"สมาคมนิสิตเก่าฯ เป็นเหมือนศูนย์รวมของพี่น้องตั้งแต่รุ่นแรกๆ จนถึงปัจจุบันไว้ด้วยกัน นายกสมาคมก็เป็นเหมือนพ่อบ้านที่คอยดูแลสารทุกข์สุขดิบของพี่น้องแต่ละคนว่าเป็นยังไงบ้างครับ" ป๊อด-ประกิต พนานุรัตน์ นายกสมาคมนิสิตเก่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คนปัจจุบันเล่าถึงบทบาทของตัวเอง "ผมเป็นนายกสมาคมฯ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 พอดี ผมก็ปรึกษากับตุ้ย (ชาญชัย ชวานนท์) ก็คิดว่า เราจะช่วยเหลือพี่น้องของเราได้ยังไงบ้าง ตุ้ยก็เสนอว่าเราน่าจะทำโปรเจกต์เกี่ยวกับ NFT นะ หลังจากที่คุยถึงข้อดี-ข้อเสีย เราก็พบว่ามันเป็นแนวทางใหม่ๆ ที่คนรุ่นใหม่เข้าถึงได้ ขณะที่รุ่นพี่ๆ เองก็สนใจแต่ยังงงๆ กับมันอยู่ และเป็นกิจกรรมที่ทำผ่านออนไลน์ได้ด้วย" เขาเล่าไปถึงกิจกรรมของสมาคมในห้วงเวลาที่ทุกคนประสบวิกฤตโควิด 19 (ต่อเนื่องมาจากการช่วยหาวัคซีนให้รุ่นพี่รุ่นน้องและการจัด Tect' Talk ที่เป็นการเสวนาออนไลน์เพื่อไต่ถามทุกข์สุขและวิธีการปรับตัวของเหล่าศิษย์เก่าในแขนงอาชีพต่างๆ โดยไล่มาตั้งแต่คนที่เป็นสถาปนิกหรือนักออกแบบตามที่ร่ำเรียนมา ไปถึงคนที่นำเอาวิชานักออกแบบมาประยุกต์ทำร้านอาหาร ทำอีเวนต์ และธุรกิจสิ่งพิมพ์)
"ด้วยความที่คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) มันเป็นเรื่องใหม่ ตอนแรกผมก็กลัวนะ" นายกสมาคมฯ หัวเราะเบาๆ เมื่อเล่าถึงจุดเริ่มต้น "แต่ตุ้ยก็หาข้อมูลมาอธิบายได้แข็งแรงมาก จนผมเห็นด้วยกับงานนี้"
"ผมคิดว่าเราค่อยๆ ใช้เวลาทดลองทำโปรเจกต์นี้ได้" ตุ้ย-ชาญชัย ชวานนท์ ผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณา และที่ปรึกษาสมาคมฯ ซึ่งเป็นคนต้นคิดแคมเปญกล่าวเสริม "เพราะเราตอบตัวเองได้ว่าเราทำไปเพื่ออะไร เราไม่ได้ทำในฐานะบริษัทที่ต้องการทำรายได้จากสิ่งนี้ แต่เราทำเพื่อเปิดพื้นที่ให้ศิษย์เก่าได้มารวมตัวกัน เราเริ่มโปรเจกต์นี้ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 ในฐานะที่เราเป็นหนึ่งในทีมงานสมาคมฯ เราไม่อยากให้การสื่อสารระหว่างสมาคมและศิษย์เก่าขาดหายไป จึงมองหากิจกรรมที่เปิดให้ทุกคนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และสามารถกลับมาทำกิจกรรมร่วมกันได้ ซึ่ง NFT มันตอบโจทย์ตรงนี้ อีกอย่างเรามีบุคลากรในแวดวงงานสร้างสรรค์หลากหลายมาก ไม่ใช่แค่ในสายงานสถาปนิก เราค่อยๆ ใช้เวลาในการศึกษามันได้ อย่างที่มีคนบอกผมว่า เราไม่ใช่คนแรกที่วิ่งเข้าไป แต่เราจะไม่ใช่คนสุดท้ายที่วิ่งเข้าไป"
