จากพลังศรัทธาสู่ซอฟต์พาวเวอร์ที่ทำให้คนทั่วโลกรู้จักเครื่องรางญี่ปุ่น

    ความเชื่อของคนไทยที่มีต่อเครื่องราง นับตั้งแต่พระเครื่อง ผ้ายันต์ และวัตถุมงคลต่างๆ เป็นหนึ่งในเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คน แม้ในปัจจุบันยังมีเครื่องรางหรือคติความเชื่อใหม่ๆ เกิดขึ้นตามค่านิยมของยุคสมัย เช่น การสวมกำไลหินสีที่มีลักษณะเป็นเครื่องประดับ หรือการใส่เสื้อตามตารางสีมงคลที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ เป็นต้น แล้วเคยนึกย้อนกลับไปไหมว่า เราเริ่มหัดพับนกกระเรียนเป็นได้อย่างไร รู้สึกคุ้นเคยกับนางกวักบนหิ้งและแมวกวักบนเคาน์เตอร์ที่อยู่ในร้านอาหารแห่งเดียวกันโดยไม่รู้สึกขัดใจใช่ไหม หรือเห็นตุ๊กตาไล่ฝนเมื่อไรก็เข้าใจความหมายได้ทันทีตั้งแต่เมื่อไร
    สำหรับประเทศญี่ปุ่นแล้ว เครื่องรางมีหลายประเภทและมีความหมายเฉพาะที่แตกต่างกันไป ทั้งพกพาเพื่อความปลอดภัย เป็นสิ่งนำโชค ขอพรอธิษฐานเพื่อความสมหวัง สร้างความมั่นใจ ฯลฯ นอกจากนั้นเครื่องรางยังถูกนำมาสร้างสรรค์เป็นผลงานในรูปแบบของงานศิลปะ สื่อบันเทิง รวมถึงการออกแบบอีกมากมาย 
    ด้วยเหตุนี้ เราจะพาไปทำความรู้จักกับเรื่องราวและความหมายของ 6 เครื่องราง ซึ่งปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ ซีรีส์ อนิเมะ หรือ งานออกแบบ เพื่อสำรวจพลังศรัทธาซึ่งชาวญี่ปุ่นนำมาสร้างสรรค์เป็นซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ที่ส่งต่อวัฒนธรรม ประเพณี ความคิด ความเชื่อ และค่านิยมต่างๆ ให้คนทั่วโลกรู้จักกับเครื่องรางของญี่ปุ่นอย่างแพร่หลายไปด้วยกัน
ตุ๊กตาดารุมะ (Daruma)
    ตุ๊กตาสีแดงรูปร่างอ้วนกลม มีหนวดมีเครา ไร้ลูกตาดำที่รู้จักกันในชื่อ ดารุมะ เป็นเครื่องรางนำโชคชนิดหนึ่งสำหรับขอพรให้ประสบความสำเร็จ มีชัยชนะ หรือสมหวัง ซึ่งมีต้นแบบมาจาก พระโพธิธรรม หรือ ตั๊กม้อ แห่งวัดเส้าหลิน นักบวชผู้ให้กำเนิดลัทธิเซน เหตุผลที่ดารุมะเป็นสีแดงนั้นมาจากเสื้อคลุมสีแดงของพระโพธิธรรมซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของนักบวชชั้นสูง รวมถึงความเชื่อโบราณของชาวญี่ปุ่นที่เชื่อว่าสีแดงจะช่วยป้องกันโรคภัยได้ แต่ในปัจจุบันตุ๊กตาดารุมะมีหลากหลายสีสันและมีความหมายแฝงที่แตกต่างกันออกไป
    ตามธรรมเนียมการขอพรนั้น ชาวญี่ปุ่นจะเช่าตุ๊กตาจากวัดเพื่อขอพร แล้วนำกลับบ้านไปวาดลูกตาดำที่ตาซ้ายของตุ๊กตา (เมื่อหันหน้าเข้าหาตุ๊กตาคือลูกตาฝั่งขวามือของเรานั่นเอง) หลังจากคำขอพรสมหวังตามปรารถนาแล้วจึงวาดดวงตาอีกข้างให้สมบูรณ์ แล้วนำดารุมะกลับไปที่คืนวัดเพื่อเผาทำลาย เพราะเครื่องรางของญี่ปุ่นจะมีวันหมดอายุและไม่นำมาเก็บไว้เกิน 1 ปี
