5 เพลงแทนใจวัยรุ่นจากโครงการ เพลงในใจ ที่บอกเล่าความคิดความรู้สึก และความหนักใจของคนรุ่นใหม่

    เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ขึ้นทั่วโลก มาตรการที่ใช้ป้องกันการระบาดทำให้พื้นที่การใช้ชีวิตประจำวันถูกจำกัด คนในครอบครัว เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน อาจจะไม่ได้พบปะพูดคุยแบ่งปันความคิดความรู้สึกกันเหมือนก่อน จึงอาจเกิดความเครียด ความเศร้าซึม ความวิตกกังวล หรือมีความอึดอัดสะสมอยู่ภายในใจที่สามารถส่งผลต่อสุขภาพจิตใจได้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับ happening จัดอบรมสอนการแต่งเพลงสำหรับกลุ่มเยาวชนที่ชื่อโครงการ เพลงในใจ เพื่อนำดนตรีซึ่งเป็นศิลปะแขนงหนึ่งมาใช้สื่อสารความในใจอย่างสร้างสรรค์
    โครงการ เพลงในใจ ประกาศเปิดรับสมัครคนที่สนใจเข้าร่วมตั้งแต่เดือนสิงหาคม และประกาศชื่อผู้เข้าร่วมอบรมทั้ง 75 คนตอนต้นเดือนกันยายน โดยผู้เข้าร่วมอบรมทุกคนมีโอกาสเรียนรู้วิธีและเทคนิคการแต่งเพลงจากวิทยากร 5 คนผ่านโปรแกรม Zoom ได้แก่ เอิ้น-พิยะดา หาชัยภูมิ คุณหมอนักแต่งเพลง, ตั้ม-สถาปัตย์ ธีรนิตยภาพ โปรดิวเซอร์และนักแต่งเพลงมืออาชีพ, กอล์ฟ-ประภพ ชมถาวร นักร้องนักแต่งเพลงมืออาชีพจากวง Superbaker นอกจากนั้นยังมีนักร้อง นักแต่งเพลง และนักดนตรีบำบัด โจเซฟ ซามูดิโอ และ วิภว์ บูรพาเดชะ นักเขียน นักแต่งเพลง และบรรณาธิการ happening 
    หลังจากผู้เข้าอบรมลงมือแต่งเพลงเรียบร้อยแล้ว คณะกรรมการได้คัดเลือก 5 เพลงที่สามารถสื่อสารและสะท้อนสิ่งที่อยู่ในใจของคนรุ่นใหม่ได้อย่างดี เพื่อนำไปผ่านกระบวนการผลิตเป็นเพลงขึ้นมา ทำให้ผู้ได้รับคัดเลือกทั้ง 5 มีโอกาสนำเพลงของพวกเขาไปบันทึกเสียง ทำดนตรี และเรียบเรียงโดย ตั้ม-สถาปัตย์ ธีรนิตยภาพ โปรดิวเซอร์และทีมบุคลากรทางดนตรีมืออาชีพ ก่อนที่จะนำมาเผยแพร่ให้ได้ฟังกัน ดังนี้
    เพลง 'Deadline' โดย ปราชญ์-สรสิช  แจ่มอัมพร
    เพลง 'หนึ่งในตองอู' โดย เฟย-ธนู สุดยอดบรรพต
    เพลง 'เช็กลิสต์' โดย ปก-สตบรรณ ศรีสุริยะธาดา
    เพลง 'หน้ากาก' โดย คอปเตอร์-ศิวัช ชูศิริ
    เพลง 'ธรรมดาที่คิดถึง' โดย ต้นกล้า-ธีธัช เลาหะสราญ
    happening ชวนทั้ง 5 คนมาพูดคุยถึงเบื้องหลังแนวคิดการแต่งเพลงและความรู้สึกที่ได้ร่วมโครงการครั้งนี้ รวมถึงนำเพลงของพวกเขามาให้ฟังพร้อมๆ กันด้วย

