ช่วงเวลาที่ เฌอปราง อารีย์กุล ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งผู้จัดการวง หรือ ชิไฮนิน ของ BNK48 ควบคู่ไปกับการเป็นกัปตันและเมมเบอร์วง BNK48 เกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนผ่านของวงที่มีสมาชิกรุ่นที่ 1 หลายคนตัดสินใจจบการศึกษาเพื่อออกเดินทางไปบนเส้นทางใหม่
เฌอปรางเดินเข้ามาในห้องสัมภาษณ์ แล้วทักทายเราพร้อมรอยยิ้มสดใส ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจทำให้ใครหลายคนหวั่นไหว แต่เราไม่เห็นความรู้สึกสั่นคลอนใดๆ ในสายตาของเธอเลย
ก่อนที่จะเริ่มพูดคุยถึงบทบาทใหม่และเป้าหมายในอนาคตของเธอ เราชวนเฌอปรางนึกย้อนกลับไปในวันที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกัปตันวง BNK48 อีกสักครั้ง ซึ่งเธอตอบอย่างฉะฉานสมกับการเป็นตัวแทนที่สื่อสารเรื่องราวของวงมาอย่างโชกโชน
"จุดเริ่มต้นมาจากการที่วงต้องการคนนำสวัสดีในโอกาสต่างๆ ค่ะ 'สวัสดีค่ะ พวกเรา BNK48 ค่ะ' แล้วคอยตามเพื่อนมาซ้อม เหมือนหัวหน้าห้องดีๆ นี่เอง แค่นั้นเลยค่ะ ก็ทำสิ่งนี้มาเรื่อยๆ หลังจากนั้นจึงมีการประกาศว่าได้เป็นกัปตันวงอย่างเป็นทางการในวันที่ BNK48 เดบิวต์ค่ะ เราก็ดีใจนะ เพราะก่อนหน้านั้นรู้สึกไม่มั่นใจ ช่วงที่ซ้อมก่อนเดบิวต์ไม่รู้ว่าเราทำได้ดีหรือไม่ดีขนาดไหน แต่เราเป็นคนอินกับ 48 Group ค่อนข้างเป็นแฟนคลับมาก่อน แล้วไอดอลที่เราชอบก็เป็นกัปตันวง เลยก็เลยดีใจที่เราได้รับเลือกจากทุกๆ ฝ่ายทั้งจากเมมเบอร์ ผู้บริหาร และทีมงานให้รับตำแหน่งเดียวกับเขา เลยมีการพูดกันว่าอยากให้ BNK48 โด่งดังและมั่นคงในประเทศไทยตั้งแต่ตอนนั้น" ซึ่งเฌอปรางยังมีเป้าหมายนั้นอยู่ในใจเรื่อยมา
สำหรับแฟนๆ เฌอปรางเป็นที่รู้จักในฐานะสมาชิกรุ่นแรกและกัปตันวง BNK48 ที่เปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ในงาน Japan Expo 2017 แล้วได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 16 เซ็มบัตสึของซิงเกิลแรก อยากจะได้พบเธอ ก่อนที่บุคลิกความเป็นผู้นำจะค่อยๆ เฉิดฉายขึ้นเมื่อเธอเป็นตัวแทนในการสื่อสารเรื่องราวของวงอยู่บ่อยครั้ง ปฏิเสธไม่ได้ว่าความโดดเด่นของเฌอปรางทำให้สื่อมวลชนและแฟนคลับสนใจเป็นพิเศษและควานหาตัวอักษร ฌ เฌอ บนแป้นพิมพ์จนเจอ ทั้งๆ ที่แทบไม่เคยใช้ตัวอักษรนี้มาก่อน
ขณะนั้นเฌอปรางยังเรียนอยู่สาขาวิชาเคมี ภาควิชาวิทยาศาสตร์ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ฝึกซ้อมในฐานะสมาชิกวง BNK48 แล้วยังมีโอกาสลองงานแสดงเรื่องแรกด้วยการรับบท พาย-พริมา วงษ์สุทิน ในภาพยนตร์เรื่อง โฮมสเตย์ ผลงานของผู้กำกับ ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ ซึ่งในภาระหน้าที่ในช่วงเวลานั้นถือว่าหนักหน่วงมาก แต่เฌอปรางยังรับผิดชอบได้อย่างดี โดยจบการศึกษาระดับปริญญาตรีได้รับเกียรตินิยมอันดับ 2 อีกด้วย
การทำงานในฐานะเมมเบอร์ควบคู่ไปกับงานแสดง ทำให้เราเห็นผลงานของเธอบนหน้าจออย่างต่อเนื่อง ทั้งจากซีรีส์เรื่อง One Year 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ หรือ Cat Radio TV ทั้ง 2 ซีซั่น ภาพยนตร์ SLR และ ผลงานละครย้อนยุค บุษบาลุยไฟ ในบท ลำจวน รวมถึงซีรีส์ Thank you Teacher ที่กำลังจะได้รับชมในปี 2566 นี้เป็นต้น
ในบทสัมภาษณ์ครั้งนี้ เราจะชวนทุกคนไปค้นหาสิ่งที่เฌอปรางอยากรู้ จนนำตัวเองกระโจนเข้าไปพิสูจน์ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลในการสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกวง BNK48 ทั้งๆ ที่กำลังเรียนด้านวิทยาศาสตร์ที่ตัวเองชื่นชอบอย่างเข้มข้น รวมถึงการรับผิดชอบในหน้าที่ต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายด้วยความเต็มใจ ที่ล้วนเป็นหนึ่งในกระบวนการของการใช้ชีวิตเพื่อไขข้อสงสัยที่มีอยู่ทั้งสิ้น
เฌอปรางเริ่มมีความสนใจต่อวัฒนธรรมญี่ปุ่นจนทำให้รู้จัก 48 Group ตั้งแต่เมื่อไร
เริ่มจากดูการ์ตูนค่ะ เฌอเติบโตมากับการ์ตูนช่อง 9 ค่ะ ซึ่งการจะดูการ์ตูนได้นั้น เฌอต้องซักถุงเท้าให้เสร็จก่อน มิชชั่นวัยเด็กมีแค่นั้นจริงๆ จำได้เลย ไปเรียนวันจันทร์ถึงศุกร์ ตื่นเจ็ดโมงครึ่ง นอนสองทุ่ม โรงเรียนใกล้บ้านมากค่ะ แต่จะเฝ้ารอวันเสาร์อาทิตย์มาก เพราะรอดูการ์ตูนช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ค่ะ หนูดูตลอดเลยนะสองชั่วโมง เกือบทุกเรื่อง จำได้ว่ามี ชูการ์ชูการ์รูน (แม่มดสาวหัวใจกุ๊กกิ๊ก), แม่มดน้อยโดเรมี, โดราเอมอน, ดิจิมอน, โปเกมอน ช่องอื่นไม่ค่อยมีการ์ตูนญี่ปุ่น จำได้ว่าชอบมากจนเป็นแรงบันดาลใจให้เรียนภาษาญี่ปุ่น เป็นแรงบันดาลใจให้ตามวัฒนธรรมญี่ปุ่นไปเรื่อยๆ
