หลบเวลา: ประวัติศาสตร์วงการเพลงอินดี้ไทย ในประวัติศาสตร์ส่วนตัวของ ตุล ไวฑูรเกียรติ และ บีม-ภากร มุสิกบุญเลิศ

    ตุล ไวฑูรเกียรติ คือนักร้องนำวงอพาร์ตเมนต์คุณป้า เขาเป็นกวี เป็นดีเจ เป็นโปรดิวเซอร์ และเป็นศิลปินที่เคยมีนิทรรศการศิลปะของตัวเองมาแล้ว

    บีม-ภากร มุสิกบุญเลิศ เป็นนักดนตรีวง Siam Secret Service, Knock The Knock! และ White Rose ปัจจุบันเขายังเป็นโปรดิวเซอร์ เป็นคอมโพสเซอร์ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ และเป็นช่างภาพที่มีนิทรรศการภาพถ่ายของตัวเองแล้วหลายครั้ง

    ตุลกับบีมเป็นเพื่อนสนิทกันมาตั้งแต่วัยรุ่น พวกเขาเคยอยู่วงดนตรีวงเดียวกันชื่อวง อะไรจ๊ะ ที่มีอายุวงสั้นๆ แต่นอกจากนั้น พวกเขายังมีเรื่องอีกมากมายที่กลายเป็นมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน ทั้งมิตรภาพอันยาวนาน เรื่องแวดวงดนตรีไทยอันหลากหลาย เรื่องชีวิตที่แปรผัน เรื่องความฝันที่เปลี่ยนไป และเรื่องมุมมองต่างๆ ที่มีต่อโลกใบนี้

    นี่คือเรื่องราวของนักดนตรีสองคนที่เป็นศิลปินด้วย พวกเขาเป็นหนุ่มใหญ่ที่ผ่านการค้นหาในชีวิต ผ่านการติดตามความฝัน ผ่านความสำเร็จและความล้มเหลว ได้ไปเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ดนตรีนอกกระแสของบ้านเรา และยังเกี่ยวพันกับการเติบโตของซีนศิลปะในประเทศไทยอีกไม่น้อย

    นี่คือเรื่องราวของผู้คนที่บางส่วนก็คล้ายกับหลบอยู่ในห้วงเวลาที่ถูกหลงลืม แต่เป็นเรื่องราวอันน่าจดจำที่เราอยากบันทึกเอาไว้...

    จุดเริ่มต้นของคนสองคน

    วันนี้ ตุล และ บีม อยู่ในวัยปลายสี่สิบแล้ว เรานัดพบกับทั้งสองคนที่อาคาร Woof Pack ในวันที่บีมกำลังจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่าย The Im/permanent ของเขาที่นั่นพอดี

    ย้อนเวลากลับไป เรื่องของตุลกับบีมเริ่มต้นตอนที่ทั้งคู่ยังอยู่ในวัยหนุ่ม ตอนนั้นทั้งคู่เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS และได้ไปใช้ชีวิตที่ต่างประเทศอยู่ช่วงหนึ่ง แม้จะต่างคนต่างไปคนละประเทศ คือบีมไปนิวซีแลนด์ และตุลไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา แต่ด้วยบุคลิกภาพบางอย่างของทั้งคู่ที่คล้ายกัน-อาจจะเป็นเรื่องความบ้าดนตรี-ก็ทำให้กลุ่มเพื่อนๆ นักเรียนแลกเปลี่ยนที่รู้จักกับทั้งสองคนถึงกับออกปากแนะนำว่า 'พวกมึงควรได้รู้จักกัน!'

    "ตุลเขามาหาผมที่เอแบคเลย จอดรถเสร็จ เปิดประตูออกมาก็เห็นว่าใส่เสื้อลายมาเลย เท่มาเลย ดูอัลเตอร์ฯ สุดๆ " บีมเล่าพลางหัวเราะให้กับความหลังที่ยาวนานมากกว่า 25 ปีแล้ว "คนมองกันใหญ่ตอนเขาเข้ามาในเอแบค ตุลแบกแฟ้มสีฟ้ามา แล้วมาบอกผมว่า 'บีมครับ ผมมีเนื้อเพลง ท้ายรถมีอีกนะ เนื้อเพลงเยอะมาก ผมอยากทำเพลง' นั่นคือเรื่องแรกที่เราคุยกันฮะ"

    ตุลกับบีมสนิทกันอย่างรวดเร็ว พวกเขาแชร์ความฝันร่วมกันเรื่องการทำเพลง พวกเขาฟอร์มวงดนตรีร่วมกัน พวกเขาคุยกันเรื่องดนตรีร็อก อัลเทอร์เนทีฟ ไปจนถึงฮิปฮอป ตุลกับบีมแลกซีดีกันฟัง ไปนอนค้างที่บ้านของอีกฝ่ายเพื่อแต่งเพลงและฟังแผ่นเสียง พวกเขายังคุยกันเรื่องอื่นๆ อย่างเรื่องหนังสือ เรื่องปรัชญา ความคิด และความเชื่อต่างๆ

    "เดโมช่วงแรกๆ ของวงอะไรจ๊ะก็คือเพลงที่เราทำอยู่ในบ้านบีม แล้วก็ไปจองห้องอัดกัน บีมตีกลองง่ายๆ แล้วก็เล่นเบส เล่นกีตาร์ด้วย คือใช้เงินน้อยๆ เป็นการไปอัดในสตูดิโอที่ไม่ได้ดีมาก แล้วก็อัดลงเทปคาสเสตต์" ตุลเล่าพลางหัวเราะเมื่อเล่าถึงความหลัง "แล้วหลังจากนั้นผมก็เลยชวนปั๊ม (ปิย์นาท โชติกเสถียร กรัดศิริ) กับ ปิ๊บ (อธิชัย โปษยานนท์) มาเจอกับบีม" นั่นคือเรื่องราวของการฟอร์มวงดนตรีสมัยแรกๆ ของพวกเขา

    แต่ต่อมา เมื่อถึงเวลาที่ชีวิตต้องเข้าใกล้โลกแห่งความจริงมากขึ้น ตุลก็ต้องไปเรียนต่อปริญญาตรีที่อเมริกา เป็นผลให้วงดนตรีของเขากับบีมต้องชะงักไป แต่กลุ่มเพื่อนๆ ของเขาก็ยังไปตามหานักร้องคนใหม่จนได้ ช้าง (กฤช ทวีสิน) มาร้องนำ แล้ว บีม, ปิ๊บ, ช้าง และปั๊ม ก็กลายเป็นวงดนตรีชื่อ Siam Secret Service มีอัลบั้มชุดแรกและชุดเดียวออกมาเมื่อปี พ.ศ. 2541 ซึ่งถึงแม้จะได้โด่งดังนัก แต่ก็ถือว่าเป็นตำนานบทหนึ่งของวงการอินดี้ของไทย

    ในระหว่างที่บีมได้ 'ออกเทป' และตุลไปเป็นนักศึกษาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา มิตรภาพของพวกเขาก็ยังคงดำเนินต่อไป

    "ตอนนั้นเรายังโทรทางไกลคุยกันเรื่อยๆ ครับ แต่เป็นการโทรทีละหนึ่งนาทีแล้วก็วาง เพื่อประหยัดตังค์ ตอนนั้นผมใช้ Call Card ที่หนึ่งนาทีแรกโทรฟรี สมมติเราอยากคุยกันสัก 20 นาที เราก็จะโทรกัน 20 ที" ตุลเล่าแล้วหัวเราะ

    "เรื่องที่โทรคุยกันก็จะเป็นแบบ 'บีมฟังอัลบั้มนี้ยัง อ่านหนังสือเล่มนี้ยัง ดูหนังเรื่องนี้ยัง เรื่องนี้ดีมาก' หรือ 'นี่เราไปเที่ยว ไปปาร์ตี้นี้มา ไปดูคอนเสิร์ตนี้มาเจ๋งมาก' อะไรแบบนี้ฮะ" บีมหัวเราะอีกคน

    "ตอนที่ Siam Secret Service ออกอัลบั้ม ผมก็ไปซื้อที่ร้านในไชน่าทาวน์นะครับคือมันมีร้านขายเทปเพลงไทย ผมก็ไปซื้อตอนเทปออก ตอนนั้นยังเป็นช่วงที่เป็นช่วงที่อัลเทอร์เนทีฟของไทยยังเป็นกระแสอยู่นะ เพลงของเขาสนุกดี" ตุลเล่าถึงเพลงของเพื่อนๆ ที่เขาได้ฟัง "แต่ก็ถือว่าวงนี้เป็นการออกเทปในช่วงท้ายๆ ก่อนที่กระแสแนวนี้มันจะล่มสลายแล้ว"

