญ่อยู่ดี แล้วทำไมเรื่องนี้จะเป็นเรื่องแรกของเขาไม่ได้ แล้วก็ไม่รู้อะไรจัดสรรมาเหมือนกันที่ทีมงานเรื่องนี้มีคนที่ทำหนังใหญ่เป็นเรื่องแรกเยอะมาก ตั้งแต่พี่โต้ง (บรรจง ปิสัญธนะกูล) ที่โปรดิวซ์ให้คนอื่นเป็นเรื่องแรก แล้วก็ผู้กำกับ นักแสดง ตากล้อง โปรดักชั่นดีไซน์ก็ทำเต็มตัวเรื่องนี้เรื่องแรก หรือน้องผู้ช่วยหนึ่งและผู้ช่วยสองก็เคยทำซีรีส์แต่นี่เป็นการทำหนังครั้งแรก ฝ่ายเสื้อผ้าก็ปกติทำโฆษณาแล้วนี่เป็นการทำหนังครั้งแรก กระทั่งส่วนโพสต์โปรดักชั่นอย่างน้องที่แก้สีก็ได้แก้สีหนังใหญ่ครั้งแรกค่ะ"
ถือว่า เธอกับฉันกับฉัน เป็นหนังที่รวมพลังของคนรุ่นใหม่ไว้เยอะทีเดียว
"ภาพที่วรรณถ่ายส่วนใหญ่จะเป็นช่วงเช้าๆ ระหว่างรอทุกคนเซตอัพ ทีมงานยังไม่พร้อมอะไรแบบนี้" เธอยิ้ม
เป็นภาพแสงสวยๆ ที่สื่อถึง 'การรอเซตอัพ' ซึ่งเป็นห้วงเวลาส่วนหนึ่งที่ต้องใช้ไปในชีวิตชาวกองถ่ายหนัง
"ไหว้ทุกวันค่ะ ตอนเช้า" วรรณแววหัวเราะ "กินข้าวเสร็จแล้วต้องไหว้ ทุกวัน ทุกที่ แล้ววรรณกับแววยังใส่เสื้อสีมงคลทุกวันด้วยค่ะ" เธอหัวเราะอีก "คือทำทุกทางเพื่อให้เราโชคดีน่ะค่ะ ทุกครั้งที่ไหว้ก็จะขอประมาณว่า ขอให้อากาศดี ขอให้ทุกอย่างราบรื่น ขอให้ทีมงานทำงานด้วยจิตใจที่มีความสุข ประมาณนี้ค่ะ"
หน้าที่ในการซื้อของไหว้จะเป็นความรับผิดชอบของทีมสวัสดิการ ที่ต้องเตรียมทั้งอาหาร ถาด และธูปมาให้พร้อม
"วรรณก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเขาใช้หลักการอะไรในการเลือกซื้อของไหว้" ผู้กำกับบอกถึงรายละเอียดที่คงไม่ใช่หน้าที่ของผู้กำกับแล้วล่ะ แต่เธอจำได้ว่าทุกครั้งจะไหว้ไปทางพระอาทิตย์
ส่วนบุคคลในภาพนี้คือแวววรรณที่กำลังไหว้อย่างตั้งอกตั้งใจ
สิ่งที่น่าสนใจในภาพนี้คือบ้านหลังนี้เซตมาจากบ้านเก่าโล่งๆ ทุกรายละเอียดที่เห็นจึงเป็นสิ่งที่ทีมงานสร้างขึ้น กระทั่งรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างสติกเกอร์รูปทิวลิปที่ผนังครัวก็เป็นสิ่งที่ทีมอาร์ตเซตขึ้นมา
"มันจะมีของบางอย่างที่เราระบุกับเขา เช่นเราอยากให้ยูกับมีทำกิจกรรมแบบเสียบพริก เสียบกระเทียม ให้ยายเอาไปย่างทำน้ำพริก ก็จะมีอุปกรณ์สำหรับหนีบย่างวางอยู่บนโต๊ะด้วย แล้วยายก็นึ่งข้าวเหนียวอยู่นะ พวกนี้คือดีเทลที่เราเตรียมกัน แต่พวกรายละเอียดการตกแต่งต่างๆ จะเป็นไอเดียของทีมอาร์ตค่ะ ซึ่งวรรณได้ยินน้องทีมอาร์ตเขาบอกว่า เขาใช้วิธีไปตลาดตอนเช้า แล้วเจอของอะไรที่น่าสนใจก็ซื้อมาจากตลาดด้วย ไม่ให้แต่ละซีนในแต่ละเวลามันเหมือนกันเกินไป เหมือนกับพอวันเปลี่ยน ยายก็ไปตลาดแล้วซื้อของใหม่ๆ เข้าบ้านมาด้วย" วรรณเล่าถึงวิธีเติม 'ชีวิต' ให้กับฉากในภาพยนตร์