แต่ถึงตุ้ยกับป๊อดจะเป็นทีมงานสมาคมฯ รุ่นปัจจุบัน ก็ยังไม่ได้มีการเชื่อมโยงกับรุ่นพี่ๆ ที่เป็นศิลปินรุ่นใหญ่วัยเกษียณที่บางท่านก็เป็นระดับศิลปินแห่งชาติได้อย่างแนบสนิท ดังนั้นทั้งสองคนจึงชักชวนรุ่นพี่อีกท่านมาร่วมเป็นประธานในโครงการนี้ ซึ่งก็คือ เหว่ง-สุวัฒน์ วสะภิญโญกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาปนิก 49 จํากัด (ซึ่งเป็นศิษย์เก่าคณะฯ รุ่นเดียวกับ จิก-ประภาส ชลศรานนท์) ที่ถูกเชิญให้เข้ามาร่วมเป็นผู้ประสานงานกับเหล่าศิลปินและนักออกแบบรุ่นใหญ่ ซึ่งต้องเรียกว่าหากไม่มีสุวัฒน์ มาช่วยประสานกับรุ่นใหญ่ โปรเจกต์นี้อาจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยทีเดียว
นิธิ สถาปิตานนท์, ประภาส ชลศรานนท์, วินทร์ เลียววาริณ เป็นชื่อของศิลปินรุ่นใหญ่ระดับ 'ศิลปินแห่งชาติ' เป็นรายชื่อแรกๆ ที่เหว่งลิสต์ว่าจะไปชักชวนให้ส่งผลงานมาร่วมกิจกรรม ตามต่อด้วยศิลปินรุ่นต่อๆ มาที่ทางคณะทำงานช่วยกันชักชวน อาทิ เมธี น้อยจินดา นักดนตรีวงโมเดิร์นด็อกที่ช่วงหลังหันมาเอาดีด้านการวาดภาพด้วย, สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ศิลปินผู้นำภูมิสถาปัตยกรรมมาผสมผสานกับงานศิลป, ปิตุพงษ์ เชาวกุล นักสร้างสรรค์ที่อยู่เบื้องหลังงานอีเวนต์และงานคอนเสิร์ตเท่ๆ มาแล้วหลายรายการ เป็นต้น
"จริงๆ NFT มันสามารถนำเสนองานได้หลากหลายมากๆ นอกจากภาพวาด อย่างขายหัวเราะก็ลงเป็น E-Book เราจะลงภาพวาดเป็นซีรีส์ หรือลงเพลงที่แต่งเองก็ได้ แต่จะทำอย่างไรให้มันมั่นคงและยืนระยะด้วย นี่คือโจทย์ของเรา ตอนนี้เรามีครีเอเตอร์กลุ่มแรก 9 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนคุ้นเคยที่เราติดต่อได้ไม่ยากนัก ป๊อดกับพี่เหว่งก็วางไว้ว่า มันควรจะมีเฟสต่อๆ ไปตามมา สำหรับงานศิลปะแบบ NFT เรามองว่าเขาไม่ได้ซื้อลิขสิทธิ์ของงาน แต่เขาซื้อตัว Code ของงาน มันเป็น proof of purchase