มองกรุงรัตนโกสินทร์ 240 ปี ผ่านร่องรอยและเรื่องราวในภาพถ่าย

    เมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีพระราชพิธียกเสาหลักเมือง กรุงรัตนโกสินทร์จึงถูกสถาปนาขึ้นเป็นเมืองหลวงของไทยในวันที่ 21 เมษายน 2325 ในรัชสมัยของปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ล่วงเลยมาถึงวันที่ 21 เมษายน 2565 รัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทางสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับภาคีเครือข่ายทางวัฒนธรรม จึงจัดงาน ใต้ร่มพระบารมี 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมเที่ยวชมวังและพิพิธภัณฑ์ในหลายพื้นที่ แต่มีกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้เราได้เห็นกรุงรัตนโกสินทร์ผ่านมุมมองของผู้คนคือ RPST : Photo Walk โดย สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ 
    กิจกรรมนี้รับสมัครช่างภาพและประชาชนทั่วไปผู้สนใจมาร่วมเดินถ่ายภาพในวันที่ 9-10 เมษายน และ 16-17 เมษายน 2565 เส้นทางการถ่ายภาพแบ่งออกเป็น 4 พื้นที่ (รวม 10 เส้นทาง) ได้แก่ A เกาะรัตนโกสินทร์และบริเวณใกล้เคียง, B ย่านเยาวราช ไชน่าทาวน์, C ย่านดาวน์ทาวน์ สยาม สีลม ราชประสงค์ และ D คลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งทุกเส้นทางการเดินจะมีกูรูช่างภาพประจำกลุ่มคอยให้คำแนะนำเทคนิคการถ่ายภาพ พร้อมรับฟังบรรยายเกร็ดความรู้จาก อาจารย์ นัท-จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา วิทยากรอิสระด้านศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ไปตลอดทาง
    ต้น-จุฬวิศว์ ศานติพงศ์ อุปนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นผู้ออกแบบเส้นทางการเดินถ่ายภาพครั้งนี้ เมื่อโจทย์ของงานเกี่ยวข้องกับโอกาสครบรอบการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ 240 ปี เขาจึงคิดว่า ในแต่ละรัชกาลมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในพื้นที่ไหนหรือแต่ละพระองค์มีพระราชกรณียกิจในบริเวณไหนก็นำมาผูกเป็นเส้นทางได้ 10 เส้นทาง แล้วเปิดรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มละ 24 คน จึงได้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม 240 คนพอดี 
    ลองรับชมผลงานบางส่วนที่คัดสรรมาให้ชมกันสักหน่อย แล้วจะเห็นว่าแต่ละเส้นทางมีร่องรอยอีกทั้งเรื่องราวที่บอกเล่าความเป็นมาและปัจจุบันขณะของกรุงรัตนโกสินทร์ไว้อย่างไร

A เกาะรัตนโกสินทร์และบริเวณใกล้เคียง

เส้นทางที่ 1 เพลิดเพลิน ดำเนินกรุง

    เส้นทางแรก ต้นพาผู้ร่วมกิจกรรมเดินไปในเส้นทางที่มีสถานที่ซึ่งรัชกาลที่ 1 ทรงสร้างเมือง เริ่มจากจุดนัดพบ ท่ามหาราช สนามหลวง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) และ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)

ชื่อภาพ: ตรอกข้างวัดโพธิ์ 

โดย นวลสมร นิติสุพรรัตน์

คำบรรยายภาพ: ตรอกตรงข้ามวัดโพธิ์ที่มองเห็นพระปรางค์วัดอรุณเด่นเป็นสง่า ท่ามกลางตึกราม อาคารบ้านเรือน วิถีชาวบ้านฝั่งพระนคร

ชื่อภาพ: เพลิดเพลินเดินชมพระนคร 
โดย เกริกฤทธิ์ นพเก้า
คำบรรยายภาพ: พระอัษฎามหาเจดีย์ พระบรมมหาราชวัง สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นเจดีย์ทรงปรางค์รวมทั้งสิ้น 8 องค์ สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพระพุทธบูชา

ชื่อภาพ: โผผิน บินผ่าน เมืองฟ้า อมรพิมาน ตระการตา ตระการใจ 

โดย เมชา ธาดาชัยชุมพล

คำบรรยายภาพ: พระบรมมหาราชวังฝั่งใกล้ท่าเตียน สามารถมองเห็นพระปรางค์วัดอรุณฝั่งตรงข้ามได้ชัดเจน

ชื่อภาพ: ตึกท่าช้างอาคารอนุรักษ์ 

โดย จิรา ชุมศรี

คำบรรยายภาพ: ตึกท่าช้างกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของท่าช้าง มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ เป็นสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก สร้างตึกแถวขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2452 ปัจจุบันตึกแถวนี้อยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งได้ให้เอกชนเช่าเพื่ออยู่อาศัยและประกอบการค้า

    เขาบอกว่าการจัดกิจกรรมครั้งนี้นับเป็นก้าวย่างที่สำคัญของสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยเหมือนกัน "โฟโต้วอร์กครั้งนี้เราเปิดให้คนทั่วไปสมัครเข้ามาร่วมกิจกรรม เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถคาดดาได้เลยว่าใครจะมาร่วมงานบ้าง ผมจึงกำหนดให้แต่ละเส้นทางมีระยะทางประมาณ 2-3 กิโลเมตร เมื่อเดินทางไปกลับแล้วใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่มีผู้คนทุกเพศทุกวัยมาสนใจนะครับ เพราะคนที่สมัครเข้ามาอายุน้อยที่สุด 8 ปี อายุมากที่สุด 87 ปี ทุกคนจึงเดินร่วมทางกันได้จนจบ หลังเสร็จงานผมคุยกับตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ (นายกสมาคมฯ) ตอนที่เราสรุปงานกันว่า เราได้เหยียบไปในอีกพื้นที่ของคนที่ไม่ใช่ช่างภาพ เหมือนเราได้ก้าวเข้าไปในอีกอาณาเขตหนึ่งของคนที่สนใจประวัติศาสตร์แล้วถ่ายรูปบันทึกเรื่องราว ซึ่งคนกลุ่มนี้ชื่นชมงานนี้มาก อยากให้จัดอีก จึงคิดว่าคงจะมีครั้งต่อไปในอนาคตครับ"

A เกาะรัตนโกสินทร์และบริเวณใกล้เคียง

เส้นทางที่ 2 เมืองเริ่มขยาย จิตใจเบิกบาน 

    เส้นทางที่ 2 นัดพบกันที่ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ แล้วเดินจากโลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร เรื่อยไปจนถึงภูเขาทอง

ชื่อภาพ: ยามเย็น (Twilight) 
โดย จิณณภัทร พลับนิล
ชื่อภาพ: รอยอดีต
โดย:ภรภัทร รุจยาชยะกูร
คำบรรยายภาพ: ผู้คนส่วนมากมักจะมองความงดงามของสถาปัตยกรรมที่อยู่เบื้องหน้า ลองก้มมองเท้าสักนิดจะมองเห็นร่องรอยอดีตผ่านทางเดินแผ่นหินเก่าแก่ พื้นผิดที่ขรุขระไม่ราบเรียบ ผ่านรอยย่ำมานับไม่ถ้วนจากอดีตสู่ปัจจุบัน สะท้อนถึงความแข็งแกร่ง คงทน แม้จะผ่านร้อน ผ่านฝน ผ่านหนาวมานับไม่ถ้วน
ชื่อภาพ: อาทิตย์อัสดง 
โดย ปิยะนันท์ สยนานนท์
คำบรรยายภาพ: แสงอาทิตย์ยามเย็นส่องกระทบยอดโลหะปราสาทและพระอุโบสถ วัดราชนัดดารามวรวิหาร
ชื่อภาพ: วัดเทพธิดาราม วรวิหาร 
โดย ลักขณา อิรยกุลกาญจน์
คำบรรยายภาพ: วัดเทพธิดารามวรวิหาร... วัดแสนสวย พระอารามหลวงที่อยู่คู่กรุงรัตนโกสินทร์มาตั้งแต่รัชกาลที่สาม

