ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ ทิศทางชีวิตที่มีกล้องถ่ายภาพนำทาง

    ปีที่ฤดูฝนค่อนข้างยาวนาน ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ แบ่งเวลาจากภารกิจที่ค่อนข้างรัดตัวมานั่งคุยกับเราที่คอนโดของเขาในวันที่ท้องฟ้าเปิดและอากาศปลอดโปร่ง เขาถอดเสื้อนอกแล้วนั่งลงพูดคุยกับเราอย่างผ่อนคลาย
    ตุลย์เป็นศิลปินช่างภาพที่ชอบถ่ายภาพแนวไฟน์อาร์ตแบบขาว-ดำ และช่วงหลังเรายังได้เห็นงานแนวมินิมอลของเขาอยู่บ่อยๆ นักศึกษาอาจจะรู้จักกับเขาในฐานะอาจารย์พิเศษวิชาถ่ายภาพที่รับสอนอยู่ตามมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่ง แต่เมื่อถามถึงบทบาทที่รับผิดชอบอยู่ในขณะนี้ เขาตอบอย่างชัดเจนว่า "หน้าที่แรกเป็น นายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ครับ" ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เขาก้าวขึ้นมารับหน้าที่ในวาระปี 2564-2566
    นอกจากนั้นประสบการณ์และผลงานที่โดดเด่นทำให้เขาได้รับตำแหน่ง ไลก้า ไทยแลนด์ แอมบาสเดอร์ ความสุขที่มีต่อการสอนยังทำให้เขาจับมือกับเพื่อนอีก 3 คน คือ เอ็กซ์-อาวุธ ชินนภาแสน, โต้-วิรุนันท์ ชิตเดชะ และ แบงค์-ชัยพฤกษ์ เฉลิมพรพานิช เปิดโรงเรียนสอนถ่ายภาพชื่อโรงเรียน สังเคราะห์แสง โดยมีการออกแบบคอร์สที่หลากหลายสำหรับผู้สนใจการถ่ายภาพแบบไม่จำกัดอายุและประสบการณ์ ให้สามารถเรียนรู้เกี่ยวกับการถ่ายภาพได้อย่างสนุกสนานและมีความสุข
    หลายครั้งที่มีโอกาสพูดคุยกับตุลย์ถึงแนวคิดรวมถึงมุมมองต่อการถ่ายภาพ เราจะสัมผัสได้ถึงพลังของความคิดสร้างสรรค์ ความสนุกสนานกับการทดลอง การเปิดรับสิ่งใหม่ๆ บ่อยครั้งเขายังแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาที่สื่อสารความชัดเจนในจุดยืนของเขาต่อประเด็นต่างๆ ซึ่งล้วนมีเป้าหมายที่จะผลักดันวงการถ่ายภาพของไทยให้พัฒนายิ่งขึ้นไปกว่าที่เป็นอยู่ 
    เมื่อมีเวลาพูดคุยกันยาวๆ เราจึงพบว่า แต่ละย่างก้าวบนทางเดินชีวิตของตุลย์ ล้วนมีกล้องถ่ายรูปนำพาเขาจากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่ง เราจะไปสำรวจเส้นทางเหล่านั้นของเขาตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันผ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้กัน
ก่อนที่จะเริ่มถ่ายภาพ คุณมีความสนใจด้านไหนบ้าง?
    ผมชอบวาดภาพครับ ความตั้งใจแรกผมอยากเข้าสาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากรมาก ซึ่งตอนที่ไปเรียนดรออิง ผมไม่มีทักษะที่ดีนัก ไม่ได้เป็นคนวาดเร็ว ไม่สามารถถือกระดานไปนั่งวาดสเก็ตช์ได้ เลยใช้กล้องคอมแพคจากที่บ้านมาใช้ถ่ายภาพเพื่อนำกลับมาวาดภาพ คิดว่าน่าจะสร้างพื้นฐานได้ดีกว่าครับ แต่พอสอบไม่ติดก็เลยมาเข้าเรียนคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ บนความเข้าใจผิด คิดว่านิเทศศาสตร์คือนิเทศศิลป์ พอไปเรียนแล้วเพิ่งทราบว่า อ้าว ...เราเรียนผิดคณะ แต่ว่าไปเจอกับสิ่งหนึ่งที่พิเศษมากตอนเรียนปี 1 เทอม 2 ได้เรียนวิชาถ่ายภาพแล้วได้เรียนด้วยกล้องฟิล์ม ตอนที่เข้าห้องมืด โอ้โห ...มันคือเนเวอร์แลนด์ของเราจริงๆ มันกลายเป็นว่าเราสนุกมากกับการเข้าห้องมืด เหมือนเป็นพ่อมดที่เสกของหนึ่งอันลงไปในกระดาษ แล้วเห็นปฏิกิริยาภาพค่อยๆ ปรากฏขึ้นมาบนกระดาษในน้ำยา เรารู้สึกว่านี่เป็น เมจิกโมเมนต์ของเราจริงๆ เฮ้ย! ไหนๆ ก็ไหนๆ เข้าเรียนมาบนพื้นฐานนิเทศศาสตร์นี้แล้ว สิ่งที่เราอยากจะเรียนก็ไม่มีอะไรที่ทำให้เรารู้สึกหัวใจฟูได้เท่ากับการถ่ายภาพ เลยเอาวะ ลองตั้งใจกับมันดูสักครั้ง
ชอบการถ่ายภาพมากแค่ไหน?
    ผมอินกับการถ่ายรูป เมื่อก่อนพกกล้องไปมหาวิทยาลัยทุกวันแต่ว่าไม่มีฟิล์ม พยายามนึกภาพว่ามันเป็นความพิเศษแบบไหน ยกกล้องขึ้นมา กดชัตเตอร์จริง วัดแสงจริง แต่เราไม่รู้หรอกว่าภาพมันออกมายังไง ที่ทำแบบนี้มันคือการฝึกทักษะตัวเองโดยที่ผมไม่รู้ คิดแค่อย่างเดียวว่า ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เราไปมหาวิทยาลัยมันไม่ได้มีอะไรหวือหวาให้เราถ่าย ตอนถ่ายภาพวันเสาร์อาทิตย์ค่อยใส่ฟิล์มจริง