ช่วงหลังพอเริ่มใช้คอมพิวเตอร์เป็นก็มาเจอการตูนที่ชื่อว่า AKB0048 ค่ะ เป็นเรื่องที่มีแรงบันดาลใจมาจาก AKB48 ของประเทศญี่ปุ่น เอ๊ะ! เขาสร้างโดยมีต้นแบบจาก AKB48 เหรอ อยากรู้จักว่าคืออะไร ก็เลยเริ่มตาม AKB48 พอดูวิดีโอของพวกเขาแล้ว เรารู้สึกอินกับสิ่งที่เขาทำ สิ่งที่เขาเผชิญ แต่ว่าติดตามค่อนข้างยากเหมือนกัน รู้สึกสื่อญี่ปุ่นตามยาก จนมาเจอคนที่ชื่อ ยามาโมโตะ ซายากะ สมาชิกวง NMB48 รุ่นที่ 1 มีตำแหน่งเป็นกัปตันวง NMB48 แล้วเป็นคนที่ได้มาทำงานกับทาง AKB48 Group ค่อนข้างเยอะ รู้สึกชอบคนสไตล์นี้ ชอบภาพลักษณ์ของเขาก่อน ประทับใจในความเป็นผู้นำและอะไรหลายๆ อย่างที่เห็นในสื่อ เขาก็ค่อนข้างมีชื่อเสียงที่ดี เลยคามิโอชิคนนี้มาตั้งแต่ช่วงมัธยมปลาย
ชอบ ยามาโมโตะ ซายากะ มากขนาดไหน
มีเพลง
365日の紙飛行機/ ของ AKB48 (เพลง 365 วันกับเครื่องบินกระดาษ เวอร์ชั่นญี่ปุ่น) ที่เขาเป็นเซ็นเตอร์ แล้วหนูเปิดเพลงนั้นฟังทุกเช้าคิดว่าตั้งแต่ปรับพื้นฐานภาษาอังกฤษช่วงก่อนที่จะเข้าเรียนที่ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล จนเพื่อนที่เป็นรูมเมทเรียกว่าเป็นเพลงชาติของเฌอ
ถ้าอ่านเนื้อเพลงจะมีความหมายประมาณว่า จุดหมายปลายทางก็สำคัญ แต่ระหว่างทางก็มีอะไรมากกว่าที่เราคิด ซึ่งหนูใช้เป็นแรงผลักดันที่ย้ำเตือนตัวเองว่า "ค่อยๆ เดินไป ไม่เป็นไร เรามีเป้าหมายแหละ แต่สิ่งที่อยู่ข้างทางอย่าทิ้ง ค่อยๆ เก็บไป" เป็นเพลงที่กินใจ แล้วชอบน้ำเสียงเขาด้วย นั่นแหละค่ะเป็นเหตุผลที่ทำให้อยากรู้ว่าระบบของ 48 Group เป็นอย่างไรนะ เขาเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เฌอสมัครเข้า BNK48 และต่อมาก็ได้เข้าวงการบันเทิง
ที่ผ่านมาอาจจะสนใจและติดตามผลงานของ 48 Group แต่ ยามาโมโตะ ซายากะ คือคนที่ทำให้เฌอปรางตัดสินใจก้าวเข้ามาสมัครใช่ไหม
ใช่ค่ะ เหตุผลหลักคือแค่นั้นค่ะ ชอบด้วย และมีความสงสัยใคร่รู้ว่า เขาเจออะไรบ้างนะ พอผู้จัดการทั่วไป ซึ่งเป็นผู้จัดการใหญ่สุดภายในเมมเบอร์กันเองคือ ทาคามินะซัง AKB48 (ทาคาฮาชิ มินามิ สมาชิกรุ่น 1 และกัปตันวง AKB48 คนแรก) ประกาศว่าจะมี BNK48 ในคอนเสิร์ตสุดท้ายของเขา หนูก็ตามตั้งแต่ข่าววันนั้นนะคะ ตอนแรกอายุเกินก็ไม่เป็นไร ฉันก็จะสนับสนุน 48 Group ต่อไป พอขยายอายุในการรับสมัครเลยรู้สึกว่า ไหนๆ ก็มีโอกาสที่ 48 Group มาเปิดที่เมืองไทย อยากรู้ อยากลอง สนใจ ชอบ เอาอย่างไรดี เขาทำอย่างไรกันบ้างนะ เห็นในสารคดีว่าเขาพัฒนาตัวเองกันตอนที่อยู่ในวง อย่างนั้นลองส่งใบสมัครละกัน เราจะได้ไม่ต้องมีคำว่า รู้งี้ ถ้าตอนนั้นไม่ได้ลอง ก็ลองยื่นดู ผ่านไม่ผ่านไม่รู้ แต่ว่าเราได้ลองยื่นแล้ว และก็มาถึงวันนี้ค่ะ เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีซายากะซังก็ไม่มีเฌอในวันนี้ค่ะ
สิ่งที่ชอบกับสิ่งที่เลือกเรียนต่างกันมากเหมือนกันนะ คุณมีช่วงเวลาที่ค้นหาตัวเองอย่างไร
ต่างกันคนละขั้วเลยค่ะ วิชาเรียนในห้องหนูพยายามอย่างดีที่สุด เพราะฉะนั้นจะเกือบได้เกรด 4 ทุกวิชา คิดว่าถ้าหนูพยายามมากๆ แล้ว ยังไม่ได้เกรด 4 แสดงว่าไม่ถนัดแล้วแหละ ตอนประถมยังทำได้ดีทุกวิชา แต่พอมัธยมเริ่มแล้ว ทำไมวิชาสังคม ภาษาไทย ภาษาอังกฤษได้เกรดน้อยกว่าเพื่อน แต่มันก็ชัดเจนมากเลยว่าตัวเองไม่ถนัดอะไร แต่ชอบญี่ปุ่น เลยไปเรียนภาษาญี่ปุ่นค่ะ แค่อยากเข้าใจการ์ตูน อยากฟังการ์ตูนภาษาญี่ปุ่นออก เหตุผลมีแค่นั้นค่ะ แต่ดันได้เอามาทำงานทุกวันนี้ด้วย พอจะสื่อสารกับเขาได้ เวลาไปญี่ปุ่นเมมเบอร์เขาก็ค่อนข้างเอ็นดู เพราะพูดภาษาญี่ปุ่นได้นิดหน่อย
เหมือนความหมายของเพลง 365 วันกับเครื่องบินกระดาษ ที่บอกว่าเก็บเกี่ยวสิ่งที่อยู่ข้างทางมาใช้ได้ใช่ไหม
เป็นสิ่งหนึ่งที่หนูรู้สึกว่า เราเก็บเกี่ยวจากสิ่งที่เราต้องทำให้ดีที่สุดแล้ว ถึงแม้จะเจอเรื่องที่เราไม่ชอบ แต่มันอาจจะมีประโยชน์โดยที่เราไม่รู้ตัวก็ได้ เหมือนเพิ่มจุดไว้ ไม่รู้หรอกว่าจุดนี้จะได้ไปเชื่อมกับอะไรในอนาคต แต่เรามีสกิลนี้อยู่กับตัวแล้ว
เฌอปรางไปญี่ปุ่นมากี่ครั้งแล้ว
เกินสิบครั้งแล้วค่ะ ถ้าก่อนเข้า BNK48 หนูเคยไปสามสี่ครั้ง ตอนมัธยมปลายได้ไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนสามสัปดาห์ เป็นการไปครั้งแรกที่ได้ตอบโจทย์การอยากเป็นนักเรียนมัธยมปลายญี่ปุ่นในการ์ตูนของตัวเองมาก ฟินมาก แฮปปี้มาก แล้วสังคมเขาเหมือนในการ์ตูนเลยแฮะ ผู้หญิงผู้ชายไม่ค่อยคุยกันจริงๆ เพื่อนเราฝั่งประเทศไทยคุยกันหมด ฝั่งญี่ปุ่นเขาเหมือนจับเป็นแก๊งจริงๆ ตอนเรียนเงียบคือเงียบ หนูแบบ... ไม่คุยกันเลยเหรอ เงียบขนาดนี้ ไม่มีเลย ตอนกลางวันเดินไปกินข้าวข้างนอกหรือจับกลุ่มกินกันในห้อง เหมือนในการ์ตูนเป๊ะ ประทับใจที่เหมือนได้เห็นภาพจริงๆ ว่า การ์ตูนก็เขียนมาจากเรื่องจริงที่เขาพบเห็นแหละ อาจจะมีเพ้อฝันบ้าง แต่เป็นบรรยากาศที่เหมือนจริงๆ ได้ไปอีกครั้งช่วงมัธยมศึกษาปีที่ 5 และไปอีกก็ช่วงเรียนอยู่ปี 1-2
ก่อนสมัครเข้าวง BNK48 มีการทำงานควบคู่ไปกับการเรียนด้วย?