    รูปร่างหน้าตาอันเป็นเอกลักษณ์ทำให้ตุ๊กตาดารุมะถูกเลือกไปใช้เป็นสัญลักษณ์หรือองค์ประกอบในภาพยนตร์ ซีรีส์ อนิเมะ หรือแม้แต่ในงานออกแบบอย่างแพร่หลาย โดยการปรับใช้แต่ละครั้งมีแนวคิดและการนำเสนอที่แตกต่างกันไป
    หนึ่งในภาพจำต่อตุ๊กตาดารุมะซึ่งถือว่าแหวกแนวกว่าใครคือภาพยนตร์แนวเอาชีวิตรอดเรื่อง As the Gods Will (2014) ที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในตัวละครแสนโหดที่ปรากฏตัวตั้งแต่ต้นเรื่อง จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ไปเลย 
    ตุ๊กตาดารุมะถูกนำมาใช้อีกความหมายหนึ่งในซีรีส์ญี่ปุ่นเรื่อง Takane & Hana (2019) เรื่องราวของหญิงสาววัย 16 ที่ต้องไปนัดบอดแทนพี่สาวกับ ทาคาเนะ ทายาทสืบทอดธุรกิจ ซึ่งในเนื้อเรื่องมีการมอบตุ๊กตาดารุมะเพื่อเป็นของขวัญอยู่บ่อยครั้ง แม้แต่อนิเมะเรื่อง Nichijou ในตอนที่ 5 ก็มีการสร้างเรื่องราวจากตุ๊กตาดารุมะโดยการสร้างข้อสงสัยต่อตัวละครที่เห็นลูกตาดารุมะแค่เพียงข้างเดียว
    นอกจากนี้ ตุ๊กตาดารุมะยังเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างตัวละครในอนิเมะหรืองานออกแบบอื่นๆ เช่น โปเกเด็กซ์ในเรื่อง โปเกมอน ที่ประกอบไปด้วยตัวดารุมักกะ/ดารุมักกะร่างกาลาร์, ฮิฮิดารุมะโหมดปกติ/โหมดดะรุมะ, ฮิฮิดารุมะร่างกาลาร์/โหมดดะรุมะ หรือ ผลงานการออกแบบตุ๊กตาแบบริค ในเวอร์ชันดารุมะ จาก Medicom Toy ที่ออกแบบให้มีลูกตาเพียงข้างเดียว
    "ไม่ว่าจะล้มสักกี่ครั้ง ก็ลุกขึ้นยืนด้วยตัวเองได้เสมอ" ประโยคนี้มาจากบทสนทนาสุดซึ้งของคุณย่าที่พูดกับโนบิตะในอนิเมะเรื่อง โดราเอมอน ตอน ดารุมะตัวนั้นในตอนนั้นของวันนั้น ซึ่งสะท้อนอีกหนึ่งความหมายของตุ๊กตาดารุมะที่แฝงด้วยคติธรรมดั่งสำนวนญี่ปุ่นที่ว่า 七転び八起き (nana korobi yaoki) หรือ ล้มเจ็ดครั้งลุกแปดหน อีกด้วย
โอมาโมริ (Omamori)
    โอมาโมริ เป็นเครื่องรางยอดฮิตที่มีมาตั้งแต่สมัยเอโดะ ใช้เสริมดวงสำหรับการขอพร ปกป้องและปัดเป่าจากสิ่งไม่ดี คล้ายกับพระเครื่องของไทยนั่นเอง ลักษณะของโอมาโมริเป็นถุงผ้ามีสีสันและลวดลายที่หลากหลาย ด้านในจะมีกระดาษหรือไม้ที่มีคำอธิษฐานหรือแผ่นยันต์ นิยมผูกไว้กับกระเป๋าหรือในรถยนต์ สามารถแบ่งประเภทย่อยๆ ในการเสริมดวงเรื่องต่างๆ ได้
    สำหรับถุงผ้านั้นมีความเชื่อสืบทอดกันมาว่าห้ามเปิดถุงเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นพลังของเครื่องรางจะหายไป นอกจากนี้โอมาโมริยังควรเปลี่ยนใหม่ทุกปี เพื่อป้องกันไม่ให้โชคร้ายของปีที่แล้วย้อนกลับมา โดยการนำโอมาโมริเก่ากลับไปที่ศาลเจ้าหรือวัดเพื่อรวบรวมแล้วทำพิธีเผาทำลาย เป็นการช่วยชำระล้างและขจัดปัดเป่าสิ่งร้ายที่เครื่องรางนั้นกักเก็บเอาไว้