Deadline บทเพลงที่สามารถสื่อสารความรู้สึกได้มากกว่าคำพูด

    ปราชญ์-สรสิช แจ่มอัมพร กำลังศึกษาระดับปริญญาตรีอยู่ที่สาขาวิชาออกแบบสถาปัตยกรรม เขามีความสนใจเรื่องดนตรีและการเขียนเพลงอยู่แล้ว แต่ยังไม่เคยเริ่มแต่งเพลงจริงจังมาก่อน โครงการนี้จึงเหมือนจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาลองทำสิ่งที่อยู่ในใจมานาน

    ปราชญ์เล่าย้อนให้ฟังถึงช่วงเวลาขณะอบรมด้วยน้ำเสียงสดใส "การเจอโครงการนี้ถือเป็นความโชคดีด้วยครับ ผมไม่คิดว่าตัวเองจะสามารถแต่งเพลงขึ้นมาได้ด้วยซ้ำเพราะเราไม่เคยทำมาก่อน ตอนแรกก็รู้สึกกลัวระดับหนึ่งว่าเพื่อนๆ จะแข่งขันกันไหม จะมีความกดดันหรือเปล่า เพราะปกติผมไม่ได้เป็นนักล่ารางวัลอะไร แต่ผมเคยเป็นนักเรียนที่เป็นนักดนตรีประจำโรงเรียนจึงมีโอกาสไปแข่งขันมาบ้าง ซึ่งโชคดีที่ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย โครงการนี้ก็แตกต่างกับการแข่งขันทั่วไปที่เคยผ่านมา เพราะทุกคนไม่ได้มาแข่งขันกัน แต่มาแชร์เรื่องราวซึ่งไม่มีความกดดันว่าเราจะต้องไปขึ้นเวทีหรือแข่งอะไรกับใคร"

    ส่วนบรรยากาศในการอบรมปราชญ์บอกว่ามีความสนุกสนานและไม่เครียดเลย นอกจากความรู้จากวิทยากรแล้วยังมีช่วงที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นหรือเปิดใจแบ่งปันเรื่องราวของตัวเองกับเพื่อนๆ "ซึ่งส่วนตัวผมรู้สึกว่าการแชร์เรื่องที่เป็นส่วนตัวมากๆ เป็นสิ่งที่ค่อนข้างกล้าหาญมากทีเดียว และผมรู้สึกภูมิใจในตัวทุกคนที่มาร่วมพูดคุยกัน"

    ด้านผลงานการแต่งเพลงในโครงการ เพลงในใจ ครั้งนี้ ปราชญ์เผยถึงปัญหาส่วนตัวของเขาว่า "ผมประสบปัญหาเกี่ยวกับความวิตกกังวล ความเครียด และความกดดันจากการเรียนเปลี่ยนชีวิตผมให้กลายเป็นคนที่ค่อนข้างกลัวว่าเราจะทำอะไรผิดไหม คนอื่นจะคิดยังไงกับสิ่งที่ผมพูดหรือทำ ซึ่งส่งผลกระทบกับผมทั้งการเรียนและการเข้าสังคมพอสมควร ประกอบกับในช่วงที่มีเชื้อไวรัสโควิดระบาดผมและครอบครัวสูญเสียพี่สาวและมีปัญหาหลายเรื่องเข้ามากระทบ ผมจึงอยากนำความรู้สึกและปัญหาที่ตัวเองเผชิญอยู่มาแต่งเป็นเพลง และคาดหวังว่าความรู้สึกนี้จะสามารถส่งกำลังใจไปถึงคนในวัยเดียวกับผมที่อาจจะกำลังรู้สึกแบบเดียวกัน หรือคนที่หมดไฟ ท้อแท้ หรือกระทั่งโรควิตกกังวลที่เป็นโรคทางจิตเวชหรือโรคซึมเศร้าก็ตาม"

    เมื่อแต่งเพลงเสร็จแล้วลองเล่นดู เขาร้องไห้ไปด้วยร้องเพลงไปด้วย ปราชญ์บอกว่ามันแปลกมากอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน และเข้าใจสิ่งที่วิทยากร โจเซฟ ซามูดิโอ พูดเรื่องดนตรีบำบัดไว้ เพราะเมื่อร้องเพลงออกมาแล้วเขารู้สึกเหมือนได้พูดสิ่งที่อยู่ในใจออกมา ทำให้ความกังวล ความเศร้า และความทุกข์ที่มีอยู่ได้ถูกปลดปล่อยออกไป
    "ผมว่าดนตรีเป็นสิ่งที่สื่ออะไรหลายๆ อย่างได้ และทำหน้าที่ได้มากกว่าภาษาอีก เพราะเราได้แบ่งความรู้สึกแต่ละความรู้สึกออกมาเป็นบทเพลงที่งดงามให้คนฟังรับรู้ด้วยครับ"