รับสอนพิเศษวิชาคณิตศาสตร์ตั้งแต่ปี 1 ค่ะ แล้วมีโอกาสได้รับช่วงต่อจากรุ่นพี่เป็นผู้ช่วยวิจัยของอาจารย์ ซึ่งการเข้าไปเป็นผู้ช่วยวิจัยตอบโจทย์ของตัวเองที่สงสัยว่า การเป็นนักวิจัยทำอย่างไร หนูชอบทำการทดลอง ชอบอยู่ในแล็บ เพราะตอนมัธยมเคยทำ แล้วมันมีโมเมนต์ที่ดีใจมากๆ ที่เราศึกษาอะไรสักอย่างหนึ่งแล้วทำได้จริง นี่แหละโมเมนต์ที่ฉันตามหา นี่คือสิ่งที่ฉันจะอยู่ไปได้เรื่อยๆ ถึงแม้จะใช้เวลานานมาก แต่นี่แหละที่ ฉันชอบ
เฌอค่อนข้างเป็นคนที่ไม่สุงสิงกับใคร เพื่อนเคยพูดให้ฟังว่า "เธอมันไม่มีโอกาสที่จะได้มาทำตรงนี้เลย" "ใช่ ฉันก็คิดเหมือนกัน" เพราะเมื่อก่อนหนูเป็นเด็กอยู่ในห้องแล็บค่ะ อยู่คนเดียวได้ทั้งวันโดยไม่ต้องคุยกับใคร ไม่ต้องมีใครมายุ่ง ทำโปรเจกต์ไปเองคนเดียว มีข้อมูลนู่นนี่นั้น เก็บๆ ทำๆ ให้เยอะไว้ก่อน ได้ไม่ได้ไม่รู้ แต่ทำไว้ก่อน ทำให้รู้ว่าต้องเข้าสาขาวิทยาศาสตร์ น่าจะมาสายงานวิจัย แต่ยังคงมีคำถามอยู่ว่า นักวิจัยทำอย่างไรนะ ก็เลยไปถามอาจารย์ อาจารย์เลยบอกว่ามาช่วยงานอาจารย์สิ รุ่นพี่ต้องการคนพอดีเลยมาช่วย ช่วยไปช่วยมาก็ได้เป็นผู้ช่วยสอนในคลาสแล็บ พอรุ่นพี่จบไปแล้ว ก็เลยไปช่วยอาจารย์ทำวิจัย ตอนนั้นที่บ้านยังซัพพอร์ตเรื่องค่าใช้จ่ายอยู่เยอะ แล้วคุณปู่ช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายเยอะมากเลยค่ะ จึงเริ่มมีเงินเก็บเป็นของตัวเอง
เฌอปรางเป็นคนที่อยากรู้อะไรแล้ว จะพยายามเข้าไปลงมือทำเพื่อให้เข้าใจสิ่งนั้นใช่ไหม
คิดว่าถูกฝึกตั้งแต่มัธยมค่ะ เพราะวิธีการสอนของโรงเรียนเขาจะให้โจทย์มาว่า เราจะศึกษาเรื่องนี้นะ "แล้วให้ทำอย่างไรต่อคะ?" ก็ไปตั้งโจทย์มาสิว่าจะศึกษาเรื่องอะไร จะเริ่มจากไหน เรียนแบบนี้มาตั้งแต่มัธยมต้นถึงมัธยมปลาย เราจะปลูกข้าว เราต้องตั้งคำถามเรื่องอะไร เราต้องทำอย่างไร เรื่องดิน ฟ้า อากาศ บูรณาการเข้าด้วยกันค่ะ ช่วงมัธยมปลายจะค่อนข้างเหมือนตอนเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว เช่น ไปทำบ่อบำบัดน้ำเสียมาสิ พื้นที่ไหนในโรงเรียนที่ทำได้บ้าง แล้วจะทำรูปแบบไหนดีที่สุด จุดประสงค์คืออะไร ตอบจุดประสงค์หรือเปล่า พอเข้ามหาวิทยาลัยเลยเรียนสบายเลยค่ะ
เหมือนถูกปั้นกระบวนการเรียนรู้มาแล้ว?