    อีกความน่าสนใจหนึ่งคือ เขาค้นพบว่า สิ่งที่ปรากฏอยู่ในภาพ แม้จะดูธรรมดาและเรียบง่ายเพียงใด แต่มีความหมายลึกซึ้งมากกว่าที่ตาเห็น "ตอนที่คัดรูปมาจัดแสดงผมก็รู้สึกว่าคนที่เป็นช่างภาพจะโอเคไหม แต่พอเอาเข้าจริงๆ คัดเลือกรูปง่ายมาก เพราะเมื่อมีอาจารย์นัทมาบรรยายด้วย รูปที่ถ่ายจะมีมิติมากขึ้น อย่างรูปพื้นทางเดินธรรมดาที่เป็นแผ่นหินยาวๆ นี้คืออับเฉารุ่นแรกนะครับ ผมก็เพิ่งรู้ ก่อนที่อับเฉารุ่นที่สองจะหั่นเป็นชิ้นเล็กลง แล้วรุ่นที่สามเป็นตุ๊กตาจีน ดังนั้นรูปจึงมีมิติมากขึ้น มีเรื่องราว มีความลึก ผมถึงบอกว่าเป็นอีกมิติหนึ่งของสมาคมที่เราสามารถก้าวข้ามการถ่ายภาพไปเป็นการทำหน้าที่บันทึกประวัติศาสตร์" ต้นเล่าย้อนให้ฟังถึงความหมายใหม่ๆ ของการถ่ายภาพที่เกิดขึ้นในกิจกรรมครั้งนี้ให้ฟัง

A เกาะรัตนโกสินทร์และบริเวณใกล้เคียง
เส้นทางที่ 3 โพ้นทะเลอพยพ คบหาสมาคม
    ผู้ร่วมกิจกรรมจะได้เห็นความหลากหลายของพื้นที่มากขึ้น เขานัดพบทุกคนที่หอศิลป์ราชดำเนิน เดินไปถนนข้าวสาร เลี้ยวไปทางวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร แล้วไปสิ้นสุดที่ย่านบางลำพู
ชื่อภาพ: Peace in the Hollow of the Tree 
โดย นฤพร ถาวรทวีวงษ์
ชื่อภาพ: ว่างแล้วช่วยโทรหา
โดย สุวลี ดวงโชคไชย
คำบรรยายภาพ: ถนนข้าวสาร เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ การมีตู้โทรศัพท์หยอดเหรียญสาธารณะหลงเหลืออยู่ จึงถือเป็นของสำคัญที่จะละเลยไปไม่ได้
ชื่อภาพ: ใต้ร่มพระบารมี 
โดย อรอนงค์ สนแจ้ง
คำบรรยายภาพ: ภายใต้ร่มพระบารมี ไม่ว่าเชื้อชาติไหนก็สามารถทำมาหากินอยู่อย่างเป็นสุข
ชื่อภาพ: กราบลา 
โดย ณภัชป์ รัตนศักดิ์
คำบรรยายภาพ: สาธุชนทั้งคณะสงฆ์และฆราวาสต่างเศร้าเสียใจกับการมรณภาพของสมเด็จพระวันรัต
A เกาะรัตนโกสินทร์และบริเวณใกล้เคียง
เส้นทางที่ 4 สำเภามาค้า นานาชาติมาขาย 
    การนัดพบที่ป้อมพระสุเมรุ เดินต่อไปยังท่าพระอาทิตย์ วัดชนะสงคราม ช่วงเวลากลางวันทำให้เห็นสีสันของย่านบางลำพูที่ชัดเจน ก่อนที่จะจบเส้นทางนี้ที่จุดหมายสุดท้าย พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร
ชื่อภาพ: บังหล่อ 
โดย สันติ เศษสิน
คำบรรยายภาพ: กำแพงหลังวัดชนะสงคราม บังนั่งเล่นยามว่างจากการทำงาน

ชื่อภาพ: ภาพสะท้อน แห่งศรัทธา 

โดย อายุส เกตุทัต

คำบรรยายภาพ: แสง​อาทิตย์​ใน​ยามบ่าย​ ทอด​ส่อง​ไป​ยัง​ทาง​ฝั่ง​​ด้านหลัง​ของ​วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร และ​ที่​บาน​หน้าต่าง​ของ​พระอุโบสถนั้น​ ตัว​บาน​ได้​ถูก​รังสรรค์​ไว้​ด้วยลวดลาย​ไทย​อัน​วิจิตร​ตระการตา​ ส่วน​บาน​ซ้าย​ได้​ถูก​เปิด​ไว้... ภายนอก​ของ​บาน​หน้าต่าง​ มี​บาน​กระจก​ปิด​ไว้​อีก​ชั้น​หนึ่ง​ ซึ่ง​สะท้อน​ให้​เห็นพระบรม​ธาตุเจดีย์​ที่​อยู่​ด้านหลัง​ของ​พระอุโบสถ