"ด้วยความที่ในกองถ่ายจะมีผู้หญิงเยอะมาก โบ๊ตซึ่งเป็นผู้ชายในกองก็เลยสนิทกับโทนี่ไปโดยปริยาย ตอนที่โทนี่ต้องไปนครพนมเพื่อฝึกขี่มอร์เตอร์ไซค์ ฝึกพูดภาษาอีสาน ก็จะมีโบ๊ตอยู่ข้างกายตลอดเวลา เลยเหมือนเป็นบัดดี้กัน ถึงโบ๊ตจะโตกว่าโทนี่ แต่พอเห็นนักแสดงสาวๆ คนอื่นๆ เขามุ้งมิ้งๆ กัน โบ๊ตก็เป็นเหมือนที่พักใจของโทนี่ค่ะ"
"เป็นจังหวะที่รอจัดแสง เลยเอาน้องไปนั่ง แล้วก็ถ่ายเอาไว้ค่ะ" วรรณยิ้มกว้าง "เวลาวรรณขโมยถ่ายในกอง วรรณจะใช้กล้องตัวเล็ก เป็นกล้องฟิล์ม Ricoh GR10 เป็นกล้องที่ตกทอดมาจากพ่อค่ะ มันไม่ต้องมานั่งคิดนั่งเซตอะไร แต่บางทีมันก็โฟกัสเข้าบ้างไม่เข้าบ้าง อย่างภาพนี้ก็โฟกัสข้างหลัง ไม่ได้โฟกัสที่น้องเท่าไหร่ค่ะ" เธอหัวเราะเบาๆ "แต่ถ้ามีเวลาก็จะใช้กล้อง SLR เป็น Leica ค่ะ แต่เพราะว่าส่วนใหญ่จะต้องถ่ายแบบรีบๆ ภาพในกองถ่ายของวรรณเลยมักจะเป็นกล้องฟิล์ม"
"สำหรับการถ่ายช็อตนี้จริงๆ เราวางแผนไว้ว่าจะให้เป็นภาพที่นั่งเรียงสามคน แล้วค่อยไปดูหน้างานว่านั่งที่ไหนได้บ้าง แล้วก็ไปเจอรากไม้ยาวๆ ใหญ่ๆ อันนี้ซึ่งพี่โต้งเขาชอบ ก็เลยคุยกันว่าอยากให้นั่งตรงนี้เลย ซึ่งจริงๆ มันนั่งยากนะคะ แต่เราก็ต้องทำให้เหมือนมันนั่งง่าย" เธอหัวเราะ
เรื่องของเรื่องคือเป็นจังหวะที่แสงสวยงามพอดี ช่างภาพนิ่งประจำกองถ่ายเลยขอถ่ายสองผู้กำกับให้ทำท่าจริงจังอยู่หน้ามอร์นิเตอร์เอาไว้สักหน่อย
"จริงๆ ในกองถ่ายวรรณกับแววก็ทำแทบทุกอย่างไปด้วยกันนะ" วรรณเล่าถึงการแบ่งงานกันระหว่างเธอกับฝาแฝด "หน้าที่หลักของเราก็คือนั่งอยู่หน้ามอร์นิเตอร์ด้วยกัน แล้วบอกว่าอะไรผ่านไม่ผ่าน หรือเวลาทีมงานเอาอะไรมาให้เลือกก็ต้องตัดสินใจพร้อมกัน แต่มันจะมีบางจังหวะบ้างที่แยกกันทำงาน เช่นช่วงเร่งๆ วรรณกับแววก็จะเข้าสู่โหมดแยกร่าง ซึ่งส่วนใหญ่วรรณจะไปหน้าเซต อย่างถ้าเวลาไม่ทัน อาจต้องรวบช็อต วรรณก็จะไปหน้าเซต ไปคุยกับตากล้องกับผู้ช่วย ในขณะที่แววก็จะไปเตรียมตัวนักแสดงไว้ก่อน ไปทวนบท มาร์กจุดสำคัญในบทให้ร่วมกับแอ็คติ้งโค้ช เป็นการใช้เวลาระหว่างรอเข้าเซตให้คุ้มค่ะ"
