ปัญหาใหญ่ระดับการเมืองโลกที่ปะทุขึ้นในปี 2022 ก็คือการที่รัสเซียส่งกองกำลังทหารเข้าไปในยูเครน กลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบที่หลายๆ คนเพิ่งจะได้เห็นภาพ เห็นข่าว และติดตามความโหดร้ายดุเดือดกันในยุคสมัยที่เราไม่นึกว่าเราจะได้เห็นภาพแบบนี้กันอีกแล้ว (แม้นักวิชาการและสื่อหลายรายจะบอกว่าแท้จริงสงครามคล้ายๆ กันนี้ก็มีปรากฏอยู่เรื่อยๆ ทั่วโลก อย่างสงครามปาเลสไตล์-อิสราเอล หรือเหตุการณ์ที่ซีเรีย) แต่ต่างกันตรงที่สงครามยูเครน-รัสเซียนี้ดูจะส่งผลต่อโลกในวงกว้าง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ข่าวสาร การเมือง และน่าจะมีผลทำให้ภูมิรัฐศาสตร์ของโลกเปลี่ยนไปไม่มากก็น้อย
ถ้าให้เหล่าผู้รู้มาวิเคราะห์สงครามครั้งนี้กันในประเด็นต่างๆ ก็ดูเหมือนจะมีเรื่องในวิเคราะห์กันได้มากมายมหาศาล แต่ที่สำคัญคือเหตุการณ์ต่างๆ ก่อนหน้านี้มากมายหลายปัจจัย หลายวาระ ล้วนดูจะส่งผลให้ความขัดแย้งครั้งนี้มาปะทุขึ้นในปีนี้ แต่สำหรับ happening ที่เป็นสื่อมวลชนด้านศิลปะ-บันเทิง เรามีประเด็นเล็กๆ ที่เราสังเกตเห็นและรู้สึกว่าน่าสนใจจนต้องขอรวบรวมมานำเสนอสักหน่อย นั่นก็คือเมื่อพูดถึงรัสเซียแล้ว มีศิลปินนักดนตรีระดับโลกหลายคนเคยแต่งเพลงเกี่ยวกับประเทศนี้เอาไว้ และเมื่อนำมาไล่เรียงดูแล้ว พบว่ามุมมองต่อรัสเซียของศิลปินเพลงระดับโลก-ที่มาจากฝั่งตะวันตก (คืออังกฤษหรืออเมริกา) สะท้อนหลายๆ ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย และอาจสะท้อนหรือนำเสนอมุมมองต่อความเป็นรัสเซียในแบบที่ใครบางคนเห็นด้วย หรือเห็นต่าง จนน่านำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน
และนี่คือเรื่องราวของเพลง 5 บทเพลงจากศิลปินระดับโลกจากตะวันตกที่เล่าถึง 'รัสเซีย' ในมุมมองของพวกเขา
เดอะ บีทเทิลส์ - วงดนตรีที่ดังที่สุดในโลก มีเพลงชื่อ Back In The U.S.S.R. เป็นแทร็กแรกในอัลบั้มคู่ชุด The Beatles ซึ่งออกวางจำหน่ายในปี 1968 (หลายคนเรียกอัลบั้มนี้ว่า The White Album เพราะมีปกเป็นสีขาวล้วนๆ ) เพลงนี้แต่งโดย พอล แม็คคาร์ทนีย์ (Paul McCartney) แต่ให้เครดิตเป็น เลนนอน-แม็คคาร์ทนีย์ ตามธรรมเนียมคู่หูนักแต่งเพลงของวง
พอลแต่งเพลงสนุกๆ เพลงนี้ด้วยการจินตนาการถึงมุมมองของสายลับชาวรัสเซียที่กำลังเดินทางกลับบ้านหลังจากปฏิบัติภารกิจบางอย่างเสร็จสิ้น เขาได้แรงบันดาลใจในการแต่งเพลงนี้จากการอยากล้อเพลง Back in the U.S.A. ของ ชัค เบอร์รี (Chuck Burry) ด้วยเนื้อเพลงกวนๆ ท่วงทำนองสนุกสนาน และการเปิดเพลงด้วยซาวนด์เอฟเฟกต์เสียงเครื่องบิน ทำให้อารมณ์เพลงดูตลกๆ สักหน่อย ท่อนกลางเพลงยังมีเนื้อหาที่เล่นกับความเป็นสหภาพโซเวียตในยุคนั้นโดยเอาสาวๆ ในภูมิภาคต่างๆ มาหยอกเล่น อย่าง "The Ukraine girls really knock me out, They leave the West behind, And Moscow girls make me sing and shout, That Georgia's always on My, my, my, my, my, my, my, my, my mind" ...