ปั้นมาแบบนั้นแล้ว แล้วตอนจะเข้ามหาวิทยาลัย หนูเรียนพรีคอลเลจ (Pre-Collage) ก่อนเกือบปี ก็ได้เข้าไปลองคอสเพลย์นิดหน่อย เอ็นจอยค่ะ แต่พอเข้ามหาวิทยาลัยแล้วจะต้องทำโปรเจกต์จบ ก็เลยอยากรู้ว่าการทำโปรเจกต์ทำอย่างไร การตีพิมพ์ทำอย่างไรบ้าง ค่อยๆ แทรกซึมด้วยการไปช่วยอาจารย์ อาจารย์ให้ไปช่วยรุ่นพี่ ไปหาข้อมูลตรงนี้มา ทำการทดลองมาให้หน่อย เราก็ทำทดลองได้ทั้งวัน แฮปปี้ ทำทดลอง ทำข้อมูล
มีความสุขกับสิ่งที่ทำตอนนั้นใช่ไหม
ใช่ค่ะ เป็นความสุข แต่ไม่ใช่ความชอบ ความชอบมีหลายพาร์ต แต่กลายเป็นว่าพอมีความชอบ 48 Group เข้ามามีบทบาท ด้วยคุณสมบัติบางอย่างหนูผ่านเกณฑ์ เขาเลือกที่จะให้ทำ เฌอเป็นพวกที่ทำให้ดีที่สุดด้วย ตอนเข้า BNK48 เป็นช่วงเรียนปี 3 แล้วโชคดีที่เราทำงานทำโปรเจกต์ไว้ตั้งแต่ปี 1 ปี 2 ตอนช่วยอาจารย์ ตอนแรกตั้งใจว่าจะทำโปรเจกต์จบอีกอันก็เลยไม่ต้องทำ พอเข้ามาเป็นสมาชิก BNK48 อาจารย์ก็บอกว่า "ไปเถอะ ถ้าเหนื่อย ไม่ไหว ไม่ต้องมาก็ได้" "ขอบคุณที่ไว้ใจหนูขนาดนี้ แต่ขออนุญาตแจ้งลาไว้ดีกว่านะคะ" แล้วพยายามจัดสรรเวลาไป ตามเก็บสอบ อาจารย์ก็ช่วยทุกอย่าง ขอบคุณมากๆ เลยค่ะ
การเป็นเมมเบอร์ BNK48 ของเฌอปรางได้รับการสนับสนุนทั้งจากอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยและครอบครัวด้วยใช่ไหม
ครอบครัวช่วยเยอะเลยค่ะ มีช่วงที่งานหนักมากจริงๆ คุณแม่มาขับรถรับส่งให้ ช่วงแรกๆ ที่เข้า BNK48 หนูขับรถเอง รู้สึกว่างานยังไม่เยอะ ยังไหวอยู่ แต่ก็ต้องขับรถจากศาลายามาซ้อมที่รัชดา แล้วขับรถกลับศาลายาคืนนั้นเพื่อมาเรียนเช้านะคะ เพราะตารางซ้อมทั้งอาทิตย์เหมือนมีวันหยุดคือวันศุกร์วันเดียว แต่จันทร์ถึงพฤหัสบดีที่เรียน หนูต้องขับรถออกจากศาลายาสี่โมงเย็น มาถึงรัชดาหกโมงเย็น ซ้อมถึงสามทุ่มแล้วขับรถกลับ เสาร์ถึงอาทิตย์ซ้อมตั้งแต่เก้าโมงหรือสิบโมงจนถึงสามทุ่ม ช่วงเดือนแรกๆ ไปถ่ายรายการ BNK48 Senpai แค่ประมาณสองสัปดาห์ ที่เหลือซ้อมอย่างเดียวก็คิดว่าหนักแล้ว แต่งานยังไม่เยอะ จนช่วงเดบิวต์ได้ไปแคสติงภาพยนตร์ โฮมสเตย์ (2561) แล้วเขาเลือก พอดีกับวงปล่อยเพลง คุกกี้เสี่ยงทาย ด้วย มันคือ 2 สายงานใหม่ที่เฌอได้รับโอกาสเรื่องงานหลังจากเข้า BNK48 ค่ะ
บทหนังเรื่องแรกที่ได้รับก็ดราม่าหนักมากด้วย?
หนูช็อกมาก เขาให้ไปแคสติงก็ลองไปดู ไม่คิดว่าเขาจะเลือก เพราะหนูร้องไห้ไม่ได้เลย รู้สึกว่าเป็นสองงานที่มาคู่กันแล้วทำให้เฌอกลายเป็นที่รู้จัก เริ่มถ่ายโฮมสเตย์แล้วเพลงคุกกี้ก็ออก เลยมีงานจากเพลง คุกกี้เสี่ยงทาย พร้อมกับถ่ายทำภาพยนตร์
ชีวิตช่วงนั้นเป็นอย่างไร
หนักใจมากเหมือนกันค่ะ หนูกลัวมาก มันคืองานใหม่ของเฌอทั้งคู่ การเป็นไอดอลแสดงบนเวที การเป็นนักแสดง แล้วเรียนด้วย ช่วงนั้นหนูไม่ไหว คนที่ซัพพอร์ตหนูคือที่บ้านมากๆ คอยไปรับไปส่ง ดูแลให้ จำได้ว่าตอนนั้นไม่คิดอะไรเลย นอกจากว่า ลำดับต่อไปต้องทำอะไร ไปไหน เรียนใช่ไหม ความทรงจำช่วงนั้นน้อยมากค่ะ รู้แค่ว่าวุ่นวายและหนักมาก จำไม่ได้ด้วยว่าช่วงนั้นเรียนอะไร ทำอะไรบ้าง รู้แค่ว่าเมนหลักคือ มีสิ่งเหล่านี้ที่ทำคู่กันไปช่วงหนึ่ง
เหมือนแค่จัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวันแล้วทำไปหรือเปล่า
ใช่ค่ะ ในวันนั้นๆ แล้วพอทำเสร็จก็ลืมค่ะ ความทรงจำของหนูในช่วงนั้นหายไปเลยค่ะ ตอนมัธยมมันยังค่อยๆ ตกตะกอนมีเวลาจำ แต่ช่วงนั้นที่เพิ่งเข้า BNK48 ปีแรกๆ ช่วงซ้อมยังพอจำได้ หลังเดบิวต์ ช่วงต้นๆ ยังเห็นภาพอยู่ แต่ช่วงที่ต้องแสดงโฮมสเตย์ แล้วเริ่มปล่อยเพลงคุกกี้ พาร์ตวุ่นวายตรงนั้นแบบจำอะไรไม่ค่อยได้เลยค่ะ
หลังจากช่วงนั้น ภาพตัดมาอีกทีเฌอปรางจำอะไรได้บ้าง
จำได้ว่ามีวันหนึ่งที่ตื่นสายแล้วมีความคิดว่า "ฉันไม่ได้ตื่นสายมานานแค่ไหนแล้วนะ" ตื่นสายในที่นี้คือเก้าโมงหรือสิบโมงนะคะ แล้วจำได้ว่าพอย้อนไปดูปฏิทินน่ะ ประมาณเจ็ดแปดเดือนที่หนูไม่ได้ตื่นสายเลยสักวัน ต้องมีไปเรียนไปนู่นไปนี่ตลอดเวลา แต่โชคดีที่ตัวเองเป็นคนจดบันทึก ถ้ากลับไปย้อนดูบันทึกก็จะจำได้ว่า อ๋อ ทำอย่างนี้เหรอ ฉันทำอะไรได้เยอะขนาดนี้ ฉันเรียนอะไรไปบ้างเนี่ย
