งาน 4 ทศวรรษสมาคมบอนสีแห่งประเทศไทย ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25-27 มีนาคม 2565 ณ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อาจจะดูคล้ายกับการจัดงานไม้ประดับอื่นๆ ในบ้านเรา คือ มีการออกร้านจำหน่ายบอนสี จัดประกวดบอนสีประเภทต่างๆ ตั้งโต๊ะเปิดรับการจดทะเบียนบอนสี จัดการประมูลบอนสีเพื่อนำรายได้บริจาคให้สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์นำไปบำรุงสวนต่อไป แต่กิจกรรมหนึ่งที่ทำให้งานนี้แตกต่างจากงานต้นไม้อื่นๆ คือ นิทรรศการภาพถ่ายจากศิลปินช่างภาพชั้นนำของไทยและชาวต่างชาติรวม 8 คน ได้แก่ ดาว วาสิกศิริ, ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์, จุฬวิศว์ ศานติพงศ์, วิศรุต อังคะวานิช, พงษ์ศักดิ์ ตั้งติวาจา, สุรชัย แสงสุวรรณ, ฟิลิปป์ มัวซอง (Philippe Moisan) และ อู๋จวิ้นหวา (Wu Chun Hua) ที่สะท้อนความงดงามเชิงศิลปะของบอนสีไทยไว้อย่างน่าประทับใจ
บอนสี ถือเป็นพันธุ์ไม้ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานในวงการไม้ประดับไทย มีหลักฐานสืบค้นย้อนหลังกลับไปได้กว่า 140 ปี รูปทรงและสีสันของไม้ประดับที่น่าหลงใหลชนิดนี้ทำให้มีคนนิยมเลี้ยงบอนสีกระจายไปทั่วประเทศ อีกทั้งภูมิอากาศแบบร้อนชื้นของบ้านเราเหมาะกับการเพาะปลูก ประกอบกับทักษะความเชี่ยวชาญด้านการเกษตรของคนไทย ทำให้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีการผสมบอนสีจนเกิดเป็นสายพันธุ์ต่างๆ เกือบหมื่นสายพันธุ์
ในโอกาสที่การก่อตั้งสมาคมบอนสีแห่งประเทศไทยครบรอบ 40 ปี ทางสมาคมจึงขอความคิดเห็นจาก รัฐ เปลี่ยนสุข สถาปนิกและนักออกแบบผู้เคยเป็นผู้ร่วมจัดนิทรรศการ Caladiumlism มือ-บอน by SUMPHAT ช่วงเทศกาล Bangkok Design Week 2022 ที่นำเสนอความร่วมสมัยของบอนสีให้คนทั่วไปสัมผัส รัฐจึงเข้ามาเป็นตัวกลางทำหน้าที่ประสานงานระหว่างสมาคมบอนสีแห่งประเทศไทยกับศิลปินช่างภาพ โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันคุณค่าของวงการไม้ประดับไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางผ่านนิทรรศการภาพถ่ายในครั้งนี้

ผลงานของ ดาว วาสิกศิริ ช่างภาพชั้นนำผู้ฝากผลงานไว้ในวงการแฟชั่นและวงการโฆษณาของไทยมากมาย สไตล์และมุมมองถ่ายภาพเฉพาะตัวทำให้ผลงานของเขาเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ
รัฐ เปลี่ยนสุข เล่าถึงความร่วมมือของสมาคมบอนสีแห่งประเทศไทย ศิลปินช่างภาพ และสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ไว้ว่า "ตอนที่ทางสมาคมติดต่อเข้ามาผมคิดว่า งานของสมาคมบอนสีแห่งประเทศไทยครั้งนี้เป็นปีที่ 40 แล้ว เราจะทำยังไงให้บอนสีไทยมีชื่อเสียงในระดับต่างประเทศได้ ผมจึงคิดว่าเราอาจจะสื่อสารความเป็นบอนสีผ่านสายตาของศิลปิน ซึ่งผลงานที่จุดแรงบันดาลใจให้เราคิดที่จะทำงานด้านภาพถ่ายมาจากผลงานภาพปลากัดของพี่รุต-วิศรุต อังคะวานิช ครับ เรามองว่าของที่เคยเห็นประจำ พอผ่านสายตาของช่างภาพแล้ว งานศิลปะที่เกิดจากภาพถ่ายสามารถเพิ่มมูลค่าของเรื่องที่ต้องการเล่าได้อย่างมหาศาล ซึ่งทางสมาคมก็เห็นด้วย"