ประโยคแรกนั้นเป็นหลักฐานทางวัฒนธรรมว่ายุคนั้นยูเครนยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ส่วนประโยคหลังพอลเล่นกับเพลง Georgia on My Mind เพลงดังของ เรย์ ชาร์ลส (Ray Charles) ซึ่งคำว่าจอร์เจียในเพลงของเรย์นั้นหมายถึงรัฐจอร์เจียในสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ จอร์เจียในเพลง Back In The U.S.S.R. นั้นหมายถึงประเทศจอร์เจีย ...ที่ตอนนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตด้วยเช่นกัน
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง โลกแบ่งออกเป็นสองขั้วชัดเจน คือกลุ่มโลกเสรีที่นำโดยสหรัฐอเมริกา กับฝั่งคอมมิวนิสต์ที่นำโดยสหภาพโซเวียต ต่างฝ่ายต่างก็สะสมอาวุธนิวเคลียร์เพื่อสร้างอำนาจทางยุทโธปกรณ์ให้ยิ่งใหญ่กว่าอีกฝ่าย แถมยังมีการทำสงครามแย่งชิงพื้นที่ สงครามข่าวสาร และสงครามตัวแทนในหลายๆ สมรภูมิอีกด้วย เพลง Back In The U.S.S.R. ถูกบันทึกเสียงราว 6 เดือนหลังจากที่สหภาพโซเวียตเข้ารุกรานประเทศเชโกสโลวาเกีย จึงถูกคนที่ 'อิน' เรื่องการเมืองมองว่าเพลงนี้เป็นการส่งข้อความแสดงความเห็นทางการเมืองของวงสี่เต่าทองสู่โลกคอมมิวนิสต์ แต่ประเด็นที่น่าขำก็คือ ดูเหมือนว่าทั้งฝ่ายซ้ายสุดๆ และฝ่ายขวาจัดๆ ก็ไม่พอใจกับเพลงนี้กันทั้งคู่ เพราะท่าทีที่ดูเล่นๆ สนุกๆ จนเกินไป ฝ่ายซ้ายก็รู้สึกเหมือนถูกล้อเลียน ในขณะที่ฝ่ายขวาก็คิดว่าเพลงนี้แอบเชียร์สหภาพโซเวียตหรือไม่ก็เป็นเพลงที่มองเรื่องจริงจังเป็นเรื่องขำๆ ไปเสีย
เดอะ บีทเทิลส์ ไม่เคยไปแสดงคอนเสิร์ตที่รัสเซีย ที่จริงคือพวกเขาถูกแบนที่รัสเซียเพราะถูกมองว่าเป็นอาวุธทางวัฒนธรรมของฝ่ายโลกเสรี จนเมื่อวงสี่เต่าทองแตกแยกย้ายกันไป และสหภาพรัสเซียล่มสลายกลายเป็นประเทศรัสเซียและประเทศต่างๆ ที่อยู่รายล้อมไปแล้ว ต้องรอจนถึงปี 2003 พอล แม็คคาร์ทนีย์ จึงได้มีโอกาสไปร้องเพลงนี้ให้ชาวรัสเซียได้ฟังแบบสดๆ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้น เอลตัน จอห์น (Elton John) คือนักร้องจากโลกเสรีคนแรกที่ได้เอาเพลงนี้ไปคัฟเวอร์สดๆ ให้ชาวรัสเซียฟังในปี 1979 ซึ่งความเจ๋งของการทัวร์คอนเสิร์ตครั้งนั้นของ เอลตัน ก็คือ ตอนนั้นรัสเซียยังเป็น U.S.S.R. อยู่เลย! ทำให้เอลตันเป็นซูเปอร์สตาร์คนแรกที่ได้ร้องเพลง Back In The U.S.S.R. ในประเทศ U.S.S.R.
