Pong Songsai: นักวาดภาพประกอบผู้ชอบเดินในทางที่คนไม่ชอบไป กับการทำงานที่ต้องรู้ให้ลึกแล้วจึงลงมือทำ

    ป๋อง-นพพร ทรัพย์เย็น หรือ ป๋องสงสัย (Pong Songsai) เป็นนักวาดภาพประกอบผู้หลงรักการเดินเป็นชีวิตจิตใจ เขาใช้เวลาในแต่ละวันหมดไปกับการสำรวจ พบปะ พูดคุย และสังเกตการเคลื่อนไหวในชีวิตของผู้คนตามละแวกใกล้บ้าน ก่อนขยับขยายไปยังโซนที่ไกลขึ้น ลึกขึ้น ตั้งแต่ในประเทศไทยจนถึงต่างประเทศ

    ถนนเล็กๆ ที่อุดมไปด้วยวิถีชีวิตของผู้คนเหล่านี้ กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาสร้างสรรค์ผลงานภาพวาดสีน้ำอันอุดมไปด้วยสิ่งละอันพันละน้อยในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ที่อยู่อาศัย เครื่องไม้เครื่องมือในครัวเรือน ที่บรรจุภาพความทรงจำของผู้เป็นเจ้าของบ้านแต่ละหลัง เพียงแต่ผู้อาศัยในบ้านนั้นกลายเป็นคาแรกเตอร์สัตว์ในจินตนาการของศิลปินหนุ่มแทน

    "จุดแข็งของผมคงเป็นขาที่แข็งแรงมั้งครับ" ศิลปินหนุ่มพูดติดตลก ในช่วงหนึ่งของการสนทนา

    ระยะทางที่เพิ่มขึ้นและแรงบันดาลใจที่ท่วมท้นส่งต่อมาสู่งานคาแรกเตอร์สัตว์ผสมสิ่งของ ภาพวาดชุดพิเศษมากมาย ทั้ง หลงรักรกร้าง, เป็นอยู่คือ, ปล่อย ผี DAY และ อาร์ตทอยสุดน่ารักที่เรียกรอยยิ้มให้กับผู้พบเห็น รวมถึงนิทรรศการเดี่ยว เป็นอยู่คือ (2563) และ คนว่างงาน (2564) ที่รวมรวบผลงานภาพวาดและงานคาแรกเตอร์จากป๋องมาจัดแสดงไว้อีกด้วย

    ก่อนที่เราจะไปทำความรู้จักกับศิลปินคนนี้กันต่อ โปรดสวมรองเท้าคู่โปรดให้เรียบร้อย จากนี้เราจะพาคุณไปสำรวจตามตรอกซอกซอยในผลงานของ ป๋องสงสัย พร้อมกัน

กิโลเมตรที่ไม่เป็นดั่งใจ

    ศิลปินหนุ่มเริ่มต้นกิโลเมตรแรกด้วยการพาเราไปสำรวจวัยเด็กของเขา ป๋องหลงใหลในศาสตร์แอนิเมชันและเลือกเรียนต่อในด้านที่ชอบ ก่อนพบความผิดหวังว่าเขาไม่ติดสาขานั้น ชีวิตจึงผกผันไปสู่การเรียนเซรามิก ก่อนจบมาทำงานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์อยู่พักใหญ่ จนมีโอกาสไปทำงานด้านแอนิเมชันกับพี่ที่รู้จักกัน ระหว่างนั้น เขาก็ใช้เวลาฝึกวาดงานคาแรกเตอร์ของตัวเองไปด้วย

    "ส่วนตัวไม่ค่อยชอบวาดคนเท่าไหร่ จะชอบวาดสัตว์ประหลาดมากกว่า" แม้เขาจะบอกว่าตัวเองไม่ชอบวาดคนเท่าไหร่ แต่ป๋องก็ตัดสินใจท้าทายตัวเองอีกครั้ง ด้วยการไปออกบูทรับวาดสดตามอีเวนต์ต่างๆ "เรารู้สึกว่าคาแรกเตอร์คนที่เราวาดยังไม่น่ารัก การไปออกบูทก็ถือเป็นการฝึกตัวเอง ถามว่าตอนนี้เราชอบวาดคนไหม ก็ยังไม่ชอบนะ แต่ก็ไม่ได้เกลียดมัน เราถือว่ามันเป็นการฝึกที่สามารถเอามาต่อยอดเป็นงานเราได้"