ชื่อภาพ: พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ 
โดย แสงชัย เตชะสถาพร
ชื่อภาพ: ป้อมพระสุเมรุ 2 
โดย แสงชัย เตชะสถาพร
A เกาะรัตนโกสินทร์และบริเวณใกล้เคียง
เส้นทางที่ 5 สยามเนื้อหอม เป็นที่หมายปองของใครๆ
    เส้นทางนี้เริ่มจาก วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) แล้วเดินเลาะไปยังท่าช้าง เข้าสู่ปากคลองตลาด ไปสิ้นสุดที่สะพานพระพุทธยอดฟ้า
ชื่อภาพ: ตุ๊กตาจีน ปะทะ งิ้วจีน 
โดย ประภาวรรณ เอื้ออัมพร
คำบรรยายภาพ: ตุ๊กตาจีน เป็นตัวแทนแห่งศิลปกรรมจีน ไม่เพียงแต่แสดงถึงฝีมือช่างสลัก ช่างปั้นว่ามีชั้นเชิงแฝงด้วยภูมิธรรม ภูมิปัญญา และปรัชญา ขณะที่งิ้วจีน แสดงถึงวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และวิถีชีวิต
ชื่อภาพ: วัดโพธิ์ ท่าเตียน 
โดย สมชาย อิ่มชู
คำบรรยายภาพ: วัดโพธิ์เป็นวัดเก่าแก่และมีชื่อเสียงของกรุงเทพ นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ติดอันดับ 3 ของเอเชียและอันดับที่ 17 ของโลก
ชื่อภาพ: 1..2..3...ซาพาน...พู้ด 
โดย พีรพงศ์ สุขใส
คำบรรยายภาพ: ยิ้มซิครับ... รออะไร
ชื่อภาพ: จารึก... รามเกียรติ์ 
โดย อภิสิทธิ์ จิรทัฬหกานต์
คำบรรยายภาพ: จารึกรามเกียรติ์ เป็นส่วนหนึ่งของจารึกวิชาความรู้ต่างๆ อีกมากมายของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม จนได้รับการยกย่องว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ
C ย่านดาวน์ทาวน์ สยาม สีลม ราชประสงค์
เส้นทางที่ 6 ลุมพินี ปรีดาปราโมทย์
    ถือเป็นหนึ่งเส้นทางที่มีความหลากหลาย ได้เห็นความเป็นเมืองในปัจจุบันและกิจกรรมของผู้คนระหว่างทาง ตั้งแต่สวนลุมพินี ราชประสงค์ ตรงไปสยาม แล้วไปจบที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc)
ชื่อภาพ: ตาวิเศษ 
โดย พนัส ธีรภาพวงศ์
คำบรรยายภาพ: ถังขยะใน พ.ศ. นี้
ชื่อภาพ: ลุมพินี ปรีดาปราโมทย์ 
โดย คีรีขันธ์ ไชยพร
คำบรรยายภาพ: สวนลุมพินี ถือเป็นสวนสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย เปิดให้บริการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2468 ตั้งอยู่บนถนนพระรามที่ 4 ล้อมรอบด้วยถนนวิทยุ ถนนราชดำริ และถนนสารสิน แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 7
ชื่อภาพ: ตำนานย่านสยาม
โดย คีรีขันธ์ ไชยพร
คำบรรยายภาพ: ย่านศูนย์การค้าสำคัญในใจกลางกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ชิดกับทั้ง 2 ฝั่งของถนนพระรามที่ 1 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน ตั้งแต่แยกปทุมวัน ถึงแยกเฉลิมเผ่า เลยไปบรรจบกับย่านราชประสงค์ที่อยู่ติดกัน ย่านนี้เป็นที่ตั้งของศูนย์การค้าขนาดใหญ่หลายแห่ง และเมื่อรวมกับย่านราชประสงค์ จึงเป็นรูปแบบที่เรียกว่า 'ย่านการค้าใจกลางเมือง'
ชื่อภาพ: สายพระเนตร 
โดย มณีสินธุ์ ปรารถนา
คำบรรยายภาพ: แทนความรักความห่วงใย ของพระองค์ท่าน

