ยุ้ย-ภควรรณ ทองวานิช ความรักระหว่างสีน้ำที่บางเบากับเนื้อดินที่หนาแน่น

    เพลงจากอัลบั้ม In Between Dream ของ Jack Johnson คลอเบาๆ ในมุมทำงานของ ยุ้ย-ภควรรณ ทองวานิช หรือศิลปินที่ใช้ชื่อว่า Atelier Pakawan โต๊ะที่หันออกนอกหน้าต่างมองไปเห็นต้นไม้โดยรอบ มีแสงธรรมชาติส่องเข้ามาทำให้ห้องสว่างกำลังพอดีกับการทำงาน ผลงานภาพวาดสีน้ำที่กำลังลงสีอยู่ระหว่างการทำงานวางค้างอยู่บนโต๊ะ
    เมื่อเราเดินทางมาถึง เธอผละจากโต๊ะทำงานแล้วเดินลงมารับด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ฝนที่เพิ่งหยุดโปรยลงมาส่งกลิ่นดินชื้นจางๆ ขึ้นมากระทบจมูก แต่อากาศในบ้านยังถ่ายเทสะดวก ให้ความรู้สึกปลอดโปร่งไม่อบอ้าว ด้วยการออกแบบให้มีพื้นที่ใช้สอยล้อมรอบโดยมีที่ตรงกลางไว้สำหรับจัดเป็นสวนร่มรื่นน่าเดินเล่น เธอเดินไปหลังเคาท์เตอร์เพื่อหยิบถ้วยเซรามิกที่ปั้นและเพ้นท์ลายเองกับมือมาชงกาแฟให้ดื่ม เมื่อสองมือได้ประคองถ้วยเครื่องดื่มอุ่นๆ ส่งกลิ่นหอมกรุ่น ทำให้เราหายเหนื่อยจากการเดินทางทันที
    ยุ้ยนำเราแวะชมสวนก่อนขึ้นไปดูห้องสมุด ที่นอกจากจะใช้เก็บหนังสือเก่าและของสะสมของคุณพ่อแล้ว เธอยังใช้สำหรับนั่งทำงานออกแบบภายในที่ยังคงมีเข้ามาให้ทำอยู่เรื่อยๆ ก่อนที่จะพาไปยังโต๊ะทำภาพประกอบที่อยู่ในห้องนอนของเธอ
    "ตอนทำบ้านยังทำงานเป็นอินทีเรียดีไซเนอร์อยู่นะคะ เราคิดว่าเราคงไม่ได้ทำอะไรมากกับโต๊ะนั้น แต่เรารู้สึกว่าอยากได้โต๊ะที่มองออกไปนอกหน้าต่างแล้วเห็นวิว เลยเป็นสิ่งแรกที่คิดว่าเราจะตั้งโต๊ะตรงนี้แน่นอน"
    หลังจบการศึกษาจากสาขาการออกแบบภายใน คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ยุ้ยเข้าทำงานเป็นมัณฑนากรในบริษัทออกแบบตกแต่งภายในอยู่พักหนึ่ง พอรู้สึกว่าชอบงานสไตล์รีสอร์ทจึงย้ายไปเป็นมัณฑนากรประจำอยู่ที่ Soneva (โซเนวา) โดยระหว่างนั้นเธอสอนศิลปะเด็กกับ ครูชลิต นาคพะวัน เป็นงานเสริม ซึ่งทำให้ได้วาดรูปเล่น แล้วคำว่านักวาดภาพประกอบที่เคยติดอยู่ในใจตั้งแต่สมัยเรียนก็เริ่มกลับมาสะกิดความรู้สึกอีกครั้ง ขณะเดียวกันที่โซเนวาเป็นรีสอร์ทที่มีการใช้เซรามิกเยอะ จึงเริ่มสนใจงานเซรามิก แล้วไปทดลองเรียนที่ Som Ceramics Studio (สตูดิโอสอนการออกแบบและการปั้นเครื่องปั้นดินเผาขนาดเล็ก โดย รศ.สมถวิล อุรัสยะนันทน์) โดยระหว่างนั้นเธอก็โพสต์ภาพวาดสีน้ำของตัวเองลงอินสตาแกรมไปด้วย จึงมีงานวาดภาพประกอบให้นิตยสาร My Home ควบคู่กันไป 
    แล้วความหลงใหลที่มีต่อการปั้นและความปรารถนาที่จะทำลวดลายบนเซรามิกด้วยตัวเอง ก็เป็นจุดเปลี่ยนให้เธอตัดสินใจลาออกจากงานไปเรียนวิธีการทำเซรามิกที่ญี่ปุ่นอย่างจริงจัง ระหว่างที่ใช้ชีวิตเรียนรู้กระบวนการทำเซรามิกนั้นทำให้เธอค้นพบแนวทางในการวาดสีน้ำมากมายจากหนังสือภาพประกอบของญี่ปุ่น แล้วหันมาฝึกฝนเพื่อพัฒนาจนเป็นงานในสไตล์ของตัวเอง