"น้องน่ารักอะค่ะ เลยถ่ายภาพไว้" วรรณหัวเราะ "น้องไม่กลัวกล้อง ทำตัวกลมกลืนกับทีมงาน ตาแป๋ว แสดงแบบซื่อๆ วรรณว่ามันน่ารักดี ...ปกติน้องๆ พวกนี้เขารับงานแสดงมาก่อนบ้างแล้วค่ะ และวรรณว่าในความเป็นเด็ก เขาก็ไม่กลัวคน เวลาเขาแสดงอะไรเขาก็เล่นเต็ม กล้องไม่ได้รับหน้าฉันฉันก็จะเล่นเต็ม" วรรณหัวเราะ "อย่างซีนที่ทะเลาะกันแย่งลูกอม เราก็ถ่ายเด็กๆ ก่อนเพราะกลัวเด็กๆ หมดพลังใช่ไหมคะ น้องๆ เขาก็เล่นกันเต็มที่มาก แล้วพอกล้องเปลี่ยนไปรับโทนี่หรือใบปอแล้ว น้องๆ ก็ยังเล่นเต็มที่อยู่อย่างนั้น ใบปอหลุดขำตั้งหลายรอบ" วรรณหัวเราะสนุก "วรรณก็เลยบอกโทนี่กับใบปอว่า 'ดูน้องไว้นะ เขาเล่นเต็มทุกเทค เล่นจริงทุกเทคเลยนะ' แล้วอย่างน้องโซดาจะมีซีนที่น้องต้องถาม 'ยู' ว่าทำไม 'หมาก' ไม่มาเรียน เป็นอะไร ไม่สบายหรือเปล่า แล้วใบปอก็ต้องบอกไม่รู้ๆ จนตอนท้าย 'ยู' ต้องหันไปตะคอกว่า 'หยุดเซ้าซี้ได้แล้ว!' แล้วน้องโซดาซึ่งอายุประมาณ 5-6 ขวบก็จะร้องไห้ เพราะไม่ชอบอารมณ์แบบนี้ ไม่ชอบที่อยู่ๆ พี่ใบปอก็อารมณ์เสียใส่ ซึ่งมันเป็นภาพที่เกินจากที่เราต้องการ ตอนแรกก็ว่าจะให้เห็นหน้าน้องโซดา พอเป็นแบบนี้เราก็เลยต้องปรับหน้างานให้กล้องหันเข้าหาใบปอ ไม่ต้องเห็นหน้าน้องโซดา แต่โซดาก็มีสปิริตพอที่จะพูดไดอะล็อกให้ทั้งที่น้ำตาไหลไปแล้วนะ ...วรรณก็คุยกับใบปอว่า จริงๆ แล้วมันเป็นคุณภาพของนักแสดงที่ดีมากเลยนะ ที่น้องเขาอยู่กับคนตรงนั้นจริงๆ เขาไม่ได้คิดว่ามันคือการแสดงหรือการพูดตามบทเท่านั้น ...ซึ่งพอผ่านซีนนี้ใบปอก็ต้องไปกอด ไปขอโทษน้องนะคะ"
ส่วนน้ำแดงที่น้องโซดากำลังดื่มนั้น เป็นเครื่องดื่มในกองถ่ายที่ทีมงานสวัสดิการเตรียมเอาไว้นั่นเอง ดังนั้นภาพแรกอาจจะชื่อภาพ 'แดงโซดา' ก็ได้ ในขณะที่อีกภาพเป็นการถ่ายภาพคู่กันระหว่างโทนี่กับโซดา ...ขอเชิญตัดสินว่าใครน่ารักกว่ากัน
"อันนี้คือสมุดจดโน้ตพิณค่ะ สิ่งที่ทีมอาร์ตเตรียมอย่างหนึ่งคือเขาเตรียมสมุดที่จดโน้ตสำหรับเล่นพิณเอาไว้ในซีนด้วย เด็กคนไหนที่เล่นพิณอยู่ก็เอาไปวางไว้ เพราะมันเป็นโรงเรียนสอนเล่นพิณ พอดีแสงมันสวยดีเลยถ่ายเอาไว้ค่ะ" วรรณเล่าสบายๆ