    เรื่องราวความเชื่อของโอมาโมริมีการสอดแทรกเข้าไปในซีรีส์และอนิเมะให้เห็นเป็นประจำ ยกตัวอย่างในซีรีส์ญี่ปุ่นปี 2013 ที่มีความน่ารักสร้างแรงผลักดันทั้งการเรียนและการใช้ชีวิตเรื่อง Itazura na Kiss: Love in Tokyo มีฉากที่ตัวละครชื่อ โคโตโกะ มอบโอมาโมริให้กับชายหนุ่ม เพื่อเป็นเครื่องรางนำโชคก่อนสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย
    อนิเมะเรื่อง ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน ตอนที่ 624-625 เครื่องรางแห่งความอายที่หายไป มีฉากการตามหาโอมาโมริของชิ้นสำคัญที่ทำให้เกิดจุดเชื่อมโยงระหว่างการสืบคดี หรือ อนิเมะเรื่อง ไฮคิว ซีซั่น 3 ฉากหนึ่ง มิจิมิยะ ได้มอบโอมาโมริให้กับ ซามูระ ก่อนการแข่งขันวอลเลย์บอลในรอบชิงชนะเลิศ และเรื่อง Inari Konkon Koi Iroha ตอนที่ 2 ก็มีฉากที่ อินาริ มอบโอมาโมริให้ชายหนุ่ม โคจิ ทันบะบะชิ เพื่อขอให้เขาได้พบกับความสดใสและสมหวังในความรัก
    การเป็นเครื่องรางนำโชคที่มีลวดลายสวยงามและสีสันที่หลากหลาย สามารถใช้เป็นของที่ระลึกและของขวัญที่มอบให้ผู้อื่นเพื่อส่งต่อความรู้สึกดีๆ ให้แก่กัน ทำให้โอมาโมริสามารถปรับเข้าถึงคนทุกเพศทุกวัย แม้จะผ่านกาลเวลามากี่ยุคกี่สมัยแล้วก็ตาม
ตุ๊กตาไล่ฝน (Teru teru bōzu)
    เมื่อมีคนบรรยายถึงเครื่องรางชิ้นหนึ่งที่มีลักษณะเป็นตุ๊กตาทำจากผ้าสีขาว หัวกลม ปล่อยชายพริ้วไปตามลม ที่ชาวญี่ปุ่นนิยมแขวนไว้ริมหน้าต่างก่อนวันสำคัญหรือวันที่ต้องการทำกิจกรรมกลางแจ้งเพื่อให้วันรุ่งขึ้นอากาศแจ่มใส คงรู้ทันทีว่าหมายถึง ตุ๊กตาไล่ฝน หรือ เทะรุเทะรุโบซุ 
    ชาวญี่ปุ่นมีคติความเชื่อว่า การแขวนตุ๊กตาไล่ฝน แล้วตั้งจิตขอพรให้วันรุ่งขึ้นท้องฟ้าปลอดโปร่ง ถ้าเป็นจริงให้นำกระดิ่งไปแขวนที่คอของตุ๊กตา หรือรดสาเกบนหัวของตุ๊กตา เพื่อเป็นการขอบคุณ แต่ถ้าต้องการให้ฝนตก ต้องนำตุ๊กตาไล่ฝนมาห้อยกลับหัวลง หรือใช้สีดำทาบนหัวตุ๊กตา
    หากนึกถึงตุ๊กตาไล่ฝนในผลงานจากประเทศญี่ปุ่นที่เคยพบเห็นคงหนีไม้พ้นอนิเมะเรื่อง เณรน้อยเจ้าปัญญา ตุ๊กตาไล่ฝนถือเป็นสัญลักษณ์แทนตัวจากท่านแม่ที่ทำไว้ให้กับ อิคคิวซัง ดังนั้นครั้งใดที่อิคคิวคิดถึงแม่หรือกำลังรู้สึกท้อแท้ เขาจะมาดูหรือพูดคุยกับตุ๊กตาไล่ฝนที่แขวนไว้กับต้นไม้ตรงทางเดินในวัดอังโคะคุจิ และมีหลายครั้งที่อิคคิวอธิษฐานขอพรอื่นๆ จากตุ๊กตาไล่ฝนด้วยเช่นกัน ตุ๊กตาไล่ฝนจึงเป็นภาพจำของการ์ตูนเรื่องนี้ไปเลย 