    พอผมเข้าชมรมถ่ายภาพที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เขาจัดทริปไปถ่ายภาพที่เขาเขียว จังหวัดชลบุรี ประเด็นคือกล้องเราตัวโต เลนส์กระบอกใหญ่ดูโปรเฟสชันนอลมาก แต่ใช้ไม่เป็น เราก็กลัวว่าเดี๋ยวคนจะมาถาม เลยพยายามปลีกวิเวกเหมือนอารมณ์ติสต์แยกออกไปจากคนอื่น เสร็จแล้วใช้กล้องอะไรไม่เป็นเลยครับ ปรับโหมดออโต้แล้วถ่าย ความบังเอิญคือไปเจอลูกเป็ด 2 ตัว กำลังไซ้ขนให้กันอยู่ในโพรงเราก็ถ่าย 1 ชอต ไม่ได้คิดอะไรเลยครับ ค่าใช้จ่ายเดินทางไปกับชมรม 1 ทริป เราจะได้ฟิล์มมา 1 ม้วน แล้วเขาก็เอาไปล้างอัดให้เสร็จ จบทริปเขาจะมีการประกวดกัน เพื่อนตัวแสบของผมก็หยิบรูปนี้ของผมเอาไปส่งประกวด ลงชื่อ-นามสกุลผม แล้วเขียนชื่อภาพว่า เป็ดเสียว คือกะว่าจะต้องให้คณะกรรมการอ่านในหอประชุมแล้วคนจะต้องฮากันไส้แตก ผมนั่งอยู่ในวันที่ตัดสิน เขาเปิดรูปขึ้นมาทีละรูป เราจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่านั่นคือรูปที่เราถ่าย เพราะว่าใช้กล้องฟิล์มใช่ไหมครับ พอประกาศชื่อว่า เป็ดเสียว ก็ฮากันทั้งห้อง เพื่อนสะกิดเลยว่า 'รูปมึงๆ' ผมก็ 'เฮ้ย ไม่ใช่ ผมไม่ได้ส่ง' 
    ความฟลุกของปีนั้นคือ เจ้าของมหาวิทยาลัย คุณสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ เป็นนายกสมาคมถ่ายภาพฯ ด้วย เชิญอาจารย์ กันต์ สุสังกรกาญจน์ ที่เป็นกูรูมาสเตอร์ของ black and white เมืองไทย มีรุ่นพี่ที่เป็นช่างภาพมืออาชีพที่เคยเรียนจบที่ ม.กรุงเทพ แล้วไปเป็นคณะกรรมการสมาคมถ่ายภาพฯ มาเห็น แล้วคณะกรรมการก็คอมเมนต์กันใหญ่โตมโหฬาร ฟิล์มทั้งม้วนน่าจะต้องถ่ายเป็ดคู่นี้อย่างเดียว รอจังหวะที่ดีที่สุดเพื่อเอาภาพนี้มาส่ง เพื่อนผมก็ไหนทำเป็นถ่ายไม่เป็น ผมก็ไม่เป็นจริงๆ สุดท้ายมันกลายเป็นรูปที่ได้ที่ 1 ประจำทริป ตอนที่ผมเดินขึ้นไปพิธีกรเขาก็ถามว่าผมใช้เทคนิคอะไรในการถ่ายภาพ ผมบอกว่าออโต้ เขาก็หัวเราะเพราะคิดว่าผมเล่นมุก เขาถามว่าถ่ายมาทั้งหมดกี่ภาพ คณะกรรมการชอบมาก ผมก็บอกว่าผมถ่ายมาแค่ภาพเดียว เขาก็แซวว่ามืออาชีพมากเลยนะ ถ่ายรูปมานานเท่าไรแล้ว ผมก็บอกว่า ถ่ายไม่เป็นครับ เพิ่งหัดถ่าย มาเข้าชมรมโฟโต้เพราะว่าอยากถ่ายรูปเป็นนี่แหละ แล้วรางวัลที่ 1 คือฟิล์มสไลด์ 1 ม้วนนะครับ ทุกวันนี้ผมยังเก็บฟิล์มสไลด์ม้วนนั้นอยู่เลย ตอนที่เดินกลับมานั่งผมยังพูดกับตัวเองว่า หรือชีวิตจะนำพาอะไรแบบนี้มาด้วยความบังเอิญนะ ลองดูสักตั้งไหม
ความบังเอิญนั้นพาอะไรมาสู่คุณอีกบ้าง?
    ตอนผมขึ้นมหาวิทยาลัยปี 3 มีโอกาสพิเศษมากๆ อีกครั้งคือ มีการจัดประกวดถ่ายภาพระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ โดย มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นเจ้าภาพ หัวข้อคือ Memory รุ่นพี่ชมรมบอกว่า ช่วยกันส่งหน่อย เดี๋ยว ม.กรุงเทพไม่มีรูปส่ง อายเขา ผมก็ส่งภาพไปประกวด 3 ภาพ ปรากฏว่าภาพผมได้รางวัลชมเชย เป็นภาพเด็กสะพายกระเป๋าเป้บนสะพานลอยแถวจตุจักร เด็กคนนั้นสะพายกระเป๋าใหม่มาก แต่เสื้อผ้าของเขาเก่าซอมซ่อ ไม่มีรองเท้า พอรูปนี้จัดแสดงที่ สยามเซ็นเตอร์ มีคนมาชมภาพของผมแล้วเขียนไว้ในสมุดเซ็นว่า ผมมาดูรูปคุณตลอดระยะเวลาการจัดงาน 5 วัน ยืนวันละครึ่งชั่วโมง แล้วให้เบอร์ติดต่อกลับไว้ พอผมโทรกลับไป ความพิเศษของเขาคือ เขาทำงานอยู่ที่ ยูนิเซฟ ประเทศไทย สิ่งที่เขาเห็นคือภาพของผมทำให้เขาคิดว่าอยากทำแคมเปญสำหรับเด็กด้อยโอกาส ถ้าหากเขาได้รับกระเป๋าใหม่ เด็กน่าจะอยากไปโรงเรียน เขาเลยขอซื้อรูปนี้ไปใช้ทำโปสเตอร์ได้ไหม ผมบอกว่า ไม่ต้องซื้อครับ ขอให้เอารูปของผมไปใช้แล้วลงเครดิตเล็กๆ ให้ผมสามารถใช้เป็นพอร์ตโฟลิโอว่าตัวเองเป็นเจ้าของรูปก็พอ ซึ่งเขาขอบคุณมาก กลายเป็นว่าเมื่อผมไม่คิดเงิน เขาเลยจ้างผมทำโปรเจกต์อื่นเป็นการถ่ายรูปทูตยูนิเซฟในปีนั้น ได้แก่ ท่านอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี, พี่แหม่ม-คัทลียา แมคอินทอช ซึ่งเป็นดาราเบอร์ท้อปในขณะนั้น กลายเป็นว่าผมเอาตัวเองไปไว้ในโลกช่างภาพที่เป็นคอมเมอร์เชียลที่สามารถทำงานจากการถ่ายภาพแลกเม็ดเงินกลับเข้ามาได้จริงๆ มันเลยเป็นกระบวนการบนความบังเอิญ
คิดว่าอะไรทำให้การถ่ายภาพของคุณไปถึงจุดนั้นได้?