    การวาดภาพสีน้ำที่มีเนื้อสัมผัสบางเบากับการปั้นเซรามิกด้วยเนื้อดินที่หนาแน่น แม้จะมีกระบวนการทำงานที่ต่าง แต่ก็ช่วยส่งเสริมและเติมเต็มซึ่งกัน อีกทั้งมอบความสุขที่ได้สร้างสรรค์ผลงานด้วยตัวเองทุกขั้นตอนให้กับเธอ
แบบร่างลายเซรามิกและชิ้นงานจริงขนาดใหญ่ฝีมือของเธอ
กว่าความเจือจางจะเริ่มชัดเจน
    ยุ้ยเล่าให้ฟังว่าเป็นคนชอบวาดรูป แล้วครอบครัวก็สนับสนุนให้เรียนวาดรูปตั้งแต่เด็ก นอกจากนั้นยังชอบสีสันและปกหนังสือสวยๆ เป็นพิเศษอีกด้วย "ชอบเลือกหนังสือจากปกค่ะ คือจะชอบคู่สีอะไรสวยๆ มาตลอดเลย แม่เคยเล่าว่าตอนเด็กดูรายการทีวีกับน้องแล้วมีภาพใบไม้ น้องก็ถามว่า 'ใบอะไร' ส่วนยุ้ยพูดว่า 'ใบสีสวย' คือชอบดูสีสวยๆ ตั้งแต่เด็ก" พอถึงช่วงที่จะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย เกณฑ์การสอบเข้าก็มีส่วนต่อการตัดสินใจมากทีเดียว
    "พอคิดว่าอยากเข้าศิลปากรก็ลังเลระหว่างกราฟิกหรืออินทีเรีย ที่มีความลังเลเพราะว่าอ่านหนังสือเยอะ ชอบหน้าปกหนังสือสวยๆ แล้วก็มีคำว่านักวาดภาพประกอบอยู่ในใจตั้งแต่สมัยนั้น แต่ไม่รู้จะเป็นได้ยังไง ปรากฏว่าการสอบกราฟิกต้องใช้สีโปสเตอร์ แต่ยุ้ยไม่ชอบสีโปสเตอร์เพราะระบายยังไงก็ไม่เนียน เลยรู้สึกว่าเรียนอินทีเรียก็ดีนะ ภาพเพอสเปกทีฟสวย เป็นคนที่ชอบเรื่องการใช้สี มีความมั่นใจในการเลือกของ ชอบดูนิตยสารแต่งบ้านด้วย เลยเรียนอินทีเรีย แล้วจบมาก็ทำอินทีเรียค่ะ" 
    การใช้สีน้ำในช่วงแรกจะเป็นการลงสีในการทำงานอินทีเรียเป็นส่วนใหญ่ เพราะเมื่อดูจากความสามารถของตัวเองเมื่อเทียบกับเพื่อนคนอื่นแล้ว เธอแค่พอวาดรูปและลงสีได้ในระดับปานกลาง แถมเวลาอยากวาดรูปเล่นยังทำไม่เป็นด้วยซ้ำ
    "ตั้งแต่วาดรูปสมัยเด็กคือจบแค่ตอนนั้น พอมาติวเข้ามหาวิทยาลัยก็มีความจริงจังขึ้นมา ตอนทำงานก็มีโจทย์ของลูกค้า เวลาจะให้วาดรูปเล่นมันเริ่มไม่ได้ อยากวาดก็ไม่รู้จะวาดยังไง ตอนนั้นเลยไปซื้อพู่กันจีนหรือญี่ปุ่นจำไม่ได้นะคะ เป็นแบบที่มีหมึกในตัว แล้วก็วาดเป็นรูปดอกไม้ อันนั้นเป็นงานแรกๆ ที่ลองวาดเล่น เรารู้สึกว่าชอบดอกไม้ ส่วนใหญ่เริ่มจากหมึก เพราะว่ายุ้ยไม่ได้เรียนสีน้ำแบบเพ้นติ้ง ไม่มีทฤษฎีอยู่ในหัวเลย จะเป็นสีน้ำแบบอินทีเรียคือลงแสงเงาได้แค่นั้น ตอนเรียนศิลปากรอาจารย์ให้วาดรูปวิวในสวนแก้ว ยังไม่มีการผสมสีตรงข้าม ต้นไม้สีเขียวก็สีเขียว ก็มีเพื่อนมาคอยช่วยให้ผสมสี เบรคสี เลยได้มาจากตอนนั้นนิดหน่อย แต่ไม่เคยคิดว่าจะมีแพสชั่นในการวาดสีน้ำเลยค่ะ แค่รู้จักสีน้ำ ใช้สีน้ำมาเรื่อยๆ แล้วตอนเรียนอินทีเรียจะต้องเขียนเพอสเปคทีฟแล้วใช้ปากกาตัดเส้นก่อน ค่อยปาดสีน้ำลง พอมาวาดเป็นใบไม้ดอกไม้เล่นเลยวาดแบบตัดเส้น แต่ก็ยังไม่ค่อยชอบ"