    ต้นกล่าวว่า ผลงานในเส้นทางที่ 6 นี้ถือว่าเหนือความคาดหมายของเขามาก "ตอนที่คิดเส้นทางผมค่อนข้างหนักใจอยู่ว่าคนจะได้รูปจากเส้นทางนี้หรือเปล่า ผมนึกว่าเส้นทางที่มีอาคารประวัติศาสตร์ที่สวยๆ จะได้รูปดีๆ ปรากฏว่าเมื่อนำรูปมารวมกัน เส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่รูปสวยที่สุด คือมันมีความร่วมสมัยมาก มีทั้งกิจกรรมที่คนมาออกกำลังกายในสวนลุมฯ มีความทันสมัยของตึกแถวสยาม มีชีวิตชีวาของคนที่เดินไปเดินมาบนสกายวอล์ค"

A เกาะรัตนโกสินทร์และบริเวณใกล้เคียง
เส้นทางที่ 7 ประวัติศาสตร์ สร้างสรรค์  
    จุดนัดพบของเส้นทางนี้อยู่ที่ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ซึ่งอยู่ใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จุฬวิศว์พาทุกคนเดินเลี้ยวเข้าไปยังเสาชิงช้า ผ่านวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร แล้วไปสิ้นสุดเส้นทางนี้ที่โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ
ชื่อภาพ: ประชาธิปไตย 
โดย กัญจน์สุภักค์ ยุกตานนท์
คำบรรยายภาพ: ว่ากันด้วยเรื่องการเติบโตของระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของเมืองไทยนั้น... มันก็ยุ่งเหยิงและไม่ได้ราบรื่นซะทีเดียว
ชื่อภาพ: ผสมผสานอย่างลงตัว 
โดย สมบัติ รัตนโรจน์มงคล
คำบรรยายภาพ: เสาชิงช้าหนึ่งในโบราณสถานของศาสนาพราหมณ์ ที่ยืนหยัดเคียงข้างกับวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหารโบราณสถานสำคัญของชาวพุทธมาอย่างยาวนาน
ชื่อภาพ: บูชา 
โดย วัชระ สายด้วง
คำบรรยายภาพ: พวงมาลัยมีคนนำมาถวายพระองค์พระที่ผ่านการทำสีรองพื้นด้วยสีดำเตรียมปิดทององค์หนึ่ง บริเวณรอบกำแพงคตวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
ชื่อภาพ: สภาพ 
โดย กฤตชยาธร รอดพู
คำบรรยายภาพ: อาคารก่ออิฐถือปูนหลังคาทรงปั้นหยาอายุ 127 ปี มีความสูง 2 ชั้น สถาปัตยกรรมการก่อสร้างที่ผสมผสานกันระหว่างสถาปัตยกรรมคลาสสิกและสถาปัตยกรรมวิกตอเรียแห่งนี้เคยเป็น  อาคารโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ตั้งอยู่บนถนนบำรุงเมือง ย่านเสาชิงช้าของกรุงเทพฯปัจจุบันเปิดเป็นร้านกาแฟชั่วคราว ดำเนินงานโดย Craftsman Roastery
B ย่านเยาวราช ไชน่าทาวน์
เส้นทางที่ 8 ตามรอยเสด็จประพาสเยาวราช 
    เส้นทางนี้พาผู้ร่วมกิจกรรมตามรอย พระบาทสมดชเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เมื่อครั้งพระองค์ทรงเสด็จประพาสย่านเยาวราชและสำเพ็ง โดยมีการนัดพบกันที่ โคงแรมคชาเบด แล้วเดินเลียบคลองโอ่งอ่าง ข้ามสะพานหันไปยังสำเพ็ง แล้วสิ้นสุดบริเวณตรอกอาม่า
ชื่อภาพ: Miracle Moment  
โดย พุทธพงศ์ นิพัทธอุทิศ