ถามย้อนกลับไปตอนเป็นเมมเบอร์ BNK48 แรกๆ เฌอปรางมีการปรับตัวอย่างไร
ขอเท้าความอีกเช่นกัน เพราะว่าตอนมัธยมหนูเป็นผู้หญิงคนเดียวในห้อง เพราะฉะนั้นกับเพื่อนผู้หญิงจะรับมือค่อนข้างลำบากนิดนึง เวลาอยู่กับเพื่อนผู้ชายในห้องจะมีความตรงไปตรงมา แมนๆ มีอะไรก็พูดกัน แล้วมันก็จบ
ดังนั้นพอจะเข้า BNK48 เลยมีคำถามในกลุ่มเพื่อนเหมือนกันว่า เฌอจะไปอยู่ในหมู่เด็กๆ ผู้หญิงได้เหรอ เพราะว่าก่อนหน้านี้หนูไม่เข้าใจเรื่องความอ่อนไหว จะมีความแข็งๆ มากกว่า แล้วยิ่งเป็นเด็กที่ไม่ค่อยสุงสิงกับใคร อยู่แต่กับในห้องแล็บ เลยไม่ค่อยนึกถึงด้านอารมณ์อ่อนไหวเยอะค่ะ
ก่อนหน้านั้นเฌอปรางไม่ค่อยมีประสบการณ์รับมือกับอารมณ์หลากหลายอย่างนั้นใช่ไหม
ช่วงมัธยมได้นั่งสมาธิ เรียนรู้ธรรมะ แล้วคิดเองว่า เราต้องจัดการกับอารมณ์ของตัวเองนะ เวลามีอารมณ์เกิดขึ้นจะไม่อยากให้มันไประเบิดใส่ใคร หรือไปทำให้ใครไม่พอใจ แล้วกลายเป็นว่า พอเวลามีอะไรเกิดขึ้น หนูเลือกที่จะกดมันลงไปหรือตัดมันออก แล้วทำงานต่อ จะโกรธไม่ได้ โกรธไปก็ไม่ช่วยให้งานเดิน อันนี้ไม่ใช่สิ่งจำเป็น ไม่มีประโยชน์กับการทำงาน ก็เลยกดอารมณ์ต่างๆ เอาไว้
ตอนเข้ามาใน BNK48 แรกๆ เฌอก็เลยดูเหมือนไม่ค่อยแสดงอารมณ์เยอะ ยิ่งพอเจอสถานการณ์ที่ต้องทำอะไรหลายๆ อย่าง เลยดูเป็นหุ่นยนต์ไป ช่วงเพลง คุกกี้เสี่ยงทาย หนูล้ามากๆ แต่ไม่รู้ตัว ตอนนั้นรู้แค่ว่า ต้องทำ มันต้องผ่านไป จำข้อมูล พูดๆ แสดงๆ ซ้อมๆ จำบทๆ เรียน สอบ เรียน สอบ จัดการอารมณ์ไม่ถูก
พอเป็นแบบนั้นตอนเข้า BNK48 ก่อนที่จะได้เรียนการแสดงเลยปรับตัวหนักมาก เฌอในช่วงปีแรกๆ ยังไม่ค่อยเข้าใจความอ่อนไหว ไม่เข้าใจอารมณ์ มาสายก็แค่วิ่ง โดนทำโทษไง ทำไมต้องไม่พอใจด้วย มันเป็นกฎ บ่นทำไม ส่วนตัวเฌอเป็นคนที่เรียนรู้อะไรบางอย่างจากสิ่งที่ได้ทำ เป็นประเภทที่จะตอบว่า "ได้ค่ะ" ลองทำดูก่อน พอมาอยู่กับทุกคนในวงก็เลยไม่ค่อยเข้าใจ เป็นคนแข็งๆ ดุๆ พูดแบบโมโนโทน ใช้เสียงไม่ค่อยเป็น
ช่วงนั้นปรับตัวค่อนข้างเยอะค่ะ เพราะอยู่กับผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ แล้วบทสนทนาก็ไม่ใช่แนวเดียวกันเลย ไม่ค่อยแต่งตัว เป็นป้ามาก ใส่แว่นหนาอยู่แต่ในห้องแล็บ ไม่สนใจเรื่องแฟชั่นกับการแต่งหน้าแต่งตัวเลย พอทุกคนคุยกันว่า "ชอบเพลงนี้จังเลย" "เสื้อตัวนี้สวยจังเลย" เราต่อบทสนทนาไม่ได้ ยิ่งอยู่คนเดียวได้ก็เลยไม่ค่อยคุยกับใครเท่าไร ซ้อมของเราไป มีอะไรให้ช่วย เราก็ช่วยได้ แต่โชคดีที่ได้อยู่กับตาหวาน (อิสราภา ธวัชภักดี) บ่อยค่ะ ตาหวานจะชวนคุย เราก็เลย "อ๋อ... จะระวังนะ" เข้าใจมากขึ้นว่าต้องพูดอย่างนี้นี่เอง ค่อยๆ เรียนรู้ผ่านการได้คุยมากขึ้น
แล้วหนูเพิ่งมาเข้าใจหลังจากผ่านการเรียนการแสดงนะคะ การแสดงทำให้เราเปิดมากขึ้น เพราะบทที่ได้รับเรื่องแรก ตัวละคร พาย เข้าถึงยากมาก ช่วงที่แคสติ้งเฌอร้องไห้ไม่ได้เลย หนูไม่รู้ว่าตัวละครตัวนี้จะร้องไห้ทำไม นี่ไม่ใช่เรื่องที่ต้องร้องไห้ ไม่เข้าใจ ทำไมตัวละครถึงเครียดจนร้องไห้ ตอนนี้หนูไม่เครียดไง แล้วหนูต้องทำอย่างไร เฌอร้องไห้ไม่ได้ แต่สิ่งที่ทำให้ร้องไห้ได้คือ พี่เขาให้หนูด่าเขา ด่าหยาบคาย ซึ่งหนูไม่รู้จักพี่เขาไง เจอกันครั้งแรกเขาก็บอกว่า "เฌอ ด่าพี่มาเดี๋ยวนี้" ตอนนั้นรู้สึกผิด กดดัน เป็นความรู้สึกของตัวเราจริงๆ กดดัน เลยร้องไห้ออกมา ถึงแม้ว่าในบทจะทำอะไรไม่ได้เลย แต่เขาบอกว่ามันตรงกับภาพที่เขาต้องการในตอนนั้น เลยได้รับโอกาสมา มันมีคำถามที่หนูสงสัย ต้องทำความเข้าใจเรื่องอารมณ์ของมนุษย์ค่ะ กว่าจะผ่านมาได้ค่อนข้างหนักหน่วงอยู่เหมือนกัน
การทำงานทั้งกับวง BNK48 และงานการแสดงสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อตัวเฌอปรางอย่างไร