    ระหว่างที่ทำงานออกแบบภายในไปเรื่อยๆ ความชอบที่มีต่อการวาดรูปก็ยิ่งชัดเจนขึ้น เธอใช้เวลาว่างหัดวาดรูปเล่นอย่างสม่ำเสมอ พอเริ่มวาดดอกไม้ สัตว์ สิ่งของได้หลากหลายมากขึ้น พอมีคนเห็นก็ทำให้มีงานวาดภาพประกอบให้นิตยสาร My Home นั่นเป็นช่วงเวลาที่เธอเริ่มหาที่เรียนปั้นเซรามิกแล้วพบข้อมูลในอินเทอร์เนตว่าที่ประเทศญี่ปุ่นมีโปรแกรมให้คนทั่วไปสมัครเข้ามาเรียนรู้การปั้นเซรามิก เธอลงเรียนคอร์สสั้นๆ ที่สตูดิโอ คิตะกามะ คาเซน ในเมืองเซโตะ จังหวัดไอจิ ซึ่งเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงด้านเซรามิกมายาวนาน แล้วที่นี่เองที่เธอค้นพบภาพประกอบจากสีน้ำจากศิลปินญี่ปุ่น ที่สร้างแรงบันดาลใจในการฝึกฝนและพัฒนาฝีมือของเธอขึ้นมา
ภาพประกอบที่เคยวาดลงนิตยสาร My Home
    "พอไปเปิดดูนิตยสารญี่ปุ่นเขาจะมีภาพประกอบที่ดูละมุนแล้วก็ชอบ เรารู้สึกว่า เฮ้ย... เราอาจจะชอบแบบนี้ก็ได้ คือไม่ต้องมาตัดเส้นก่อน สีไม่ต้องเนียน มีเรื่องราวกุ๊กกิ๊ก พอเราเปิดดูหนังสือแล้วมีภาพไหนที่ชอบมากๆ ก็ซื้อกลับมาดูเยอะๆ แล้วค่อยจับแนวว่าเขาคงวาดแบบนี้มั้ง คือเราไม่ได้วาดตามเขา แต่มองฟีลงานคนนี้แล้วชอบ เราอยากทำของตัวเองแล้วได้ภาพออกมาประมาณเขาบ้าง เลยเริ่มลองวาดเป็นเส้นจางๆ แล้วใช้สีไปเลยแบบไม่ตัดเส้นบ้าง ได้รับแรงบันดาลใจเยอะจากตรงนั้น"
    แล้วสไตล์การวาดสีน้ำของเธอก็เริ่มชัดเจนขึ้น
การเพ้นต์กับการปั้นที่เกาะเกี่ยวเป็นเนื้อเดียวกัน
    วัตถุประสงค์แรกของยุ้ยที่ทำให้เธออยากลองเรียนเซรามิกคือ ความต้องการออกแบบลวดลายบนเครื่องเซรามิกด้วยตัวเอง เธอเรียนปั้นเป็นงานอดิเรกได้ประมาณ 1 ปี เมื่อรู้ตัวว่าชอบเซรามิกจริงๆ จึงตัดสินใจไปลงเรียนอย่างจริงจังที่ประเทศญี่ปุ่น พอเวลาผ่านไปเรื่อยๆ ความสนุกกับการปั้นก็ทำให้ความตั้งใจแรกที่อยากวาดลายบนเซรามิกเริ่มลืมเลือนไป ตอนถึงเวลาที่นักเรียนทุกคนจะต้องทำโปรเจกต์เป็นชุดกา เธอจึงคิดว่าจะปั้นแล้วใช้วิธีเคลือบสีเดียว แต่เพื่อนที่เรียนด้วยกันเป็นคนกระตุ้นให้ฉุกคิดได้ว่า เธอเดินทางมาที่นี่เพราะอยากออกแบบลวดลายเซรามิกด้วยตัวเองไม่ใช่หรือ