คำบรรยายภาพ: ช่วงจังหวะที่ปลายเท้าทั้งสองข้างไม่ได้สัมผัสพื้น ขอบคุณบุคคลแปลกหน้าที่ทำให้ผมได้ miracle moment นี้มาครับ
ชื่อภาพ: อดีตผ่านเวลา 
โดย ภูมิพัฒน์ ลิ้มสมบัติตระการ
คำบรรยายภาพ: สะท้อนวิถีชาวจีนในสำเพ็ง
ชื่อภาพ: แสงเย็นเมษา 
โดย ภูมิพัฒน์ ลิ้มสมบัติตระการ
คำบรรยายภาพ: การเปลี่ยนแปลงจากพื้นที่ลำคลอง เป็นที่พักผ่อนคนเมือง
ชื่อภาพ: พินิจกรุงที่คลองโอ่งอ่าง 
โดย ชัชวาล เชวงศักดิ์สงคราม
คำบรรยายภาพ: พลบค่ำย่านสะพานหัน ปกติจะเห็นความคึกคักของผู้คนในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ แต่เนื่องจากเป็นช่วงเวลาสงกรานต์ ร้านค้า ร้านอาหารหลายร้านหยุดขาย ที่พักบางแห่งหยุดกิจการ เพราะสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จึงเห็นบรรยากาศบริเวณคลองโอ่งอ่างที่เงียบสงบ ในขณะเดียวกันก็ทำให้มองเห็นความงามของสถานที่เก่าแก่ ที่มีกลุ่มอาคารทั้งยุคเก่าที่หลงเหลืออยู่ และสิ่งปลูกสร้างยุคใหม่ที่อยู่ร่วมกัน เช่นเดียวกับการอยู่ร่วมกันของชุมชนสะพานหันแห่งนี้ ที่มีทั้งคนไทย จีน และอินเดีย เป็นการผสมผสานทางวัฒนธรรมในเมืองหลวง
D คลองผดุงกรุงเกษม
เส้นทางที่ 9 ศิวิไลซ์ทั่วหล้า  
    เส้นทางที่ 9 ต้นนำประสบการณ์เมื่อครั้งไปเยือนงาน ตลาดนัดผดุงศิลป์ Art Market ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2565 มาให้ผู้ร่วมกิจกรรมลองสัมผัส เพราะส่วนตัวเขารู้สึกว่า การล่องเรือไฟฟ้าในคลองผดุงกรุงเกษมทำให้เห็นอีกมุมมองหนึ่ง "ผมประทับใจมาก เพราะว่าคลองสะอาด กลิ่นน้อยมาก และเป็นมุมมองอีกมุมหนึ่งที่เวลาเรารถติดอยู่บนสะพานขาวแล้วมองลงมาจะไม่เห็น เมื่อเรามองจากมุมนี้จะได้เห็นชีวิตริมน้ำ ซึ่งมันเป็นชีวิตจริงๆ ยังมีคนมาอาบน้ำ มีคนมาทอดแห ตกปลา ทึ่งมาก ประหลาดใจมาก และเป็นอีกความประทับใจหนึ่งครับ"
ชื่อภาพ: ตุ๊กตุ๊กพักผ่อน 
โดย ทวีชัย สิริกุลธาดา
คำบรรยายภาพ: พี่คนขับรถตุ๊กตุ๊กมาพักผ่อนริมน้ำและอาบน้ำ
ชื่อภาพ: รากฐาน 
โดย ปาริชาติ สิหะผลิน
คำบรรยายภาพ: พื้นฐานของทุกสิ่ง รากฐานถือเป็นเรื่องสำคัญ จะแข็งแรง มั่นคง หรือจะล้มพังครืน รากฐานถือเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่ง ซึ่งบางครั้งผู้คนอาจมองไม่เห็น หรือหลงลืมไปแล้ว 
ชื่อภาพ: โรงหนังเฉลิมธานี 
โดย เกศสุดา ชมโคกสูง
คำบรรยายภาพ: ความสุขความบันเทิงเริงใจที่หาได้ในอดีตของคนชุมชนนางเลิ้ง
ชื่อภาพ: หัวลำโพง 
โดย ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์
คำบรรยายภาพ: เป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านการเป็นสถานีรถไฟหลักจากหัวลำโพงเป็นบางซื่อ 
C ย่านดาวน์ทาวน์ สยาม สีลม ราชประสงค์