สติง อดีตนักร้อง-นักแต่งเพลงหลักของวง The Police เจ้าของเพลงโคตรฮิตอมตะอย่าง Every Breath You Take เป็นอีกคนที่เคยแต่งเพลงเกี่ยวกับรัสเซีย เพลงนี้อยู่ในอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกของเขาที่ชื่อ The Dream of the Blue Turtles (1985) ชื่อเพลงว่า Russians ...เป็นเพลงที่แสดงความเห็นทางการเมืองอย่างจริงจัง ไม่ขำ ไม่กวน หากแต่บอกกล่าวกันตรงๆ เลยว่าสติงคิดเห็นอย่างไรกับสงครามเย็น
ในเนื้อเพลงที่มีลีลาเนิบๆ เพลงนี้ สติงอ้างอิงถึงนโยบายของทั้งโลกเสรีและรัสเซียที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน และต่างพากันสะสมอาวุธนิวเคลียร์ไปพร้อมๆ กัน โดยบอกว่าเขาไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เนื้อเพลงมีชื่อและประโยคเด็ดของ นีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev - เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียตผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจาก โจเซฟ สตาลิน) และโรนัล เรแกน (Ronald Reagan - ประธานาธิบดีของอเมริกาในยุคสงครามเย็น) แต่ประโยคที่เป็นเหมือนหัวใจของเพลงนี้ก็คือ "I hope the Russians love their children too" ที่สติงร้องซ้ำอยู่หลายรอบ
สติง ผู้มีชื่อจริงว่า กอร์ดอน ซัมเมอร์ (Gordon Sumner) เคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาได้แรงบันดาลใจในการแต่งเพลงนี้จากการได้ชมรายการเด็กของสหภาพโซเวียตสมัยที่ตัวเองยังเป็นเด็กมหาวิทยาลัย ซึ่งมีเพื่อนของเขาแฮกสัญญาณดาวเทียมของสหภาพโซเวียตแล้วดึงเอารายการเด็กที่คล้ายกับรายการเซซามีสตรีท (Sesame Street) ของที่นั่นมาให้ดู ทำให้สติงคิดได้ว่าชาวรัสเซียที่ถูกวาดภาพเป็นเหมือนปีศาจร้ายจากมุมมองทางการเมืองของโลกเสรี ก็ต้องมีแง่มุมความเป็นมนุษย์เช่นกัน และพวกเขาก็ต้องรักและหวังดีกับเด็กๆ ของตัวเองเหมือนที่ผู้คนในโลกตะวันตกเป็นเช่นกัน
ความน่าสนใจอีกมิติของเพลง Russians คือสติงยังเอาท่วงทำนองของเพลงนี้มาจากชุดเพลงคลาสสิก Lieutenant Kijé งานชิ้นเอกของ เซียร์เกย์ โปรโคเฟียฟ (Sergei Prokofiev) คีตกวีชื่อดังชาวสหภาพโซเวียต เขายังใส่ซาวนด์เสียงนักอ่านข่าวชื่อดังจากรัสเซียไว้ และยังไม่หมด หากฟังดีๆ เราจะได้ยินเสียงที่เป็นการสื่อสารจาก Apollo–Soyuz ซึ่งเป็นโครงการทางอวกาศที่เป็นความร่วมมือระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตในปี 1975 อีกต่างหาก เรียกว่าสติงสร้างเลเยอร์ของความหมายในบทเพลงนี้เอาไว้หลายชั้นทีเดียว
แต่ความสำคัญของ Russians คือ มันเป็นบทเพลงของซูเปอร์สตาร์จากโลกเสรีที่พยายามเปิดใจ และส่งสารแห่งมิตรภาพไปยังโลกคอมมิวนิสต์อย่างจริงจังเป็นครั้งแรก และมันยังเป็นเพลงดังที่ขึ้นอันดับสูงบนชาร์ตเพลงฮิตหลายๆ ประเทศ อาทิ อันดับ 1 ในอิตาลีและบนชาร์ตเพลงยุโรป ส่วนที่อเมริกา เพลงนี้ขึ้นไปสูงสุดที่อันดับ 16 บนชาร์ต Billboard Hot 100