ในซีนโรงเรียนพิณนี้ เด็กในฉากจริงๆ จะมีการผสมกันระหว่างเด็กที่เล่นพิณเป็นจริงๆ ประมาณ 2-3 คนกับเด็กคนอื่นๆ ที่เล่นไม่เป็น ซึ่งคนที่เล่นไม่เป็นก็จะเป็นคนที่มีประสบการณ์การแสดงมาก่อน แล้วให้เขาไปเรียนเบสิกของการเล่นพิณนิดๆ หน่อยๆ ก่อนมาเข้าฉาก โดยสรุปคือเป็นการผสมความสมจริงเข้ากับความเหมาะสมในการทำงานหน้ากองถ่ายนั่นเอง
"พอวรรณอธิบายพี่กระแตเสร็จก็ลองให้เขาแสดงแล้วเราก็ถ่ายภาพเอาไว้แบบไวๆ ซี่งจะเห็นว่าภาพนี้ถ่ายแบบเร็วๆ เพราะวรรณใช้วิธีตบแฟลชด้วยค่ะ"
นอกจากจะเป็นภาพที่มีองค์ประกอบสวยมากๆ ภาพหนึ่งแล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือสิ่งละอันพันละน้อยในบ้านหลังนี้ล้วนเป็นการตกแต่งใหม่ทั้งหมด โดยทีมงานไปใช้ทาวน์โฮมย่านพหลโยธินแห่งหนึ่ง แล้วเซตฉากขึ้นใหม่ทั้งหมด ดังนั้นในภาพนี้ทั้งผ้าม่าน ภาพบนผนัง ตู้เย็น กระทั่งของเล็กๆ น้อยๆ ที่ประดับอยู่บนตู้เย็นก็เป็นการเซตขึ้นทั้งหมด
"ทีมงานพยายามเลือกบ้านที่โครงสร้างดูเก่า พื้นเป็นพื้นหิน โครงสร้างบันไดเก่าๆ แล้วส่วนที่เหลือก็มาตกแต่งใหม่ทั้งหมดเองค่ะ"
นอกจากนั้นอีกเรื่องที่ควรกล่าวถึงคือ กระแต ศุภักษร เป็นนักแสดงหนึ่งเดียวในภาพยนตร์เรื่องนี้ที่กล่าวได้ว่ามีประสบการณ์ในวงการมาแล้วหลายปี
"พี่กระแตเป็นนักแสดงคนเดียวในกองที่เรารู้สึกว่าเขาเป็นดารา ช่วงแรกๆ วรรณก็มีความเกรงใจอยู่" ผู้กำกับสาวหัวเราะ "มันก็จะไม่เหมือนกับเวลาเราคุยเล่นกับน้องๆ เด็กๆ พี่เขาเป็นคนนิ่งๆ แต่จริงๆ พี่เขาเป็นคนง่ายๆ มากๆ มากองก็ชอบสั่งส้มตำมาเลี้ยงคนในกอง แล้วช่วงแรกๆ กับน้องเด็กๆ ก็อาจมีช่องว่างกันอยู่ แต่พออยู่ในโลเกชั่นกันแล้วก็เริ่มสนิทกับเด็กๆ มากขึ้นค่ะ แล้ววรรณชอบมากๆ ตรงที่ในความที่ดูนิ่งๆ ดุๆ ของพี่กระแตก็มาทำให้บทแม่ดูออกมาเฉพาะตัวดี ความเฉพาะมันทำให้ดูเป็นตัวละครตัวนึงขึ้นมาจริงๆ ไม่ใช่แค่เป็นแม่ตามแพ็ทเทิร์นที่เราคุ้นเคยกัน คือจริงๆ ในบทเราก็อยากให้ตัวแม่ดูแข็งๆ นะคะ แต่เอ๊ะ จะแข็งยังไงที่ไม่ดูดุจนเกรี้ยวกราด ซึ่งพี่กระแตทำให้เราได้แม่ที่ดูนิ่งๆ แต่เวลาดุลูกก็จ๋อยอยู่ แต่ก็ยังทำให้เรานึกออกว่าทำไมลูกถึงยังรักแม่คนนี้ด้วย คือเป็นแม่ที่ดูแข็งๆ นิ่งๆ แต่ลึกๆ แล้วอ่อนโยน เพียงแต่ไม่ได้แสดงออกมากค่ะ"
ดาวเป็น 'คอนตินิวตัวแม่' เพราะมีประสบการณ์มาจากหนังหลายเรื่องแล้ว ส่วนฝ่ายสไตลิสต์ของกองนั้น แม้จะทำหนังใหญ่เป็นเรื่องแรก แต่วรรณก็บอกว่าเป็นเรี่ยวแรงที่สำคัญมากๆ เลยทีเดียว