เรามองว่าคนที่จะเข้ามาซื้องาน NFT ของสมาคม ส่วนหนึ่งเขาอาจมองว่ามันคือการลงทุน แต่ใจเราอยากได้คนที่เอ็นดูเรา คนที่รู้สึกว่า กลุ่มศิษย์เก่าเหล่านี้น่ารักดีนะ มีความสร้างสรรค์ และชอบงานที่มันดูเป็นสถาปัตย์ๆ" ผู้กำกับหนุ่มใหญ่หัวเราะเบาๆ "หลักๆ คือเราอยากได้คนที่เอ็นดูและอยากสนับสนุนในความเป็นสถาปัตย์ จุฬาฯ ครับ"
ในขณะที่พี่ใหญ่อย่างเหว่งเสริมว่า "อีกมุมหนึ่งเราก็มองว่า งานที่ออกมาทุกคนต้องเสพได้และทำให้คนรู้สึกว่าอยากที่จะลงทุนกับมัน อย่างน้องหลายคนในโปรเจกต์ เขาก็เป็นที่รู้จักอยู่แล้ว หรือพี่ๆ ศิลปินแห่งชาติเองก็เหมือนกัน เพราะเขาพอจะมีผู้ติดตามอยู่แล้ว หน้าที่ของเราคือ ทำอย่างไรให้งานของเขาออกมาอยู่ในรูปแบบของ NFT ที่เหมาะสม"
"เราไม่ควรมองว่ามันเป็นแค่ภาพวาดชิ้นหนึ่งครับ" ตุ้ยกล่าวต่อ "เพราะมันคือการขาย proof of purchase และสิ่งเหล่านี้มันคือการสนับสนุนศิลปินคนนั้น เราเองก็อยากให้คนมองว่า สิ่งนี้คือโปรเจกต์ชักจูงศิษย์คณะสถาปัตย์กรรมมาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานอีกครั้ง โดยมี NFT เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เราสามารถนำเสนอผลงานได้ ไม่ต่างจากละคร วารสาร ภาพยนตร์ แต่ด้วยความที่ NFT มันเป็นสิ่งที่ใหม่และมีการเปลี่ยนแปลงเร็ว ทุกคนเลยรู้สึกไม่มั่นใจกับมัน แต่อีกมุมหนึ่งมันก็เป็นโอกาสที่จะให้ใครหลายๆ คนได้แสดงออก นำเสนอตัวตนผ่านช่องทางเหล่านี้ได้ ถ้าเราศึกษา NFT จะพบว่า มันมีพื้นที่ให้แสดงออกอย่างหลากหลาย เราจึงหวังว่า NFT อาจจะกลายเป็นอีเวนท์ประจำปีที่ชวนศิษย์เก่ามาทำอะไรสนุกๆ ให้กับสังคมได้ เหมือนกับกิจกรรมอื่นๆ ที่เราเคยจัดมา และเราคิดธีมไว้ว่าควรมีการนำธีมประเพณีต่างๆ ของคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ไปบันทึกไว้ในบล็อกเชน (Blockchain) เพราะเราเชื่อว่ากิจกรรมต่างๆที่พวกเราเคยทำกันในแต่ละปีช่วงที่ใช้ชีวิตเป็นนิสิตของคณะนี้ ทำให้เรามีพี่ๆ น้องๆ ศิษย์เก่าที่ออกไปประกอบอาชีพในหลากหลายสาขาการสร้างสรรค์ครับ" ตุ้ยกล่าวถึงความตั้งใจของโปรเจกต์นี้
การรวมรวมผลงานจากศิษย์เก่าอาจไม่ถือว่ายากนัก แต่เมื่อขายได้แล้ว คำถามที่หลายคนอยากรู้ก็คือ รายได้จะไปที่ไหน?