    ไม่ว่าท้องฟ้าจะมืดครึ้มหรือสดใส ความเชื่อของตุ๊กตาไล่ฝนก็ยังปรากฏอยู่ในอนิเมะหลายเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น อนิเมะเรื่อง K-ON ซีซั่น 2 ในตอนที่ 15 ได้มีการแทรกเรื่องราวการทำตุ๊กตาไล่ฝนโดยแขวนตุ๊กตากลับหัวลงเพื่อขอพรให้ฝนตก อนิเมะเรื่อง Non Non Biyori Repeat ตอนที่ 4 ฉากการทำพิธีไล่ฝนของ เรนจัง อนิเมะเรื่อง Shinryaku Ika Musume ซีซั่น 1 ในตอนที่ 10 ฉากการทำตุ๊กตาไล่ฝนเพื่อขอพรให้ฝนหยุดตกของ ทาเครุ และอนิเมะเรื่อง Natsuiro Kiseki ในตอนที่ 7 ฉากการขอพรให้ฝนหยุดตกในวันประกวดร้องเพลง 
    ตุ๊กตาไล่ฝนยังปรากฏในภาพยนตร์อนิเมะแนวแฟนตาซีของญี่ปุ่นปี เรื่อง Weathering With You (2019) ที่บอกเล่าเรื่องราวของ โฮดากะ โมริชิมะ เด็กหนุ่มมัธยมปลายที่ตัดสินใจออกเดินทางไปใช้ชีวิตในเมืองโตเกียวเพียงลำพัง จุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาได้พบกับ ฮินะ อามาโนะ สาวน้อยที่มีความสามารถในการหยุดฟ้าฝนได้เพียงอธิษฐาน เราจึงมักเห็นฉากการขอพรและตุ๊กตาไล่ฝนอยู่บ่อยครั้ง
    ปิดท้ายกับภาพยนตร์ครอบครัวแนวรักโรแมนติกปี 2004 เรื่อง Be With You ที่หลายคนจดจำกันได้ดี จากคำสัญญาที่ มิโอะ ให้ไว้กับสามีและลูกชายว่า "ถ้าฉันตายไป ปีหน้าในวันที่ฝนตก เราจะได้พบกันอีก" การปรากฏของหนูน้อยที่เอาตุ๊กตาไล่ฝนมาแขวนควํ่าหัวลงไว้ที่ระเบียงอยู่บ่อยครั้ง เพื่อเฝ้ารอที่จะได้พบแม่ในวันฝนตก จึงทำให้ผู้ชมสะเทือนใจและคอยเอาใจช่วยให้ระยะเวลาที่ฝนตกยืดยาวออกไปนานๆ
    ตุ๊กตาไล่ฝนจึงไม่ได้มีความหมายเพียงแค่เครื่องรางที่ใช้สำหรับขอพรให้อาการแจ่มใสหรือฝนตกเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวอย่างในการใช้ชีวิตให้ผู้คนต่อสู้ เหมือนกับตุ๊กตาไล่ฝนที่ต้องสู้แดดสู้ฝนนั่นเอง
คิตสึเนะ (Kitsune)
    หากใครเคยเข้าวัดในประเทศญี่ปุ่นแล้วเห็นรูปปั้นสุนัขจิ้งจอกตั้งอยู่ปากทางเข้าวัดเป็นคู่ นั่นคือ คิตสึเนะ หรือ ภูตจิ้งจอก ชาวญี่ปุ่นในศาสนาชินโต ที่เชื่อกันว่า สุนัขจิ้งจอกเป็นผู้เดินสารของเทพเจ้าอินาริ ซึ่งเป็นเทพแห่งการเพาะปลูก เราจึงมักเห็นรูปปั้นสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งจะคาบสิ่งที่มีลักษณะคล้ายสาส์น หมายถึงการเป็นตัวแทนหรือสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้า และอีกตัวคาบรวงข้าว หมายถึง การเป็นตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์ 
    สิ่งที่น่าสนใจของคิตสึเนะคือ เมื่อสุนัขจิ้งจอกมีอายุยาวนานมากเท่าไร มันจะค่อยๆ มีหางงอกเพิ่มขึ้นมา แล้วยิ่งสุนัขจิ้งจอกตัวนั้นมีหางมากเท่าไร แปลว่ามันยิ่งมีพลังอำนาจและสะสมภูมิปัญญาไว้มากขึ้นเท่านั้น คิตสึเนะจึงขึ้นชื่อเรื่องความฉลาดหลักแหลม นำมาสู่ความเชื่อเรื่องการไปขอพรคิตสึเนะในศาลเจ้าเพื่อให้เรียนดี และมีความนับถือคิตสึเนะเหมือนเทพองค์หนึ่ง ทำให้บางครั้งเราจะเห็นรูปสุนัขจิ้งจอกอยู่บนเครื่องรางอื่นๆ ได้ด้วย