    อ้อ! ผมรู้สึกว่าหนึ่งสิ่งที่เป็นเรื่องสำคัญมากครับคือ ถ้าเราพยายามซ้อมโดยที่คิดว่าวันนึงเราจะมีโอกาสเป็นนักกีฬาทีมชาติ ซ้อมตัวเองให้มันหนัก โอกาสมันถึงจะวิ่งมาหาคนที่พร้อม ถ้าคุณไม่ซ้อมหนักหน่วงเท่านักกีฬาทีมชาติ คุณจะไม่มีวันได้เป็นนักกีฬาทีมชาติ ฉะนั้นคำว่าฟลุกไม่มีในโลกศิลปะ มันมีแต่เรื่องทักษะกับความมุ่งมั่น ความเอาใจใส่ที่ตัวเองจะรังสรรค์สร้างสรรค์สิ่งที่ตัวเองเป็นใส่เข้าไปอยู่ในงาน 
    มันก็เลยกลายเป็นการพัฒนาของตัวเองขึ้นมาเรื่อยๆ เราพยายามทำทุกอย่างให้มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว อย่างสมัยเด็กครับ เงินที่ได้ปริมาณเยอะที่สุดมาจากเงินถ่ายรูปรับปริญญา มันเลยกลายเป็นว่า ผมไม่ถ่ายรูปรับปริญญาปกติ คนอื่นจะคิดสแตนดาร์ด 1 วันอยู่ที่ 5,000 บาท ช่างภาพคนอื่นอาจจะนับจำนวนฟิล์มว่าถ่าย 10 ม้วน ม้วนละ 500-1,000 บาทก็ว่ากันไป ผมคิด 15,000 บาท ฟิล์มไม่จำกัดจำนวน คุณถ่ายเท่าไรก็ได้ที่คุณโอเค ผมมีฟิล์มขนมาทีนึง 20-30 ม้วน แล้วผมทำเป็นอัลบั้มเลย ผมปริ้นต์รูปใส่อัลบั้มกาวปกแข็งยุคนั้น อัดรูปเป็นขนาดใบเล็กใบใหญ่ จัดวางเลย์เอาต์ให้ นี่คือความแตกต่างที่ค่าถ่ายผม 3 เท่า ช่วงเวลาที่บัณฑิตเข้าไปในฮอลล์เพื่อรอรับปริญญา สิ่งที่ผมทำคือนำคุณพ่อคุณแม่มาถ่ายแบบเหมือนพรีเวดดิ้ง จับคนในครอบครัวมาถ่ายแฟมิลีพอร์เทรตกัน แคนดิดเขา แล้วผมเป็นเด็กต่างจังหวัด ผมชอบคุยกับผู้ใหญ่ เป็นความสุขกับผมเลย พอถ่ายรับปริญญาจบ บัณฑิตออกมาตอนเย็น คุณพ่อคุณแม่บัณฑิตกอดคอผมเลย ไปกินข้าวกัน 'เก็บกล้องเลย ไม่ได้ใช้ให้ไปถ่ายรูปแล้วนะ'
    ผมคิดว่าคนที่จบมหาวิทยาลัยรุ่นนึง แต่ละมหาวิทยาลัยเป็นพันคน ผมต้องการแค่ 1 คนที่จ้างผม เพราะฉะนั้นผมต้องการคนที่เข้าใจว่าผมทำอะไร มันกลายเป็นว่าคนที่มีเงินจ้างผมแบบนี้ก็จะเป็นคนตระกูลใหญ่ เขาจะมีลูกที่เรียนที่นั่นที่นี่ แล้วบอกต่อกันว่า 'ใช้ไอ้นี่สิ' มันก็กลายเป็นผมไม่ต้องร่อนพอร์ตโฟริโอ ผมก็มีงานประจำถ่ายรูปให้กับนักศึกษาจบใหม่ในทุกมหาวิทยาลัย เราใช้ชุดความคิดแบบนี้ครับ 
    พอขึ้นปี 4 ผมกลายเป็นประธานชมรมโฟโต้ ผมก็ตั้งทีมระดมช่างภาพสำหรับงานรับปริญญา เราเข้าใจดีว่า มือใหม่ที่เพิ่งขึ้นมาถ่ายภาพไม่สามารถเรียกราคาได้ งั้นเราต้องเอาความเป็นชมรมถ่ายภาพเข้าไปค้ำ แล้วชมรมเป็นตัวกลางในการรับ ใครอยากจะติดต่อรับปริญญาหรือแม้กระทั่งอาจารย์มหาวิทยาลัยใครรับปริญญาเอก แล้วต้องการช่างภาพเขาก็มาติดต่อเรา ชมรมถ่ายภาพก็หักค่าหัวคิวเล็กๆ เป็นเปอร์เซ็นต์คือ คนละ 500 บาทต่อ 1 จ๊อบ มันก็เลยกลายเป็นทักษะสิ่งนี้ขึ้นมา
ภาพถ่ายขาว-ดำที่ตุลย์ลงไว้ในอินสตาแกรม fotomantic ของเขา
คุณหาคำตอบเรื่องแนวทางการถ่ายภาพของตัวเองได้อย่างไร?
    ตอนปี 4 ผมมีโอกาสพบคุณสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ อีกครั้งในงานที่ชมรมถ่ายภาพจัดงานประกวด คุณสุรัตน์เห็นงานผมเลยบอกว่า ว่างๆ ตุลย์เอางานมาให้คุณอาดูหน่อย ตอนเราเด็กๆ ก็คิดไปว่า เหมือนผู้ใหญ่พูดให้กำลังใจเด็ก คงไม่ได้จริงจังกับเรา ผ่านไป 3 เดือน ผมนั่งเรียนอยู่เสียงตามสายประกาศมาเลยครับ นายตุลย์ให้ไปพบที่ฝ่ายกิจการนักศึกษา ผมก็คิดว่ากูจอดรถผิดที่แน่นอน ไปถึงเจอเลขาคุณสุรัตน์นั่งอยู่แล้วก็ยื่นซองมาให้ 1 ซอง บอกผมว่าคุณสุรัตน์รออยู่นะ ตามอยู่ตลอดเลย คุณสุรัตน์ฝากเงินมาไปปรินต์พอร์ตโฟลิโอมาให้คุณสุรัตน์ดูนะ เหมือนฟ้าถล่มใส่เลยครับ
    ตอนนั้นมีความรู้สึกรุนแรงซ้อนอยู่ อาจจะเพราะผมเป็นคนชอบงานศิลปะตั้งแต่เด็ก ผมเลยรู้สึกว่าผมไม่อยากถ่ายภาพออกมาเหมือนใคร และผมอยากให้มีความเป็นผมอยู่ในงานให้มากที่สุด มันเลยกลายเป็นข้อแม้ว่าการถ่ายรูปที่คนส่วนใหญ่จะนำเสนอสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลก แต่งานถ่ายภาพส่วนตัวของผม 90 เปอร์เซ็นต์พูดถึงพื้นที่ในจินตนาการ ตัวผมเลยชอบถ่ายภาพเบลอมากครับ ตั้งใจถ่ายภาพเบลอทั้งสปีด ชัตเตอร์ ทั้งตั้งใจเอาต์โฟกัส ผมใช้ความเบลอที่เห็นได้ด้วยตา แต่คุณจะเห็นมันได้ชัดในความทรงจำของผมเอง ผมชอบให้คนยืนดูรูปผมนานๆ แล้วคุยกับตัวเองผ่านรูปผม คุณไม่ต้องสนใจว่ารูปผมดีหรือไม่ดี แต่อย่างน้อยรูปผมเหมือนเป็นไทม์แมชชีน พาคุณล่องลอยไปในความทรงจำของตัวคุณเอง แต่เวลาที่ผมเปิดให้รุ่นพี่หรือใครสักคนดู เขาบอกว่า เฮ้ย! ตุลย์ถ่ายรูปให้ชัดก่อนดีกว่า ถ้าคุณถ่ายไม่ชัดเลิกถ่ายไปเถอะ คุณไม่มีทางเจริญงอกงามในโลกของการถ่ายภาพได้เลย ผมก็บอกว่ามันต่างกันนะ ถ้าผมถ่ายคน ถ่ายงาน ผมถ่ายชัดแจ๋ว แต่นี่เป็นงานส่วนตัวผม เขาก็บอกว่า โอ๊ย ท้องไม่อิ่ม เป็นศิลปินไส้แห้ง
    ตอนที่รับซองนั้นมาคำเหล่านั้นย้อนกลับมาหาผมทั้งหมด ผมเอาเงินไปเลือกรูปจากฟิล์มไปปรินต์ที่ IQ LAB เป็นรูปมาตรฐานที่คิดว่าต้องมี 1 ใบใน 60 ใบนี้ที่คุณสุรัตน์ต้องชอบสักใบ นี่ต้องเป็นพาสปอร์ตพาผมไปทำอะไรสักอย่างกับชีวิต วันที่นำพอร์ตโฟลิโอไปหาคุณสุรัตน์ที่บ้านครับ คุณสุรัตน์ถือโฟลเดอร์ปุ๊บ ผมดีใจมาก เนื้อตัวสั่น ท่านหยิบแฟ้มผมแล้วเปิดหน้าแรกแล้วก็ปิด คุณสุรัตน์ถามว่าปกติชอบถ่ายรูปแนวไหน ชอบถ่ายขาว-ดำเหรอ คราวนี้พอเปิดอีกครั้งนะครับ สิ่งที่คุณสุรัตน์ทำคือเปิดรวดเดียวถึงหน้าสุดท้ายภายในไม่กี่วินาที ใจผมนะครับคิดว่าผู้ใหญ่เคาะกะลาให้ผมดีใจ ตั้งใจดูงานผมจริงๆ แบบค่อยๆ ดูยังไม่ทำเลย สิ้นเสียงความคิดนะครับ คุณสุรัตน์ปิดแฟ้มขยับแฟ้มยื่นมาให้ผม แล้วคุณสุรัตน์ก็พูดว่า 'คุณอาคิดว่านี่ไม่ใช่งานตุลย์' 