"เราตั้งใจนำรายได้เข้ามาในกองทุนของสมาคมศิษย์เก่า เรามีกองทุนสวัสดิการหลายๆ ส่วน มีทั้งกองทุนกตัญญูครูสถา ที่เอาไว้ช่วยเหลืออาจารย์ผู้สูงอายุ และเราก็ตั้งใจจะมีกองทุนที่ชื่อว่า สวัสดิการพี่น้อง เพื่อช่วยเหลือพี่น้องที่ขัดสน และอีกส่วนหนึ่งก็จะนำไปใช้สำหรับกิจกรรมของสมาคม ส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมสาธารณะ เพราะเราเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และอีกส่วนก็เป็นค่าแรงให้กับศิลปิน เพราะเรามองว่า ถ้าจะทำโปรเจกต์นี้ให้ยั่งยืน คนที่เข้ามาก็ควรจะต้องได้รายรับกลับไปด้วย ตอนนี้ก็เป็นช่วงเรียนรู้ว่า เราจะแบ่งสัดส่วนอย่างไร แต่หลักๆ คือการแบ่งให้สมาคมและศิลปินครับ" นายกสมาคมเป็นผู้ให้คำตอบ
และท้ายที่สุด แม้ว่าถึงตอนนี้จะยังมีคนไม่เข้าใจเรื่อง NFT หรือคริปโตเคอร์เรนซี หรือบางคนอาจจะมองว่ามันอาจเป็นแค่กระแสที่มีมาแล้วก็หายไป แต่ทีมงานผู้คิดโปรเจกต์นี้ให้กับสมาคมนิสิตเก่าฯ ก็ไม่ได้ห่วงเรื่องนั้นมาก เพราะเป้าหมายของการได้ร่วมแรงร่วมใจกันระหว่างพี่ๆ น้องๆ ได้บรรลุผลพอสมควรแล้ว ส่วนเรื่องอื่นๆ นั้นถือว่าเป็นผลพลอยได้ที่ตามมาที่ต้องรอดูต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร
"เราไม่ได้สนับสนุนให้คนเทรดคริปโตเคอร์เรนซี เพียงแค่เราต้องการนำเสนอว่า เทคโนโลยีเกี่ยวกับบล็อกเชน (blockchain) หรือเงินอิเล็กทรอนิกส์ มันเริ่มค่อยๆ เข้ามามีบทบาทในโลกแล้ว แม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็เริ่มออกเงินดิจิตัลของตัวเอง สถาบันต่างๆ เองก็เริ่มสนใจในเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องศึกษาและระมัดระวังอย่างมาก เราเองไม่ได้สนับสนุนให้ไปเทรด แต่เราสนับสนุนให้คนค่อยๆ รู้จักมันอย่างระมัดระวังครับ" ตุ้ยกล่าวถึงเป้าประสงค์อีกครั้ง
โครงการขายงานศิลปะผ่าน NFT ของสมาคมนิสิตเก่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเริ่มเปิดตัวในเดือนธันวาคม ปี 2564 นี้ โดยจะโปรโมตผ่านทวิตเตอร์แอคเคาท์ @arch_cu_alumni และช่องทางสื่อต่างๆ ของสมาคม
แต่ในบทความชิ้นนี้ เราขอเผยศิลปินบางท่านและผลงานของพวกเขาที่จะนำมาร่วมโปรเจกต์นี้แบบคร่าวๆ กันก่อนสักส่วนหนึ่ง