มีส่วนเปลี่ยนเฌอเยอะมากค่ะ อย่างที่บอกว่า BNK48 กับหนังเรื่อง โฮมสเตย์ นี่แหละ ที่เปลี่ยนเฌอหนักมาก พอเริ่มแสดงบนสเตจต้องยิ้มแย้ม เอ็นเตอร์เทน เราจะมีภาพจำที่เราเห็นจากญี่ปุ่นว่า AKB48 เขาทักทายอย่างไร หนูก็ใช่แค่คำเหล่านั้นกับสิ่งที่ถูกเทรนมาทักทายทุกคนในรูปแบบเดียวกันว่า "พวกเรา BNK48 ค่ะ" มาจากภาพที่หนูเคยเห็น ก่อนที่จะค่อยๆ ซึมซับด้วยประสบการณ์ของตัวเองทำให้การแสดงบนสเตจโฟลว์มากขึ้น แต่ก่อนที่เราจะเอ็นจอยกับสเตจได้ขนาดนั้นต้องผ่านมาหลายเวทีหลายอีเวนต์เหมือนกัน
ส่วนพาร์ตการแสดงทำให้เฌอเข้าใจตัวเองได้มากขึ้นว่า "อ๋อ... ตอนนี้ฉันรู้สึกอย่างนี้" แล้วเป็นเรื่องโอเคที่จะรู้สึกแบบนี้นะ เพราะก่อนหน้านี้ถ้ารู้สึกเศร้าจะคิดว่า "เศร้าทำไม มันไม่ต้องเศร้า" หยุดเศร้าแล้วไปทำงานต่อ แต่เราไม่ได้จัดการอารมณ์ตัวเองแล้วมันก็ผ่านไป กลายเป็นการกดทับเอาไว้ แต่ว่าเดี๋ยวนี้นิดเดียวร้องไห้ได้ตลอด เซ้นสิทีฟขึ้นเยอะมาก เหมือนถูกเปิดหีบอารมณ์ที่เก็บไว้ หลังจากได้รู้จักการแสดง รับรู้ว่า "เออ... ใช่ เรารู้สึกแบบนี้" แล้วจะจัดการมันยังไง จะเขียนออกมาหรือพูดคุย มันมีวิธีจัดการอารมณ์มากกว่านั้น
พอเริ่มจัดการอารมณ์ได้ดีขึ้น มันก็ส่งผลให้เฌอค่อยๆ เข้าใจเมมเบอร์ในวง ค่อยๆ ปรับใช้กับการพูดคุยกัน ดิวงานกัน ไม่อย่างนั้นเฌอจะแข็งมากจนทุกคนไม่ชอบกันได้แน่ๆ
เฌอปรางเข้ามาเป็นสมาชิกวงตั้งแต่รุ่นแรก ถือเป็นรุ่นบุกเบิก แล้วปีที่ผ่านมามีเมมเบอร์หลายคนที่จบการศึกษาไป รู้สึกอย่างไรกับก้าวต่อไปของคนที่จบการศึกษาไปแล้วบ้าง
ลุ้นค่ะ รู้สึกลุ้น (หยุดคิด) เหงา มันก็เหงา ใช่เหงาแหละ (พยักหน้า) อาจจะเป็นคนขี้เหงาโดยไม่รู้ตัว อืม... จริงๆ แล้วเฌอก็เป็นคนขี้เหงานะ เพราะรู้สึกว่าเอ็นจอยกับการที่ได้อยู่กับทุกคน แต่อยู่นานๆ ซ้อมเต้นหนักมากๆ เจี๊ยวจ๊าวกันมากๆ ก็ไม่ไหวแล้ว ขออยู่เงียบๆ แป๊บนึง (หัวเราะ) แต่ก็ใช่ค่ะ มันเป็นความเหงา ความลุ้น แล้วก็เอาอย่างไรกันต่อ จะมีใครบ้างนะ เราจะต้องปรับตัวกับอะไรกันบ้าง แต่ก็ดีใจและยินดีกับทุกคนด้วยจริงๆ
ก่อนหน้านั้นมีสัญญาณบ้างแล้วว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงใช่ไหม
จริงๆ หนูพยายามส่งสัญญาณมาสักพักแล้วว่าเราอยากส่งท้ายให้เยอะกว่านี้ แต่ด้วยเงื่อนไขหลายๆ อย่างทำให้เป็นรูปแบบนั้น โอเคเหมือนกัน แต่รู้สึกว่ามัน ปุ้ง! เดียวไปหน่อย ไปกันเยอะเลย เคว้งอยู่เหมือนกัน อยากเก็บช่วงเวลาที่ทำงานด้วยกันไว้ แต่มันก็เหนื่อยอยู่นะคะ เพราะมีหลายเรื่องเหมือนกัน เมมเบอร์ภายในก็คุยว่าจะเอาอย่างไรกันต่อดี
ในช่วงเวลาเดียวกันก็มีซิงเกิลใหม่ๆ ออกมาด้วยเหมือนกัน รู้สึกอย่างไรกับเมมเบอร์รุ่นใหม่
ส่วนตัวประทับใจตอนงานเปิดตัว Believers เพราะตัวเองไม่ได้ติดซิงเกิลนั้น พอได้ถอยออกมาเป็นคนดูบ้าง รู้สึกชอบจังเลย แล้วตัวเอ็มวีตัวเพลงก็ดีด้วย สื่อความหมายดี เมมเบอร์หลายคนดูไปก็ร้องไห้ไปค่ะ เป็นโมเมนต์ที่ชื่นใจ มีทั้งเจน 1 และเจนใหม่ที่ขึ้นมา ก็เริ่มเห็นภาพว่าไปต่อกันได้ เป็นวันที่รู้สึกว่าอย่างไรก็ไปต่อได้ค่ะ ถึงไม่มีหนูก็ไปต่อได้ เพราะว่าเขามีฐานที่แข็งแรงอยู่แล้ว ทีมงานก็ยังคงทำกันอย่างเต็มที่ เท่าที่ทำได้มากที่สุด เพราะว่ามันมีการปรับเปลี่ยนกันอยู่ตลอดเวลาจริงๆ ได้ทีมมาใหม่บ้าง หรือปรับไปเรื่อยๆ ก็เอาใจช่วยกันอยู่เหมือนกัน ส่วนเราจะพยายามให้ดีที่สุด แล้วทางทีมก็พร้อม ทางผู้ใหญ่ก็เตรียมหลายสิ่งหลายอย่างไว้ให้กับเมมเบอร์เจนใหม่ๆ และเจนที่ยังอยู่ด้วย
เฌอเห็นการเติบโตตั้งแต่น้องๆ เจนแรก จนเจนที่ 2, 3, 4 จากที่เขาเต้นไม่ได้ แล้วเราเห็นเขาเต้นได้ จนวันที่เรามานั่งดูในอีกสามสี่ปีถัดมา เอ็นจอยกับสเตจ แล้วทำได้ดีด้วย BNK48 กลายเป็นพื้นที่ที่สร้างแรงบันดาลใจเหมือนที่เฌอเคยได้รับมาแล้วจริงๆ
สำหรับตำแหน่งชิไฮนินหรือผู้จัดการวงที่เพิ่งเข้ามารับผิดชอบ เฌอปรางต้องทำอะไรเพิ่มขึ้นจากเมื่อก่อนบ้าง