    หนึ่งในผลงานที่นำแรงบันดาลใจมาจากจิ้งจอกเก้าหางที่โด่งดังคือ นินจาคาถาโอ้โฮเฮะ หรือ นารูโตะ (Naruto) ผลงานของ มาซาชิ คิชิโมโตะ การ์ตูนนินจาที่ประสบความสำเร็จถล่มทลายและถูกนำมาทำเป็นแอนิเมชันทั้งในรูปแบบภาพยนตร์และซีรีส์ ซึ่งเรื่องนี้มีปีศาจจิ้งจอกเก้าหางถูกผนึกไว้ในร่างของตัวเอก อุซึมากิ นารูโตะ ที่มักจะปรากฏออกมาในช่วงเวลาสำคัญนั่นเอง
    แม้คิตสึเนะจะไม่ได้เป็นเครื่องรางสำหรับพกพาทั่วไป แต่เรามักจะเห็นตัวละครหรือศาลเจ้าที่มีเหล่าเทพเจ้าจิ้งจอกอาศัยอยู่ในอนิเมะหลายเรื่อง เช่น Inari Konkon Koi Iroha เรื่องราวของเด็กสาวขี้อายที่เธอต้องมาเกี่ยวโยงกับเหล่าเทพเจ้าจากสรวงสรรค์ ในครั้งที่เธอมีโอกาสช่วยจิ้งจอกตัวน้อยที่กำลังตกน้ำภายในศาลเจ้าอินาริ เทพเจ้าอินาริจึงให้พร และให้ คอน ภูตจิ้งจอกรับใช้ประจำศาลอินาริ คอยติดตามเพื่อดูแลช่วยเหลือเธอ หรือ ในอนิเมะเรื่อง Gingitsune เป็นเรื่องราวของ มาโกโตะ สาวน้อยเพียงคนเดียวที่มองเห็น กินทาโร่ ผู้ส่งสารของเทพเจ้าอินาริ เธอจึงกลายเป็นผู้สืบทอดทายาทรุ่นที่สิบห้าในศาลเจ้าเล็กๆ ของเทพเจ้าอินาริไป ส่วนอนิเมะโรแมนติกคอมเมดี้เรื่อง Kamisama Hajimemashita ก็เล่าเรื่องของ นานามิ หญิงสาวที่ถูกขับไล่ออกจากอพาร์ตเมนต์เนื่องจากพ่อของเธอหนีไปเพราะเป็นหนี้ จึงทำให้เธอได้มาอาศัยในศาลเจ้าร้าง ซึ่งในศาลเจ้านั้นมี โทโมเอะ เทพจิ้งจอกหนุ่มที่ดูเหมือนจะไม่ถูกชะตากับเธอซะด้วย
    เรื่องราวที่น่าค้นหาของคิตสึเนะยังเป็นแรงบันดาลใจไปต่อยอดในงานศิลปะร่วมสมัยอีกมากมาย ยกตัวอย่างได้จากผลงานการออกแบบฟิกเกอร์สุดน่ารักคอลเลกชัน สุนัขจิ้งจอกที่ง่วงนอนและง่วงนอนอยู่ในชามสไตล์ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ บริษัทฝรั่งเศสที่ชื่อ Kitsune ก็ได้นำความเชื่อของเทพเจ้าจิ้งจอกนี้มาสร้างผลงานการออกแบบ ตั้งแต่โลโก้บริษัท ฟิกเกอร์สำหรับสะสม และการผลิตรูปปั้นด้วยเช่นกัน
แมวกวัก (Maneki Neko)
    แมวกวัก เป็นหนึ่งในเครื่องรางนำโชคที่ขึ้นชื่อในเรื่องการค้าขาย โดยคนส่วนใหญ่มักจะตั้งตุ๊กตาแมวกวักไว้หน้าร้านค้า โดยเชื่อกันว่าแมวจะกวักเรียกเงิน เรียกทอง ทำให้กิจการค้าขายเจริญรุ่งเรือง ดึงดูดลูกค้าให้เข้าร้าน ปัจจุบันแมวกวักนั้นมีรูปแบบ สีสันที่หลากหลายจึงทำให้มีความหมายที่แตกต่างกันไป ตามความเชื่อของชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าแมวกวักที่ยกมือซ้ายจะเรียกลูกค้า แมวกวักที่ยกมือขวาจะเรียกเงินทองและโชคลาภ และบางครั้งก็ยกมือขึ้นทั้งสองข้าง ซึ่งจะมีความหมายเหมือนกับการนำแมวกวักที่ยกมือขวาและซ้ายมารวมกัน คือ เพิ่มเงินทองโชคลาภและเรียกลูกค้า 