    ผมนะนั่งร้องไห้แบบ โฮ ...ร้องเป็นเด็กงอแงเลยครับ คือผมเข้าใจไปว่า คุณสุรัตน์คิดว่าผมไปเอางานคนอื่นมา คุณสุรัตน์ก็บอกว่า 'เดี๋ยวๆ ใจเย็นร้องไห้ทำไม' ผมก็บอกว่างานผมเองทั้งหมด คุณอาบอกว่า 'ไม่ใช่ ผมแค่รู้สึกว่างานตุลย์ไม่น่าจะเป็นแบบนี้' ผมก็พรั่งพรูเลยครับ ถ่ายเบลอมาแล้วคนก็ไม่เข้าใจนู่นนี่ คุณสุรัตน์ตบไหล่แล้วพูดกับผมว่า 'ตุลย์จำไว้นะ ต่อไปนี้ใครไม่ชอบ คุณอาชอบ' สิ่งนั้นมันกลายเป็นยิ่งกว่าแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อีกครับ มันคือสิ่งที่ขับเคลื่อนชีวิตผมจากวันนั้นมาถึงวันนี้เลยครับ วันที่ผมมีโอกาสได้เข้าไปอยู่ใกล้คำว่า โอกาส ถ้าเกิดเราสามารถทำให้มันถูกที่ถูกทางได้ มันจะผลักดันให้เกิดอะไรดีๆ ได้เต็มไปหมด 
    ผมเลยพูดกับตัวเองว่า โอเค งั้นหมวกใบสำคัญที่สุดในชีวิตของผมคือการเป็นครู ผมจะไม่ทำตัวเองเป็นแม่พิมพ์ของชาติ พอพิมพ์ออกมาก็จะเหมือนต้นฉบับ ผมบอกเด็กๆ ทุกคนว่าผมเป็นคนสวน ผมมีหน้าที่รดน้ำพรวนดิน กำจัดวัชพืชบนงานคุณ ทำยังไงก็ได้ให้คุณโตเร็วที่สุด ไปในทางที่มันเป็นคุณมากที่สุด เพราะว่าผมเคยได้รับโอกาสนั้น ผมรู้สึกว่ามันคือความพิเศษจริงๆ ในชีวิต
ถือได้ว่าคุณสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ เป็นครูที่สำคัญคนหนึ่งในชีวิตของคุณ?
    ใช่ครับ อีกสิ่งที่ผมได้จากคุณสุรัตน์ คือโปรเจกต์สุดท้ายของคุณสุรัตน์ชื่อ 'ครอบครัวโอสถสภา' ก่อนคุณสุรัตน์เสียนะครับ คนที่ทำงานกับโอสถสภาเกิน 10 ปีขึ้นไป คุณสุรัตน์จะเชิญให้มาเป็นแบบถ่ายรูป ผมเป็นผู้ช่วยอยู่ห่างๆ สิ่งที่คุณสุรัตน์ทำคือ ตอนที่พนักงานทำความสะอาดเดินเข้ามา คุณสุรัตน์ถอดหมวกแล้วยกมือไหว้พนักงาน ไหว้เสร็จก็บอกขอบคุณมากๆ นะครับที่ดูแลกันมาตลอด จำชื่อทุกคนได้หมด เสร็จพอทุกคนเข้าประจำจุดมาร์ค คุณสุรัตน์เป็นคนไปจับเองนะครับ เดี๋ยวยืนตรงนี้ๆ นะ แล้วตอนถ่ายคุณสุรัตน์ไม่มองวิวไฟน์เดอร์เลยนะครับ พูดกับแบบว่า 'มองผมนะครับ ยิ้มให้ผมหน่อย' แล้วกดชัตเตอร์ เปรี้ยง ผมยืนอยู่ข้างหลังผมร้องไห้เลย เพราะเป็นโปรเจกต์สุดท้ายก่อนคุณสุรัตน์เสีย แล้วคุณสุรัตน์ตั้งใจทำเพราะอยากจะบันทึกสิ่งที่ตัวเองอยู่มาทั้งชีวิต
    ผมรู้สึกว่า คุณค่าที่สำคัญจริงๆ ไม่ได้อยู่ที่คุณบันทึกอะไรมา คุณได้อะไรมา ภาพที่ดีถ้าจะตอบคือ ภาพๆ นั้นมันบรรจุความรู้สึกของคุณได้มากแค่ไหน
    แล้วคุณสุรัตน์ทำให้ผมรู้จักกับหนึ่งในครูที่สำคัญที่สุดในชีวิตผมคือ พี่ติ้ว-วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ พี่ติ้วคือคนพลิกจักรวาลโลกถ่ายภาพผมเลย คุณสุรัตน์พาไปเจอพี่ติ้วที่ราชบุรี ซึ่งผมรู้สึกว่าบนความแปลกแหวกแนวที่ผมมีในชีวิต มั่นใจว่าตัวเองก็มีดีในระดับหนึ่ง พอมีโอกาสได้ชมงานของพี่ติ้วเล็กๆ น้อยๆ มันเหมือนผมไปเจอจักรวาลใหม่ พี่ติ้วเหมือนพ่อมดสำหรับผม นอกจากพี่ติ้วจะเรียนถ่ายภาพที่เยอรมันแล้ว พี่ติ้วยังทำเซรามิกอีกด้วย ไปที่โรงงานพี่ติ้วก็จะเห็นสีสันที่ระเบิดระเบ้อ แล้วผมบ้าคลั่งการถ่ายขาว-ดำ ผมก็แบบ โอ้โห! นี่มันจักรวาลมาร์เวลมากเลย ความงามบนโลกโฟโต้เรามันแบนราบครับ มิติบนโลกถ่ายภาพมากสุดมันมีลึกกับตื้น แต่เซรามิกที่พี่ติ้วทำ 360 องศา สิ่งเดียวที่พี่ติ้วทำกับผมคือให้แป้นหมุนมาแล้วเอาดินไปถุงนึง หยุดถ่ายรูป เอาดินไปปั้น
    ผมรู้สึกหนึ่งสิ่งครับ ความพิเศษของภาพถ่ายมันไม่ได้พิเศษตรงที่ว่าใครเป็นคนถ่าย คุณจะถ่ายด้วยเทคนิคอะไร สิ่งที่คุณถ่ายพิเศษแค่ไหน แต่ความพิเศษคือ คุณคิดได้ยังไง ถ้าคิดได้คุณจะทำได้ แล้วสิ่งที่ผมได้เรียนรู้มากๆ มหาศาลมากๆ จากพี่ติ้วคือ พี่ติ้วมีแนวคิดที่ลึกล้ำ ทั้งรีเสิร์ชหนัก เข้าใจ บวกกับแรงขับเคลื่อนที่มหาศาลของตัวเองผลักเข้าไปไว้อยู่ในงาน แล้วพี่ติ้วพูดถึงหนึ่งอย่างคือ การทำเซรามิกเป็นการหลอมรวมธาตุทั้งหมดของโลกนี้เกิดมาเป็นหนึ่งชิ้น ผมเข้าใจแล้วนำสิ่งนี้ที่ได้จากพี่ติ้วมาเป็นต้นทุนการทำงานของตัวเอง ผมแค่ถ่ายภาพทั้งหมดจากความรู้สึกของตัวเองที่มี ผมมีกระบวนการคิดว่า แทนที่ผมจะต้องไปที่ไหนก็ตามบนโลกเพื่อที่จะรอช่วงเวลาที่ดีที่สุด ผมกลายเป็นใช้ชีวิตให้เป็นปกติ เมื่อไปอยู่ในจุดๆ นั้นก่อนจะถ่ายภาพผมแค่ลดกล้องลง ฟังสิ่งที่หูได้ยิน เปิดตากว้างๆ ธรรมชาติมันบอกอะไรกับเราบ้าง หยุดแล้วก็ฟังก่อนว่า สิ่งนั้นมันทำให้เรารู้สึกอะไร แล้วถ่ายออกไปให้เหมือนกับที่เรารู้สึก มันเลยตัดคำว่าเทคนิคทิ้งทั้งหมด คือผมไปจับตรงนั้นได้ว่า ผมจะทำด้วยความเรียบง่าย ไม่มีอะไรซับซ้อน แต่ว่าจะเต็มไปด้วยความรู้สึกที่บรรจุอยู่ข้างในของผม
    อีกหนึ่งท่านที่เป็นครูจริงๆ ของผมคือ คุณนิติกร กรัยวิเชียร ครับ ผมเห็นหนึ่งสิ่งตลอดเวลาคนที่หลับตาแล้วนึกภาพว่า ถ่ายภาพพอร์ตเทรตต้องใคร ชื่อคุณนิติกรลอยขึ้นมาเลยนะครับ ผมก็คิดว่าถ้าวันนึงเรามีความสามารถที่จะทำให้คนหลับตาแล้วนึกถึงเราได้แบบที่เขานึกถึงคุณนิติกรในฝั่งพอร์ตเทรตได้ก็คงจะดี อีกมุมหนึ่งคุณนิติกรคือสุภาพบุรุษศิลปิน อาจารย์นิติกรมีความตรงไปตรงมา ชัดเจน ถูกคือถูก ผิดคือผิด ไม่สนใจว่าเพื่อนจะทำถูกทำไม่ถูก หลับหูหลับตาชกเลย
คุณเข้ามาทำงานในสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้อย่างไร?