ตำแหน่งที่เพิ่มเติมจากกัปตันวงคือ ผู้จัดการวง ทำให้หนูได้ประชุมเยอะขึ้นค่ะ ปกติจะฝากผู้จัดการวงคนก่อนว่า "ถ้าเข้าประชุมช่วยหาทางแก้ไขเรื่องนี้ได้ไหม" "สถานการณ์เป็นแบบนี้ควรปรับอย่างไร" "พี่คะหนูว่าแบบนี้ดีไหมคะ เขาจะโอเคไหม" เพราะนานๆ จะมีโอกาสบอกเล่ากับผู้ใหญ่ว่าตอนนี้สถานการณ์ในวงเป็นอย่างไรในฐานะกัปตันนะคะ แต่ถ้าเป็นผู้จัดการวงคือ เฌอจะต้องเข้าประชุมทุกอาทิตย์ ทำให้ได้พูดคุยมากขึ้น ได้เข้าถึงการทำงานเบื้องหลังมากขึ้น ต้องรับผิดชอบมากขึ้นค่ะ
ก่อนหน้านี้เฌอไม่ใช่คนเคาะ เป็นแค่คนเสนอ แต่หน้าที่ตอนนี้จะเป็นคนเสนอ ขอความคิดเห็นของทุกคน และสิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือเป็นคนเคาะในบางเรื่องค่ะ ซึ่งอยู่ในขอบเขตที่ต้องดูแลน้องๆ และเสนอชื่อในการทำงานให้ทางผู้ใหญ่พิจารณา รวมถึงเรื่องการซ้อม น้องๆ ได้มาซ้อมครบไหม ช่วงนี้สภาพจิตใจน้องๆ เป็นอย่างไร จริงๆ ส่วนที่ดูแลน้องๆ ก็ทำมาตั้งแต่ช่วงเป็นกัปตันแล้วบางส่วน แต่ตำแหน่งนี้ทำให้หนูเข้ามาพูดเรื่องต่างๆ ด้วยตัวเองในที่ประชุมได้เลย
เฌอปรางยังอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรใน BNK48 หลังจากนี้อีกไหม
ตอนนี้เฌอเข้ามาเป็นคนในกลุ่มที่จะต้องทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง พูดได้ว่าอยากให้มันพัฒนาอย่างมั่นคงไปเรื่อยๆ ค่ะ จะทำให้ดีที่สุดนะคะ จากที่ได้เข้าประชุมแล้วได้ยินมา ส่วนตัวรู้สึกว่าทางทีมเตรียมไว้เยอะอยู่เหมือนกันค่ะ ซึ่งก่อนหน้านี้เราไม่มีโอกาสที่จะรู้เรื่องราวเหล่านี้ว่าจะต้องทำอะไรขนาดไหนบ้าง ตอนนี้เลยเข้าใจแล้ว
รู้สึกอย่างไรกับบทบาทชิไฮนินของตัวเอง
มันโอเคสำหรับเฌอค่ะ เพราะเฌอให้ความเห็นเขาได้เร็วขึ้น ฟีดแบคได้เร็วมากขึ้นในฐานะที่เป็นเมมเบอร์เองด้วย ช่วยจัดตารางประสานงานให้ทุกฝ่ายได้ใช้พื้นที่ ได้ซ้อมกัน ได้คุยกันมากขึ้นค่ะ
หน้าที่ปัจจุบันเหมือนต้องดูแลทั้งหน้าบ้านและหลังบ้าน เฌอปรางต้องแยกบทบาทการเป็นชิไฮนินและการเป็นกัปตันที่ต้องสื่อสารกับเมมเบอร์ด้วยไหม
ค่อนข้างโชคดีที่เป็นกัปตันมาตั้งแต่แรกเลยไม่ยากขนาดนั้น สำหรับเมมเบอร์รุ่นที่ 3 ลงไป เฌอเจอพวกเขาตั้งแต่ออดิชั่น ดังนั้นก็เหมือนกับเป็นแม่เนอะ ด้วยอายุก็ห่างกันเป็นสิบปีอยู่เหมือนกันนะคะ รุ่นที่ 3 จะค่อนข้างใกล้ชิดกับเฌอ ทั้งการแสดงสเตจวันแรก (Trainee Stage) ทั้งเข้าไปเวิร์กช็อปกับน้อง เข้าไปปูทางว่าต้องวางตัวอย่างไร ต้องเจอเรื่องอะไรบ้าง ทั้งในฐานะรุ่นพี่และกัปตันวงที่เข้าไปดูแลเขา รุ่นที่ 4 ตอนนี้เข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้นคือ จัดตารางซ้อมน้อง เป็นคนดูแลมากขึ้น ประสานระหว่างทีมเอ็นไฟว์ (NV) บีทรี (BIII) ที่ทำมาอยู่แล้ว ก็เลยเป็นอะไรที่น่าลองดูว่าจะเป็นอย่างไร น้องๆ จะพาวงไปในทิศทางไหน
เฌอปรางมองเห็นอนาคตของตัวเองใน BNK48 อย่างไร
ใกล้ถึงเวลาจบการศึกษาค่ะ
แต่เมื่อถึงเวลานั้นแล้วเฌอปรางจะยังคงอยู่เบื้องหลังช่วยซัพพอร์ตเมมเบอร์อยู่ใช่ไหม
ใช่ค่ะ ในฐานะผู้จัดการวง ตอนนี้หนูบอกเลยว่า... การเต้นอยู่กับน้องที่อายุห่างกันเป็นสิบปี มันสนุกนะ มันโอเค หนูยังดูแลร่างกายตัวเองดีอยู่ ยังแข็งแรงไม่บาดเจ็บทั้งสิ้นนะคะ แต่แค่เอนเนอร์จีไม่เท่ากับน้องๆ แล้ว "โห... ลูกเอาเลย" ฉันอยากไปนั่งดูน้องเต้นมากกว่าแล้ว การเป็นทั้งเมมเบอร์และผู้จัดการวงมันหนักค่ะ
เพราะอย่างวันนี้หนูทำงานเดี่ยวในฐานะผู้จัดการ ตกกลางคืนหนูต้องซ้อมเต้นต่อ พรุ่งนี้ซ้อมเต้นอีกสองวัน แต่ถ้าไม่เป็นเมมเบอร์แล้วหนูจะได้พักสองวัน ช่วงนี้เป็นช่วงที่ค่อนข้างหนักเหมือนกัน แต่รู้สึกว่าก็ดีจะได้ค่อยๆ จัดการ ค่อยๆ ถอยออกมา
ทำงานตลอดแบบนี้ ถ้ามีเวลาพักผ่อนเฌอปรางทำอะไรบ้าง
กินของหวานค่ะ เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุด และหนูก็อยากเล่นเกมนะคะ แต่ถ้าไม่ได้ลงแคชเกมหนูก็ไม่ได้เล่นเกมสักที ดังนั้นการแคชเกมให้แฟนๆ ดูก็รู้สึกว่าเป็นงานที่หนูได้พักผ่อน แฮปปี้นะ แล้วก็อ่านนิยาย อ่านการ์ตูนค่ะ เพราะเดี๋ยวนี้ง่ายมีอีบุ๊กแล้ว
เรายังไม่ทิ้งการ์ตูนที่เราชอบ?