หน้ากาก คือสิ่งที่เราต่างสวมไว้ให้คนอื่นรู้ว่าเราไม่เป็นไร

    หากทำความรู้จักกับ คอปเตอร์-ศิวัช ชูศิริ ผ่านน้ำเสียงที่ร่าเริงกับเสียงหัวเราะระหว่างการพูดคุย เราอาจคิดว่าเขาคือเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่มีอัธยาศัยดี มีอารมณ์ขัน และอารมณ์แจ่มใสมากทีเดียว แต่เนื้อเพลง หน้ากาก กลับบอกให้รู้ความรู้สึกเบื้องลึกที่มีความซึมเศร้าอยู่ในใจเขาอย่างเปิดเผย

    ระหว่างเข้าร่วมโครงการ คอปเตอร์เรียนอยู่ปี 4 สาขาวิชาเอกขับร้อง วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อเขาเห็นข่าวเปิดรับสมัครให้แต่งเพลงที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพจิต จึงสนใจที่จะลงสมัครเพื่อแต่งเพลงแนวให้กำลังใจดูบ้าง เนื่องจากเขาเป็นคนหนึ่งที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า จึงอยากสื่อสารความรู้สึกของคนที่มีภาวะซึมเศร้าให้คนอื่นเข้าใจ รวมถึงให้กำลังใจกับคนที่กำลังเผชิญภาวะนี้อยู่ด้วย

    "ปกติผมไม่ค่อยได้แต่งเพลงแนวนี้เท่าไร ผมเคยแต่งเพลงเกี่ยวกับความรัก อกหัก พอเข้าโครงการผมเลยคิดว่าได้พัฒนาตัวเองนะครับ อย่างไอเดียเพลงนี้ผมนำมาจากเรื่องของตัวเอง จะมีช่วงหนึ่งที่ผมเกิดภาวะดิ่งดาวน์มาก ทั้งๆ ที่ในใจผมอยากมีความสุขนะ พอต้องออกไปเจอผู้คนแล้วเราจะต้องฝืนยิ้มเหมือนใส่หน้ากากไว้ครับ เพื่อให้คนอื่นเห็นว่าเราไม่เป็นไร เราโอเค เพราะไม่อยากให้คนอื่นต้องลำบากใจ ไม่อยากให้คนอื่นดาวน์เพราะเรา"

    ระหว่างการอบรมนั้นเขานำคำเสนอแนะจาก เอิ้น พิยะดา มาปรับกับเนื้อเพลงที่แต่งไว้จนสุดท้ายได้รับเลือกให้นำมาทำเป็นผลงานเพลงเผยแพร่ในครั้งนี้ "ผมรู้สึกดีใจมากและเป็นเกียรติมากเลยครับที่ติด 1 ใน 5 นะครับ อยากขอบคุณทาง สสส.และ happening ที่จัดกิจกรรมดีๆ อย่างนี้ขึ้น เพราะถึงแม้ว่าผมจะเรียนดนตรีมา แต่การมีวิทยากรมาให้ความรู้คือส่วนที่ผมชอบมากที่สุด และโครงการนี้เป็นประโยชน์มาก เหมือนผมได้ฝึกตัวเองและส่งสารที่ดีไปถึงคนฟัง มันดีทั้งต่อตัวเองและคนอื่น ผมรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าควรจะรู้สึกนะครับว่าตัวเองมีคุณค่า เพราะเราได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและคนอื่นด้วย"