    "วิธีการวาดลายบนเซรามิกของเขามันยากมาก แล้วเป็นวิชาที่ทุกคนต้องเรียนเพราะการใช้พู่กันอันใหญ่แบบ Sometsuke ของเขาโด่งดังมาก ก็คิดว่าเราทำไม่ได้ จนมีโปรเจกต์ที่ต้องทำเซตกาขึ้นมาแล้วเพื่อนบอกว่า 'ยุ้ยจังวาดรูป ยุ้ยจังต้องทำอย่างนี้สิ' ก็เลยลองทำ ซึ่งทีแรกมันยากมาก เวลาทำบนจานไม่เท่าไร แต่บนกามันกลมใช่ไหมคะ เวลาเราลงสีจะซึมเข้าเนื้อแล้วมีสิทธิ์ไหล พอไหลปุ๊บก็จบเลย แล้วยุ้ยออกแบบมาลายเยอะมาก ทุกคนก็แบบทำไมไม่เลือกลายง่ายๆ เพราะตอนทำทุกคนต้องทำจานใหญ่ๆ เพื่อระบายเหมือนกัน แต่ยุ้ยคิดลายนี้ไว้แล้วไงคะ พอมาลงที่กายากมากเลยค่ะ ตอนนั้นถอดใจอย่างแรงว่าเราจะต้องปั้นเยอะแค่ไหนเพื่อมีจำนวนให้เราได้ทดลองวาดเยอะๆ แต่ก็ลองสูดหายใจลึกๆ ค่อยๆ ลงพู่กัน แล้วต้องหมุนกาที่ถืออยู่ไปด้วย แต่สุดท้ายก็ดีใจที่มีเพื่อนคอยเตือนสติว่า เรามาเรียนเพราะชอบวาดรูปไม่ใช่เหรอ ไม่อย่างนั้นคงจะไม่มีงานเพ้นต์เซรามิกกลับมาเลย"
ลวดลายบนผลงานชุดกาในโปรเจกต์ของยุ้ยขณะเรียนทำเซรามิกที่ญี่ปุ่น ออกแบบโดยลดทอนรายละเอียดจากดอกไฮเดรนเยีย แล้วจึงผสมลายด้วยใบไม้ชนิดอื่นที่ดูสมจริงเข้าไป
ความเรียลลิสติกที่อ่อนโยน
    ผลงานของยุ้ยมีทั้งภาพดอกไม้ ต้นไม้ ผลไม้ และอาหาร ที่ขับเน้นสัมผัสละมุนอบอุ่นในความเหมือนจริงได้อย่างน่ามอง ทำให้นอกเหนือจากการทำงานภาพประกอบและภาพวาดลายเส้นแล้ว แบรนด์ต่างๆ ยังนำภาพของเธอมาใช้ในลักษณะที่หลากหลาย ไม่ว่ากับตัวผลิตภัณฑ์ กล่องบรรจุภัณฑ์ ใส่กรอบ และใช้เป็นลวดลายสำหรับการตกแต่งภายในอีกด้วย
    "งานช่วงแรกๆ ที่ทุกคนนึกถึงยุ้ยคือดอกไม้ค่ะ มีตอนที่ได้งานวาดดอกไม้เยอะมาก ซึ่งจากเดิมจะเป็นคนวาดภาพจางๆ น้ำหนักไม่ได้ชัดมาก แต่พอลูกค้ามีมู้ดมาว่าอยากได้ประมาณนี้ เราก็เลยได้ลองฝึกว่าต้องให้น้ำหนัก พอลองไล่แล้วมันดูดี เลย เฮ้ย... หรือว่าสีอย่างนี้จะเป็นการระบายของเรา พอรู้ว่าเราสามารถกดน้ำหนักเข้มอย่างนี้ได้ด้วย ต่อมาก็เริ่มให้น้ำหนักกับงานตัวเองมากขึ้น"
    ซึ่งเทคนิคที่เรียนรู้นี้ทำให้เธอพัฒนางานของตัวเองและวาดสิ่งของอื่นๆ ได้มากขึ้น จากเดิมที่ชอบวาดดอกไม้ สิ่งของ ก็เพิ่มเติมอาหารคาวหวานที่ทำให้คนเห็นน้ำลายไหลได้เลย
    "ที่จริงอยากวาดอาหารมานานมากแล้ว เวลาเห็นรูปอาหารตามแมกกาซีนที่มีแสงสวยๆ มันน่าวาด แต่ว่าตอนที่ยังกดน้ำหนักอะไรไม่เป็น วาดแล้วดูไม่ออกว่ามันคืออะไร ยิ่งไปดูนิตยสารญี่ปุ่นที่ชอบมีรูปประกอบอาหารที่เนียนจนไม่รู้ว่าของจริงหรือวาด ก็เลยอยากลองวาด พอกดน้ำหนักเป็นแล้วมันดูเรียล ก็จะมีความตื่นเต้น มันใกล้เหมือนแล้ว ที่จริงความพยายามวาดเหมือนก็เป็นสิ่งที่ท้าทาย"
ให้ใจกับทุกงาน และเรียนรู้กับสิ่งใหม่ๆ ที่ได้ทำ
    การตัดสินใจลาออกไปเรียนปั้นเซรามิกควบคู่ไปกับการวาดรูปเล่น อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตที่ทำให้ยุ้ยมีโอกาสค้นหาสไตล์การวาดภาพของตัวเอง แต่เมื่อเราถามว่าแล้วอะไรคือสิ่งที่คำว่า 'นักวาดภาพประกอบ' ที่เคยอยู่แค่ในความคิด กลายเป็นความจริงได้ในที่สุด เธอหยุดคิดไม่นานแล้วก็ตอบว่า "การวาดสม่ำเสมอ"