เรื่องราวของเพลงนี้ยังไม่จบ มาถึงปี 2022 เมื่อรัสเซียบุกเข้าสู่ยูเครนในเดือนมีนาคม สติงก็หยิบเอาเพลงนี้มาร้องแบบอะคูสติกอีกครั้งในช่องยูทูบของเขา โดยสติงในวัย 70 ปีบอกว่า "ไม่นึกเลยว่าเพลงนี้จะสามารถมาเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ของโลกวันนี้ได้อีก"
บิลลี โจเอล นักร้อง-นักแต่งเพลง นักดนตรี นักเปียโนชาวอเมริกัน เจ้าของเพลงที่ฮิตไปทั่วโลกอย่าง Piano Man, Just The Way You Are และ My Life เป็นสุดยอดศิลปินป๊อปอีกรายที่แต่งเพลงสะท้อนสังคมและการเมืองเอาไว้ไม่น้อย เขาเคยเขียนถึงสงครามเวียดนามในเพลง Goodnight Saigon เคยเขียนถึงประวัติศาสตร์โลกในเพลง We Didn't Start the Fire และ 2000 Years และสำหรับสงครามเย็น บิลลี โจเอล มีเพลงชื่อ Leningrad ในอัลบั้ม Strom Front (1989) ที่เขาประพันธ์เอาไว้อย่างเหนือชั้น
ในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 80 นั้นถือว่าเข้าสู่ยุคปลายสงครามเย็นแล้ว ด้วยความที่สหภาพโซเวียตเริ่มอ่อนแรงจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา ผู้นำของสหภาพโซเวียตในยุคนั้นคือ มีฮาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) พยายามปฏิรูป เปิดเสรี และมีนโยบายที่เปิดกว้างมากขึ้นเพื่อกอบกู้ประเทศ อัลบั้ม Strom Front ออกวางจำหน่ายในช่วงเวลานั้น ซึ่งเป็นเวลาที่ศิลปินจากโลกเสรีอย่าง บิลลี โจเอล ได้มีโอกาสได้ไปทัวร์คอนเสิร์ตที่ U.S.S.R. ในปี 1987 มาแล้ว ทำให้เขาได้มีโอกาสพบปะและผูกมิตรกับชาวรัสเซียหลายๆ คน และเพื่อนชาวรัสเซียคนหนึ่งก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาแต่งเพลงชื่อ Leningrad ซึ่งเขาเอาชื่อมาจากเมืองที่ได้พบกับเพื่อนคนนี้
เพลง Leningrad เป็นเพลงเปียโนบัลลาดเพราะๆ ตามสไตล์ของ บิลลี โจเอล มีการเล่าเรื่องแบ่งออกเป็นสองส่วนอย่างชัดเจน คือในท่อนแรก เล่าถึงเรื่องของเด็กชายชาวรัสเซียที่ชื่อ วิกเตอร์ ที่เกิดในปี 1944 ที่เมืองเลนินกราด และเติบโตมาในวิถีการปกครองของระบอบคอมมิวนิสต์ที่ต้องใช้ชีวิตเพื่อรับใช้รัฐ และทำตามกฏเกณฑ์ที่เข้มงวดตั้งแต่วัยเยาว์ วิกเตอร์เป็นเด็กในยุคสงครามที่ไม่เคยเห็นหน้าพ่อของตัวเอง และพอบทเพลงมาถึงท่อนแยก ก็เปลี่ยนมาเล่าผ่านสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง ถึง 'ฉัน' ที่เกิดในอเมริกาและเติบโตมากับยุคสงครามเย็น ภายใต้นโยบายทางการเมืองที่มองคนอื่นเป็นศัตรู และการสร้างหลุมหลบภัยเพื่อรับมือสงครามนิวเคลียร์ที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ แล้วบทเพลงก็เล่าสลับระหว่างชีวิตของ 'ฉัน' กับ 'วิกเตอร์' ไปเรื่อยๆ โดยเมื่อถึงท่อนหนึ่ง ชีวิตของวิตเตอร์ในสังคมคอมมิวนิสต์ก็เริ่มคลี่คลาย เมื่อเขาได้ประกอบอาชีพเป็นตัวตลกในคณะละครสัตว์ และค้นพบความสุขจากการทำให้เด็กๆ รัสเซียหัวเราะ