    คอปเตอร์เล่าว่าการแต่งเพลงในแนวทางที่ตัวเองไม่เคยทำมาก่อนในโครงการนี้ทำให้เขาได้ปลอดปล่อยความรู้สึกของตัวเองมากทีเดียว "ผมว่าเยอะเลยครับ เพราะพอเรารู้ว่าเพลงที่แต่งนี้จะนำไปเผยแพร่ให้คนอื่นได้ฟังด้วยมันก็ดีใจ เหมือนผมจะได้สื่อสารสิ่งที่อยากสื่อไปให้คนที่ทั้งเป็นโรคซึมเศร้าและไม่ได้เป็นโรคนี้ได้ฟัง เพราะเมื่อได้ฟังเพลงแล้วเขาอาจจะรับรู้ถึงความรู้สึกของคนที่ป่วยด้วยโรคทางจิตเวชอื่นๆ ได้ โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นโรคซึมเศร้าเท่านั้นนะครับ"
    เขามีคำแนะนำเล็กน้อยสำหรับใครที่มีคนใกล้ชิดเป็นโรคซึมเศร้าว่า "คุณไม่ต้องแนะนำคนที่เป็นโรคซึมเศร้าว่าเขาควรทำอย่างไรเลยครับ แค่อยู่ข้างๆ แล้วรับฟังก็พอแล้ว แค่รับฟังเท่านั้นเลย" และหากมีโอกาสได้ฟังเพลงหน้ากากสักครั้ง ก็ถือว่าได้รับฟังความรู้สึกข้างในของคนที่เกิดภาวะซึมเศร้าแล้ว

หนึ่งในตองอู ถ้าตั้งใจจริง ความสำเร็จคงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม
    จาก 1 ใน 5 ผู้ได้รับคัดเลือกในโครงการเพลงในใจครั้งนี้ เฟย-ธนู สุดยอดบรรพต เป็นคนที่อายุน้อยที่สุด ระหว่างที่กำลังแต่งเพลงนี้ เขาศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนรุ่งอรุณ ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังค้นหาตัวเองไปพร้อมๆ กับทุ่มเทให้กับการเรียนด้านวิชาการเพื่อการเลือกศึกษาต่อในอนาคต และเพลงของเขาก็ส่งกำลังใจให้คนที่มีความตั้งใจจริงได้อย่างดีเลยทีเดียว
    เฟยมีพื้นฐานด้านดนตรีมาก่อนและกำลังสนุกอยู่กับการเล่นดนตรี เขาสามารถเล่นกลอง เบส และกีตาร์ได้ เฟยเคยแต่งเพลงและทำเพลงกับเพื่อนๆ ในนามวง ลาป่วย ชื่อเพลง หนุ่มรูปงามเมืองกรุงถึงใจ ครั้งนี้เขาเลือกนำเรื่องที่จริงจังขึ้นมาแต่งเพลงบ้าง 
    เขาเล่าถึงที่มาของเพลงให้ฟังกลั้วเสียงหัวเราะว่า "ส่วนตัวผมค่อนข้างเป็นคนขี้โม้อยู่แล้วครับ หมายถึงชอบพูดเล่นๆ แล้วบางทีคนก็คิดว่าเราทำไม่ได้อย่างที่พูดจริงๆ แต่ผมเชื่อมั่นในตัวเองอยู่ว่า ถ้าจะทำจริงก็คงทำได้ทุกอย่าง เพลงนี้จึงแต่งขึ้นเพื่อต้องการบอกคนที่ไม่ค่อยมั่นใจในตัวเองว่า ถ้าเกิดคุณตั้งใจทำอะไรสักอย่างที่คนอื่นทำได้ คุณก็น่าจะทำได้ เราไม่ควรคิดด้อยค่าตัวเอง เราอาจจะเริ่มช้ากว่าคนอื่น สิ่งที่ทำอยู่ยังดูไม่ค่อยดี แต่ถ้าเราทำไปเรื่อยๆ มันจะดีกว่านี้ได้" ดังนั้นเพลงนี้จึงเป็นการแต่งขึ้นเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับคนฟังนั่นเอง
    ซึ่งเขาพูดถึงแนวคิดในเพลงของตัวเองว่า "คอนเสปต์ของเพลงผมไม่ได้โดดเด่นหรือแปลกใหม่อะไร เพราะคงจะมีเพลงที่พูดถึงเรื่องแนวนี้แล้ว ถ้าเราใช้คำธรรมดาคงไม่รู้สึกแตกต่าง เลยคิดว่าควรจะมีคำที่ค่อนข้างดึงดูดหน่อยมาใช้ ซึ่งจากเนื้อเพลง ดนตรีและหลายๆ อย่าง ผมก็คิดว่าสามารถถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในใจของผมได้ค่อนข้างตรงอยู่นะครับ" 
    เฟยบอกว่าเขาชอบหลายสิ่งได้รับจากโครงการนี้ ทั้งเนื้อหาจากการอบรมที่วิทยากรแต่ละคนนำประสบการณ์มาแบ่งปัน ทำให้เขาได้เห็นมุมมองการทำงานเพลงที่แตกต่าง "ถ้าเรานั่งทำเองอยู่คนเดียวเราก็อาจจะใช้วิธีเดิมๆ แต่พอได้เห็นว่าเขาคิดอย่างไร ได้ฟังเพลงที่เพื่อนคนอื่นทำ ก็ได้พัฒนาการทำงานของตัวเองด้วยครับ" และเขายังบอกอีกว่าขั้นตอนการทำงานที่สตูดิโอก็ทำให้ได้เห็นการทำงานจริงของมืออาชีพ ซึ่งเป็นประสบการณ์ดีๆ ที่ได้รับจากการอบรมครั้งนี้ด้วย