    ในสมัยที่คุณสุรัตน์รับตำแหน่งเป็นนายกสมาคมถ่ายภาพฯ คุณสุรัตน์มีโปรเจกต์แสดงงานร่วมกับโครงการตาวิเศษ ชื่อโครงการ Clean Up the World เขาก็บอกว่าอยากให้คุณสุรัตน์เลือกเด็กรุ่นใหม่ให้มาแสดงงานร่วมกัน คุณสุรัตน์เลยให้ผมส่งผลงานที่เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไป เด็กอย่างผมจะไปคิดอะไรเรื่องสิ่งแวดล้อม ผมคิดไม่ออกหรอกครับ ด้วยความเป็นเด็กบ้าๆ บอๆ ไม่อยากเหมือนใครก็มีฟิล์มที่ยุคนี้เรียกว่าฟิล์มซุป ยุคผมก็เป็นฟิล์มปกติแค่เอาไปล้างน้ำยาพิสดาร เอาน้ำยาสไลด์ไปล้างฟิล์มสีมั่วไปหมดอะไรอย่างนี้ คุณสุรัตน์เปิดดูรูปก็บอกว่า นี่แหละมันคือมลพิษบนโลกใบนี้ แล้วผมก็ดันถ่ายรูปพวกยางรถยนต์ที่เอาไปวางเป็นแบริเออร์ริมทะเล สำหรับเรามันไม่ได้รู้สึกเรื่องมลพิษ แต่รู้สึกว่ามันไม่เห็นสวยเลย มันไม่ธรรมชาติ ผู้ใหญ่เขาก็มองว่า นี่แหละมันคือการเสียดสีอย่างนิ่มนวล 
    คือถ้าคุณเอาตัวเองไปอยู่ในพื้นที่ศิลปะน่ะครับ มันก็จะเป็นศิลปะผ่านสายตาของคนๆ นั้นโดยอัตโนมัติ มันก็เลยกลายเป็นว่าการที่ผมได้เข้ามาเลียบๆ เคียงๆ อยู่ข้างบ้านหลังใหญ่ที่ชื่อว่า สมาคมถ่ายภาพฯ สมาคมจึงพาผมไปในวิถีที่มันควรจะเป็นบนโลกการถ่ายภาพ โดยที่คนทั่วไปไม่รู้เลยว่าสมาคมทำสิ่งที่สนับสนุนและให้ความรู้คนด้านการถ่ายภาพอยู่เบื้องหลังทั้งหมด เราคิดแต่ว่าสมาคมถ่ายภาพทำหน้าที่หลักๆ คือประกวดถ่ายภาพ ให้รางวัลชั่งตวงวัดคนอื่น แต่จริงๆ ฝั่งของการให้แรงบันดาลใจและสนับสนุนคนมันยิ่งใหญ่มากจริงๆ 
ที่ผ่านมาบทบาทการทำงานในสมาคมถ่ายภาพฯ ของคุณเป็นอย่างไร หลังจากที่ได้รับตำแหน่งนายกสมาคมแล้ว มุมมองในการทำงานเปลี่ยนไปไหม?
    วันที่ขึ้นรับตำแหน่งนายกสมาคมถ่ายภาพฯ ในที่ประชุมสามัญประจำปีเมื่อ 26 ธันวาคม 2564 สปีชเดียวที่ผมพูดคือ ผมคือเมล็ดพันธุ์ที่เจริญงอกงามจากบ้านที่มีชื่อว่า สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
    ในประเด็นนี้คือ ผมทำงานในโลกคอมเมอร์เชียลในโลกศิลปะยังไงก็ตาม ไม่มีใครรู้เลยว่าผมอยู่ที่สมาคมถ่ายภาพฯ เขาคิดแต่ว่าผมเป็นศิลปินคนหนึ่ง ผมเป็นช่างภาพรับงานถ่ายภาพ แต่พอผมบอกว่าผมอยู่สมาคมถ่ายภาพฯ กลายเป็นเรื่องช็อกของทุกคน เฮ้ย! ไปอยู่ทำไม อยู่แล้วได้อะไรวะ เขาไม่อยู่กันหรอก ผมก็ช็อก ทำไมล่ะ ผมได้ทุกอย่างได้โอกาส มีจุดนี้เพราะสมาคมเลยนะ ทางสมาคมเป็นคนที่บอกผมว่า 'ตุลย์ เวลาคุณแสดงภาพ คุณต้องมีเอดิชั่นกำกับนะ' ตั้งแต่นิทรรศการแรกในชีวิตของผม ผมมีเอดิชั่นกำกับเลยครับ ถ้าผมไม่อยู่ในสมาคม ผมหมดสิทธิ์ในการรู้เรื่องเหล่านี้เลย
    พันธกิจหลักที่ผมประกาศกับตัวเองในใจแต่ผมไม่ได้พูดออกไปคือ ผมอยากให้คนเข้าใจว่าสมาคมถ่ายภาพฯ มีความพิเศษเต็มไปหมดเลย เพียงแต่ถ้าเปรียบเทียบสมาคมถ่ายภาพเหมือนคุณลุงคนหนึ่ง คุณลุงคนนี้ถ่อมตัวมากเลย ตัวเองดียังไง พิเศษยังไงก็ไม่กล้าพูด พูดไม่ค่อยเป็น แถมบวกความภูมิฐานของตัวเอง เก้าอี้ที่นั่ง ยศฐาบรรดาศักดิ์ของบริวารที่รายล้อมรอบตัวดูใหญ่โตมาก จนดูห่างกับคนไปเรื่อยๆ ยิ่งคนรุ่นใหม่ก็ยิ่งห่างออกไป เราอยากจะขับเคลื่อน อยากบอกให้คนในกลุ่มคนที่ชื่นชอบการถ่ายภาพรู้ว่าเราคือเพื่อนคุณนะ เราไม่ใช่สถาบันที่มาตั้งตัวเป็นตราชั่งมาตัดสินงาน เราไม่อยากเป็นศาลพระภูมิที่มีแต่ความเชื่อ ความงมงาย เราอยากให้มันมีชีวิตชีวาและเป็นกันเอง
     ตั้งแต่ยุคสมัยคุณฐาปน สิริวัฒนภักดี เป็นนายกสมาคม ผมรับผิดชอบหลักๆ คือฝ่ายให้ความรู้ของสมาคมถ่ายภาพเราจะมีกิจกรรมเวิร์กช็อปเต็มไปหมดเลย เชิญศิลปินเก่งๆ คนที่ถ่ายงานคอมเมอร์เชียลมาสอนคนฟรีที่ห้องสมาคมเพื่อให้ความรู้ ต่อให้เราทำอย่างสม่ำเสมอ เดือนนึง 2 ครั้ง ตารางถี่มาก คนเข้ามาฟังเต็มตลอดเวลา คนที่มาฟังคนที่ชอบอะไรแบบนี้คือสุภาพชนไงครับ แต่กลับกันคนที่เสียงดังแล้วเป็นกระแสหลักส่วนใหญ่คือมือประกวด พอเขาพลาดจากการประกวดเขาก็ร้องแรกแหกกระเชอ เราไม่ได้บอกว่าเขาไม่ดี เขาไม่เก่ง แต่คุณควรจะต้องเข้าใจว่า ข้อแม้นอกจากเรื่องความงาม มันมีข้อแม้อื่นๆ เยอะมากๆ จริงๆ ครับ เพราะฉะนั้นผมเข้าใจดีว่าผมไม่สามารถจะอธิบายกับคนทั้งกลุ่มนี้ได้ว่าทำไมการตัดสินนี้ถึงต้องกลายเป็นแบบนี้ ผมเลยคิดว่า วันที่ผมพอจะขับเคลื่อนอะไรได้ ผมอยากทำให้การตัดสินที่จากเดิมมันอยู่ใต้โต๊ะ แบบที่คุยกันในหมู่กรรมการเพราะมันคือการให้เกียรติคนส่งประกวด เราเอาขึ้นมาวางบนโต๊ะได้ไหม ตัดสินพร้อมกับให้คำคอมเมนต์ ถ้าเกิดกรรมการไม่สบายใจ ทำเป็นระบบปิด เสร็จแล้วเรามาแผ่ให้ดูเลยว่าทำไมผลงานชิ้นนั้นถึงได้ มันจะได้กลายเป็นกระบวนการย้อนกลับ อ่อ โอเคฉันพลาด ฉันเลยไม่ได้