    "มาจากการวาดเล่นแล้วอัพลงอินสตาแกรมหรือโซเชียลนี่แหละค่ะ เพื่อให้ทุกคนเห็นว่าเรายังวาดอยู่สม่ำเสมอ เราสามารถวาดอะไรได้บ้าง แล้วมีพัฒนาการอย่างไร มันช่วยให้คนมั่นใจว่าเราทำได้ เพราะช่วงที่อยู่ญี่ปุ่นก็หายไปเหมือนกัน พอกลับมาเมืองไทยแรกๆ เราอยากได้งานก็งงว่าทำไมงานไม่เข้า ซึ่งก็ลืมไปว่า อ๋อ... ก็ไม่ได้วาด ไม่ได้อัพลงโซเชียล แล้วจะมีงานได้ยังไง"
    โดยการทำงานที่ได้รับมอบหมายจากลูกค้าทุกชิ้น ยุ้ยมักจะคิดว่านี่คืองานของตัวเอง แล้วสวมความรู้สึกว่าถ้าเธอเป็นลูกค้าจะรอดูงานแบบไหนอยู่ ทัศนคติแบบนี้ทำให้เธอเต็มที่กับทุกๆ งานที่ได้ทำ แต่ก่อนหน้านั้นอาจจะต้องพูดคุยรายละเอียดก่อนลงมือมากสักหน่อย เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน
    "ในแง่งานคอมเมอร์เชียลหรืองานของลูกค้า ยุ้ยจะถามลูกค้าก่อนว่ามู้ดที่อยากได้เป็นแบบไหน หรือถ้าเขารู้จักงานเรา เขาชอบงานไหน เพื่อที่จะทำงานได้ตามต้องการ ยกตัวอย่างงานซาลาเปาโกอ้วนที่ใช้แค่หมึก จะมีการผสานกันระหว่างขั้นตอนการทำงานและการคิดราคาด้วยว่าจะต้องเริ่มยังไง ใช้เวลาเท่าไร ซึ่งหลักๆ คือเราต้องการเข้าใจสิ่งที่ลูกค้าอยากได้ก่อนจริงๆ ถึงจะเริ่มได้เต็มที่ เลยดูเหมือนถามเยอะว่าใช้กับอะไร อยากได้อะไรบ้าง ลิสต์ออกมาให้หน่อย ฟีลลิ่งแบบไหนที่ชอบ เท่ๆ หรือสบายๆ เราจะได้ปรับสี ปรับมู้ดให้เขา หลังจากนั้นก็ไม่มีอะไรแล้ว สเก็ตช์คร่าวๆ เสร็จส่งให้ลูกค้าดู พอเขาโอเคเราค่อยเริ่มของจริง"

ลายเส้นของยุ้ยที่วาดให้กับร้านซาลาเปาโกอ้วน
สตูดิโอเซรามิกที่เข้ามาเป็นอีกส่วนหนึ่งในพื้นที่ทำงาน
    สิ่งจำเป็นสำหรับการทำงานวาดภาพของยุ้ยมีไม่กี่อย่าง อุปกรณ์สีน้ำ พู่กัน กระดาษ คอมพิวเตอร์ และเครื่องสแกน นั่นทำให้เธอสามารถทำงานวาดที่บ้านในจังหวัดชลบุรีได้อย่างสะดวกสบาย ด้านการทำงานเซรามิกยุ้ยใช้พื้นที่ของอาคารหลังเล็กที่มีอยู่เดิมในบ้านมาจัดสรรเป็นสตูดิโอ ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับความตั้งใจแรกนัก แต่พอเหมาะพอเจาะกับสถานการณ์เศรษฐกิจและสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกพอดี
    "ช่วงแรกมีแผนว่าข้างบ้านยังมีพื้นที่อยู่ ตอนนั้นประมาณปี 2562 ที่เราคิดจะทำทั้งสตูดิโอปั้นของเราแล้วสตูดิโอถ่ายภาพของน้องที่เป็นช่างภาพด้วยดีไหม แล้วแม่ก็เตือนว่าช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ค่อยดีหรือเปล่า ประกอบกับเผอิญโควิดมา เลยรู้สึกว่าโชคดีมากที่ยังไม่ได้สร้าง เพราะให้เพื่อนช่วยทำแบบเกือบเสร็จแล้ว โปรเจกต์ทำสตูดิโอยิ่งใหญ่ก็เลยพับไป แต่ระหว่างที่คิดจะทำก็มีพวกแป้นหมุนมาไว้ทำงานที่เรือนเล็กอยู่แล้ว