ธรรมดาที่คิดถึง การบันทึกความรู้สึกในช่วงเวลาที่ทุกคนต่างกักตัว
    ในสถานการณ์ซึ่งทุกคนยังคงต้องรักษาระยะห่างระหว่างกัน อาจจะทำให้เราชินกับการสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ งดออกเดินทางไปพบปะเพื่อนฝูง หรือ เรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน แต่เพลงของ ต้นกล้า-ธีธัช เลาหะสราญ ทำให้เรารู้ว่า ...แท้จริงแล้ว เราต่างคิดถึงชีวิตประจำวันปกติที่ไม่ต้องระมัดระวังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มากเหมือนกัน
    ตอนร่วมอบรมโครงการเพลงในใจ ต้นกล้าเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ในวัยที่กำลังค้นหาตัวเองและใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับเพื่อนฝูงนั้น เขาเป็นเหมือนเพื่อนคนอื่นๆ อีกมากมายที่ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตัวเองเพื่อความปลอดภัยจากโรคระบาด ดังนั้นเมื่อเห็นโครงการนี้จึงตัดสินใจเข้าร่วมเพื่อใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ 
    ต้นกล้าพูดถึงเหตุผลในการสมัครเพิ่มเติมว่า "ผมเป็นคนชอบแต่งเพลงอยู่แล้วครับ การแต่งเพลงสำหรับผมก็เหมือนการระบายความรู้สึก หรือระบายอะไรสักอย่างที่มันอึดอัดอยู่ข้างในครับ บางความรู้สึกอาจจะพูดไม่ได้ หรือแค่พูดมันยังไม่พอ เราก็เลยใส่ทำนองใส่วรรคตอนให้มันจนออกมาเป็นเพลง ชอบบ้างไม่ชอบบ้าง ...แต่สนุกดีครับ พอเห็นโครงการเกี่ยวกับการแต่งเพลงก็มองว่า การฟังประสบการณ์จากพี่ๆ วิทยากรน่าจะสามารถเก็บมาพัฒนาตัวเองได้"
    สำหรับที่มาของเพลง ธรรมดาที่คิดถึง นั้นมาจากความรู้สึกของเขาที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด เขาหยุดคิดเพื่อเรียบเรียงคำที่อยู่ในหัวก่อนพูดว่า "ผมรู้สึกว่า ความคิดถึงเป็นเรื่องธรรมดา แต่สิ่งที่เราคิดถึงมักมีความพิเศษอยู่เสมอ อย่างปกติเรามีเรื่องธรรมดาที่สามารถทำได้ในชีวิตประจำวันใช่ไหมครับ แต่พอเกิดโควิดปุ๊ป กลายเป็นไม่สามารถทำเรื่องพวกนั้นได้เหมือนเก่า อย่างเช่นการออกไปข้างนอก หรือการมองหน้าเพื่อนได้แค่ครึ่งบน ไม่สามารถเห็นทั้งหน้าโดยที่ไม่มีแมสมาปิดอย่างนี้ครับ พอทำไม่ได้นานๆ เข้าก็เกิดเป็นความคิดถึงขึ้นมา จากเรื่องธรรมดาที่ไม่สามารถทำได้เหมือนก่อน อยู่ดีๆ ก็กลายเป็นเรื่องพิเศษขึ้นมา ผมคิดว่าหลายๆ คนก็อาจจะรู้สึกแบบนี้เหมือนกัน จึงอยากให้เพลงนี้เป็นพื้นที่เอาไว้คิดถึงเรื่องเล็กๆ สำหรับทุกคนครับ"
    เมื่อเข้าอบรมแล้วรู้โจทย์การแต่งเพลงของโครงการ ต้นกล้าจึงรู้สึกว่าตรงตามวัตถุประสงค์การแต่งเพลงของเขาพอดี "ผมว่าเป็นโจทย์ที่ดีและตรงประเด็นครับ เพราะการแต่งเพลงสำหรับผมคือการสื่อสารความรู้สึก ซึ่งความรู้สึกนั้นจะเป็นความรู้สึกที่ดีหรือว่าไม่ดีก็ตาม ส่วนตัวผมชอบเพลงที่แต่งออกมาจากความรู้สึกจริงๆ ผมคิดว่าคนฟังสัมผัสได้นะครับว่าเพลงนี้เป็นความรู้สึกที่ออกมาจากใจของเขา และพอเนื้อเพลงทุกคำ ทุกโน้ตทำนองถ่ายทอดออกมาก็จะมีความจริงใจ"
    นอกจากนั้นประโยชน์ที่เขาได้รับจากโครงการเพลงในใจนี้คือ การที่วิทยากรซึ่งเป็นนักแต่งเพลงแต่ละคนมีวิธีในการแต่งเพลงที่หลากหลาย ทำให้เห็นมุมมองของการแต่งเพลงที่กว้างขึ้น ซึ่งเขาสามารถนำมาเลือกปรับใช้ให้เหมาะกับการแต่งเพลงของตัวเองต่อไป