ศิลปะและดนตรี วิกฤตและโอกาส

    "ผมว่าวงการดนตรีกับเรื่องเศรษฐกิจมันเกี่ยวพันกันนะ ช่วงที่เศรษฐกิจดี ทุกคนแห่เปิดค่ายเพลง มีวงออกมาเต็มไปหมดเลย" ตุลรำลึกถึงช่วงก่อนปีแห่งวิกฤตของประเทศไทย "แต่พอเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง (พ.ศ. 2540) ทุกอย่างมันก็เปลี่ยนไป ตอนนั้นผมอยู่อเมริกา ช่วงพีกๆ คือช่วงที่เงินบาทขึ้นเป็น 50 บาทต่อดอลลาร์ ผมเกือบจะเรียนหนังสือต่อไม่ได้ แต่ผมก็มีวิธี ก็ทำงานอะไรไปด้วย ก็ช่วยผ่อนภาระทางบ้าน ยืดเยื้อตัวเองจนเรียนจบ แล้วกลับมาเมืองไทย"

    พอตุลเรียนจบกลับมาที่เมืองไทย เป็นช่วงที่บาดแผลจากวิกฤตต้มยำกุ้งยังซัดสาดสังคมไทยอย่างหนักหน่วง ชีวิตของหลายๆ คนพลิกผันไปจากหน้ามือเป็นหลังเท้า ถึงตอนนั้น การโปรโมตอัลบั้มของ Siam Secret Service ก็ผ่านไปเนิ่นนานแล้ว พร้อมกับกระแสอัลเทอร์เนทีฟที่จางหายไปจากวงการเพลงไทย แล้วการเบ่งบานของแผ่นรวมเพลง MP3 ละเมิดลิขสิทธิ์ยี่ห้อ Vampire ก็ทำเอาวงการเพลงไทยสั่นสะเทือน ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่บีมกลับมาว่างๆ อีกครั้งระหว่างที่กำลังวางแผนไปเรียนต่อบ้าง

    ช่วงปีนั้นเอง ตุลก็เริ่มเขียนบทกวีแบบไร้ฉันทลักษณ์เก็บไว้ เป็นการบันทึกความคิด หรือเยียวยาบางส่วนในใจของตัวเอง ซึ่งบทกวีเหล่านี้ต่อมาถูกรวมอยู่ในหนังสือกวีนิพนธ์เล่มแรกของเขาที่ชื่อว่า หลบเวลา (ซึ่งกว่าจะได้ตีพิมพ์ก็ต้องใช้เวลาอีกหลายปีต่อมา)

    "ใน หลบเวลา ผมก็จะพูดถึงชีวิตช่วงนั้นเยอะครับ" ตุลอธิบาย "มันจะเป็นช่วงที่ผมกลับมาเมืองไทยแล้วยังไม่รู้ว่าจะยังไงต่อ จะหางานอะไรทำ เศรษฐกิจก็ไม่ดี แต่โชคดีที่ผมได้งานแรกๆ จากที่เที่ยวกลางคืน" เขาหัวเราะเบาๆ "ก็คือทำงานที่ Red Bar หรือ Taurus อะไรพวกนี้"

    ช่วงนั้นเอง เป็นช่วงที่ตุลและบีมได้กลับมาทำเพลงด้วยกันอีกครั้ง และวงของพวกเขาที่ชื่อวงอะไรจ๊ะก็ได้โอกาสออกอัลบั้มกับค่ายเพลงหัวลำโพงริดดิมที่ก่อตั้งโดย กอล์ฟ-นครินทร์ ธีระภินันท์ และ วิชญ์ วัฒนศัพท์

    วงอะไรจ๊ะประกอบด้วยสมาชิกของ Siam Secret Service คือบีม, ปั๊ม และ ปิ๊บ โดยมีตุลเป็นนักร้องนำ พวกเขาออกอัลบั้ม The Downtown Symphony มาวางขายเมื่อปี พ.ศ. 2544 ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อของวงการเพลงนอกกระแส ในวันที่เพลงอัลเทอร์เนทีฟกลายเป็นของเก่า และเป็นยุคเริ่มต้นของ Fat Radio คลื่นวิทยุที่กำลังจะเริ่มสร้างกระแสให้เพลงนอกกระแสอีกครั้ง แต่วงอะไรจ๊ะก็ถือว่าเป็นวงหนึ่งที่ไม่ประสบความสำเร็จนัก และการโปรโมตก็ค่อยๆ ซาไปอย่างรวดเร็ว

    "ตอนนั้นผมออกจากเอแบคแล้ว" บีมเล่ามุมของตัวเองบ้าง "พอทำเพลงทำอะไรเสร็จแล้วก็...อยากไปเรียนถ่ายรูป แต่จะไปเรียนก็ไม่ได้ไป เพราะค่าเงินมันแพงมาก โหดมาก จะไปอังกฤษนี่ไม่ต้องพูดถึงเลย แต่จะไปอเมริกาก็ยังมืดมน" บีมเล่าถึงชีวิตช่วงนั้น

    "ผมกลับมาอยู่เมืองไทย จะหากินกับสิ่งที่เราชอบ มันก็ยังไม่ค่อยมีพื้นที่ครับ" ตุลเสริม

    แต่หลังจากนั้นไม่นาน บีมก็ได้โอกาสทำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง fake โกหกทั้งเพ (2546) และ จ..เจี๊ยวจ๊าว (2546) ซึ่งเป็นหนังขนาดกลางในยุคที่ภาพยนตร์ไทยยังมีปีละหลายเรื่อง และในช่วงเวลาเดียวกัน พวกเขายังก้าวเข้าสู่วงการศิลปะร่วมสมัยด้วย เพราะการที่ชอบไปขลุกตัวยามค่ำคืนอยู่ที่ About Cafe' ร้านที่เป็นแหล่งรวมของศิลปินและคนทำงานสร้างสรรค์ในห้วงเวลานั้น

    "มันเป็นชุมชนของคนที่ชื่นชอบอะไรเหมือนๆ กัน" บีมเล่าย้อนไปยังห้วงเวลานั้นในร้านแห่งยุคสมัย "มีดีไซน์เนอร์ เอดิเตอร์ นักดนตรี นักคอลเลกเตอร์ก็เยอะ นักสะสมงานศิลปะ ก็ได้มาเจอกันที่นี่ แล้วก็มีการทำอะไรข้ามสายงานกันเยอะมาก พวกเราได้มีโอกาสร่วมงานกับศิลปินชื่อดังชาวญี่ปุ่นคือ ยาสุมาสะ โมริมูระ (Yasumasa Morimura) ด้วย เพราะเขามากับอาจารย์อภินันท์ โปษยานนท์ เขาบอกว่าอยากทำการแสดง แล้วคนที่นั่นก็แนะนำพวกเรา เราก็ทำเดโมให้เขาฟัง แล้วก็ได้ไปแสดงดนตรีกับเขาด้วย ซ้อมกันอยู่ไม่นานก็ไปแสดงกับเขาที่จุฬาฯ ด้วยครับ"

    "สมัยก่อนไม่มีโซเชียลมีเดีย วิธีที่จะรู้ข่าวว่ามีอะไร ก็คือไปที่นั่น ใครอยากรู้ข่าวอะไรก็ต้องไปดูใบปลิว หรือใครมีงานอะไรก็จะเอากระดาษมาวางๆ ไว้บนโต๊ะว่า วันนี้จะมีอีเวนต์อะไร มันก็ทำให้เกิดการรู้จักกันต่อไปเรื่อยๆ แล้วทำให้เกิดงานครับ" ตุลเล่าให้ฟังบ้าง

    "แล้วบรรยากาศมันเหมือนไปห้องสมุดมากนะ" บีมหัวเราะเบาๆ "มันจะไม่มีความคูลหรือไปโชว์ออฟกัน มันจะไม่เหมือนการเที่ยวกลางคืนเท่าไหร่ แล้วเราจะชอบไปอยู่กันในมุมหน้าห้องน้ำ เป็นโต๊ะเด็กๆ แล้วก็แอบมองโต๊ะผู้ใหญ่กัน"

    "เวลาเจอคนดังๆ เราก็จะแอบๆ ตื่นเต้นครับ" ตุลหัวเราะบ้าง "แอบซุบซิบกันว่าเราจะเข้าไปคุยกับเขายังไงดีนะ"

    ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ตุลได้เจอกับศิลปินดังของไทยที่ไปดังระดับโลกอย่าง ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช และได้ไปร่วมทำหนังสือศิลปะที่ชื่อ VER ด้วย

    "ผมไปเป็นซาวนด์อิดิเตอร์ครับ คือหนังสือ VER นี่เนื้อหาทุกอย่างมันอยู่ในแผ่นซีดี ซึ่งทุกอย่างที่อยู่ในซีดีผมจะเป็นคนตัดต่อ รวมถึงเวลาไปสัมภาษณ์ข้างนอกด้วย ก็ทำได้ประมาณหนึ่งแล้วก็ปิดไป เพราะต้นทุนมันสูง แต่ช่วงนั้นก็ทำให้ได้รู้จักหลายคนๆ นะ"