"ตอนที่มาชวน เขาบอกว่าเป็นการให้เอางานศิลปะมา แล้วก็เอาเงินมาช่วยคณะฯซึ่งพูดแค่นี้ผมก็โอเคอยู่แล้ว เพราะก็ทำเรื่องนี้อยู่แล้ว เขียนรูปอยู่แล้ว ดีไซน์เฟอร์นิเจอร์บ้าง ทำหนังสือบ้าง เราทำอะไรแบบนี้อยู่แล้ว ก็ไม่มีปัญหาอะไร ก็ต้องดูว่าอะไรที่เขาคิดว่าเป็นประโยชน์บ้าง ส่วนตัวแล้วผมยังไม่เข้าใจเรื่อง NFT นะ ไม่รู้เรื่องเลย ผมอายุ 75 แล้ว ไม่ค่อยได้ยุ่งกับเรื่องยุคดิจิตัลเลย" นิธิหัวเราะเบาๆ ก่อนจะกล่าวต่อ "ยังไม่มีไอเดียว่าจะเอางานแบบไหนมาร่วมโปรเจกต์นี้นะ แต่ผมเองก็เป็นคนชอบเขียนลายเส้น แต่ก็มีหลายคนทำอยู่ ก็จะพยายามไม่ให้ซ้ำกับคนอื่นๆ นะครับ ถึงแม้จะขายได้หรือไม่ได้ ผมก็ไม่เกี่ยวแล้ว ผมก็ทำหน้าที่ของผมในฐานะศิษย์เก่าที่อยากช่วยคณะฯ ก็ถือว่าทำสำเร็จแล้ว"
"โจทย์ของเราคือ การรับน้องสถาปัตย์ เราจำได้ว่าการเล่นรักบี้ที่ต้องใช้ความเป็นทีมเวิร์ก ซึ่งมันสื่อถึงการช่วยเหลือกัน นอกจากนี้ก็มีพิธีศีลจุ่มที่เราก็นึกถึง มันเป็นพิธีที่เราถือโคมเข้าตรงบันได แล้วพี่ๆ จะร้องเพลงและโปรยใบจามจุรี มันเหมือนการส่งต่อจิตวิญญาณ เหมือนหมาป่าที่รับตัวใหม่เข้ามาในฝูง เราทำเป็นคลิปสั้นๆ ของหมาป่าถือโคมแล้วก็มีซาวน์หมาหอนเป็นเพลงคณะ ให้บรรยากาศการรับน้องตอนกลางคืน"
"ตอนแรกเราก็งงๆ กับ NFT เหมือนกันนะ ส่วนตัวเราก็เพิ่งเราเริ่มทำงานดิจิตัลอาร์ตเมื่อไม่นานมานี้ ตอนนี้ก็ค่อยๆ ศึกษาอยู่ครับ แต่ส่วนตัวมองว่าพอเริ่มมี NFT เข้ามา วงการศิลปะดูคึกคักขึ้น เวลาคนโพสต์อะไรก็ดูมีคนสนใจมากขึ้น ตอนนี้ NFT กลายเป็นเรื่องที่คนเริ่มเข้าใจมากขึ้นกว่าเดิม"
"แรงบันดาลใจมาจากประเพณีโปรยใบจามจุรี เป็นพิธีรับน้องเข้าคณะ โดยน้องปีหนึ่งจะแห่โคมเดินผ่านหน้าคณะเข้ามา และรุ่นพี่จะยืนอยู่บริเวณบรรไดและโปรยใบจามจุรีลงมา จำได้ว่าใบมันเยอะมาก มันเป็นหนึ่งสิ่งที่เราจดจำได้ดีตอนที่เรียนคณะนี้ แล้วส่วนตัวเราสนใจโครงสร้างของบันได ถ้าทำ NFT ที่เกี่ยวกับคณะ เราก็ทำบันไดคณะออกมาเป็นภาพโมชั่นกราฟิกที่มีเพลงประกอบ ซึ่งเราก็กดซาวน์จากโปรแกรมกันเอง โดยเราทำออกมาทั้งหมด 4 เวอร์ชั่น เห็นเขาชอบทำเป็นเซ็ตกัน จะมีทั้งอันที่เป็นพิมพ์เขียว เป็นแนวไซเบอร์พังก์ อีกอันจะเกี่ยวกับจินตนาการว่า ถ้าทุกคนตายเพราะโควิดกันหมดจะเป็นยังไงนะ หลักๆ กันจะเป็นคนทำงานออกมา โดยมีเราเป็น Art Dirtector และกันเป็นคนทำ เราเป็นคนชี้" แจ็คเล่าถึงงานศิลปะแล้วปิดท้ายด้วยเสียงหัวเราะ
"เวลาพูดถึงคณะสถาปัตย์ เราจะนึกถึงบรรยากาศของหน้าคณะ" จิ๊บเล่าสบายๆ "มันเป็นภาพที่เห็นแล้วรู้สึกเหมือนได้กลับบ้าน ซึ่งเราเอามาประกอบกับประเพณีแห่เชือกที่เราและเพื่อนในรุ่นช่วยกันแห่หลังจากได้รับจากรุ่นพี่ มันเป็นโมเมนต์ที่เราประทับใจ โดยงานของเราจะเป็น Mapping ของหน้าคณะ"