เช็คลิสต์ เพลงแทนความรู้สึกของเด็กในยุคสมัยนี้ถึงพ่อแม่ของพวกเขา
    การถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในใจผ่านเพลงของผู้ร่วมโครงการส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องราวหรือความรู้สึกของตัวเอง แต่สำหรับ ปก-สตบรรณ ศรีสุริยะธาดา เขาเลือกที่จะถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในใจของนักเรียนของเขา 
    ปกทำงานเป็นติวเตอร์อิสระสอนวิชาคณิตศาสตร์ให้กับนักเรียนระดับมัธยม เขาเป็นคนสนใจเรื่องดนตรีและชอบฟังเพลงมาตลอดอยู่แล้ว ช่วงเรียนอยู่มหาวิทยาลัยเขามีโอกาสลองแต่งเพลงของตัวเองเก็บไว้บ้าง แต่ยังไม่เคยนำมาทำเพลงจริงจัง เมื่อเห็นข่าวโครงการเพลงในใจจึงคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ลองแต่งเพลงอีกครั้ง
    "ผมคิดว่าการเข้าร่วมโครงการจะช่วยปลดล็อกเกี่ยวกับความกล้าในการแต่งเพลงของผมครับ พอได้ฟังประสบการณ์จากพี่ๆ วิทยากรแล้วทำให้รู้ว่าเราไม่จำเป็นต้องเริ่มจากการแต่งทำนอง หรือมีความรู้เรื่องดนตรีขนาดนั้น แค่เริ่มจากการเขียนก่อน เลยทำให้เลิกเกร็ง ไม่ต้องปวดหัวว่าทำนองต้องเป็นยังไง และเราแต่งเพลงได้ง่ายขึ้น"
    พอถามถึงที่มาของเพลงซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับความคาดหวังที่เด็กวัยเรียนต้องแบกรับ เราก็ได้รับคำตอบว่า "ผมลองนั่งนึกดูว่าผมเคยผ่านประสบการณ์อะไรมาบ้าง แล้วนึกถึงเรื่องนักเรียนคนหนึ่งที่เคยเรียนพิเศษด้วย ตอนพูดคุยกันน้องเขาเล่าว่าตั้งใจพยายามเรียนเต็มที่แล้ว แต่พอเวลาไปสอบหรือลงมือทำอะไรจริงๆ ผลลัพธ์อาจจะต่ำกว่าที่ครอบครัวคาดหวังว่าเขาควรจะได้ ซึ่งตอนเรียนผมรู้สึกได้ว่าน้องเขาเต็มที่เหมือนกัน น้องเขาโดนผู้ปกครองต่อว่า 'ทำไมเป็นเด็กไม่ดี' 