    "ช่วงนั้นเราได้รู้จักกับคนเยอะมากครับ" บีมเล่าบ้าง "แล้วเชื่อไหม งานเปิดตัวนิทรรศการที่ผ่านมาของผม เพื่อนๆ ที่รู้จักกันตอนนั้นก็มาดูงานกันหลายคน จนน้องๆ ที่อายุ 20 กว่าๆ สมัยนี้ ถามผมว่า 'พี่ทำไมรู้จักคนเยอะ' ก็แต่ก่อนไปเที่ยวผมก็คือไปเจอเพื่อน พอ About Cafe' แยกย้ายกันไป เราก็ไปซอย 4 แล้วก็ไป Cosmic Cafe เราก็ไปเพื่อเจอคน แล้วก็มีเพื่อนหมดทุกที่ มันคือความที่ถ้าเราอยากได้เราต้องไปหา ต้องไปทำความรู้จัก ต้องขยับออกไป"

    ตุลและบีมล้มๆ ลุกๆ ในวงการดนตรีอยู่หลายครั้ง แต่โดยรวมแล้ว ...พวกเขาค่อยๆ ก้าวไปข้างหน้าอยู่เสมอ

เด็กแนวในอพาร์ตเมนต์คุณป้า

    ในช่วงที่ซีนของ About Cafe' เริ่มซาๆ กันไป แฟนเพลงของคลื่น แฟต เรดิโอ ก็กำลังเติบโตพร้อมกระแส 'เด็กแนว' ที่เบ่งบาน

    "เราต้องเรียกว่ายุคแฟตฯ แหละ จะเข้าใจง่ายเลย ว่าคือยุคของงาน แฟต เฟสติวัล ตอนั้นจะไม่ค่อยใช้คำว่าอัลเทอร์แล้ว เขาเรียกกันว่าเด็กแนว ยุคก่อนเวลาเราไปเที่ยวสีลมซอย 4 เพื่อนชอบบอกว่า 'กูเป็นเด็กอัลเทอร์เนทีฟ' " ตุลเล่าแล้วหัวเราะ "แต่พอผ่านหลังยุคปี 2000 ไปแล้วมันจะเป็นคำว่าเด็กแนวแทน"

    ช่วงนั้นบีมไปเรียนต่อด้าน Recording Art ที่ฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เป็นช่วงที่ตุลได้พบกับ บอล-กันต์ รุจิณรงค์, ใหม่-ภู่กัน สันสุริยะ และ จ้า-ทรรศน์ฤกษ์ ลิ่มศิลา นักดนตรีฝีมือฉมังที่กำลังทำวงของตัวเอง ก่อนจะชักชวน ปั๊ม ให้มาร่วมวงด้วยอีกคน กลายเป็นวง อพาร์ตเมนต์คุณป้า

    "ตอนนั้นผมกำลังเรียนต่ออยู่อเมริกา ก็โทรคุยกันกับตุล เขาก็เล่าให้ฟังว่าจะทำวงชื่ออพาร์ตเมนต์คุณป้า ผมก็บอกว่า 'ชื่อแม่งโคตรแนวเลย แล้วมันแปลว่าอะไรวะ' ตุลบอก 'เฮ้ย แม่งแนว ไม่ต้องเข้าใจ แนว คือคำอธิบายของมันว่า 'เฮ้ย! แนว' " บีมเล่าถึงวันแรกที่ได้รู้ชื่อวงใหม่ของเพื่อน แล้วพวกเขาก็หัวเราะกัน

    อพาร์ตเมนต์คุณป้า กลายเป็นวงดนตรีที่โดดเด่นมากๆ วงหนึ่งในยุคแฟต เรดิโอ ขนาดที่เพลงแจ้งเกิดของพวกเขาคือเพลง กำแพง ขึ้นถึงอันดับ 1 ของชาร์ตแฟตเรดิโอ และได้รับรางวัลเพลงยอดเยี่ยมจากงาน แฟตอวอร์ด ในปี พ.ศ. 2547 ถือเป็นเพลงที่ผสมทั้งแจ๊ซและร็อกเข้าด้วยกันอย่างน่าตื่นใจ ที่สำคัญคือเนื้อเพลงที่ตุลเขียนก็เหมาะกับสถานการณ์ของวงการเพลงไทยตอนนั้นเป็นอย่างยิ่ง แถมยังแสดงความเป็นกวีให้ผู้ฟังได้สัมผัสบ้างแล้ว

    วงอพาร์ตเมนต์คุณป้าเริ่มต้นได้อย่างที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ แม้จะเป็นในหมู่ 'เด็กแนว' ก็ตาม ส่วนบีม หลังเรียนจบเขากลับมาทำงานดนตรีอย่างจริงจังอีกครั้ง บีมทำวง Knock The Knock กับน้องชาย ปุ๊บปั๊บ–กานต์ มุสิกบุญเลิศ และมีอัลบั้มออกมาหนึ่งชุดในสังกัดสไปซีดิสก์

    "ตอนนั้นผมบอกกับน้องชายว่า เราจะไม่คิดชื่อวงแล้ว เพราะคิดกันมานานแล้ว คิดกันไม่ได้สักที แล้วก็ไปบอกตุลว่า 'กูคิดชื่อวงไม่ออกเว้ย ตั้งชื่อให้หน่อย' " บีมเล่าถึงที่มาของชื่อวง

    "ยุคนั้นวงมันชอบมีคำว่า The ก็เลยบอกว่าถ้าวงบีมจะมี The ต้องไม่อยู่ข้างหน้า ไม่ได้ๆ มันไม่แนว แล้วตอนนั้นผมชอบอ่านนิตยสาร Knock Knock! ที่เป็นหนังสือแบบเด็กๆ วัยรุ่นเลย ก็เลยคิดชื่อเป็น Knock the Knock ให้ครับ ถ้าเป็น The Knock Knock ก็คงไม่ได้" ตุลเฉลยที่มาของชื่อวงที่เขาตั้งให้

    และในที่สุด บีมและตุลก็กลับมาร่วมงานดนตรีกันอีกครั้งในอัลบั้มที่ 2 และ 3 ของอพาร์ตเมนต์คุณป้าคือ Romantic Comedy (2549) และ สมรสและภาระ (2551) โดยบีมทำหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์

    "เป็นประสบการณ์การบันทึกเสียงที่หลอนมากครับ" บีมหัวเราะ "ตอนบันทึกเสียง Romantic comedy ยังไม่ค่อยหลอนมาก สมรสและภาระนี่หลอนเลย

    "มีเพื่อนผมคนหนึ่งชื่อ มาช่วยเล่นเปียโน เขาจะได้ยินเสียงเมโทรนอม (Metronorme) ตลอดเวลา ผมก็บอกว่าเราไม่ได้เปิด เขาก็ยืนยันว่า 'ช่วยปิดเมโทรนอมได้ไหม' คือเราปิดไปตั้งนานแล้ว แล้วเขาได้ยินอยู่คนเดียว" ตุลหัวเราะเมื่อเล่าถึงหนึ่งในประสบการณ์หลอนๆ ช่วงนั้น "ตอนนั้นมันยังสำมะเลเทเมากันอยู่เยอะ เดี๋ยวนี้มันต่างกันมาเลยครับ นักดนตรีเดี๋ยวนี้นัดอัดเสียง นัดเก้าโมงเช้าเขามาซาวนด์เช็กแป๊ปๆ ก็เสร็จ มีระเบียบเรียบร้อย สมัยก่อนทำยันตีสามตีสี่ เหล้าเต็มห้องอัด"

    "อัดเสร็จแล้วก็เฮ หยิบแก้วเลย หมดคิวแล้วก็เฮ หยิบแก้วเลย" บีมเสริม "อัดเสร็จไปแล้ว 10 ชั่วโมงก็ยังนั่งอยู่ บางคนเสร็จตั้งแต่สี่โมงเย็นแต่ก็นั่งอยู่ยันเช้า" เขาหัวเราะเบาๆ ก่อนจะเล่าต่อเรื่องการบันทึกเสียงของวงอพาร์ตเมนต์คุณป้า "อย่างในห้องอัดตอนนั้นผมคือไปรับมือกับนักดนตรีแต่ละคนครับ แต่ละคนมีอาการส่วนตัว ทุกคนคาแรกเตอร์เหมือนการ์ตูน ผมก็จะเป็น คนที่รับผิดชอบเรื่องการสื่อสารเทคนิคกับซาวนด์เอนจิเนียร์ประจำห้อง คนไหนคลั่งแบบไหน จะทำยังไงให้เขาพอใจ และเราพอใจในสิ่งที่เขาคลั่ง เช่น พี่บอลโซโลกีตาร์แล้วเขาแบบว่า 'บีม กูจะต้องเปลี่ยนเดี๋ยวนี้แล้ว กูโซโลแบบนี้ไม่ได้ กูเพิ่งเปลี่ยนสายมา กูต้องอัดใหม่' เราก็ต้องวิ่งไปที่บ้านเขาแล้วอัดใหม่ โซโลแล้วโซโลอีก หรืออย่างไอ้ใหม่มือเบส เราก็จะต้องอธิบายการเล่นดนตรีเหมือนเป็นกีฬา เพราะคุยกันมา 8 ชั่วโมงแล้วไม่เข้าใจ เพราะเขาเป็นคนที่ภาพในหัวเป็นเรื่องกีฬา เช่นต้องบอกว่าเล่นตรงนี้ใหม่เหมือนนักมวย เป็นเสียงหมัดแย๊บๆ อะไรแบบนี้ครับ" บีมเล่าสนุก