    เราแก้ปัญหาแบบนี้ เวลาที่เราอธิบายมันเหมือนจุดพลุขึ้นฟ้า เสียงดัง ตู้มต้าม ทุกคนเห็น แต่สุดท้ายมันก็หายไป งั้นวิธีการเดียวคือต้องให้ความรู้ อัดฉีดในการให้ความรู้เข้าไป ฉะนั้นกิจกรรมตั้งแต่คุณฐาปนขึ้นมาเป็นนายกสมาคมฯ ดำเนินต่อเนื่องกันมา เราพยายามนำเรื่องการให้ความรู้คน สร้างแรงบันดาลใจ เชิญศิลปินต่างประเทศระดับมาสเตอร์เข้ามาจัดแสดงงานในเมืองไทย ไม่เก็บค่าเข้า มีอาร์ติสต์ทอล์กใส่หูฟัง เป็นประโยชน์กับคนมากๆ ก็ต้องพยายามทำสิ่งนี้ขึ้นไปเพื่อเพิ่มจำนวนจุดก่อนที่จะลากเส้นให้คนเห็นภาพว่าสมาคมเป็นอย่างไร ฉะนั้นกิจกรรมที่ผมต้องรับเรื่องต่อจากผู้ใหญ่ตั้งแต่เคยบริหารร่วมกับนายกสมาคมทั้ง 3 ท่านก่อนหน้ามา พอมาเป็นยุคเรา เราก็พยายามปรับให้ใกล้กับคนมากขึ้น

นิทรรศการภาพถ่ายและส่วนจัดแสดงที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมสามารถเป็นส่วนหนึ่งในนิทรรศการและร่วมทดลองการสังเคราะห์แสงไปกับเขาภายในงาน happening exhibition ที่ River City Bangkok
หากนับตั้งแต่วันแรกที่คุณไม่รู้จักการถ่ายภาพมาก่อนเลย จนถึงวันนี้การถ่ายภาพทำให้ชีวิตของคุณชัดเจนขึ้นอย่างไรบ้าง?
    สำหรับคนอื่นกล้องถ่ายภาพจะเป็นเครื่องบันทึกใช่ไหมครับ สำหรับผมเป็นเข็มทิศ ผมมีวันนี้ได้เพราะว่ากล้องนำหน้าชีวิตทุกครั้ง ผมได้เปิดโรงเรียนในฝันของผมก็เพราะกล้องพามา มีทุกอย่างในชีวิตเพราะว่ากล้องเป็นตัวขับเคลื่อน ได้ไปเห็นโลกแบบที่ชีวิตไม่เคยคิดว่าจะได้ไปได้เห็นก็เพราะกล้อง แม้กระทั่งพาผมเข้าเฝ้าในหลวงรัชกาลที่ 9 มันจะมีอะไรพิเศษไปกว่านี้ในความรู้สึกผม 
    แล้วก็จริงๆ อาชีพช่างภาพพิเศษหนึ่งเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นช่างภาพแขนงไหนก็ตาม ค่าแรงต่ำสุดในโลกคอมเมอร์เชียลสำหรับช่างภาพในงานอีเวนต์เริ่มที่ 1,500 บาท เศร้าไหมฮะ แต่ลองคิดกลับกันนะครับ ทุกบริษัทมีการออกอีเวนต์ถูกไหมครับ ถ้าคุณสามารถหาได้ 10 งานใน 1 เดือน คุณมีเงินเดือน 15,000 บาท เท่ากับคุณมีเวลา 20 วัน ที่ไม่มีเจ้านาย ถ้าคุณเก่งขึ้นได้งานละ 3,000 บาท เท่ากับ 30,000 บาทต่อเดือน เมื่อเก่งขึ้นอีกทำสตูดิโอได้ เงินก็ดับเบิลเข้าไป มันเป็นตัวแปรชี้วัดที่ชัดเจน เวลามีคนจ้างไม่เคยมีการขอใบรับรองว่าคุณจบอะไรมาครับ คุณอายุเท่าไร โลกไม่สนสิ่งนี้เลย คุณมีสไตล์ คุณมีความชัดเจน มีคาแรกเตอร์ที่ดี คุณรับผิดชอบมันได้ งานเป็นของคุณ โลกเปิดรับคุณ เพราะฉะนั้นมันคือโอกาสที่เปิดกว้างครับ 
    ทุกวันนี้โลกของการถ่ายภาพมันขับเคลื่อนทุกอย่าง เศรษฐกิจ ท่องเที่ยว บันทึก มีโทรศัพท์ยี่ห้อไหนโฆษณาว่าสัญญาณดีไหมครับ มันคือกล้องถ่ายรูปที่โทรออกได้ ใช่ไหม ถ่ายรูปคมชัด หน้าชัดหลังเบลอ ไอโฟนอัพเกรดฟีเจอร์ใหม่ทั้งหมด เปลี่ยนระบบซอฟต์แวร์ก็เพื่อให้ถ่ายรูปดีขึ้น ไม่มีเรื่องรับสัญญาณให้ดีขึ้น ทำหน้าจอให้ดีขึ้นเพื่อให้รีพอร์ตภาพออกมาให้พิเศษ เพราะฉะนั้นโฟโต้มันพิเศษมาก มันอยู่ใกล้ตัวจนบางทีก็เลยชินกับการเห็นมัน แล้วก็มองข้ามหรือด้อยค่ามัน แต่คนที่เข้าใจจะพลิกแพลงทุกอย่าง โลกไม่สนอีกต่อไปครับว่ารูปนี้ถ่ายด้วยกล้องยี่ห้ออะไร มันถามอย่างเดียวว่า คุณได้อะไรจากสิ่งนั้น เหมือนเรากินอาหารอร่อย เคยถามแม่ค้าไหมครับว่าใช้กระทะอะไรผัด กับการที่คุณจะใช้กล้องโทรศัพท์มือถือ หรือคุณจะใช้รูปจริง ถ้าคุณสามารถทำงานสื่อสารได้ มันก็ทำได้ครับ
อะไรคือความงามในภาพถ่ายสำหรับคุณ?