ผลงานของ วิศรุต อังคะวานิช ช่างภาพไทยที่ไปสร้างชื่อเสียงในเวทีต่างชาติมาแล้ว ด้วยผลงานภาพถ่ายชุดปลากัดของเขา
เมื่อได้แนวคิดในการจัดนิทรรศการภาพถ่ายแล้ว รัฐเริ่มมีการเชิญศิลปินช่างภาพชั้นนำของไทยและต่างชาติไว้ส่วนหนึ่ง แล้วจึงขอคำปรึกษาเพิ่มเติมจาก ติ้ว-วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ว่ามีศิลปินช่างภาพคนไหนน่าสนใจให้เชิญมาร่วมงานอีกบ้าง "ผมอยากให้ช่างภาพเผยความงามและมุมมองใหม่ๆ ของบอนสีครับ เพราะส่ิงที่เราเห็นบอนสีในปัจจุบันจะเป็นลักษณะของบอนสีที่วางขายบนชั้นหรือบอนสีที่แปะป้ายราคา ทำให้มันกลายเป็นแค่สินค้า แต่ว่าความงามเชิงศิลปะมันอยู่ตรงไหน เราอยากให้คนมองเห็นลึกเข้าไปถึงความงามที่ชาวสวนหรือคนที่รักบอนสีจริงๆ เห็น จึงต้องอาศัยช่างภาพเข้ามาทำงานด้วย พอปรึกษาพี่ติ้วเลยได้ทางศิลปินที่มาจากทางสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยด้วย"
ติ้ว วศินบุรี จึงเข้ามาเป็นสะพานเชื่อมให้รัฐทำความรู้จักกับ ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ นายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หลังจากพูดคุยกันแล้ว ตุลย์รู้สึกว่ากิจกรรมนี้มีความน่าสนใจ เขาจึงชวนศิลปินช่างภาพในสมาคมมาร่วมงานนี้ด้วยกัน เมื่อรวมตัวเขาเองแล้วมีช่างภาพจากสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยรวม 4 คน
ตุลย์เป็นตัวแทนมาบอกเล่าถึงการร่วมงานกับสมาคมบอนสีแห่งประเทศไทยครั้งนี้ให้เราฟังว่า "กิจกรรมดีๆ แบบนี้ผมรู้สึกว่าน่าสนใจครับ เพราะว่าเราไม่มีความรู้เรื่องบอนสีเลย แต่มีกระบวนการที่เราอยากเรียนรู้ และอยากรู้เหตุผลว่าทำไมจึงเป็นต้นไม้ที่ได้รับความนิยม คุณรัฐก็โปรยมาก่อนว่ามีช่างภาพต่างประเทศจากไต้หวันและฝรั่งเศสมาด้วยนะ ดังนั้นเรากำลังจะได้ทำงานร่วมกับศิลปินหลากหลาย ผมว่ามันคือความสนุก"

ผลงานของ ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ นายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ศิลปินช่างภาพ และหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนสอนถ่ายภาพ สังเคราะห์แสง
รัฐเป็นผู้พาศิลปินช่างภาพเดินทางไปทำความรู้จักและสัมผัสความงามของบอนสีกันถึงสวน ซึ่งผลงานภาพถ่ายของศิลปินช่างภาพทั้ง 8 คน ได้รับการเอื้อเฟื้อบอนสีจากเจ้าของสวนผู้ใจดี ได้แก่ สมศักดิ์ มะปรางทอง แห่ง สวนลุงศักดิ์ไม้สวย, บุญแท้ ทองอิ่ม แห่ง สวน Chucky Cadalium และ จิระวัฒ แซ่อึ้ง แห่ง สวนมณีมณ
ตุลย์เล่าถึงประสบการณ์ครั้งนั้นให้ฟังด้วยน้ำเสียงที่ยังตื่นเต้นไม่หาย "ผมรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นปีเตอร์แพนที่บินตามทิงเกอร์เบลในเนเวอร์แลนด์ครับ ผมเดินตามพี่เจ้าของสวนที่ปทุมธานีเข้าไปในเรือนเพาะชำแล้วตกใจไปหมดทุกอย่าง ผมไม่เคยเห็นโรงเรือนที่เพาะปลูกต้นไม้ซึ่งควบคุมทุกอย่างให้อยู่ในสภาพอากาศร้อนชื้นที่เหมาะกับการออกดอกเติบโตอย่างสมบูรณ์ของมันและขับสีออกมาได้สวยอย่างนี้มาก่อน แล้วแต่ละต้น แต่ละใบก็มูลค่าสูงเหลือเกิน"