    "ส่วนมือกลองเรา ถ้าจะเปิดเมโทรนอมตอนอัดก็จะตีไม่ได้ แต่ถ้าไม่เจอเมโทรนอมนะ ตีตรงจังหวะเลย" ตุลเสริมพลางหัวเราะ

    "ส่วนนักร้องนี่" บีมหันไปหาตุล "ต้องร้องแบบ 3 เทค แล้วเลือก คือสบายใจที่สุด ต้องบอกเขาว่า 'ตุลไม่ต้องไปเที่ยวนะ ดื่มน้อยๆ นะ ออกกำลังกาย โอเคนะ' แล้วก็ห้ามสมาชิกบางคนมาวันที่อัดร้อง แต่อัดเสร็จปุ๊ปต้องรีบโทรไปแจ้ง 'เฮ้ย ร้องดีมาก' คือไม่ใช่อะไร ทุกคนจะจริงจังกับเพลงตัวเองมาก คือของแรง จริงจังกับการทำงานมาก ต้องห้ามๆ บ้าง ไม่อย่างนั้นสิ่งที่ดีอยู่แล้วมันจะเละครับ เป็นคนบ้าน่ะ" เขาหัวเราะอีก "อย่างปั๊มนี่จะแอบมาห้องอัดแล้วก็อัดๆๆๆๆ เล่นไม่หยุดเลย ปั๊มเป็นคนที่เล่นกีตาร์แบบที่เรียกว่าโรคจิต ถ้าเขานั่งอยู่กับกีตาร์จะแยกเขากับกีตาร์ลำบากมาก นั่งคุยๆ กันนี่เขาก็จะหยิบกีตาร์แล้วฮะ"

    "ยกเว้นเวลามีอาหาร จะแยกปั๊มกับกีตาร์ได้ครับ" ตุลหัวเราะสนุก

ร็อกสตาร์ที่เป็นกวี และโปรดิวเซอร์ที่เป็นช่างภาพ

    สิ่งหนี่งที่ตุลทำมาตลอดตั้งแต่วัยรุ่นคือการเขียนบทกวี

    "ผมได้พิมพ์ครั้งแรกเพราะสำนักพิมพ์ a book พิมพ์ให้ เพราะคุณก้อง ทรงกลด (บางยี่ขัน) ดันมาเห็นสิ่งที่ผมเขียนไว้ในสมุดบันทึก" ตุลเล่าถึงการรวมเล่ม หลบเวลา ครั้งแรก ที่ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2549

    "แต่พวกบทกวีพวกนี้ผมเห็นตั้งแต่วันแรกที่เจอกัน รู้จักกัน ในปึกกระดาษที่ตุลหอมมานี่มีบทกวีภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาพวาดเยอะแยะไปหมดเลย ก็คือชิ้นที่อยู่ใน หลบเวลา มันก็มีอยู่ตั้งแต่วันนั้นแล้วครับ" บีมเล่าย้อนเวลาไปยังวันแรกที่พบกัน "ตอนนั้นผมรู้สึกว่า ไอ้นี่มันบ้า เป็นคนบ้า ซึ่งผมชอบคนแบบนี้" เขาหัวเราะ "ผมโตมากับช่วงที่คนชอบบอกว่า 'เฮ้ย อย่าคิดมาก' แต่เราเป็นพวกหยุดคิดไม่ได้ พอมาเจอไอ้นี่ ไอ้นี่คือหยุดคิดไม่ได้ นอนไม่หลับก็โทรมาตอนกลางคืน 'บีมเรายังไม่ได้นอนเลย เดี่ยวเราไปหาได้ไหม' ผมก็จะบอกว่า 'เออมาๆ เลย หรือเราเดี๋ยวเราไปหาก็ได้นะ' ผมจะสนิทกับคนอินซอมเนียหลายคน สิงห์ Sqweez Animal (ประชาธิป มุสิกพงศ์) นี่ก็นอนไม่หลับเหมือนกัน แต่ผมรู้สึกว่า...ก็มันคิดได้มันก็อยากคิด อย่างที่ตุลเขียนความคิดต่างๆ ออกมา อย่างผมก็คิดเรื่องเพลง เรื่องอะไรยังงี้ ตอนนั้นความรู้เรื่องสภาพจิตใจหรือว่าการทำงานของสมองอาจจะยังไม่ค่อยเป็นที่พูดถึงด้วยครับ"

    "คำว่า mental health ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงเลย จริงๆ ถ้าเราอยู่ในยุคนี้ เราก็อาจจะมีปัญหาทางจิตอยู่ก็ได้นะตอนนั้น แต่เราไม่รู้" ตุลหัวเราะเบาๆ "แต่ผมเคยไปหาจิตแพทย์ครั้งหนึ่ง และเขาก็ให้ยาตัวหนึ่งมา แต่ผมไม่ชอบเลย ตอนกินมันจะเรียบร้อยไปหมด มันก็ไม่เครียดนะ แต่ไม่ใช่บุคลิกเรา แต่ผมว่าเรารอดมาได้เพราะมีศิลปะนี่แหละ มีการเขียน มีดนตรี ผมบอกบีมว่า ถ้าไม่มีดนตรี เราอาจจะทำอะไรที่มันไม่ดีไปกว่านี้แล้วก็ได้"

    "ตอนที่ทำดนตรีหรือเขียนบทกวีก็ไม่ได้คิดว่ามันจะบำบัดหรอก" ตุลวิเคราะห์ต่อ "มันนอนไม่หลับ มันไม่รู้จะทำอะไรแล้วจริงๆ พอมันมาแล้วก็คิด ไม่ได้พูดกับใคร ผมก็เขียน แต่พอกลับไปย้อนดูอันเก่าๆ จริงๆ มันก็เป็นการบำบัดชนิดหนึ่ง ผมก็รู้สึกว่าคนเราเวลาไปหาจิตแพทย์ จิตแพทย์ก็มักจะให้เราสะท้อนอะไรออกมา หลังๆ การที่ได้รู้จักหลายๆ คนที่ไปหาจิตแพทย์ ก็พบว่าจิตแพทย์ก็จะมีการบ้านให้เรากลับมาเขียนอะไรที่อยู่ในใจเรา โกรธเรื่องอะไร เราโกรธที่ตัวเขาหรือการกระทำของเขา เพราะฉะนั้นสิ่งที่เห็นใน หลบเวลา มันก็คือ โกรธ โกรธ โกรธ โกรธ โกรธ โลกแม่งผิดหมดเลย โว้ยย กูถูกอยู่คนเดียว มันเป็นอย่างนั้น ตอนเด็กๆ มันเป็นอย่างนั้น เราจะถูกอยู่คนเดียว โลกทั้งโลกแม่งผิดไปหมด แล้วสิ่งทำให้เราสบายใจขึ้นคือการที่เราเขียนจดหมายร้องทุกข์ไปในกระดาษ ไม่รู้จะไปถึงใครบ้าง เหมือนอย่างนั้นแหละฮะ พอได้กลับมาอ่าน หลบเวลา แล้วรู้สึกว่าตอนเด็กๆ ทำไมเราเป็นคนขี้โมโหได้ขนาดนั้น มันจะไม่ใช่บุคลิกที่ผมเป็นตอนนี้เลยนะ" นักร้องนำวงอพาร์ตเมนคุณป้าในวัยปลายสี่สิบกล่าวยิ้มๆ"

    "ตอนที่ หลบเวลา ออกมาครั้งแรก เปิดปุ๊ปนี่คือผมเคยอ่านแล้วน่ะ" บีมเล่าถึงวันที่ได้เห็นหนังสือเล่มแรกของเพื่อน "ก็หาดูว่าอะไรที่ผมยังไม่ได้อ่าน เพราะผมเห็นเรื่องเห็นตัวหนังสือของตุลเป็นประจำอยู่แล้ว หลายเรื่องก็เป็นเรื่องที่เราเคยคุยกันบ่อยๆ เรื่องที่เราตั้งคำถามกับความเชื่อต่างๆ เรื่องศาสนา เรื่องครอบครัว เรื่องสังคม"