ตั้งใจทำไว้เพื่อการปั้นเหมือนเป็นที่ๆ ทำไว้ตั้งแต่สร้างบ้านหลังนี้ เพราะฉะนั้นลักษณะการใช้สอยจะโล่งๆ หน่อย ปัจจุบันรู้สึกว่าดีแล้วที่เป็นที่ขนาดเล็ก ไม่ไปสร้างใหม่ให้ปวดหัว เพราะถ้าบวกกับเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิดด้วย เราจะต้องเครียดกับเงินที่ต้องลงทุนไปมากเลย" ยุ้ยเล่าด้วยน้ำเสียงที่ผ่อนคลายต่อการตัดสินใจในช่วงเวลาที่ถูกต้องพอดี

    ถึงกระนั้นยังมีเรื่องที่เธอต้องเรียนรู้อีกมาก เนื่องจากการเรียนที่ญี่ปุ่นทำให้ส่วนผสมต่างๆ เป็นภาษาญี่ปุ่นหมด เธอจึงไม่ค่อยรู้จักส่วนผสมของไทย ช่วงแรกของการทำงานเซรามิกจึงเป็นการทดลองสิ่งที่เรียนรู้มาปรับใช้กับการทำงานจริง "ทุกอย่างใหม่หมดเลย ตื่นเต้นมาก เพราะเราเรียนมาเป็นภาษาญี่ปุ่น เราจะ เอ๊ะ! ตัวนี้คืออะไร ของไทยซื้อที่ไหน เลยคิดว่าเริ่มเล็กๆ ก็ดีเหมือนกันนะคะ" เธอหัวเราะเมื่อนึกย้อนไปถึงตอนนั้น

    ตั้งแต่เริ่มมีผลงานปั้นส่วนตัวที่เธอค่อยๆ ทดลองทำทีละชิ้น งานด้านเซรามิกก็เริ่มเข้ามา โดยมีทั้งการทำผลงานไปร่วมจัดนิทรรศการ Miss You, Springtime ที่ Somewhere, งานทำกระเบื้องและวาดลวดลายแนวอิตาเลียนบนกระเบื้องสำหรับร้านอาหาร,  งานเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร (tableware) สำหรับร้านอาหาร Blue by Alain Ducasse ซึ่งแม้จะมีช่วงประสบปัญหาและกระบวนการทำงานไม่เป็นไปตามแผนบ้าง แต่ถือว่าทำให้เธอค้นพบสิ่งใหม่ๆ ในตัวเองไม่น้อย

    "ยุ้ยรู้สึกว่า เหมือนมันเป็นอีกสเต็ปนึงที่ทำให้เรารู้ว่าเราทำอะไรได้ และเราต้องปรับปรุงเรื่องไหน ช่วยเพิ่มความมั่นใจมากขึ้นว่าเราสามารถรับออเดอร์ร้านอาหารได้นะ แต่ว่าเราอาจจะต้องจัดสรรเวลาเพิ่มหรือเปล่าค่ะ"

งานวาดและงานปั้นคือคำตอบของความสุขและการสร้างสมดุลให้กับงาน
    บนโต๊ะมีเครื่องเขียน ภาพถ่าย ถ้วยที่นำมาใช้แทนแจกัน โมเดลเซรามิกขนาดเล็กที่ยุ้ยทำขึ้นก่อนที่จะทำงานชิ้นจริงขนาดใหญ่ และของตกแต่งชิ้นเล็กชิ้นน้อย ที่เธอเลือกมาวางไว้สร้างบรรยากาศการทำงานที่สุขใจ เธอบอกว่าเป็นคนชอบให้มีความกระจุกกระจิก ถึงแม้จะดูรกบ้างในบางครั้ง แต่เวลาที่มองไปเห็นสิ่งของที่ชอบก็จะรู้สึกมีกำลังใจ และทำให้การวาดละมุนละไม
    แต่สำหรับการเขียนแบบตอนที่ทำงานเป็นมัณฑนาการนั้นแตกต่างไป ยุ้ยเล่าให้เราฟังว่าเธอไม่ชอบการนั่งเขียนแบบเลย ถึงขนาดที่เวลานั่งที่โต๊ะเขียนแบบแล้วจะต้องสูดหายใจเข้าลึกๆ ก่อนแล้วค่อยเริ่มทำ