"เราใช้สัญลักษณ์ของการแห่เชือกที่เป็นส่วนหนึ่งของงานรับน้อง อย่าง มือ เชือก สี" ติ๊พูดเสริม "เราพยายามลิสต์องค์ประกอบต่างๆ ที่อยู่ในกิจกรรมที่เลือกมา ก็ต้องรอดูว่า พอนำงานนี้มาฉายบนตึกแล้วมันสร้างการรับรู้ใหม่ให้กับผู้ชมยังไงบ้าง"
"เราคิดว่า NFT มันเป็นโอกาสให้ทุกคนนำเสนอตัวเองได้ โดยไม่ต้องรอให้ตัวเป็น 'ศิลปิน' เพื่อจะได้แสดงงานในแกลเลอรี มันเป็นพื้นที่เปิดที่ทำให้คนกลับมาสนใจงานศิลปะมากขึ้น เห็นว่ามันมีคุณค่ามากขึ้น ต่างจากสมัยก่อนที่คนมองว่า คนทำงานศิลปะจะเอาอะไรกิน" จิ๊บกล่าวถึงกระแส NFT ก่อนที่ติ๊จะกล่าวเสริมอีก "ถ้าเป็นยุคก่อน บางคนอยากทำงานศิลปะแต่ถูกบีบด้วยคำว่า มันต้องทำเป็นอาชีพ แต่ตอนนี้มันเป็นทางเลือกให้กับคน ไม่จำเป็นต้องเป็นอาชีพ วันนี้ทำ วันพรุ่งนี้ไม่อยากทำก็ไม่เป็นไร แต่การให้คุณค่าของงานศิลปะมันอาจจะต่างไปจากเดิมหน่อย อย่างคนในเจเนเรชั่นเรา ช่วงวัย 30 กว่าๆ ก็จะรู้สึกว่า อยากปัดฝุ่นมือซักหน่อย หยิบดินสอมาทำงานหน่อย"
"ช่วงนี้ผมกำลังศึกษาเรื่องของ VR Asset ในระบบนี้จะมีแอพพลิเคชั่นที่ใช้วาดภาพสามมิติอยู่ มันเป็นอะไรที่แปลกใหม่สำหรับเรามาก เพราะปกติเราเคยชินกับการวาดภาพสองมิติ เทคนิคเดิมที่เราเคยวาดหน้าแบนๆ ตอนนี้เราสามารถวาดในทุกองศาได้เลย มันเหมือนการปั้นโมเดล แต่เป็นการปั้นในอากาศ ตัววีอาร์มันมีโปรแกรมที่รองรับในสายงานต่างๆ เยอะมาก จะวาดภาพ สร้างตึก สร้างรถ หรือจะเข้ามาช่วยกันทำงานในพื้นที่สมมติก็ได้เหมือนกัน มันเป็นระบบการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ๆ ที่สนุกมากครับ สำหรับคอนเสปต์ของโปรเจกต์นี้ เรามองเรื่องงานศีลจุ่ม เราก็เริ่มวาดภาพใบหน้าของเด็กที่มีความสุข ท่ามกลางบรรยากาศของงานศีลจุ่ม และมีเพลงประกอบสั้นๆ ประมาณ 30 วินาที"
"แคมเปญนี้มันเป็นโปรเจกต์ที่ดีนะ เพราะคณะเรามีกิจกรรมเยอะมาก แต่ก่อนเราทำงานมาจนคล่องแล้ว พอเรามีโอกาสได้คุยกับน้องๆ ปีหนึ่งที่เข้ามาในสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เขาไม่ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน การมีกิจกรรมแบบนี้ขึ้นมาก็ช่วยให้เราได้มารวมตัวกันอีกครั้ง แต่ก็ต้องดูกันต่อไปว่า เราจะทำยังไงถึงจะทำให้บรรยากาศเก่าๆ นั้นกลับมา"