    จากนั้น ตุลก็มีหนังสือรวมบทกวีออกมาอีกหลายต่อหลายเล่ม บทกวีของเขาเติบโต เปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนประเด็นไป

    ส่วน หลบเวลา คืองานที่เขาเขียนไว้ในช่วงปี 2542-2545 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กรุงเทพฯ กำลังมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ตั้งแต่ผลกระทบจากวิกฤตต้มยำกุ้ง, การเปิดใช้รถไฟฟ้า, การเบ่งบานของศูนย์รวมวัยรุ่นที่ชื่อเซ็นเตอร์พ้อยท์, การเลือกตั้ง ส.ว. ครั้งแรกและครั้งเดียวของไทย ไปจนถึงความวุ่นวายที่ชายแดนเรื่องรัฐบาลพม่ากับกระเหรี่ยงก๊อดอาร์มี่ บทกวีใน หลบเวลา บันทึกเรื่องราวเหล่านี้ ผ่านมุมมองแห่งความสับสนและความเป็นขบถแบบที่วัยรุ่นทุกยุคเป็นมา และกลายเป็นบทบันทึกช่วงวัยรุ่นของตุลที่เป็นจุดเริ่มต้นให้เขาได้รับการยอมรับในฐานะกวี

    หลบเวลา ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำเป็นระยะๆ ก่อนจะห่างหายจากแผงหนังสือไปหลายปี

    จนเมื่อชีวิตของทั้งสองคนเริ่มเปลี่ยนไปตามกาลเวลา

    ตุล ยังเป็นนักร้องนำวงอพาร์ตเมนต์คุณป้า วงดนตรีที่เคยร้อนแรงและแปลกใหม่วงนี้ก็ไม่ได้เป็นวงหน้าใหม่อีกแล้ว พวกเขายังทำเพลงอยู่เรื่อยๆ แต่ด้วยอัตราที่ทิ้งช่วงมากขึ้น และตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลงของวงการดนตรีที่เข้าสู่ยุคดิจิตอลเต็มตัว

    บีม เริ่มอิ่มตัวกับวงการดนตรี หลังจากโปรเจตก์ White Rose ที่เขาทำคู่กับ พีช-พชร จิราธิวัฒน์ เขาก็หันไปทำงานเพลงประกอบภาพยนตร์มากขึ้น และเริ่มเอาจริงเอาจังกับงานศิลปะอีกอย่างที่ตัวเองหลงรัก นั่นก็คือการถ่ายภาพ

หนังสือ หลบเวลา

    จนตุลเกิดไอเดียที่จะนำ หลบเวลา มาจัดพิมพ์ใหม่อีกครั้งกับสำนักพิมพ์ happening แต่คราวนี้เขาอยากชวนบีมมาร่วมกันมองกลับไปยังวันเวลาที่พวกเขา 'หลบเวลา' ด้วยกันอีกครั้ง

    "มันก็เป็นช่วงที่ผมเห็นบีมทดลองทำอะไรใหม่ๆ ผมก็เลยชวนเขามาทำงานด้วยกันอีกทีครับ ผมว่ามันถึงเวลาแล้วจะรียูเนียน เมื่อก่อนเราเคยร่วมงานกันทำดนตรี ตอนนี้ก็ร่วมงานกันเป็นอีกสื่อหนึ่ง มันก็คือวันเวลาเก่าๆ ของเราแหละ ไม่ต่างกันหรอกจริงๆ แล้ว มันแค่เปลี่ยนฟอร์แมต เรื่องราวพวกนี้มันก็มีบีมอยู่ในนั้นแหละ ในหนังสือนั้นแหละ ต้องมีบีม มีปั๊ม มีเพื่อนผมทุกคนแหละที่เราผ่านชีวิตตอนนั้นมาอยู่ในนั้นไม่มากก็น้อย มันหล่อหลอมให้เรามาเป็นอย่างนี้ มันเป็นจดหมายร้องเรียนของเราในวัยหนุ่มที่มันลากมาตั้งแต่ยุคมหา'ลัยจนจบใหม่ๆ ยังหางานทำ ยังไม่มีความมั่นคงทางอาชีพการงาน มันจะเป็นเรื่องอย่างนั้นไปหมดเลย แม้แต่จะตอบตัวเองยังไม่ได้เลยว่า ไอ้วิถีนี้ที่เราทำดนตรีมันจะรอดเหรอ แค่นี้เรายังไม่รู้เลย ไม่เคยมีความมั่นใจเลยว่าจะรอด แต่ใครจะไปคิดว่าผมจะทำมาได้ตั้งหลายปี"

    "ตอนนั้นมันคึกคักนะ เพื่อนๆ รอบตัวก็ทำเพลงกันหลายคน แล้วเดี๋ยวก็รู้จักคนนั้น มันเป็นที่มาของเวลาที่เราไปมิวสิคเฟสติวัล ไปงาน แฟตเฟส มีอาชีพไหนที่สามารถมีเพื่อนร่วมอาชีพที่สามารถปาร์ตี้ คุยเล่น ทักทาย รักใคร่กันหลายร้อยคนได้แบบนี้" บีมขยายความ

    "แม้แต่ Dudsweet หรือแบรนด์เสื้ออย่าง Sretsis มันก็เติบโตมากับยุคใกล้ๆ กัน" ตุลขยายความสัมพันธ์ของแวดวงนี้ออกมาอีก "มันก็มองเห็นการเติบโตของเขามาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้ แล้วแต่ละคนก็ยังไม่ไปไหน ยังอยู่ในชีวิตของกันและกัน อาจจะไม่ได้เจอกันบ่อยเหมือนเมื่อก่อน แต่ก็ซัพพอร์ตกันห่างๆ เวลาเราเห็นใครทำอะไร ก็ไปแสดงความยินดีนะครับ"

    และเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงถึงการซัพพอร์ตกันในหมู่เพื่อนๆ ของบีมและตุลก็คือนิทรรศการภาพถ่าย The Im/permanent ของบีมที่มีเพื่อนๆ หลายคนแวะเวียนมาชมผลงานภาพถ่ายของเขา

    "สำหรับผม งานถ่ายภาพมันอยู่กับคนน้อยน่ะครับ เหมือนผมได้บำบัดตัวเองกับการที่ต้องพึ่งคนอื่นเยอะๆ การถ่ายรูปมันเป็นการสะท้อนขึ้นมาจากตัวเอง มันก็เข้ากับช่วงชีวิตที่เราเริ่มสนใจการปฏิบัติธรรม เริ่มสังเกตตัวเอง สังเกตสิ่งแวดล้อม ดูผัสสะของตัวเองว่าอะไรที่มันกระแทกตาเรา ...การถ่ายรูปมันคือการหยุดสิ่งที่เรามองเป็นช็อตๆ แล้วผมรู้สึกว่ามันมีความหมายกับตัวเอง อย่างสมมติว่าผมถ่ายภาพฟิล์ม ส่งฟิล์มไปแล็ป ความทรงจำยังอยู่ แต่ว่ามันจะมีความรู้สึกว่าภาพออกมาเป็นยังไงนะ มันจะเกิดการติดตาม แล้วพอรูปกลับมาปุ๊ป แล็ปส่งเมลมาให้ เปิดโทรศัพท์ดูเมล ได้มองดูว่ารูปเป็นยังไง ใจมันจะเต้น... เห็นรูปแล้วมันรู้สึกว่ามันได้พิจารณาโมเมนต์นั้นอีกที" บีมอธิบายว่าทำไมเขาถึงชอบการถ่ายภาพ

    เหมือนกับการร่วมงานในหนังสือ หลบเวลา ฉบับพิมพ์ครั้งล่าสุด เมื่อทั้งคู่ได้กลับมาหยิบบทกวีชุดนี้มาอ่านอีกครั้ง พวกเขาก็ได้พิจารณาถึงความทรงจำช่วงนั้นร่วมกันอีกครั้งเช่นกัน

    "ตุลบอกผมว่าหนังสือ หลบเวลา คือช่วงที่วงอะไรจ๊ะทำอัลบั้ม The Downtown Symphony นั่นแหละ ผมก็ย้อนกลับไปว่าอยากจะเล่าอะไร อยากถ่ายรูปอะไร คือพอกลับไปอ่านเห็นหน้าแรกเห็นตัวหนังสือแล้วก็แบบ...เออกูนึกออกละ" บีมยิ้มมุมปาก "ผมก็เล่าเรื่องเพื่อน ใช้เรื่องเวลาเยอะ เวลาคือเวลาของกล้องด้วย ใช้ชัดเตอร์สปีดช้าๆ อย่างมีเซ็ตหนึ่งเป็นรูปมอเตอร์ไซค์ ที่มันเลือนๆ ...ดูแล้วรู้สึกว่ามันมีการสื่อเรื่องเวลาดี แล้วก็มีการเอานาฬิกามาเผา ซึ่งตลกมาก ผมนั่งคิดกับหลานเล่นๆ บอกว่า 'เดี๋ยวเรามาเผานาฬิกากันไหม' ก็ลองถ่ายดูที่บ้าน ก็ช่วยกัน ก็ลองทำดู ซึ่งก็เข้าท่าอยู่นะครับ" เขาหัวเราะเบาๆ