    ถึงจะเป็นกิโลเมตรที่ไม่เป็นดั่งใจ แต่ป๋องก็ใช้ช่วงเวลาในกิโลเมตรนี้ในการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เพื่อไปต่อยอดผลงานในอนาคตได้เป็นอย่างดี

พัฒนาการของคาแรกเตอร์นกน้อยประจำโลโก้ Pong Songsai

กิโลเมตรที่ชวนให้คนสงสัย


    เราแวะพักกันที่สถานีที่มีชื่อว่า ป๋องสงสัย ชื่อที่ฟังแล้วต้องสงสัยว่านามปากกานี้เขาได้มาอย่างไร "เราเป็นคนคิ้วตก ทำให้หน้าเราดูเหมือนกำลังสงสัยอยู่ตลอด เพื่อนๆ เลยเรียกว่า ป๋องสงสัย พอต้องมีนามปากกา เราเลยใช้ชื่อนี้ เพราะคิดว่าถ้าเพื่อนที่โรงเรียนมาเห็น คงจะรู้แน่เลยว่าเราเป็นเพื่อนของเขา" และนี่เป็นคำตอบจากป๋อง

    งานช่วงแรกของป๋องมักนำเสนอคาแรกเตอร์สัตว์ประกอบที่มีส่วนผสมเป็นเอกลักษณ์ของสัตว์ที่เขาชอบและจินตนาการของศิลปิน และถูกนำไปวางขายในรูปแบบของโปสการ์ดและสติกเกอร์ ระหว่างเขาออกบูทรับวาดสด

    "เวลาเราไปออกบูท เราสังเกตเห็นว่าคนชอบซื้อสติกเกอร์ เราเองก็อยากทำบ้าง แต่ถ้าเราเป็นตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์ คนอาจจะไม่เข้าใจ เพราะสติกเกอร์ที่คนซื้อส่วนใหญ่จะเป็นรูปสัตว์ อาหาร ผัก เราก็เลยเอาวัตถุดิบที่เขาชอบ มาผสมกับสิ่งที่เราถนัด อย่างเซ็ตขนมปัง รูปที่ชอบมากๆ คงเป็นขนมปังขึ้นรา ส่วนใหญ่คนจะติดภาพว่าขนมปังต้องสดใหม่ แต่เราคิดว่าขนมปังมันต้องมีตอนเน่า ถ้ามันขึ้นรา แปลว่า มันอายุเยอะแล้ว ก็เลยออกมาเป็นขนมปังแก่ๆ"

    การใส่เรื่องราวให้กับคาแรกเตอร์ ทำให้งานของป๋องเป็นที่สนใจและพาให้ผู้คนสนุกไปกับงานวาดของเขามากขึ้น

    "อาจารย์ที่รู้จักกันเคยบอกว่าคาแรกเตอร์ของเรามันมีแต่ตัว คนดูไม่รู้ว่ามันอยู่ที่ไหน ทำอะไร มันไม่มีชีวิตเป็นของตัวเอง มันทำให้เรานึกได้ว่า เราน่าจะใส่เรื่องราวให้กับคาแรกเตอร์พวกนั้นด้วย หลังจากนั้น เวลาเราทำงาน เราจะพยายามสังเกตดีเทลต่างๆ ของสิ่งที่เราจะวาด เพื่อนำมาใส่ในคาแรกเตอร์ของเรา เช่น ถ้าเราจะออกแบบแพนด้าหนึ่งตัว เราจะนั่งดูคลิปแพนด้าทั้งวัน แล้วสเก็ตช์ไปด้วย เพื่อให้เรารู้ว่าแพนด้าขยับตัวยังไง สิ่งที่เราสังเกตเห็นคือ มันชอบกลิ้ง ไม่ว่าจะตกจากที่สูงหรือขยับตัวไปมาก็ตาม พอดูไปเรื่อยๆ เราก็รู้สึกว่า แพนด้ามีความนุ่ม สิ่งเหล่านี้เราสามารถเอามาใส่ในคาแรกเตอร์ของเราได้"