    "ตอนทำอินทีเรียก็จะมีความหงุดหงิดใจตั้งแต่ช่วงที่เราดีไซน์ไป ตอนเขียนแบบคอนเสปต์มันมา แล้วก็โดนเปลี่ยนๆ จนแบบสุดท้ายมันแทบไม่เหลืออะไรที่เป็นเราเลย แต่เราก็ต้องมานั่งแก้ปัญหาอะไรต่างๆ หรือเวลาเขียนแบบตู้ เขียนแบบเฟอร์นิเจอร์ ทำไมช่างไม่ทำตามเรา ทำให้เราอยากรู้มากว่ามันต้องยังไง เลยรู้สึกว่าการวาดภาพประกอบและเซรามิกก็เป็นอะไรที่ตอบโจทย์ว่าได้ทำเองตั้งแต่ต้นจนจบ มันคือตัวเราเองทั้งหมด"
    การวาดรูปและการปั้นเซรามิกทำให้เธอมีความสุขมาก จนสามารถจดจ่ออยู่กับมันได้แบบลืมเวลาเลยทีเดียว "เป็นเพราะความรู้สึกของการได้วาดช่วงหลังๆ ด้วยค่ะ เพราะหลังจากผ่านการฝึกฝนมาแล้วเริ่มเป๊ะขึ้น รู้สึกมีอิสระกับทำงานมากขึ้น วาดแล้วไม่เกร็ง แล้วการได้เห็นสิ่งที่เราอยากวาดออกมาได้อย่างที่คิด มันมีความฟิน มีความสุขที่ตัวเองสามารถสื่อของที่อยากวาดออกมาได้ แค่วางอยู่ในห้องก็รู้สึกภูมิใจกับตัวเอง มันเป็นความรู้สึกที่ได้รับน้อยในสมัยที่เป็นอินทีเรียดีไซเนอร์ ตอนนั้นมันจะไปสุดอยู่ที่แค่การจบงาน โดยที่ช่วงระหว่างการทำงานเรารู้สึกไม่โอเค แต่ว่าการวาดรูปเรามีความสุขตั้งแต่ต้นจนจบ"
    เมื่อถามถึงปริมาณของงานวาดและงานปั้น ยุ้ยบอกว่ามีสัดส่วนแทบจะเท่ากันเลย โดยเธอมีงานวาดจากลูกค้ากับงานปั้นที่ทำขายเอง ดังนั้นหากมีช่วงที่งานลูกค้าไม่เร่งมากนัก เธอจะแบ่งเวลาไปทำงานเซรามิก เพื่อที่จะมีรายได้มาซัพพอร์ตกัน
    เธอเล่าถึงการทำงานสองอย่างที่ช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกันให้ฟังด้วย "ถ้าหากเรามีงานวาดงานเดียว เวลาที่เราไปจี้ๆ คิดมากๆ เราอาจจะคิดไม่ออกหรือคิดวนอยู่อย่างนั้น แต่พอเรามีงานปั้นอีกแขนงหนึ่ง ตอนปั้นหัวสมองเราได้ถอดออกจากงานวาด ทำให้หัวโล่งขึ้น แล้วบางทีระหว่างที่ปั้นอยู่ก็ไปปิ๊งไอเดียงานวาดแล้วเราได้จดไอเดีย ไอเดียมันมาเป็นธรรมชาติดีค่ะ เหมือนกับเราได้พักและมีสมาธิขึ้นจริงๆ เพราะแป้นหมุนทำให้นิ่ง"
แนวทางการทำงานที่น่าติดตาม

    ในการประกวด happening Makers 2019: The Illustrators ที่มีโจทย์ให้ผู้สมัครส่งผลงานภาพวาดโปสการ์ดเซต ยุ้ยส่งภาพชุด Twisted ของหวานหลากชนิดที่นำมาตีความใหม่ด้วยการใส่คาแรกเตอร์ต่างๆ ลงไปเพื่อสร้างเรื่องราว ซึ่งแตกต่างจากงานวาดดอกไม้และของหวานแบบเรียลลิสติกที่เธอเคยวาด

    ความโดดเด่นของแนวคิดและสไตล์ภาพทำให้เธอได้รับเลือกเป็นหนึ่งในผู้ชนะ 3 ราย ที่ได้นำผลงานของตัวเองไปจัดแสดงในงาน Pop Up Asia งานแสดงสินค้าคราฟต์และแบรนด์ดีไซน์จากทั่วเอเชีย ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองไทเป พร้อมกับได้รับสิทธิ์ในการเป็น BKKIF Artists ที่มาร่วมออกบูทในงาน Bangkok Illustration Fair 2022 นับเป็นโอกาสดีๆ ที่ได้รับจากการเติมความคิดสร้างสรรค์และมุมมองของตัวเองลงไปในผลงานครั้งแรก หลังจากนั้นเรายังเห็นผลงานรูปแบบอื่น จากการที่ยุ้ยได้รับแรงบันดาลใจจากประสบการณ์ใหม่ๆ ในชีวิตในงาน happening exhibition ที่มีภาพวาดและงานเซรามิกที่เพ้นต์ภาพสุนัขและแมวที่เธอเลี้ยงอยู่อีกด้วย