ท่อนไฮไลต์ของเพลง Leningrad นำชีวิตของตัวละครทั้งสองมาบรรจบกัน เมื่อ 'ฉัน' (ซึ่งมาถึงตรงนี้ แฟนเพลงก็ต้องรู้แล้วว่าหมายถึงตัว บิลลี โจเอล นั่นเอง) ได้เดินทางมาที่เมืองเลนินกราดโดยพาลูกสาวมาด้วย แล้วได้พบกับวิกเตอร์ เมื่อวิกเตอร์สามารถทำให้ลูกสาวของบิลลียิ้มออกมาได้ ท่อนสุดท้ายของเพลงจึงเขียนไว้ว่า "We never knew what friends we had, Until we came to Leningrad"
บิลลี โจเอล เคยให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ที่เขานำมาแต่งเป็นท่อนสุดท้ายในเพลงนี้เอาไว้ว่า "สำหรับผมแล้ว สงครามเย็นสิ้นสุดลงเมื่อได้พบกับชายคนนี้" เป็นประโยคง่ายๆ ที่สะท้อนถึงความคิดแบ่งแยกแบบสงครามเย็นที่ฝังหัวอยู่ในคนรุ่นหนึ่ง จนเมื่อได้มาพบกับคนที่เคยคิดว่าเป็นฝ่ายศัตรู ได้พูดคุย และสร้างรอยยิ้มให้กัน จึงเข้าใจว่าจริงๆ แล้วเราเป็นเพื่อนกันได้
ไม่นานหลังจากที่เพลงนี้ออกสู่สาธารณชน โลกก็เข้าสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ปลายทศวรรษ 80 ต่อต้นยุค 90 กระแสเรียกร้องเอกราชในดินแดนที่อยู่ใต้การปกครองของสหภาพโซเวียตก็เข้าสู่จุดแตกหัก จนในที่สุดความเป็นสหภาพก็ล่มสลายลงในเดือนธันวาคมปี 1991 และแยกแตกออกเป็นประเทศเกิดใหม่หลายๆ ประเทศ …โดยมีประเทศยูเครนเป็นหนึ่งในนั้น
ส่วนเมืองเลนินกราด ซึ่งตั้งชื่อตาม วลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin) รัฐบุรุษของโลกคอมมิวนิสต์ ก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และปัจจุบันถือเป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศรัสเซีย
การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 ถือเป็นจุดสิ้นสุดอย่างเป็นทางการของสงครามเย็น แต่มีเหตุการณ์หนึ่งที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดสงครามเย็นเช่นกัน นั่นก็คือการที่กำแพงเบอร์ลินถูกทุบทำลาย
หลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลงในปี 1945 ฝ่ายชนะสงครามได้ตกลงแบ่งกันปกครองประเทศเยอรมนีโดยแบ่งพื้นที่เป็นเยอรมนีตะวันตก (ภายใต้การปกครองของ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส) และเยอรมนีตะวันออก (ปกครองโดยสหภาพโซเวียต) เมื่อเวลาผ่านไป ความแตกต่างระหว่างการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยกับระบอบคอมมิวนิสต์ก็ส่งผลให้เยอรมนีทั้งสองฝากฝั่งมีความเจริญที่แตกต่างและทิ้งห่างกันไปเรื่อยๆ เป็นผลให้มีผู้พยายามอพยพจากฝั่งตะวันออกมาฝั่งตะวันตกมากขึ้นๆ จนเกิดโครงการก่อสร้างกำแพงเบอร์ลินในปี 1961 เพื่อเอาไว้กันขวางไม่ให้คนข้ามพรมแดน และกลายเป็นกำแพงที่ปิดกั้นเสรีภาพ ความสัมพันธ์ และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเยอรมันเรื่อยมา มีผู้คนพยายามลักลอบข้ามกำแพงเบอร์ลินอยู่เรื่อยๆ เป็นผลให้กำแพงถูกขยับขยายและมีมาตรการป้องกันการลักลอบข้ามกำแพงที่เข้มงวดมากขึ้นเรื่อยๆ มีสถิติที่ไม่แน่ชัดว่ามีผู้เสียชีวิตจากการลักลอบข้ามกำแพงกี่คน แต่ประเมินกันไว้ว่าน่าจะอยู่ที่ราวๆ 200 กว่าราย