    ใน หลบเวลา ที่ตีพิมพ์ใหม่มาหลายครั้ง มีขนบอย่างหนึ่งที่ตุลสร้างขึ้นโดยเป็นที่รู้กันระหว่างเขากับนักอ่าน คือการเพิ่มบทกวีชื่อ 'สยามสแควร์' เข้าไปทุกครั้งที่มีการตีพิมพ์ครั้งใหม่

    "สยามสแควร์ของผมกับบีมก็จะมีอดีตของเรา เมื่อก่อนเราก็ไปนั่งไปดูสาวๆ ไปดูแฟชั่น ในยุคหนึ่ง ผมว่าพื้นที่แบบนั้นมันมีแรงบันดาลใจนะ มันทำให้เราได้พบปะเพื่อนฝูง มันทำให้เกิดแรงปะทะของไอเดียใหม่ๆ ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าสยามสแควร์ ณ วันนี้ มันเป็นพื้นที่ที่เป็นแรงปะทะของไอเดียขนาดนั้นหรือเปล่า หรือแค่เป็นที่ช็อปปิ้งเฉยๆ แต่ผมก็ไม่รู้ เดินไปก็รู้สึกแก่ แต่ก็เห็นมันเปลี่ยน เดินไปตอนนี้รู้สึกว่า ...เราอยู่เกาหลีหรือเปล่าวะ" เขาหัวเราะ "แต่ว่าวันที่ผมรู้สึกสะใจที่สุดคือวันที่ MUEBON จัดนิทรรศการแล้วเขาเอารถตำรวจมาหงายหลังในสยามสแควร์ได้ในวันที่กัญชาเสรีวันแรกผมรู้สึกว่า...ภาพนี้มันเกิดขึ้นได้ยังไงนะ" เขาหัวเราะสนุก "ถึงเขียนเป็นบทสยามสแควร์ชิ้นใหม่สำหรับใน หลบเวลา เล่มนี้ เพราะผมประทับใจมาก ไม่เคยคิดฝันว่าสยามสแควร์จะอนุญาตให้ทำงานอาร์ตในแบบนี้ ด้วยอะไรก็เกิดขึ้นได้ มันคือ museum of canabis ตั้งอยู่ในสยามแสควร์ ถ้าย้อนกลับไปวันที่ผมเป็นวัยรุ่นแล้วมีคนมาบอกว่าวันหนึ่งจะมีเรื่องแบบนี้ในสยามสแควร์ หรือมาบอกว่าอนาคตของประเทศไทยจะมีเรื่องแบบนี้ ผมคงไม่เชื่อ" เขาหัวเราะอีกครั้ง

ผู้ใหญ่ชื่อตุล ผู้ใหญ่ชื่อภากร

    ปกติแล้วหากได้เจอกับตุลหรือบีมแบบเดี่ยวๆ เราจะพบว่าทั้งคู่เป็นคนคุยสนุก แต่ก็สุภาพ แต่หากเราเจอกับพวกเขาทั้งสองคน ความสนิทสนมกันจะขับเน้นความเฮฮาออกมาอีกในระดับหนึ่ง

    สนทนาเรื่องอดีตกันมาพอสมควร เราชวนตุลกับบีมกลับสู่ปัจจุบัน โดยถามว่าวันนี้พวกเขาเป็นผู้ใหญ่ในแบบที่ตัวเองเคยคิดฝันไว้แล้วหรือยัง?

    "มันก็มีเรื่องที่ต้องปรับปรุงตัวอยู่หลายอย่าง" ตุลนิ่งคิด "ผมว่าคนทุกคนถ้าตรวจสอบตัวเองมันก็จะเจอข้อบกพร่องขออะไรในชีวิตตัวเองเรื่อยๆ ซึ่งเราก็อยากจะพัฒนาไปเรื่อยๆ ตอนเด็กๆ เราไม่เคยมามองข้อเสียของตัวเองเท่าไหร่ คิดว่าเป็นเรื่องของวัยรุ่นแหละ วัยรุ่นจะมองว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นในโลกนี้มันเป็นความผิดของโลกใบนี้ ไม่ใช่กู กูถูกต้องเสมอ ไอ้พวกที่ไม่เข้าใจเรามันโง่ อันนี้คือตอนเด็กๆ คิดแบบนั้นแล้วก็จะไม่มีความสุข แต่พอเราอายุมากขึ้นเราเริ่มมองถึงความแตกต่างของมนุษย์ ความคิดเราไม่ใช่เป็นจุดศูนย์กลางของโลก เราจะยอมรับมากขึ้นมากขึ้นว่าเราก็มีข้อผิดพลาด มีข้อด้อย เราเริ่มเข้าใจแล้วว่าที่โลกต้องเป็นแบบนั้นเพราะอะไร แค่เราไม่ไปจับไม่ไปยุ่งกับมันแค่นั้นเอง อะไรที่มันไปคนละทิศทางกับเรา เราก็ปล่อยให้มันไป แล้วเราก็อยู่ในมุมเล็กๆ ของเราก็ได้ ความคาดหวังในการทำงานศิลปะก็เปลี่ยน เมื่อก่อนต้องได้รับการยอมรับ เดี๋ยวนี้แค่ได้ทำก็มีความสุขแล้ว แค่ยังมีโอกาสได้ทำอยู่นี่ ผมว่ามันก็มีความสุขมากๆ แล้ว"

    "ส่วนผมเหมือนได้เจอ..." บีมคิดชั่วครู่ก่อนจะตอบต่อ "ได้เข้าสู่เส้นทางพัฒนาตัวเอง ที่รู้ว่าต้องไปทางนี้ ทำอย่างนี้ต่อไปนะ แต่ก่อนก็รู้สึกว่าอยากร่ำรวย โด่งดัง แต่ก่อนตอนเด็กๆ ถ้าเป็นยุค หลบเวลา ก็คือเราอยากเป็นร็อกสตาร์ แต่ถ้ามองตัวเองตอนนี้ก็คือ เออ แฮปปี้กับการรู้แล้วต้องทำอะไร ทำอะไรแล้วมันมีประโยชน์กับตัวเอง หรือว่าไม่ทำอะไรก็มีประโยชน์กับตัวเองและผู้อื่น เหมือนถ้าเป็นดนตรีก็คงเป็นเหมือนรู้จักตัวโน้ตหยุด เพราะบางทีการไม่ทำไม่ได้แปลว่าไม่เมตตา เพราะมันไม่จำเป็นต้องไปทำทุกอย่าง หลังๆ มา รู้สึกว่าโน้ตหยุดมันมีประโยชน์ แทนที่เราจะไปรู้สึกกับความโกรธ ความไม่พอใจ ที่เราอาจจะสร้างขึ้นเอง อย่างการจัดนิทรรศการรอบนี้ผมแฮปปี้ที่สุด เพราะรู้สึกว่า ตัวเองยอมรับความสำเร็จและความผิดพลาดของตัวเองในเวลาเดียวกันได้ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา มี Artist Talk ที่เราจะคุยกับคนที่มาดูงาน เล่าให้เขาฟังว่ามีอะไร มันไม่ได้เป็นแค่รูปสวยๆ มันมีเรื่องข้างใน ก็เลยพูดคุยกัน เป็นสองวันที่ไม่มีคนซื้อรูปเลย แต่ผมได้คุย ได้เล่าเรื่องงาน แล้วผมรู้สึกว่า ผมได้แบ่งเวลามาแชร์เรื่องราว คนก็แฮปปี้ เขาก็ขอบคุณ ดีใจกันใหญ่เลย 'ขอบคุณมากที่เล่า ไม่งั้นไม่รู้เลย' ผมรู้สึกแฮปปี้มาก ที่ได้คุยเรื่องเกิดแก่เจ็บตาย คุยเรื่องการทดแทนบุญคุณพ่อแม่ บางคนก็รู้สึก มีถามว่าจริงเหรอ แบบนั้นแบบนี้ บางคนก็เดินเข้ามาจากไหนไม่รู้ ผมก็เดินเข้าไปเลย 'สนใจอยากคุยกันไหม เดี๋ยวผมเล่าให้ฟังว่าแต่ละรูปเป็นยังไง' มันเป็นเรื่องที่เราแบ่งปันได้ ...คือถามว่าพอใจกับการเป็นผู้ใหญ่ของตัวเองในตอนนี้มั้ย ก็นึกถึงตัวเองเป็นผู้ใหญ่ ก็รู้สึกว่า พอใจในเส้นทางที่มีก็พอ แล้วก็มีสิ่งยึดเหนี่ยวของเราไว้"