เมื่อช่างภาพแต่ละคนเดินทางไปสัมผัสรับรู้เรื่องราวของบอนสีแล้ว จึงเริ่มค้นหาแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานภาพถ่ายด้วยมุมมองและสไตล์ของตนเอง ซึ่งผลงานของพวกเขาทำให้เราเห็นมุมมองใหม่ๆ และเข้าใจความงามที่ลึกซึ้งของบอนสียิ่งขึ้น
ผลงานของ ฟิลิปป์ มัวซอง ช่างภาพธรรมชาติจากฝรั่งเศส
รัฐพูดถึงสถานการณ์และความเข้าใจที่คนทั่วไปมีต่อบอนสีในปัจจุบันว่า "ความน่าเสียดายของบอนสีคือ คนทั่วไปมองว่าเป็นการผสมขึ้นมาเพื่อจำหน่าย แล้วขายแพงขึ้น แต่ว่าความงามของบอนสีมันสวยงามมากกว่าที่เราจะมองว่าเป็นสินค้าในเรื่องการค้าอย่างเดียว"
เขาอธิบายถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมไทยที่มีต่อบอนสีให้ฟังว่า การผสมสายพันธุ์บอนสีนับตั้งแต่อดีตที่ก่อให้เกิดสายพันธุ์ที่มีรูปทรงของใบและสีสันที่แตกต่างกันไป จะมีการตั้งชื่อที่มีลักษณะสอดคล้องกับวรรณคดีมาตั้งแต่โบราณ เพื่อเป็นกุศโลบายทางการศึกษาให้คนสมัยก่อนเข้าถึงและทำความรู้จักตัวละครในวรรณคดียิ่งขึ้น โดยเรียกลักษณะการตั้งชื่อกลุ่มสายพันธุ์แบบนี้เป็น ตับ ยกตัวอย่าง บอนสีตับรามเกียรติ์จะมีการตั้งชื่อจากสีสันและรูปร่างของใบตามสีชุดของตัวละครนั้นๆ หรือความคล้ายคลึงของลวดลายที่พบเห็นได้ในจิตรกรรมไทย เช่น พระนารายณ์ พระราม พระลักษณ์ ทศกัณฑ์ อินทรชิต นกสดายุ เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีตับอื่นๆ ที่เกี่ยวกับวรรณคดี เช่น ตับอิเหนา ตับขุนช้างขุนแผน ตับพระอภัยมณี ตับสามก๊ก เป็นต้น

ผลงานของ จุฬวิศว์ ศานติพงศ์ อุปนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ได้รับแรงบันดาลใจมากจากการตั้งชื่อบอนสีจากตัวละครในวรรณคดีไทย
บอนสีเป็นไม้ประดับที่มีความพิเศษเพราะสามารถผสมสายพันธุ์ให้มีความหลากหลายของสี ลวดลายบนใบ รูปทรงใบ สีสันของก้านที่แตกต่างกันอย่างไม่จำกัด ในมุมมองของรัฐจึงมองว่า ผู้เพาะพันธุ์บอนสีมีความคล้ายกับศิลปินที่สร้างสรรค์งานศิลปะ "เขาเหมือนศิลปินที่ต้องการเพ้นต์รูปครับ ถ้าอยากได้ผ้าใบรูปทรงแบบไหน ใบรูปหัวใจ ใบยาว ใบกลม ใบกาบ หรือใบไผ่ สีโทนอะไรเขาต้องพยายามหาสีต้นไม้ที่เข้าคู่กัน แล้วดูว่าจะสามารถป้ายบรัชพู่กันไปทางซ้าย หรือจะป้ายพู่กันจากตรงกลางออกมา แล้วบรัชที่ป้ายลงไปนี้อยากจะให้เป็นสีเหลือง สีแดง สีเขียว หรือสีชมพูที่ปรากฏออกมา สิ่งเหล่านี้คืองานศิลปะทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับวงการบอนสีไทยในปัจจุบันครับ"
ผลงานของ สุรชัย แสงสุวรรณ ศิลปินช่างภาพแฟชั่น และอดีตบรรณาธิการแฟชั่นของนิตยสาร L'Officiel Thailand