"พีทกับปาล์มเป็นตัวตึงของกองค่ะ คือเป็นสองคนที่สร้างสีสันให้คนได้หัวเราะ ซึ่งมันทำให้การออกกองสนุกขึ้นนะ ให้บรรยากาศมันไม่เครียดจนเกินไป แล้ววรรณไม่ได้ออกกองบ่อยเท่าทีมงานทุกคนพอที่จะเปรียบเทียบได้ว่ากองนี้ต่างจากกองอื่นแค่ไหน หรือว่านี่คือบรรยากาศปกติหรือเปล่า แต่ส่วนตัววรรณรู้สึกว่า กองถ่ายกองนี้ไม่มีใครทะเลาะกันเลย ไม่มีดราม่า ทุกคนพร้อมที่จะปรับเพื่อส่วนรวม เหมือนเคมีในกองมันค่อนข้างลงตัว ไม่รู้สึกว่าใครมีอีโก้ ไม่มีใครล้ำเส้นกัน อย่างทีมเสื้อผ้าเขาก็พร้อมที่จะคุยว่า 'เซตเป็นยังไงนะ จะได้เลือกเสื้อผ้าในวันนี้ๆ ถูก' หรือกล้องกับอาร์ตเขาก็คุยกันดีว่า 'เออ ผมจะถ่ายมุมนี้ ฝากพี่เซตมุมนี้นะ แล้วเดี๋ยวกล้องจะเปลี่ยนไปมุมนั้น พี่อาจจะต้องเลื่อนของนะ' แล้วทุกคนก็พร้อมที่จะร่วมมือกันนะคะ แล้วทีมงานส่วนใหญ่ก็ค่อนข้างอินโทรเวิร์ตมั้งนะคะ พอมีทีมงานที่เป็นสีสันบ้าง ก็เลยกลายเป็นตัวเชื่อมทุกคน อย่างวันที่เลี้ยงปิดกล้อง สองคนนี้ก็จะอยู่บนเวทีตลอดเวลา เหมือนเป็นพิธีกรเลยค่ะ" วรรณหัวเราะเบาๆ
เกร็ดเบาๆ อีกหน่อยที่เราเห็นจากภาพนี้ก็คือ อาหารที่อยู่ในถาดคืออาหารกองถ่าย ส่วนที่เห็นเป็นภาชนะอื่นๆ นั้นอาจจะเป็นการสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่มาเพิ่มเองของทีมงานแต่ละคนนั่นเอง ซึ่งในช่วงที่ถ่ายที่กรุงเทพฯ ก็สามารถสั่งอาหารมาเติมท้องกันได้แล้วแต่ใจปรารถนาเลย แต่พอไปถ่ายต่างจังหวัดก็อาจจะยากสักหน่อย
"คือซีนทะเลาะของตัวพ่อแม่เราอัดมาแต่เสียงค่ะ แต่เราเอานักแสดงมาทะเลาะกันจริงๆ มันจะมีการอัดเสียงสองครั้ง คือครั้งแรกเราให้ไปนั่งทะเลาะกันในรถตู้ กับตอนเอดีอาร์ (ARD - automated dialogue replacement) ที่เราอยากแก้ให้คำกระชับขึ้น ก็เรียกพี่สองคนมาที่จีดีเอช คือวรรณว่ามันต้องเจอกันน่ะ ถ้าพูดแยกกันมันจะดูไม่ปะทะกันน่ะค่ะ"
และภาพที่เราเห็นอยู่นี่ก็เกี่ยวกับการทะเลาะครั้งนี้เช่นกัน ซึ่งวรรณบอกว่าเดิมทีก็ตั้งใจจะให้เห็นภาพของการทะเลาะกันของพ่อกับแม่นิดๆ หน่อยๆ อยู่เหมือนกัน คือให้เป็นมองลอดจากใต้ประตู แล้วเห็นภาพเท้าของพ่อกับแม่ที่เดินไปเดินมาตอนทะเลาะกัน
ซึ่งทีมงานสองคนที่อยู่หน้าประตูในภาพนี้คือสแตนด์อินที่จะแสดงเป็นเท้าของพ่อกับแม่นั่นเอง! ...ซึ่งวรรณบอกว่าสแตนด์อินทั้งคู่ต้องมีการซ้อมเดินให้เข้ากับบทที่พ่อแม่ทะเลาะกันด้วยนะ!