กิโลเมตรที่ทำให้ค้นพบเรื่องราวอบอุ่นหัวใจ

    หลังจากที่ซุ่มซ้อมวาดคาแรกเตอร์มาพักใหญ่ก็ถึงเวลาที่เขาจะหาบ้านให้กับพวกมัน ป๋องมักเก็บเกี่ยวเรื่องราวของผู้คนที่เขาบังเอิญได้พบและพูดคุยจากการเดินเล่น มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นภาพชุด หลงรักรกร้าง เซ็ตภาพวาดสีน้ำที่เต็มไปด้วยรายละเอียดของผู้ในย่านชุมชน ไม่ว่าจะเป็นใต้​ BTS เพลินจิต, คลองบางขุนศรี, บางหว้า หรือชุด เป็น อยู่ คือ ที่บรรจุเรื่องราวชีวิตของผู้เป็นเจ้าของร้านต่างๆ ทั้ง ร้านทำกุญแจ ร้านขายผัก ร้านโชว์ห่วย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นผลผลิตที่เขาได้จากการเดินเล่นทั้งสิ้น

    "เราไม่ได้มีคอนเสปต์ที่ใหญ่มาก แต่จุดแข็งของเราคือขาที่แข็งแรง การเดินเป็นงานหลักของเรา เวลาเจอซอยไหนดูลึกลับ เราจะเดินเข้าไปเลย ชีวิตของพวกเขาเป็นเรื่องแฟนตาซีสำหรับเรา เราคงไม่มีวันได้นั่งกลึงเหล็ก แต่การที่คุยกับเขา มันทำให้เรารู้เกี่ยวกับการเชื่อมเหล็ก เราอยากให้คนที่มาดูงานรู้สึกว่าเรารู้จริง และมันสนุกทุกครั้งเวลาได้เจอคนที่น่าสนใจ อย่างคุณลุงร้านทำกุญแจ เขาคุยสนุกมากๆ เราบอกเขาว่าถ้าวาดเสร็จแล้วจะเอาร​ูปมาให้ พอหลังจากที่เขาได้รูปไป เขาชอบมาก จนกลับมาซื้อโปสการ์ดอีกเป็นสิบใบ แล้วเวลาเราเล่าเรื่องของแกในเพจ แกก็จะแวะมาคอมเมนต์เล่าส่วนที่เราตกหล่นไปด้วย"

    การเดินไม่เพียงพาให้เขาพบกับความสนุก แต่การเดินทำให้เขาได้เรียนรู้ที่จะเข้าใจคนอื่นเช่นกัน เขาเงียบไปพักหนึ่ง ก่อนเล่าต่อว่า "ช่วงแรกๆ เวลาเราเจอบ้านที่ถูกใจ เรายอมรับว่าเราแอบถ่ายเพื่อเก็บภาพมาวาดนะ แต่ช่วงหลังถ้าเราอยากถ่ายภาพที่ไหน เราจะเดินเข้าไปขอเขาดีๆ เราจะบอกตัวเองเสมอว่า เราจะไม่วาดรูปที่เขาไม่ให้ เพราะมันเป็นชีวิตของเขา เราต้องให้เกียรติเขา ถ้าเขาไม่ให้ เราจะไม่ยุ่ง แม้จะชอบบ้านหลังนั้นมากก็ตาม"

การหยุดเดินที่พาให้ค้นพบเส้นทางใหม่

    หลังจากเดินมาไกลก็ถึงเวลาแวะพัก เช่นเดียวกับชีวิตของป๋องที่ทุ่มเทให้กับภาพวาดเซ็ตหลงรักรกร้างและเป็นอยู่คือมานานเป็นปี ในช่วงเวลาที่เริ่มอิ่มตัวกับสิ่งที่ทำ เขาตัดสินใจหยุดพักวาดรูปสีน้ำนานเกือบ 2 ปี เมื่อถามว่าตอนนั้นเขาหายไปทำอะไร ศิลปินหนุ่มก็หยิบกองทัพอาร์ตทอยกว่าสิบตัวมาวางบนโต๊ะแทนคำตอบ