    โดยพื้นฐานวูบแรกเราอาจจะเห็นความงามของรูป แต่ว่าจริงๆ แล้วถ้าเราเป็นคนถ่าย มันคือต้นทางที่พาเรากลับไปในวันที่เกิดภาพถ่ายภาพนั้น เพราะฉะนั้นถ้าเราเห็นภาพที่มันดี มันพิเศษ เพราะว่าเราใส่ความรู้สึกลงไป จะกี่ปีก็ตามจะยังจำความรู้สึกนั้นได้อยู่ แต่ถ้าคุณไม่คิดอะไร คุณไม่รู้สึกอะไร คุณแค่บันทึก เราก็จะไล่ดูมันแบบผ่านไปโดยที่เราไม่รู้สึกอะไร
    ผมรู้สึกว่า คุณค่าที่สำคัญจริงๆ ไม่ได้อยู่ที่คุณบันทึกอะไรมา คุณได้อะไรมา ภาพที่ดีถ้าจะตอบคือ ภาพๆ นั้นมันบรรจุความรู้สึกของคุณได้มากแค่ไหน เพราะฉะนั้นเวลาถ่ายพอร์เทรตผมใช้วิธีเดียวกันกับคุณสุรัตน์เลย โฟกัสเสร็จทุกอย่างเสร็จ เงยหน้าขึ้นจากกล้อง ยิ้มให้เขาแล้วบอกว่า ยิ้มให้ผมนะครับ สบตากัน มองทีละคน แล้วก็กดชัตเตอร์ ผมรู้สึกว่าผมขโมยชีวิตความรู้สึกของเขามาขังไว้ในงานของผม ทุกครั้งที่เขาดูรูปเขาจะรู้สึกว่ามันมีความพิเศษของครอบครัวเขาอยู่ มันคือกระบวนการคิดทั้งหมดที่รวมกันไว้ในพื้นที่เดียวกันภายในชั่วเสี้ยววินาทีครับ เราอยู่กับความเคลื่อนไหวตลอดเวลาบนโลก โฟโต้เป็นสิ่งเดียวที่ทำให้ทุกอย่างหยุดและคงที่ วินาทีข้างหน้าคืออนาคต วินาทีที่ผ่านไปมันคืออดีต เพราะฉะนั้นโฟโต้มันคือการขโมยช่วงเวลาที่บอกว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นจริงบนโลก มันมีสิ่งนี้อยู่ สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็นใช่ไหมครับ โฟโต้มันได้ทำหน้าที่พิเศษสุดตรงนั้น ผมเลยรู้สึกว่าทุกภาพมันคือความงดงามความพิเศษ เพียงแต่ศิลปินผู้ที่บันทึก ณ เวลานั้น อาจจะยังไม่รู้ว่าตัวเองได้ทำสิ่งที่พิเศษมากๆ มันอาจจะต้องให้เวลาผ่านไป ตกตะกอนบางอย่าง แล้วย้อนกลับมาดูสิ่งที่ตัวเองทำไว้ มันอาจจะพิเศษมากขึ้นกว่าเดิม
    บางครั้งมันคือการตีกันของปีศาจสองตัวในผมน่ะครับ ผมทำอินสตาแกรมผมก็บอกทั้งโลกเลยว่าผมเป็นแบล็กแอนด์ไวท์แมน วันนึงผมบอกตัวเองว่าอยากลงรูปสีแต่ไม่คลุมธีม ทำได้เหรอ อยากจะไปเปิดแอคเคานต์ใหม่ก็ไม่ได้มีวินัยกับตัวเอง พอลงรูปสีคนไม่กดไลก์เพราะไม่คิดว่าเป็นรูปเรา อ้าว! แล้วสรุปว่านี่งานดีหรือไม่ดี เขามากดเพราะเป็นงานเราหรือว่าเขามากดเพราะว่าชอบรูป สุดท้ายก็เลยเข้าใจว่า จริงๆ ถ้าหากว่าเราเห็นความงาม เอ๊ะ! เมื่อไร อย่าปฏิเสธมัน ขอแค่ถ่ายออกมาเป็นภาพ
การมองจากมุมสูงผ่านภาพขาว-ดำของตุลย์
แนวทางการทำงานของคุณเป็นแบบไหน?
    ถ้าตอบแบบกำปั้นทุบดินเลยนะครับ เป็นสิ่งที่ตรงกับใจผมที่สุดคือผมไม่มีแนวทางอะไรเลยครับ ผมรู้สึกแค่ว่า สิ่งที่ตาเห็น ใจเรารู้สึกเมื่อไร ผมพยายามแปรค่าตรงนี้ให้เร็วที่สุด เพื่อให้ช่องว่างของเวลาขณะนั้นสั้นที่สุด แล้วผมจะตอบสนองมันด้วยภาพถ่าย ผมพกกล้องทุกวัน ทั้งมือถือ ทั้งกล้องถ่ายรูปจริง วันที่ปลอดจากเงื่อนไขทั้งสองอย่าง ผมก็จะพูดกับตัวเองว่า ทุกครั้งที่ผมกระพริบตามันคือชัตเตอร์ เราถ่ายรูปไม่ได้ตลอดเวลาเช่น ผมอาจจะอยากถ่ายรูปคุณตอนนี้ แต่ถ้าผมหยิบมือถือขึ้นมากด ผมอาจจะเสียมารยาท ผมจึงมีโมเมนต์ที่ผมจะจำไว้ ฉะนั้นครั้งต่อไปที่ผมจะถ่ายรูปคุณ ผมจะบอกคุณได้เลยว่าผมอยากถ่ายคุณ ณ ตอนไหน คุณทำอะไร เพราะมันมีภาพจำที่ผมจำไว้ในหัวแล้ว 
    จริงๆ แล้วผมแค่รู้สึกว่า โลกนี้ยังมีความสนุกให้เรียนรู้มากๆ ผมยังไม่เคยมีรูปถ่ายที่ผมชอบที่สุด ฉะนั้นคำตอบที่ตอบได้ว่าผมชอบทำงานแนวไหน ณ ช่วงเวลานี้ ผมแค่เทน้ำหนักไปหาภาพขาวดำกับความเป็นมินิมอล แต่ว่าพอทำไปๆ มันเหมือนการฟังเพลงซ้ำๆ มันเบื่อ ดังนั้นผมยังสนุกกับการเรียนรู้บนโลกการถ่ายภาพอยู่
ถ้าถามว่าคุณเป็นใคร สามารถตอบได้ไหมว่าคุณคือช่างภาพ?