    ด้วยความน่ารักสดใสที่มาพร้อมกับความเชื่อที่เป็นมงคล จึงทำให้เราสามารถเห็นแมวกวักได้จากสื่อต่างๆ ได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นสินค้า ภาพยนตร์ ซีรีส์ อนิเมะ หรือ งานออกแบบ แต่หนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ของแมวกวักที่ถูกนำมาใช้แล้วทำให้เกิดภาพจำมักจะอยู่รูปแบบภาพยนตร์และซีรีส์ เช่น การปรากฏตัวของแมวกวักขนาดยักษ์ จากภาพยนตร์แนวเอาชีวิตรอดระทึกขวัญแฟนตาซีเรื่อง As the Gods Will ที่สร้างคาแรกเตอร์แมวกวักที่ต่างจากภาพลักษณ์และคติความเชื่อที่มี แถมมีผลต่อการเล่นเกมเพื่อเอาชีวิตรอดของตัวละครมากทีเดียว หรือซีรีส์ญี่ปุ่นปี 2020 เรื่อง Koi wa Tsuzuku yo Dokomade mo เรื่องราวของ นานาเสะ ซากุระ หญิงสาวที่เชื่อว่าครอบครัวของเธอไม่ค่อยมีดวงเรื่องผู้ชาย ระหว่างการไปทัศนศึกษาเธอจึงไปขอพรในศาลเจ้าอิมาโดะ (ศาลเจ้าสำหรับขอพรเรื่องความรักและเชื่อกันว่าเป็นต้นกำเนิดแมวกวัก) ทันใดนั้นเกิดเหตุบังเอิญที่ทำให้เธอได้พบกับคุณหมอศัลยแพทย์หัวใจสุดหล่อ ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเขาและเธอในครั้งนี้
    ไม่เพียงเท่านั้น แมวกวักยังเป็นแรงบันดาลใจสู่การสร้างตัวละคร เนียส ตัวโกงผู้แสนน่ารักและทรงเสน่ห์ แห่งแก๊งร็อคเก็ต ในอนิเมะเรื่อง โปเกมอน และตัวละครอย่าง มาดาระ โยไคในร่างแมวกวักในอนิเมะเรื่อง นัตสึเมะกับบันทึกพิศวง
    แมวกวัก ยังเป็นแรงบันดาลใจในงานศิลปะร่วมสมัยได้อย่างมีสีสัน ยกตัวอย่าง ผลงานการออกแบบเซรามิกอาร์ต ดีไซน์เนอร์ชาวไทยที่สร้างงานคราฟต์ของตกแต่งบ้านสุดน่ารักจากแบรนด์ WK.studio ที่หยิบคาแรกเตอร์ของแมวกวัก มาปรับเปลี่ยนให้อยู่ในรูปแบบของอาร์ตทอย เรียกได้ว่า นอกจากเหล่าสายมูเตลูแล้ว ยังโดนใจเหล่าสายอาร์ตและนักสะสมอีกด้วย
นกกระเรียนพันตัว เซ็นบะซุรุ (Senba-zuru)
    ส่งท้ายเครื่องรางด้วยเซ็นบะซุรุ หรือนกกระเรียนพันตัว นกกระเรียนถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดีและอายุยืนยาว โดยคนญี่ปุ่นเรียกนกชนิดนี้ว่า นกแห่งความสุข และเชื่อกันว่าปีกของนกกระเรียน จะนำพาดวงวิญญาณไปสู่สรวงสวรรค์ จึงเกิดความเชื่อว่า หากพับกระดาษเป็นรูปนกกระเรียนหนึ่งพันตัว คำอธิษฐานของผู้นั้นจะเป็นจริง โดยเฉพาะคำอธิษฐานที่ขอให้อายุยืน หรือหายจากโรคภัยไข้เจ็บ ตามธรรมเนียมดั้งเดิม เซ็นบะซุรุยังทำให้กันเพื่อเป็นของขวัญในวันแต่งงาน เป็นการอวยพรขอให้ครองรักกันอย่างมีความสุข 