    "เราหายไปทำของเล่นมาครับ ด้วยความที่เรามีพื้นฐานของงานเซรามิกอยู่แล้ว การทำงานอาร์ตทอยเลยไม่ได้ยากมาก เราดูยูทูปแล้วก็ลองทำตาม เริ่มตั้งแต่การปั้นโปรโตไทป์ ต้นแบบของคาแรกเตอร์ก็มาจากคาแรกเตอร์ที่เราวาด ใกล้บ้านเราจะมีร้านที่ขายอุปกรณ์พวกนี้อยู่แล้ว ตรงไหนที่เราติดขัด อย่างถอดโมลด์ (Mold) ไม่ได้ ก็เดินไปคุยกับเขา ขอให้เขาช่วย ที่นั่นก็เลยเป็นเหมือนห้องเรียนของเรา"

    แล้วเจ้าอาร์ตทอยชุด สัตว์ in ผัก ก็คลอดออกมาให้แฟนๆ ได้จับจองเป็นเจ้าของ โดยป๋องเป็นผู้ลงมือทำด้วยตัวเองทุกขั้นตอน ไม่ต่างจากตอนเป็นภาพวาด คาแรกเตอร์ทุกตัวยังคงเอกลักษณ์ความน่ารักแบบกวนๆ ไว้ตามแบบฉบับป๋องสงสัย ไม่ว่าจะเป็นเจ้า นกแตงกวา กระต่ายหัวไชเท้า หมีผักกาดขาว จระเข้ฟักทอง หมาเห็ดฟาง ก่อนที่เขาจะใช้เวลาหลังจากนั้นกลับมาฝึกวาดรูปอีกครั้ง จนเกิดเป็นภาพชุด ปล่อย ผี DAY ที่เขาใช้ฝึกมือก่อนที่จะก้าวไปสู่การวาดภาพบรรยากาศของเมืองและผู้คนในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโปรเจกต์ในอนาคตที่เขากำลังซุ่มทำอยู่ขณะนี้

    นอกจากนี้ ป๋องยังมีโอกาสได้ออกแบบปกหนังสือ ที่ร้านอูคิกิมี มีคนเปลี่ยนชะตาชีวิตให้คุณได้ ให้กับสำนักพิมพ์ Piccolo อีกทั้ง เขายังเคยจัดนิทรรศการเดี่ยวขนาดอบอุ่นที่ชื่อว่า เป็นอยู่คือ เมื่อปี 2563 และนิทรรศการ คนว่างงาน ซึ่งรวบรวมสิ่งต่างๆ ที่เขาทำในชีวิตไม่่ว่าจะเป็นการออกแบบคาแรกเตอร์ ภาพวาดสีน้ำ และอาร์ตทอย เมื่อปี 2564 ล่าสุด เขายังเป็นหนึ่งในศิลปิน 150 คนที่ได้ร่วมจัดแสดงในงาน Bangkok Illustration Fair 2022 ที่ผ่านมาอีกด้วย

    ในอนาคตเขาหวังว่าตัวเองจะมีโอกาสได้ออกหนังสือที่เล่าถึงกระบวนการคิดงานของตัวเอง เพื่อเป็นวิทยาทานให้กับน้องๆ ที่สนใจงานออกแบบคาแรกเตอร์เช่นเดียวกับเขา "เรารู้สึกว่าน้องๆ นัดวาดหลายคนไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็นขั้นตอนการทำงานของนักวาดคนอื่นๆ เท่าไหร่ ถ้าจะหาอ่านหนังสือแนวนี้ก็ต้องซื้อของต่างประเทศที่มีราคาแพง เราเองก็ไม่ได้เก่งมาก แต่เราอยากเล่าในสิ่งที่เราทำ สิ่งที่เราคิด มันอาจพอช่วยให้เขาได้แง่มุมในการทำงานใหม่ๆ ได้"

ผลงานการออกแบบปกหนังสือ ที่ร้านอูคิกิมี มีคนเปลี่ยนชะตาชีวิตให้คุณได้ โดย Pong Songsai

นักเดินทางผู้เลือกเดินทางที่ตัวเองไม่ชอบ

    หลังจากเดินชมลายเส้นและสีสันในผลงานของศิลปินหนุ่มมาพักใหญ่ ป๋องก็เฉลยให้เราฟังว่า การเลือกทำในสิ่งที่ไม่ชอบ กลายเป็นแนวทางในการทำงานใหม่ๆ ที่เขาเลือกใช้อยู่ในตอนนี้

