แบล็ค-สราวุฒิ ใยดี คือเจ้าของผลงานการหยิบเรื่องร้ายมาเล่าเป็นเรื่องสนุก เพื่อส่งต่อรอยยิ้มและกำลังใจดีๆ ให้กับผู้คน ในฐานะนักวาดภาพประกอบที่มีชื่อว่า YINDE และเป็นเจ้าของแบรนด์ MANY GOODS by YINDE ที่พาเจ้าคาแรกเตอร์ตัวน้อยออกมาโลดแล่นบนสินค้าหลากแนว ไม่ว่าจะเป็นสติกเกอร์ โปสการ์ด ที่คั่นหนังสือ เสื้อ และสินค้าอื่นๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้คนเลือกสรรตัวที่ใช่กลับไปเติมกำลังใจที่บ้าน
แบล็คปรากฎตัวในลุคเสื้อผ้าสีดำคุมโทนเช่นเดียวกับชื่อเล่น ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นคนเงียบๆ และจริงจังกับสิ่งที่ทำ แต่เมื่อได้สนทนากับเขาแล้ว เราก็รู้เลยว่า ความสนุกสนานบนชิ้นงานของศิลปินผู้นี้ล้วนมีอิทธิพลมาจากตัวตนและความชอบของเขาทั้งสิ้น
"เรารู้สึกสนใจวิธีการเล่าเรื่อง ทั้งการใช้เสียงและภาพที่ส่งผลต่อความรู้สึกของคน มันทำให้เราสังเกตมนุษย์และสิ่งแวดล้อมในสังคมมากขึ้น พอจบมาก็ทำงานโปรดักชันอยู่พักหนึ่ง และทำงานประจำเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ในเอเจนซีโฆษณา ระหว่างนั้นเราก็รับงานออกแบบควบคู่ไปด้วย และเปิดเพจชื่อว่า YINDE"
YINDE เริ่มต้นจากการเป็นพื้นที่ลงผลงานเล็กๆ ระหว่างแบล็คทำงานประจำเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ โดยคำว่า YINDE ผันจากนามสกุล ใยดี มาเป็นคำว่า ยินดี เป็นเหมือนการเปิดประตูต้อนรับผู้คนในวันที่พบเจอกับความยากลำบากในชีวิต
"เราอยากให้มันฟังดูน่ารักขึ้น เป็นมิตรมากขึ้น YINDE เกิดขึ้นเพราะเราอยากเติมเต็มความสนุกให้กับโลกที่โหดร้าย อยากหยิบเรื่องที่ไม่ดีมาเล่าเป็นเรื่องตลกในชีวิตประจำวัน เรารู้สึกว่าคนทุกวัยต่างก็มีเรื่องที่ทำให้เสียใจหรือเหนื่อยอยู่บ่อยๆ บางคนอาจกดดันจากการเรียน การสอบเข้า การย้ายงาน หรือการเลื่อนตำแหน่ง เราก็มาลองคิดว่า เราจะแปลงความเศร้ามาเป็นความสนุกได้ยังไง"
"พอทำงานมาพักหนึ่ง เราค้นพบว่าตัวเองถนัดงานวาดภาพประกอบมากกว่า ส่วนตัวเราชอบการเล่าเรื่องน่ารักๆ ผ่านคาแรกเตอร์การ์ตูน YINDE ก่อรูปก่อร่างมาจากความชอบส่วนตัวของเรา เราชอบลายเส้นน้อยๆ แบบงานของ คริสตอฟ นีแมนน์ (Christoph Niemann) ที่เป็นนักวาดภาพประกอบให้กับหนังสือพิมพ์ The New York Times และชอบความตลกร้ายแบบ ฌอง จูเลียง (Jean Jullien) เขาเป็นต้นแบบแนวคิดตลกร้ายในงานของเรา และเราก็ชอบสนู้ปปี้ (Snoopy) ด้วย"
หลักจากที่ใช้เวลาปั้นคาแรกเตอร์อยู่เป็นปี ก็ถึงเวลาที่ครอบครัวคาแรกเตอร์สุดกวนจะได้ออกไปพบปะผู้คน เมื่อแบล็คมีโอกาสได้เข้าร่วมงาน Bangkok Illustration Fair 2021 และได้รับเลือกเป็นหนึ่งในศิลปิน BKKIF 150 คนอีกด้วย การได้พบเจอกับเพื่อนศิลปินและได้รับฟีดแบ็กใหม่ๆ ทำให้ศิลปินหนุ่มตัดสินใจก่อตั้งแบรนด์ MANY GOODS by YINDE แบรนด์ดีไซน์ที่เขาค่อยๆ ใช้เวลาเรียนรู้ทุกกระบวนการด้วยตัวของตัวเอง
'จริง ๆ แล้วบ้านฉันคือประธานบริษัท' คือคำบรรยายที่ทำให้เราต้องหยุดดูสติกเกอร์ชุด Work From H_LL สินค้าอีกหนึ่งเซ็ตที่ยังคงขายดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแบล็คได้แรงบันดาลใจมาจากการที่เขาต้องทำงานที่บ้านต่อเนื่องหลายเดือน จนกลายเป็นที่มาของเจ้าคาแรกเตอร์คอมพิวเตอร์ผู้คอยตามงานเราไปทุกที่