    เมื่อชวนกันมองไปยังวัยรุ่นในปัจจุบัน พวกเขาก็มีความเห็นที่น่าสนใจเช่นกัน

    "ช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงที่เจ๋งมากสำหรับการทำงานศิลปะ" ตุลกล่าวก่อน "เพราะมันเต็มไปด้วยบาดแผล ผมถึงได้บอกว่าถ้าใครอยู่ในช่วงวัยรุ่นแล้ว ถ้าเกิดอะไรขึ้นให้รีบทำงานศิลปะไปก่อน แล้วเก็บ material ไว้ก่อนก็ได้ เพราะความรู้สึกแบบนั้นพอเป็นผู้ใหญ่แล้วจะไม่มี แล้ววัยรุ่นก็จะมีเวลาของการล้มและลุกได้อีกหลายรอบ ผมคิดว่ามันช่วงเวลาที่ต้องเต็มที่กับชีวิต มันเป็นช่วงเวลาที่มีเสน่ห์นะ ผมคิดว่าการที่ยังไม่รู้อะไรบางอย่าง กับการที่มีโอกาสให้ทำผิดได้ นี่คือเสน่ห์และเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ไม่มีอะไรเหมาะสมไปกว่าการทำงานศิลปะมากกว่าช่วงวัยรุ่น

    "วัยรุ่นแต่ละยุคก็จะมีข้อดีและข้อเสียต่างกันไป แต่ยุคใหม่เขารู้ตัวเร็วกว่าเรา หลายๆ คนที่ผมได้พบก็สำมะเลเทเมาน้อยกว่าด้วย เท่าที่สังเกตนะ อย่างยุคผม คนที่เล่นดนตรีด้วยกันมา มันได้เพื่อน มันหยำเปกันมาก" ตุลหัวเราะ "แต่ทุกวันนี้ทำงานกับวงดนตรีน้องใหม่ทั้งหลาย เราสังเกตเห็นเลยว่า บรรยากาศวงเหล้ากับการเล่นดนตรีมันไม่มีแล้ว เขาตั้งใจมาทำงานกันจริงๆ "

    "มันมีพวกนักดนตรีสมัยใหม่รุ่นน้องๆ ที่เราเจอ พวกนักเรียนดนตรี พวกนี้จะเก่งมาก แต่บาดแผลในการเล่นดนตรีมันน้อยแฮะ" บีมเสริม "เขาเรียนหนังสือกันมาแล้ว มีโรงเรียนดนตรีให้เรียน คือมันมีเส้นทางรองรับบาดแผล ในขณะที่รุ่นก่อนคือต้องเดินตีนเปล่าออกจากบ้านมาเลย หรือเป็นผู้หญิงอยากเล่นดนตรี โดนแม่ไล่ออกจากบ้าน บาดแผลในการเล่นดนตรีเยอะเลย"

    "มาตรฐานของนักดนตรีรุ่นใหม่จะดีขึ้น ถ้าเจอนักดนตรีวัยรุ่นสมัยก่อนบนเวทีนี่คือนรก เพราะทุกคนจะแข่งกันเปิดเสียงดัง แต่เด็กสมัยใหม่ขึ้นไปบนเวทีปั๊ป โอ้โห ซาวนด์เขาสุดยอดเลย คือคนยุคใหม่เรื่องนี้เขาสุดยอด ผมโปรดิวซ์วงรุ่นใหม่ๆ เขามีความสามารถในการปรับซาวนด์บนเวทีได้อย่างน่าทึ่งมาก เดี๋ยวนี้บนเวทีมันไม่ใช่นรกอีกแล้ว ออกจะเงียบโหวงเหวงเป็นป่าช้าด้วยนะ เพราะเขาใช้เอียมอนิเตอร์ (ear monitor) ผมต้องอุทานว่า เฮ้ย! นี่เล่นเพลงร็อกอยู่หรือนี่ เงียบกริบเลย อะไรแบบนี้" ตุลเล่าสนุก

     "ถ้าไปยืนตรงเขาจะหลอน เพราะเสียงกีตาร์ก็เบามาก กลองตีเท่าเดิม เสียงร้องก็ไม่ได้ยินเลย เพราะทุกอย่างมันอยู่ในหูครับ" บีมเล่าเสริม

    "แต่ผมยังคุยกับโน้ต Dudesweet (พงษ์สรวง คุณประสพ) ว่า 'เมื่อไหร่จะมีคนขี้เมา ทำไมวัยรุ่นยุคนี้มันเมาน้อยกว่าคนยุคเรา' แต่บางทีมันก็พูดยาก เราอาจแค่เสพติดกับบาดแผลแบบนั้น ผมชอบฟังเพลงจากคนมีบาดแผล ผมไม่ชอบฟังเพลงจากคนที่มีชีวิตสวยงาม ยิ่งชีวิตหยำเป ความเป็นนักเขียนที่มีชีวิตบัดซบผมโคตรชอบเลย" ตุลหัวเราะเบาๆ "ซึ่งบางทีมันน่าสงสารเพราะว่า ทำไมเขาต้องมีความทุกข์เพื่อให้เรามีความสุข แล้วมันก็เป็นเช่นนั้น ถ้าอยากให้ผมทำงานศิลปะ ต้องมีความทุกข์อย่างมาก ที่จะผลิตงานได้เยอะ ...ซึ่งให้ผมเลือกตอนนี้ ระหว่างความสุขกับศิลปะ ผมเลือกความสุขนะ"

    "วันก่อนอ่านข่าวที่รัฐบาลญี่ปุ่นอยากรณรงค์ให้คนดื่มเยอะขึ้น เขาบอกเยาวชนดื่มน้อยไป เป็นปัญหาสังคมของประเทศเขา GDP ลดลง ซึ่งตอนนี้กลายเป็นว่าเราจะมองตรงไหนดี เศรษฐกิจ ดื่มน้อยสุขภาพจิตอาจจะดี หรือว่ายังไงดี หรือตอนนี้อย่างเรื่องกัญชาถ้ามองก็จะเป็นสันทนาการ เป็นจุดดึงดูดการท่องเที่ยว แต่ถ้าไม่ควบคุมให้ดี คนที่ไม่มีความรู้เรื่องกัญชาเลยมันอาจเกิดอะไรที่น่ากลัวขึ้นก็ได้ ผมว่าสังคมมันก็ถกเถียงกันไปเรื่อยๆ ไม่จบ"

    มองไปยังวันข้างหน้า บีมกับตุลยังคงมีเรื่องที่ต้องคิดใคร่ครวญอยู่เช่นกัน แต่แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องเดิมๆ เหมือนสมัยยังอายุน้อยๆ อีกแล้ว

    "จริงๆ แล้วผมต้องมองเรื่องเกษียณอายุนะ มองเรื่องเกษียณและมองเรื่องตาย จริงๆ แล้วมันก็ไม่น่าเชื่อ... พอถึงตอนนี้ผมคิดว่าเราก็จะมีเรื่องอะไรบางอย่างที่คุยกับบีมรู้เรื่อง กลายเรื่องพวกนี้ไป แม้แต่ประเด็นที่เราเขียนเพลง หรืออะไรหลายๆ อย่าง มันก็หนีไม่พ้นเรื่องตาย คือเราเห็นตั้งแต่เด็กแล้วแหละ เราก็รู้ตัวว่าเราไม่อยากเกิดมา ถ้าอ่านใน หลบเวลา ก็จะมีบทชื่อ 'พ่อ แม่ ลูก' ที่พูดถึงเรื่องพวกนี้ เรื่องที่เราไม่ได้อยากมาที่นี่ แล้วพอเราใช้ชีวิตในโลกไปนาน ถึงจุดหนึ่ง มันเริ่มคิดว่า เราจะตายยังไงให้มีคุณค่า ตายยังไงไงให้มีประโยชน์ต่อผู้อื่น ไม่ทิ้งเป็นภาระให้ใคร รวมไปถึงเรื่องง่ายๆ อย่างการการุณยฆาต เป็นเรื่องคำถามที่ตอนนี้ผมตั้งคำถามตัวเองบ่อยมากว่า ถ้าถึงวันนี้ผมมีโอกาสได้ทำ... มันจะเป็นเส้นทางของผมหรือเปล่า" ตุลกล่าวช้าๆ