    "หลังๆ เราเริ่มทำงานจากสิ่งที่ไม่ชอบ เวลาเจออะไรที่รู้สึกไม่ชอบ เราจะเลือกทางนั้น อย่างส่วนตัวเราไม่ชอบวาดวิวทิวทัศน์ขนาดนั้น แต่เราอยากให้คาแรกเตอร์มีเรื่องราวของตัวเอง มันจึงต้องการพื้นที่ เราก็เลยไปฝึกวาดแลนด์สเคป อย่างการออกบูธก็เป็นสิ่งที่เราไม่ถนัด แต่เราต้องทำ เพราะมันเป็นงานของเรา"

    แน่นอนว่าการทำงานกับสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย เวลาและความอดทนจึงเป็นสิ่งที่พาให้ป๋องผ่านพ้นช่วงเวลาเหล่านี้ไปได้ "ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราก็เลือกทำเฉพาะสิ่งที่ชอบ แต่ตอนนี้เราทำงานที่ชอบจนตันแล้ว พอไปดูงานคนอื่น เรามักจะตั้งคำถามว่าสิ่งที่เราวาดกับเขาวาด มันต่างกันยังไง งานของเราขาดอะไร ถ้าเราอยากไปอยู่จุดเดียวกับเขา เราต้องเติม แต่เรารู้ว่าถ้าต้องทำสิ่งที่ไม่ชอบ เราจะเหนื่อยมากๆ งั้นเราทำวันละนิด ถ้าเราวาดแลนด์สเคปไม่เก่ง เราก็วาดแค่วันละหนึี่งรูปพอ ถ้าวาดรูปใหญ่ไม่ได้ เราก็วาดรูปเล็กๆ ค่อยๆ ขยับไป"

    การสนทนากับป๋องก็ทำให้เราเข้าใจว่า บางครั้งการปล่อยให้ตัวเองได้ทดลองทำสิ่งที่ไม่ชอบบ้าง ก็เป็นตัวเลือกที่ไม่เลวเลยทีเดียว

    "ถ้าถามจริงๆ ผมไม่ได้ชอบวาดรูปมาก ไม่ได้ชอบปั้นมาก เราไม่ได้รู้สึกว่าเราอยากทำมันทุกวัน เราแค่เป็นคนที่ทำอะไรก็ได้ที่มันสนุก จากวาดรูปไปปั้น ปั้นไปทำแอนิเมชั่น ทุกอย่างมีจุดเชื่อมร่วมกันหมด ถ้าเราวาดรูป คนบอกว่า คาแรกเตอร์เราเหมือนขยับได้ มันดูมีมิติ มันก็เกิดจากการที่เราเรียนปั้นและชอบแอนิเมชั่น มันเป็นสิ่งที่เราค่อยๆ ผสม ต่อเติมมาเรื่อยๆ เราต้องดู สังเกต เพื่อให้เราเข้าใจ และวาดได้อย่างถูกต้องในสิ่งที่เขาเป็น ความรู้สึกนี้เป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนผม"

    แล้วเราก็เดินมาถึงสถานีสุดท้ายก่อนจากกัน การเดินทางในครั้งนี้ทำให้เราได้รู้จักกับศิลปินหนุ่มในแง่มุมที่แตกต่างไปจากเคย ป๋องเดินจากไปแล้ว ไม่มีใครรู้ว่าในอนาคตเขาจะสร้างสรรค์ผลงานแบบไหนออกมา แต่เราต่างรู้ดีว่าทุกครั้งที่เขาก้าวเดินออกไปพบเจอเรื่องราวใหม่ๆ ภาพทรงจำจะถูกบันทึกไว้บนภาพวาดของเขาอย่างแน่นอน

นิษณาต นิลทองคำ

กองบรรณาธิการที่กำลังใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน ชอบคุยกับผู้คน ท้องฟ้า และเสียงดนตรี เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการฟังเพลง ที่บางทีก็ปล่อยให้เพลงฟังเรา

นภัส วิบูลย์พนธ์

ช่างภาพและนักประสานงานเจ้าระเบียบที่อัพสกิลความละเอียดขึ้นทุกปี กำลังใช้เวลากับเพื่อนสนิทที่ชื่องานเขียนและภาพถ่ายไปพลางๆ ระหว่างรอแก่ไปเจอฝันเล็กจิ๋วอย่างการนั่งชมต้นไม้ในสวนหลังบ้านของตัวเองบนเก้าอี้โยกกับหมาซักหนึ่งตัว