เมื่อเวลาผ่านไป สหภาพโซเวียตเริ่มอ่อนแรงลง และเริ่มมีนโยบายเปิดกว้างมากขึ้น ในปี 1989 มีการจัดเทศกาลดนตรี Moscow Music Peace Festival ที่ร่วมกับวงร็อกชื่อดังในยุคนั้นมาแสดงดนตรีที่มอสโคว์ ไลน์อัพมีอาทิ Bon Jovi, Skid Row, Cinderella, Ozzy Osbourne รวมทั้งวงร็อกเลือดรัสเซียชื่อ Gorky Park ด้วย และวง Scorpians ร็อกรุ่นใหญ่จากเยอรมนีตะวันตกที่โดดเด่นในแวดวงร็อกระดับโลกมาตั้งแต่ยุค 70's ก็เป็นวงหนึ่งที่ได้ไปร่วมแสดงคอนเสิร์ตเพลงร็อกให้ขาร็อกชาวสหภาพโซเวียตได้รับชม เป็นการแสดงต่อหน้าคนดูนับแสนในสนามกีฬา Central Lenin Stadium ซึ่งเป็นสนามกีฬาที่ใหญ่ที่สุดของรัสเซียในตอนนั้น
เคลาส์ ไมน์ (Klaus Meine) นักร้องนำของวงเล่าถึงโมเมนต์ที่จุดประกายให้เขาแต่งเพลง Wind of Change ว่า "ผมได้ไอเดียของเพลงนี้ตอนที่ผมนั่งอยู่ใน Gorky Park Center ในคืนฤดูร้อนคืนหนึ่ง มองไปที่แม่น้ำมอสควา เพลงนี้คือการพินิจพิเคราะห์ของผมต่อสถานการณ์ของโลกในช่วงปีนั้น" ...เขาหมายถึงบรรยากาศของสงครามเย็นที่เริ่มคลี่คลาย เห็นได้ทีละเล็กละน้อยว่าสหภาพโซเวียตกำลังเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ต่อโลกเสรี
เพลง Wind of Change เริ่มต้นด้วยเสียงผิวปากที่รองรับด้วยเสียงกีตาร์ไฟฟ้าบางเบา และเนื้อร้องท่อนแรกที่ร้องว่า "I follow the Moskva, Down to Gorky Park, Listening to the wind of change" ซี่งสองประโยคแรกนั้นบรรจุชื่อแลนด์มาร์กของเมืองมอสโคว์เอาไว้ ในขณะที่ประโยคที่สามคือบรรยากาศของรัสเซียในช่วงปี 1989 ที่ทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไป แล้วเนื้อเพลงท่อนต่อๆ มาก็กล่าวถึงเสรีภาพ, สันติภาพ, ความสงบของจิตใจ และการใกล้ชิดกันของผู้คน
ปี 1989 ทางสหภาพโซเวียตได้มีการทดลองปฏิรูปการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยในเยอรมนีตะวันออก ประชาชนเริ่มแสดงออกทางการเมืองมากขึ้น จนเดือนพฤศจิกายน มีข่าวลือว่าทางการจะอนุญาตให้ชาวเบอร์ลินตะวันออกผ่านเข้าออกเขตแดนได้อย่างเสรีอีกครั้ง เป็นผลให้ผู้คนเรือนหมื่นพาไปยังด่านต่างๆ ของกำแพง เกิดความโกลาหลจนเจ้าหน้าที่ยอมปล่อยให้ฝูงชนผ่านเขตแดนอย่างไม่มีทางเลือก ชาวเบอร์ลินตะวันตกออกมาต้อนรับชาวเบอร์ลินตะวันออก บรรยากาศของเสรีภาพอบอวล กลายเป็นวันที่ประเทศเริ่มหลอมรวมอีกครั้ง และมีผลให้กำแพงเบอร์ลินถูกทุบทำลายลงอย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายน ปี 1990 ซึ่งไม่กี่เดือนถัดมา วงสกอร์เปี้ยนส์ก็ออกอัลบั้ม Crazy World ที่มีเพลง Wind of Change บรรจุอยู่ด้วย เพลงนี้กลายเป็นเพลงแห่งช่วงเวลาเหล่านั้น เป็นเหมือนซาวนด์แทร็กแห่งชีวิตชาวเยอรมันในยุคนั้น และแม้ว่าเพลงนี้จะเป็นบัลลาร์ดร็อกสุดไพเราะจากวงที่เคยมีเพลงบัลลาร์ดดังๆ มาแล้วหลายเพลง (อย่าง Send Me an Angel, Still Loving You และ Holiday) แต่ Wind of Change ก็กลายเป็นเพลงที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกๆ เพลงของพวกเขาในที่สุด
และเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991 เพลง Wind of Change ยิ่งกลายเป็นเพลงแห่งห้วงเวลานั้นอย่างแท้จริง
เพลงนี้ขึ้นไปถึงอันดับ 1 ของชาร์ตเพลงในประเทศเยอรมันและหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะในแถบยุโรปแทบทั้งหมด จน 10 ปีต่อมา วงสกอร์เปี้ยนส์ได้เล่นเพลงนี้ในวาระครบรอบหนึ่งทศวรรษปีของการรื้อกำแพงเบอร์ลินซึ่งที่จัดขึ้นที่ Brandenburg Gate ซึ่งเป็นโบราณสถานที่เป็นแลนด์มาร์กของเมืองเบอร์ลิน และนอกจากนี้ ในปี 2005 เพลง Wind of Change ยังได้รับเลือกจากผู้ชมของสถานีโทรทัศน์ ZDF ในเยอรมนีให้เป็น 'เพลงแห่งศตวรรษ' อีกด้วย
ตัดภาพมาเมื่อรัสเซียส่งทหารเข้าไปในยูเครนในปี 2022 วงสกอร์เปี้ยนส์ยังเล่นเพลงนี้ในคอนเสิร์ตอยู่ แต่พวกเขาเปลี่ยนเนื้อเพลงท่อนแรกเป็น "Now listen to my heart, It says Ukraine, waiting for the wind to change."
หลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง ผ่านมาถึงปี 1996 โลกก็ได้ฟังเพลงชื่อ Stanger in Moscow จาก King of Pop - ไมเคิล แจ็กสัน (Michael Jackson) เพลงนี้เป็นซิงเกิ้ลลำดับที่ 6 จากอัลบั้ม HIStory (1995) ของศิลปินซูเปอร์สตาร์ระดับโลกคนนี้
จากเนื้อเพลงและจากบทสัมภาษณ์หลายครั้งของ ไมเคิล แจ็กสัน เพลง Stanger in Moscow ดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับความรู้สึกส่วนตัวของไมเคิลมากกว่า เพราะเป็นเพลงที่เขาแต่งในปี 1993 ในโรงแรมที่มอสโคว์ขณะที่เขาไปทัวร์คอนเสิร์ตที่นั่น ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่เขาเริ่มถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดเด็กชายหลายคน เป็นผลให้สื่อมวลชนโดยเฉพาะเหล่าแท็บลอยด์ทั้งหลายเล่นข่าวกันอย่างเมามันครึกโครม และส่งผลต่อจิตใจของไมเคิลเป็นอย่างมาก แม้จะมีหลายๆ ครั้งที่เขาแต่งเพลงเกี่ยวกับความเหงา หรือความแปลกแยก แต่เพลง Stanger in Moscow น่าจะเป็นเพลงที่ลึก เชื่องช้า และหม่นที่สุดเพลงหนึ่งในแคตตาล็อกของราชาเพลงป๊อปคนนี้
อย่างไรก็ตาม ในเนื้อเพลง Stanger in Moscow มีการใช้คำที่เป็นสัญลักษณ์ของสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็น อย่างชื่อหน่วยสืบราชการลับ KGB หรือประโยคอย่าง "Kremlin's shadow belittlin' me, Stalin's tomb won't let me be" ซึ่งไมเคิล แจ็กสัน ใช้แทนความรู้สึกไม่ไว้วางใจ ความหวาดกลัว และความวิตกกังวล ซึ่งก็ยังสะท้อนว่าแม้สงครามเย็นจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ในมุมมองของชาวอเมริกันส่วนหนึ่งนั้น ยังคงมองรัสเซียด้วยมุมมองแบบนี้อยู่
และบางทีความรู้สึกแปลกแยก ความไม่ไว้วางใจกันระหว่างโลกเสรีและรัสเซียก็อาจยังคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้
5750 VIEWS |
ผู้ก่อตั้งนิตยสาร happening, บรรณาธิการบริหารนิตยสาร happening, กรรมการบริหารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc), นักเขียน, นักแต่งเพลง, นักฟังเพลง และนักอ่านตัวยง