'ทำไมไม่ตั้งใจเรียน' เราเป็นคนสอนที่เห็นภาพของน้องเขาในแบบที่พ่อแม่ไม่เคยเห็นมาก่อน ผมก็รู้สึกสงสาร ซึ่งผมมองว่าคงไม่มีใครอยากเป็นเด็กไม่ดีที่คิดว่า วันนี้ตื่นมาแล้วจะทำให้พ่อแม่ร้องไห้ยังไงดี อย่างนักเรียนที่ผมเคยคุยด้วยเขาก็อยากเรียนให้ดี สอบผ่าน ไม่อยากเป็นตัวปัญหาให้ต้องโดนดุ เขาเป็นแค่เด็กธรรมดาที่มีจุดแข็งจุดอ่อนไม่เหมือนกัน"
    ปกจึงนำความรู้สึกที่รับรู้จากนักเรียนมาถ่ายทอดลงไปในเพลง เช็คลิสต์ ด้วยความเข้าใจ พร้อมกับอธิบายให้ฟังว่าการเป็นเด็กสมัยนี้ลำบากมากแค่ไหนด้วย "ผมคิดว่าน่าจะมีเด็กอีกหลายคนที่เจอปัญหาแบบนี้ คือพยายามเต็มที่แล้ว แต่พ่อแม่ไม่คิดว่าเขาเป็นเด็กที่ดี ซึ่งเป็นเด็กสมัยนี้ยาก ผมรู้สึกว่ายากกว่าสมัยผม ทำไมเขาทำงานกันเยอะจัง ผมย้อนนึกไปในสมัยของตัวเองเราไม่ต้องทำงานเยอะขนาดนี้ ถ้ามีโอกาสก็อยากจะบอกผู้ปกครองผ่านบทเพลงนี้ว่า อย่าเพิ่งไปคิดว่าลูกตัวเองไม่ได้เอาจริงเอาจังกับการเรียน ลองเปิดใจฟังเขาก่อน ทำความเข้าใจ และอยู่เคียงข้างกันเวลาที่เขามีปัญหา ผมคิดว่าเด็กไม่ได้ต้องการอะไรเยอะ แค่นี้น่าจะเพียงพอแล้ว"
    ดังนั้นหลังประกาศผลว่าเพลงของเขาเป็น 1 ใน 5 เพลงที่ได้รับเลือกจากโครงการ เขาจึงดีใจมากที่จะมีคนได้รับฟังความรู้สึกของเด็กๆ ผ่านเพลงนี้เสียที "ผมรู้สึกว่านอกจากผมแล้ว ในที่สุดก็จะมีคนได้ฟังเรื่องนี้ มันคงจะเป็นหนทางที่เสียงของคนที่เรารับฟังจะส่งไปถึงคนที่ควรได้ยินจริงๆ สักที ไม่อย่างนั้นน้องๆ คงไม่มีโอกาสให้พ่อแม่ได้ฟังความรู้สึกของพวกเขา ต้องขอบคุณทาง สสส. และ happening ที่จัดโครงการนี้ขึ้นมา และขอบคุณพี่ๆ วิทยากรทุกคนรวมถึงทีมงานด้วยครับ"
    หวังว่าเมื่อเพลงที่สื่อความในใจของเด็กยุคสมัยนี้ถูกเผยแพร่ไปแล้ว พ่อแม่ของพวกเขาจะสัมผัสได้ถึงความตั้งใจของเด็กๆ เช่นเดียวกับที่ปกรับรู้ตลอดมา