    จากเรื่องราวที่เล่าขานกลายเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายไปทั่วโลกในรูปแบบวรรณกรรมทรงคุณค่า ซาดาโกะกับนกกระเรียนพันตัว เป็นหนังสือที่แต่งขึ้นโดย เอเลนอร์ คอร์ จากเค้าโครงเรื่องจริงของ ซาดาโกะ เด็กหญิงวัย 11 ขวบที่ต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยจากโรคลูคีเมีย ซึ่งเป็นผลพวงจากระเบิดปรมาณูในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อเพื่อนของซาดาโกะนำกระดาษที่พับเป็นรูปนกกระเรียนมาให้ เธอจึงมุ่งมั่นในการพับกระดาษนกกระเรียนให้ครบหนึ่งพันตัว เพื่ออธิษฐานให้ความปรารถนาที่จะหายป่วยของตนเองเป็นจริง แต่เรื่องราวก็เป็นดั่งที่เราทราบกันดีว่า ซาดาโกะเสียชีวิตลง แม้เธอจะเพียรพยายามพับนกกระเรียนพันตัวจนสำเร็จแล้ว
    ความเชื่อเรื่องการพับนกกระเรียนพันตัวยังปรากฏในภาพยนตร์อนิเมะโรแมนติกดราม่าปี 2017 ที่สร้างมาจากฉบับมังงะ เรื่อง Koe no katachi เรื่องราวความสัมพันธ์ของเด็กหนุ่มหัวโจกกับเด็กสาวผู้บกพร่องทางการได้ยิน ซึ่งท้ายเรื่องมีฉากที่ คาวาอิ นำนกกระเรียนที่พับไว้มามอบให้ อิชิดะ ถึงแม้ว่าเขาจะพับได้ไม่ถึงหนึ่งพันตัวก็ตาม
    การนำศรัทธาและคติความเชื่อที่มีต่อเครื่องรางมาอยู่เป็นส่วนหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ นับเป็นการต่อยอดอย่างสร้างสรรค์ที่นำมาซึ่งความเข้าใจและประทับใจในวัฒนธรรมญี่ปุ่น อีกทั้งผลงานหลายชิ้นยังทำให้เห็นว่า การเปิดโอกาสให้นำเสนอมุมมองใหม่ๆ ที่ต่างไปจากความเชื่อดั้งเดิม ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำลายคุณค่า แต่เป็นการสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้ผู้คนยิ่งให้ความสนใจและพยายามค้นหาความหมายที่แท้จริงของเครื่องรางเหล่านั้นยิ่งกว่าเดิม 
    ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่เราจะรู้สึกคุ้นเคยกับ ตุ๊กตาดารุมะ โอมาโมริ ตุ๊กตาไล่ฝน คิตสึเนะ แมวกวัก และ นกกระเรียนพันตัว ไม่ต่างกับเครื่องรางของไทยเลย

ลลิตา เวสณุวรรธนะ

นักศึกษาฝึกงานกราฟิกผู้คลั่งไคล้ของกินและแผ่นแปะหลังสูตรเย็น เชื่อว่าการเดินทางของชีวิตจะเจอกับประสบการณ์ใหม่ๆ และความท้าทายสุดว้าวซ่าอยู่เสมอ

ดุสิตา อิ่มอารมณ์

นักเขียน ผู้ใช้พื้นที่ในเวลาว่างไปกับการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ขี่จักรยาน อ่านการ์ตูน เล่นเลโก้ ฯลฯ โดยเชื่อเต็มหัวใจว่าเวลาที่หมดไปกับความรื่นเริงนี้สามารถเติมเต็มชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