    "ส่วนผมก็ทำงานศิลปะ ทำอะไรที่มีค่ากับตัวเอง" บีมเล่าถึงความใฝ่ฝันในวันข้างหน้าของเขาบ้าง "ได้แสดง ได้เล่า ได้สื่อสารสิ่งที่มีคุณค่าต่อชีวิตของเราให้กับผู้อื่นได้ ให้กับตัวเองได้ แล้วก็ดูแลพ่อแม่ ดูแลครูบาอาจารย์ คืออะไรที่มันสามารถส่งต่อ ปรับปรุงตัวเอง ทำตัวเองให้ดี ซัพพอร์ตสิ่งที่จะทำให้อนาคตมันดีขึ้น สร้างเหตุปัจจัยให้อนาคตมันดีขึ้น แล้วทำตามนี้ เพราะว่ารู้สึกว่าเรียนรู้หลายอย่าง ก็ไม่เท่ากับรู้ว่า พิจารณาว่าถ้าเราตายไป เราได้สร้างรากฐานอะไรที่จะทำให้คนข้างหน้ามีความสุข ก็มีเรื่องธรรมะเป็นเรื่องหนึ่งนะ แล้วการได้สื่อสารได้อะไรมันก็แฮปปี้ ผมค้นพบว่าตัวเองไม่ค่อยชอบทำงานกับคนเยอะๆ แต่ก่อนมันหลอกตัวเองว่าชอบทำงานมากเลย แต่ถามว่าทำแล้วดีไหม ทำแล้วเครียดไหม เก็บกลับมาบ้าน รู้สึกอึดอัดไหม คนนี้ไม่ชอบ คนนั้นไม่เอา คนนี้ไม่ดี คนนั้นไม่ช่วย มันวุ่นวาย มันเยอะๆ แล้วทำงานศิลปะ คนมันน้อยลงเยอะมาก ถ่ายรูปส่งแล็ป ปรับแต่งรูปทำเอง เข้ากรอบ คุยงาน ทุกอย่างมาจากเรา ชอบอยู่บ้าน ไม่อยากออกจากบ้าน ขี้เกียจออกจากบ้าน อยากเลี้ยงดูต้นไม้ ได้ดูแม่ ดูหมา ทำหน้าที่ อนาคตก็คือสร้างรากฐานกับสิ่งปัจจุบันใกล้ๆ ตัวให้มันอุดมสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ ที่เหลือไม่รู้หรอก ก็ทำไป มองภาพไปไกลๆ ก็คือ ไม่เป็นภาระคนอื่น ดูแลบุพการี ดูแลครูบาอาจารย์ได้

    คุยกับบีมในวันนี้ เพื่อนเก่าบางคนอาจจะประหลาดใจที่เขาหันมาสนใจธรรมะอย่างจริงจัง แต่หลายคนก็อาจไม่แปลกใจ...หรือแปลกใจ หากได้รู้ว่าคนที่ทำให้บีมสนใจธรรมะก็คือตุล

    "ตั้งแต่ตอนวัยรุ่น ตุลเขาเป็นคนแนะนำหนังสือ คู่มือมนุษย์ ของท่านพุทธทาสให้ผมอ่าน แล้วก็มีหนังสือพวกเซน (Zen) นิดๆ หน่อยๆ ก็ถือว่ามีเมล็ดหย่อนไว้แล้วนะ ซึ่งผมก็จำอะไรไม่ค่อยได้หรอก แต่รู้สึกว่า เออ...คำสอนของพระพุทธเจ้าท่าทางจะเจ๋งมากนะ อยู่มาได้ตั้งนาน แล้วก็มีคนที่เจ๋งๆ ชอบเยอะไปหมดเลย"

    "พอได้ยินคำเจ๋งๆ ของเซนผมก็จะมาขีดเส้นใต้ไว้" ตุลเสริมบ้าง "เออ มันเจ๋งเว้ย อย่างประโยคที่บอกว่า 'ถ้าพบพระพุทธเจ้าระหว่างทางจงฆ่าท่านเสีย' โอ้โห ...ประโยคนี้คือพังก์สุดๆ พังก์กว่านี้ไม่มีอีกแล้ว" เขาหัวเราะ "แล้วจริงๆ ความสนใจเรื่องแบบนี้ของเรามันก็เริ่มมาจากตรงนี้ ก็เริ่มอ่านไปแย้งไป มันเป็นความมันของการได้ศึกษาศาสนา ศึกษาอ่านไปแย้งไป จนพออายุมากขึ้นเราถึงเริ่มรู้ เราเริ่มเห็นคำว่าทุกข์ เราเริ่มเห็นว่า ...ศาสนาอื่นอาจจะพูดถึงข้างหน้า โลกหน้า แต่พุทธศาสนาให้มองที่ทุกข์ คุยกันเรื่องคำเดียว คือเรื่องทุกข์ พอคุยเรื่องทุกข์แล้วจบเลย เราถึงเข้าใจว่า ที่เราทำศิลปะก็แปลกนะ เพราะเรามีทุกข์ เราถึงทำงานศิลปะ ได้เริ่มพิจารณา กระทั่งการกลับไปอ่านหนังสือที่ตัวเองเขียนก็คือการพิจารณาความทุกข์ของตัวเอง งานศิลปะมันมีความสุขตอนทำก็จริง แต่มันเป็นทุกข์ ณ จุดเริ่มแรกที่ทำให้เราอยากสื่อสาร"

    "มีหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมชอบมาก" บีมเล่าเรื่องหนังสือต่อ "ไม่รู้เกี่ยวกับพุทธขนาดนั้นหรือเปล่าก็คือ สิทธารถะ ของ เฮอร์มานน์ เฮสเส (Hermann Hesse) เรื่องนี้อ่านหลายรอบมาก เพิ่งมาอ่านอีกรอบหนึ่งเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ทุกครั้งที่ผมอ่าน ผมจะจินตนาการ ถึงตัวละครของเรื่องนี้ที่ได้เจอพระพุทธเจ้านะ แต่ ปฏิเสธพระพุทธเจ้า แล้วขอไปค้นคว้าด้วยตัวเอง แล้วเขาก็ไปเจอเรื่องโลก เรื่องมายา เรื่องโลกีย์ เรื่องกาม จนในที่สุดสุดท้ายก็ค้นพบทางของตัวเอง ผมรู้สึกว่า มันก็คล้ายกับเป็นการหย่อนเมล็ดที่ให้เราได้ไปรู้เอง เราอาจจะไม่ยอมรับ หรืออยากค้นคว้า แต่พระพุทธศาสนาต้องรู้เอง ต้องทุกข์เอง รู้เอง" บีมยิ้มบางๆ

    "พระพุทธเจ้าก็เป็นขบถ" ตุลเสริม

    "การสวนกระแสโลกนี่คือขบถที่สุดแล้ว การสวนกระแสความอยากได้ อยากมี อยากเป็น คือพังก์ที่สุดแล้ว" บีมพยักหน้าเห็นด้วย

    "การเป็นมนุษย์มันมีข้อบกพร่องเยอะมาก มีกิเลสที่ตัวเองพลาดไว้เยอะมาก ยิ่งเราได้พิจารณาตัวเองเรายิ่งรู้ รูโหว่เพียบเลยในชีวิตเรา พออายุมากขึ้น ทำให้เราเห็นแผลในชีวิตเรา เห็นสิ่งที่เราพลาดไป เห็นสิ่งที่เรากระทบใจ กระทบกระทั่งโดยเจตนาไม่เจตนา มันก็ทำให้เรารู้ว่า เราก็ต้องมีเรื่องที่ต้องปรับปรุงตัวเยอะแยะไปหมด" ตุลพูดอย่างใคร่ครวญ

ผลงานภาพถ่ายของ บีม-ภากร มุสิกบุญเลิศ

    บทสนทนายังดำเนินต่อไป รอบๆ ห้องนิทรรศการคือภาพดอกไม้จากฝีมือของบีมที่ถ่ายดอกไม้ในวันที่กำลังโรยรา ด้วยสายตาของช่างภาพ ด้วยสายตาของศิลปิน เป็นภาพที่สวยงามจนชวนให้เราจ้องมองอยู่นานสองนาน ชวนให้เราพินิจพิจารณาเรื่องต่างๆ ในชีวิตไปด้วย

    ทั้งเรื่องราว มิตรภาพ บาดแผล และการเติบโต ไปจนถึงการเข้าสู่วัยหนุ่มใหญ่ด้วยกันของตุลและบีมก็เป็นอย่างนั้น มีความเจ็บปวด มีความงดงาม และชวนให้เราพิจารณาเรื่องต่างๆ ในชีวิตไปพร้อมกัน

วิภว์ บูรพาเดชะ

ผู้ก่อตั้งนิตยสาร happening, บรรณาธิการบริหารนิตยสาร happening, กรรมการบริหารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc), นักเขียน, นักแต่งเพลง, นักฟังเพลง และนักอ่านตัวยง

วรรณวนัช บูรพาเดชะ

ที่ปรึกษาทีม happening shop, เจ้าของเพจเฟซบุ๊กและหนังสือ 'ญี่ปุ่นอุ่นอุ่น', นักเขียน ช่างภาพโฟโต้บุ๊ก 'Nagasaki Light' และไกด์บุ๊ก 'Kagawa Memories' นอกจากภาพถ่ายและงานเขียน สิ่งที่เธอสนใจเป็นพิเศษคือการนั่งสมาธิและการโปรยมุขไม่ขำ