เมื่อครั้งเดินทางไปออกบูทที่งาน Pop Up Asia
การออกบูทฐานะ BKKIF Artists ในงาน BKKIF 2022

    ด้านงานเซรามิกยุ้ยเริ่มนึกถึงแนวทางการทำชิ้นงานที่นอกเหนือจากภาชนะและเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารที่เน้นฟังก์ชั่นการใช้งานอย่างที่เคยทำมา "เป้าหมายหลักตอนนี้รู้สึกว่าถ้าสามารถทำเซรามิกเป็นงานอาร์ตด้วยก็ดีนะ ยุ้ยอยากเพิ่มความสนุกในการใช้งานหรืออะไรที่แตกต่างจากถ้วยชามทั่วไป มีการลองทำแก้วมัคที่หูไม่ได้เป็นการสอดนิ้วเข้าไป แต่เป็นแผ่น เป็นรูปร่างนั่นนี่โน้น ถามว่าถือสบายเหมือนหูแก้วทั่วไปไหม ก็ไม่สะดวก แต่รู้สึกว่ามันทำให้น่าสนใจในการใช้งานมากขึ้น ตอนยุ้ยไปเรียนที่ญี่ปุ่นแล้วเซนเซพูดขึ้นมาว่า 'ถ้าเกิดคนทำโฟกัสแต่เรื่องฟังก์ชั่น รูปร่างรูปทรงของแก้วจะไม่ต่างกันมากหรอก แต่ถ้าเรามีลูกเล่นนิดนึงก็จะทำให้การใช้งานน่าสนใจมากขึ้น' ฉะนั้นเราจะได้เห็นว่าบางคนก็อาจจะดีไซน์ให้แก้วปากแคบมากเพื่อที่ขณะที่ใช้งานจะได้รับกลิ่นชาหอม ถึงแม้ว่าจะล้างยาก มันจะมีบทเรียนประมาณนี้ให้เราลอง ยุ้ยเลยนำความรู้สึกนั้นมาประยุกต์ใช้กับงานที่ทำอยู่ แต่ว่ายังมีการทำงานที่ผสมๆ กันนะคะทั้งแบบอาร์ตและฟังก์ชั่น เผื่อยังมีบางคนที่อยากถือแก้วแบบสะดวกอยู่"

    การสัมภาษณ์จบแล้วแต่บทสนทนายังไม่จบง่ายๆ ยุ้ยพาเราเดินไปชั้นล่างให้เห็นจานขนาดใหญ่ที่เธอเพ้นต์ลายจากดอกไฮเดรนเยีย กับเซรามิกชิ้นงานจริงที่ทำขึ้นจากโมเดลขนาดย่อมที่เคยเห็นบนโต๊ะทำงานของเธอ ส่วนสวนกลางบ้านนั้นก็เชื้อเชิญให้ออกไปเดินเล่นเสียเหลือเกิน
    เราเพลิดเพลินและหลงลืมเวลาไปในบรรยากาศที่อบอวลความสุขเสียหลายชั่วโมง แต่แล้วแสงสลัวและเงาบนกำแพงที่จางลงก็ส่งสัญญาณบอกว่าถึงเวลาที่เราจะต้องเดินทางกลับ ให้ยุ้ยได้ใช้เวลากับสิ่งที่เธอรักเสียที
Favorite Something
  •   You've Got Mail, Interstellar, Little Forest
  •   Dreams - The Cranberries, All Too Well (10 minutes version) - Taylor Swift, Boyfriend - Harry Styles
  •   The Camphorwood Custodian - Higashino Keigo, ทาร์ตตาแต็งแห่งความฝัน - ฟุมิเอะ คนโด
  •   Joy Sunyoung Fitzgerald, Julie D. O'Rouke, Taylor Swift

ดุสิตา อิ่มอารมณ์

นักเขียน ผู้ใช้พื้นที่ในเวลาว่างไปกับการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ขี่จักรยาน อ่านการ์ตูน เล่นเลโก้ ฯลฯ โดยเชื่อเต็มหัวใจว่าเวลาที่หมดไปกับความรื่นเริงนี้สามารถเติมเต็มชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