แต่ท้ายที่สุด ในขั้นตอนการตัดต่อ สองผู้กำกับก็เลือกที่จะตัดช็อตนี้ทิ้งไปเพราะรู้สึกว่าเป็นช็อตที่ดูเกินๆ เรื่องราวอยู่บ้าง เลยทิ้งไว้เพียงภาพเศร้าๆ ของ 'ยู' กับ 'มี' เท่านั้น และทำให้ภาพถ่ายภาพนี้เป็นบทบันทึกการซักซ้อมของสแตนด์อินทั้งสองคน เป็นการบันทึกเบื้องหลังกองถ่ายที่เป็นโมเมนต์เล็กๆ ที่ทีมงานได้ตั้งใจสร้างรายละเอียดให้กับหนังเรื่องนี้ แม้ว่าจะไม่ได้ใช้ก็ตาม
"ภาพนี้คิดว่ามากันครบนะคะ เพราะพี่โต้งก็มาถ่ายรูปด้วย หรือโทนี่จริงๆ ก็ไม่มีคิวที่โลเกชั่นนี้ แต่ก็อยากมาอยู่ด้วยตอนปิดกล้อง"
และถ้าดูให้ดีจะเห็นว่ากำแพงในซีนนี้ไม่ใช่กำแพงที่มีอยู่ในโลเกชั่นแต่เดิม หากแต่เป็นกำแพงที่ถูกเซ็ตขึ้น โดยในภาพยนตร์จะเลือกถ่ายเฉพาะช่วงกำแพงเท่านั้น
"จริงๆ ซีนสุดท้ายในบทของเรามันไม่ได้จบอย่างที่เห็นในหนังนะคะ" วรรณเล่าเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่คนดูหนังอาจจะอยากรู้ "ตามบทคือพอเจอว่าโลกไม่แตก มันก็จะมีพลุขึ้นมา แล้วยูกับมีก็จะสั่งเสียกันต่ออีกสักพัก ซึ่งเป็นจังหวะที่น้องต้องร้องไห้ออกมา แล้วพอตอนตัดต่อเราลองให้ภาพมันดับ เหมือนว่า เอ๊ะ หรือโลกจะแตก แล้วค่อยมีเสียงพลุขึ้นมา แต่พอลองตัดไปตัดมาแล้วคิดว่าจบตรงนี้เลยดีกว่า คนดูก็รู้อยู่แล้วว่าปี 2000 โลกมันไม่แตกไง รู้สึกว่าจบตรงนี้เลยมีความหมายกว่า" วรรณเล่ายิ้มๆ "แล้วใบปอก็เห็นสิ่งนี้ตอนวันที่ฉายรอบกาล่า ก็ลุกมาบอกวรรณว่า 'พี่ ทำไมร้ายยย' ...คือตอนนั้นวรรณบิวด์ให้น้องร้องไห้เยอะมากน่ะค่ะ" วรรณเล่าแล้วหัวเราะเบาๆ
"วรรณชอบบ้านนี้มาก มันมีความโบราณอยู่ มีโครงสร้างเก่าๆ อยู่ อย่างเช่นราวบันไดตรงนี้ แล้วช่วงที่แสงสวยๆ มันจะมีความอร่ามเหลือง สวยมากค่ะ" วรรณพูดถึงโลเกชั่นที่เธอเลือก
หลังจากถ่ายทำเสร็จ บ้านหลังนี้ก็ถูกเคลียร์กลายเป็นอาคารโล่งๆ อีกครั้ง และปัจจุบันทางเจ้าของก็ดูจะมีแผนที่จะพัฒนาบ้านหลังนี้ต่อไป การที่ครั้งหนึ่งมันถูกใช้เป็นโลเกชั่นถ่ายภาพยนตร์จึงเป็นเหมือนการสร้างชีวิตและเรื่องราวพิเศษเอาไว้ เพื่อบันทึกไว้ในความทรงจำของผู้ชมที่ประทับใจกับภาพยนตร์เรื่องนี้
และเป็นความทรงจำที่น่าประทับใจของทีมงานทุกคนด้วยเช่นกัน
3461 VIEWS |
ผู้ก่อตั้งนิตยสาร happening, บรรณาธิการบริหารนิตยสาร happening, กรรมการบริหารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc), นักเขียน, นักแต่งเพลง, นักฟังเพลง และนักอ่านตัวยง
หนึ่งในสองผู้กำกับภาพยนตร์ Wish Us Luck และ เธอกับฉันกับฉัน,หนึ่งในทีมผู้บริหาร krua.co และหนึ่งในทีมเขียนซีรีย์ ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น