    คราวนี้ลองไปฟังความรู้สึกของ ตั้ม-สถาปัตย์ ธีรนิตยภาพ ผู้รับผิดชอบโปรดักชั่นการทำเพลงของโครงการเพลงในใจกันบ้าง การทำงานครั้งนี้มีทีม No Sound in Space ซึ่งประกอบไปด้วยตัวเขาและ ข้น-ศาสตร์ พรมุณีสุนทร มือเบสจากวง Bomb at Track, กร-กร แสงเขียวงาม ซินธิไซเซอร์วง Camel Gel และ เจมส์-ณัฐพล อินทร์หนู มือกลองวง Ford Trio มาช่วยกันทำผลงานเพลงให้กับผู้ได้รับคัดเลือกทั้ง 5 คน
    ตั้มเล่าความรู้สึกเมื่อฟังเพลงที่น้องๆ แต่งด้วยน้ำเสียงที่ตื่นเต้น "สถานการณ์โควิดทำให้เราไม่ได้เจอหน้ากัน เราไม่รู้ว่าน้องเขาหน้าตาเป็นอย่างไรด้วยซ้ำ แต่พอรู้อายุก็ตกใจแล้ว โอ้โห อายุน้อยมาก แต่ตัวเพลงเขียนออกมาได้ดี เมื่อเทียบกับตอนเราอายุเท่าพวกเขาเราทำอะไรอยู่ ยังไม่เป็นชิ้นเป็นอันเลย"
    เขาเพียงเสียดายที่ช่วงสถานการณ์โควิดอาจจะทำให้ไม่ได้ใช้เวลาด้วยกันเยอะ ขณะที่ถ้าได้ทำเพลงกันในภาวะปกติจะมีบรรยากาศที่สนุกกว่านี้ แต่อย่างน้อยน้องๆ ก็ได้รับประสบการณ์การทำงานในห้องอัดไปเหมือนกัน
    ส่วนแนวคิดการทำงานเพลงครั้งนี้เขาใช้วิธีแบ่งงานกับน้องๆ ในทีม โดยให้ลองเลือกจากชื่อเพลงโดยที่ยังไม่เคยฟังมาก่อน เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้จินตนาการในการทำดนตรีอย่างเต็มที่ "เหมือนเปิดกล่องสุ่ม เพราะถ้าให้เลือกจากการฟังเขาอาจจะอยากทำเพลงในสไตล์ที่ถนัด แต่การแบ่งงานด้วยการดูชื่อเพลงแบบนี้เป็นการกระตุ้นให้ทุกคนไม่ทำงานอยู่ในกรอบด้วย เราคุยกับน้องๆ ในทีมว่าสถานการณ์ที่เราไม่สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับน้องๆ เจ้าของเพลงว่าเขาอยากได้แบบไหนขณะที่เราทำงานได้ เราจึงมีหน้าที่เป็นผู้เรียบเรียงโดยเคารพในตัวชิ้นงานนั้น ประกอบกับสิ่งที่เราคิดว่าถ้าทำเพลงนี้ในมุมมองของเราจะออกมาเป็นอย่างไร"
    การทำงาน 5 เพลงนี้จึงมีทั้งทิศทางการทำเพลงที่ชัดเจนอยู่แล้วและเพลงที่ใช้การทดลองอย่างสนุกสนาน ถึงกระนั้นตั้มยังควบคุมโปรดักชั่นให้ทั้ง 5 เพลงมีความเชื่อมต่อกันคล้ายการทำงานแบบอัลบั้ม เพื่อให้เมื่อนำมาฟังต่อกันแล้วมีความกลมกลืนกัน โดยเขาทิ้งท้ายให้ฟังว่า "ผมมองว่า 5 เพลงนี้เป็นอีพีที่บันทึกช่วงเวลาปี 2021 ของทุกคนเอาไว้ โดยมีทีมเราเป็นหนึ่งในนั้นที่ช่วยกันทำครับ"
    หากได้ฟังเพลงที่สำเร็จจากโครงการเพลงในใจนั้น เราเห็นด้วยกับตั้มเลยว่า นี่คือบทเพลงที่บันทึกความคิดความรู้สึกของผู้คนในช่วงปี 2564 เอาไว้จริงๆ

ดุสิตา อิ่มอารมณ์

นักเขียน ผู้ใช้พื้นที่ในเวลาว่างไปกับการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ขี่จักรยาน อ่านการ์ตูน เล่นเลโก้ ฯลฯ โดยเชื่อเต็มหัวใจว่าเวลาที่หมดไปกับความรื่นเริงนี้สามารถเติมเต็มชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