เมื่อก่อนซื้อการ์ตูนเป็นเล่มๆ จนหนูไม่มีที่เก็บแล้ว เลยหยุดซื้อไปช่วงหนึ่ง พอมันเริ่มมีอีบุ๊กบอกเลยค่ะ มี 700 เล่มแล้วตอนนี้ ชอบอ่านการ์ตูนตาหวานของญี่ปุ่นค่ะ ถ้าเรื่องที่โหดๆ หน่อย ล่าสุดที่คือ มหาเวทย์ผนึกมาร (Jujutsu Kaisen) อ่านถึงเล่มล่าสุด แล้วก็มี ดาบพิฆาตอสูร (Demon Slayer: Kimetsu no Yaiba), Spy x Family ที่เหลือจะเป็นการ์ตูนสาวน้อยซะเยอะค่ะ
ชีวิตของเฌอปรางแทบไม่มีมุมอื่นนอกเหนือจากการทำงานเลย?
ไม่มีค่ะ คิดว่า ปัจจุบันนี้หนูมีเพื่อนอยู่ 4 กลุ่ม เพื่อนมัธยมแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ เพื่อนห้องวิทย์กับเพื่อนห้องศิลป์ เจอกันปีละครั้งสองครั้ง เพื่อนมหาวิทยาลัยมี 2 กลุ่ม กลุ่มเพื่อนที่เรียนเคมีกับเพื่อนที่เป็นคณะกรรมการรุ่นด้วยกัน เจอกันปีละครั้งสองครั้ง คุยเรื่องเก่าๆ อัพเดทชีวิตกัน เพื่อนมีลูกแล้วหนูแบบ เพื่อนมีลูก (ลากเสียงยาว) เพื่อนแต่งงาน (ลากเสียงยาวแล้วหัวเราะ) หนูแบบ เพื่อนแต่งงาน ว้าว!
จริงๆ แล้วเป็นเรื่องปัจจุบันเนอะ ตอนนี้เราโฟกัสอยู่กับเรื่องการทำงาน สิ่งที่เราอยากจะทำ สิ่งที่อยากจะเป็น ตอนนี้แค่หนูกลับบ้านให้ได้ก่อน ล่าสุดกลับบ้านตอนปีใหม่ตายายบอกว่า "ไม่มาเลยนะ ไม่เจอกันสี่ห้าเดือนแล้ว" "หนูไม่กลับบ้านนานขนาดนั้นเลยเหรอ" ไม่รู้ตัว
มีช่วงที่อยากมีเวลานอนพักผ่อนบ้างไหม
เคยมีมาแล้ว ตอนนั้นเป็นช่วงเบิร์นเอาต์ค่ะ แบบนอนจริงๆ ไม่อยากทำอะไรเลยแม้แต่กินข้าว กินข้าวไข่เจียวแล้วหนูร้องไห้
อาการนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
ช่วงโควิดที่เริ่มได้หยุดแล้วคิดมาก เป็นความเครียดสะสมและเรื่องกระแสต่างๆ ที่เจอในช่วงนั้นทับถมมาค่ะ ตอนนั้นออกกองแล้วเริ่มระแวงผู้คน อยู่ๆ ก็คิดว่า คนอื่นเขาจะคิดอย่างไรกับเรา เป็นแล้วหยุดไม่ได้ สมมตินั่งอยู่ในห้องประชุมแบบนี้ แล้วมีใครสักคนหยิบโทรศัพท์ขึ้นมา หนูจะเริ่มคิดว่า "เขาหยิบโทรศัพท์ทำไม" มันไม่ดีต่อสุขภาพ ไม่มีความสุขกับชีวิตแล้วค่ะ เริ่มคิดลบมากๆ คิดหนัก หยุดไม่ได้ด้วย นอนๆ อยู่แล้วร้องไห้ เลยบอกทางบริษัทว่า "พี่คะ หนูว่าหนูไม่ปกติค่ะ" เลยขอปรึกษาจิตแพทย์ แต่เฌอเป็นขั้นภาวะหมดไฟเฉยๆ ไม่ถึงขั้นต้องกินยา หรือรับการรักษามากมายค่ะ
กลับมาดีขึ้นได้อย่างไร
ดีขึ้นด้วยการพักผ่อนอยู่กับที่บ้านค่ะ ปรึกษาจิตแพทย์ทุกสัปดาห์ แล้วค่อยๆ ทำความเข้าใจตัวเอง เป็นการซัพพอร์ตของบริษัท ก็ขอบคุณเขามากเหมือนกันที่เข้าใจเฌอแล้วให้หยุดงาน เป็นช่วงหนึ่งที่หนูไม่ไหวแล้ว ขอเบรกทุกสิ่งนะ
นอกเหนือจากเป้าหมายใน BNK48 แล้ว เฌอปรางมีเป้าหมายในชีวิตส่วนตัวไหม
ตายอย่างสงบค่ะ ตอนไหนก็ได้ ขอแค่ตายอย่างไม่ทรมาน ถ้าจะไปขอให้ไปอย่างสงบ ไม่ต้องเจอความเจ็บปวด มันคงเป็นเป้าหมายสุดท้ายของชีวิตจริงๆ เพราะหนูรู้สึกว่าหนูพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุดในทุกๆ วัน ไม่ชอบมีคำว่า "รู้งี้" เกิดขึ้น หนูเต็มที่กับชีวิตแล้ว และยังคงจะพยายามเต็มที่ต่อไปแน่ๆ ในอนาคต ไม่ว่าเพื่ออะไรก็ตาม
เป้าหมายก็มีตั้งไว้ อยากร่ำรวยเพื่อซื้อตั๋วไปดูอวกาศเองได้ แต่ไม่รู้ว่าจะทำได้ไหม อยากมีบ้านเป็นของตัวเองที่มีพื้นที่ปลูกพืชอาหารไว้กินเอง สามารถพึ่งพาตัวเองได้เพราะไม่อยากพึ่งพาเงินตรามากขนาดนั้น แต่ตอนนี้ยังไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง ยังไม่มีองค์ความรู้ที่จะไปทำได้เต็มที่ เป้าหมายก็วางไว้ตรงนั้นแหละ แต่ระหว่างทางเราเต็มที่แค่วันนี้ก่อนละกัน ไม่ต้องกังวลเยอะค่ะ
เฌอปราง อารีย์กุล พาเราเดินทางสำรวจความคิดและกระบวนการทดลองใช้ชีวิตของเธออย่างเต็มอิ่ม แล้วผลลัพธ์ที่ปรากฏออกมาให้เห็นตลอดเส้นทางการทำงานนั้น พิสูจน์ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในทุกบทบาทที่เธอได้รับอย่างชัดเจนอยู่แล้ว
ติดตามฟังความรู้สึกของ เฌอปราง อารีย์กุล ที่มีต่อ ยามาโมโตะ ซายากะ บุคคลที่เป็นแรงบันดาลใจให้เธอสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกวง BNK48 อย่างสนุกสนานใน happening Podcast: Meet My Fav เร็วๆ นี้