"ตอนที่สมาคมฯ ทำโชว์ชื่อ 'ครบเด็กสร้างบ้าน' ครั้งที่ 2 น้องๆ ก็ให้ผมช่วยแต่งเพลงที่มันใช้ตอนจบของงาน" ศิษย์เก่าที่เป็นหนึ่งในสมาชิกวงเฉลียงบอกเล่าถึงงานของตัวเอง "พอแต่งเสร็จ น้องๆ เขาก็มีไอเดียว่าช่วงที่เขาร้องเพลงกันนี่ มันน่าจะมีงานเพนต์ของผมประกอบไปด้วย ผมก็เลยทำให้เขา เขาก็ให้ทำเป็นซีเควนซ์ เขียนไปนิดนึงก็ถ่ายรูปเก็บไว้ เขียนไปนิดก็ถ่ายรูปเก็บไว้ บนเวทีมันก็จะค่อยๆ ขึ้นทีละนิดๆ เป็นรูปตึกหน้าคณะฯ ผมก็เขียนบทไอแพดครับ แต่ตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าผมจะเอามาทำเป็นงานใน NFT ยังไงนะ ต้องศึกษาก่อนว่ามันจะทำเป็นแอนิเมชั่นไหม มีเพลงด้วยไหม" เขาพลางหัวเราะขำๆ
"ตอนที่ป๊อดชวนผมก็รับปากโดยไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับ NFT เลย" เขาหัวเราะอีก "แต่ป๊อดบอกว่าผมทำอะไรได้ตั้งหลายอย่าง วาดรูปก็ได้ มีเพลงด้วยก็ได้ แต่ผมก็นึกถึงงานชิ้นนี้ก่อนครับ แต่อาจจะทำอะไรเพิ่มเติมด้วยนะครับ"
"ผมคงใช้วิชาชีพที่ถนัด คือการออกแบบกราฟิกดีไซน์เข้ามาร่วมงานนี้ครับ จริงๆ แล้วผมก็ได้มีโอกาสเข้ามาทำงานสมาคมฯ เป็นกรรมการ เป็นนายกฯ เป็นหลายๆ อย่างในตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมาครับ แล้วก็มีโอกาสได้ทำงานกราฟิกดีไซน์ที่เกี่ยวข้องกับสมาคมฯ เกี่ยวข้องกับคณะฯ ในงานต่างๆ ทั้งโลโก้และสื่อต่างๆ ก็เยอะ ก็เลยคิดว่าเป็นคนที่น่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรมาเยอะ ก็น่าจะรวบรวมงานเหล่านี้ ให้เป็นประสบการณ์ที่เราเคยมีกับที่นี่ครับ แต่ตอนนี้ยังนึกไม่ออก แต่คิดว่าจะเป็นประมาณนี้นะ"
"ส่วนตัวเราชอบประเพณีการโปรยใบจามจุรี" ภูมิสถาปนิกสาวกล่าว "จำได้ว่าก่อนจะถึงวันนั้น เรารับน้องกันมาเหนื่อยมากๆ พอได้มาอยู่ร่วมกัน โดยมีพี่ๆ ล้อมวง มันเป็นช่วงเวลาที่เราประทับใจมาก เราทำงานเป็น Installation Art พอต้องมาอยู่ในรูปแบบของ NFT ซึ่งถูกจำกัดพื้นที่ด้วยจอ ก็มองว่าเราจะทำอย่างไรจึงจะทำให้คนรู้สึกถึงประสบการณ์นั้น ก็เลยอยากทำงานศิลปะที่สื่อถึงประสบการณ์นั้น"
ติดตามรายละเอียดของโครงการนี้ได้ที่ twitter: arch_cu_alumni และ foundation: @arch_cu_alumni
6431 VIEWS |
ผู้ก่อตั้งนิตยสาร happening, บรรณาธิการบริหารนิตยสาร happening, กรรมการบริหารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc), นักเขียน, นักแต่งเพลง, นักฟังเพลง และนักอ่านตัวยง
อดีตช่างภาพนิตยสาร มาเปิดบริษัทของตัวเองได้สักพัก ยังสนุกกับงานถ่ายภาพอยู่เสมอ โดยเฉพาะการถ่ายภาพผู้คน ตอนว่างจะชอบหนีไปเที่ยวตามที่ต่างๆ แก้เบื่อด้วยการถ่ายสถานที่และสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