Route ที่ 10 ประชาสุขสันต์
    เส้นทางสุดท้ายนี้เป็นการเก็บภาพภายใน สวนเบญจกิติ ซึ่งนอกจากเป็นสวนสาธารณะที่ได้รับความนิยมทันทีที่เปิดให้บริการแล้ว เขายังพูดถึงความพิเศษของป่าในเมืองแห่งนี้ให้ฟังว่า "ตอนที่ผมค้นข้อมูลของสวนเบญจกิติ ผมพบว่า หมอหม่อง (นพ. รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์) เพื่อนของผมที่เป็นผู้ก่อตั้งชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา บันทึกไว้ว่า เขามีความสุขมาก เพราะได้เจอนกที่ไม่คิดว่าจะเจอตั้ง 30 ชนิด สวนเบญจกิติกลายเป็นที่พักกลางทางสำหรับนกอพยพ หรือกลายเป็นที่พักของนกในสวนลุมพินีที่โดนแมวรังแกแล้วอพยพมาที่นี่ และเมื่อไปถึงผมก็ตะลึงในความสวยงามจริงๆ นะครับ เป็นเรื่องน่ายินดีที่คนกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่แบบนี้กลางเมือง"
ชื่อภาพ: สุขกาย สุขใจ 
โดย วัฒนา เจริญชัยนพกุล
คำบรรยายภาพ: พื้นที่ในสวนป่าเบญจกิติ ที่ออกแบบมาเพื่อทุกคนให้ได้ใช้ประโยชน์
ชื่อภาพ: ธรรมชาติสุขสันต์ ฉันได้บ้านคืนมา 
โดย ประพาส สาริกานนท์
คำบรรยายภาพ: ปัจจุบันกรุงเทพมหานครพื้นที่สวนที่มีต้นไม้ลดน้อยลง กลุ่มนกขาดที่อยู่อาศัยที่เป็นธรรมชาติ เมื่อได้สวนป่าในเมือง ทำให้นกเหล่านั้นได้บ้านหลังใหม่
ชื่อภาพ: Sunset, Skywalk, and Shadows 
โดย ณัฐดนัย สินธุพรม
คำบรรยายภาพ: การหาดูพระอาทิตย์ตกในเขตกลางเมืองกลายเป็นเรื่องยากขึ้นในทุกๆ วัน เนื่องจากตึกสูงทั้งหลายที่ตั้งแข่งกัน แต่สวนเบญจกิติที่อยู่แค่ความสูงระดับพื้นกลับให้ภาพพระอาทิตย์ตกได้ดีกว่าตึกสูงทั้งหลายอีก
ชื่อภาพ: ใบบัว 
โดย สมลักษณ์ คล่องแคล่ว
คำบรรยายภาพ: สี เส้น และหยดน้ำ สะท้อนความอ่อนโยนและเข้มแข็ง ภาพดอกบัวที่สวยงามมักมาจากสีเขียวของใบที่ขับให้บัวนั้นงาม เส้นของใบที่เข้มแข็งแต่กลับอ่อนโยนโอบอุ้มหยดน้ำให้กรอกกลิ้งไปมาแล้วระเหยไป โดยไม่เคยเปียกเพราะหยดน้ำนั้น เปรียบกับใจคนหากไม่ซึมซับเรื่องราวที่ผ่านเข้ามา ปล่อยให้ผ่านไปเหมือนน้ำบนใบบัว ใจย่อมเข้มแข็งและอ่อนโยน

    หลังจากผู้ร่วมกิจกรรมส่งภาพผลงานเข้ามาแล้ว จึงมีการคัดเลือกผลงานเพื่อนำมาจัดแสดงในรูปแบบวีดิทัศน์ที่ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2565 และสามารถรับชมได้ทาง Facebook: สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย 

ดุสิตา อิ่มอารมณ์

นักเขียน ผู้ใช้พื้นที่ในเวลาว่างไปกับการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ขี่จักรยาน อ่านการ์ตูน เล่นเลโก้ ฯลฯ โดยเชื่อเต็มหัวใจว่าเวลาที่หมดไปกับความรื่นเริงนี้สามารถเติมเต็มชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