หลังจากที่ทำการผสมลูกไม้ (ลูกไม้เป็นคำที่ใช้เรียกบอนสีที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์) จนนิ่งแล้ว เจ้าของสามารถทำการจดทะเบียนชื่อบอนสีกับทางสมาคมบอนสีแห่งประเทศไทย โดยใช้ชื่อบุคคลสำคัญ ชื่อสถานที่ ชื่อ-สกุล หรือชื่อสวนมาตั้งก็ได้ แล้วหัวของบอนสีต้นนั้นจะสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้อีกเป็นร้อยปี บอนสีในอดีตจึงยังคงอยู่และส่งต่อความงดงามเฉพาะของสายพันธุ์เป็นมรดกจากรุ่นสู่รุ่นมาถึงปัจจุบัน และบอนสีที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ก็อาจจะกลายเป็นไม้สะสมที่มีมูลค่าในอนาคต
ผลงานของ พงศ์ศักดิ์ ตั้งติวาจา ศิลปินช่างภาพและอาจารย์ด้านการถ่ายภาพจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ในฐานะศิลปินช่างภาพคนหนึ่งที่มีโอกาสร่วมกับกิจกรรมครั้งนี้ ตุลย์มองว่าการถ่ายทอดความงามของธรรมชาติผ่านภาพถ่ายมีความพิเศษเฉพาะของมัน "ใบไม้มันมีความเปลี่ยนแปลง มันมีลักษณะเฉพาะทางของมันครับ ฉะนั้นเราจะได้เห็นใบที่เกิดขึ้นใหม่ สีสันของมันอาจจะค่อยๆ เปลี่ยน จนสุดท้ายเมื่อมันเข้มจนสุดแล้วมันอาจจะค่อยๆ ร่วงโรย ผมคิดว่ามันคือประเด็นทางศิลปะที่เกิดขึ้นเป็นพิเศษ และเกิดขึ้นได้ครั้งเดียวในความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลานี้ครับ ผมรู้สึกว่ามันดีจังเลยที่เราสามารถใช้อุปกรณ์ถ่ายภาพ ซึ่งมันเก็บช่วงเวลาในเสี้ยววินาทีนั้นเพื่อบันทึกความเปลี่ยนแปลงของมันได้"
ผลงานของ อู๋จวิ้นหวา ศิลปินช่างภาพไต้หวันฝีมือระดับนานาชาติ ซึ่งผลงานของเขาเคยถูกจัดแสดงที่ Jardin de Luxembourg กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสมาแล้ว
เมื่องาน 4 ทศวรรษสมาคมบอนสีแห่งประเทศไทยจบลงไปแล้ว ผลงานภาพถ่ายของทั้ง 8 ช่างภาพจะถูกนำมาแสดงให้รับชมกันอีกครั้งในวันที่ 10-22 พฤษภาคม 2565 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
กิจกรรมที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของสมาคมบอนสีแห่งประเทศไทย ศิลปินช่างภาพ และสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของความเป็นศิลปะมานำเสนอคุณค่าบอนสีไทยได้อย่างน่าสนใจ
"ผมมองว่าเกษตรกรรมไทยคือหัวใจหลักของประเทศ แต่ไม่ค่อยมีใครนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นสักเท่าไร ส่วนมากจะเป็นการคิดถึงการนำของเหลือใช้ในวงการอุตสาหกรรมมาทำเป็นโปรเจกต์เพื่อทำให้เกิดมูลค่ามากกว่า แต่ตัวที่เป็นหัวใจหลักจริงๆ ซึ่งควรนำเรื่องศิลปะหรือการออกแบบมาเพิ่มมูลค่านั้นไม่ค่อยมี ถือว่าน่าเสียดายอยู่เหมือนกัน ดังนั้นถ้าคนไทยเข้มแข็ง เราสามารถนำส่ิงนี้มาเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของชาติได้ เหมือนกับที่ปลากัดเคยเป็นเอกลักษณ์ของเราครับ"
โดยรัฐหวังว่านิทรรศการนี้อาจจะสร้างแรงบันดาลใจให้ภาคการเกษตรอื่นๆ ของไทยลองนำศิลปะไปใช้ในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตของตนได้เช่นกัน