"พอทำงานหน้าคอมไปพักหนึ่ง เราก็เริ่มรู้สึกว่าคอมกลายเป็นคนที่จ้างงานเรา เลยลองคิดเล่นๆ ว่าถ้าน้องมีชีวิตขึ้นมา น้องจะมีรูปร่างหน้าตาประมาณไหน แล้วจะทำอะไรกับเราบ้าง เอาจริงๆ ตอนที่ทำแบรนด์นี้ ผมอยากให้งานของ YINDE เป็นงานที่ทุกคนเข้าถึงได้ เวลาไปออกบูทแล้วมีคนชี้ว่า นี่มันเหมือนตัวเขาเลย ผมว่ามันประสบความสำเร็จแล้วครับ"
ด้วยความน่ารักปนกวนของเหล่าคาแรกเตอร์ ประกอบกับคำบรรยายที่ชวนให้คนอ่านยิ้มออกมา ทำให้งานของเขาเริ่มเป็นที่นิยมในหมู่นักเรียนและคนทำงานมากขึ้น "เราได้รับการตอบรับที่ดีมากๆ มันทำให้เราเริ่มเห็นว่า คนส่วนใหญ่ที่ซื้องานเราเป็นใคร แล้วเขาชอบงานแบบไหน แล้วเราก็เริ่มทำงานชุดใหม่ที่ตอบโจทย์ของเขามากขึ้น จะได้มีตัวเลือกที่หลากหลายสำหรับผู้ซื้อ"
"โชคดีที่เราเจอกับร้านที่เขารับทำงานแบบ Made to order ได้ มันทำให้เราสามารถออกแบบลาย 4-5 ลายได้เลย โดยไม่ต้องสั่งทำทีเดียว เราสามารถรวบรวมยอดออร์เดอร์แล้วส่งต่อให้เขาผลิตได้ แล้วทางร้านยังช่วยซัพพอร์ตเรื่องแพกเกจจิ้ง (packaging) ที่เป็นมิตรต่อโลกอีกด้วย"
แบล็คเล่าว่า ข้อดีของการผลิตชิ้นงานเอง คือการที่เขาไม่ต้องแบกรับจำนวนสต็อกสินค้าที่มากเกินความจำเป็น "เวลาสั่งผลิตสติกเกอร์ เราไม่สามารถสั่งจำนวนน้อยได้ มันทำให้เราต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นและใช้ทรัพยากรในการผลิตที่มากเกินจำเป็น เวลาจะไปออกอีเวนต์ ผมก็จะดูว่า เราอยากสต็อกสินค้าเซ็ตละกี่ชิ้น แล้วตอนนี้ในสต็อกมีเหลือเท่าไหร่ เราก็จะผลิตเพิ่มแค่เท่าที่ต้องการ มันทำให้เราได้งานที่สดใหม่ทุกครั้ง ไม่ต้องเก็บสินค้าไว้นานๆ เพราะบางทีสีหรือเนื้อกระดาษของสติกเกอร์มันก็เสื่อมสภาพตามกาลเวลา"
"เราเคยลองไปขายในตลาดนัดรถไฟศรีนครินทร์ มันดูไม่เหมาะกับงานของเราเลย เพราะเราต้องไปขายแข่งกับร้านสติกเกอร์ที่เอางานละเมิดลิขสิทธิ์มาขายในราคาถูก เราก็คิดนะว่าจะสู้เขาได้ยังไง แต่การไปขายตลาดแบบนี้ก็ทำให้เราเจอกับคนที่ชอบงานเรามากๆ และอยากสนับสนุนงานของเรา บางคนชอบจนถึงขั้นที่อยากให้ลายเส้นของเราไปโลดแล่นในโปรดักซ์ของเขา จนเรามีโอกาสได้ไปทำงานให้เขาจริงๆ แล้วเขาแฮปปี้กับแบรนด์ของเขามากๆ"
การได้ออกไปยังพื้นที่ใหม่ๆ ไม่เพียงช่วยเปิดตลาดกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ให้กับแบรนด์ แต่ยังช่วยต่อเติมกำลังใจให้กับคนทำงานศิลปะอย่างแบล็คเช่นกัน
"เราอาจจะขายได้ไม่ดีเท่ากับงานอาร์ตมาร์เก็ต แต่เรามีโอกาสได้เจอเจ้าของร้านส้มตำ ร้านข้าวเกรียบกุ้ง เรามีโอกาสได้ทำงานร่วมกับธุรกิจเล็กๆ (Local Business) มันเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าให้เขาได้เช่นกัน เรารู้สึกว่าเราแฮปปี้นะ พื้นที่แบบนี้มันทำให้เรารู้ว่า ยังมีคนที่เขาสนใจงานเราและสนับสนุนงานเราอยู่"
ขอบคุณสถานที่สวยๆ ภายในโครงการดาดฟ้า (Dadfa) ซอยลาซาล 33
2351 VIEWS |
กองบรรณาธิการที่กำลังใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน ชอบคุยกับผู้คน ท้องฟ้า และเสียงดนตรี เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการฟังเพลง ที่บางทีก็ปล่อยให้เพลงฟังเรา