    เป็นคนที่หลงรักการถ่ายภาพครับ ผมว่าหลงรักมันไม่มีเหตุผล ไม่มีที่สิ้นสุด แล้วมันยังคงหมกมุ่นอยู่ในวังวนของแสงเงาการตกกระทบอยู่แบบนั้นตลอดเวลาครับ มันคือความลุ่มหลงของผมจริงๆ นะ ผมไม่ได้อยากมีชื่อเสียงไม่อยากให้โลกจำผมว่าผมคือตุลย์ คือช่างภาพ แต่ผมขอว่าสิ่งที่ผมทำอย่างน้อยถ้ามันมีแรงกระตุ้นเล็กๆ ให้ใครสักคนออกไปถ่ายภาพ ผมมีความสุขแล้ว ผมไม่ได้คิดว่าผมจะต้องสร้างงานเป็นเอกอุของโลกนี้ เมื่อก่อนนี้อยากให้คนเห็นแล้วจำได้ว่าคือเรา ตอนนี้เราคือพรรคพวกกัน สำหรับผมสิ่งที่ผมทำ ที่เคยคิดว่าตัวเองพิเศษ ที่คิดว่าใหม่ ที่คิดว่าไม่เหมือนใคร ผมเชื่อว่ามันมีคนทำมาหมดแล้วครับ เพียงแต่เรายังไม่รู้ว่า โอ้ ...มันมีคนนี้ทำนะ ตอนที่เราทำเราคิดว่ามันดี แต่ความงามใครก็มีสิทธิ์เห็นและบันทึกมันได้ ในเมื่ออุปกรณ์มันอยู่กับตัว รูปผมไม่ได้ดีเพราะผมใช้ไลก้า รูปผมไม่ได้แย่เพราะว่าผมใช้โทรศัพท์ เพราะฉะนั้นในเมื่อเราเข้าใจกระบวนการแบบนี้ร่วมกัน ผมคิดว่าตั้งแต่เริ่มต้นจนกว่าผมจะไม่มีลมหายใจ ผมก็ยังอยากถือกล้องถ่ายรูป อยากถ่าย อยากบันทึกความงาม อยากให้คนมีโอกาสเห็นความงามบนโลกนี้แบบที่ผมได้เห็น อยากแบ่งปันความงาม ความรู้สึกร่วมกัน
สิ่งที่พูดมาเมื่อสักครู่เหมือนเป้าหมายส่วนตัวของคุณ?
    เป้าหมายผมมีเท่านี้เลยครับ อยากให้ใครสักคนเห็นงานเราแล้ว 'เอ้ย! กูก็ทำได้' เขาจะได้ออกไปถ่ายแล้วคุยกันรู้เรื่องครับ เหมือนคนรสนิยมเดียวกัน มันหมดเรื่องอีโก้แล้ว ผมแบนราบมากครับ ผมโชคดีมากที่รู้สึกเรื่องนี้ได้เร็ว แข่งกับตัวเองก็ลำบากสุดแล้วครับ คำว่าแข่งกับตัวเองไม่ได้บอกว่า สร้างงานของตัวเองได้ดีขึ้น หรือว่าคุณภาพชีวิตมันเปลี่ยน แต่จริงๆ เวลาที่เราถ่ายภาพเรียบร้อยแล้วครับ เมื่อถ่ายเสร็จมันจะว้าวในใจครั้งแรก แล้วมันก็จะหายไปทันทีเลยครับ สมมติเราถ่ายวิววัดพระแก้วสวยมากเลย เมฆสวย แสงดี แต่ถ้ามีสิ่งนึงที่แวบเข้ามาในใจว่า หืม ...ถ้ามีรุ้งพาดนะ เมื่อไรก็ตามที่เรายังฝันกระหายในรูปที่ดีที่สุด แปลว่ารูปนั้นของคุณด้อยลงไปแล้ว คนชอบถามผมว่า จนถึงตอนนี้ถ่ายรูปมา 20 ปี รูปที่ดีที่สุดที่ตัวเองชอบคือรูปไหน ถ้ากล้องอยู่ในมือคือรูปนี้ เพราะว่า 1 ชัตเตอร์ที่เรากดในปัจจุบัน มันมาจากหมื่นชัตเตอร์แสนชัตเตอร์ที่เราเคยทำผิดพลาดมา เพราะฉะนั้นในวันปัจจุบันนี้มันคือภาพจากองค์ความรู้ที่ดีที่สุด สิ่งที่ดีที่สุด ที่นำออกมาใช้แค่เสี้ยววินาทีนั้นจริงๆ
หนึ่งในหลายๆ ภาพจากการไม่ปฏิเสธความงามตรงหน้าของเขา
ฟังดูแล้วเหมือนการถ่ายภาพทำให้คุณอยู่กับปัจจุบัน?
    จริงๆ ผมเก็ตเรื่องนี้เพราะพระอาจารย์ปราโมทย์ (หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช) ครับ การอ่านหนังสือปรัชญา ความเข้าใจธรรมะ หนังสือ เดินสู่อิสรภาพของ อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ผมรู้สึกว่าแพสชั่นของแต่ละคนต่างกัน สุดท้ายบนเส้นทางที่เราพยายามวิ่งและพยายามไปข้างหน้าในความเร็วสูงสุดบนศักยภาพที่เรามี วันนึงเราอาจจะรู้สึกว่าเรากำลังห่างไกลจากจุดหมายไปเรื่อยๆ เพราะสุดท้ายแล้วจุดเริ่มต้นกับจุดจบมักจะเป็นจุดเดียวกัน ทำไมเราไม่กลับไปหาจุดเริ่มต้นว่าจริงๆ เราถ่ายภาพเพราะเรามีความสุข เราถ่ายภาพเพราะเราอยากเอากลับไปวาดรูป เราถ่ายเพราะเรารู้สึกดีจังเลยที่มาที่นี่ แล้วทำไมเราต้องพยายามปั้นแต่งเพื่อให้หนีออกไปจากสิ่งที่เรามีความสุข ต้องบอกโลกใบนี้เหรอว่า ข้ามาที่นี่ ข้าถ่ายสิ่งนี้ได้ ชั้นทำสิ่งนี้ได้คนเดียวนะ คนอื่นทำไม่ได้หรอก ผมว่ามันไม่มีประโยชน์อีกแล้วเลยครับ ผมรู้สึกว่าดีจังเลย ถ่ายที่นั้นที่นี้เสร็จ ผมโพสต์เฟซบุ๊กแล้วแท็กหาเพื่อนเลย ถ้ามึงอยู่นะ วิวนี้จะดีขึ้นอีก ผมรู้สึกว่าบรรยากาศมันจะเปลี่ยน ผมถ่ายรูปน้อยลงเยอะนะครับ จำนวนภาพน้อยลงเยอะ ไม่ได้เป็นเพราะรู้สึกว่า ไม่ดีจริง ไม่รู้สึกพิเศษจริงๆ จะไม่ถ่าย แต่มันกลายเป็นว่าผมเปลี่ยนตัวเองเป็นนักสังเกตการณ์ แทนที่จะเป็นนักล่า ปกติช่างภาพเราจะต้องไปในเวลาที่เพอร์เฟกต์ที่สุด ไปที่นี่ในเวลานี้เพื่อให้มันได้รูปที่ดีที่สุด กลายเป็นว่าผมใช้ชีวิตไป เรื่องระหว่างทางสำคัญกว่าปลายทางครับ ถ้าสนใจแค่ปลายทางพรวดเดียวก็ถึง แต่เรื่องระหว่างทางมันทำให้ชีวิตมีชีวา แล้วมันก็ทำให้ชีวิตเต็มไปด้วยความทรงจำ
Favorite Something
  •   The Village Album (2004), Valley of Flower (2006)
  •   Funky Wah Wah
  •   ปราชญ์แห่งธนู (The Archer) - Paulo Coelho
  •   สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์, วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์, นิติกร กรัยวิเชียร

ดุสิตา อิ่มอารมณ์

นักเขียน ผู้ใช้พื้นที่ในเวลาว่างไปกับการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ขี่จักรยาน อ่านการ์ตูน เล่นเลโก้ ฯลฯ โดยเชื่อเต็มหัวใจว่าเวลาที่หมดไปกับความรื่นเริงนี้สามารถเติมเต็มชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นภัส วิบูลย์พนธ์

ช่างภาพและนักประสานงานเจ้าระเบียบที่อัพสกิลความละเอียดขึ้นทุกปี กำลังใช้เวลากับเพื่อนสนิทที่ชื่องานเขียนและภาพถ่ายไปพลางๆ ระหว่างรอแก่ไปเจอฝันเล็กจิ๋วอย่างการนั่งชมต้นไม้ในสวนหลังบ้านของตัวเองบนเก้าอี้โยกกับหมาซักหนึ่งตัว